ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ 199 องค์กรภาคประชาสังคมจากหลากหลายประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐทหารพม่า ยุติการประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง

6
มิถุนายน
2565

 

ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่ารัฐทหารพม่าได้ มีมติอนุมัติให้ประหารชีวิตสองนักโทษทางการเมืองที่เป็นนักกิจกรรมทำงานประชาธิปไตย โดยอ้างว่าทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งหากมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นจริงแล้วจะเป็นการประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2519

ผู้ที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ คือ นายเปียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติสังกัดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซานซูจี และจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้มีผู้ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตอีกสองรายคือ หล่า เมียว อ่อง และ อ่อง ธุรา ซอ ซึ่งรออยู่ในแดนประหาร

นายเปียว เซยา ตอ และนายจ่อ มิน ยู ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนระดมทุนและจัดหาอาวุธให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งต่อต้านรัฐทหารพม่าที่ทำการรัฐประหาร นับแต่ทหารพม่าได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเวลาเกือบ 16 เดือน ที่กองทัพทหารพม่าได้ทำความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวทั่วประเทศ หลังการยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมาย กองทัพทหารพม่าได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2,000 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก และควบคุมตัวไว้กว่า 12,000 คน

กองทัพทหารพม่า ได้ทำการอย่างโหดร้ายต่อประชาชนชาวพม่า ด้วยการโจมตีทางอากาศตามอำเภอใจ การยิงกระสุน การสังหารหมู่ การเผาหมู่บ้าน การทรมาน การข่มขืน นอกจากนี้ ยังสกัดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นกว่า 880,000 คนทั่วประเทศ โจมตีสถานพยาบาล ข่มขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

แม้จะมีความรุนแรงที่โหดร้าย แต่ชาวพม่ายังคงต่อต้านกองทัพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่แรงกล้าหาญในการปกป้องประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่ มีข้าราชการพลเรือนกว่า 400,000 คนที่เข้าร่วมขบวนการปฏิเสธอำนาจรัฐ ปฏิเสธที่จะทำงานภายใต้กองทัพ ในขณะที่ประชาชนชาวพม่าจำนวนมากนัดหยุดงาน มีการประท้วงตามท้องถนน การคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ทางทหาร และการรณรงค์ไม่จ่ายค่าไฟฟ้า ขณะที่มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง การจัดตั้งการบริหารงานในท้องถิ่นที่เป็นอิสระใหม่จากกองทัพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอิสระในพื้นที่ชนชาติพันธุ์

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และสันติภาพได้ติดตามสถานการณ์ในพม่ามาโดยตลอด และเห็นว่าการที่กองทัพทหารพม่าที่ยึดอำนาจได้กระทำการความรุนแรงต่อประชาชนพม่า และมีคำสั่งตัดสินประหารชีวิตนายเปียว เซยา ตอ นายจ่อ มิน ยู และผู้ต้องหารายอื่นๆ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายเปียว เซยา ตอ และนายจ่อ มินยู พร้อมนักโทษทางการเมืองทั้งหมดโดยทันที ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่า และคืนประชาธิปไตยและสันติภาพแก่ประชาชนพม่าโดยเร็ว

ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565