ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ประติมากรรมสามัญชน จรัล มโนเพ็ชร กับ 21 ปี รำลึกการจากไป ส่งอะไรให้สานต่อ

2
ตุลาคม
2565
ภาพปกแผ่นเสียง “ศิลปินป่า” ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง โดย จรัล มโนเพ็ชร ที่มา : บริษัทรถไฟดนตรี
ภาพปกแผ่นเสียง “ศิลปินป่า” ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง โดย จรัล มโนเพ็ชร
ที่มา : บริษัทรถไฟดนตรี

 

ในวันที่อุทกภัยถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยรุนแรงขนาดนี้มาก่อน นักวิชาการอธิบายถึงที่มาของปรากฏการณ์ไว้ 3 สาเหตุหลักคือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุน และน้ำเหนือหลาก แต่คนส่วนมากแล้วมักไม่ตระหนักถึงมูลเหตุพื้นฐานสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือความโลภ การบริโภคที่เกินพอดี และการไม่มีวินัยของมนุษย์โลก ล้วนคือที่มาของภาวะโลกวิบัติสารพัดภัยกระหน่ำหนักอยู่ในเวลานี้ หลายฝ่ายต่างทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอย่างแข็งขัน

ศิลปินก็เช่นกัน และที่สำคัญได้ทำมานานแล้วก่อนโลกจะเกิดวิกฤตอย่างในปัจจุบัน โดยสร้างสรรค์ผ่านบทเพลงชีวิต วัฒนธรรม ที่สัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างนอบน้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะศิลปินชาวไทย “จรัล มโนเพ็ชร” นักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียนบท นักแสดง นักพัฒนา นักมนุษยวิทยา ลูกหลานชาวล้านนา ผู้เกิดมาเพื่อเป็นตำนานเพราะ ตัวตนและผลงานที่ส่งผ่านเสียงเพลงของเขา กว่า 24 ปี ของชีวิตการทำงานหนักในบทบาทของศิลปิน

เพื่อพัฒนาเพลงโฟล์คซองคำเมืองและเพลงไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล ไปจนถึงการเป็นนักเคลื่อนไหว ส่งเสริมการศึกษา ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ให้โอกาสให้เกียรติทุกชั้นชนและคนเผ่าชาติพันธ์ุ คือพันธกิจที่แม้เสียชีวิตไปแล้วกว่าสองทศวรรษ หากอุดมการณ์ยังได้รับการสานต่อและเติมเต็มทั้งจากศิลปิน นักวิชาการ มวลชนคนหัวก้าวหน้า หน่วยงานทั้งราชการและเอกชน ฯลฯ

คนทุกรุ่นร่วมระดมความคิดผลิตโครงการผ่านสายใยจากบทกวีในเสียงเพลงที่น่ารัก อบอุ่น อ่อนหวาน ตรึงใจ ให้ความหวัง ส่งพลังจนเกิด โครงการจรัลรำลึก เพื่อประกาศเจตนารมณ์และยืนยันสาระสำคัญของงานสร้างบ้านแปงเมืองร่วมกันในวันจารึกประวัติศาสตร์ส่วนสำคัญของสามัญชน บนความหวังว่า อนาคตย่อมจะมีสิ่งทดแทนปัจจุบันได้ดีกว่าในทุกๆ ด้าน ดั่งท่อนหนึ่งของบทเพลง “ลมเหนือ” ที่เน้นว่า “ทุกครั้งที่ความมืดคลาย หมายถึงวันที่ดีกว่า คือโอกาสชีวิตให้เราฟันฝ่า ขอบฟ้ามีตะวัน…” จรัล ประพันธกร

ศิลปินป่ากับพันธกิจ เพื่อชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อ 1 มกราคม 2565 ในวันคล้ายวันเกิด คณะกรรมการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.) ได้จัดงานส่งมอบประติมากรรมสามัญชนคนล้านนา ซึ่งเกิดมาจากการระดมทุนโดยภาคประชาชน 500,000 บาท ณ ข่วงอ้ายจรัล สวนบวกหาด ประตูเชียงใหม่ ในพื้นที่สาธารณะมีผลงานศิลปะสร้างสรรค์ชิ้นสำคัญรูปปั้น จรัล มโนเพ็ชร เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน (ประติมากรรมออกแบบโดย รศ.ดร.สุกรี เกษรเกศรา นำทีมปั้นโดย อ.ภูธิป บุญต้นบุตร) และ 3 กันยายน 2565 ในวันคล้ายวันเสียชีวิตเมื่อปี 2544 ถึง “21 ปี รำลึก จรัล มโนเพ็ชร” เป็นอีกครั้งที่คนรักจรัลได้มารวมกันที่นี่ (เหมือนเป็นงานบุญบันเทิงประจำปี มีจัดพร้อมกันหลายจุดโดยไม่ได้ปักหมุดนัดหมาย งานอ้ายต้องม่วน) และปิดโครงการจรัลรำลึก ด้วยการส่งมอบแผ่นป้ายถาวรอุปกรณ์โอนถ่ายฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการ รวมวาระเปิดตัวหนังสือ “20 ปี จรัลลา” รายละเอียดของการสร้างประติมากรรมสำคัญชิ้นนี้ หลังพิธีเปิดป้ายประติมากรรมมีปาฐกถา การเสวนา และการแสดงดนตรี รวมนักร้อง นักดนตรีทุกแนว 40 วง กว่าสองร้อยคน นำผลงานเชิดชูชัดอัตลักษณ์ล้านนาของจรัลมาบรรเลงร่วมรำลึกในสไตล์ของตัวเอง และหลายวงได้มีการแต่งเพลงพิเศษมอบให้อ้ายจรัลอันเป็นที่รักของเขา

โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ เพลง “จรัล มโนเพ็ชร” จากวง เดอะ สะล้อ แต่งโดย ครูแอ๊ด ภานุทัต อภิชนาธง เปิดเข้าโหมโรงกล่อมข่วงรับผู้คนตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป อีกทั้งการปฐกถาได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร นักเขียน นักวิชาการ นักวนศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย ท่านให้ความสำคัญกับป่าไม้ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เน้นย้ำให้ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากร ทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้ ให้ความรู้เรื่องประวัติกรมป่าไม้และวนศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต ในหัวข้อ “จรัลรำลึก : ความงดงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในล้านนา”[1]

“ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เป็นแฟนของ จรัล มโนเพ็ชร มานานเหลือเกิน ผมสะสมผลงานเขาได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด มีความชื่นชมกับวิธีคิดในเชิงบวกของจรัลมาก เชียงใหม่มีอะไรดีหลายอย่างที่โดดเด่นที่สุดเลยในประเทศไทย คือ เป็นจังหวัดเดียวที่ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็สามารถเดินทางเข้าป่าได้ วัฒนธรรมมีส่วนที่จะเสริมสร้างหรือพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้ ผมถึงมีความเชื่อว่ามรดกของบรรพบุรุษที่ทิ้งไว้ให้เรา เป็นสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเราที่จะต้องดูแลสานต่อ อยากให้เมืองฟื้นฟูความเขียวร่มรื่นในทุกแห่ง อาจารย์ธเนศวร์บอกว่าไม้สักเป็นทองคำเขียว อยากให้ตำบลต่างๆ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อตัวเอง เพราะต้นไม้กับวัฒนธรรมสัมพันธ์กันมาก ผมได้ถกกับ อาจารย์สง่า สรรพศรี (นักวนศาสตร์ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านนิเวศวิทยาป่าไม้คนสำคัญของไทย) ว่าเราจะทำศูนย์วัฒนธรรมในสวนพฤกศาสตร์ เป็นที่แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่างๆ รวมต้นไม้ในวัฒนธรรมของแต่ละเผ่ามาให้ความรู้กับผู้คน เขียวอย่างเดียวไม่พอต้องมีค่าด้วย จรัลมองเห็นคุณค่าและความงามของสิ่งนี้  ต่อไปงานจรัลรำลึกเราต้องปลูกต้นไม้เป็นการสดุดี” องค์ปาฐกกล่าวสดุดีศิลปินป่า

บทเพลงของป่าลอยมากับลมเหนือ… “ลมหนาวระบาย ป่าไม้กลายเปลี่ยนสี จากที่เคยเขียวขจี เปลี่ยนเป็นสีร้อนแรง กลีบทองงิ้วราย เหลืองพรายคือดอกลมแล้ง ดอกเครือออนสีม่วงแดง กับตะวันสีทอง ป่าจึงควรเป็น ศิลปินแห่งชีวิต ที่มีแต่น้ำมิตร ผลิตงานชวนให้มอง มีทั้งความหมาย แห่งสัจธรรม และยังล้ำค่าเกินจะครอง แต่จะดี ถ้าจะประคอง ให้เป็นตามครรลองตลอดไป … ” ส่วนหนึ่งของบทกวีในเสียงเพลง “ศิลปินป่า” ของ จรัล มโนเพ็ชร ที่กลั่นจากจิตวิญญาณความเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ แม้อยู่ในช่วงของความอาดูรหลังสูญเสียมารดา และทุกข์เวทนากับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  2535

จรัลใช้เวลา 5 เดือนเก็บตัวอยู่กับการแต่งเพลงท่ามกลางความรันทดแต่ไม่หมดพลังใจ กลับส่งความหวังให้ทุกคน จนอัลบั้ม “ศิลปินป่า” ได้รับรางวัลประกันคุณภาพโดย นิตยสารสีสัน (หนังสือรวมสื่อผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี คือ คัมภีร์สารของวงการเพลงไทยมี ทิวา สาระจูฑะ เป็นบรรณาธิการ) SEASAN AWARDS สีสันอะวอร์ดครั้งที่ 7 ประจำปี 2537 ตัดสินให้อัลบั้ม “ศิลปินป่า” ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่ “เพลงยอดเยี่ยม” (เพลงศิลปินป่า), ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม (จรัล มโนเพ็ชร) และ อัลบั้มยอดเยี่ยม (ศิลปินป่า)

นอกจากนั้น อัลบั้มนี้ยังคว้ามาอีก 2 รางวัล ประกาศเกียรติคุณคือบทเพลง “น้ำแม่ปิง” และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นบทเพลงดีเด่นสำหรับเยาวชนตั้งแต่อายุ 17 ปีขึ้นไป จากชมรมสภาวะแวดล้อมสยามอีกด้วย บทเพลงยืนยันการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับชีวิตวิถี ประเพณีวัฒนธรรม สะเทือนใจเรียกร้องให้ปกป้องป่าแหล่งต้นน้ำที่บอบช้ำดำซกมก ด้วยความวิตกผ่านงานเพลงล้ำค่าภาษาล้านนาบ้านเกิด

จรัลเป็นนักเดินป่า (Trekking) เพราะป่าคือบ้านหลังที่สองของเขา มีความสุขมากเมื่อได้พบเพื่อนชนเผ่าบนป่าเขา ในบรรดาความฝันอันหลากหลายของ จรัล มโนเพ็ชร ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ แต่มีความฝันหนึ่งที่ไม่มีวันจะสมใจเขา … “วันข้างหน้าเมื่อแก่ชรา ผู้คนคงไม่ต้องการตัวตนของอ้าย แต่อาจต้องการเสพย์งาน อ้ายจะขึ้นไปอยู่บนภูเขา จะทำเพลงแต่ไม่ใช่เพื่อขาย หากใครไปเยี่ยมเยือนเรา ที่นั่น อ้ายจะแจกให้พวกเขาทุกคน” …ฉันรู้สึกยินดี แต่ท้ายที่สุดความฝันนี้ ก็ประสบความล้มเหลวตลอดกาล — อันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิต จรัล มโนเพ็ชร บันทึกไว้ในหนังสือ “รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร”[2]

 

“โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ จรัล มโนเพ็ชร”  ผลงานชุดแรก พ.ศ. 2520
“โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ จรัล มโนเพ็ชร”  ผลงานชุดแรก พ.ศ. 2520

 

นักมนุษยวิทยา กับอัตลักษณ์ล้านนา ที่พลิกฟ้าฟื้นดิน

ความเป็นนักรบทางวัฒนธรรมย้ำบทบาทของนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสังคม เคลื่อนไหวด้วยใจที่เปี่ยมอุดมการณ์ของจรัล ไม่ใช่เพียงเสียงเพลงเท่านั้นที่เขาใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศเจตนารมณ์ แต่รวมไปถึงศิลปะการแสดงด้วย จรัลเป็นนักแสดงคุณภาพที่มีผลงานดีเด่นได้รับหลายรางวัลทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ โดยเฉพาะ “วิถีคนกล้า” ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2534 จากรางวัลพระสุรัสวดีและชมรมวิจารณ์บันเทิง เขาได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม ประพันธ์ดนตรีประกอบร่วมกับ ดนู ฮันตระกูล (รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม) และร่วมแสดงนำ ฯลฯ รวมถึงงานละครชุมชนวาระต่างๆ ที่ได้รับการร้องขอจากทั่วประเทศ โดยทำหน้าที่ผู้เขียนบท กำกับการแสดง ฝึกสอนการแสดง ควบคุมงานฝึกซ้อม ฯลฯ จรัลเข้าร่วมด้วยจิตอาสา มีต้นไม้เพียงต้นเดียวเป็นค่าจ้างก็สร้างงานได้

ในปี 2539 จรัลได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 ในสาขานักร้องชายดีเด่น ประเภทเพื่อชีวิตสร้างสรรค์ และ สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ มอบโล่ผู้มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี 2540

จรัลมีความฝันต่อการสร้างศูนย์เรียนรู้ศิลปศาสตร์ เพื่อสนับสนุนเยาวชนและศิลปินให้ได้ศึกษาและสร้างสรรค์งานศิลปะทุกสาขา เขาจัดตั้ง ชมรมส่งเสริมศิลปินล้านนา จัดกิจกรรมการแสดงละครและดนตรีตามที่ต่างๆ ร่วมกับนักเรียนนักศึกษา เพื่อการจัดตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา รวมถึงคอนเสิร์ต “ม่านไหมใยหมอก” (ร่วมกับ ร.ร จักรคำคณาทร ลำพูน) ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยถึง 3 ครั้งด้วยกันใน ปี 2530, 2533 และ 2541 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงมาตลอด และ หอศิลป์สล่าเลาเลือง คืออีกหนึ่งความหวังความฝันที่ได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม หนังสือ “20 ปีจรัลลา”[3] บันทึกไว้ในบทความที่เขียนโดย ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ว่า

“จรัลเห็นความสำคัญของการศึกษาและการแสดงออกของเยาวชน เขาจัดตั้งกลุ่มเยาวชนไว้หลายแห่ง สอนการเขียนบทละคร ฝึกซ้อมบทละครเพื่อนำออกแสดง ส่งเสริมให้เยาวชนใช้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นเนื้อเรื่องในละคร ฝึกเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการและกล้าแสดงออก เขาได้มอบเงินให้เยาวชนจำนวนหนึ่ง เพื่อไปเรียนต่อด้านดนตรีและงานศิลปะเพื่อจบออกมารับใช้แผ่นดินเกิด”

เพราะ “จรัลอยากเห็นงานสืบสานศิลปินล้านนาได้รับการสนับสนุน ในการจัดแสดงดนตรีที่กรุงเทพฯ เขาได้เชิญศิลปินยอดฝีมือจากจังหวัดต่างๆ ไปร่วมแสดง ผลักดันให้หน่วยงานราชการมอบรางวัล จัดรายการให้ศิลปินเหล่านั้นได้แสดงฝีมือ และสนับสนุนทุนวัฒนธรรม จรัลเห็นความสำคัญของการให้ความรู้แก่สังคมในระยะยาว เขาจัดรายการเพื่อระดมทุนสร้าง ‘หอศิลป์สล่าเลาเลือง’ ที่จังหวัดลำพูน เพื่อสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงความรู้ อุปกรณ์การดนตรี และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่สาธารณะได้ศึกษาซึมซับ แสดงภาพถ่ายและผลงานของศิลปินในจังหวัดต่างๆ ของล้านนา เป็นศูนย์แสดงด้านศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรมล้านนา จรัลมองหาหนทางในการปรับปรุงดนตรีของล้านนาให้มีความทันสมัย และหวังยกขึ้นสู่วงการดนตรีในระดับสากล”

 

ภาพ จรัล มโนเพ็ชร ที่มา : อันยา โพธิวัฒน์ บ้านดวงดอกไม้ จังหวัดลำพูน
ภาพ จรัล มโนเพ็ชร
ที่มา : อันยา โพธิวัฒน์ บ้านดวงดอกไม้ จังหวัดลำพูน

 

อัลบั้ม “ล้านนาซิมโฟนี” คือ ผลงานเพลงดนตรีแนวใหม่ของจรัลที่มั่นใจต่อการเป็นแบบอย่าง ในแนวทางที่กล้าสร้างสรรค์โดยไม่หวั่นเงื่อนไข เขาตั้งใจจะขายอัลบั้มนี้เพื่อสะสมทุนสร้าง หอศิลป์สล่าเลาเลือง “ทำงานต้องหนักแน่นและอดทนถึงจะประสบความสำเร็จ ถ้าเราไม่เปิดใจกว้างเราก็จะไม่เห็นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา” จรัลกล่าวไว้ให้กำลังใจทุกคน

จนเป็นที่มาของวงเสวนา ในหัวข้อ “จากเชียงใหม่สู่ล้านนา : จากวันนี้สู่วันหน้า”[4] บอกเล่าความผูกพันที่มีต่อจรัลและบทเพลง, อิทธิพลของเพลงโฟล์คซองคำเมืองที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรม, การนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ในบทเพลงของจรัลวีรบุรุษท้องถิ่น, ปัญหาเรื้อรังรกเมืองเชียงใหม่ในหลายด้าน, นำเสนอวิธีการแก้ไขจากคนรุ่นใหม่พลเมืองตื่นรู้ เพื่อสู้กลกับดักของรัฐกลางที่สร้างเศรษฐกิจผูกขาด, ตลาดแรงงาน, การคมนาคม, ปลุกเร้าประชาคมให้ตระหนักในอัตลักษณ์เพื่อพิทักษ์ตัวตน วัฒนธรรม และทรัพยากรที่ล้ำค่าของแผ่นดินล้านนา ตามเจตนารมณ์ของจรัลผ่านบทเพลง ฯลฯ

เรื่องเล่าจากวงเสวนา

ชิ ดร.สุวิชาน ศิลปินชาวปกาเกอะญอ นักวัฒนธรรมชุมชน ตัวแทนคนชนเผ่าบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจจากเสียงเพลงที่ก่อเกิดแรงกระเพื่อมเชื่อมต่อไปถึงพี่น้องชาติพันธุ์ และปัญหาจากการเข้ามาจัดการวิถีชีวิตชนเผ่าโดยภาครัฐที่ทำให้ชาวเขาอยู่ยากในเงื่อนไขของพื้นที่ทำกินและสิทธิขั้นพื้นฐาน

“อ้ายจรัลเป็นคนที่เปิดโลกชนเผ่าให้กับคนล้านนาได้รับรู้  สองเปิดโลกชนเผ่าสู่ดนตรีโฟล์คในประเทศไทยเช่นเพลง “มิดะ” (เป็นเพลงที่เปิดประเด็นใหม่สู่สังคมไทยด้านวัฒนธรรมเพศศึกษาของชนเผ่าอาข่า ที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเก่า จรัลนำมาเล่าผ่านบทเพลงด้วยความเคารพในวิถีประเพณี รักในมิตรภาพความดีงามของชนเผ่าชาติพันธุ์)[5]

แม้ว่าเจ้าของวัฒนธรรมจะไม่ค่อยเปิงใจ๋ แต่ก็เป็นการเปิดประเด็นคำถามว่า มิดะคือใคร เปิดใจทำความรู้จักส่วนอื่นตวย แต่ก่อนใครๆ ก็คิดว่าคนชนเผ่าคือชาวแม้วทั้งหมด เรารู้สึกอ้ายจรัลเป็นตัวแทนเราเหมือนกัน ถึงแม้คนล้านนาไม่ใช่คนชนเผ่าแต่นี่เป็นการ inclusive คนล้านนาให้รู้จักคนชนเผ่าในยุคแรก นับรวมชาวดอย คนชนเผ่า สู่ความเป็นล้านนาผ่านบทเพลงอ้ายจรัล เฮาเป็นส่วนหนึ่งในบทเพลงนั้นและเขาก็เป็นปากเป็นเสียงเป็นตัวแทนเฮาเหมือนกัน เป็นความผูกพัน เชียงใหม่เป็นเมืองของคนเฮียนฮู้ เป็นเมืองแห่งการฮู้คิง(รู้จักตัวตนของตัวเอง) จึงไม่ควรที่คนอื่นจะมาชี้ทางให้เป็น การที่คนอื่นมาชี้แนะก็เป็นเรื่องธรรมดา ผิดปกติอย่างใดส่งผลอย่างใดล่ะ ถ้าเราไม่รับรู้มันเป็นการบ่ฮู้คิง ผมขอเสนอให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการนับรวม Inclusive City คนชนเผ่าก็เป็นคนเชียงใหม่ ผมเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ร่วม แต่ต้องเป็นวิสัยทัศน์แบบ Inclusive ไม่ใช่ Exclusive (พิเศษ เฉพาะตัว แต่ผู้เดียว) สิ่งที่ควรจะต้องเกิดคือ “สภาพัฒน์เชียงใหม่” เพื่อเป็นจุดแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา สถาปนิกนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว

“รัฐส่วนกลางกดทับอัตลักษณ์ล้านนา อ้ายจรัลเป็นคนยืนยันว่าเรามีความสามารถยืนหยัดในความเป็นคนล้านนาได้ เพลงอ้ายจรัลจะเล่าเรื่องเป็นวรรณกรรม มีความงามของภูมิทัศน์วัฒนธรรม ไม่ได้เล่าเรื่องการพัฒนาเมืองเป็นยังไง แต่เล่ามุมที่ไม่สว่างที่รัฐไม่ได้โฟกัสลงไปแล้วความเหลื่อมล้ำก็เกิด อ้ายทำให้การพัฒนาเมืองสว่างขึ้นในพื้นที่ชนบท กลุ่มชาติพันธุ์บนดอย ซึ่งคำว่าไม่พัฒนา ไม่จริง เพราะการเป็นเมืองไม่มีที่ไหนที่ไม่เป็นชานเมืองมาก่อน จึงเป็นการพัฒนาเฉพาะที่ตัวเมืองเชียงใหม่”

“ช่วงอ้ายจรัลเมืองมันเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของใครก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่สิ่งที่อ้ายจรัลต่อรองผ่านเพลงมันน่าสนใจตรงที่ว่า เล่าชีวิต เล่าการใช้ เช่น 700 ปี เมืองเชียงใหม่ ไม่ได้บอกเลยว่าอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เล่าผ่านผู้หญิง ความสัมพันธ์ ทำให้เรามองล้านนานุ่มมากขึ้น นี่คือคีย์ของการพัฒนาเมือง ถ้าจะไปต่อเราต้องไม่ติดกับดักค่านิยมของยุคสมัย มาเชียงใหม่เห็นอะไรที่เป็นเชียงใหม่ไม่ใช่ญี่ปุ่น ทั้งที่ต้นทุนมีเยอะแต่เราไม่ดึงต้นทุนเมืองมาใช้ เราเอาภาพจำที่ติดกับคำว่าพัฒนามาเป็นตัวกำหนด เราจะเข้าใจวัฒนธรรมจากการใช้ อ้ายจรัลเป็นคนที่ทำให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมจากการใช้มันอยู่ที่อาหาร การพูด แล้วมันก็นุ่มมากไม่แข็งเกร็ง”

“การไปต่อของเชียงใหม่ คือ ผู้คน การใช้ต่อ คือ ภารกิจของเรา และการมารวมกันวันนี้ของเรา คือ การส่งต่อความเป็นท้องถิ่นสู ทางออกคือ ประติมากรรมชิ้นนี้ (สัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม) จะทำให้เกิดบริเวณขึ้นมา บริเวณจะกลายเป็นลาน ซึ่งลานจะไม่ติดกับดักของการบูชา แต่เป็นลานเพื่อใช้ แล้วก็เป็นลานของประชาชน เพราะฉะนั้นภารกิจต่อไปของเราไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป แต่ต้องมาใช้โดยประชาชน แล้วข่วงจะถูกรักษา เราเกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลง เมื่อระบบโครงสร้างไม่ดีเราต้องเปลี่ยน เราจะถอดอุปถัมภ์ชีวิตที่ทำให้เราอยู่ไม่ได้ เราเรียนจบมาไม่ได้เพื่อหาเงินเอาตัวรอด แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลง มันจะค่อยๆ เปลี่ยนถ้าเรายึดมั่นว่าต้องเปลี่ยน”

“อย่างอ้ายจรัลจิตวิญญาณเพื่อดนตรี เป็นดนตรีเพื่อทำให้เมืองพัฒนาขึ้น อ้ายคือตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิต หลังจากอ้ายก็เกิดศิลปินมากมายมาต่อยอด เติบโตจากการสู้ของอ้ายจรัล อ้ายบ่ได้เป็นไผที่ยิ่งใหญ่เลยเป็นประชนชนที่ทำได้ ดังนั้นสถาปนิก นักรัฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ ฯลฯ เปลี่ยนแปลงได้แต่เฮาต้องเปลี่ยนถ้าไม่เปลี่ยนเฮาก็จะหาเงินเอาตัวรอดเหมือนเดิม เฮาเชื่อในคุณค่าของอ้ายจรัลก็ต้องมาใช้ลานนี้มาส่งต่อในท่าใหม่ๆ (การสร้างสรรค์เพิ่มจากฐานเดิม) กันต่อไป ผมจะต่อรองระบบและเชื่อว่าระบบมันจะบิดเบี้ยวไปเรื่อยๆ ความหวังมันจะบ่ลมๆ แล้งๆ เพราะความหวังที่ทำสำเร็จแล้วคือวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจรัลรำลึก ได้ทำความหวังเล็กๆ ต่อรองกับทุนใหญ่สร้างคลาว์ดฟันดิ้งภาคประชาชน (crowdfunding การระดมทุนจากนักลงทุนหรือประชาชนทั่วไป) จนเกิดประติมากรรมเกิดลานตรงนี้ ผมไม่หมดหวังแน่นอน เพราะความหวังมันคือความจริงแท้จากพื้นที่น้อยๆ ต้องต่อรองกันเพราะเราไม่ใช่คนแรก รุ่นพี่คัดง้างให้ผมอยู่ง่ายแต่ไม่ได้เอาตัวรอด เราอย่าหมดหวัง มาเติมให้กันทุกคนมีท่า(สู้)แล้วก็คำนึกอยู่(ตระหนักรู้) ดังนั้นอย่าบ่ฮู้คิง”

โอม ปรัชญา ไชยแก้ว จาก สำนักข่าว LANNER  “รัฐไทยพยายามลดทอนอัตลักษณ์แล้วยัดความเป็นมาตรฐานบางอย่างไปให้กับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเรื่องเล่าจากบทเพลงของอ้ายจรัลที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบันมันเป็นเครื่องยืนยันว่า คนท้องถิ่นหรือคนเมือง (คนล้านนา) ไม่ได้ด้อยค่า หรือในเรื่อง Romanticize (ความเย้ายวนใจ) ของเชียงใหม่ในภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองเข้ามา ภาครัฐพยายามผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว พอโควิดมาก็ตายกันหมดละนะพี่น้อง การจะไปต่อได้เราต้องฟังเสียงของคนเชียงใหม่แท้ๆ ว่าต้องการอะไร เพราะที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและกลุ่มทุนไม่เคยมาฟังเสียงเรา นักศึกษาจบใหม่งานก็ไม่มีรองรับสุดท้ายต้องเข้าเมืองหลวง วนอยู่อย่างนี้ 20-30 ปี ไม่ไปไหน เมืองที่ออกแบบตอบโจทย์กับคนในพื้นที่แท้ๆ เมื่อส่งเสียงมาต้องได้รับการตอบรับหรือเปล่า ทุกจังหวัดควรจะมีผู้ว่าที่มาจากการเลือกของประชาชนหรือเปล่า พื้นที่ทับซ้อนที่รัฐส่วนกลางหรือผู้ว่าออกแบบนโยบายแล้วมันไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ ต้องไปดูแล้วมาสะท้อนเสียงกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น”

เพชร ภณวาท โภชุม Facebook Page - iChiangmai

“ผมอายุ 25 โตมากับเพลงอ้ายจรัล ช่วงเรียนที่อังกฤษยังเอาเพลงจรัลไปเล่นที่นั่น คนไทยขอเราก็ร้องไปด้วยกัน เช่นเพลง สาวมอเตอร์ไซค์ ของกินบ้านเฮา ทำให้คิดถึงอาหารการกินที่บ้านเรา เห็นอ้ายเปิ้นทำหลายอย่างก็นำความคิดมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราทำในปัจจุบันได้ ผมเห็นงานอ้ายจรัลแล้วรู้เลยว่า การทำอย่างสร้างสรรค์ต้องนำศิลปะเข้ามาใส่ถ้าอยากให้วัฒนธรรมอยู่ต่อ เราไม่ได้แข่งกับกรุงเทพฯ แต่เราต้องแข่งกับเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ทำยังไงจะยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ ไอเชียงใหม่มีโอกาสได้ทำงานกับเครือข่ายหลายส่วน เราจะทำยังไงให้อักษรล้านนายังอยู่ ดัดแปลงเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันให้มันพัฒนาต่อได้เหมือนที่อ้ายจรัลทำ คนต่างถิ่นบางท่านรู้มากกว่าที่เรารู้อีกแต่ไม่กล้าพูด จะทำยังไงให้วัฒนธรรมที่เราเห็นมาแต่เกิดยังอยู่ต่อไปได้ เป็นโจทย์ที่เราตั้งขึ้นมาและกำลังผลักดันอยู่ เพื่อให้ระบบสังคมมันเกิดขึ้น”

ในปี 2525 จรัลได้รับรางวัลจากองค์การ UNICEF โดยผู้อำนวยการยูนิเซฟย่านเอเชียแปซิฟิคชาวอินเดีย จากโครงการ CONCERT FOR UNICEF เสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2525 ม.ธรรมศาสตร์) เหรียญบรอนซ์ ศิลปินเพื่อสันติภาพ[6] (เก็บเงินรายได้เพื่อโครงการย่อยตามท้องถิ่นชนบทของ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) ที่จรัลและสมาชิกวงได้ร่วมจัดงานแสดงดนตรีระดมทุนเพื่อดูแลผู้พิการและคนยากจน ความอาทรห่วงใยคนตัวเล็กที่ควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษจากสังคม สื่อสะท้อนในหลายบทเพลง เช่น “ตากับหลาน” จากอุบัติเหตุสะเทือนขวัญ หรือ “อุ๊ยคำ”(หญิงชรายากจนใจดีที่จรัลเวียนดูแลหลังเลิกเรียนแถวทางผ่านก่อนกลับบ้าน ดลใจให้เขาสร้างเป็นตำนานอมตะ ฯลฯ) ก่อนปิดวาระการเสวนาจึงมีผู้เข้าร่วมงานขอให้คณะกรรมการจรัลรำลึก เสนอชื่อจรัลเป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 50 ปี หรือ 100 ปี

ดร.ณัฐกร ตอบแทนใจคนรักศรัทธาในจรัลว่า “ความเหลื่อมล้ำของเรากับคนส่วนกลางในกรุงเทพฯ อ้ายจรัลเรียกร้องผ่านบทเพลงมาตลอด ผมจะนำสิ่งนี้มาเรียกร้องต่อไป” อ.ธเนศวร์ สรุปปิดงานส่งแก่นสารให้ทุกคน “อ้ายจรัลรู้จักเชียงใหม่ รู้ตัวตน จึงทำงานออกมาได้ ความฝันของอ้ายจรัลยังอยู่และเป็นสิ่งที่เราต้องสานต่อ เฮาจะต้องฮู้คิง มีการอู้กันเปล่งเสียงออกมาฮื่อนักๆ แล้วก็มามีวิสัยทัศน์ฮ่วมกั๋น แล้วสร้างภาพมาให้บ้านเมืองมันอยู่ได้จะใดขึ้นอยู่ตี้พวกเฮา”

ถึงวันนี้การจากลาของลูกชาวล้านนาเป็นเวลาร่วมกว่าสองทศวรรษแล้ว คุณูปการมหาศาลล้ำค่าก่อให้เกิดปฏิญญาจากคนรักและศรัทธาครูจรัลทุกรุ่นว่า “ฝันของเธอให้ฉันสานฝันต่อ” ตามชื่อหนังสือ “20 ปี จรัลลา” ที่ ค.จ.ร. ได้จารึกไว้เพื่อยืนยันประวัติศาสตร์ส่วนสำคัญของศิลป์แผ่นดินไทย ตอบแทนหัวใจรักยิ่งใหญ่ที่ศิลปินได้มอบให้กับผู้คนและถิ่นฐานบ้านเกิดพร้อมกับปณิธาน ผ่านอีกหนึ่งบทเพลง “ให้ฉันฝันต่อ” จากความเข้าใจในทุกสถาณการณ์ที่เห็นและเป็นไปในบ้านเมือง

“ท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปวันนี้ ยังมีความหมายอยู่ ถึงแม้บางสิ่งเคยชื่นชู จู่จู่มาหายไป รับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เห็น ถือว่าเป็นวันใหม่ ถึงแม้นสะเทือนในจิตใจ ไม่อาจไปขัดขวาง เธอจะคิดหรือทำสิ่งใดนั้น โปรดอย่าหันเหแนวทาง หากหวาดกลัว จะรับมือความหม่นหมาง โลกจะร้างคนก่อ สายน้ำไม่อาจทวนคืนมา เวลาไม่รั้งรอ ฝันของเธอให้ฉันฝันต่อ เกิดก่อเป็นสวยงาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่เธอพร้อม ฉันก็ยอมเดินตาม ถึงแม้นไม่มีใครเอ่ยถามจะเก็บเป็นความภูมิใจ” … 

ภาพจำจาก ดอน กีโฆเต้ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2530 ที่อ้ายสวมบทยังไม่เคยลดความขลังจากใจผู้คน  เราจะไม่ยอมจำนนกับโลกทุกข์ทนอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่โลกจะต้องดีขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น คือ “ความฝันอันยิ่งใหญ่” ของ Don Quixote อัศวินแห่ง La Mancha และของเรากับ จรัล มโนเพ็ชร “แก้วก๊อล้านนา” (อัญมณีอันมีค่าต่อแผ่นดินล้านนา) ศิลปินนักมนุษยวิทยาคนสำคัญของประเทศไทย

 

รูปปั้นจรัล มโนเพ็ชร

 

 

[1] จรัลรำลึก, วัน  21 ปี จรัลรำลึก 3 กันยายน 2565, วิดีโอ 3 กันยายน 2565  สืบค้น 3 กันยนยน 2565, https://fb.watch/fwi55T3ajU/

[2] อันยา โพธิวัฒน์, รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ตุลาคม, ปกหลัง, 2544, เชียงใหม่ สำนักพิพ์:แพรพิมพ์, สืบค้น 1 มกราคม 2565

[3] วสันต์ ปัญญาแก้ว บ.ก, “ภาพรวม 24 ปี ของศิลปินนาม จรัล มโนเพ็ชร”, ปี 2565, เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 13, สืบค้น 3 กันยนยน 2565

[4] จรัลรำลึก, 21 ปี จรัลรำลึก 3 กันยายน 2565, วิดีโอ 3 กันยายน 2565  สืบค้น 3 กันยนยน 2565, https://fb.watch/fwi55T3ajU/

[5] ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร / อันยา โพธิวัฒน์, ภารกิจปิดฝังมิดะ, เชียงใหม่, สนพ.เนรพูสีไทย, ปี 2554

[6] สำนักหอสมุดกลาง ม.รามคำแหง ปี 2546, ศิลปินล้านนา จรัล มโนเพ็ชร, สืบค้น 1 มกราคม 2565, https://www.lib.ru.ac.th/journal/chalun.html