ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐธรรมนูญ 2540 : รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในความทรงจำ

27
ตุลาคม
2565

“...เราจะคิดถึงคนที่สำคัญ เมื่อต้องจากกันไป,

เราจะคิดถึงวันที่สวยงาม เมื่อเวลาผ่านไป...”

 

เพลง “ไม่เคย”

 ปิยวัฒน์ มีเครือ วง 25 hours

 

หากโยนคำถามใส่ใครแล้วขอให้ตอบอย่างเร็วๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ของประเทศไทยนี้ ฉบับไหน “ดีที่สุด” คำตอบที่เราพอจะเดาได้ เกินครึ่ง หรืออาจจะเกือบทั้งหมดจะนึกถึง คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540”

เช่นเมื่อปี 2558 เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยคำถามว่า “หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?” ผู้ที่เข้าร่วมโหวตเลือกให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้ ถึง 84%[1]

หรือแม้แต่เมื่อเพียง 2 ปีที่ผ่านมา ในเดือนมีนาคม 2563 เครือข่ายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. ที่มีจุดยืนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีข้อเรียกร้องว่า เพื่อการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อจัดการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลใหม่และดำเนินการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับต่อไป[2]

พูดง่ายๆ คือ คิดอะไรไม่ออก ก็ต้องย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 2540 ก่อน

คำถาม คือ เหตุใดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นี้ถึงเป็น “ที่รัก” ของผู้คนที่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญและการบ้านการเมืองกันแทบจะเป็นเอกฉันท์ ผู้เขียนเชื่อว่ามาจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ ซึ่งล้วนแต่มาจาก “ภาพจำ” ทั้งสิ้น

“ภาพจำ” ที่ว่านี้ คือการเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการกระบวนการร่าง และเกิดฉันทามติเป็นกระแสการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยมี “ธงเขียว - ริบบิ้นเขียว” เป็นสัญลักษณ์เพื่อกดดันให้รัฐสภาในขณะนั้นต้องให้ความเห็นชอบ

และ “ภาพจำ” ที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับตลอดช่วงเวลาการอยู่ในอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งก็มี “ภาพจำ” เช่นกัน ว่าเป็นรัฐบาลที่ทำงานได้อย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมากมาย ก่อนที่จะถูกรัฐประหารปิดฉากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

แต่เรื่องนี้ก็อาจจะเหมือนหรือคล้ายกับหลายๆ เรื่องนั่นแหละว่า ในบางครั้ง “ความทรงจำ” ของเรามักจะงดงามกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอ ดังเช่นประโยค “...เราจะคิดถึงคนที่สำคัญ เมื่อต้องจากกันไป, เราจะคิดถึงวันที่สวยงาม เมื่อเวลาผ่านไป...” จากเพลง “ไม่เคย” ของวง 25 Hours

ความทรงจำของเราต่อสิ่งใด หากเรามีช่วงเวลาที่ต้องอยู่ร่วมหรือสัมพันธ์กันเพียงพอ ก็ย่อมจะต้องมีทั้งความทรงจำที่ดีและร้าย แต่เมื่อใดที่ต้องจากผู้คนหรือสถานการณ์นั้น หากโดยรวมแล้วประสบการณ์หรือผู้คนนั้นไม่แย่จนเกินไป เราจะเหลือเพียงความทรงจำในแง่ดี ที่กลบเลือนเรื่องที่ไม่ดีหรือแม้แต่ที่เป็นกลางๆ ไป

ความทรงจำต่อผู้คนเฉพาะเรื่องดีๆ ของผู้ที่จากพ้นวงจรชีวิตเราไปแล้ว ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตายเพียงเช่นนั้นน่าจะดีกว่า แต่สำหรับบางเรื่อง เช่น “ประสบการณ์” หรือในกรณีนี้คือ “รัฐธรรมนูญ” นั้น การที่เราจดจำได้ทั้งเรื่องดีและแย่ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ประเมินและถอดบทเรียนของมันตามความเป็นจริง

เมื่อ วันที่ 11 ตุลาคม เมื่อ 25 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่ได้กล่าวถึงนี้ถูกประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ของไทย จึงถือโอกาสนี้มาทบทวนความทรงจำทั้งด้านดีและร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กัน

 

เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

หนังสือ[3] ตำรา และบทความอ้างตรงกัน[4] ว่า ต้นกำเนิดของรัฐธรรมนูญปี 2540 นี้ เป็นผลมาจากเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธรรม” ในปี 2535 แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ระยะเวลาห่างกันถึง 5 ปี หรือพูดให้ดูนานกว่านั้น คือ “กึ่งทศวรรษ” เลยทีเดียว

แรกทีเดียวในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น ประชาชนที่เสี่ยงและเสียสละชีวิตเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการ “สืบทอดอำนาจ” ของคณะรัฐประหาร คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้อาศัยช่องว่างทางรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ได้มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็น ส.ส. ซึ่งการต่อต้านดังกล่าวบานปลายกลายเป็น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือที่เราเรียกกันในชื่อ “พฤษภาประชาธรรม” ในเวลาต่อมา

ดังนั้น ข้อเรียกร้อง ประการแรกสุด ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ของ รสช. หลังจากนั้น คือ การกำหนดว่า “นายกรัฐมนตรี” จะต้องได้รับเลือกมาจาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น จึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ฉบับที่ 4 เดือนกันยายน 2535 โดยเพิ่มวรรคสองเข้าไปให้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

หลังจากนั้น ด้วยเสียงเรียกร้องของประชาชนร่วมกับพันธสัญญาของบรรดาพรรคการเมืองที่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ รสช. ซึ่งในขณะนั้นถูกเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ “หมกเม็ด” ซึ่งผลนั้นได้งอกเงยขึ้นเป็นการสืบทอดอำนาจนำมาซึ่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งในปี 2538 ซึ่งก็เป็นการแก้ไขเกือบทั้งฉบับแทบจะเหลือไว้แค่ชื่อ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการแก้ไขที่มีพื้นฐานอยู่บนโครงสร้างแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาของระบบการเมืองในช่วง พ.ศ. 2520 – 2530 ที่เป็น “ประสบการณ์” และ “กรอบคิด” ของผู้คนในสมัยนั้น

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่แก้ไขปี 2538 จึงเสมือนเป็นเพียงการคีบเอา “เมล็ดพันธุ์” ของเผด็จการที่ซุกไว้ออกไป แล้วจึงปรับปรุงให้เป็นรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยตามสมควร

ข้อเท็จจริงที่ต้องบันทึกไว้เป็นสำคัญ คือ ผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 กับประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคนเดียวคนเดิม มีชื่อว่า “มีชัย ฤชุพันธ์”

กระนั้น ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ไม่ต่างจากเดิมก่อนการรัฐประหาร 2534 ก็ทำให้ภาคประชาสังคมเริ่มตั้งสมมติฐานว่า กรอบคิดของกติกาทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญรูปแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นออกจากวังวนของสิ่งที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์ทางการเมือง” ได้ยาก

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายวงจรอุบาทว์ทางการเมือง[5] ไว้ว่าหมายถึงการสถานการณ์ความขัดแย้งที่ฝ่ายการเมืองบริหารประเทศอย่างไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพ มีการทุจริตคอร์รัปชัน จนเกิดเสียงเรียกร้องให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหาร จากนั้นก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดให้จัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นก็เกิดเหตุขัดแย้งทางการเมืองหรือการบริหารอำนาจขึ้นอีกครั้ง แล้วทำการรัฐประหารอีกเช่นนี้วนไป

หนทางที่จะออกจาก “วงจรอุบาทว์” ที่กล่าวถึงนี้ได้ คือ จะต้องคิดนอกกรอบไปให้พ้นจากรูปแบบทางการเมืองเดิมอย่างสิ้นเชิง

จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองนี้แท้จริงแล้วมีการกล่าวถึงมาก่อนในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่นาน โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เป็นประธานจัดตั้ง “โครงการศึกษาเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทย” โดยรวบรวมนักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชน รวม 11 คน ทำการศึกษาแนวทางของการปฏิรูปรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยมีเนื้อหา 11 เรื่อง ได้แก่ ระบบการควบคุมวินัยทางการเมือง, ศาลรัฐธรรมนูญ, สถาบันเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน, สถาบันเกี่ยวกับสภาแห่งรัฐ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ, วิธีการหาเสียงเลือกตั้งและการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง, ระบบการออกเสียงเลือกตั้งโดยมีการควบคุมโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ระบบการออกเสียงเลือกตั้งแบบการลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อ, ระบบการออกเสียงประชามติ, รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ที่มีประเด็นดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญ และระบบการตรากฎหมายกึ่งรัฐธรรมนูญ

ซึ่งหากมองรายชื่อของงานวิจัยต่างๆ ข้างต้น จะเห็นได้ถึง “รากฐาน” ของรัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ลางๆ

นอกจากนี้ มีเรื่องที่ควรต้องบันทึกไว้เป็นระดับเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมว่า ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น เป็นการเปิดตำนานของ “สื่อ” และ “บุคคล” ที่มีผลให้เกิดการพลิกผันทางการเมืองและสังคมไทย อย่างที่ไม่ว่าเราจะชอบหรือชังก็ต้องยอมรับว่านั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่พาให้การเมืองและประเทศมาถึงจุดนี้ แถมยังไม่ทราบว่าจากนี้แล้วจะไปทางไหนต่อไปด้วยซ้ำ

นั่นคือการที่สื่อในเครือ “ผู้จัดการ” ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเดิมทีเป็นสื่อข่าวธุรกิจและเศรษฐกิจ ได้ก้าวเข้ามาเป็น “สื่อการเมือง” อย่างเต็มรูปแบบหลังจากที่ได้แจ้งเกิดจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม

โดยสื่อในเครือ “ผู้จัดการ” ได้เปิดพื้นที่ให้นักวิชาระดับครูในวงการรัฐศาสตร์และกฎหมายมหาชนได้มีพื้นที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบ้านการเมืองในรูปแบบของบทความเชิงวิชาการ เช่น ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช  ศ.ดร.เกษียณ เตชะพีระ และโดยเฉพาะบุคคลสำคัญคือ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเขียนบทความเรื่อง “คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย” ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการตลอดช่วงเดือนเมษายน 2537[6]

บทบาทของสื่อเครือ “ผู้จัดการ” ในยุคสมัยนั้น จึงเป็นการนำเอา “หลักวิชาการ” ด้านการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญเข้ามาสู่การรับรู้และจับต้องได้ของคอการเมืองซึ่งติดตามสื่อในเครือผู้จัดการอยู่แล้ว ทำให้ความตระหนักรู้ของผู้ที่สนใจเรื่องการบ้านการเมืองนั้นไปไกลกว่าความสนใจในเชิงตัวบุคคล นักการเมือง หรือสถานการณ์การเมืองแต่ละคนแต่ละเรื่อง ไปสู่การมองเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน คือ “กติกาทางการเมือง” และเห็นถึงความสำคัญของ “รัฐธรรมนูญ” ในฐานะของกุญแจหลักหากจะปฏิรูปการเมืองนั้นจำเป็นจะต้องคิดนอกกรอบไปให้พ้นจากแนวคิดทางการเมืองเดิมๆ

นี่คือ “ตำนาน” ก่อนที่ผู้จัดการจะ “เปลี่ยนไป” ในช่วงปี 2548 และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 นี้ถึงแก่บทอวสานในที่สุด

วิกฤติการเมืองประกอบเข้ากับบรรยากาศทั้งหลายในทางวิชาการและสังคมนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาของไทย 

มีกรณีที่ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ออกมาอดอาหารเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และในปี 2537 นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ประกอบด้วยบุคคลจำนวน 58 คน ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะในการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย ในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมี ศ.ดร.ประเวศ วะสี เป็นประธาน

หลังจากนั้น ในปี 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งชูนโยบายปฏิรูปการเมืองเป็นนโยบายหนึ่งในการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี นายบรรหารก็ได้ตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง” (คปก.) ขี้นมาในเดือนสิงหาคม 2538 ที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดย “พิมพ์เขียว” ของสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองนี้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 ที่ได้แก้ไขมาตรา 211 แยกออกไปเป็นมาตราใหม่ 19 มาตรา (ทวิ ถึง เอกกูณวีสติ[7]) โดยมีสาระสำคัญคือการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท คือ สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน และสมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ จำนวน 23 คน (จากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน และผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ประเภทละ 8 คนเป็น 16 คน รวมกับผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนดอีก 7 คน รวมเป็น 23 คน) ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา โดยรัฐสภาจะต้องพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมประการใดมิได้ ในกรณีที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

แต่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ยังมีทางออกให้นำร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปดำเนินการจัดให้มีประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอ หากประชาชนลงประชามติเห็นชอบ ก็ให้ดำเนินการนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไปได้

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปจนเสร็จในช่วงเวลาที่วิกฤติเศรษฐกิจกำลังสุกงอมพอดีในปี 2540 ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นเหมือนหนึ่งในความหวังของประชาชนที่จะได้เริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองเพื่อคลี่คลายวิกฤติทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดังนั้น แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีกระแสต้านของบรรดานักการเมือง ส.ส. และ ส.ว. ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างระบบการเมืองใหม่ การเลือกตั้งแบบใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย รวมถึงมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชน และบรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านที่หวั่นเกรงการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะก่อให้เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็รวมตัวกันออกมาถือ “ธงเหลือง” กลางเมืองหลวงที่เป็นถิ่นของกระแส “ธงเขียว” และ “ริบบิ้นเขียว” ที่ผูกบนข้อมือและกระจกหรือเสาอากาศของรถยนต์เกือบทั้งเมือง ที่สนับสนุนการมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ซึ่งเรื่องนี้ก็มาจากที่ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ และสื่อเครือข่ายได้ร่วมกันย่อยเนื้อหาและอธิบายถึง “ข้อดี” และผลที่จะได้รับจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

กระแส “ธงเขียว” กลายมาเป็น “ธงนำ” เป็นกระแสหลักของสังคม อย่างที่ยากจะต้าน ซึ่งตอนนั้นพูดไปถึงว่า ถ้ารัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็พร้อมลงประชามติต่อสู้ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

กระแสเช่นว่านี้ ทำให้รัฐสภาในขณะนั้น โดยเฉพาะฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องรักษาพื้นที่ทางการเมืองของตนจำเป็นต้องยอมรับ และลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ในที่สุด เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้รับการลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ของไทย

 

[1] “ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ” นักวิชาการชี้ต้องยกเลิก ม.44 คำสั่ง คสช.ก่อนประชามติ, The Citizen Plus, สืบค้นจาก : https://thecitizen.plus/node/12382.

[2] ครช. เดินเท้าไปรัฐสภา เรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ เน้นรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ เพื่อสร้างกลไกอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน, The Momentum, สืบค้นจาก : https://themomentum.co/ccpc-rally-to-parliament/.

[3] มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ, เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2542), หน้า 24.

[4] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, 20 ปี รัฐธรรมนูญ 2540 : การปฏิรูปการเมืองไทยในอุ้งมือนักกฎหมายมหาชน, The 101 World, สืบค้นจาก : https://www.the101.world/20-year-constitution-2540/.

[5] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ เชาวนะ ไตรมาศ, ข้อมูลพื้นฐาน 80 ปี ประชาธิปไตยไทย 2475 – 2555, (กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2557), หน้า 26.

[6] คำนูณ สิทธิสมาน, 84 ปี ดร.อมร จันทรสมบูรณ์, Manager Online, สืบค้นจาก : https://mgronline.com/daily/detail/9570000078854.

[7] มาตรา 211 / 2 ถึง 19 ธรรมเนียมของการเขียนกฎหมายเก่า จะใช้ ทวิ ตรี จตุ เบญจ เป็นต้น