ก่อนอื่นใคร่ขอแนะนําว่า บัลลังก์ 24 นั้น คือ ห้องพิจารณาคดีพิเศษของศาลอาญา ซึ่งได้ถูกจัดไว้โดยเฉพาะสําหรับพิจารณาคดีการเมืองต่าง ๆ ทุกรุ่น นับตั้งแต่ยุครัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา
ณ บัลลังก์แห่งนี้ได้เคยเป็นที่ประกาศปกาศิตแห่งความไร้อิสรภาพของนักการเมืองจํานวนหลายสิบคน เคยเป็นที่ขีดเส้นชีวิตแก่บุคคลบางคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตรุ่งเรืองและผาสุกให้กลับชะตาถึงฆาตลงในพริบตาเดียว เคยเป็นที่กําหนดโทษของทนายความผู้มีชื่อเสียงและยึดมั่นในอุดมคติของประชาชนในขณะที่กําลังปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่อย่างเข้มแข็งเพราะเหตุได้ละเมิดอํานาจศาล และเคยเป็นสถานที่ก่อให้เกิดพฤติการณ์อันจะต้องจารึกไว้ เป็นประวัติศาสตร์ประการอื่นอีกนับครั้งไม่ถ้วน
และในกาลต่อไปสถานที่แห่งนี้แหละ สหายเอ๋ย จะต้องเป็นสถานที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์ที่มโหฬารยิ่งอีกอย่างแน่นอน ขอให้รอดูต่อไปเถิด
ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24 นี้ เป็นครั้งหนึ่งในหลายร้อยครั้งหลายพันครั้งสําหรับเหตุการณ์อันเป็นภาพประทับใจซึ่งได้เกิดขึ้น ณ สถานที่ดังกล่าว แม้ว่าเหตุการณ์อันได้เกิดขึ้นจะได้สลายตัวไปกับกาลเวลาที่ผ่านมาก็ตาม แต่ความประทับใจอย่างสุดซึ้งของผู้ประสบเห็นนี่ซิ มันไม่อาจสลายตัวไปกับกาลเวลาได้ด้วย
ครั้งนั้น ในราวปลายเดือนเมษายน 2496 เท่าที่พอจะจดจําได้ เป็นเวลาเช้าก่อนเที่ยง ที่บัลลังก์ 24 นั้นเองได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งประมาณ 50 คนเศษกําลังถูกควบคุมตัวอย่างแข็งแรงจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แห่งกองบังคับการตํารวจสันติบาลผู้มีอาวุธทันสมัยครบมือ บุคคล 50 คนเศษเหล่านั้นเท่าที่สังเกตเป็นบุคคลต่างวัย ต่างฐานะ ต่างอาชีพ มีทั้งนักเขียนผู้มีชื่อเสียง นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ หนังสือพิมพ์นามอุโฆษ นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ครูประชาบาล และชาวสวน รวมทั้งผู้มีอาชีพอื่น ๆ อีกด้วย
เขาทําอะไรกัน ณ ที่นี้ ผู้เขียนได้รับคําชี้แจงว่า บุคคลเหล่านั้นได้ถูกฟ้องเป็นจําเลยในคดีการเมืองฐานกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร แต่เขาเหล่านั้นได้ประกาศตนว่า เขาคือสันติชน ผู้มิได้คิดร้ายต่อผู้ใด เขาเหล่านั้นได้ถูกเบิกตัวจากที่คุมขังมาคัดบรรดาพยานเอกสารนับพัน ๆ ชิ้น ซึ่งฝ่ายโจทก์คืออัยการของแผ่นดินได้ เป็นผู้นําส่งต่อศาล ทั้งนี้เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้เตรียมหาลู่ทางสู้คดีตามวิถีทางของกฎหมาย
สหายรัก เท่าที่กล่าวมาแล้วยังหาใช่ประเด็นของเรื่องไม่
ขณะนั้นใกล้เวลาเพลมากแล้ว รถเฟียตเก๋งสีดำปลอดคันหนึ่งได้แล่นปราดเข้าเทียบกับบาทวิถีหน้าประตูห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ 24 สุภาพสตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งรูปร่างสูงโปร่ง สวมแว่นดําสนิท ก้าวลงจากรถคันนั้นอย่างแช่มช้อย ท่วงทีกิริยาเป็นสง่าน่าเกรงขาม แม้ว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างบ่งไว้ว่า เธอกําลังตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ก็ตามที เธอได้เป็นเป้าสายตาของบุคคลทุกฝ่าย ณ ที่นั้น อันมีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ผู้มีอาวุธครบมือ กลุ่มนักการเมืองผู้ไร้อิสรภาพ และประชาชนผู้สนใจ แต่เธอก็มิได้มีความประหม่าหรือสะทกสะท้านอย่างใดเลย
เธอผู้นั้นได้ตรงเข้าไปขออนุญาตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แล้วก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องพิจารณาบัลลังก์ 24 นั้น เมื่อเธอได้ย่างเท้าเข้าไปภายใน เธอก็ได้รับการแสดงคารวะอย่างนอบน้อมและพร้อมเพรียงจากกลุ่มนักการเมืองผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านั้น ลักษณาการเช่นนั้นแสดงถึงบุคลิกภาพอันสําคัญของท่านสุภาพสตรีผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง
เด็กหนุ่มผู้หนึ่งอายุไม่เกิน 21 ปี รูปร่างสันทัด ใบหน้าอิ่มเอิบ ผมตัดสั้นแบบนักเรียน ปราดออกมาจากกลุ่มผู้ไร้อิสรภาพตรงมาที่ท่านสุภาพสตรีผู้นั้น แสดงคารวะอย่างนอบน้อม ทันใดนั้นก็ได้เกิดภาพอันประทับใจอย่างลึกซึ้งแก่ผู้ประสบพบเห็น
ท่านสุภาพสตรีผู้นั้นได้สวมกอดหนุ่มน้อยผู้นั้นไว้อย่างแสนรัก ฉับพลันน้ำตาของท่านก็ได้ไหลพร่างพรูราวกับสายฝน ท่านสะอึกสะอื้นพร้อมกับรําพันด้วยเสียงอันเยือกเย็นว่า
“ลูกเอ๋ย ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่ต้องผจญกับชะตากรรม แม้ว่าพ่อของลูกจะได้ประกอบกรรมทําความดีให้กับชาติบ้านเมืองอย่างมากมายก็ตาม แต่วิถีทางการเมืองทําให้พ่อของลูกไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในผืนแผ่นดินไทยได้อย่างเสรีชน ผลอันนี้ได้กระทบกระเทือนมาถึงแม่และตัวลูกอีกด้วย ลูกรักต้องกลายเป็นจําเลยในคดีการเมืองตั้งแต่เยาว์วัย โดยไม่มีผู้ใดคาดหมายไว้ก่อนเลยว่าจะต้องเป็นไปถึงเพียงนี้
“ในวันนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงเล็กน้อยจําต้องลาลูกรักเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปรักษาสุขภาพของแม่ให้ดีขึ้น ด้วยใจจริงแม่แล้วไม่อาจจะทิ้งลูกรักไปได้ในยามนี้ แต่ด้วยเหตุจําเป็นสําคัญและสถานการณ์ได้บีบบังคับให้แม่จําต้องเดินทางไปด้วยใจอันไม่สมัคร แม่ไม่อาจจะพูดอะไรไปมากกว่านี้ได้ เพราะกลัวว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจอันบริสุทธิ์ของลูกรัก นอกจากจะขอให้ลูกมีจิตใจเข้มแข็งอดทนต่อสภาพการณ์ที่ลูกกําลังเผชิญอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า ลูกรักจงอดทนและจงประพฤติตนให้สมกับเป็นลูกของนักการเมืองผู้หนึ่งเคยทำคุณงามความดีให้กับชาติบ้านเมือง โดยไม่เคยกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตนและครอบครัวอย่างใดเลย แต่จังหวะชีวิตได้ทําให้พ่อ ของลูก...”
เสียงของท่านสุภาพสตรีผู้นั้นได้สะอื้นขาดหายไป เพราะความกําสรด
ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้น แม้แต่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เองก็จําต้องเบือนหน้าหนี เพราะไม่อาจทนฟังและดูภาพ และสิ่งอันน่าเห็นใจยิ่งนี้ได้
แต่หนุ่มน้อยผู้นั้น ชะรอยจะเป็นคนที่บึกบึนและมีลักษณะแข็งแกร่งเป็นพิเศษ เพราะเขามิได้แสดงความเศร้าสร้อยออกมาให้ประจักษ์กับสายตาบุคคลภายนอกแต่อย่างใดเลย ใบหน้าคงยิ้มละไมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ดวงตาทั้งสองของเขาเท่านั้นที่แฝงแววของความปวดร้าวในดวงใจไว้ เขามีความรู้สึกอย่างไรนั้นไม่จําเป็นต้องอธิบายมิใช่หรือ เขาได้ปลอบประโลมมารดาสุดที่รักของเขาว่า
“คุณแม่ที่รัก ขอให้คุณแม่จงเดินทางไปรักษาตัวด้วยความปลอดภัยและสบายใจโดยไม่ต้องเป็นห่วงลูก ความกังวลอาจทําให้สุขภาพของคุณแม่ทรุดโทรมยิ่งขึ้น สภาพการณ์เท่าที่ลูกประสบอยู่ทุกวันนี้เป็นสภาพการณ์ที่ลูกสามารถทนได้ เช่นเดียวกับมิตรสหายผู้ร่วมชะตากรรมทั้งหลาย ลูกได้ตระหนักถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ อันได้บันดาลให้ลูกตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เป็นอย่างดีว่าเพราะเหตุใด ลูกไม่ขอปริปากเรียกร้องสิทธิอันใด หรือเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ใดเป็นอันขาด ลูกยินดีที่จะเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายต่าง ๆ อันจะมีต่อไปข้างหน้าด้วยความเต็มใจยิ่ง เพราะกาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ลูกนี้เป็นผู้กระทําผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่”
หนุ่มน้อยกล่าวถ้อยคํานั้นออกมาด้วยเสียงทุ่มมีกังวาน โดยปราศจากความสะทกสะท้านหรือยําเกรงผู้ใด ยังความตื้นตันใจให้กับท่านสุภาพสตรีผู้นั้น ท่านได้เอื้อมมือจากวงกอด ลูบไล้เส้นผมของหนุ่มน้อยอย่างแสนอาลัย
อาจจะเป็นด้วยระยะเวลาที่จะอยู่ร่ําลาลูกชายสุดที่รักมีน้อยเกินไป หรือไม่ท่านสุภาพสตรีผู้นั้นก็ไม่อาจจะทนสะกดความตื้นตันใจต่อไปได้ ท่านได้คลายมือจากวงกอดของหนุ่มน้อยและเบือนหน้ามายังทนายความอาวุโส ณ ที่นั้น พร้อมกับกล่าววาจาฝากฝังลูกชายของท่านอย่างแสนจะเป็นห่วง คณะทนายความได้น้อมรับคําของท่านสุภาพสตรีผู้นั้นด้วยความเห็นใจอย่างสุดซึ้ง
ในที่สุดท่านสุภาพสตรีก็ก้าวขึ้นรถคันเก่ากลับไป รถได้เคลื่อนลับหายไปกับมุมตึกบัลลังก์พิเศษนั้นพร้อมด้วยเสียงหายไปของเครื่องยนต์ แต่เสียงสะอื้นภายในจิตใจของท่านสุภาพสตรีผู้นั้นกับหนุ่มน้อยผู้มีดวงใจอันบึกบึน จะหายไปพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์ด้วยละหรือ…..สหายรัก
หมายเหตุ :
- บทความชิ้นนี้ได้เคยเผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า “วาทะของปาล พนมยงค์ ในศาลอาญา”
- “ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24” ซึ่งนายมารุต บุนนาค ใช้นามปากกาว่า “ผู้สื่อข่าวน้อย” จากหนังสือ วันธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2507
- ภาพประกอบจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ และรวินทร์ คำโพธิ์ทอง
บรรณานุกรม
- มารุต บุนนาค, ขบวนการ 11 ตุลาคม 2494 ใน รพี'45, น.144-146
ภาคผนวก
ขบวนการ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔
ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ภายใต้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นตลาดวิชาเผยแพร่ความรู้ในทางกฎหมายและทางการเมืองแก่ประชาชนทุกระดับ จะได้มีความเข้าใจในระบบการเมืองอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงถาวรแก่ชาติบ้านเมืองของเรา
ผู้ผ่านการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้หลายรุ่นได้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก สิ่งที่ชาวธรรมศาสตร์ได้ยึดมั่นเป็นอุดมการณ์ก็ได้แก่ความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคม หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นอันเป็นการขัดต่อความยุติธรรม ความชอบธรรม และความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิเสรีภาพของคนในสังคมแล้ว ชาวธรรมศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย จะลุกขึ้นเพื่อความถูกต้องของประชาชนโดยมิได้หวั่นเกรงต่ออํานาจมืดใด ๆ ทั้งสิ้น
ขบวนการ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาวธรรมศาสตร์ที่จะให้จารึกไว้ในกําแพงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ว่าชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวลในยุคนั้นได้ลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่ได้รับจากการบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น จนประสบชัยชนะ
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะนั้น เป็นแหล่งการศึกษาที่มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข นักศึกษาธรรมศาสตร์มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นทุกประการ จวบจนเกิดกรณีรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยถูกโค่นล้มลงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแหล่งผลิตนักการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะรัฐประหาร ได้มีกฎหมายและระเบียบทางราชการหลายประการริดรอนสิทธิของนักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นต้นว่าผู้สําเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งเคยรับราชการเป็นนายตํารวจสัญญาบัตรจะต้องรับราชการเป็นตํารวจก่อนและเลื่อนเป็นนายตํารวจชั้นประทวน โดยมิได้มีความหวังว่าจะเป็นนายตํารวจสัญญาบัตรเมื่อใด ผู้สําเร็จปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ กฎ ก.พ. ที่ ๑๑๐ ในขณะนั้นได้กําหนดให้ได้รับบรรจุเป็นปลัดอําเภอจัตวา ในขณะที่ผู้สําเร็จปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอื่นที่มีหลักสูตรการสอนเหมือนกัน ได้รับบรรจุเป็นปลัดอําเภอตรี นอกจากนี้ยังมีการลิดรอนสิทธิในทางการศึกษาอื่นอีกหลายประการ
ในปลายเดือนมิถุนายน ๒๔๙๔ ได้เกิดกรณีกบฏขึ้นที่เรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน” โดยกลุ่มนายทหารเรือระดับสูงเป็นหัวหน้า แต่การก่อการกบฏไม่ประสบความสําเร็จ รัฐบาลคณะรัฐประหารได้ปราบปรามอย่างราบคาบมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ถูกกลุ่มทหารของรัฐบาลเข้ายึดครอง
โดยอ้างว่าที่ดินที่ตั้งมหาวิทยาลัยในชั้นเดิมเป็นของทหารมาแต่เดิม ทางราชการมีความจําเป็นที่จะต้องใช้สถานที่นี้ ได้มีการปิดป้ายนักศึกษาธรรมศาสตร์ นักศึกษาธรรมศาสตร์หลายพันคนในขณะนั้นไม่มีสถานที่เรียนเป็นของตนเอง ต้องไปอาศัยตึกเรียนของเนติบัณฑิตยสภาที่ริมถนนราชดําเนินหน้าสนามหลวงเป็นที่เรียนชั่วคราว นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มีบทบาทเรียกร้องมหาวิทยาลัยเรื่อยมา แต่ไม่ประสบความสําเร็จผู้นํานักศึกษาหลายคนถูกทหารบ้านเมืองเพ่งเล็งโดยมีเจ้าหน้าที่ตํารวจสันติบาลติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา
จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ อันเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวธรรมศาสตร์เพราะเป็นวันที่นักศึกษารุ่นพี่ผู้หนึ่ง ที่สําเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับกรณีที่ทางราชการยึดมหาวิทยาลัย
เช้าตรู่ในวันนั้น ตั้งแต่ก่อน ๐๙.๐๐ น. นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกรุ่น ทั้งที่สําเร็จไปแล้วและที่กําลังศึกษาอยู่รวมทั้งนักศึกษาที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย จึงได้มาชุมนุมกันที่บริเวณสนามหลวงตรงข้ามเนติบัณฑิตยสภาอย่างเนื่องแน่นโดยการบอกปากต่อปาก ยิ่งสายขึ้นนักศึกษาก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมากขึ้นทุกที จนเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. นักศึกษาทั้งชายและหญิงได้รวมตัวกันประมาณสามพันคน ได้เดินเข้าแถวอย่างสงบ มีระเบียบ ปราศจากอาวุธใด ๆ ทั้งสิ้น คงมีแต่จิตใจอันเข้มแข็งของนักศึกษาทุกคนที่ต้องการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอันเป็นที่รักและหวงแหนกลับคืนมาให้จงได้ แถวนักศึกษาทั้งชายหญิงอันยาวเหยียดได้เดินไปตามถนนราชดําเนินใน ราชดําเนินกลางและราชดําเนินนอกจนถึงหน้ารัฐสภาคือ ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพียงเพื่อไปฟังการถามและตอบกระทู้ เพื่อให้กําลังในนักศึกษารุ่นพี่ และเพื่อต้องการมหาวิทยาลัยคืนโดยมิได้ประสงค์ จะก่อความวุ่นวายใด ๆ ทั้งสิ้น
ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐสภาและเจ้าหน้าที่ตํารวจปิดประตูไม่ยอมให้นักศึกษาเข้าไป แต่ประตูเพียงบานเดียวไม่สามารถจะปะทะกับหลังนักศึกษาได้ เพียงในพริบตาเดียว ประตูเหล็กก็ถูกพังลง นักศึกษาจํานวนพันก็เข้าไปนั่งฟังการถามและตอบกระทู้ ณ สนามหญ้าในบริเวณรัฐสภา การถาม และตอบกระทู้ ๓ ครั้งเป็นไปดังคาดกันไว้คือ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ยืนที่จะไม่คืนมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาเพราะทางราชการมีความจําเป็นจะต้องใช้สถานที่
เมื่อการตอบกระทู้ได้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีนักศึกษาคนใดเลยในจํานวนหลายพันคนที่จะยอมกลับไป ทุกคนเปล่งเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมาพบกับนักศึกษา นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นชายชาติทหารได้ออกมาพบกับนักศึกษา ณ สนามหญ้าหน้ารัฐสภา การพูดจาทําความเข้าใจระหว่างหัวหน้ารัฐบาลและนักศึกษาได้ดําเนินไปเกือบหนึ่งชั่วโมง ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ลั่นวาจาต่อหน้านักศึกษาหลายพันคนว่าการรัฐบาลจะคืนมหาวิทยาลัยนักศึกษาได้ขอกําหนดเวลาไม่เกิน ๘ เดือน หัวหน้ารัฐบาลได้รับปากท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องด้วยความปิติยินดี นักศึกษาชายหญิงหลายพันคนนับเป็นชัยชนะที่บริสุทธิ์ เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่เกิดจากความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวล
นักศึกษาได้คืนสู่เหย้าในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๔
แม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น จะเป็นเหตุให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกห้ามมิให้เข้ามหาวิทยาลัยหนึ่งปีในพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าจะอยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนั้น และแม้ว่าในปีรุ่งขึ้น ๒๔๗๕ นักศึกษาจำนวนเดียวกันจะได้ถูกลบทะเบียนนักศึกษาทั้งชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท ฐานะเป็นตัวการให้มีการเรียกร้องสิทธิต้นชอบธรรมก็ตาม
แต่เราชาวธรรมศาสตร์ก็ยังภูมิใจในชัยชนะครั้งนั้นของเราอยู่จนทุกวันนี้มิใช่หรือ