ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อาวุธของผู้อ่อนแอ : วิธีการต่อต้านกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

26
ตุลาคม
2565

มีคำถามว่าในโลกการเมืองสมัยใหม่ แม้จะมีรัฐบาลเผด็จการหลงเหลืออยู่ในประชาคมโลกจำนวนไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษที่ 70-80 แต่เรากลับพบว่ามีรัฐบาลเหลือเศษซากทัศนะศักดินาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่แปลงกายไปสู่ระบอบอำนาจนิยม หรือระบบลูกผสม (Mixed Regime) ที่มีสถาบันทางการเมืองสมัยใหม่แต่เพียงในเชิงรูปแบบ เช่น มีการเลือกตั้ง มีองค์กรสิทธิมนุษยชน มีพรรคการเมือง ฯลฯ ทว่าล้วนอยู่ภายใต้การชี้นำหรือบงการโดยอำนาจนอกระบบ ซึ่งรัฐเช่นนี้ยังคงศักยภาพในการก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนในประเทศของตัวเองอย่างเต็มสรรพกำลัง

น่าสนใจว่าประชาชนในประเทศนั้นๆ ยังพอมีเครื่องมืออะไรอยู่บ้าง ในการปฏิเสธอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของผู้กดขี่

โดยทั่วไปในประเทศที่มีดัชนีการเป็นประชาธิปไตยในระดับต่ำ ผู้มีอำนาจมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านทั้งในทางโจ่งแจ้ง ไม่แคร์กฎกติกาสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันหรือในทางลับที่เน้นการปิดบังอำพราง

เงื่อนไขเหล่านี้มาจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เหล่าชนชั้นปกครองสามารถยึดกุมได้เบ็ดเสร็จ จนกระทั่งสามารถสั่งกลไกรัฐให้น้อมรับคำสั่งได้โดยง่ายดาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ รัฐบาล ศาล ตำรวจไปจนถึงคุก แต่คำถามคือ อำนาจนั้นเบ็ดเสร็จจริงแค่ไหน?

ต่อคำถามย่อหน้าบน ศาสตราจารย์ เจมส์ ซี. สก็อต (James C. Scott) นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เห็นว่าอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีจริง ดังที่เขาเสนอแนวคิดที่เรียกว่า “Weapons of the Weak” หรือ อาวุธของผู้อ่อนแอ/อาวุธของคนยาก เพื่ออธิบายการต่อต้านของผู้ไร้อำนาจต่อชนชั้นปกครองที่กดขี่ปราบปราม 

“อาวุธของผู้อ่อนแอ” คือ อำนาจของผู้ด้อยอำนาจในสังคม ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบอำนาจเผด็จการควบคุมกลไกรัฐและสังคมอย่างสูง จนทำให้การลุกฮือขึ้นต่อต้านในรูปแบบการชุมนุมใหญ่หรือการเดินขบวนประท้วงเป็นไปได้ยาก วิธีการของคนที่อยู่ใต้ถุนสังคมเช่นนี้คือการพยายามทวงคืนอำนาจที่มีอยู่เดิมของเธอและเขาให้กลับคืนมา

เจมส์ ซี. สก็อต อธิบายว่า อาวุธของผู้อ่อนแอเป็นรูปแบบการต่อต้านในชีวิตประจำวัน เพื่อต่อสู้กับคนที่ขูดรีดแรงงาน ภาษี อาหารและดอกเบี้ยไปจากเธอและเขาที่อยู่ใต้อำนาจ ภายใต้โครงสร้างสังคมที่เหมือนเป็นปกตินั้น การต่อต้านนั้นจะซุกซ่อนอยู่ในฉากหน้าสถานการณ์ที่เหมือนปกติ

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่การเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “เรื่องเล่าสาธารณะ” (Public Transcript) กับ “เรื่องเล่าหลังม่าน” (Hidden Transcript) ในขณะที่เรื่องเล่าแบบแรกนำเสนอความสัมพันธ์แบบเปิดเผยระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ส่วนเรื่องเล่าแบบหลังมันจะซุกซ่อนอยู่ภายใต้สังคมที่ดูเหมือนจะเงียบสงบนั้น และมันทั้งยืนยัน ขัดแย้ง หรือบิดไปจากเรื่องเล่าสาธารณะ

ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของครอบครัวกลุ่มทาสในตอนใต้ของสหรัฐ พ่อของทาสคนหนึ่ง ต้องเฝ้าดูลูกสาวถูกเจ้านายของเธอทุบตี พ่อเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวเล่านี้ในจุดที่นายทาสสังเกตไม่เห็นคือ บอกเล่ากับเพื่อนที่ไว้วางใจ ในแง่นี้ผู้อยู้ใต้การปกครองหรืออยู่ในสถานะรองจะสามารถดึงเอาพลังของการต่อต้านมาจากการคนที่ถูกกดขี่ร่วมกันภายใต้เรื่องเล่าหลังม่าน

ผู้ถูกปกครองจึงมักจะถูกดูหมิ่นอย่างเปิดเผย แต่ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็ถูกดูหมิ่นได้เช่นกันในพื้นที่หลังม่าน ซึ่งมีตั้งแต่รูปแบบนินทา การวางวางเพลิง การเฉยชา การลอบสังหาร ฯลฯ โดยการโจมตีในเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้ ถือเป็นหัวใจของอาวุธของผู้อ่อนแอ เพราะประเด็นสำคัญของอำนาจ คือ การสร้างความชอบธรรมหรือสิทธิทางอำนาจที่มาจากการยอมรับของผู้ถูกปกครอง

ฉะนั้นแล้ว การปฏิเสธการยอมรับอำนาจ แม้ว่าจะทำภายใต้เรื่องเล่าหลังม่านก็สามารถสั่นคลอนอำนาจของผู้ปกครองที่เอารัดเอาเปรียบได้เช่นกัน

ตัวอย่างจากการนิรโทษกรรม 2 ฉบับ ในตอนที่แล้ว ซึ่ง ไทเรล ฮาเบอร์คอน เรียกว่า “การทําให้วิธีการเถื่อนถูกกฎหมาย” คือสัญลักษณ์ของการทำให้เรื่องที่ผิดกลายเป็นเรื่องสาธารณะโจ่งแจ้ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาชญากรรมโดยรัฐกลายเป็นสถาบันขึ้นมาในสังคมไทย แต่การต่อต้านใช่ว่าจะมลายหายไป หากแต่มันปรากฏในเรื่องเล่าหลังม่าน

อนึ่ง เรื่องเล่าหลังม่านแม้จะอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่จุดสังเกตของมันก็คือว่า จะต้องเป็นการกระทำที่เป็นปฏิกิริยาโดยตรงกับการเซนเซอร์ของรัฐ ที่แม้อาจจะมีอำนาจในการผลิตเรื่องเล่าสาธารณะขึ้นมาครอบงำการกดขี่ ไม่ว่าจะเรียกการจับคนไปคุมขังว่า “ปรับทัศนคติ” เรียกการทำลายหลักฐานการสังหารหมู่ว่าเป็น “คลีนนิ่งเดย์” เรียกการซ้อมทรมานว่าเป็น “การไต่สวนด้วยวิธีพิเศษ” หรือ การปกครองเพื่อป้องกันการขับไล่รัฐบาล ด้วยกฎหมายฉุกเฉินด้วยข้ออ้าง “ด้านสุขภาพ” เหล่านี้ ใช่ว่าจะทำให้การต่อต้านโดยผู้อยู่ใต้อำนาจสยบยอมแต่อย่างใด เพราะหัวใจของการต่อสู้ในชีวิตประจำวันแบบนี้แพร่หลายไปในเรื่องเล่าหลังม่านที่อยู่ในสังคม และหากเมื่อใดเรื่องเล่าหลังม่านปรากฏขึ้นมาในพื้นที่สาธารณะแล้ว ผู้มีอำนาจยังเพิกเฉยหรือกดมันต่อไป ราวกับไม่รับรู้ว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ ความสั่นคลอนของโครงสร้างเดิมก็นับว่าเกิดขึ้นแล้ว

การปราบปรามที่เหมือนจะเบ็ดเสร็จ อาจจะด้วยกลไกของเผด็จการ อาจจะหยุดยั้งการรวมกลุ่ม จับผู้คนที่เห็นต่างเข้าคุก และผลิตซ้ำเรื่องเล่าสาธารณะหนักและถี่ขึ้น จนหลายกรณีนำไปสู่ความตลบขบขันแทนความยำเกรง

ด้วยเหตุนี้ อาวุธของผู้อ่อนแอจึงมิใช่ความล้มเหลวของการต่อสู้จากความเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ถูกทำลายไปชั่วขณะ หรือเมื่อการแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะหายไป เพราะการสถาปนาความหมายใหม่ในสังคมชนชั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และพร้อมจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง