ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ต้นกล้าเฟมินิสต์สยาม” จากอำแดงเหมือนถึงข้อวิพากษ์ ‘หญิงเป็นควาย ชายเป็นคน’

2
มิถุนายน
2565

หากเราใช้เกณฑ์การให้สิทธิการเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันโดยไม่จำกัดด้วยแตกต่างของรายได้ เพศสภาพ ชนชั้น ผิวสี หรือชาติพันธุ์ (Universal suffrage) เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ แล้ว สยามก็นับว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่รับรองสิทธินี้คล้องจองไปกับโลกสากลที่ให้ความสำคัญการยกระดับความเท่าเทียมหญิง-ชาย เพื่อสร้างโลกที่ควรจะเป็น

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบช่วงเวลาที่ไทยเรารับรองสิทธินี้ คือ 1 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พลเมืองหญิงชายต่างได้ใช้สิทธินี้อย่างเต็มภาคภูมิ บางกรณีก้าวหน้าไปไกลกว่าประเทศมหาอำนาจบางประเทศที่เราเสียเปรียบดุลอำนาจ โปรดดูตารางข้างล่าง

 

ประเทศ ปี
อังกฤษ 1928
เยอรมัน 1919
สหรัฐอเมริกา 1920
ฝรั่งเศส 1944
ญี่ปุ่น 1945
อิตาลี 1945
ไทย 1933
ลำดับการรับรองสิทธิการเลือกตั้งหญิง-ชายเท่าเทียมกัน (เฉพาะประเทศที่สยามเจรจาสนธิสัญญา)

 

แต่คำถามน่าสนใจ คือ อะไรทำให้ “คณะราษฎร” สามารถกำหนดนโยบายและสร้างกลไกสิทธินี้ได้ ในเมื่อสังคมไทยในเวลานั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบช่วงชั้นทางสังคมที่เป็นอินทรียภาพ สิทธิของผู้หญิงต้องถูกกดทับภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองแบบปิดประตูตายสำหรับเธอ

ตัวอย่างชีวิตของ “อำแดงเหมือน” ช่วยชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้ ในปี 2408 เธอต้องถูก “พ่อและแม่” บังคับให้ขึ้นเรือนกับชายที่ไม่ได้รัก เมื่อเธอหนีกลับมาบ้าน สถาบันแรกที่ปฏิเสธเธอคือครอบครัว

ไม่เพียงแค่นั้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดว่า “ชีวิตผู้หญิงสามารถเป็นสินทรัพย์ใช้ชำระหนี้ได้” ก็ทำให้อำแดงเหมือนต้องถูกทุบตีเมื่อเธอปฏิเสธการทำตามแบบแผนจารีต นั่นจึงนำมาสู่การถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพิสูจน์สิทธิของเธอเอง[1] กรณีของอำแดงเหมือนเป็นเพียงตัวอย่างของผู้หญิงที่อยู่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมจากสองถึงสามชั้นที่กดขี่เธออยู่

มโนทัศน์เดิมของระบอบเก่า

เราอาจจะเริ่มทำความเข้าใจโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้จากส่วนบนของอำนาจนำในสังคมไทย มโนทัศน์การให้สิทธิเสมอภาคแก่ผู้หญิงมิได้เปิดกว้างมากนัก ดังจะเห็นเมื่อสยามเปลี่ยนเข้าสู่ระบบทุนนิยมหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 1855 สิ่งที่ตามมามิใช่เพียงพ่อค้าผิวขาวจากแดนไกล หากแต่ยังนำมาซึ่งมโนทัศน์ใหม่ๆ ในทางวัฒนธรรมด้วย หนึ่งในนั้นคือมโนทัศน์ว่าด้วยผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งปะทะโดยตรงกับโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่

งานเขียนที่ให้ความรู้ไว้อย่างดีมากคือหนังสือชื่อ “ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม” เขียนโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ซึ่งเป็นงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาว่าด้วยการปะทะทางความคิดของสิทธิผู้หญิงกับระบบชายเป็นใหญ่ที่ดำรงอยู่คู่มากับระบบอำนาจนิยมอย่างแทบจะแยกไม่ออก

ตัวอย่างการรับมือมโนทัศน์ใหม่ของชนชั้นนำสยามในเวลานั้นคือการปฏิเสธว่ามโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวคือ “ความเป็นอื่น” ที่มาจากภายนอกสังคมไทย เช่น

“เพราะประชุมชนที่นิยมซิวิไลซ์ใช้ประเพณีมีเมียหลายคนก็มี…[แต่]ประชุมชนชาวป่าเถื่อนบางพวกเคร่งครัดในเรื่องเมียคนเดียว ประเทศที่เรียกกันว่าซิวิไลซ์สิกลับไม่เคร่งครัดจริงจังฉนี้ จึงควรถือได้ว่าประเพณีชายมีเมียคนเดียวนั้น มิใช่น้ำเนื้อของอารยธรรม”

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์[2]
ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า ซิวิไลซ์”

ขณะที่เมื่อแรงผลักดันของสิทธิผู้หญิงมีมากขึ้น ครั้งหนึ่ง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีก็มีพระดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีสภาเมื่อคราวจะลงมติเรื่องกฎหมายครอบครัวว่า

“ประมวลกฎหมายในประเทศทั้งปวงยอมให้มีเมียแต่คนเดียว จะมีประมวลกฎหมายของเราประเทศเดียวซึ่งยอมให้มีเมียหลายคน คงจะถูกตำหนิติเตียน “แต่” ถ้าให้มีเมียคนเดียวประเทศของเรายังไม่พร้อม จักทำให้คนเดือดร้อน”[3]

ความเห็นทั้งสองเกิดขึ้นก่อนที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะมาถึง และได้ยอมรับเอามโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวเป็นบรรทัดฐานใหม่ โดยได้รับการตราเป็นกฎหมายในรัฐบาลคณะราษฎรเมื่อปี 2478 และถูกกำหนดให้เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติในปี 2480 ซึ่งจากการวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์สังคมไทยคนสำคัญอย่าง Tamara Loos ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายครอบครัวเป็นหน่วยวิเคราะห์ที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยม การสร้างภาวะสมัยใหม่ และการแสวงหาอัตลักษณ์แห่งชาติของสยามในเงื่อนไขที่อสมมาตรกับจักรวรรดินิยม

อย่างไรก็ตาม การรับสภาวะศิวิไลซ์ไม่ได้เป็นการรับเข้ามาทันที โดยมิถูกต้านทาน หรือรับมาด้วยความไม่พร้อม หากแต่มีเนื้อนาดินของแนวคิดเฟมินิสต์อ่อนๆ คอยต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสยามแสดงให้เห็นความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของระบอบชายเป็นใหญ่ ความศิวิไลซ์กลายมาเป็นที่มาของความชอบธรรมนี้

ดังจะเห็นว่ากฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ที่ตราออกมาในปี 2478 ยังยอมรับวิถีผัวเดียวหลายเมียอยู่กลายๆ ด้วยการเปิดช่องให้จดทะเบียนรับรองบุตรที่เกิดนอกสมรสได้

ฉะนั้น สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ จึงสรุปท่าทีการตอบรับมโนทัศน์นี้ไว้ 2 กลุ่ม คือ พวกแรกปฏิเสธด้วยท่วงท่าและฐานภูมิปัญญาแยกขั้วทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับตะวันตกออกจากกัน มโนทัศน์เหล่านั้นคือ “ความเป็นอื่น” เป็นสิ่งของที่มาจาก “ภายนอก”

ขณะที่อีกกลุ่ม แม้จะยอมรับว่าผัวเดียวหลายเมียเป็นขนบมาแต่เดิม แต่ก็เห็นว่าผัวเดียวเมียเดียวเป็นจรรยาที่ดีกว่า คนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนี้คือ “เทียนวรรณ” ปัญญาชนที่ก้าวหน้าคนหนึ่งแห่งยุคสมัย

ฉะนั้น อะไรกันเล่าที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นจริง จนคณะราษฎรต้องผลักดันนโยบายในระดับที่พลิกฝ่ามือระบบชายเป็นใหญ่ ถ้าหากไม่ใช่การเคลื่อนไหวของผู้ที่ถูกกดขี่เอง นั่นคือกลุ่มผู้หญิงที่เติบโตขึ้นมาวิพากษ์ระบอบเก่าอย่างถึงราก

ต้นกล้าเฟมินิสต์สยาม

แม้ว่าภายใต้การปฏิรูปราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเริ่มมีการขยายการศึกษามาสู่สามัญชนมากขึ้น แต่ผู้ได้รับดอกผลนี้ก็เป็นเพียงผู้ชายที่ผนวกตัวเองเข้าสู่ระบบราชการได้ ส่วนกลุ่มผู้หญิงเองกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ในทศวรรษ 2460 โอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพของพวกเธอยังคงค่อนข้างจำกัด ครูหรือพยาบาลเป็นเพียงไม่กี่อาชีพที่เปิดช่องให้ผู้หญิงได้มีรายได้ 

จนกระทั่งทศวรรษ 2450-2470 ผู้หญิงชนชั้นกลางเริ่มนิยามตนเองด้วยการสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ ที่ต่างไปจากชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นสูง ความตึงเครียดทางชนชั้นทวีมากขึ้นจนถึงขั้นที่รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องออกกฎหมายกำหนดโทษของการกระทำที่ “กวนให้เกิดขึ้นซึ่งความเกลียดชังระวางคนต่างชั้น” ในปี 2470 เพื่อกดเพดานการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูงที่กำลังดำเนินไปอย่างกว้างขวาง 

การวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน อันเป็นสำนึกที่มาจากความเชื่อมั่นในความเสมอภาคของมนุษย์ เสรีภาพของปัจเจกชน และการปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระ งานเขียนของ Scott Barme เรื่อง “Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular Culture in Thailand” ได้สะท้อนข้อกังวลใจของผู้หญิงชนชั้นกลางในเวลานั้นออกมา 3 ประเด็นหลัก คือ การศึกษา การงาน และผัวเดียวหลายเมีย

ถึงตรงนี้ เราเริ่มได้เห็นข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์สภาวะชายเป็นใหญ่ ความคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่คู่ขนานมากับความคิดเรื่องความเสมอภาคในทางการเมือง ความเห็นเหล่านี้แพร่กระจายตามหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์รายวัน วรรณกรรม เรื่องอ่านเล่น ฯลฯ พร้อม ๆ กับการขยายตัวของสิ่งพิมพ์และอัตราการรู้หนังสือที่เพิ่มขึ้น

สาระสำคัญของการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญานี้ คือการตั้งประเด็นว่าสิทธิของสตรีควรอยู่ตรงไหน ข้อวิพากษ์นี้ยกระดับไปถึงกฎหมายใดที่ทอนสิทธิของผู้หญิง การกำหนดให้หน้าที่ของผู้หญิงแบบไหน ที่ผู้ชายได้รับการยกเว้น ฯลฯ

ความสำคัญของสิ่งพิมพ์เหล่านี้ คือการเป็นสื่อกลางคอยสื่อสารความคิดและข้อเรียกร้องใหม่ๆ ของผู้หญิงที่มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ที่สูงขึ้น ระหว่างทศวรรษ 2460-2470 พบว่า มีการออกสิ่งพิมพ์ประเภทนี้มากกว่า 10 หัว สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนหญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในกลางทศวรรษ 2460 คือ 124,850 คน[4]

ในนิตยสารฉบับหนึ่งระบุว่า ผู้หญิงจะบรรลุถึงความเสมอภาคโดยสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อ “มีตำแหน่งหรือทำงานในหน้าที่สำคัญๆ เหมือนบุรุษเพศมากๆ”

บางเรื่องช่วยทำความเข้าใจผู้หญิงกันเอง เพื่อโยงกับปัญหาเชิงระบบ เช่น ข้อเขียนขนาดสั้นเรื่อง “เหตุไรสัตรีสยามจึงเป็นคนขี้หึงจัด” นักเขียนหญิงผู้หนึ่งได้ระบายความรู้สึกต่อระบบผัวเดียวหลายเมียว่าเป็นเหตุให้ผู้หญิงมีนิสัยขี้หึง เพราะมันอนุญาตให้ผู้ชาย “แต่งงานหรือจะมีเมียสักกี่ฝูงก็ไม่มีผิดอะไร นึกจะทิ้งกันก็ทิ้งตามอำเภอใจ”

แน่นอนว่าข้อวิพากษ์นี้ตอบโต้กับภาษิต คำสอน หรือวลีที่ใช้กันจนเกร่อเพื่อแบ่งแยกเพศสภาพภายใต้ระบอบเก่าตั้งแต่ “ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า” หรือ “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” ไปจนถึงคำเปรียบเปรยที่แสนจะเหลือทนอย่าง “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

ขณะที่ระบบผัวเดียวหลายเมียก็เริ่มถูกตั้งแง่เดียดฉันท์และประณามผ่านกรอบจริยธรรมใหม่ และแง่มุมทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ ชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจ และบรรดาผู้มั่งมี กลายเป็นเป้าที่โจมตีว่าเป็นพวกมีศีลธรรมจรรยาน่าเคลือบแคลง เสื่อมทราม ขี้ฉ้อ หาเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน และเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง ผัวเดียวหลายเมียที่คนเหล่านั้นปฏิบัติอยู่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุให้ผู้หญิงถูกทอดทิ้งและถูกผลักไสไปเป็นโสเภณี รวมทั้งปัญหากามโรคด้วย[5]

ถึงตรงนี้ Scott Barme จึงชี้ว่า การเคลื่อนไหวนี้กรุยทางไปสู่การยอมรับประชาธิปไตยและโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงในปี 2475[6]

ในตอนหน้าเราจะมาพิจารณาการรับเอามโนทัศน์ความเท่าเทียมทางเพศ ของหญิงและชาย ในรัฐบาลคณะราษฎรว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

หมายเหตุ :

  • บางอักขระสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • รูปสตรีโบราณใช้เพื่อประกอบเนื้อหา
 

[1] สถาบันปรีดี พนมยงค์. กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่. เล่ม 2. หน้า 160

[2] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 3

[3] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 13

[4] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 82

[5] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพ: มติชน, 2561, หน้า 89

[6] Scot Barme, Woman, man, Bangkok : love, sex, and popular culture in Thailand. Chiang Mai : Silkworm Books, 2002 p.175