ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

๑๒๒ ปี จาก ‘มะเมียะ-ศุขเกษม’ สู่ “กมล”

20
เมษายน
2568

Focus

  • ตำนานความรักอันรันทดระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษม กับหญิงสาวชาวพม่านามมะเมียะ ถูกสร้างซ้ำผ่านภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ เพลง และละครเวที โดยเฉพาะละครเวที “กมล” ที่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับเพศสภาพและขนบธรรมเนียม ทำให้เรื่องราวเก่าถูกเปิดมิติใหม่และเข้าถึงจิตใจของผู้ชมร่วมสมัย
  • ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าที่ดำเนินมายาวนานกว่า 77 ปีในเชิงการทูตและนับศตวรรษในแง่ของวัฒนธรรม ความผูกพันที่ถูกตีกรอบไว้ด้วยอคติจากอดีต “พม่าเผาเมือง” ถูกทลายลงผ่านสื่อศิลปะร่วมสมัย เช่น ภาพยนตร์และละคร ที่เปิดโอกาสให้สังคมไทยมองพม่าในมุมของ "มนุษย์" ที่มีความรัก ความฝัน และความทรงจำร่วมกัน

 


photo : Kamol : A Love Story Inspired by the Iconic Tale “Ma Myat”

 

ไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2491 จนถึงปัจจุบัน ครบรอบ 77 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ ถ้าเป็นคนทั้งสองคงต่างเป็นผู้อาวุโสที่มีความสัมพันธ์ดีแน่นแฟ้น แม้เงื่อนไขการถือครองดินแดนจะทำให้สองแคว้นต้องห่างกัน แต่ความผูกพันเนิ่นนานบ้านพี่เมืองน้องยังคงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้อยู่ในวิถีแตกต่างบนเส้นทางพรมแดนที่ยาวติดต่อกันถึง 2,401 กิโลเมตร หลังไทยแพ้สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 เชลยชาวอโยธยามากมายถูกกวาดต้อนหนีตายไปกรุงอังวะ จากวันนั้นจนวันนี้ 258 ปี หลังการพลัดพรากจากบ้านเกิด คนไทยเพิ่งได้เปิดประตูสู่การรับรู้ใหม่ ทำความรู้จักทำความเข้าใจกับความจริง วิ่งออกจาก ‘หล่ม’ ที่เคยลวง ล่วงสู่ ‘ยุคตาสว่าง’ วางอดีตที่ถูก (ใคร?) ขีดให้มีมายายิ่งกว่านิยายหลายเท่า

ประวัติศาสตร์หน้าเก่าถูกเผาไปกับความเกลียดชังที่เคยฝังรากจาก ‘รัฐจารึก’ ผนึกแค้นความว่า “พม่าเผาเมือง” อคติถูกลบด้วยเรื่อง “ถึงคน…ไม่คิดถึง” (FROM BANGKOK TO MANDALAY) ภาพยนตร์แนว road movie ผลงานเขียนบทกำกับและอำนวยการสร้างโดย ชาติชาย เกษนัส (บ.มาเจนตา ฟิล์ม สตูดิโอ ร่วมทุนสร้างอย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับพม่า) นับว่าเป็นคนไทยกลุ่มแรกในรอบ 50 ปี ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศปิด ใช้เวลาสร้างงานนานถึง 3 ปี เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 10 พฤศจิกายน 2559 / ออกอากาศทางสถานีไทยพีบีเอส 16 กุมภาพันธ์ 2565 นำแสดงโดย พิไลพร สุปินชุมภู, อัษฎา พานิชกุล, เดือนเต็ม สาลิตุล ร่วมด้วย Superstar จากพม่าถึง 3 คน ได้แก่ Nay Toe (นันดะ), Wutt Hmone Shwe Yi (ธูซา) และ Sai Sai Kham Leng (โมนาย) หนังประณีตโปรดักชันชวนถวิลฝันถึงอดีตเมื่อ 50-60 ปีก่อน เป็นหนังรักที่มีประเด็นสำคัญทางสังคม ค่านิยม ชนชั้น เชื้อชาติ แม้ชาติชายมีจุดเริ่มต้นของการทำหนังเรื่องนี้ที่การตามหา จิตวิญญาณความเป็นพม่า ทว่าเขาไขคำตอบอย่างชัดเจนด้วย ‘ความรักและความทรงจำที่ไร้พันธนาการ’ ได้งดงามมาก แม้จากเจตจำนงทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง

 


photo : Chartchai Ketnust “From Bangkok To Mandalay”

 

ด้วยแรงแห่งรักที่มีต่อดินแดนซึ่งเสมือนสามารถกลับไปเยือนอดีตได้ จึงสานต่อด้วยละครอิงประวัติศาสตร์ 12 ตอน เรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” (From Chao Phraya to Irrawaddy) นำแสดงโดย จิรายุ ตันตระกูล, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, ดวงใจ หิรัญศรี ฯลฯ เขียนบทและกำกับการแสดงโดย ชาติชาย เกษนัส จัดเหตุการณ์ช่วงปี 2325 ขึ้นมาเป็นเรื่องเล่าตัดสลับปัจจุบันกับอดีตกาลใน หมู่บ้านโยเดีย ถิ่นคนไทยในพม่า (เริ่มออกอากาศ 30 กันยายน 2566 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) แม้อยู่บนความไม่ตั้งใจของศิลปินผู้สร้าง แต่กลายเป็นทางสู่จิตวิทยามวลชนที่เหนือกลยุทธ์การเมือง เพราะเรื่องความรักต่างชาติพันธุ์คือทูตแห่งสายสัมพันธ์ที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ และที่สุดของอาวุธอันทรงพลังคือ ศิลปะ ก่อนจะต่อยอดมาเป็นละครเวที “กมล” ใจดวงร้าว... กับก้าวที่กล้า ท้านอกรีต กรีดขนบ เมื่อพบกับคำถามว่า “ถ้ามะเมียะเป็นผู้ชายล่ะ” ท่ามกลางกระแสชวนชำระประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ-ฐานันดร มีมิติยอกย้อนซ่อนปมปริศนาระหว่างจินตนากับ ‘ค่าความจริง’

 


photo : playagainshop.Inwshop.com

 

เพลง มะเมียะ โดย จรัล มโนเพ็ชร
ขับร้อง : สุนทรี เวชานนท์
จรัล มโนเพ็ชร - มะเมี๊ยะ

เรื่องมันหกสิบปี๋มาแล้ว
เจ้าน้อยสุขเกษมอายุได้สิบห้าปี๋
เจ้าป้อก็ส่งไปเฮียนหนังสือตี้เมืองมะละแมงปู้น
เลยกลายเป๋นเรื่องของก๋ำของเวรเขา
มะเมี๊ยะ
มะเมี๊ยะเป๋นสาวแม่ก้า
คนพม่าเมืองมะละแมง
งามล้ำเหมือนเดือนส่องแสง
คนมาแย่งหลงฮักสาว
มะเมี๊ยะบ่ยอมฮักไผ
มอบใจ๋ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า
เป๋นลูกอุปราชท้าวเจียงใหม่
แต่เมื่อเจ้าชายจบก๋านศึกษา
จ๋ำต้องลาจากมะเมี๊ยะไป
เหมือนโดนมีดสับดาบฟันหัวใจ๋
ปลอมเป๋นป้อจายหนีตามมา
เจ้าชายเป๋นราชบุตร
แต่สุดตี้ฮักเป๋นพม่า
ผิดประเพณีสืบมาต้องร้างราแยกทาง
โอะโอ้ก็เมื่อวันนั้นวันที่ต้องส่งคืนบ้านนาง
เจ้าชายก็จัดขบวนช้าง
ไปส่งนางคืนทั้งน้ำตา
มะเมี๊ยะตรอมใจ๋
อาลัยขื่นขม
ถวายบังคมทูลลา
สยายผมลง
เจ๊ดบาทบาทา
ขอลาไปก่อนแล้วจ้าดนี้
เจ้าชายก็ตรอมใจ๋ตาย
มะเมี๊ยะเลยไปบวชชี
ความฮักมักเป๋นเช่นนี้
แลเฮย

 


photo : เจ้าบัวชุม-เจ้าน้อยศุขเกษม : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

ศิลปะเชิงประจักษ์ พลังแห่งรักแท้แพ้ฐานันดร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงตำนานเล่าขาน แต่ความร้าวรานในเรื่องราวของ “มะเมียะ” ก็สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงเดียวกันที่ยืนยันไว้ในหนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” สารคดีชีวประวัติบุคคลสำคัญยุคทองของดินแดนล้านนาไทยที่เขียนโดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง พิมพ์เผยแพร่ในปี 2507 เป็นต้นธารที่บันทึกไว้ให้ร่วมถ่ายทอด ต่อยอด และผลิตซ้ำ ย้ำให้จดจำ จากต้นเค้าของประวัติศาสตร์ราชวงศ์สู่องค์ความรู้เดียวกัน กลั่นเป็นศิลปะการแสดงหลายแขนงซึ่งล้วน ‘ส่องทางต่อกัน’

โศกนาฏกรรมอมตะเริ่มขึ้นในปี 2441 เมื่อ เจ้าแก้วนวรัฐฯ น้องชายของ เจ้าอุปราช (สุริยะ) เมืองเชียงใหม่ ส่ง เจ้าน้อยศุขเกษม บุตรชายอายุ 15 ปี ไปเรียนที่ โรงเรียนเซนต์แพทริก (St. Patrick′s School) เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ตามค่านิยมของเจ้านายสมัยนั้น ปี 2445 ขณะเจ้าน้อยศุขเกษมมีอายุ 19 ปี ได้พบรักกับมะเมียะคบหาอยู่กินด้วยกัน ปี 2446 เจ้าน้อยถูกเรียกตัวกลับเชียงใหม่ ให้มะเมียะปลอมตัวเป็นชายติดตามกลับมา เมื่อความแตกทั้งคู่ถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อมให้เห็นถึงปัญหาที่จะตามมา จึงต้องส่งมะเมียะกลับพม่าด้วยเหตุผลทางการเมือง เรื่องราวความประพฤตินอกลู่ทางทั้งด้านการเรียนและความรักของเจ้าน้อยถูกสั่งปิดให้เป็นเรื่องภายในครอบครัว หลังการละสังขารของแม่ชีมะเมียะในปี 2505 เรื่องจึงถูกเปิดเผยในคนอีกรุ่นต่อมาเมื่อปี 2508 พยานและหลักฐานจึงเลือนลบทบทวี เพราะไม่ได้มีบันทึกจารึกไว้อย่างเป็นทางการ กลายเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่าในวัฒนธรรมมุขปาฐะที่ผู้คนสะเทือนใจ เพราะมีความจริงหนุนจินตนาการ…

 


photo : www. pantip.com : bird

 

ตัวอย่างผลงานบางส่วนที่ศิลปินร่วมสร้างสรรค์บันทึก

บทเพลง “มะเมียะ” ของ จรัล มโนเพ็ชร ประพันธ์และบันทึกเสียงไว้เมื่อปี 2524  ขับร้องโดย สุนทรี เวชานนท์ เป็นเพลง ballad ที่ทำให้คนไทยรู้จักเรื่องราวของ มะเมียะ เพิ่มมากขึ้นในวงกว้าง สร้างการรับรู้ในมิติของประวัติศาสตร์ล้านนา

ละครทีวี ละครสั้น “มะเมียะ” โดย ดาราวิดีโอ[1]บทโทรทัศน์ โดย ‘ศัลยา’ เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 นำแสดง โดย สุวนันท์ คงยิ่ง และ ศรราม เทพพิทักษ์ ออกอากาศปี 2537 บันทึกเผยแพร่ใน YouTube ปี 2555

ละครหุ่น ‘คณะหุ่นช่างฟ้อน โจ-หน่า’ (Jonapuppet Thailand) ศิลปินสองสามีภรรยาชาวเชียงใหม่ ทรัพย์ทวี - ภาสกร สุนทรมงคล ผู้รังสรรค์งานการแสดงหุ่นโดยนำเรื่องราวและตัวละครทางภาคเหนือของไทยมาถ่ายทอดผ่าน ‘หุ่นช่างฟ้อน’ อย่างมีอัตลักษณ์ล้านนา และพัฒนาให้เป็นหุ่นร่วมสมัยที่ประณีตศิลป์ ดูสนุก และตอบโจทย์การทำงานเฉพาะกิจกับชุมชน

‘หุ่นช่างฟ้อน โจ-หน่า’ มีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับโลก 2 เรื่องติดกัน ในปี 2552 ได้รับรางวัล “The Most Poetic Interpretation” จากการแสดงละครหุ่นเรื่อง “Princess of Love” จากวรรณกรรมอมตะล้านนาเรื่อง “มะเมียะ” ในเทศกาลหุ่นโลกครั้งที่ 13  (13th. World Festival of Puppet Art Prague 2009) ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ผู้ก่อตั้งเทศกาลที่มีเครือข่ายหุ่นนานาชาติทั่วโลก และ ในปี 2553 ได้รับรางวัล ''Award for the most tender and poetic interpretation'' จากการแสดงละครหุ่นเรื่อง ''ลาวดวงเดือน'' ในเทศกาลหุ่นโลก ครั้งที่ 14  (14th. World Festival of Puppet Art Prague 2010)

 

 

“มะเมียะ ... มะเมี๊ยะ” ใน “คอนเสิร์ต 25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร”[2] รูปแบบละครพูดสลับกับการขับร้องและแสดงดนตรีประเพณีบ้านนา เพื่อรำลึกการจากลาของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัย ผู้คนให้สมญา “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”, “นักรบวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น” ฯลฯ (ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1 มกราคม 2498 - 3 กันยายน 2544) ละครเวทีร่วมจัดแสดงวันที่ 24-25 ตุลาคม 2544 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดย มูลนิธิศิลปินล้านนา เป็นโครงการที่จรัลเตรียมงานนานแรมปี มีหลายสถาบัน หลายองค์กร รวมญาติทุกวงการเพื่อนแก้วสหายคำมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ แต่ขาดเขา … จรัลจากไปด้วยหัวใจล้มเหลวก่อนวันงาน 3 กันยายน 2544 ณ บ้านดวงดอกไม้ จังหวัดลำพูน คนบางคนเกิดมาเพื่อสร้างตำนาน เทพบุตรต้องหยุดทุกภารกิจกลับสวรรค์ตามสัญญาชะตาชีวิต

 

 

“25 ปี ละครเวทีนิเทศศาสตร์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการจัดแสดงละครเวที สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้มีการจัดแสดงละครเวทีเรื่อง “มะเมียะ A True Love Story Never Ends”[3]  ในแนว Musical ตำนานรักเจ้าชายสูงศักดิ์กับสาวต่างเชื้อชาติ ที่ต้องผจญ ‘อำนาจ’ ทำให้ไม่อาจสมหวัง ประวัติศาสตร์ของอุปราชนครเชียงใหม่ได้รับการบันทึกผ่านละครเวทีประจำปี 2562 จัดแสดงเมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคม 2562 ณ ห้องปีกผีเสื้อ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผูกเรื่องผ่านผู้เล่าที่เป็นแม่ชีซึ่งมีชีวิตอยู่ใน พ.ศ. 2500 ณ วัดไจ๊ตะหลัน เมืองมะละแหม่ง เล่าย้อนกาลให้ชนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้เหตุการณ์ในช่วงปี 2445 ที่พม่า เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมพบรักกับมะเมียะ ปี 2446 มาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ จนถึงปี 2447 หลังมะเมียะถูกส่งตัวกลับพม่าเจ้าน้อยต้องไปรับราชการที่กรุงเทพฯ ตรงกับปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นงานร่วมสมัยที่ถูกนำมาบันทึกไว้ผ่านสื่อวิดีทัศน์ ตอบโจทย์ชัดแนวละครเพื่อการศึกษา จัดเก็บรายละเอียดถี่ถ้วนในกระบวนงานการตีความตามประวัติศาสตร์ แต่ไม่ขาดเสน่ห์ของละครรัก

“หญิงพม่า แม่ค้าผู้ต่ำต้อย จะมีอะไรคู่ควรกับราชบุตรอุปราชนครเชียงใหม่”
“ความรักของเจ้าไงมะเมียะ  ความรักของเจ้าคู่ควรกับข้า เจ้าเป็นชีวิต เป็นวิญญาณของข้า”
“มีวาสนาได้รักท่าน ก็เป็นบุญที่สุดของข้าแล้ว ข้าเจ้ายอมรับชะตากรรม”
“อย่าเพิ่งท้อแท้ไปเลยมะเมียะ มีเจ้าเป็นแรงใจ ข้าจะเปลี่ยนชะตากรรม ขอแค่เจ้าเป็นสุขเรื่องเลวร้ายใด ๆ ข้าก็ไม่หวั่น”
“ชีวิตของข้ามอบให้เจ้าพี่แล้ว ทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไรก็สุดแล้วแต่เวรแต่กรรมเถิด”
“มะเมียะ เจ้าจำคำมั่นที่พี่ให้ ณ เจดีย์วัดไจ๊ตะหลัน ได้หรือไม่”
“อย่าได้กล่าวย้ำเลยเจ้าน้อย ข้าเจ้าหวั่นใจ ข้าเจ้ากลัว”
“กลัวไปใยกับคำมั่นจากหัวใจพี่ มะเมียะ เจ้าฟังคำพี่ไว้นะ ข้ารักเจ้าเพียงผู้เดียว หากชาตินี้ต้องพรากรักจากเจ้า ข้าก็ไม่ขอมีชีวิตอยู่เป็นคนอีกต่อไป”
“เจ้าน้อย…”

 

 

ละครเพลง “หมะเมียะ The Musical” (ความรักที่ถูกบดขยี้ ด้วยกงล้อของประวัติศาสตร์) กำกับโดยปรมาจารย์ คำรณ คุณะดิลก (Kamron Kunadilok) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง กลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยวการละคร และเป็นหนึ่งในบรมครูผู้บุกเบิกละครเวทีตะวันตกสู่ละครเวทีร่วมสมัยไทย) นำแสดงโดยนักเรียนการแสดงจาก โรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว บรรเลงดนตรีโดย วง Chamber Orchestra จาก The Chiang Mai Youth Philharmonic Band and Symphony Orchestra Foundation (CPO) จัดแสดง ณ โรงละครกาดเธียเตอร์ อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24-27 มกราคม 2562

เป็นละครที่เปี่ยมอุดมการณ์ในเนื้อหา กล้ากล่าวถึงประวัติศาสตร์ในส่วนที่ไม่มีใครแตะต้อง แต่เตือนสติผู้ชมว่า อย่าให้ใจก้าวเข้าไปไกลเกินกว่า “ผู้สังเกตการณ์” พร้อมทิ้งปุจฉาปลายเปิดให้เกิดปัญญา “เราจะขุดวิญญาณมะเมียะกับเจ้าศุขเกษมขึ้นมาพูดเพื่อ (เรียนรู้) อะไร นับเป็นปรากฏการณ์วาระพิเศษที่คนละครจากกรุงเทพฯ หลายสำนักหลั่งไหลขึ้นเชียงใหม่เพื่อร่วมยินดีกับครูคำรณ และต้อนรับการกลับสู่ที่อยู่ของหัวใจในนาม‘ละครเวที’

 

 

“ความรักที่ถูกบดขยี้ ด้วยกงล้อแห่งประวัติศาสตร์”

“หมะเมียะ The Musical”

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิวงดุริยางค์เยาวชนเชียงใหม่ และโรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน สังคม และวัฒนธรรมภาคเหนือ ผ่านกิจกรรมละครสร้างสรรค์ ด้านศิลปะการแสดงดนตรี Orchestra และงานเสวนาวิชาการ ประจำปี พ.ศ. 2561 วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ ตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีล้านนา เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ช่วงเปลี่ยนแปลงผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ผ่านการแสดง บทเพลงอันทรงคุณค่า ในละครเวทีเรื่อง “หมะเมียะ The Musical” เรื่องราวตำนานความรัก โศกนาฏกรรมแห่งล้านนา ของหญิงสาวชาวพม่ากับเจ้าชายเมืองเชียงใหม่

เอกสารงานละครบอกเล่าเค้าโครงเรื่อง “หมะเมียะ เดอะมิวสิคัล เรื่องราวความรักอันรุนแรงของหนุ่มสาวต่างถิ่น ชายหนุ่มจากล้านนาและสาวแรกรุ่นจากเมืองมะละแหม่ง ความรักอันสดใสของเจ้าน้อยศุขเกษม บุตรชายของเจ้าแก้วนวรัฐ กับ หมะเมียะ หญิงสาวชาวพม่า ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองการปกครองอันตึงเครียด ระหว่างอาณาจักรสยามที่ปกครองล้านนา และอังกฤษที่ปกครองพม่า จากเหตุการณ์การเมืองนี้เองที่ทำลายความรักระหว่างหนุ่มสาวที่เป็นดั่งโชคชะตาฟ้ากำหนดไว้ให้ความรักครั้งนี้กลายเป็นโศกนาฏกรรม พังทะลาย และความตายในที่สุด”

 

 

อาจารย์นพีสี เรเยส (Napisi Reyes) สอนกำกับการแสดง เขียนบท ประวัติศาสตร์ละครเพลง สัมมนาละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อ “หมะเมียะ The Musical”

มาดูละคร “หมะเมียะ” ที่เชียงใหม่รอบนี้ด้วยสองเหตุผลหลัก ๆ คือ

1. อยากดูละครฝีมือ ครูคำรณ กำกับเด็ก ๆ ที่กาดสวนแก้วว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

2. อยากดูละครเพลงที่เป็นแนวพื้นเมืองเหนือ หลังจากที่ทาง โรงเรียนสอนการแสดงกาดสวนแก้ว ผลิตผลงานมาหลากหลายแนว เอาเรื่องราวหลากหลายมาสร้างไม่ว่าจะเป็นไทยจีน ฝรั่ง แนวบรอดเวย์ คราวนี้ถึงคราวแนวพื้นเมืองเจียงใหม่บ้าง ดูน่าสนใจดี รอบที่มาชมเป็นรอบสื่อ มีพ่อแม่ผู้ปกครองนักแสดงร่วมชมจำนวนมาก  มีชมรมผู้สูงอายุ  ฯลฯ ละครมีความยาวสองชั่วโมงไม่มีเบรคพัก เท่าที่สังเกต ผู้ชมไม่ได้ลุกหนีหรือมีทีท่าเบื่อหน่ายในการชมแต่อย่างใด

  • ได้เห็นอิทธิพลความคิดแนวทางกำกับของครูคำรณที่ทำให้ละครเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ที่เคยดูมาของวิกนี้  มีการเปิดเรื่องในแนวใช้คอรัสแบบเรื่อง “พญากงพญาพาน” (ผลงานในอดีตของครูคำรณกับพระจันทร์เสี้ยวฯ)
  • มีความเป็น poor theatre ใช้ชุดดำ ใช้คนในชุดดำเคลื่อนไหวแทนช้าง  
  • ในบางจุดมีการใช้เสียงพูดสอดประสานกันเป็นคอรัสแบบเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์”
  • มีการใช้ Physical Theatre มีระบำผ้าสีแดงในฉากฝันร้ายของเจ้าน้อย ซึ่งเป็นฉากที่น่าสนใจมาก
  •  มีการฉายภาพข้อความเชิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้นึกถึง Brecht และ  Epic theatre  
  • ไม่ลืมที่จะเสียดสีจิกกัดการเมืองพอให้แสบ ๆ คัน ๆ
  • ฉากดูสวยงาม เรียบง่ายแต่สื่อความหมาย มีการเล่นกับสัญลักษณ์

นักแสดงเป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสอนการแสดง ที่มีนโยบายคือการให้โอกาสเด็กนักเรียนได้แสดง พระเอกของเรื่องจึงเป็นเด็ก ม. 6 และมหาลัย ศิษย์เก่าโรงเรียนการแสดงอย่าง แบงค์ อัครพล จึงมารับบทพ่อซึ่งก็แสดงได้มีพลังฉะฉานดี ในส่วนของ acting เห็นได้ว่าเด็ก ๆ ถูกฝึกมาอย่างดี มีโฟกัส แม้จะตัวเล็กตัวน้อยก็ดูมีสมาธิในการแสดงดี นักแสดงนำ acting ดี พระเอกนางเอก ร้องเพลงได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเอก  หมะเมียะเสียงดีมีพลัง เหมาะแก่การเล่นละครเวที  เป็นงาน "ตอบโจทย์" ชิ้นหนึ่งของโรงเรียนสอนการแสดงกาดสวนแก้ว

รอบนี้เป็นการแสดงก่อนการแสดงจริงจะเกิดขึ้น หลาย ๆ อย่างยังรอการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม ยังมีที่ว่างสำหรับท่วงทำนองดนตรี transition บทเพลงประกอบ Movement แล้วถ้าเป็นไปได้ หากจะมีสุ้มเสียงดนตรีพื้นเมืองเชียงใหม่และดนตรีเมียนมาร์อีกสักนิด ก็จะสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมอินไปกับเรื่องราวย้อนยุคนี้ได้มากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยรวมได้ว่าน่าสนใจมาก ๆ และมีความแตกต่างจากทุกเรื่องที่เคยจัดการแสดงที่นี่ หลังจากที่เคย “import” ผู้กำกับและเรื่องราวจากกรุงเทพฯ และที่อื่น ๆ ก็กลับมาใช้ความเป็น local ทั้งในส่วนของเรื่องราวและบุคลากรทีมสร้างสรรค์  ขอให้ประสบความสำเร็จค่ะ

 


photo : ร้านหนังสือเก่า สุมาลี

 

กระบวนการค้นหา ‘คนที่ไม่เคยมีชีวิต’?

เรื่องราวความรักสุดสะเทือนใจที่กำลังจะเลือนหายไปได้ถูกปลุกให้มีชีวิตอีกครั้งโดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เป็นคนแรกที่เปิดประเด็นเรื่อง “มะเมียะ” ไว้ในหนังสือ “เพ็ชรลานนา” ตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งต่อมาได้ทำให้เกิดการวิพากษ์จากนักวิชาการด้านวัฒนธรรมหลายท่าน ด้วยข้อเท็จจริงจากหลากแนวคิด ร่วมวิเคราะห์ในหัวข้อที่ว่าด้วย ‘เรื่องจริง หรือ เรื่องแต่ง’ หนึ่งในนั้นคือนักโบราณคดีที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ได้รวบรวมข้อคิดเห็นมาเหล่านั้นมาเขียนวิเคราะห์เผยแพร่ผ่านสื่อ มติชนสุดสัปดาห์ ไว้ในฉบับวันที่ 29 มกราคม - 25 กุมภาพันธ์ 2564 [4] ทั้งหมด 4 บทความ มีจุดร่วมเดียวกันคือ “ปมเรื่อง ‘มะเมียะ-เจ้าน้อยศุขเกษม’ นี้ มักมีข้อโต้แย้งเห็นต่างที่ตรงข้ามกันในทุกรายละเอียด ทุกประเด็นไป”  จึงได้ประมวลประเด็นที่เป็นปัญหาทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยปมหลักสำคัญ 8 ข้อ ตัดคัดย่อมาพอสังเขป ดังนี้

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

1. การส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่พม่าใน โรงเรียนเซนต์แพตทริก (St. Patrick) แต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” กล่าวไว้กว้าง ๆ เพียงแค่เป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งใน เมืองมะละแหม่ง แต่มีสื่อหลายสำนักร่วมบันทึกไว้ เช่น ‘รามัญคดี - MON Studies’ [5]  ความว่า “เมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองท่าเมืองการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาทุกยุคทุกสมัย เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของพม่า เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เมาะละแหม่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจึงได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมแบบอังกฤษมามากมาย โรงเรียนเซนต์แพททริค ก็เป็นอีกหนึ่งร่องรอยหลักฐานถึงความเจริญด้านการศึกษาที่อังกฤษได้สร้างเอาไว้ควบคู่ไปกับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีนั้น โรงเรียนเซนต์แพททริคถือว่าเป็นโรงเรียนกินนอนที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้ เจ้าฟ้า รัชทานาท และขุนนางในภูมิภาคนี้นิยมส่งลูกหลานไปร่ำเรียน ซึ่งเจ้าน้อยศุขเกษมได้ถูกส่งตัวมาเรียนวิชาการป่าไม้ที่นี่ เหมือนดั่งเช่นลูกหลานเจ้าฟ้า องค์รัชทายาท และขุนนางคนอื่น ๆ จึงกลายเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องราวความรักอันแสนรันทดระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมี๊ยะสาวพื้นเมืองชาวมอญ

ดร.เพ็ญสุภา ยืนยันหลักฐานเชิงประจักษ์จากข้อมูลสนับสนุนในบทความเรื่อง “เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่)” ที่ พิเชษฐ ตันตินามชัย เรียบเรียงไว้ใน ‘วารสารพื้นบ้านล้านนา’ จัดทำโดย ชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2556 บทความนี้ยืนยันว่า เจ้าพ่อ (เจ้าราชวงศ์อินทแก้ว) ได้ส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มะละแหม่งจริง โดยมีพยานบุคคลที่ได้ร่วมเดินทางไปกับเจ้าน้อยศุขเกษมคือ “นายคำตั๋น” (บุตรชายของพระญาประทุม ต้นสกุล ‘ปทุมวัน’ กับแม่ติ๊บ ท่านเป็นเพื่อนกับเจ้าน้อยศุขเกษมมาตั้งแต่ยังเด็ก) คุณพิเชษฐได้สัมภาษณ์ พ่อทอง อรุณจิต มีศักดิ์เป็นหลานน้าของนายคำตั๋นให้ข้อมูลว่า “เจ้าน้อยคำตั๋นถูกส่งไปเรียนวิชาการป่าไม้ที่เมืองมะละแหม่ง พม่า พร้อมกับเจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าเปิ้นไม่ได้เรียนป่าไม้ รู้สึกว่าจะเรียนด้านการปกครอง”

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

2. นามสมมุติของ “มะเมียะ” ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐาน ความว่า 

“ด้วยเป็นเรื่องอื้อฉาว Talk of the Town กลางเวียงเชียงใหม่ ทำให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้หลักผู้ใหญ่และคนใกล้ตัวของเจ้าน้อยศุขเกษมทุกคน ไม่ประสงค์ที่จะให้มีการจารจำเรื่องนี้ก็เป็นได้ อีกทั้งการที่สตรีผู้นี้มาอยู่ในคุ้มของเจ้าราชวงศ์อินทแก้วก็เป็นเวลาช่วงสั้น ๆ เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น กาลล่วงผ่านไปนานกว่า 60 ปี นับจาก ปี 2446 ที่เจ้าน้อยศุขเกษมพาหญิงสาวคนรักกลับมาเมืองเชียงใหม่ กระทั่งเธอเสียชีวิตเมื่อปี 2505 (หากเธอเป็นคนเดียวกันกับแม่ชีที่จะได้กล่าวถึงในประเด็นที่ 7 จริง) กลายเป็นหนึ่งหน้าตำนานที่ถูกพยายามทำให้ลืม และผู้คนก็เกือบจะลืมไปแล้วจริง ๆ หากคุณปราณีไม่ขุดขึ้นมาเขียน

ดังนั้น เมื่อคุณปราณีตัดสินใจร้อยเรียงเรื่องราวความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมกับหญิงสาวจากเมืองมะละแหม่งนิรนาม มีตัวตนแต่ไม่ทราบชื่อ จึงจำเป็นต้องบัญญัตินามสมมติ “มะเมียะ” ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้เรียก คำว่า “เมียะ” เป็นภาษามอญ (ที่ส่งต่อให้ภาษาพม่าด้วย) แปลว่า “มรกต” เป็นคำยอดนิยมที่ใช้ตั้งชื่อของหญิงสาวชาวมอญม่านทั่วไป คุณปราณีได้ชื่อนี้มาจากสตรีชาวไทยใหญ่ท่านหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนแถววัดป่าเป้าใกล้คูเวียงเชียงใหม่

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากแม่ชีผู้ที่บวชตลอดชีวิต ณ วัดบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมะละแหม่งจะมีชื่ออื่นที่ไม่ใช่ “มะเมียะ” ”

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

3. การที่มะเมียะ ‘สยายเกศาเช็ดบาทบาทา’ ลาเจ้าน้อย ที่ประตูหายยานั้น ดร.เพ็ญสุภา นักประวัติศาสตร์ศิลป์ให้ข้อมูลเชิงวิชาการว่า

“ดิฉันเคยเขียนบทความในคอลัมน์นี้ราว 10 ปีที่แล้วเรื่อง “จากพิมพาพิลาปถึงมะเมียะ” โดยนำเสนอว่า ภาพสลักนูนต่ำบนใบเสมาที่ เมืองฟ้าแดดสงยาง กาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นรูปนางพิมพา (ยโสธรา) เอาเส้นผมยาวเหยียดของนางเช็ดบาทาของพระพุทธเจ้า ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้สร้างในยุคทวารวดีเมื่อ 1,300 ปีก่อน โดยกลุ่มชนชาวมอญ (เหตุที่จารึกหลายหลักที่ร่วมสมัยกันมีการใช้อักขระมอญ)

เข้าใจว่าการที่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี กระทำต่อพระพุทธเจ้าหลวง คงได้รับสืบทอดธรรมเนียมดังกล่าวมาจากชาวมอญในล้านนา เป็นธรรมเนียมสืบทอดต่อกันมาในกลุ่มสตรีชาวมอญว่า เมื่อต้องการแสดงคารวะอย่างสูงสุดต่อพระไตรรัตน์ก็ดี หรือต่อสวามีก็ตาม จักแสดงออกด้วยการก้มลงเอาเกศาของตนเช็ดที่เท้าของบุคคลผู้นั้น ถ้าเช่นนั้น จะฟันธงได้หรือไม่ว่า “มะเมียะน่าจะเป็นชาวมอญ” ไม่ใช่ชาวพม่าหรือไทยใหญ่ ประเด็นดังกล่าวก็อาจจะอนุมานกว้าง ๆ ว่ามีความเป็นไปได้มากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองมะละแหม่งเกือบทั้งหมดเป็นชาวมอญ”

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

4. เหตุที่ต้องส่งมะเมียะกลับพม่า เป็นไปได้ไหมว่าสาเหตุสำคัญแท้จริงที่ต้องส่งมะเมียะกลับพม่าเพราะ เจ้าพ่อกับเจ้าแม่ได้เตรียมคู่หมั้นที่สมศักดิ์เสมอกันไว้รอเจ้าน้อยศุขเกษมเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องการให้เกิดบาดหมางระหว่างตระกูล จึงอ้างเหตุผลใหญ่สำคัญกว่าแทน (ด้วยว่าด้วยขณะนั้นพม่าอยู่ในปกครองของอังกฤษ จึงต้องป้องกันความเข้าใจผิดที่เขาอาจคิดได้ว่า สยามอจะเอาใจออกห่างกระด้างกระเดื่อง จากเรื่องที่เจ้าน้อยฯ ไปเอามะเมียะคนพม่าซึ่งอยู่ใต้อาณัติของเขามา (ประชากรพม่าถือสัญชาติอังกฤษจะกลายเป็นเหตุสร้างความร้าวฉานต่อบ้านเมือง) เพราะค้านกับเหตุผลที่เจ้าน้อยถูกส่งไปเรียนถึงพม่าอย่างไม่เกรงศักดาใคร ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ยังหาคำตอบไม่ได้เพราะ

“ร้อยแปดพันเก้าคำถามได้ถาโถมมาสู่ประเด็นของการที่เจ้าราชวงศ์อินทแก้ว (นามเดิมของเจ้าแก้วนวรัฐคือ อิ่นแก้ว หรือเจ้าน้อยอินทแก้ว) กับแม่เจ้าจามรีวงศ์ กล้าส่งโอรสองค์โตไปเรียน ณ เมืองมะละแหม่ง ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่น่าจะทำให้เจ้านายสยามปลื้ม เจ้าราชวงศ์อินทแก้วทำไปเพราะ “คิดแข็งข้อต่อสยาม” โดยเอาพม่ามาเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมือง? หรือว่าไม่ได้คิดอะไรมากมาย แค่เห็นว่าพม่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตใกล้ชิดกันกับทางล้านนามากกว่าทางสยาม?

การเลือกที่จะส่งเจ้าชายองค์หนึ่งของล้านนาไปศึกษาต่อแดนไกล ไยจึงไม่เลือกกรุงเทพฯ ในฐานะที่ล้านนาเป็นเมืองประเทศราชของสยาม แต่กลับท้าทายอำนาจส่วนกลางด้วยการส่งโอรสไปเรียนที่พม่าประเทศในอาณานิคมอังกฤษ ทำเช่นนี้ได้ด้วยหรือ จะมิทำให้ถูกสยามเพ่งเล็งล้านนาว่าคิด “เอาใจออกห่าง” หรือเช่นไร ได้ขออนุญาตจากราชสำนักส่วนกลางอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ หรือว่าไม่จำเป็นต้องขอ ฯลฯ” (แสดงว่าแท้จริงแล้วล้านนาไม่จำเป็นต้องเกรงใจสยาม? แต่ถูกนำมาอ้างกับเจ้าน้อยฯ ให้สำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเรื่องใหญ่ เพื่อส่งมะเมียะกลับไปพม่า?)

ดร.เพ็ญสุภา ชวนให้ผู้อ่านช่วยกันวิเคราะห์ ปริศนาแห่งการพลัดพรากระหว่าง ‘เจ้าน้อยศุขเกษม’ กับ ‘มะเมียะ’ อันเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเกือบ 120 ปีก่อน

ว่าตกลงแล้วเป็นเรื่องใดกันแน่ ระหว่าง ‘ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์’ ซึ่งควบรวมกับปมปัญหาเรื่อง ‘พม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ’ กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ “ฐานะทางสังคมคนละชนชั้น”?  โดยยกประเด็นนี้ที่ปรากฏในบทเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ท่อนที่กล่าวว่า “เจ้าชายเป็นราชบุตร แต่สุดที่รักเป็นพม่า ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างลาแยกทาง”

ในขณะที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้หยิบยกประเด็นนี้ไปวิเคราะห์ต่อในหนังสือ “100 ปีแห่งรัก หมะเมียะ-เจ้าศุขเกษม” สรุปใจความได้ว่า

“ปมปัญหาหลักที่ต้องทำให้ส่งมะเมียะกลับเมืองมะละแหม่งนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างสยาม-พม่า ที่โยงใยไปถึงอาณานิคมอังกฤษเพียงด้านเดียว ทว่าน่าจะมีเรื่องฐานันดรแห่งรักที่ต่างชนชั้นวรรณะกันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย…” [6] 

โดยชี้ให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งน้องชายต่างมารดาของเจ้าน้อยศุขเกษม ชื่อ ‘เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่’ ก็ยังเสกสมรสกับ ‘เจ้านางสุคันธา’ จากเชียงตุงได้ แถมงานวิวาห์นั้นเจ้าแก้วนวรัฐให้จัดงานอย่างเอิกเกริก มิได้มีการกีดกัน เพราะเหตุที่เชียงตุงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน หรือด้วยเหตุที่ฝ่ายหญิงมีฐานันดรเป็นสตรีชั้นสูง (ตรงข้ามกับมะเมียะที่เป็นแค่แม่ค้าขายบุหรี่ในตลาด)

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

5. เส้นทางไปมะละแหม่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ถกเถียงกันอย่างมากก็คือ “จริงละหรือที่มะเมียะกลับมะละแหม่งด้วยการขึ้นช้างที่ประตูหายยา ทำไมไม่ลงเรือหางแมงป่อง ล่องแม่ปิงอันเป็นเส้นทางลัดสุด?” และ เส้นทางของพ่อค้าวัวต่างที่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างเชียงใหม่กับมะละแหม่งเมื่อ 100 ปีก่อนนั้นนิยมใช้เส้นใดระหว่าง

หนึ่ง เส้นทางน้ำ ลงเรือหางแมงป่องล่องไปตามน้ำแม่ปิง จากเชียงใหม่ ลงลำพูน เข้าตาก จากแม่ระมิงสู่แม่สอด แม่เมย และเข้ามะละแหม่ง หรือ

สอง เส้นทางบก บางช่วงลัดเลาะแม่น้ำ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ทิศใต้ ก็คือออกทางประตูหายยา อันเป็นประตูชั้นนอกของกำแพงเมืองเชียงใหม่ จากนั้นลงบ้านถวาย หางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด แม่สะเรียง ขึ้นเขาเลียบน้ำแม่แจ่ม สู่แม่ยวม สู่สบเมย เข้ามะละแหม่ง

พบว่าเส้นทางบกนี้เป็นเส้นทางสายหลักของพ่อค้าวัวด่าง ที่ชาวล้านนายุคโบราณใช้เดินทางไปมาระหว่างมะละแหม่ง-เชียงใหม่จริง เหตุที่เส้นทางน้ำนั้นเต็มไปด้วยเกาะแก่งอันตรายบริเวณอำเภอสามเงา

นี่คือคำตอบที่ว่าทำไมการเดินทางกลับมะละแหม่งของมะเมียะจึงไม่ใช้เรือหางแมงป่อง แต่ขึ้นช้างที่ประตูหายยา (เป็นบริเวณที่ชาวเมืองมาร่วมส่งนาง ต่างเวทนาในชะตากรรม ทุกคนได้เป็นพยานการพลัดพราก สลดใจในฉากสยายเกศาเช็ดบาทบาทาลาคนรัก ร้องไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ ขึ้นลงช้างอยู่สามรอบ เจ้าน้อยเองก็ยืนมองขบวนเคลื่อนจากไปจนมองเห็นเป็นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ก่อนเลือนลับตา…)

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

6. ชีวิตเจ้าน้อยศุขเกษมหลังมะเมียะกลับพม่า เจ้าน้อยได้เสกสมรสกับ ‘เจ้านางบัวชุม’ [7] ธิดาของเจ้าพ่อดวงทิพย์ (สาย เจ้าราชวงศ์มหาพรหมคำคง ผู้เป็นอนุชาของ เจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ พระบิดาของเจ้าดารารัศมี) จึงมีศักดิ์เป็นหลานสาวของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่ได้ติดตามพระราชชายาฯ ไปใช้ชีวิตในวังหลวงที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยเยาว์ จึงมีสถานะเป็นข้าหลวงฝ่ายในที่คุ้มของเจ้าดารารัศมี โดยพระราชชายาฯ เป็นประธานจัดงานให้ กระทำพิธีที่ ห้างกิมเซ่งหลี จำกัด ของ พระโสภณเพชรรัตน (กิ๊/อูเต็ง โสภโณดร) ผู้รับสัมปทานป่าไม้ขอนสัก และนักธุรกิจรายใหญ่ของมณฑลพายัพ

การพบกันครั้งแรกระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้านางบัวชุม เกิดจากการที่เจ้าน้อยศุขเกษมได้ตาม เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 8 ลงมาเฝ้าฯ ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2447 ขณะนั้นเจ้าน้อยศุขเกษมอายุได้ 24 ปี ครั้งนั้น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประทานจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือที่ตำหนักของพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง เจ้านางบัวชุมอายุ 20 ปี ได้ร่วมแสดงดนตรีในงานนั้นด้วย กล่าวกันว่าเจ้านางมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภท ทั้งซออู้ ซอด้วง แม้กระทั่งเปียโน

ในหนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของคุณปราณี เล่าว่า เจ้านางบัวชุมเป็นสาวเนื้อหอมแถวหน้าของ “วังเจ้าลาว” เลยทีเดียว มีเจ้านายชั้นสูงของสยามหลายพระองค์ที่ให้ความสนพระทัยเข้ามาทาบทามพระราชชายาฯ ขอเจ้านางบัวชุมไปเป็นหม่อม แต่พระราชชายามีพระประสงค์จะสงวนเจ้านางบัวชุมให้สมรสเฉพาะกับเครือญาติเจ้านายฝ่ายเหนือเท่านั้น และสันนิษฐานว่า ด้วยกิตติศัพท์ความเป็นสาวเจ้าเสน่ห์ของเจ้านางบัวชุมน่าจะดึงดูดให้เจ้าน้อยศุขเกษมหันมาสนใจได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย การสมรสคงไม่ได้เกิดจากการคลุมถุงชนของพระราชชายาฯ ตามที่ ‘ฝ่ายดราม่า’ อยากให้เจ้าน้อยศุขเกษมยึดมั่นในรักเดียวต่อมะเมียะจินตนาการเอาเอง

เจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้านางบัวชุมครองคู่กันเพียง 6 เดือนก็ต้องจากกันชั่วคราว เจ้าน้อยศุขเกษมขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่เชียงใหม่ 1 ปี เจ้านางบัวชุมจึงกลับไปอยู่ตำหนักพระราชชายาฯ ทิ้ง ‘บ้านพายัพ’ เรือนหอพระราชทานให้ร้างจนเป็นปริศนา แต่ในท้ายที่สุดเจ้าน้อยศุขเกษมก็มารับเจ้านางบัวชุมให้ไปอยู่ด้วยกันที่คุ้มแถวเชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ หลังจากนั้น 7 ปี เจ้าน้อยศุขเกษมก็เสียชีวิต หนังสือของ พระยามหาอำมาตย์ รายงานต่อ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ราชเลขานุการ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2456 ว่า “กระทรวงมหาดไทยได้รับโทรเลขจาก พระยาวรวิไชยวุฒิกร ปลัดมณฑลประจำนครเชียงใหม่ ว่า … เจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กรมการพิเศษเมืองเชียงใหม่ ได้ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรังมาช้านาน ได้ถึงแก่กรรมเสียเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2456 นี้แล้ว อายุได้ 33 ปี”

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

7. มะเมียะบวชเป็นแม่ชี เจ้าดารารัศมีไปพบมะเมียะที่มะละแหม่งจริงไหม [8]

บทความเรื่อง “เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่)” ของ พิเชษฐ ตันตินามชัย ระบุว่า พ.ศ. 2452 (ร.ศ.128) ช่วงที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จนิวัติเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวครั้งแรก เจ้าทิพวันติดตามมาด้วย ระหว่างนั้นเจ้าทิพวันและพระองค์เจ้าบวรเดชได้ทูลเชิญพระราชชายาฯ ให้เสด็จประพาสตามลำน้ำสาละวินไปจนถึงเมืองมะละแหม่งด้วยกัน และข้อมูลของคุณพิเชษฐระบุว่า “เจ้าทิพวันยังได้แวะกราบเยี่ยมเยือนแม่ชีด้วย”

แต่หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ระบุว่า ปี พ.ศ. 2458 พระองค์เจ้าบวรเดชกับเจ้าทิพวันได้นำเจ้าดารารัศมีเสด็จประพาสโดยเรือกลไฟตามลุ่มน้ำสาละวินไปจนถึงเมืองมะละแหม่งหลายคืน (เกี่ยวกับศักราชการเดินทางไปลุ่มน้ำสาละวินของเจ้าดารารัศมีและเจ้าทิพวันนั้น ยังมีความสับสนอยู่ว่าเป็นช่วงไหนกันแน่ 2452 หรือ 2458?) หากเป็นปี 2452 พระราชชายาฯ ประทับอยู่เชียงใหม่ 6 เดือน 8 วัน เท่าที่ตรวจสอบจากจดหมายเหตุบันทึกประจำวันทุกฉบับ พบว่าแทบไม่มีวันไหนที่พระราชชายาฯ ทรงว่างจากราชกิจเลย ยกเว้นระหว่างวันที่ 4-13 กรกฎาคม เขียนว่า “ไม่มีบันทึก” ส่วนวันที่ 14 กรกฎาคม เขียนว่าทรงประชวรเป็นไข้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ประชวรเพราะเพิ่งเสด็จกลับจากสาละวิน?

นอกจากนี้แล้วยังมีเจ้านายที่ไปเยี่ยมแม่ชีมะเมียะครั้งสุดท้ายอีกท่านคือ เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่ บุตรชายของเจ้าน้อยเทพวงศ์ (เจ้าป๊อก) ณ เชียงใหม่ เจ้าน้อยเทพวงศ์เป็นเพื่อนสนิทของเจ้าน้อยศุขเกษม และยังเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของเจ้าทิพวันอีกด้วย พิเชษฐได้สัมภาษณ์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จาก คุณยายกาบแก้ว ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภริยาของเจ้าน้อยสมบูรณ์ คุณยายเล่าว่า “เจ้าบูรณ์ไปเมืองมะละแหม่งจริง เพราะเขารู้จักกันตั้งแต่พ่อเฒ่า” (พ่อเฒ่าหมายถึงเจ้าน้อยเทพวงศ์) ส่วนประโยค “เขารู้จักกัน” หมายถึงเคยรู้จักกับแม่ชีมะเมียะ “เจ้าบูรณ์ได้พบแม่ชีชาวพม่า แม่ชียังได้ถามสารทุกข์สุกดิบ และฝากความระลึกมายังเจ้าทิพวันและพระองค์เจ้าบวรเดชด้วย”

ข้อมูลจากเจ้าสมบูรณ์และคุณยายกาบแก้ว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เจ้าทิพวันกับพระองค์เจ้าบวรเดชเคยเดินทางไปพบแม่ชีมะเมียะที่เมืองมะละแหม่งจริง เพียงแต่ยังมีข้อขัดแย้งว่าไปปี 2452 หรือ 2458? อีกทั้งเราไม่พบหลักฐานว่าเจ้าดารารัศมีได้เสด็จเข้าไปจนถึงมะละแหม่งด้วยหรือไม่ หรือไปแค่เขตแม่แจ่มแม่สะเรียง และริมน้ำสาละวินฝั่งล้านนาเท่านั้น...

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

8. กู่อัฐิทรงพม่าในสุสานหลวงวัดสวนดอกเก็บกระดูกมะเมียะ มีจริงหรือ? ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการล้านนา ได้ตั้งคำถามเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือกู่ที่เก็บกระดูกของแม่ชีมะเมียะ หลังจากละสังขารเมื่อปี 2505 โดยอาจมีใครบางคนที่รู้เรื่องราวความรักระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะเป็นผู้นำอัฐิของเธอเข้ามาเชียงใหม่ระหว่างปี 2506-2516 เนื่องจากกู่หลังนี้ตั้งอยู่เคียงข้างกู่ของเจ้าน้อยศุขเกษม

เมื่อ 2 ปีก่อน อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ได้ทำการศึกษากู่หลังดังกล่าวอย่างละเอียดแล้วพบว่า เป็นการยากทีเดียวที่จะนำกระดูกของคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือมาร่วมบรรจุไว้ในบริเวณสุสานหลวง กู่ปริศนาหลังนี้แท้จริงแล้วเป็นกู่ของเจ้าแม่ทิพสม (ธิดาของเจ้าราชบุตร หรือเจ้าหนานธนัญไชย โอรสในเจ้าหลวงพุทธวงศ์) หาใช่กู่ของมะเมียะไม่ (ดร.เพ็ญทิ้งโจทย์ไว้ให้ผู้อ่านร่วมค้นหา)

อาจารย์สมฤทธิ์ ให้เหตุผลว่าได้เคยมีการพิสูจน์ด้วยการกระเทาะปูนบริเวณป้ายชื่อดู พบว่าเป็นชื่อของคนอื่นไม่ใช่ มะเมียะ ดร.ธเนศวร์ จึงยืนยันว่าเป็นเพราะการบรรจุอัฐิลงกู่ต้องลบป้ายชื่อคนเก่าออก ก่อนเปลี่ยนเป็นชื่อเจ้าของอัฐิคนใหม่ จึงมีการเขียนทับชื่อของคนเก่า ทำให้ไม่ใช่ชื่อเดียวกันก่อนที่จะบรรจุอัฐิมะเมียะลงไป

บทวิเคราะห์จากนักวิชาการล่าสุดโดย อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ศิลปวัฒนธรรม (เผยแพร่เมื่อ 31 สิงหาคม 2566) ยืนยันว่า จีริจันทร์ ประทีปะเสน (นักวิชาการผู้วิจัยหัวข้อ “กระบวนการก่อตัวและพัฒนาการของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา จังหวัดเชียงใหม่” ร่วมกับ อภิรัตน์ หงสยาภรณ์, สมิหรา จิตตลดากร, สุรพันธ์ ทับสุวรรณ - CMU DC - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และเป็นผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่อง “หมะเมียะ” ได้เดินทางไปสืบเรื่อง มะเมียะ - เจ้าน้อยศุขเกษม ที่เมือง มะละแหม่ง จากประวัติที่พบเพียงว่าเจ้าศุขเกษมไปเรียนที่โรงเรียนกินนอนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนของโบสถ์คริสต์แคทอลิกชื่อ เซนต์แพทริค (St. Patrick) ประเทศพม่า ได้ไปคุยกับบาทหลวงเจ้าอาวาสขอค้นรายชื่อนักเรียน  แต่ข้อมูลที่มีขณะนั้นไปไม่ถึงปี 2446 ตั้งคำถามว่า ถ้าเจ้าศุขเกษมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียน เซนต์แพทริค จริง เรื่องราวความรักของท่านก็น่าจะเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากฝากไว้เป็นตำนานเสมือน ‘โรมิโอ-จูเลียต แห่งสาละวิน’ แต่บาทหลวงยืนยันว่าไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย จึงสรุปว่าทั้งหมดที่ไปมะละแหม่งไม่พบหลักฐาน ไม่มีใครรู้จักมะเมียะเลย แต่คนใกล้ชิด ผู้เขียนหนังสือ “เพ็ชรลานนา” (ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง) ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน (บัณรส บัวคลี่) ยืนยันชัดเจนไว้ในบันทึกที่เขียนก่อนชม “หมะเมียะ”ว่า

 

 

‘ความจริงจากจินตนาการ’

จากบันทึกของ บัณรส บัวคลี่ (สื่ออิสระ, นักเขียน, คอลัมนิสต์, เกษตรกร, แกนนำ มูลนิธิสภาลมหายใจภาคเหนือ, นักประวัติศาสตร์ศึกษา) จุดประเด็นให้เป็นที่มาของการร่วมไขความจริงอ้างอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผลเชื่อมโยงโดยตรงต่อ ‘ความจริงจากจินตนาการ’ ในภาพจำเรื่อง “มะเมียะ” ที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เคยได้เขียนจุดประกายไว้ให้ต่อยอดทอดเงา จนกลายเป็นเรื่องเล่าข้ามยุค

 

ละครเพลงหมะเมียะ [9]

กลับเชียงใหม่ว่าจะไปดูละครเพลง “หมะเมียะ” เวอร์ชัน อ.คำรณ คุณะดิลก ที่โรงละครกาดเธียร์เตอร์ ในฐานะที่ใกล้ชิดกับ ลุงปราณี ศิริธร ผู้เขียนพอสมควร ผมอยู่ในช่วงที่ ช่อง 7 ซื้อเรื่องไปทำละครทีวี ศรราม กบ สุวนันท์ ได้เงินหลักแสน จำได้ว่าลุงแกใช้เงินนั้นตกแต่งบ้านข้างวัดป่าเป้าด้วยตุ๊กตาสิงห์สาราสัตว์เพิ่มหลายตัว

ยุคแรก ๆ ผมก็เหมือนหลายท่านที่เชื่อว่าเรื่องราวทั้งมวลของหมะเมียะเป็นประวัติศาสตร์จริง ๆ เพราะลุงปราณีแกเขียนเกร็ดประวัติศาสตร์ไว้เยอะ แต่พอได้ค้นคว้าต่อก็พบว่ามันมีสีสัน ‘มันส์-ม่วน’ เติมลงไป ถามตอนนี้ตอบตอนนี้..สำหรับผมแล้ว “หมะเมียะ” เป็นเรื่องแต่งเพิ่มแน่นอน เพิ่มจากฐานเรื่องจริงของเจ้าน้อยศุขเกษม

แปลก ไปมะละแหม่ง ไกด์และชาวเมืองที่นั่นดันรู้เรื่องหมะเมียะ แถมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงเป็นตุเป็นตะตามเรา อาจเป็นเพราะยุคหนึ่งชาวเราไปสืบค้นเรื่องราวหมะเมียะถึงที่โน่น ทำชาวพม่าพลอยเชื่อตาม แต่เรื่องราวของเชียงใหม่ มะละแหม่ง เจ้าน้อย เจ้าอุปราช ระบบโรงเรียนและอิทธิพลอังกฤษต่อล้านนา-สยามก็สนุกอยู่ดี

สาละวินคือเส้นทางนำรูปีขึ้นเหนือ เศรษฐกิจยุค ร.5 ท่านใช้เงินบาทในเขตภาคเหนือไม่ได้นะครับ รูปีแข็งกว่า เจ้านายเมืองเหนือที่ได้ส่วนแบ่งตอไม้ต้องใช้กระบุงมาใส่เหรียญรูปีคอนกลับคุ้มก็แล้วกัน ส่วยภาษีหัวเมืองจนถึงยุคมณฑลเทศาภิบาลแรก ๆ ก็เป็นรูปี คลังของ ‘เจ้าหลวง’ หรือ ‘ผู้ว่าราชการเมือง’ ก็อยู่ใต้จวนใต้คุ้ม เอาไว้ขังรูปีที่คงจะกองพะเนินเทินทึก ผมไม่เชื่อตำนานคุกใต้คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ที่เขาเล่าขานกัน หน่วยราชการก็ลอก ๆ กันมา สื่อเอาไปใส่ไข่  มีคนเอาเครื่องจองจำทรมานไปเสริมบรรยากาศอีก หลักฐานประวัติศาสตร์มีแน่นอนว่าคุกเมืองแพร่ ไม่ได้อยู่ใต้คุ้ม เอ้อ ไปไกลแล้ว กลับมาหมะเมียะต่อ

หมะเมียะอันสืบเนื่องจากข้อเขียนลุงปราณีมีหลายมิติ เรื่องจริงหรือเปล่า ก็มิติ่งนึง อรรถรสของเรื่องแต่งที่อรรถาธิบายประวัติศาสตร์จริงก็เรื่องนึง มิติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยุคนั้นก็อีกเรื่องนึง ทุกเรื่องคาบเกี่ยวกันมันส์ไปคนละแบบ

บัณรส บัวคลี่
22 มกราคม 2019

 

 

อาจารย์วรชาติ มีชูบท[10] ทนายความ นักเขียน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชวงศ์  เอตทัคคะด้านวชิราวุธศึกษา ร่วมแสดงความคิดเห็น

“เมื่อตรวจสอบข้อมูลลงลึกไปก็น่าเชื่อว่า เรื่องมะเมียะนี้น่าจะมีเค้ามาจากเรื่องจริงของ เจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน) ที่ เจ้าแก้วนวรัฐฯ ส่งลงมาเล่าเรียนที่ โรงเรียนราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำสอนด้วยหลักสูตรภาษาอังกฤษ โดยฝากไว้กับเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรไชยยันต์) ซึ่งเคยไปรับราชการเป็นข้าหลวงศาลต่างประเทศที่เชียงใหม่ โดยมีหน้าที่ตรวจลงตรารับรองสัมปทานป่าไม้ในสามหัวเมือง คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เมื่อโรงเรียนหยุดเจ้าราชบุตรมาพักอยู่ที่จวนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์แล้วพาสาวในจวนหนีตามกันไป ความทราบถึง พระราชชายาฯ ซึ่งทรงเป็นผู้ปกครอง มีรับสั่งให้ตามหาตัวจนพบแล้วส่งเจ้าราชบุตรที่เวลานั้นมีอายุราว ๑๔ ปี กลับเชียงใหม่ เจ้าแก้วนวรัฐฯ กราบทูลขอให้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ปกครองแทน แต่ในกรมทรงตอบว่าจะทรงรับก็ต่อเมื่อพระราชชายาฯ ประทานอนุญาต เจ้าราชบุตรจึงไม่ได้ลงมาเรียนต่อ เลยมีภรรยาที่เชียงใหม่ มีธิดากับภรรยาคนแรกนี้หนึ่งคน”

ความเห็นตอบโต้ท้วงติงจากผู้อ่านใน facebook ร่วมแสดงความคิดเห็น

วรชาติ มีชูบท ข้อมูลนี้ผิดนะครับ เจ้าราชบุตรวงศ์ตะวัน กับ เจ้าน้อยศุขเกษม คนละคนกันนะครับ”

อาจารย์วรชาติ มีชูบท

“ไม่ปฏิเสธครับว่า เจ้าราชบุตรกับเจ้าน้อยศุขเกษมเป็นคนละคนกัน ที่ผมเล่าเรื่องเจ้าราชบุตรนั้นก็เพราะมีหลักฐานเป็นเอกสารจดหมายเหตุชัดเจน ส่วนเรื่องเจ้าน้อยศุขเกษมนั้นคุณปราณีเองก็บอกไว้ในตอนต้นบทความของท่านว่า ท่านได้ยินเรื่องเล่ามาจากในคุ้ม และเมื่อท่านนำเสนอเรื่องมะเมียะนั้นเจ้าราชบุตรยังมีชีวิตอยู่ และอยู่ในฐานะหัวหน้าสกุล ณ เชียงใหม่ จึงเชื่อได้ว่าเรื่องมะเมียะนั้นเป็นเรื่องที่เล่ากันมาในคุ้มหลวงจริง แต่ผู้ที่รู้เห็นเรื่องราวครั้ง พ.ศ. ๒๔๔๑ - ๒๔๔๕ คงล่วงลับไปหมดแล้ว ผู้ที่มาเล่าให้คุณปราณีฟังจึงคงจะฟังคำบอกเล่ามาอีกทีหนึ่ง  เมื่อเล่าจากปากหนึ่งไปอีกปากหนึ่งย่อมมีการเสริมเติมแต่งกันตามประสาเรื่องเล่า  จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่เล่าเรื่องในลำดับสุดท้ายอาจจะเกรงบารมีเจ้าราชบุตร จึงเลี่ยงให้เป็นเรื่องของเจ้าน้อยศุขเกษมผู้เป็นพี่ชายของเจ้าราชบุตรแทน

ข้อสังเกต อีกอย่างคือคนในยุคนั้นเมื่ออายุ ๑๔ - ๑๕ ปี ได้บวชเรียนและลาสิกขาออกมาเป็นน้อยแล้ว ย่อมถือว่าผู้นั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่สมควรจะมีครอบครัวได้แล้ว แต่ตามเรื่องราวของคุณปราณีเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มะละแหม่งตอนอายุ ๑๙ ปี ก็นับว่าไม่ปกติเหมือนกัน ส่วนเจ้าราชบุตรนั้นเมื่อถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ก็บวชเรียนเป็นสามเณร ลาสิกขาแล้วก็มีภรรยาและมีธิดาคนแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ นอกจากนั้นในบทความของคุณปราณีได้กล่าวด้วยว่า เจ้าแก้วนวรัฐฯ ลอบส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มะละแหม่งโดยปิดบังไม่ให้ฝ่ายสยามรู้ เรื่องนี้ยิ่งน่าขำ เพราะการจะเดินทางไปมะละแหม่งนั้นจะต้องผ่านเมืองระแหงของสยาม การผ่านด่านระแหงโดยไม่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามรับรู้เลยนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ พราะการเดินทางบุกป่าฝ่าดงจากระแหงไปแม่สอดออกไปมะละแหม่งนั้นยังไม่มีถนน ต้องใช้คนนำทางในพื้นที่เป็นผู้นำทาง แล้วผู้นำทางนี้ก็เป็นที่รู้จักกันดี และคงอยู่ในสายตาของข้าราชการสยาม

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

“กมล” รักแท้ ที่เป็นแค่ตำนาน?

นับเป็นความหาญกล้าท้าขนบชวนขบคิด กับภาพที่เคยติดตรึงใจในอดีตต่อ ‘ความรักนอกรีต’ ของ มะเมียะ กับ เจ้านัอยศุขเกษม เพราะผลจากการขีดขอบใส่กรอบประเพณีที่กล่าวขานกันมานานกว่า 122 ปี กลายเป็น ‘นิยายอมตะประจำภาค’ ขยายอานุภาพกว้างไกลจนคนไทยรู้จักกันดี ก่อนที่จะถูกวิพากษ์จากนักวิชาการ ผู้คนที่สนใจต่างแบ่งออกเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ กับ ‘ฝ่ายค้น’ จนก่อให้เกิดกระแสสังคม ระดมผู้คนให้ร่วมค้นหาความจริง จากสิ่งที่เคยเป็นภาพจำของใจเพื่อพิสูจน์ความสงสัยร่วมกัน

ผลการศึกษา วิจัย และพิศูจน์ประวัติศาสตร์ของนักวิชาการแยกงานออกเป็นสองฝ่ายซ้ายขวาเช่นกัน ล้วนมีหลักการน่าเชื่อถือทั้งสองฝั่ง ดังบทสรุปที่มีหลักฐานอ้างอิงในสิ่งที่ขัดแย้งกัน สาระสำคัญคือวิธีการสืบสานประวัติศาสตร์ที่มากกว่า ‘มุขปาฐะ’ ซึ่งกลายเป็น ‘อมตะ’ เพราะผ่านศิลปะหลากแขนงหลายวิธีการนำเสนอ

เช่นเดียวกับศิลปินสายศิลปะการแสดงที่นำเรื่องราวไปรังสรรค์งานศิลป์ก็แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งแนวจารีตประเพณีแบบดั้งเดิม (Traditional) และ สายร่วมสมัย (Contemporary) ล่าสุด “มะเมียะ” ถูกตีความใหม่จากบทสรุปของ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภูมิภาคอุษาคเนย์ ว่าเป็น ‘เรื่องแต่ง’ ตำนานจึงถูกนำมาเล่าขานอีกครั้งด้วยการ ‘แต่งเรื่อง’ ขึ้นใหม่ ในชื่อ “กมล” เพื่อให้ผู้คนได้ชัดเจนต่อความจริงในมิติของความเป็น ‘ปัจเจก’ จับประเด็นความรัก ความหลากหลาย และสิทธิมนุษยชน บนละครทดลองแนว Devising ที่แนบเรื่องราวความรัก 2 รูปแบบ โดยไม่อิงแอบประวัติศาสตร์การเมืองอยู่เบื้องหลัง

“กมล” ใจดวงร้าว … ละครเวทีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานความรักของ ‘มะเมียะ’ กับ ‘เจ้าน้อยศุขเกษม’ ต้นธารความรักจากสองฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น และ จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ นำตำนานรักริมสองฝั่งแม่น้ำสาละวินมาปรับเป็นละครพูดร่วมสมัย เล่าเรื่องความรักของชายจากตระกูลสูงศักดิ์กับคนรักต่างเชื้อชาติ ความแตกต่างทางฐานันดรและชาติกำเนิดก่อให้เกิดอุปสรรคมากมาย เหตุร้ายที่พรากรักแท้จริงอาจเป็นเพียงข้ออ้างโหมหาญหัก ให้ตำนานรักถูกเปลี่ยนเสียงปรับสีไปตามถ้อยวจี บางทีอาจจะมีเพียงแม่น้ำเท่านั้นที่รู้ความจริง…

“กมล” นำแสดงโดย โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์ (‘จ้อย’ ในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”) , กานดา วิทยานุภาพยืนยง (เน็ท) และ พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล (พิช วงออกัส) จัดแสดง 90 นาที รวม 6 รอบ 7, 8, 9, 14, 15, 16 กุมภาพันธ์ 2568

จัดแสดงที่ โรงละคร กาลิเลโอเอซิส กรุงเทพฯ บัตรราคา 950 บาท ทุกที่นั่ง (เต็มทุกรอบ) จัดแสดงเป็นภาษาไทย พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษทุกรอบการแสดง

 


photo : Kamol : A Love Story Inspired by the Iconic Tale “Ma Myat”

 

Production Note “Kamol”

  • Executive Producer ชาติชาย เกษนัส (แน็ต) Chartchai Ketnust
  • Director & Playwright ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น (ส้มโอ) Thanyarat Praditthaen
  • Playwright : จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ (ชวน) Jaturachai Srichanwanpen
  • Producer ศิณัฐ กมุกะมกุล (กิ๊) Sinut Kamukamakul
  • Co-Project (โม) เพ็ญสิริ บุญแสนแผน Pensiri Bunsaenphaen
  • Set & Costume Designer : ณิชา บูรณะสัมฤทธิ์ (ปิ่น) Nicha Puranasamriddhi
  • Assistant Art Director : อภิรัตน์ แก้วกัน (ต๊อก) Aphirat Kaewkan
  • Music Composer & Sound Designer : อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ (แจ็ค) Apisit Wongchoti
  • Lighting Designer : ปาลิตา สกุลชัยวานิช (พาย) Palita Sakulchaivanich, กรชัย มีวงศ์ (ป๊อป) Kronchai Meevong
  • Graphic Designer : สมัชญา แซ่จั่น (สมิ้ว) Samatchaya Saechan
  • PR Director : อติคุณ อดุลโภคาธร (เอิร์ธ) Atikhun Adulpocatorn
  • PR Team : Jidapa Onkhaw (Sai) / Pimlapat Namngoen (Mona)
  • Stage Manager : พิชญ์พงษ์ นาคะยืนยงสุข (วอดก้า) Phitchaphong Nakhayuenyongsuk
  • Sound Operator : ศิขภูมิ ลิมป์ลีลากุล (เวลธ์) Sikapoom Limleelakul
  • Subtitle Operator : ลิสา มาเรีย โคเฮน Lisa Maria Cohen

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

กมล : ดอกบัว กับ หัวใจ

Executive Producer ชาติชาย เกษนัส ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่อง “กมล” มาจากบทประพันธ์ชั้นครูเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ และความเจ็บปวดฝังใจในเหตุการณ์ “ตุลาวิปโยค” (14 ตุลา 2516 / 16 ตุลา 2519) แต่กลั่นความร้าวรานออกมาเป็นความหวานในงานศิลปะการแสดง ที่ยังคงแฝงนัยใส่อุดมการณ์อย่างชาญฉลาด กฎหมายก็ไม่อาจเอาผิด ขึ้นกับความคิดใครจะจับได้ไล่ทัน เช่นเดียวกับผลงานสำคัญที่เกี่ยวพันกับพม่าสองเรื่อง (“ถึงคน…ไม่คิดถึง” (FROM BANGKOK TO MANDALAY) และ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” (From Chao Phraya to Irrawaddy) ละครแบ่งออกเป็น 2 version คู่รักจากกันมะเมียะเข้มแข็งคอยเตือนสติเจ้าน้อย “ต่อให้ท่านพยามมากแค่ไหนมันก็เปลี่ยนความจริงไปไม่ได้” 

มีช่วงต่อระหว่าง version ที่รวดเร็วเหมือนพลิกหน้ากระดาษขณะอ่านหนังสือ (คือว่า ไม่มีเวลาสยายผมเช็ดบาทบาทา แล้วยืนมองจนลับตาก่อนจากกัน) เชื่อมร้อยเหตุการณ์หลังส่งมะเมียะขึ้นเรือ พอหันหลังกลับก็เป็นอีกเรื่องแล้ว ความต่างย้ำ theme ให้ชัดในความขัด ‘จารีต ประเพณี’ ที่ล้วนคนกำหนดขึ้นเพื่อแบ่งแยก เพศ เผ่า เขา เรา ฯลฯ อย่างไม่ยอมจะเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่แท้ แต่เพื่อจะหลงทางใน ‘โลกปลอม’ สยบยอมให้มันควบคุมคน โดยไม่รู้ตัวว่า ‘ต้องทน’ เพราะเข้าใจว่า ‘สุขแท้’…

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

version หลัง คล้ายจะแยกไว้คนละยุคสมัย แต่ไม่ใช่ ต่างอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ที่ทำให้รู้สึกเหมือนจะเป็นปัจจุบันเพราะ มะเมียะที่เคยเร้นกายเป็นชายชื่อจายวิน ถูกเปลี่ยนเป็นหนุ่มน้อยรูปงามนาม ‘จายวิน’ (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล - พิช) รินเรื่องไล่เรียงย้อนหลังต่อมาตั้งแต่พากลับเมืองไทย ก่อนพบกับรักแรกผลิใบจนส่งกลับไปพม่า servion นี้จายวิน win ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในเวที รัศมีเด่นดั่งดอกประดู่เหลืองละมุนที่มาพร้อมกลิ่นหอมกรุ่นช่วงต้นฝน และพ่นพลังการแสดงได้เหมือนเป็นอีกคนที่ตรงข้าม เมื่อได้รับความกดดันจากรอบข้าง ไม่ต่างจาก ‘สาย สีมา’ ใน “ปีศาจ” ที่หลุดเข้าไปในงานเลี้ยงของหมู่อำมาตย์แล้วถูกพิฆาตด้วยสายตา วาจา ดูถูกความเป็นคนที่ไม่เท่าเทียม …  “บางทีความไม่ยุติธรรมก็ทำให้มีทางออกในแบบของมัน” แม้ว่าเจ้าน้อยจะปลอบจายวินว่าคิดมากไป แต่คำย้อนกลับที่สับว่า “กมลต่างหากที่คิดน้อยไป” คงไม่เกินจริงกับสิ่งที่ผจญ ต่อให้เธอเป็นคนไทยแต่ไม่ใช่ราชนิกูลก็ไม่ต่างกัน เพราะกำแพง ‘ชนชั้น’ ที่กั้นไว้ (‘ศักดินา’ แม้ในปัจจุบันก็ยังแน่นหนานับประสาอะไรกับยุคนั้น (เป็นช่วงเวลาที่สยามเตรียมการประกาศเลิกทาส  รัชกาลที่ 5 ทรงออก พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448)

 

 

ทั้งสอง version เหมือนกันคือความงามละไมในองค์ประกอบศิลป์ทุกส่วน มีภาษาภาพยนตร์ปนอยู่ในงานออกแบบ แสงสี เสื้อผ้า แบ่งส่วนใช้พื้นที่ไม่ต้องมี property เกินจำเป็น หรือเน้นอลังการ แต่ได้ความรู้สึกหวานละไมในรักอารมณ์ ขมไปกับความขื่นที่อยากฝืนชะตาของตัวละคร บทร่วมสมัยใส่ความเป็นวรรณกรรมและบทกวี (ไร้ฉันทลักษณ์) ในบทละคร งามด้วยสัญลักษณ์ที่ร้อยเรียงความหมายของความรัก กับคุณค่าของการประกอบสร้างและรักษา ‘ภูศณิษาอาภรณ์แห่งชีวิต’ เชิญ "เวนิชวานิช" ของ William Shakespeare มาร่วมบอกรัก ที่หนักและท้าทายคือการให้ความหมายต่อความเป็นผู้ชายของจายวิน ที่ต้องมาพร้อมคุณสมบัติที่ทั้งอ่อนโยนและแข็งแกร่ง คงไม่เกินไปถ้าหวังจะให้ กมล เป็น ‘ภาพยนตร์’ เรื่องต่อไป

‘กมล’ (วิศรุต หิมรัตน์ -โมสต์) จาก จ้อย ใน “บุพเพสันนิวาส” ครั้งแรกกับงานละครเวทีที่มีการออกแบบบุคลิกตัวละคร แต่ซ่อนความ ‘ขบถ’ ไว้อยู่ในทีที่ชวนให้นึกถึงความเป็น Bad Boy ของ ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย ในช่วงแรกเข้าวงการ แต่ละครเวทีต้องการ energy อีกระดับ แม้จะนิ่งแต่ต้องลึกด้วยพลัง inner เจ้าน้อยยังยากเกินไปสำหรับมือใหม่อย่างโมสต์ ที่บทโคตรจะเรียกร้องความเป็นมืออาชีพสูงมาก และยากขึ้นตามลำดับ ในทางกลับกัน งานกำกับที่ละเอียดอ่อนกับทุก act อาจออกแบบมาดความเป็น ‘เจ้า’ ให้เข้ากับยุคสมัยที่ต่อนยอนไม่ร้อนแรงนัก พลังความรักจึงดูยังแผ่วไป ยิ่งเมื่อกลับมาเชียงใหม่บทต้องใส่แรงกดดันอีกระดับ ต้องให้เวลากับงานสะสมประสบการณ์ เพียงแต่ครั้งนี้เขาขึ้นเวทีกับอีกรุ่น แต่ใน version หลังดีตีตื้นขึ้นมาเมื่อประกบกับจายวินรุ่นเดียวกัน สาดสีสันเสน่ห์สวยช่วยดึงให้เด่นขึ้นมาได้

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

นักแสดงนำคนสำคัญในบท ‘เมียท’ (Myat) หญิงที่พร้อมจะละทิ้งทุกสิ่งเพื่อคนที่เธอรัก รับบทโดย กานดา วิทยานุภาพยืนยง (เน็ท) เธอมีพลังของการแสดงที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อได้สนิทใจ (เสมือน) ว่าเป็นสาวชาวพม่า ‘มะเมียะ’ แม้ไม่ ‘ครบเครื่อง’ ตามความเห็นของ Executive Producer ชาติชาย เกษนัส (แน็ต) ที่มีต่อหญิงสาวชาวพม่า ทว่าตรงข้าม เธอดูบอบบางในร่างงามระหงทรงนางแบบยุคใหม่ ภายใต้กริยาเยื้องย่างที่สร้างบุคลิกผู้หญิงโบราณจิตวิญญาณกุลสตรี มีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา บทเศร้าเธอร้องไห้ได้สวยจนอยากช่วยปลอบประโลม ยามทุกข์โศกเหมือนโลกจะหยุดหมุน แม้เป็นครั้งแรกกับละครพูดแบบเต็มเรื่องของเธอ “กมล” บนความท้าทายที่ไม่ง่ายแต่เธอทำได้อย่างมืออาชีพ  version แรกโทนเรื่องจึงหวานเศร้าจนรู้สึกเหงาจับใจ โดยเฉพาะฉากในคืนจากลาระหว่าง เฟื่องฟ้า กับ เมียท

เน็ทเป็นนักแสดงละครเวทีที่ผ่านประสบการณ์ละครเพลงมามากมาย อาทิ บท ‘คิม’ จาก Miss Saigon (Thai Production) และรับบทเด่นแสดงนำเป็น ‘พระนางซูสีไทเฮา’ จาก ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล, ทวิภพ เดอะมิวสิคัล, สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ฯลฯ เน็ทให้เสียงพากย์และร้องภาษาไทยเป็น ‘Belle’ ใน Beauty and The Beast (Live action), ‘Alice’ ในซีรีส์ Agatha all along, และล่าสุดคือ ‘Sarabi’ ใน Mufasa: The Lion King (Live Action) ปัจจุบันเน็ทเป็นนักแสดงอิสระ มีทั้งงานแสดง งานร้องเพลง และงานพากย์เสียง ติดตามผลงานของเน็ทได้ที่ Instagram : @netkanda

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

คนที่ได้บทเด่นเล่นอย่างมีพลัง และคลุมโทนได้ทั้งหมดตามบทบาท narrator กับ ‘เฟื่องฟ้า’ คู่วิวาห์ของ ‘กมล’ (สวมสถานะ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวซึ่งรับรู้มาจาก เจ้าบัวนวล คู่หมั้นคนแรกของเจ้าน้อยที่ถอนตัวไปแม้เข้าใจเมื่อรู้เรื่องมะเมียะ) คือ พิจิกา จิตตะปุตตะ (ลูกหว้า) นักร้อง, นักแสดง, ดีเจ และนักพากย์ มีผลงานด้านการแสดงละครเวที ทั้งละครพูดและละครเพลงมากมายมากว่า 20 ปี อาทิ วิวาห์ คาบาเร่ต์, มนต์รักเพลงสวรรค์, มอม เดอะมิวสิคัล, ชายกลาง เดอะมิวสิคัล  ลอดลายมังกร เดอะมิวสิคัล, Dreamgirls ฉบับภาษาไทย, Little shop of horors ฉบับภาษาไทย, ชายกลางเดอะมิวสิคัล, The sound of music ฉบับภาษาไทย, มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระมหาชนก" พิจิการับบทนำเป็นนางเมขลา ฯลฯ ได้รับ รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม (Best Performance by a Female Artist) จากละครเพลง “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคอล” จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสด นานาชาติ IATC Thailand Awards 2015 ปัจจุบันพิจิกาเป็นดีเจคลื่น Smooth 105.5, อ่านสปอตโฆษณา และยังมีงานแสดงทั้งซีรีส์ ละคร รวมถึงภาพยนตร์ ติดตามพิจิกาได้ที่ Instagram: @pijika_official .IATC THAILAND DANCE AND THEATRE REVIEW 2015

 

 

“โปรดอย่าถามว่าความรักคืออะไร แต่จงถามว่าความรักอยู่ที่ใด”

หมะเมียะ The Musical

 

เหตุผลที่เรื่องราวของ มะเมียะ ยังคงเป็นตำนานตลอดกาล

1. เสมือนเป็นชะตากรรมร่วมของคนหมู่มาก จากความรักความภักดีของคนที่อยู่ในสถานะ ‘ผู้ต่ำต้อย’ ซึ่งต้องกลายเป็น ‘ผู้แพ้’ อย่างไม่มีข้อใด ๆ และเป็นธรรมดาของ ‘ปลาเล็ก’ ที่มีอยู่ในทุกเชื้อชาติ และทุกยุคทุกสมัย เหมือนเป็นกฏของธรรมชาติที่ไม่อาจต่อรองได้ กลายเป็นสัจธรรมว่า ต่อให้เป็น รักแท้ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้เพราะวรรณะ ที่บั่นทอนความเป็นมนุษย์ด้วย ฐานันดร

2. สีสันของจินตนาการที่ถูกแต้มแต่ง เพราะ ‘แอ่งความรู้สึก’ ของชาวไทยที่ถูกฝังหัวมานาน จากบทเรียนสามานย์ที่รัฐจารึก แทนความรู้สึกเจ็บปวดที่ได้รับหลังรบเสียกรุงศรีฯ ประวัติศาสตร์ซึ่งไม่อาจลบเลือนเรื่องเสียเอกราชให้พม่า มะเมียะจึงเสมือนแพะที่ต้องมารับทราบ รับบาป เพื่อรับผิดชอบความรู้สึกแห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ (ที่ไม่ใช่แค่อรรถรสของเรื่องเล่า โปรดเข้าใจ)

3. มีเรื่องราวของราชวงศ์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญอยู่เบื้องหลัง (เรื่องราวเริ่มปี 2446 เมื่อเจ้าน้อยพามะเมียะกลับมาเชียงใหม่ ก่อนรัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาสในประเทศไทย ปี 2448) พระราชชายาเจ้าดารารัศมีถูกทางการสยามห้ามไม่ให้กลับมางานเผาศพบิดา ด้วยเหตุผลทางการเมือง

4. รัฐชาติ บังอาจเข้ามาเป็น ‘ผู้บงการ’ ชีวิตรักของตัวละคร เสมือนชะตากรรมร่วมกันของผู้คนในวงกว้าง ที่ถูกจัดวางอย่างผิดธรรมชาติวิถีของความเป็นมนุษย์จนสุดต้าน ทุกคนต้องการมีรักแท้เหมือนเจ้าน้อยรักมะเมียะ แต่ไม่ต้องการพบอุปสรรคใด ๆ โดยเฉพาะถ้ามันจะเกิดจาก ‘คนนอกครอบครัว’ ที่เข้ามามีอำนาจเหนือหัวในนาม ธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรมอันดีที่ต้องสยบ

5. เหล่าศิลปิน ใช้เรื่องราวความรักสุดสะเทือนใจในวงกว้างสร้างผลงานหลากแขนง กลายเป็นแหล่งความรู้ เสมือนตู้เก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ ใกล้ตัว ‘ศิลปะ’ ทำหน้าที่ส่องความจริงหลายสายที่ใกล้จะเลือนหายไปให้สว่างไสวกลับคืน

 


photo : Kawinporn Charoensri

 

ไทยกับพม่า เราต่างผ่านด่านพิสูจน์โดยโชคชะตามาร่วมกันทุกยุคทุกสมัย ทั้งภัยที่เกิดจากเงื่อนไขของการปกป้องพรมแดน และภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ล่าสุดแผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ขนาด 8.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง มัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. สะเทือนถึงแผ่นดินไทย เหมือนมีบางสิ่งต้องการบันดาล บทเรียน’ แก่เรา (เพื่อเตือนก่อนบทเรียนเก่าครั้งเสียกรุงฯ จะเกิดกับเราอีกครั้ง ต้องตั้งรับอย่างไร) ซึ่งล้วนเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยมีจุดหมายเพื่อปกป้องทั้งสินทรัพย์กับชีวิตของผู้คนบนสองแผ่นดิน

ไม่ว่า ‘มะเมียะ’ จะเป็น ‘ตำนานที่ถูกพยายามทำให้ลืม’ หรือ ‘ความจริงที่ยืนยันตัวเอง’ จากผลของความพยายามนั้นก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ‘ความจริงมีพลังเสมอ’ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่อาจเลือนลบ ยิ่งถูกทำให้พบผ่านงานศิลป์ พลังของศิลปะจะทำหน้าที่ ‘ขับเคลื่อน’ ให้ ‘สารส่งเสียง’ ได้ดังอย่างเปี่ยมพลังมากขึ้น ในทุกประเภทของงานการบันทึกที่มีฐานรากจากเรื่องจริง และไม่สำคัญว่าใครคือผู้สร้างหรือผู้สืบสาน เพราะความจริงมีจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียว คือ วัตถุประสงค์และเจตจำนงของผู้สร้างสรรค์ กุญแจสำคัญอยู่ที่ ‘สาร’ จาก ‘น้ำเสียง’ ที่ถูกถ่ายทอด นับวัน ‘ศิลปะ’ ยิ่งเป็นฟันเฟืองที่เฟื่องฟู ซ้อนอยู่ในกลยุทธ์ทาง(การเมืองและ)การทูต แทนคำพูดเรียกร้อง “มิตรภาพและสันติภาพ” [11] จากความซาบซึ้งใจร่วมกันในชะตากรรมของ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ด้วย ‘อำนาจ’ ซึ่งไม่อาจต่อรองหรือยับยั้งได้ 77 ปีผ่านไป … ถึงเวลาชาวไทยเปิดตามองฟ้าใหม่กันได้หรือยัง.

 

 


[1] หนุ่ม ศรราม@ มะเมี๊ยะ ตอนที่ ⅓ , MsDiva1356 , สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2568 https://www.youtube.com/watch?v=y0wvERAM9JY

[2] “มะเมียะ ... มะเมี๊ยะ” ละครเวที  ใน “คอนเสิร์ต 25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร” , Prach Zow!!! ,  สืบค้น 13 เมษายน 2568 https://youtu.be/tyouqaQ70Kk?si=z7ujj5IHhgc276Tt

[3] ละครเวทีนิเทศศาสตร์ มะเมียะ "A True love Story Never Ends” , Tanakon Seephet , สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2568 https://youtu.be/VOtXUTAHmN4?si=07Rnb7Mju4tVvdC_

[4] เพ็ญสุภา สุขคตะ, ปริศนาโบราณคดี มะเมียะยังมีตัวตนอยู่จริงไหม (1), สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2568, สืบค้น https://www.matichonweekly.com/column/article_394868.

[5] แอดมิน 6, รามัญคดี - MON Studies, สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2568, https://www.facebook.com/RamannMon/posts/pfbid0vByCniccxsWjQzSsGKpg6LHVpBicvB3vbbgQyyN5eqNbReGE8fk3nQSUV2xsitfvl.

[6] เพ็ญสุภา สุขคตะ, ปริศนาโบราณคดี มะเมียะยังมีตัวตนอยู่จริงไหม (2), สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2568, https://www.matichonweekly.com/column/article_397982.

[7] เพ็ญสุภา สุขคตะ, ปริศนาโบราณคดี มะเมียะยังมีตัวตนอยู่จริงไหม (3), สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2568, https://www.matichonweekly.com/column/article_400487.

[8] เพ็ญสุภา สุขคตะ, ปริศนาโบราณคดี มะเมียะยังมีตัวตนอยู่จริงไหม (จบ), สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2568, https://www.matichonweekly.com/culture/article_402292.

[9] บัณรส บัวคลี่, ละครเพลงหมะเมียะ, www.facebook.com  สืบค้น 13 เมษายน 2568, https://www.facebook.com/photo?fbid=2252000258178037&set=a.189631627748254&locale=th_TH.

[10] ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่, สืบค้น 16 เมษายน 2568, http s://mgronline.com/daily/detail/9620000098109.

[11] ThaiBev Group ASEAN Club Behind the Scene: Exploring Myanmar through Movies (movie)(movie) , RcmActivity/videos, สืบค้น 15 เมษายน 2568, https://www.facebook.com/RcmActivity/videos/1261175461423682.