ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สุภา ศิริมานนท์ เพื่อ “ความเป็นเลิศ” ของหนังสือพิมพ์ไทย

15
กรกฎาคม
2566

Focus

  • ในวงการหนังสือพิมพ์ไทย ในยุค พ.ศ. 2492 – 2529 ‘สุภา ศิริมานนท์’ เป็นทั้งผู้ที่สร้างสรรค์ ผู้เป็นแบบอย่างทางจรรยาบรรณ อาจารย์ผู้ให้ความรู้อย่างจริงใจ และผู้อุทิศสติปัญญา ความรู้ และความสามารถเพื่อ “ความเป็นเลิศ” ของหนังสือพิมพ์โดยแท้ ด้วยหลักการที่ว่า “หนังสือพิมพ์ไทยจะต้องมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน เสรีภาพดังกล่าวนี้หนังสือพิมพ์จะต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบด้วย”
  • สุภา ศิริมานนท์ ศรัทธาในความคิดเศรษฐกิจการเมืองสำนักวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ และเป็นบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่มีความโดดเด่น อาทิ “นิกรวันอาทิตย์” นิตยสารรายเดือน “อักษรสาส์น” และ หนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” หนังสือพิมพ์เหล่านี้ มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัยหลายคนช่วยกันเขียนงานไปเผยแพร่
  • จุดเด่นของสุภา ศิริมานนท์ ในการอุทิศตนเพื่องานทางความคิดแก่สังคม คือ (1) มีความสามารถในการเข้าใจ และเลือกเฟ้นเอาข้อเขียนจากคุณสมบัติที่ดีเด่นของนักเขียนที่เขียนให้หนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการได้อย่างดีที่สุด (2) มีความสามารถในการบรรจุเรื่องตามแต่หัวใจของเรื่อง (Theme) ที่ตนกำหนดไว้ให้ได้อย่างเหมาะสม (3) มีความรู้รอบ และมีความตั้งใจมั่นที่จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ (4) มีความรู้อย่างยอดเยี่ยมในด้านเทคนิคการพิมพ์และมีความสามารถในการจัดทำหนังสือทั้งรูปเล่มและการจัดหน้าอย่างหาผู้ใดเทียบเคียงได้
  • การมีมุมมองในการสร้างสรรค์งาน และการอุทิศตนเพื่องานอย่างเต็มที่ของเขา เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและแบบอย่างให้แก่นักคิดและนักเขียนอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่า ทั้งในสมัยของเขาเองและสมัยต่อมา กระทั่งต้องติดคุกติดตะราง ดังที่เกิดขึ้นกับสุภา ศิริมานนท์ เช่นกัน อันรวมถึงทวีป วรดิลก ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ด้วย

 

ผมรู้จักคุณ ‘สุภา ศิริมานนท์’ ทั้งโดยชื่อและโดยงานมาตั้งแต่เมื่อผมอายุได้เพียง 16 ปี คือ เมื่อปี พ.ศ. 2487 แล้วต่อมาก็ได้รู้จักตัว มีความสนิทสนมกับครอบครัวของคุณสุภา ทั้งคุณจินดาคู่ชีวิตของคุณสุภา และ “ป้อม” หรือพิมพ์สุดาลูกสาวคนเดียวด้วย 

 

สุภา - จินดา ศิริมานนท์
สุภา - จินดา ศิริมานนท์ 

 

ทั้งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 จนถึงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นเวลา 37 ปีเต็ม แล้วคุณสุภาก็อำลาจากโลกนี้ไป และก็ลาจากโลกหนังสือพิมพ์ที่คุณสุภารัก และหวังที่จะได้เห็นพัฒนาการของมันที่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปในเมืองไทย ที่คุณสุภาเองก็ตระหนักดีว่า ยังล้าหลังอยู่ด้วยปราการแห่งอวิชชา ไม่ว่าจะมาจากเผด็จการทหารหรือพลเรือนก็ตาม

จากมรณกรรมของคุณสุภา ถือได้ว่าโลกหนังสือพิมพ์ไทยต้องสูญเสียนักหนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งไป เพราะฉะนั้นนักหนังสือพิมพ์ที่ชั่วชีวิตได้อุทิศให้แล้วซึ่งสติปัญญาความรู้และความสามารถเพื่อ “ความเป็นเลิศ” ของหนังสือพิมพ์โดยแท้ นักหนังสือพิมพ์ที่มีปณิธานอยู่ที่วิชาชีพหนังสือพิมพ์เพียงหนึ่งเดียว ยากที่จะหานักหนังสือพิมพ์คนใดเสมอเหมือน และ “ความเป็นเลิศ” นี้ก็มีอยู่แล้วในคุณวุฒิแห่งวิชาชีพของคุณสุภาเอง ซึ่งไม่ว่าคุณสุภาจะมีคุณวุฒิทางวิชาการในด้านอื่นๆ สักเพียงไร อาทิ วิชาเศรษฐกิจการเมืองสำนักวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) คุณสุภาก็ยังยืนอยู่เสมอว่า “ผมศึกษาอย่างคนหนังสือพิมพ์” เท่านั้น

ผมจำได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2487 เมืองไทยอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กระดาษและสินค้าจำเป็นอย่างอื่นๆ ต้องขาดแคลน มีราคาแพงลิบลิ่ว ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สมัยนั้นมีจำหน่ายในท้องตลาดเพียง 2 ฉบับเท่านั้น คือ สุภาพบุรุษประชามิตร กับ นิกรวันอาทิตย์

สำหรับ นิกรวันอาทิตย์ มีคุณสุภาเป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ผมพอใจมาก เพราะบรรจุเรื่องและคอลัมน์ต่างๆ อย่างยากจะหาหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับไหนมาเทียบเคียงได้ ทั้งในสมัยก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น กล่าวคือ นอกจากจะมีเรื่องสั้นของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงและมีแฟนมากอย่าง “เรียมเอง” (แม่อนงค์ หรือมาลัย ชูพินิจ) อ.มนัสวีร์ (มนัส จรรยงค์) แล้ว ยังมีเวทีสำหรับนักประพันธ์ใหม่ที่เรียกว่า “เรื่องสั้นโบว์แดง” ที่ลงพิมพ์เป็นประจำทุกสัปดาห์ และความจริง แม้ว่าเรื่องสั้นโบว์แดงจะเป็นของนักประพันธ์ใหม่ แต่ก็ “กินขาด” ทั้งในแง่ของสุนทรียะคือ รูปแบบทางศิลปะและในแง่ของเนื้อหาสาระ นักประพันธ์ใหม่ที่ “ดัง” จากเรื่องสั้นโบว์แดงใน นิกรวันอาทิตย์ ก็ได้แก่ ส.ธรรมยศ, เสนีย์ เสาวพงศ์, อิศรา อมันตกุล, สวิง พรหมจรรยา (ทองเดิม เสมรสุต) ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนั้น นิกรวันอาทิตย์ ยังมีคอลัมน์ “หนังสือและผู้แต่ง” เป็นการรีวิวหนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่ายในท้องตลาดใหม่ๆ ซึ่งนับว่าหายากสำหรับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สมัยนั้น ผู้เขียนคือ “โอฬาร” (วิลาศ มณีวัต) เฉพาะคุณวิลาศนี้กล่าวได้ว่า “ดัง” ในวงการวรรณกรรมสมัยนั้นก็โดยแรงสนับสนุนของคุณสุภาเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่คุณวิลาศเป็นนักประพันธ์หน้าใหม่ แต่ก็มีข้อเขียนปรากฏในนามปากกาต่างๆ กัน อาทิ วิวัต, วิไถ วัชรวัต และ “นภาพร”

นอกจากนี้ นิกรวันอาทิตย์ ยังมีข้อเขียนทางวิชาการลงพิมพ์ที่ทำให้แตกต่างไปจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อื่นๆ ทั่วไป ข้อเขียนทางวิชาการที่ว่านี้ เท่าที่ผมจำได้ก็ได้แก่ ข้อเขียนวิชาเศรษฐศาสตร์เขียนโดยมหาบัณฑิตหนุ่มทางเศรษฐศาสตร์จากญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังทั่วทั้งเมืองไทยรู้จักกันในนามของ “ซามูไรจอมโหด” ซึ่งก็ได้แก่ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่นั่นเอง

หนังสือพิมพ์ นิกรวันอาทิตย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพฉบับแรก

ที่ผมอ่านในช่วงที่อยู่ในวัย “แสวงหา” ได้ให้ความประทับใจแก่ผมอย่างล้ำลึก โดยเฉพาะในเมื่อเมืองไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคแห่งความเสื่อมทราม หนังสือพิมพ์รายต่างๆ ที่พิมพ์ออกจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่ด้อยคุณภาพ แม้แต่การตรวจปรู๊ฟก็ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย

พูดง่ายๆ ก็คือ ตลอดเวลาหลายต่อหลายปี ผมไม่อาจหาหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาอย่าง นิกรวันอาทิตย์ ได้อีกเลย หลังจากที่ นิกรวันอาทิตย์ ได้เลิกกิจการไปแล้ว อย่างไรก็ดี ในระยะนั้นผมรู้จักงานและชื่อเสียงของคุณสุภามากขึ้นแล้ว จำได้ว่า พบหนังสือเล่มเล็กๆ ที่คุณสุภาเขียนว่า ด้วยการที่ญี่ปุ่นแผ่แสนยานุภาพมาตามประเทศต่างๆ ในตะวันออกไกล และก็ได้พบข้อเขียนของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ที่คุณสุภาเขียน มีข้อความยกย่องชมเชยอยู่มาก ข้อเขียนของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการนี้ลงพิมพ์ในนิตยสาร เอกชนรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพที่พิมพ์ออกจำหน่ายสมัยก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ผมได้พบในหอพระสมุดแห่งชาติสมัยนั้น

ตอนนั้น ผมเขียนบทกวีต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์ที่ออกจำหน่ายแพร่หลายทั่วไป ส่วนมากพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ได้มีโอกาสรู้จักนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนหลายท่าน และก็ได้ทราบว่าระยะนั้นคุณสุภาเดินทางไปรับราชการในต่างประเทศในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่ได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงคราม ต่อมาต้นปี พ.ศ. 2492 ผมก็ได้พบหนังสือเล็กๆ เป็นข้อความทำนองแนะนำนิตยสารรายเดือนที่จะออกใหม่ชื่อ อักษรสาส์น โดยมีคุณสุภาเป็นบรรณาธิการเอง

ระหว่างนั้น คุณเริ่ม หรือ รวงทอง จันทพิมพะ เจ้าของนามปากกา “ร.จันทพิมพะ” นักประพันธ์สตรีผู้มีชื่อเสียงที่ประจำทำงานอยู่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ และ ประชามิตร และเป็นผู้มีอุปการคุณต่อผม โดยให้ความสนับสนุนผมทางด้านงานกวี “พี่เริ่ม” ได้ส่งบทกวีของผมหลายชิ้นไปให้คุณสุภา ต่อมา ผมก็ได้รู้จักกับคุณสุภาที่สำนักงานนิตยสาร โบว์แดง รายสัปดาห์ ถนนเจริญกรุง ซึ่งบรรณาธิการของนิตยสารนี้ คือ คุณสันต์ เทวรักษ์เป็นผู้แนะนำ คุณสันต์ เทวรักษ์เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นนักประพันธ์รุ่นน้องของศรีบูรพา แม่อนงค์ ขาขอบ ฯลฯ

1.

จำได้ว่า เมื่อพบกันครั้งแรกคุณสุภาถามผมว่า เคยอ่าน Leaves of Grass ของวอลต์ วิทแมนบ้างไหม ผมตอบไปว่าเคยอ่าน แต่ความจริงก็เคยอ่านอย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น และก็ยังผลให้ผมต้องกลับไปพากเพียรอ่านงานของวอลต์ วิทแมนเป็นการใหญ่ แต่ที่ผมมีความตื่นเต้นสนใจเป็นพิเศษยิ่งไปกว่านั้น ก็คือคุณสุภาชวนให้ไปคุยกันที่บ้าน “กระท่อมปักเป้า” เจริญพาศน์ การเดินทางสมัยนั้นคือเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จะต้องขึ้นรถเมล์มาลงที่ปากคลองตลาดแล้วลงเรือจ้างมาขึ้นที่ท่าเรือเจริญพาศน์ อัตรา 5 สตางค์ จากนั้นจึงขึ้นจากท่าเรือเดินเข้าตลาดเจริญพาศน์ พอพบป้ายชื่อหลวงสุภาเทพ (คุณพ่อคุณจินดา) ก็เข้าประตูไม้เดินลัดเลาะเข้าไป ผ่านบ้านไม้ทรงไทยหลังใหญ่ แล้วจะเห็น “กระท่อมปักเป้า” อยู่ซ้ายมือภายในบริเวณเดียวกัน “กระท่อมปักเป้า” ในตอนแรกที่ผมไปหาคุณสุภานั้นเป็นกระท่อมเล็กๆ ชั้นเดียว ภายในบ้านแออัดไปด้วยหนังสือ

 

สุภา - จินดา ศิริมานนท์ หน้ากระท่อมปักเป้า
สุภา - จินดา ศิริมานนท์ หน้ากระท่อมปักเป้า

 

จากนั้น ผมก็ได้พบกับคุณจินดาที่ผมรู้สึกว่าให้ความสนใจผมเป็นพิเศษ (ซึ่งผมอาจจะรู้สึกไปเองก็เป็นได้) เนื่องจากคุณจินดาสนใจอ่านกวีนิพนธ์ไทย และผมก็เคยมีความประทับใจจากข้อเขียนของคุณจินดาชิ้นหนึ่งที่วิจารณ์งานกวีเรื่องยาวของ “เจ้าหญิงจันทิมา” (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บรรณาธิการนิตยสาร สามทหาร รายเดือน มีข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีและโบราณคดี) มีชื่อว่า กุสาวดีคำกลอน

ในช่วงสงคราม “เจ้าหญิงจันทิมา” มีชื่อเสียงทางกวีมาก เนื่องจากได้เขียนเพลงยาวเสียงหาคู่ในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร รายสัปดาห์ปรากฏว่ามีกวีฝ่ายชายเขียนไปเกี้ยวกันเป็นการใหญ่ แต่เมื่อเขียน กุสาวดีคำกลอน ออกมาเป็นเล่ม ก็ถูกวิจารณ์ว่าเลียนแบบกวีนิพนธ์เก่าของไทยเองอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน บทวิจารณ์ของคุณจินดาได้ยกข้อความใน กุสาวดีคำกลอน มาลงแล้วคัดกวีนิพนธ์ของเก่ามาลงคู่กัน ทำให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนว่า “เจ้าหญิงจันทิมา” คัดลอกของเก่ามาแท้ๆ เป็นแต่ดัดแปลงถ้อยคำบ้างเท่านั้น ข้อเขียนที่คมคายและแสดงพื้นภูมิของผู้เขียนว่า มีความรู้ในวรรณคดีไทยเป็นอย่างดี มีผลสะเทือนอยู่มากในสมัยนั้น

อย่างไรก็ดี ในการมาเยือน “กระท่อมปักเป้า” ครั้งแรกนั้น ที่ให้ความประทับใจแก่ผมอย่างมากก็ได้แก่ ข้อคิดของคุณสุภาเองที่มีต่อเนื้อหาด้านบันเทิงของศิลปะต่างๆ ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยสมัยนั้น ผมยังจำได้ถึงถ้อยคำที่คุณสุภาเน้นกับผมถึงบทบาทของศิลปะว่าจะสามารถสร้างความบันเทิงที่มีสาระแก่ผู้อ่านผู้ชมได้อย่างไร ผมยังจำได้ดีว่า คุณสุภายกตัวอย่างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ “ฮิต” เรื่องหนึ่ง บังเอิญเป็นเรื่องที่ผมชอบเสียด้วย ภาพยนตร์เรื่องที่ว่านี้ก็คือ Three Musketeers ที่ยีน เคลลี่ แสดงนำ เป็นดาตาญัง พระเอกของเรื่องทหารสามเกลอ คุณสุภาพูดกับผมว่า “คุณดูหนังที่ยีน เคลลี่แสดง มันแอบดูนางเอกผลัดเสื้อผ้าแล้วทำท่าเป็นลิงเป็นค่าง คุณน่าจะคิดดูว่า อ้ายศิลปะอย่างนี้มันให้อะไรแก่เราบ้าง”

ยังจำได้ว่า พอผมได้ยินคุณสุภาพูดเช่นนี้ก็นิ่งอยู่ ไม่ใช่เพราะเกิดความเชื่อขึ้นมาทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือผมจะไม่ยอมรับฟังใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่คำพูดของคุณสุภาเป็นชนวนให้เกิดปัญหาข้องใจตามมาอีกหลายประการ แต่ผมยังเกรงใจไม่กล้าซักถาม นอกจากจะได้อ่าน อักษรสาส์น ที่คุณสุภาเป็นบรรณาธิการนั้นเอง บวกกับได้อ่านหนังสืออื่นๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งก็มีหลายเล่มที่คุณสุภาแนะนำ ปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่ผมจึงได้รับคำตอบด้วยตนเอง อย่างไรก็ดีในชั่วเวลาไม่นาน อักษรสาส์น เล่มแรกและเล่มสองก็ได้ออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน พ.ศ. 2492 ตามลำดับ ผมจึงพอจะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำ และเนื้อหาสาระที่แตกต่างออกไปจากนิตยสารรายคาบต่างๆ สมัยนั้น ซึ่งอย่าว่าแต่ในตลาดหนังสือเลย แม้แต่ในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งคือธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ก็หานิตยสารประเภทวิชาการทำนองนี้ยากเต็มที

อักษรสาส์น เป็นนิตยสารรายเดือนที่จัดทำแถลงไว้ก่อนเลยว่า สำหรับผู้อ่านประเภท Serious Readers บรรจุข้อเขียนประเภทวิชาการต่างๆ หลายทาง มีทางด้านการต่างประเทศ วิชาการเมือง สังคม และศิลปวรรณคดี และก็ได้ชุมนุมนักคิดนักเขียนชั้นนำในยุคนั้นไว้อย่างคับคั่ง ได้แก่ อาจารย์ดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและทูตไทยประจำลอนดอน, แสนย์ เสนาณรงค์ (พลโทแสวง เสนาณรงค์), ส.สัตยา (พันเอกพิเศษสนอง ถมังรักษ์สัตย์ อดีตทูตไทยประจำพม่า), พันเอกพิเศษวัฒนา พยัคฆนิธิ (ทูตไทยประจำเวียดนามใต้), คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนค้นคว้า ธนาคารแห่งประเทศไทย, คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิต อดีตบรรณาธิการ สุภาพบุรุษ และ ประชามิตร, คุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต, “ส.ว.พ.” ผู้แปล เศรษฐกิจในระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่, ในด้านวรรณคดีได้แก่นายตำรา ณ เมืองใต้กับ “อินทรายุธ” ด้านปรัชญาได้แก่ “สุชีโวภิกขุ” และคุณสมัคร บุราวาศ ราชบัณฑิตในวิชาอภิปรัชญา ฯลฯ

โดยที่ผมมีความสนใจในการเมืองระหว่างประเทศมาตั้งแต่ในตอนนั้น ทั้งๆ ที่ผมเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย แต่ก็สนใจอ่านคำบรรยายและตำราของอาจารย์ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น คือ ใกล้จะสอบเท่านั้น ระยะนั้น ผมสนใจสงครามกลางเมืองในจีน ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังมีชัยรัฐบาลพรรคกว๋อหมินตั่ง และก็ยังไม่ทราบสาเหตุเลยว่า ทำไมรัฐบาลกว๋อหมินตั่งจึงปราชัยอย่างย่อยยับ ก็ได้ข้อสรุปอย่างชาวบ้านว่าเมืองจีนกำลังจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่คอมมิวนิสต์คืออะไรก็ยังไม่รู้ 

 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงอดถามคุณสุภาไม่ได้ คุณสุภาก็เลยถามผมว่า อ่านบทความเรื่อง “สงครามกลางเมืองในจีน” หรือยัง ซึ่งบทความนี้คุณวัฒนา พยัคฆนิธิเป็นผู้เขียนลงใน อักษรสาส์น เล่มหนึ่ง เมื่อผมตอบว่าอ่านแล้ว คุณสุภาก็บอกว่าให้ผมรออ่านข้อเขียนของผู้อ่านที่โต้คุณวัฒนาในปัญหานี้ โดยแย้งว่า ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่ชัยชนะของรัสเซียอย่างที่คุณวัฒนาเขียน “คุณรออ่านเถอะ คนเขียนเขาเขียนได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนดีมาก จะทำให้คุณกระจ่างในปัญหานี้” แล้วคุณสุภาก็ถามผมต่อไปว่า

นอกจากกวีนิพนธ์แล้ว สนใจอ่านหนังสือประเภทไหน ผมก็ตอบอ้อมแอ้มๆ ไปว่าสนใจอ่านเรื่องการเมืองต่างประเทศมาก อย่างเรื่องสงครามกลางเมืองในจีนที่กำลังถามคุณสุภาอยู่นี้ “ถ้าคุณสนใจเรื่อง Foreign Affairs คุณจะอ่านเฉพาะข่าวต่างประเทศในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยไม่พอหรอก คุณต้องเสาะหาหนังสือที่เปิดเผยเบื้องหลังของมันโดยนักเขียนที่เชื่อถือได้”

ผมก็อ้อมแอ้มตอบอีกว่าเห็นจะลำบากเพราะภาษาอังกฤษของผมมันไม่ใคร่จะกระดิกหู เท่าที่พอจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกวีต่างประเทศโดยเฉพาะกวีอังกฤษหรืออเมริกันบางคนนั้น ก็ด้วยความรักและสนใจของตนเอง โดยขอยืมสมุดจดคำบรรยายของพี่สาวที่เรียนอักษรศาสตร์จุฬาฯ สมัยนั้นมาอ่านเอาเองตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 ถ้าอ่านตรงไหนไม่เข้าใจก็ถามเขา “คุณต้องสนใจภาษาอังกฤษไว้ให้มาก” นี่เป็นคำแนะนำเชิงสั่งสอนที่ผมได้รับจากคุณสุภาเป็นครั้งแรกและก็ยังได้รับเรื่อยมาตลอดชั่วชีวิตของคุณสุภาทีเดียว “จำไว้ว่าตำรับตำราในภาษาไทยน่ะ มีไม่พอให้เราศึกษาหรอก เพราะฉะนั้นภาษาต่างประเทศ คุณจะต้องเอาไว้ให้ได้อย่างน้อยก็ภาษาหนึ่ง”

จากการพบกับคุณสุภาที่ “กระท่อมปักเป้า” เป็นครั้งแรก อันนำมาซึ่งการพบกับคุณสุภาครั้งต่อๆ ไปอีกนับครั้งไม่ถ้วน จนยังผลให้ “กระท่อมปักเป้า” กลายมาเป็นที่กินและบางครั้งก็เป็นที่นอนของผมไปตั้งแต่ผมมีอายุได้ 20-21 ปี จนกระทั่งมีครอบครัว แล้วนานๆ ครั้ง คุณสุภาและคุณจินดาก็มาเยี่ยมผมที่บ้าน และก็มารับประทานอาหารที่บ้านผมบ้าง (ถ้าเทียบอัตราส่วนก็เห็นจะเป็นว่า ผมรับประทานอาหารที่บ้านคุณสุภาอยู่หลายสิบครั้งคุณสุภาจึงจะมารับประทานอาหารที่บ้านผมสักครั้ง)

ที่เป็นเรื่องตลกสำหรับผมก็คือ ผมเป็นคนกินเหล้า ส่วนคุณสุภาเกลียดเหล้าเป็นพิเศษ พูดอยู่เสมอว่าถ้าขืนกินเหล้าอย่างผมเห็นจะตายแน่ แล้ววันหนึ่งคุณสุภาก็บ่นว่า ได้รู้จักและสนิทสนมกับผมมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ก็ไม่เห็นผมเลิกเหล้าสักที เว้นแต่ในตอนป่วยไข้เท่านั้น ผลที่สุดก็เลยยอมแพ้ผม โดยประกาศเลิกธรรมนูญประจำบ้าน คือสั่งเด็กให้ออกไปซื้อเหล้าที่ผมต้องการมากินในบ้านเสียเลย

ความเปลี่ยนแปลงในทางความคิดที่คุณสุภาและ อักษรสาส์น มีต่อผม ก็คือ ทำให้ผมต้องขวนขวายหาความรู้จากหนังสือภาษาอังกฤษเท่าที่จะสามารถหาได้ โดยเฉพาะที่ร้านจำหน่ายหนังสือ “นิพนธ์” ที่คุณสุภาแนะนำให้ผมสั่งหนังสือจากต่างประเทศที่ร้านนี้เป็นประจำซึ่งเป็นเวลาติดต่อกันถึง 30 กว่าปีแล้ว (และเดี๋ยวนี้ก็ยังสั่งอยู่) หนังสือต่างๆ ส่วนใหญ่ในตอนต้นก็เป็นการศึกษาต่อเติมจากข้อเขียนทางวิชาการประเภทต่างๆ ที่มีใน อักษรสาส์น แล้วก็แตกแขนงออกไป

ความจริงในสมัย อักษรสาส์น นั้น ในโอกาสที่ได้พูดคุยกับคุณสุภา ผมก็มักจะได้รับฟังข้อคิดต่างๆ จากคุณสุภาเหมือนฝากให้ไปคิดเป็นการบ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อคิดที่มีคุณค่าและก็หาจากที่ไหนไม่ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น คำโฆษณาที่เราเห็นกันแพร่หลายในยุคของสงครามเย็นที่ว่า “ประชาธิปไตยต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์” หรือ Democracy Versus Communism คุณสุภาชี้ให้เห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อทั้งสิ้น ประชาธิปไตยไม่เคยสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ และก็จะไม่มีวันสู้กันด้วย

ในเมื่อ ประชาธิปไตย Democracy เป็นศัพท์ทางรัฐศาสตร์ ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์ Communism เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์คนละเรื่องคนละขั้วโลกกันทีเดียว ศัตรูของระบอบประชาธิปไตยก็ได้แก่อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือคณาธิปไตย (Oligarchy) หรืออัตตาธิปไตย (Autocracy) และในระยะหลังๆ หรือสมัยใหม่นี้ ศัตรูตัวฉกาจของประชาธิปไตยได้แก่ธนาธิปไตย (Plutocracy) ต่างหาก ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเป็นศัพท์เศรษฐศาสตร์ หมายถึงระบบเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของสังคมในอนาคตกาลที่ยังไม่เคยมีมาเลยในโลกและจะมีขึ้นเมื่อไรก็ไม่มีใครทราบได้

หรืออย่างในยุคแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ คำว่าเสรีประชาธิปไตยมีใช้กันเกร่อ มีการใช้คำว่าเสรีชน, ทหารไทยไปรบในเกาหลีก็เพื่อ “เสรีที่รัก” อย่างที่มีเพลงกรอกหูทางสถานีวิทยุของราชการ คุณสุภาก็เล่าให้ผมฟังว่า ในตอนเดินทางไปยุโรป ได้ไปสวีเดนและก็ได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยอุปซาล่า ได้ขอพบศาสตราจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ และก็ได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยนี้มีคติพจน์อยู่ว่า To think freely is good, but to think right is better มีความคิดอย่างถือเสรีก็ดีอยู่ แต่มีความคิดอย่างถูกต้องย่อมดีกว่า (คำแปลของคุณสุภาเอง) หลังจากคุยกับผมไม่นาน คติพจน์นี้ก็ปรากฏใน อักษรสาส์น เมื่อขึ้นปีที่ 3 (พ.ศ. 2494) และผมก็เคยเอาไปอ้างอิงในโอกาสที่เขียนโจมตีนักวิชาการเถื่อนในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในนิตยสาร ธรรมจักร รายปักษ์ที่นักศึกษาจัดทำกันเอง (อารีย์ อิ่มสมบัติเป็นบรรณาธิการ) ที่ชอบอ้างคำว่า “เสรี” กันนัก

เนื่องจาก ผมพอใจในเนื้อหาของ อักษรสาส์น ที่คุณสุภาจัดทำ ในโอกาสที่ผมได้รับเลือกตั้งเป็นบรรณาธิการวารสาร ธรรมจักร ของสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2492 จึงได้พยายามบรรจุเรื่องที่เขียนโดยนักเขียนของ อักษรสาส์น ส่วนใหญ่ สำหรับคุณสุภาในฐานะบรรณาธิการ อักษรสาส์น นั้น ผมขอให้คุณสุภาเขียนเรื่องมหาวิทยาลัยมอสโก เนื่องจากเห็นว่าเรื่องราวของมหาวิทยาลัยนี้ยังเป็นความลับดำมืด ไม่มีใครในเมืองไทยรู้กันเลยและตามที่เล่าให้ผมฟัง

คุณสุภาก็ได้สนใจศึกษามหาวิทยาลัยนี้มามากพอสมควรผลก็คือเมื่อวารสาร ธรรมจักร ที่ผมเป็นบรรณาธิการมีเรื่องของคุณสุภาดังกล่าว อาจารย์ขุนประเสริฐ ศุภมาตรา อดีตเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พอพบผมเข้าก็ทักทันทีว่า “คุณทวีป ! คุณน่ะควรจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมอสโกโน่น ไม่น่าจะมาเรียนที่ธรรมศาสตร์เลย !”

นอกจากการบรรจุเรื่องที่ผมพยายามจะเลียน อักษรสาส์น เพราะความพอใจในคณะนักเขียนของ อักษรสาส์น แล้ว ตลอดเวลาที่ อักษรสาส์น ออกจำหน่าย ผมยังได้เรียนรู้ถึงการจัดทำหนังหนังสือพิมพ์ในฐานะบรรณาธิการจากคุณสุภาอีกมาก และความรู้ที่ได้มานี้ก็หาไม่ได้ ไม่ว่าจะจากตำรับตำราหรือนักวิชาการใดๆ กล่าวโดยสรุป คุณสุภาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ผมเห็นว่ามีความเป็นบรรณาธิการ (Editorship) อย่างสมบูรณ์ทีเดียว

2.

ความเป็นบรรณาธิการที่ว่านี้ ผมหมายถึงความสามารถในการจัดทำให้หนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการมีคุณภาพเป็นเลิศ ซึ่งคุณสมบัติในฐานะบรรณาธิการเช่นนี้ของคุณสุภานับว่ามีอยู่อย่างสมบูรณ์ คุณสมบัติที่ว่านี้ ผมสรุปหลักใหญ่ๆ ได้ดังนี้

ประการแรก คุณสุภามีความสามารถในการเข้าใจ และเลือกเฟ้นเอาข้อเขียนจากคุณสมบัติที่ดีเด่นของนักเขียนที่เขียนให้หนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการได้อย่างดีที่สุด เป็นต้นว่า นักเขียนคนนี้เขียนเรื่องอย่างนี้ดี นักเขียนคนนั้นเขียนเรื่องอย่างนั้นดี ฯลฯ ยากที่จะหานักเขียนคนไหนมาเทียบเคียงได้ อย่างการวิจารณ์ต่างประเทศ ในสมัยที่ผมทำหนังสือพิมพ์รายวัน ผู้ที่ผมและวงการหนังสือพิมพ์สมัยนั้นยกย่องกันมากว่า เขียนบทความต่างประเทศได้ดีที่สุด ก็ได้แก่ คุณธนวนศ์ จาตุประยูร อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นิกรรายวัน คุณสุภายังชี้แจงกับผมเพิ่มเติมว่า ในสมัยที่คุณสุภาทำหนังสือพิมพ์รายวัน มีเนื้อที่มากๆ คุณธนวนต์เขียนเบื้องหลังการเมืองต่างประเทศเป็นเรื่องยาว ใช้ปากกาคอแร้งแท้ๆ แต่ข้อเขียนเรื่องต่างประเทศนั้นเป็นเยี่ยม ซึ่งในสมัยหลังๆ หนังสือพิมพ์ไม่มีเนื้อที่ที่จะทำได้อย่างนั้นเสียแล้วน่าเสียดายมาก

ประการที่สอง ความสามารถในการบรรจุเรื่องตามแต่หัวใจของเรื่อง (Theme) ที่ตนกำหนดไว้ให้ได้อย่างเหมาะสม อย่าง อักษรสาส์น เป็นหนังสือพิมพ์รายเดือน มีเนื้อที่จำกัด เมื่อมีเรื่องยาวที่ดีเด่นที่จะลงพิมพ์ คุณสุภาจะบรรจุเรื่องนั้นลงพิมพ์ทั้งเรื่อง ทั้งๆ ที่ต้นฉบับยาวมากโดยตัดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันออกไปเสียเลยทั้งเรื่อง โดยคุณสุภาชี้เแจงว่า จะสามารถทำให้ผู้อ่านได้เนื้อหาสาระของเรื่องอย่างสมบูรณ์ในแต่ละแง่มุมของหัวใจของเรื่องที่เราต้องการเสนอนั้น อย่างเมื่อมีผู้แปลนวนิยายเรื่องสำคัญที่ในวงวรรณคดีจีนยกย่องกันมาก คือ “อาคิว” ของหลู่ซิ่น

คุณสุภาจะมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้อย่างดีในวรรณคดีจีนสมัยใหม่เขียนชีวประวัติของหลู่ซิ่น นักเขียนเอกของจีน และก็มีข้อคิดที่ให้ความกระจ่างแก่ผู้อ่านถึงเนื้อหาของเรื่อง “อาคิว” ด้วย ผมจำได้ว่า อักษรสาส์น เล่มที่ลงเรื่องของ “อาคิว” ฉบับนั้น มีทั้งประวัติของหลู่ซิ่น ผู้เขียน “อาคิว”

ความสำคัญของ หลู่ซิ่น ในฐานะนักคิดนักเขียนของจีน แล้วยังมีข้อเขียนที่อธิบายถึงความคิดหลักของ หลู่ซิ่น ตามที่ถ่ายทอดออกมาเป็น "อาคิว” อีก จนทำให้ผมเข้าใจได้อย่างกระจ่างในเรื่องความคิดและอัจฉริยภาพของ หลู่ซิ่น ในการจำลองบุคลิกของคนจีนในยุคนั้นมาถ่ายทอดเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวา เรื่องอาคิว, ชีวิต และงานของ หลู่ซิ่น ที่คุณสุภานำลงใน อักษรสาส์น เล่มนั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ผมแม้เมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้วถึงสามสิบปีเมื่อตอนถ่ายทอดกวีนิพนธ์ของ หลู่ซิ่น ออกมาเป็นกวีนิพนธ์ไทย ผมก็ได้อาศัย อักษรสาส์น เล่มนี้ และผมก็เชื่อว่าให้ความกระจ่างแก่ผมในเรื่องชีวิตและงานของ หลู่ซิ่น ยิ่งกว่างานของนักเขียนตะวันตกตามที่เคยอ่านเป็นไหนๆ

ประการที่สาม คุณสุภามีความรู้รอบ และก็มีความตั้งใจมั่นที่จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งกว่านี้คุณสุภายังมีความอุตสาหะวิริยะ ไม่ว่าต้นฉบับของนักเขียนคนไหนมีชื่อสถานที่หรือตำแหน่งที่คนไทยเราทั่วไปไม่คุ้นกัน คุณสุภาก็จะมีเชิงอรรถให้ความกระจ่างไว้ ผมจำได้ว่า อย่างคำ Procurator ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีหลายความหมายทั้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางสรรพากรหรืออะไรต่างๆ

คุณสุภาก็ให้อรรถาธิบายคำนี้กินเนื้อที่ถึงครึ่งหน้ากระดาษ ยิ่งกว่านี้ การให้ความกระจ่างของคุณสุภายังรวมไปถึงความสามารถในการทำให้ผู้อ่านอ่านหนังสือด้วยความสะดวกด้วย ผมจำได้ว่า ในสมัยนี้ มีการจัดทำหนังสือแบบหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นศิลปะของการจัดทำหนังสือยุคใหม่ก็ว่าได้ หนังสือประเภทนี้ ใช้กระดาษสีดำทั้งหน้าแล้วใช้ตัวหนังสือสีขาว พูดง่ายๆ ก็คือกลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำนั่นเอง วิธีนี้ผมบ่นกับคุณสุภามากเพราะอ่านหนังสือด้วยความลำบาก คุณสุภาก็บอกว่า “ทำไม่ถูก เรื่องอะไรไปทำร้ายสายตาของคนอ่านเขา”

ประการที่สี่ คุณสุภามีความรู้อย่างยอดเยี่ยมในด้านเทคนิคการพิมพ์และก็มีความสามารถในการจัดทำหนังสือทั้งรูปเล่มและการจัดหน้าอย่างที่ผมไม่อาจจะหาผู้ใดเทียบเคียงได้ คุณสุภาเคยเล่าให้ผมฟังถึงวิธีทำหนังสือว่า ก่อนอื่นจะต้องศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้ในโรงพิมพ์เสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง แล้วถึงเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผมได้ยินช่างเรียงที่เคยทำงานกับคุณสุภาว่า เวลาจะทำหนังสือ ไม่ว่าจะโรงพิมพ์ไหนก็ตาม คุณสุภาจะตรวจสอบเครื่องมือต่างๆ ในโรงพิมพ์อย่างถี่ถ้วน แล้วสอบถามความรู้ความสามารถของหัวหน้าช่างเรียงจนเข้าใจจากนั้นก็จะลงมือสอนคืออธิบายก่อนให้เข้าใจว่าต้องการเช่นไร

เครื่องมือไหนควรจะใช้ประโยชน์อย่างไร แล้วถึงจะทำ คุณสุภาเคยบอกกับผมว่า ดัมมี่ของคุณสุภาที่จัดทำให้หัวหน้าช่างเรียงไปทำตามอย่างนั้น ถ้าช่างเรียงทำตามดัมมี่อย่างเคร่งครัด จะต้องพอดีหน้าเสมอ ไม่เคยขาดไม่เคยเกินแม้แต่เอ็มเดียว แต่ที่มีคลาดเคลื่อนทำให้คุณสุภาอารมณ์เสียบ่อยๆ นั้น ก็เพราะช่างเรียงอวดดีเองไปแก้ดัมมี่หรือไม่ก็ทำไม่ตรงตามต้นฉบับ

เรื่องความสามารถในการจัดทำหนังสือของคุณสุภานี้ เป็นที่ยกย่องและยอมรับกันทั่วไปในวงการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์ต่างๆ จนในช่วงปลายทศวรรษที่ 2490 ผมได้ทราบว่า โรงพิมพ์รุ่งนครที่ตั้งอยู่ที่ตลาดน้อยมีชื่อเสียงว่างานดี ก็โดยคุณสุภาจัดทำ อักษรสาส์น ที่นั่นปรากฏว่าทางโรงพิมพ์เข้าใจในความรู้ความสามารถจนคุณสุภา สามารถสั่งการได้ตามความประสงค์ทุกประการ ก็เลยปรากฏว่าหนังสือที่พิมพ์ที่รุ่งนครได้ชื่อว่าจัดทำรูปเล่มได้หมดจด ฝีมือประณีต จนภายหลังเมื่อ อักษรสาส์น เลิกกิจการแล้ว

เมื่อ เศรษฐสาร นิตยสารรายปักษ์ (คุณล้วน ปั้นน้อย เป็นบรรณาธิการ) ไปพิมพ์ที่รุ่งนคร ช่างเรียงคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า พอช่างเรียงเห็นดัมมี่ก็บอกว่า ถ้าเป็นคุณสุภาจะไม่ทำอย่างนี้ แต่จะทำอีกอย่างหนึ่ง โชคดีที่ผู้จัดทำรูปเล่ม เศรษฐสาร เข้าใจและคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงของคุณสุภามาแล้วก็เลยมอบหมายให้ช่างเรียงทำตามที่คุณสุภาเคยทำ นิตยสาร เศรษฐสาร ก็เลยเป็นนิตยสารที่มีการจัดหน้าและเข้ารูปเล่มหมดจดประณีตอีกเล่มหนึ่ง

เมื่อตอนผมจัดพิมพ์ จูเลียส ซีซาร์ บทละครกวีของเชคสเปียร์ที่ผมถ่ายทอดเป็นกวีไทย มีเพื่อนของน้องชายผมคนหนึ่งที่รักการจัดหน้าหนังสือ โดยที่ผมเองก็เกรงใจไม่อยากจะรบกวนคุณสุภา ก็เลยมอบให้เพื่อนรุ่นน้องคนนั้นเข้าหน้าให้ เนื่องจากเพื่อนรุ่นน้องคนนั้นเป็นคนละเอียดประณีตมาก และก็ศึกษาวิธีจัดหน้าเข้าหน้าหนังสือของคุณสุภามาอย่างดี

ผลก็คือพอ จูเลียส ซีซาร์ เสร็จเป็นเล่ม เมื่อคุณสุภาเห็นหนังสือ พอพลิกดูไม่นานก็พูดกับผมว่า “หมึกให้ใครจัดทำหนังสือนี้ ? จัดหน้าใช้ได้นี่” ผมไปบอกกับเพื่อนรุ่นน้องคนนั้นว่า “จงภูมิใจเถิดที่คุณสุภาพูดเช่นนี้ ตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ผมรู้จักกับคุณสุภามา ผมยังไม่เคยได้ยินคุณสุภาพูดอย่างนี้มาก่อนเลย” ทั้งนี้ คุณสุภาอธิบายกับผมว่า “จูเลียส ซีซาร์” เป็นบทละครการจัดรูปเล่มและการวางเรื่องลงในหน้า ผู้จัดจะต้องมีความเข้าใจพอสมควร เมื่อพลิกดูหนังสือ จูเลียส ซีซาร์ เห็นการจัดวางบทละครซึ่งเป็นคำกลอนได้อย่างเหมาะสม ก็เลยเชื่อว่าคนจัดทำหนังสือเล่มนี้ “เป็น”

แล้วยังมีเรื่องการเน้นน้ำหนักข้อความต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นการให้ตัว มีเอนบ้าง หนาบ้าง อย่างสมัยก่อน เรียกว่าตัวเอน ตัวฝรั่งเศส ฯลฯคุณสุภาอธิบายให้ฟังว่าการเล่นตัวต้องใช้อารมณ์เหมือนกัน ก่อนอื่นจะต้องอ่านต้นฉบับให้เข้าใจกระจ่างว่า ผู้เขียนมีความตั้งใจเช่นไร จะ “สื่อความหมาย” ของข้อเขียนของตนอย่างไร จำเป็นต้องเข้าใจต้นฉบับเสียก่อนถึงจะให้ตัวได้ คุณสุภาบอกกับผมว่า ในการให้ตัวแก่ต้นฉบับ คนให้ตัวจะต้องอ่านต้นฉบับสามครั้งเป็นอย่างน้อย ผมได้ยินคุณสุภาพูดแล้วก็เลยท้อใจมาจนทุกวันนี้ เลยเป็นลูกศิษย์ที่ไม่เอาถ่านของคุณสุภามาโดยตลอด

นอกจากคุณวุฒินานาประการดังที่ได้เล่ามา คุณสุภายังมีวุฒิพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ทนให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อพบเห็นข้อเขียนหรือต้นฉบับแปลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน จะต้องพยายามแก้ไขคือชี้ให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้นๆ รู้ว่า หนังสือที่ตนทำมีผิดพลาดอย่างไรและที่ถูกเป็นเช่นไร

เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อนก็เคยมีเรื่องราวที่เกรียวกราวขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งแปลจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นไทย โดยที่นักหนังสือพิมพ์ผู้นี้เข้าใจผิด เมื่อเห็นคำว่า Canon ในภาษาอังกฤษ ก็คิดว่าเป็นคำเดียวกับคำ Cannon ที่แปลว่า “ปืนใหญ่” ก็เลยใช้ชื่อเรื่องอย่างเก๋ว่า “ปืนใหญ่หนังสือพิมพ์” ผมจำได้ว่า คุณสุภาเขียนลงในหนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้น ดูเหมือนจะเป็น เดลิเมล์ ชี้แจงเรื่องนี้อย่างกระจ่างชัด จนเกิดความครื้นเครงกันขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์ แล้วยังมีอาจารย์ชั้นดอกเตอร์ทางอักษรศาสตร์หรือวรรณดีฝรั่งเศสที่รับจ้างแปลหนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์เล่มหนึ่ง ดูเหมือนชื่อเรื่องจะขึ้นต้นว่า Jesus or Marx

คุณสุภาคงเขียนมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ เช่นเคย ชี้ให้เห็นว่าข้อความที่แปลในหน้าต้นๆ นั้นผิดอย่างฉกรรจ์ จนยังผลให้หนังสือแปลที่ว่านั้นถูกทางสำนักงานต่างประเทศที่เป็นนายทุนในการว่าจ้างผู้แปลและจัดพิมพ์เป็นเล่มต้องเก็บหนังสือจากตลาดโดยรีบด่วน ภายในไม่กี่วันก็หาซื้อหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เลย

คุณวุฒิในการเป็นบรรณาธิการของคุณสุภา ถ้าจะค้นคว้าเขียนออกมา ผมเข้าใจว่า คงจะเป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ ได้เล่มหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นวิทยานิพนธ์สำหรับนักศึกษาวิชาวารสารศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ถ้าจะสรุปก็ได้แก่ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีปณิธานเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือความเป็นเลิศของหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการนั้นเอง

3.

อักษรสาส์น ออกมาจำหน่ายได้สามปีกับเจ็ดเดือนก็ถึงกาลอวสาน เนื่องจากในวันวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีการจับใหญ่ที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” มีนักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากโดนจับกันหลายสิบคน ที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์, คุณสมัคร บุราวาศ, คุณอุทธรณ์ พลกุล, คุณเจริญ สืบแสง ในฐานะประธานคณะกรรมการสันติภาพ แถมพ่วงเอาคุณสุภาเข้าไปด้วย แล้วก็มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันได้แก่ มารุต บุนนาคที่ถูกจับในข้อหากบฏด้วยเช่นกัน คุณสุภาถูกควบคุมตัวอยู่ 84 วันตามอำนาจของพนักงานสอบสวนแล้วก็ได้รับอิสรภาพ ตำรวจสั่งไม่ดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดๆ ด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า ทางการตำรวจสมัยนั้นต้องการปิด อักษรสาส์น ในฐานะดวงประทีปน้อยๆ ที่ส่องสว่างอยู่ท่ามกลางความมืดมนภายใต้ “ท็อปบูตทมิฬ” อันโสมมของเมืองไทยในยุคนั้น

ต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2497 ผมก็ได้ทราบว่า คุณสุภาหันมาทำหนังสือพิมพ์ใหม่คือ ไทยใหม่ ตอนนั้นผมทำหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย รายวัน และก็ยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากคุณสุภาเช่นเคย กล่าวคือในตอนที่ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย นั้น เนื่องจากผมพอใจในการเสนอข่าวต่างประเทศและบทบรรณาธิการของ ไทยใหม่ ขณะนั้น ผมจึงถามคุณสุภาว่าใครเป็นผู้ทำและถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากได้มาเป็นผู้สื่อข่าวการเมืองของพิมพ์ไทย เพราะเห็นว่า มีความรู้เพียงพอที่จะตั้งคำถามให้บุคคลสำคัญของรัฐบาลเกรงใจได้

คุณสุภาก็บอกว่ายินดีให้หัวหน้าข่าวต่างประเทศผู้นั้นมาทำกับผมที่ พิมพ์ไทย เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวของเขาเอง และแก่หนังสือพิมพ์ด้วย ผมจึงตระหนักขึ้นมาได้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นเช่นไร รัฐบาลจะทารุณกับหนังสือพิมพ์เพียงไหน คุณสุภาก็ยังเป็นคุณสุภาอยู่นั่นเอง คุณสุภาที่คิดแต่จะให้กิจการหนังสือพิมพ์ไทยมีความ “ดีกว่า” อยู่เสมอมา ผมขอคนที่เป็นกำลังสำคัญของ ไทยใหม่ โดยที่ ไทยใหม่ ตอนนั้นเป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ แต่คุณสุภาก็เต็มใจและยินดีที่จะสนับสนุนเพื่อประโยชน์แก่หนังสือพิมพ์โดยส่วนรวมนั้นเอง ในเมื่อ พิมพ์ไทย ในสมัยนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีสถิติจำหน่ายสูงสุดในเมืองไทย หัวหน้าข่าวต่างประเทศและผู้เขียนบทบรรณาธิการ ไทยใหม่ คนนั้นก็คือทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแม็กไซไซนั่นเอง

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ยังมีข้อเขียนทางศิลปวรรณคดีที่ถูกใจผมมาก จึงได้ถามคุณสุภาว่าใครเป็นผู้เขียนคอลัมน์ “ศิลปวรรณคดี” ของ ไทยใหม่ และผมต้องการให้มาเขียนคอลัมน์ “ศิลปวรรณคดี” ของผมใน พิมพ์ไทย คุณสุภาก็สนับสนุนผมอีก โดยบอกชื่อจริงของผู้เขียนศิลปวรรณคดีคนนั้นให้ผมทราบ ซึ่งผมพอทราบชื่อเข้าก็เลยต้องบอกว่า เห็นจะต้องขอให้ใช้นามปากกาไว้ก่อน ถ้าปิดชื่อจริงในตอนนี้ก็เห็นจะดี คุณสุภาก็เห็นด้วยอีกนามปากกา “สมชาย ปรีชาเจริญ” จึงอุบัติขึ้นมาเพราะเหตุนี้ เพราะนามจริงของผู้เขียนศิลปวรรณคดีคนนี้ได้แก่ จิตร ภูมิศักดิ์

หลังจากหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ คุณสุภาไม่ได้ทำหนังสือพิมพ์อะไรอีก ได้เข้าประจำทำงานในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ซึ่งตอนแรกๆ นั้นอยู่ที่วังบูรพา ข้างโรงภาพยนตร์แกรนด์ ผมก็คงไปมาหาสู่กับคุณสุภาเป็นประจำและในระหว่างนั้น ก่อนที่ผมจะเลิกจากวิชาชีพหนังสือพิมพ์โดยเด็ดขาด ยังจำได้ดีว่า ไม่ว่าจะทำหนังสือพิมพ์ที่ไหนก็ตาม คุณสุภามักจะมาหาเป็นประจำ แล้วก็มีแมกาซีนภาษาอังกฤษหรือหนังสือเล่มที่จะเป็นประโยชน์แก่การทำหนังสือพิมพ์มาฝากผม เป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณสุภามีใจรักในวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง

เมื่อตนเองไม่มีโอกาสทำแล้วก็ยังหวังจะได้เห็นวิชาชีพนี้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป และก็เป็นความปรารถนาดีอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ โดยไม่หวังอะไรตอบแทนด้วย ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากที่คุณสุภาเกษียณจากบริษัทอาคเนย์ฯ แล้ว ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปด้วยการช่วยเหลือคณะวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนสถาบันวิชาการหนังสือพิมพ์อื่นๆ เท่าที่จะสามารถกระทำได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยและสุขภาพก็สมควรจะพักผ่อนได้แล้ว แต่เท่าที่ผมสังเกตดู คุณสุภาก็ทำงานด้านนี้ด้วยความสุขใจจริงๆ และก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวในวงการหนังสือพิมพ์โดยตลอด

เมื่อคุณสุภาได้รับปริญญาวารสารศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวันที่กองอำนวยการ มติชน กำหนดเลี้ยงแสดงความยินดีซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันครบรอบวันเกิดของผมในปี พ.ศ. 2523 พอดี ทาง มติชน ก็เลยจัดเลี้ยงฉลองพร้อมกันในโอกาสเดียวกันนี้ คุณสุภาก็ดูสดชื่นแจ่มใสกว่าวัย เมื่อพูดถึงวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็จะพูดถึงด้วยความสุข ทำให้ผมเชื่อเหลือเกินว่า คุณสุภาจะมีอายุยืนยาวไปอีกนานและก็คงจะได้เห็นหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า วิชาชีพหนังสือพิมพ์จะเจริญได้ก็โดยหนังสือพิมพ์จะต้องมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ ในแง่นี้ คุณสุภาตระหนักได้ดีถึงสภาพความเป็นจริงของเมืองไทย ตลอดจนภัยมืดของเผด็จการที่คุกคามอยู่ ความมุ่งหวังของคุณสุภานั้นอยู่ที่ว่า หนังสือพิมพ์ไทยจะต้องมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน เสรีภาพดังกล่าวนี้หนังสือพิมพ์จะต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบด้วย นี่เป็นหลักการที่นักหนังสือพิมพ์แท้ยึดมั่นอยู่ และถ้าหนังสือพิมพ์ไทยมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ทัดเทียมกับหนังสือพิมพ์ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย และเมื่อหนังสือพิมพ์ใช้เสรีภาพนั้นๆ ด้วยความรับผิดชอบแล้ว หนังสือพิมพ์ไทยก็มีแต่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เป็นความมุ่งหวังของคุณสุภา ซึ่งก็เป็นความมุ่งหวังของนักหนังสือพิมพ์ที่แท้ทั้งหลายด้วย และยุคที่ความมุ่งหวังของนักหนังสือพิมพ์แท้ทั้งหลายจะได้เป็นความจริงขึ้นมานั้น ก็ย่อมหมายถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้ของเมืองไทยด้วย

4.

ในด้านชีวิตส่วนตัวของคุณสุภาเท่าที่ผมรู้จักตลอดเวลาสามสิบกว่าปีมานี้ ช่วงระยะที่คุณสุภาต้องอดทนและเสียสละอย่างหนักหน่วงที่สุดก็เห็นจะได้แก่ช่วงที่ทำนิตยสาร อักษรสาส์น เนื่องจากนิตยสาร อักษรสาส์น เป็นหนังสือที่มีสาระเนื้อหา ถ้าจะเรียกเป็นภาษาพูดก็คือ “หนัก” เพราะเต็มไปด้วยสาระ การจำหน่ายจึงไม่มากมายอะไร และในเมื่อการจำหน่ายมีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว รายรับของผู้จัดทำก็มีจำกัดด้วย เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว ก็จะต้องยกย่องคุณสุภาว่ามีจิตใจสูงส่ง สมัครใจเสียสละอย่างแท้จริง และก็ยอมรับในสภาวะที่คับแค้นโดยไม่ปริปาก ทั้งๆ ที่มีโอกาสที่จะแสวงหารายได้ที่ดี มีชีวิตสะดวกสบายได้

ผมได้ทราบว่า มิสเตอร์แม็คโดแนลด์ บรรณาธิการ บางกอกโพสต์ คนแรกและก็เป็นเจ้าของ บางกอกโพสต์ คนแรกด้วยเคยชักชวนคุณสุภาให้มาทำหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ แต่คุณสุภาปฏิเสธโดยเด็ดขาด ผมเคยถามคุณสุภาถึงเรื่องนี้ คุณสุภาก็ได้ชี้แจงว่า “ผมไม่ทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นของคนต่างชาติอย่างเด็ดขาด” ทั้งๆ ที่ในขณะที่คุณสุภาพูดนั้น มีรายได้จำกัดมาก แต่คุณสุภาก็มีความตั้งใจมั่นที่เด็ดเดี่ยวที่จะทำให้นิตยสาร อักษรสาส์น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ให้จงได้

เพราะฉะนั้น คุณสุภาจึงต้องอดทนทำนิตยสาร อักษรสาส์น อย่างสุดความสามารถ มันเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความเสียสละจากจิตใจที่สูงส่งโดยแท้ เพราะนอกจากความคับแค้นที่เกี่ยวกับรายได้แล้ว ยังต้องเสี่ยงภัยจากทางการเมืองคือรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ยอมให้ประชาชนได้เปิดหูเปิดตาอีกด้วย แม้แต่เมื่อตอนที่คุณสุภาถูกจับ ก็ยังถูกทาบทามโดยพระพินิจชนคดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งต้องการได้คุณสุภามาเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

คุณสุภาเล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่พระพินิจฯ พูดนั้นหนักใจมาก เพราะรู้ดีว่าคนอย่างพระพินิจฯ ใครจะขัดใจไม่ได้ แต่ตนเองก็รับไม่ได้อย่างเด็ดขาด “ผมจะเอาวิชาที่ผมเรียนมา ไปรับใช้ชนชั้นปกครองให้มาเข่นฆ่าคนที่มีอุดมการณ์ได้อย่างไร ? ผมทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด” ผลสุดท้าย คุณสุภาต้องหาทางออกด้วยการอ้างกับพระพินิจฯ ถึงลูกชายของพระพินิจฯ คนหนึ่ง โดยคุณสุภาพูดอยู่แต่ว่าเป็นเพื่อนสนิทกับลูกชายพระพินิจฯ คนนั้น ผลที่สุด เมื่อได้ยินชื่อลูกชายหลายครั้งเข้าพระพินิจฯ ก็เลยเกิดความรู้สึกคุ้นเคยจนเสียงอ่อนลง ไม่รุกเร้าคาดคั้นอย่างตอนต้นอีก จนคุณสุภาได้รับการปลดปล่อยแล้วพระพินิจฯ ก็ไม่รุกเร้าคุณสุภาอีกเลย

ตามเรื่องราวที่เป็นมาดังนี้ ผมรู้สึกสลดใจที่จะกล่าวว่า เคยมีข่าวลือถึงเรื่องที่คุณสุภารับใช้พระพินิจฯ หรือกรมตำรวจด้วยการเป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ข่าวลือดังกล่าว ไม่ว่าผู้ปล่อยข่าวจะมีเจตนาเช่นไร ก็เป็นที่เห็นได้โดยชัดแจ้งว่า ถือเอาคุณสุภาเป็นศัตรู ต้องการจะทำลาย ศัตรูของคุณสุภาจะเป็นใครนั้น ผมไม่อาจทราบได้ แต่เท่าที่คุณสุภาเล่าให้ฟังในระหว่างเป็นบรรณาธิการ อักษรสาส์น นั้น

ศัตรูของคุณสุภาอาจจะได้แก่ผู้ที่เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร อักษรสาส์น แล้วถูกคุณสุภาในฐานะบรรณาธิการแก้ไขต้นฉบับเสียยับเยิน คุณสุภาเคยบอกกับผมว่า เรื่องทุกเรื่องที่นำลงใน อักษรสาส์น ต้องเป็นเรื่องสำหรับผู้อ่านคนไทยอ่านไม่ใช่เขียนเพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นคนจีนอ่าน ข้อเขียนที่คุณสุภาเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขนั้น ก็เพราะว่ามันไม่ใช่เสียงของคนไทย หากแต่เป็น “เสียงตะเกียบ”

ผมยังจำได้ว่า ได้บอกกับคุณสุภาว่า คำพูดของคุณสุภาที่ว่า “เสียงตะเกียบ” นี้เป็นคำด่าที่เจ็บมาก เพราะมีความหมายเป็นสองนัย นัยหนึ่งอาจหมายถึงคนไทยที่พูดไทยไม่ชัด หรืออีกนัยหนึ่ง อาจหมายถึงคนไทยที่มีความคิดจิตใจเป็นจีนไปเลยโดยสิ้นเชิงก็เป็นได้ ยิ่งกว่านี้ สำหรับสถานีวิทยุเสียงประชาชนในสมัยที่ออกอากาศอยู่เป็นประจำนั้น

คุณสุภาก็เคยวิจารณ์ว่า ข้อความที่ออกอากาศดูถูกผู้ฟังมาก กล่าวคือ ไม่มีเนื้อหาที่มีคุณค่าอะไรเลย หากแต่มีแต่ความตื้นเขินจนคนไทยทั่วไปไม่สามารถจะรับฟังได้ เท่าที่ผมทบทวนดู ถ้าคุณสุภาจะมีศัตรูที่ปล่อยข่าวอัปมงคลแก่คุณสุภาให้เป็นที่เสื่อมเสียเกียรติคุณความเชื่อถือแก่คนทั้งหลายนั้น ก็เห็นจะมาจากคำว่า “เสียงตะเกียบ” หรือคำพูดวิจารณ์ผู้จัดทำสถานีวิทยุเสียงประชาชนเป็นแน่ ไม่มีใครอื่น

นอกจากเรื่องการถูกปล่อยข่าวใส่ร้ายป้ายสีแล้ว สมควรที่จะกล่าวถึงเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่คุณสุภาจำเป็นต้องใช้ความอดทนอย่างสูง และก็เกิดจาก "สหาย" ประเภทเดียวกันกับที่ปล่อยข่าวข้างต้น สำหรับท่านผู้อ่านที่เคยอ่านหนังสือ แคปิตะลิสม์ ที่คุณสุภาเรียบเรียง คงจะจำได้ว่า ในคำนำขององค์การ อักษรสาส์น ในฐานะผู้จัดพิมพ์ มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

 

“ข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดอันจะพึงมีต่อหนังสือ แคปิตะลิสม์ เล่มนี้ เป็นข้อซึ่งยินดีรับฟังด้วยความเต็มใจ ถ้าแม้ว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะได้กระทำขึ้นด้วยหลักเกณฑ์อันแท้จริงของวิทยาศาสตร์สังคม แต่ส่วนสำหรับข้อความเห็นอันเต็มแต่ด้วยคารมแล้ว และพยายามจะยกป้ายสาธารณมติขึ้นไปประทับไว้ให้จงได้ โดยอาการบังอาจบิดเบือนและโดยทรยศต่อสามัญชนนั้น ก็ขอกล่าวยืนยันได้ประการเดียวว่าทั้งผู้เรียบเรียงและนิตยสารรายเดือน อักษรสาส์น ผู้จัดพิมพ์ไม่มีสัมปทานที่จะให้”

 

ข้อความดังกล่าวนี้ หมายความว่ามีผู้ตำหนิติเตียน แคปิตะลิสม์ และก็เป็นการตำหนิติเตียนโดยอดติไม่ได้อาศัยหลักวิชาใดๆ เลยด้วย เรื่องนี้ผมพอจะจำได้ว่า เรื่องราวที่แท้จริงเป็นดังนี้คือ เมื่อคุณสุภาเขียน แคปิตะลิสม์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2494 นั้น ต้นเรื่องมาจากคุณผิน บัวอ่อนซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญคุณสุภาให้ไปบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ในระหว่างที่ทางมหาวิทยาลัยปิดภาคฤดูร้อน คุณสุภาก็ประมวลเรื่อง Capital ที่ตนเคยศึกษามาโดยนำเอามาวิเคราะห์กับประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกายุคต้น คือเป็นยุคที่เพิ่งมีการอพยพไปอยู่โลกใหม่กัน 

 

 

ระหว่างนั้น “สหาย” คนหนึ่งที่เคยฟังคำบรรยายของคุณสุภา ก็เห็นว่าคุณสุภายกข้อเท็จจริงขึ้นมาโดยเน้นรายละเอียดมากเกินไปทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น จากนั้น ณ โรงพิมพ์รุ่งนครซึ่งมีการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ชื่อ การเมือง รายสัปดาห์และบรรดาผู้รับผิดชอบงานเขียนในหนังสือพิมพ์ การเมือง ก็ได้จับกลุ่มคุยกันในวันหนึ่งในโรงพิมพ์นั้นเอง โดย “สหาย” ที่ไปฟังคุณสุภาบรรยายได้พยายามชี้แจงถึงเรื่องราวต่างๆ ที่คุณสุภาบรรยาย แต่ไม่ทราบว่าชี้แจงกันอีท่าไหน “สหาย” ทั้งสามเลยได้ข้อสรุปออกมาว่า แคปิตะลิสม์ ที่คุณสุภาเรียบเรียงออกมาจะต้องผิดแน่ ในฐานะที่ “สหาย” เป็นผู้ผูกขาดการตีความในงานที่มาร์กซ์เขียนแต่พรรคเดียวหรือกลุ่มเดียว เรื่องนี้ คนที่ทำงานในโรงพิมพ์รุ่งนครเก็บความมาเล่าให้คุณสุภาฟัง ตามที่ผมทราบคือได้พบเห็นคุณสุภาในตอนนั้น คุณสุภาสะเทือนใจมากและก็ยืนยันอยู่แต่ว่า ถ้าใครจะวิจารณ์เรื่องนี้ก็ควรจะวิจารณ์ตามหลักวิชาที่แท้จริง ไม่ใช่จะมาตำหนิติเตียนกันลับหลัง และก็สมควรจะวิจารณ์กันโดยอาศัยความเป็นนักวิชาการที่เที่ยงตรงต่อหลักวิชาอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่ใช่จะมาอวดอ้างแต่ว่า คำพูดของตนหรือการกระทำของตน “ประชาชน” สนับสนุน

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสลดใจสำหรับผู้ที่มีจิตใจมุ่งมั่นทำงานด้วยความเสียสละโดยสิ้นเชิง ต้องฝ่าฟันอันตรายนานัปการจากทางการบ้านเมืองโดยเฉพาะในยุคที่มีอัศวินคอยปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่รักชาติ กลับต้องมาถูกทำลายด้วยเจตนาร้ายจากผู้ที่อวดอ้างตนหรือความจริงแต่งตั้งตนเองเป็นนั่นเป็นนี่ เรื่องราวเหล่านี้ ผมเห็นว่า แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาช้านานแล้วก็จริง แต่มันเป็นความจริงที่สมควรจะเขียนให้เป็นหลักฐานไว้เพื่อเป็นอนุสติแก่ผู้ที่มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมที่จำเป็นจะต้องมีขันติธรรมที่มั่นคงเหนืออื่นใด มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเผชิญกับการทำลายหรือพยายามทำลาย ถ้าไม่มีความอดทนเท่าคุณสุภาก็อาจจะละทิ้งหลักการที่ตนยึดมั่นอยู่ชั่วชีวิตไปได้

5.

ในส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวที่คุณสุภามีต่อผมนั้น อาจกล่าวได้ว่าคุณสุภาเป็นทั้งครู เพื่อน ที่ปรึกษา และญาติผู้ใหญ่ ที่มีความรักและเอ็นดูต่อผมอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์อันสนิทที่ “เหมือนญาติแต่ยิ่งกว่าญาติ” นี้ ก็ปรากฏออกมาในหลายสิ่งหลายประการ นับแต่พ่อของผมเองที่คุณสุภาก็เรียกคุณป๋าเหมือนอย่างที่ลูกๆ ทุกคนเรียก และเมื่อพ่อผมในฐานะข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยศักดินา ได้บอกรับเป็นสมาชิก อักษรสาส์น และก็อ่านข้อเขียน อักษรสาส์น อย่างแจ่มแจ้งแทงทะลุ มีการติชมแสดงข้อคิดเห็นกับคุณสุภา และทุกครั้งที่มากรุงเทพฯ ถ้าไม่ติดธุระอันจำเป็นแล้ว ก็จะต้องไปเยี่ยมคุณสุภาทุกครั้งด้วย

ปรากฏว่าคุณสุภายกย่องมาก เคยพูดกับผมว่า “คุณป๋าของหมึกนี่ยอดจริงๆ ท่านรุ่งเรืองในสมัยศักดินาแท้ๆ แต่ท่านยังมาเห็นด้วยกับระบบโซเชียลลิสต์คือข้ามทุนนิยมเสียทั้งระบบเลย” และที่คุณสุภาชอบมากก็คือคำพูดของพ่อผมเองที่บ่นกับคุณสุภาว่า “อ้ายผมตอนหนุ่มๆ ถูกรัฐบาล (คณะก่อการ) เห็นเป็นพวกเจ้า ครั้นพอแก่เข้า มันกลับเห็นเป็นคอมมิวนิสต์ไป”

โดยที่ผมพยายามขวนขวายศึกษาตั้งแต่ อักษรสาส์น ออกจำหน่ายใหม่ๆ เพราะความสนใจใคร่รู้ในวิชาต่างๆ ที่ลงพิมพ์ใน อักษรสาส์น ดังกล่าวแล้ว ในแง่นี้ คุณสุภาช่วยเหลือผมอย่างที่ไม่มีใครจะช่วยได้เท่า ทั้งในการแนะนำหนังสือให้รวมตลอดจนบอกสำนักพิมพ์ให้เสร็จแล้วยังแถมแนะนำร้านจำหน่ายหนังสือคือร้านนิพนธ์ให้ ดังกล่าวแล้วเมื่อผมต้องการหนังสือต่างประเทศโดยเฉพาะจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็จะนำรายชื่อหนังสือและสำนักพิมพ์ไปให้ร้านนิพนธ์ แล้วร้านนิพนธ์ก็จะสั่งให้ ผมสั่งหนังสือโดยวิธีนี้ซึ่งเป็นวิธีที่คุณสุภาแนะนำให้ จากบัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ก็เป็นเวลาถึงกว่าสามสิบปีแล้ว ตั้งแต่นิตยสาร ไทม์ รายสัปดาห์ของอเมริกันฉบับละ 7 หรือ 8 บาทจนกระทั่งบัดนี้ราคาถึง 50 บาทแล้ว

นิตยสารรายสัปดาห์ที่สำคัญมากฉบับหนึ่งในอังกฤษคือ New Statesman สมัยที่คิงสลีย์ มาร์ตินเป็นบรรณาธิการ ที่ผมเชื่อว่า ในเมืองไทยสมัยนั้นมีผู้บอกรับกันไม่กี่คนนิตยสารฉบับนี้สมัยคิงสลีย์ มาร์ตินเป็นบรรณาธิการนั้นเป็นยกย่องกันว่า “ขลัง” มากในเมื่อเพื่อนสนิทของบรรณาธิการมีตั้งแต่ยอร์ชเบอร์นาค ชอว์ เอช.จี.เวลล์ สามีภรรยาครอบครัวเวบบ์ ตลอดจนสมาชิกชั้นนำของเฟเบียนทั้งหลาย

ผมมาทราบในภายหลังว่าเนห์รูในสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียก็เป็นเพื่อนสนิทของคิงสลีย์ มาร์ตินด้วย และนิตยสารฉบับนี้เมื่อปี ค.ศ. 1954 ก็ได้เปิดเผยเรื่องใหญ่สะเทือนโลกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสมัยนั้นคือประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์คิดจะใช้ระเบิดปรมาณูในอินโดจีน หลังจากที่เดียนเบียนฟูแตก และฝรั่งเศสต้องถอนตัวจากอินโดจีน จำได้ว่า คิงสลีย์ มาร์ตินเล่าว่า เนห์รู เปิดเผยเรื่องนี้ให้ทราบโดยที่เชอร์ชิลเป็นผู้ยับยั้งประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ไว้ ปรากฏว่า เมื่อปี ค.ศ. 1954 หรือ พ.ศ. 2497 มีข้อเขียนเพียงสองชิ้นที่เปิดเผยเรื่องนี้จากนิตยสาร New Statesman ซึ่งก็คือข้อเขียนของผมใน พิมพ์ไทย และของคุณสุภาใน ไทยใหม่ ปรากฏว่าหลังจากนี้สามสิบปี เมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยเอกสารของทางราชการ ก็ปรากฏว่ามีหลักฐานว่า คณะเสนาธิการผสมเคยเสนอประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ใช้ระเบิดปรมาณูในอินโดจีนจริงๆ

นักหนังสือพิมพ์ New Statesman ของอังกฤษนั้นเคร่งครัดและเข้มงวดกวดขันในจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับคุณสุภา ซึ่งก็เข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้เช่นกัน ผมจำได้ว่า เมื่อตอนที่พรรคเลเบอร์ของอังกฤษภายใต้การนำของคลีเมนต์แอตลีในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้รับเชิญให้ไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในตอนปลายทศวรรษที่ 1950 เมื่อ New Statesman ได้รับเชิญไปด้วยนั้น ก็ได้ตั้งข้อแม้ว่าขอออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ไม่ยอมให้ทางฝ่ายเจ้าภาพออกให้

ในกรณีนี้ ท่าทีที่มีต่อคำเชิญนักหนังสือพิมพ์ไปเยือนต่างประเทศของคุณสุภาก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน โดยที่คุณสุภาเล่าให้ฟังว่า ได้รับเชิญไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่ง เมื่อพูดกันถึงเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ คุณสุภาก็พูดขึ้นว่า ความจริงตั๋วเครื่องบินหรือตั๋วดูมวยมันก็มีราคาเท่ากับสินบนหนังสือพิมพ์นั่นเอง ไม่ได้ผิดอะไรกันกี่มากน้อย คุณสุภาเล่าให้ผมฟังอย่างขันๆ ว่า มีอนุกรรมการที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำการบางคนไม่พอใจกันมาก ที่รู้ได้ก็เพราะนับแต่นั้นคุณสุภาก็ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมอีก

เรื่องราวของคุณสุภา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงานหรือเรื่องส่วนตัว ไม่เฉพาะแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์เท่านั้น คงจะเป็นที่เล่าขานกันต่อๆ ไปไม่มีจบสิ้น ความรู้สึกของผมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็มีแต่ความว้าเหว่ ในเมื่อชีวิตต้องขาดครูที่ดีที่สุด เพื่อนที่ดีที่สุด ญาติผู้ใหญ่ที่ดีที่สุด และที่ปรึกษาที่ดีที่สุดคนหนึ่งไป และก็ไม่มีวันที่จะหาได้อีกแล้ว

ในส่วนของหนังสือและงานเขียนของผม มีไม่น้อยเลยที่ความบันดาลใจมาจากคุณสุภาแต่ผู้เดียวโดยแท้ อย่างบทกวีที่ผมตั้งใจจะเขียนไว้อาลัย “เยาวชน” ที่จะเป็นแบบฉบับที่ดีสักคนหนึ่งผมคิดชื่อไม่ออกอยู่หลายวัน พอพบคุณสุภาเข้าก็ขอให้คุณสุภาช่วยคิดชื่อให้ด้วย คุณสุภานิ่ง ไปพักหนึ่งแล้วถามขึ้นว่า “‘เสียงกระซิบที่หลุมฝังศพของเธอ’ เป็นยังไง ?” ผมก็โล่งใจทันที แทบจะก้มลงกราบ บทกวี เสียงกระซิบที่หลุมฝังศพของเธอ ที่ภายหลังอุทิศให้จิตร ภูมิศักดิ์ที่คุณสุภาบอกว่าเหมาะแล้วมีความเป็นมาดังนี้

ในส่วนหนังสือ ก็มีหลายเล่มที่เหมือนกับว่า คุณสุภากับผมมีกระแสจิตตรงกัน มีบ่อยครั้งที่คุณสุภาโทรศัพท์มาบอก “มีหนังสือดีตกมาใหม่ รีบไปซื้อเสีย” ถ้ามีที่ร้านนิพนธ์คุณสุภาก็จะบอกว่า “หนังสือที่สั่งไว้มาแล้ว รีบไปรับเสีย” ครั้งสุดท้ายที่พบกันที่มติชน คุณสุภาก็บอกกับผมว่า “Chinabound ของแฟร์แบงก์ที่หมึกสั่งไว้ มาแล้ว” และเมื่อคุณศุขปรีดา พนมยงค์อุตส่าห์ถือหนังสือชีวประวัติโจว เอินไหลจากฮ่องกงมาฝากผม คุณสุภาก็บอกว่าขอยืมดูหน่อย เพราะทราบดีว่า ผมก็สั่งมาเหมือนกันแต่ยังมาไม่ถึง ตามปกติหนังสือที่คุณสุภาสั่ง ถ้าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาอย่างที่คุณสุภาทราบดีว่าผมสนใจก็จะสั่งมาสองเล่มเลย คือ เผื่อผมเล่มหนึ่ง และเมื่อคุณสุภาสั่งให้แล้ว ผมก็ไม่เคยสงสัยเลยว่าหนังสือจะด้อยคุณภาพหรือมีข้อตำหนิใดๆ ด้วย

คุณสุภามีสุขภาพไม่สมบูรณ์ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีในบรรดาญาติมิตรที่ใกล้ชิดอย่างไรก็ดี ความมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และความเชื่อมั่นที่ว่าสัจจะที่ศึกษามาได้นั้น คือสัจจะที่แท้และถูกต้อง ก็เป็นเสมือนพลังใจอันไม่มีวันดับสูญและก็หล่อเลี้ยงพลังชีวิตของคุณสุภาให้เรืองโรจน์อยู่ตลอดมา บัดนี้ พลังชีวิตดังกล่าวได้ดับสูญไปแล้ว แต่ผลงานของบุรุษร่างผอมบางยังคงอยู่ เจตจำนงอันแรงกล้าและความปรารถนาอันเร่าร้อนที่จะได้เห็นสภาพชีวิตโดยส่วนรวมของคนไทยเราได้เงยหน้าอ้าปากยังคงมีอยู่ไม่มีวันดับสูญ

คุณสุภาเคยสูญเสียอิสรภาพของตนเองมาแล้ว เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพของหนังสือพิมพ์และเสรีภาพของวิชาการในการศึกษาหาความรู้ อำนาจเผด็จการทำลายอิสรภาพของนักวิชาการที่เทิดทูนสัจจะเหนืออื่นใดลงได้ แต่มันไม่อาจทำลายสัจจะและเสรีภาพภายในการแสวงหาความรู้ที่นักวิชาการดิ้นรนต่อสู้อยู่ชั่วชีวิตได้

ในการระลึกถึง พจนาลัยที่ผมจะมอบให้เนื่องในมรณกรรมของคุณสุภานี้ ผมนึกไปถึงคำแปลพจนาลัยที่คุณสุภาเองเป็นผู้แปล ซึ่งได้แก่พจนาลัยที่เลียบนีคต์กล่าวเนื่องในพิธีฝังศพคาร์ล มาร์กซ์ ณ สุสานไฮเกต กรุงลอนดอน ซึ่งคุณสุภาถ่ายทอดได้อย่างดีเยี่ยมโดยสามารถรักษาอรรถรสไว้ได้ตามต้นฉบับเดิมครบถ้วน จึงเห็นสมควรนำลงไว้ ณ ที่นี้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักแปลรุ่นหลังต่อไป

 

“บุรุษผู้ซึ่งวายชนม์ลงไปแล้วนี้ ผู้ที่เรากำลังร่ำไห้ในการสูญเสียเขาไปกันอยู่นี้ เป็นผู้มีภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่เท่าๆ กับที่มีดวงใจอันยิ่งใหญ่ เขาเป็นผู้ที่มีความรักอันยิ่งใหญ่ เท่าๆ กับที่มีความเกลียดอันยิ่งใหญ่ และความเกลียดของเขาก็พลุ่งขึ้นมาจากความรักของเขานั่นเอง เขาเป็นผู้ที่เชิดชูประชาธิปไตยทางสังคมขึ้นจากความที่เป็นเสมอเพียงหวอดเล็กๆ ให้ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นสำนักคิดแล้วก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นพรรค ซึ่งขณะนี้กำลังต่อสู้อยู่แล้วอย่างที่ไม่มีใครจะอาจเอาชนะได้ และในที่สุดก็จะได้ชัยชนะเหนือชัยชนะทั้งหลาย”

 

ที่มา : ทวีป วรดิลก. “สุภา ศิริมานนท์ เพื่อ “ความเป็นเลิศ” ของหนังสือพิมพ์ไทย”ใน พจนาลัย สุภา ศิริมานนท์. (กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์, 2529). น. 30-47.

หมายเหตุ :

  • อักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ