ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อนุสรณ์แด่นักศึกษาปัจจุบัน

21
สิงหาคม
2566

Focus

  • มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ (ชื่อเดิม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง: ม.ธ.ก.) ก่อตั้งตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอายุระบอบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศไทย และมีผู้จบการศึกษาจำนวนมากไปประกอบอาชีพ ทั้งในด้านตุลาการ ด้านบริหาร และทางด้านนิติบัญญัติ และการประกอบอาชีพอิสระต่างๆ
  • การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำความผันผวนให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย (นายปรีดี พนมยงค์) ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และมีผลให้มหาวิทยาลัยประสบมรสุมอย่างหนักในการธำรงเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง
  • ในเมื่อภารกิจและหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของผู้จบการศึกษา คือการรับใช้ประชาชนตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ก้องกังวานอยู่ในมโนสำนักของลูก ม.ธ.ก. ทว่าเมื่อนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม วงการปกครองบ้านเมืองในขณะนั้น กลับเข้าใจผิดในเจตจำนงของนักศึกษา ด้วยเห็นว่าการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งเป็นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองและมีนักการเมืองหนุนหลัง จำเป็นต้องปราบปรามกันโดยเด็ดขาดและเคร่งครัด

 

มีความ     คิดแล้ว      ไม่สู้
ทนอยู่     ให้เขา      บีบกด
ความรู้     ก็สิ้น      ค่าหมด
จะอยู่     เป็นคน      ทำไม

นายภูมิ

 

หลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว คณะราษฎรผู้พลิกแผ่นดินก็ได้พิจารณาเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นของใหม่และแปลกที่สุดสำหรับประชาชนในยุคนั้น สมควรที่จะได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาในแขนงศาสตร์ทางการเมือง เพื่อแก่การซาบซึ้งในระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงในนานาอารยประเทศ

ดังนั้น รัฐสภาชุดแรกจึงได้ผ่านมติการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นโดยเอกฉันท์ นั่นคือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ดังปรากฏในคำปรารภแห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า “เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะเป็นการสมควรที่จะรีบจัดการบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึงเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ”

พิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงได้มีอย่างมโหฬารขึ้น ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ท่ามกลางความสนับสนุนตื่นเต้นและยินดีของประชาชนทั่วไป จากประวัติกำเนิดโดยย่อนั้น นับได้ว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอายุระบอบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศไทยโดยแท้

จำเดิมแต่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้กำเนิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ของคณะราษฎรดังกล่าวแล้วข้างต้นแล้วนั้น ได้มีประชาชนทุกวัยนับจำนวนหมื่น ผู้สนใจต่อระบอบประชาธิปไตยหลั่งไหลเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้ทุกปีไม่ขาดสาย เพียงชั่วระยะเวลาอันเล็กน้อยเท่านั้นก็ได้มีกลุ่มชนผู้สำเร็จการศึกษานับจำนวนไม่ถ้วน ได้ก้าวเดินออกจากกำแพงชราอันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยออกไปประกอบภารกิจของตนตามตำแหน่งหน้าที่และตามอาชีพที่ตนถนัด ทั้งในด้านตุลาการ ด้านบริหาร และทางด้านนิติบัญญัติ ตลอดจนการประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ทั่วทุกมุมของประเทศ อำนวยคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างไพศาลสมด้วยเจตนารมณ์ของคณะราษฎร

ทั้งนี้เพราะเหตุว่ากลุ่มชนเหล่านี้ได้นำความรู้ในระบอบการเมืองอันเป็นประชาธิปไตย ซึ่งได้ศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ออกเผยแผ่ต่อประชาชนในภูมิภาคที่ตนประจำอยู่ ทั้งโดยการเผยแพร่เพราะตำแหน่งหน้าที่และอาชีพ ตลอดทั้งการเผยแพร่ด้วยศรัทธาของตนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนตัว และด้วยประการอื่นอีกหลายประการ เหตุนี้จึงไม่เป็นการฝืนข้อเท็จจริงแต่ประการใดที่จะกล่าวเปรียบเทียบว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือ ต้นกระแสธารแห่งระบอบประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์สดใส มีกำลังแรงไหลเซาะซึมไปทั่วภูมิภาคในผืนแผ่นดินไทย นำความเจริญแก่พืชพรรณธัญญาหารโดยทั่วไป หากผู้ใดทำลายล้างหรือกีดกั้นกระแสธารนี้เสียแล้ว ความวัฒนาแห่งพืชผลทั้งมวลของประชาธิปไตยจะมีได้แม้แต่เท่ายองใย ก็หาไม่

ภารกิจและหน้าที่อันพึงปฏิบัติเมื่อรับใช้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึง ธาตุแท้ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นภารกิจอันสำคัญและยิ่งใหญ่ปานใดนั้น กลุ่มชนที่ได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และยังมิได้ละทิ้งอุดมการณ์เดิมเสีย ต่างก็ได้ตระหนักและสำนึกถึงภาระหน้าที่ของตนเป็นอย่างดียิ่ง ไม่มีผู้ใดที่จะลืมเลือนต่อสัจจะวาจาอันก้องกังวานของท่านผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก. ที่แท้จริง (ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์) ที่ได้เปล่งออกมาทุกครั้งในงานชุมนุมลูก ม.ธ.ก. อย่างหนักแน่นเสมอว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือ ตลาดวิทยาการ ที่มหาชนมีสิทธิจะเข้ามาจับจ่ายหาความรู้ใส่ตนได้เสมอ ในทุกเวลาและทุกโอกาส มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือ สถาบันการศึกษาของประชาชนทุกชั้นและทุกเหล่า...

ถ้อยคำอันจำหลักหนักแน่นเหล่านี้ ถึงแม้จะเป็นถ้อยคำในอดีต ซึ่งสหายนักศึกษาจะหาฟังอีกไม่ได้แล้วในปัจจุบันก็ตาม แต่เราก็กล้ายืนยันได้ว่า ถ้อยคำเหล่านี้ยังเป็นถ้อยคำที่ก้องกังวานอยู่ในมโนสำนักของลูก ม.ธ.ก. ผู้มีเลือดอันเข้มข้นทุกคนตลอดไป

เจตจำนงอันแรงกล้าของท่านผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก. ที่แท้จริง ซึ่งประสงค์จะให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นตลาดวิชาอันเสรี ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่อาจประสบผลได้ตลอดไป ทั้งนี้เพราะในช่วงระยะเวลาต่อมาได้เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ความผันผวนอลเวงได้เกิดขึ้นภายในอาณาจักรโดมอันเป็นที่รักยิ่งของนักศึกษาทั้งหลาย ผลอันนี้ได้รับมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเป็นพื้นฐาน ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยที่แท้จริงของนักศึกษาจำต้องระหกระเหินออกไปนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง เพราะไม่อาจจะหาเนื้อที่ดินอันมีอิสรภาพในพื้นแผ่นดินไทยเพื่อการเหยียบยืนอยู่ได้แม้แต่ฝ่ามือเดียว

จากนั้นมา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ประสบมรสุมอย่างหนักหน่วงที่สุด สิทธิและหน้าที่ต่างๆ ทางการศึกษาของนักศึกษาได้ถูกลิดรอนอย่างน่าใจหาย ประชาชนผู้มีใจเป็นธรรมได้แต่เฝ้าดูชะตากรรมของสถาบันแห่งนี้ด้วยความรู้สึกอันสลดและเศร้าหมอง แต่ในขณะเดียวกัน นักศึกษานับจำนวนพันต่างก็ได้ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนอย่างเด็ดเดี่ยว ปราศจากความหวาดหวั่นต่อผองภัยทั้งมวล ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยนี้ แต่ละครั้งยังความสั่นสะเทือนให้กับวงการปกครองของรัฐบาลในสมัยนั้นมิใช่น้อย กรณีชุมนุมกันเพื่อคัดค้านการตั้ง ร.ร. กฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาของนักศึกษาเกือบ 8 พันคน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2491 จนกระทั่งมีนักศึกษาผู้มีเลือดอันเข้มข้นลงทุนกรีดเลือดของตนเพื่อทาแผ่นดินโดมก็ดี กรณีนักศึกษาหลายพันเดินขบวนประท้วงการซื้อมหาวิทยาลัย ณ รัฐสภาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2494 ก็ดี ฯลฯ ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวอันเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของนักศึกษาผู้ต้องการอิสรภาพในทางการศึกษา และเป็นการต่อสู้ที่ได้รับความเห็นใจจากประชาชนผู้มีจิตใจเป็นธรรมเป็นอย่างดี

แต่เป็นที่น่าอนาถใจที่วงการปกครองของบ้านเมืองในขณะนั้น เข้าใจเจตจำนงของนักศึกษาทั้งหลายผิดแผกไปจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะวงการปกครองในขณะนั้นหาได้มองนักศึกษาด้วยแว่นสีขาวไม่ หากแต่มองด้วยแว่นสีดำสกปรก โดยที่ความว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาแต่ละครั้งเป็นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองและมีนักการเมืองหนุนหลังอยู่ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปราบปรามกันโดยเด็ดขาดและเคร่งครัดต่อไป

 

ที่มา : มารุต บุนนาค. อนุสรณ์แด่นักศึกษาปัจจุบัน ใน วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย. ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2564, หน้า 54-59.

หมายเหตุ : พิมพ์ครั้งแรกใน ธรรมศาสตร์ (หนังสือพิมพ์ของสโมสร ปี 2500 ฉบับที่ระลึก 5 พ.ย.), หน้า 90-96.