นักศึกษาเตรียมปริญญา รุ่น 5 หรือ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อในขณะนั้น) ในช่วงปี พ.ศ. 2484-2486 เป็นเวลาสองปี นับถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 56 ปี[1] พวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่ล้วนอายุล่วงเลย 70 ปีกันทั้งสิ้น หากใครอ้างว่ายังไม่ถึง ย่อมแสดงว่าโกงอายุโดยแน่นอน
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งของ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 ที่ถูกกำหนดตัวให้เขียนเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้งเรียนอยู่ในโรงเรียนเตรียมปริญญาฯ โดยกำหนดไม่เกินสองหน้ากระดาษพิมพ์ ผู้เขียนรู้สึกเป็นการยากที่จะเขียนเรื่องราวต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนภายในหน้ากระดาษที่จำกัด ทั้งกาลเวลาได้เนิ่นนานพอสมควร ฉะนั้น ข้อเขียนของผู้เขียนที่เขียนด้วยความทรงจำในอดีต จึงอาจผิดพลาดไปบ้าง หากเพื่อนฝูง ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 อ่านพบเข้า ก็ขออภัยด้วย
ในปี พ.ศ. 2485 พวกเราทั้งชายหญิงมาจากสถานศึกษาที่ต่างกัน เมื่อมาอยู่ภายใต้โดมเดียวกัน ความอบอุ่นก็เกิดขึ้น เพราะพวกเราทุกคนทราบดีว่าสถานศึกษาแห่งนี้จะหล่อหลอมพวกเราให้รักสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม และความถูกต้องของสังคม รักเคารพในสิทธิของผู้อื่น
สองปีของ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 หล่อหลอมให้พวกเรามีความรัก สามัคคี และในทางการศึกษาเราไม่ด้อยกว่าสถานการศึกษาแห่งอื่น เราได้เรียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ลาติน ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง และดนตรี ฯลฯ เป็นต้น ในทางกีฬา ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 ประสบชัยชนะในการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย ทั้งรักบี้ ฟุตบอล กรีฑา และกีฬาประเภทอื่น
การเรียนของพวกเรา ส่วนหนึ่งมีอาจารย์พิเศษสอนในห้อง บางวิชาเรียนโดยการฟังทางเครื่องกระจายเสียง เพราะอาจารย์คนหนึ่งเป็นผู้บรรยายให้พวกเรา 900 คน ประมาณ 18 ห้องเรียนได้ฟังกันทั่วไป เวลาพวกเรากระทำผิดที่อาจารย์ผู้ปกครองไม่อภัยให้ พวกเราจะถูกประกาศชื่อว่ากระทำผิดเรื่องอะไรทางเครื่องขยายเสียง และถูกเฆี่ยนให้เสียงดังเข้าไมโครโฟน ทั้งนี้เพื่อความหลาบจำเเละอับอาย แต่ก็มีพวกเราหลายคนไม่ค่อยหลาบจำแต่อับอายทุกครั้ง
การเรียนทุกชั่วโมงจะมีหยุดพักสิบนาที จะมีนักศึกษาชายสองคน คือ อนันต์ ยุวบูรณ์ และ อันดับ รองเดช ผลัดกันเข้าไปร้องเพลงให้เพื่อนในห้องฟัง โดยคนหนึ่งร้อง อีกคนหนึ่งจะถือหมวกยุวชนทหารหงายขึ้น และเรี่ยไรเงินจากเพื่อนๆ ทุกห้อง พวกเราจะให้ด้วยความเต็มใจ เพื่อนทั้งสองได้เงินในวันหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก รับทานอาหารกันราคาแพง นั่งรถสามล้อ (ถือว่าโก้มาก) ไปดูการแข่งขันกีฬาที่สนามศุภชลาศัย ขณะที่เพื่อนๆ ผู้บริจาครับประทานอาหารอย่างประหยัด นั่งรถรางชั้นสองไปสนามกีฬา แต่พวกเราก็ยอมเพราะความเอ็นดูเพื่อนทั้งสอง
เพื่อนทั้งสองได้เสียชีวิตไปคนหนึ่ง คือ อันดับ รองเดช ซึ่งต่อมาในระหว่างเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาตรีเขาได้กรีดเลือดที่แขนเป็นแผลฉกรรจ์ต่อหน้านักศึกษาที่ชุมนุมเป็นเรือนพันเพื่อประท้วงการจำกัดเสรีภาพในทางการศึกษาของธรรมศาสตร์ในขณะนั้น เขาเป็นนักต่อสู้ที่ทรหดคนหนึ่ง ได้หนีเข้าป่าไปเมื่อเกิดกรณีกบฏยึดวังหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 และได้เข้ามามอบตัวในปี พ.ศ. 2500 เมื่อมีกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว อันดับไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตัดสินใจยิงตัวตายแต่เขียนจดหมายลาตายถึงเพื่อนบางคนว่า ถึงจะตายไป ก็ยังระลึกถึง ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 อยู่ไม่รู้วาย อนันต์ ยุวบูรณ์ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ฟันในปากหมดแล้ว ยังคงพบปะเพื่อนฝูงด้วยกิจธุระเดิมอยู่
พวกเราได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพราะท่านจะมาในงานของ ร.ร. เตรียมปริญญาฯ และพบปะกับนักศึกษาเตรียมปริญญาฯ เหมือนลูกหลานให้ความอบอุ่นเเก่พวกเราอย่างสม่ำเสมอ พวกเราถือว่าท่านเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย ท่านถึงแก่อสัญกรรมไปในต่างประเทศท่ามกลางความอาลัยรักของพวกเรา ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 อยู่จนถึงปัจจุบัน
เมื่อพวกเราได้จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมปริญญาฯ แล้ว ในปี 2487 พวกเราก็ได้แยกย้ายกันเรียน คณะธรรมศาสตร์ (เรียนกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์และการเมือง) หรือคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ซึ่งขณะนั้นมหาวิทยาลัยมีเพียงสองคณะเท่านั้น พวกเราส่วนใหญ่เรียนในคณะธรรมศาสตร์ มีคนเดียวที่จบธรรมศาสตร์บัณฑิตภายในสามปีครึ่ง คือ คุณประทีป ชุ่มวัฒนะ (อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี) และอีก 18 คน จบธรรมศาสตร์บัณฑิตภายในสี่ปีตามหลักสูตรรวมทั้งตัวผู้เขียนด้วยซึ่งเพื่อนๆ ว่า “ฟลุ๊ก” เพราะไม่ค่อยดูหนังสือและภูมิไม่แน่น
จากนั้น เพื่อนๆ ก็ทยอยสำเร็จการศึกษากันทั้งทางกฎหมายและบัญชี เพื่อนนักศึกษาหญิงที่ถือว่าเรียนเก่ง สำเร็จประกาศนียบัตรชั้นสูงของคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาโท เท่าที่ผู้เขียนจำได้ เช่น ศ.วารี หะวานนท์ พวงหยก ประสบชัย พรพิมล วารีเวช เป็นต้น
ทางด้านกฎหมาย หลายคนไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยสอบชิงทุนหรือทุนส่วนตัว บางคนเรียนปริญญาโททางนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งแสนยากในขณะนั้น บางคนก็สำเร็จเป็นนิติศาสตร์มหาบัณฑิต บางคนเลิกเรียนเพราะยาก บางคนทำวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว เหลือแต่สอบปากเปล่าก็ถูกทางมหาวิทยาลัยในยุคเผด็จการยึดครองลบทะเบียนเสียก่อน เพราะเป็นผู้นำนักศึกษาให้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เวลาผ่านไป 20 ปีเศษ หลายคนมีงานการเป็นหลักฐานมั่นคง บางคนประสบความ
สำเร็จชีวิตอย่างสูงยิ่ง บางคนก็ต่อสู้กับชีวิตอันลำเค็ญต่อไป ในชีวิตครอบครัว เพื่อนเราหลายคู่ได้แต่งงานกันด้วยความสุข อยู่กันมาจนแก่เฒ่าทุกวันนี้ บางคู่ก็อยู่กันจนล้มหายตายจากกันไป ส่วนที่รักกันเเต่ไม่ได้แต่งงานเพราะมีอุปสรรค หรือที่รักเขาข้างเดียวโดยอีกข้างหนึ่งไม่ใยดีด้วย ก็เฝ้ามองชีวิตครอบครัวของคนที่เคยรักและยังรักอยู่ว่าจะเป็นสุขหรือไม่ เมื่อทราบเธอหรือเขามีทุกข์ก็อาทร เมื่อทราบว่ามีความสุขดี ผู้เฝ้าห่วงใยก็สบายใจ
ในระยะหนุ่มสาว พวกเราไปงานบวชของเพื่อนชาย ไปงานวันเกิดของเพื่อนหญิง ต่อไปก็ไปงานแต่งงานเพื่อนและได้โอกาสเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวบ้าง หลายปีต่อมาก็ไปงานบวชลูกเพื่อน แต่งงานลูกเพื่อน ไปงานแซยิดของเพื่อนๆ และในระยะหลังนี้เราได้ไปงานศพของเพื่อน ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 ค่อนข้างจะถี่หน่อย บางงานผู้เขียนต้องรับหน้าที่เป็นผู้จุดไฟพระราชทานให้แก่เพื่อนที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าเฉลี่ยขณะนี้พวกเราสูญเสียเพื่อนรุ่นเดียวกันไปประมาณเดือนละ 2 คน แต่คงอีกหลายปีพวกเราจึงจะไปพร้อมกันที่ภพหน้า เพราะพวกเรายังเหลืออยู่อีก 400 คนเศษโดยประมาณ
เราได้จัดงาน ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ซึ่งผู้เขียนถูกเพื่อนๆ บังคับให้เป็นประธานคนแรก และเราได้จัดต่อมาทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 35 ปี ได้เงินสะสมเป็นเงินสวัสดิการช่วยเพื่อน ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 และครอบครัว มากพอสมควรแต่ไม่มากมายนัก ขณะนี้คุณชาญ กาญจนนาคพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยถูกบังคับให้เป็นประธานตลอดกาล ซึ่งเจ้าตัวก็เต็มใจรับด้วยดี
พวกเราเดินทางมาถึงบั้นปลายชีวิตแล้ว และเราเหลือน้อยเต็มที แต่พวกเรา ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5 ก็ยังรักกันอยู่ และจะรักกันไปชั่วนิรันดร
ที่มา : มารุต บุนนาค, “56 ปีที่ผ่านมา,” ใน 60 ปี ต.ม.ธ.ก. (พ.ศ. 2481-2541), (กรุงเทพฯ: ประกายพรึก, 2541), 143-145.
[1] บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 2541