ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ชื่อของนกและปลาที่มาจากปรีดี พนมยงค์

29
พฤษภาคม
2565

จากคำแถลงของประเทศไทยในการประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2542 เสนอชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ บรรจุไว้ในบัญชีรายการฉลองวันครบรอบของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับปี ค.ศ. 2000-2001 ในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทการศึกษา ผู้อุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ ได้มีความมุ่งมั่นในสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจใดๆ อีกทั้งยังเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย ผู้รวมพลังในชาติเพื่อต่อต้านการรุกรานและการยึดครองประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือในประเทศต่างๆ และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติจาก สถาบันสมิธโซเนียน โดยการนำชื่อของท่านมาตั้งให้เป็นชื่อนกพันธุ์ใหม่ 2 ชนิดที่ค้นพบในประเทศไทย เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพอีกด้วย

ในบทความนี้ จะว่าด้วยเรื่องของสัตว์สองประเภท คือ นกและปลา ซึ่งมีการตั้งชื่อเรียกโดยใช้ชื่อของ ‘ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ได้แก่ นกปรีดี, ปลาปล้องทองปรีดี และ นกเสรีไทยที่เคยได้นำเสนอไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติและเพื่อการรำลึกคุณูปการของท่านที่มีต่อชาติและราษฎรไทย

ย้อนกลับไปในปีพุทธศักราช 2489 สถาบันสมิธโซเนียน แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตั้งชื่อ นกเขียวก้านตอง 2 ชนิดที่ค้นพบในประเทศไทย คือ “นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า” หรือ “นกเขียวลออ” และ นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ซึ่งนกชนิดนี้ถูกค้นพบโดย ‘เฮอร์เบิร์ต จี. เด็กแนน’ (Herbert g. Deignan) ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกแก่ขบวนการเสรีไทย และ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย โดย นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า ให้ชื่อว่า “นกเสรีไทย” และ  นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ให้ชื่อว่า “นกปรีดี”

 

นกปรีดี (นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง)

 

นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ชนิดย่อย pridii หรือ ‘นกปรีดี’ (Chloropsis aurifrons pridii), ภาพโดย อายุวัต เจียรวัฒนกนก
นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ชนิดย่อย pridii หรือ ‘นกปรีดี’ (Chloropsis aurifrons pridii),
ภาพโดย อายุวัต เจียรวัฒนกนก

 

“นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง หรือ นกปรีดี” มีขนาดประมาณ 18-19 เซนติเมตร ตัวผู้หน้าผากสีเหลืองอมส้ม มีแถบใหญ่สีดำจากใต้ตา คอหอย และอก กลางคอหอยสีน้ำเงิน ตัวเมีย หน้าผากสีเหลืองอ่อน เคราสีฟ้า ลำตัวสีเขียวสดเหมือนใบไม้ มักจะพบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ชายป่า ตั้งแต่ที่ราบจนถึงความสูง 1,220 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หากินรวมกันอยู่บนต้นไม้ทั้งในระดับเรือนยอด และระดับกลางของต้นที่มีดอกกำลังบานหรือมีผลกำลังสุก เช่น ต้นงิ้วป่า ทองหลางป่า กาฝาก และกวาวเครือ และกินรวมอยู่กับนกชนิดอื่นๆ ที่กินอาหารประเภทเดียวกัน เช่น นกแซงแซวหงอนขน นกหกเล็กปากแดง นกปรอด และนกกินปลี ค้นพบครั้งแรกบริเวณภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง” เป็นหนึ่งในตระกูล “นกเขียวก้านตอง” (Leafbird) ที่มาของชื่อนกมาจากลักษณะทางกายภาพของนก ซึ่งในภาษาไทยมีความหมายตรงตัวก็คือ นกที่มีสีเขียวแบบก้านของใบตองกล้วย ส่วนในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Leaf Bird แปลว่าเป็น นกที่มีสีเขียวดังใบไม้

นอกจากนี้ในชื่อสกุลของชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเรียกว่า Chrolopsis ก็มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Chlor หรือ khloros แปลว่า สีเขียว และ opsi หรือ opsis แปลว่า “การปรากฏ” ความหมายคือ “นกที่มีสีเขียว”

“นกเขียวก้านตอง” เป็นนกประจำถิ่น ที่พบได้บ่อยมาก ทั่วทุกป่า ตั้งแต่อินเดียจนถึงเวียดนาม จีนตอนใต้ คาบสมุทรมลายู เรื่อยจนถึงหมู่เกาะซุนดา หมู่เกาะโมลุกกะ โดยมักอาศัยในภูมิอากาศที่ค่อนข้างชุ่มชื้น โดยเฉพาะในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ยกเว้นในภาคกลางของประเทศไทย และบนเกาะสิงคโปร์ ซึ่งนกเขียวก้านตองนี้ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ชนิด โดยในประเทศไทยนั้น สามารถพบนกเขียวก้านตอง 5 ชนิด คือ นกเขียวก้านตองใหญ่, นกเขียวก้านตองเล็ก, นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า, นกเขียวก้านตองหน้าผากทอง และ นกเขียวก้านตองท้องสีส้ม 

 

 

ข้อมูลจากกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายจีรศักดิ์ ทิพยวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้เข้าปฏิบัติงานเดินป่าสำรวจนกบนยอดดอยขุนแม่ต๊อบ ได้พบกับ “นกปรีดี” 1 ตัว ซึ่งในปัจจุบัน “นกปรีดี” ได้ถูกประกาศจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ห้ามล่า เก็บ หรือทำอันตรายแก่รัง

 

ปลาปล้องทองปรีดี

นอกเหนือจาก “นกปรีดี” ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีชื่อเรียกของสัตว์อีกชนิดที่มีที่มาจากชื่อของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ นั่นก็คือ ปลาปล้องทอง หรือ ปลาค้อปล้องทองที่ถูกตั้งชื่อว่า “ปลาปล้องทองปรีดี”

 

ปลาปล้องทองปรีดี (Schistura Pridii) ที่มาภาพ : fishbase.net
ปลาปล้องทองปรีดี (Schistura Pridii)
ที่มาภาพ : fishbase.net

 

‘ดร.ชวลิต วิทยานนท์’ เป็นบุคคลผู้ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของปลามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และค้นพบปลาชนิดใหม่จากประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงรวมกันแล้วถึงวันนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด

เมื่อราวปี 2539 ดร.ชวลิต ได้ทำการสำรวจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว และได้พบปลาปล้องทองชนิดหนึ่งเป็นครั้งแรกในลำธารบนภูเขาสูง บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จึงตั้งชื่อสายพันธุ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ รัฐบุรุษอาวุโส ในช่วงวาระ 96 ปี ชาตกาล ว่า “ปลาปล้องทองปรีดี”

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เขียนจดหมายถึง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ขอบคุณที่ได้ให้เกียรติตั้งชื่อปลาปล้องทองนี้ ดังใจความว่า “ลักษณะของปลาปล้องทองปรีดีที่พบในลำธารที่น้ำไหลเชี่ยว ตรงกับชีวิตจริงของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องอยู่ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของสังคมไทย บากบั่นเพื่อเอกราช ประชาธิปไตยของชาติและความอยู่ดีกินดีของราษฎร”

ข้อมูลจำเพาะ

 

ปลาปล้องทองปรีดี (Schistura Pridii) ที่มาภาพ : fishbase.net
ปลาปล้องทองปรีดี (Schistura Pridii)
ที่มาภาพ : fishbase.net

 

“ปลาปล้องทองปรีดี” อยู่ในวงศ์ปลาค้อ Balitoridae สกุล Schistura มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Schistura pridii” (Vidthayanon, 2003) ชื่อสามัญ Mini Dragon Loach เป็นปลาขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงาม รูปร่างเรียวยาว ด้านท้ายของลำตัวแบนข้าง มีเกล็ดแบบ cycloid ขนาดเล็ก หัวทู่สั้น ตาเล็ก มีหนวด 2 คู่ อยู่เหนือปากและใต้ปาก ลำตัวมีสีเหลืองสลับดำเป็นปล้องๆ ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 4 นิ้ว อาศัยอยู่ในลำธารน้ำที่ไหลแรงและเย็น กินตัวอ่อนแมลงน้ำ หรือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในลำธารเป็นอาหาร มักอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ บริเวณต้นน้ำลำธาร พบทั่วไปในประเทศแถบเอเชีย (ชวลิต, 2547) เป็นพันธุ์ปลาที่พบเฉพาะถิ่น (endemic species) พบที่ลำห้วยเขียดแห้ง ต.แจ่มหลวง อ.แม่แจ่ม และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 

 

12 ปีแห่งความพยายาม ชุบชีวิต ‘ปลาปล้องทองปรีดี’ กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

 

ปลาปล้องทองปรีดี ที่มาภาพ : เดลินิวส์
ปลาปล้องทองปรีดี
ที่มาภาพ : เดลินิวส์

 

เมื่อสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำในลำธารลดน้อยลงช่วงฤดูแล้ง และปลาชนิดนี้ถูกจับไปจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม ทำให้ประชากรปลาปล้องทองปรีดีในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลง ปลาปล้องทองปรีดีจึงอยู่ในสถานะที่เสี่ยงสูญพันธุ์

ในช่วงปี 2549 เป็นต้นไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) ได้พยายามรวบรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาปล้องทองปรีดีเพื่อทำการศึกษาเพาะขยายพันธุ์ ในระยะแรกต้องประสบปัญหาเนื่องจากปลาไม่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมขณะทดลอง

จนกระทั่งในปี 2560 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) ได้นำปลาไปทดลองเพาะขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ เนื่องจากพบว่าสภาพแวดล้อมรวมถึงสภาพภูมิอากาศบริเวณนั้น ใกล้เคียงกับแหล่งธรรมชาติของปลาที่สุด และได้คัดเลือกปลาที่มีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์ โดยทำการทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดกระตุ้นฮอน์โมนสังเคราะห์ แล้วทำการปล่อยลงกล่องทดลองให้พ่อปลาและแม่ปลาผสมพันธุ์อย่างธรรมชาติในอุณหภูมิน้ำที่ 15.3-16.8 องศาเซลเซียส

ผลปรากฏว่า ปลามีการตกไข่มากถึง 70% และสามารถฟักออกมาเป็นตัวปลาได้สำเร็จ แต่อัตราการรอดยังคงต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองนับว่าเป็นความสำเร็จที่ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ใช้เวลาเพียรพยายามมากว่า 12 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ประชากร “ปลาปล้องทองปรีดี” ในธรรมชาติมีจำนวนมากขึ้น ไม่สูญพันธุ์ อีกทั้งยังจะขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อปลาสวยงามทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกด้วย

รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล : ณภัทร ปัญกาญจน์

 

เอกสารอ้างอิง :