ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ภราดรภาพนิยม: แนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรมในวิกฤตขัดแย้งและสังคมเห็นต่าง

9
ตุลาคม
2564

 

สวัสดีครับท่านทั้งหลายครับ ท่านผู้รักความเป็นธรรม รักชาติรักประชาธิปไตย ถึงวันนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 ก็ได้ครบรอบ 45 ปีแล้ว วีรชนผู้ล้มตายในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492, เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, เหตุการณ์ 6 ตุลา 19, เหตุการณ์ พฤษภา 35, เหตุการณ์ พฤษภา 53

วีรชนผู้สละชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นลูก ล้วนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลุง เป็นป้าของครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมและ ควรได้รับการประกาศให้เป็นวีรชนของชาติ เยี่ยงทหารผู้สละชีพปกป้องอธิปไตยของประเทศ พวกเขา คือ วีรชนประชาธิปไตย เป็นกองหน้าของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น เป็นธรรมขึ้น    

เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาคม นี้ ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลาฯ เสวนาทางวิชาการออนไลน์ ใน หัวข้อ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร

เราไม่ได้จัดงานเพื่อตอกย้ำเรื่องในอดีตเพื่อให้เกิดความเกลียดชังกันมากยิ่งขึ้น แต่เราจัดงานรำลึกเพื่อให้เราไม่ลืม ไม่ให้เราเดินซ้ำรอยความผิดพลาดรุนแรงนองเลือดในอดีต

ในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ร่วมแผ่นดิน และ ร่วมโลก ความเห็นต่างกันเป็นเรื่องปกติ และ ไม่ควรมีใครต้องถูกฆ่าเพราะเพียงแค่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ เราเสวนาเพื่อแสวงหาเส้นทางประชาธิปไตย ไม่ให้ซ้ำรอยเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีกในสังคมไทย สังคมไทยต้องได้บทเรียนแล้วว่า การปล่อยให้มีการสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดการเกลียดชังกัน การใส่ร้ายป้ายสีว่า “หนักแผ่นดิน” “ขายชาติ” “ชังชาติ” “ล้มเจ้า” ก็ดี ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความสงบสุขของสังคม

การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทหาร กระทำความรุนแรงต่อประชาชนภายใต้อำนาจของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ย่อมเป็นการเพาะเชื้อแห่งความไม่พอใจและความรุนแรงในการโต้กลับในอนาคต ตำรวจทหารเป็นลูกหลานของประชาชน ต้องรับใช้ประชาชนและต้องยืดหยัดในการปกครองแบบประชาธิปไตย

ถ้าเราไปสำรวจไปศึกษาดูตามทัศนะของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านไม่ได้มองทหาร ตำรวจเป็นศัตรู แต่สามารถทำให้ทหาร ตำรวจร่วมมือเป็นกองทัพของราษฎรได้ ท่านเคยแสดงความเห็นไว้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ท่านพูดไว้ดังนี้

“ปัญหามิได้อยู่ที่ว่าถ้าผู้ใดเป็นทหาร (ตำรวจ) แล้ว ย่อมนิยมเผด็จการ หรือ ผู้ใดเป็นพลเรือนแล้วย่อมสนับสนุนประชาธิปไตย ปัญหาอยู่ที่ซากทรรศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาสยังคงฝังอยู่ที่บุคคลใด ไม่ว่าบุคคลนั้นเป็นทหาร หรือพลเรือนก็ทำให้บุคคลนั้นๆ ถือเป็นหลักปฏิบัติไปในแนวทางที่ต้องการ หรือสนับสนุนให้มีระบอบเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างระบบทาส...”

นอกจากนี้ท่านปรีดียังได้มีผลงานเขียน ใจความว่า

“…พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 นั้นคือ ต้องการให้ชายไทยเป็นทหารของราษฎรไทย หากการอบรมฝึกฝนทหารในสมัยหลัง ภายใต้อำนาจเผด็จการได้ทำให้ทหารประจำการเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการ”

ท่านทั้งหลายครับ สังคมมีเสถียรภาพได้ ทหารและตำรวจต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง สังคมจะสงบสุขได้ ก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามแนวคิด “ภราดรภาพนิยม”

ภาษีมรดก หรือ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่จัดเก็บจากทรัพย์สินและความมั่งคั่งของบุคคล ซึ่งจนถึงวันนี้รัฐบาลก็ไม่ดำเนินการจริงจัง การเก็บภาษีในฐานทรัพย์สินนั้น เป็นไปตามปรัชญาภราดรภาพนิยม ซึ่งเป็นหลักคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ คือ เมื่อมีคนยากจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สังคมก็จะต้องมีส่วนร่วมในการเข้ามาดูแล ชนชั้นผู้ร่ำรวยจึงต้องเสียสละความมั่งคั่งบางส่วน เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยรวม  ซึ่งหากวันหนึ่ง คนที่มีฐานะดี คนร่ำรวย ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีต้องไปตกยาก ยากลำบากลง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักของกฎแห่งความเป็นอนิจจังลักษณะ สังคมก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นการตอบแทนเช่นกัน

การสร้างสังคมให้มี “ภราดรภาพ” มีความเป็นพี่เป็นน้อง ถ้อยทีถ้อยอาศัย ปรองดองสมานฉันท์นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นลอยๆ ในภาวะที่สังคมมีความเห็นต่าง มีวิกฤตความขัดแย้งรุนแรง ต้องเริ่มต้นด้วยการมีวัฒนธรรม มีทัศนะทางสังคม หรือ ค่านิยมสนับสนุนความเสมอภาค ไม่แบ่งคนเป็นชั้นวรรณะ ไม่แบ่งคนเพราะมีเชื้อชาติต่างกัน ไม่แบ่งคนเพราะมีความคิดความเชื่อทางการเมืองและศาสนาต่างกัน นี่เป็นรากฐานเบื้องต้นของการที่เราจะมีสังคมที่มี “ภราดรภาพ” มีความเป็นพี่เป็นน้องและผู้คนก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติธรรมภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาค

ในสังคมแบบนี้จะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และ ผู้อำนาจรัฐก็ไม่ใช้กฎหมายยัดคดีให้กับผู้เห็นต่างหรือคนที่มีความเห็นหรือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

อย่างไรก็ตาม “ภราดรภาพ” เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสุขสงบสันติ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย และเศรษฐกิจจะต้องมีความเป็นธรรม คือจะต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำสูงจนเกินไป ฉะนั้น ต้องผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมือง และ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้เสียก่อน จึงทำให้เกิดสังคมภราดรภาพนิยม

ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมืองที่มีคุณภาพย่อมเกิดได้ยาก จะกลายเป็น Money Politics หรือ ธนาธิปไตยมากกว่า 

“เศรษฐกิจ” มีความสำคัญในฐานะพื้นฐานของการดำรงชีวิต หากประชาชนยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ยังต้องดิ้นรนเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวันๆ เขาก็จะไม่มีเวลา มาตระหนักถึงสิทธิ และเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะต้องแบ่งเวลาและความสนใจไปกับเรื่องปากท้อง แสวงหาให้ได้มาซึ่งปัจจัยอันจำเป็นแก่การดำรงชีวิตของตนและครอบครัว และก็จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง

ฉะนั้น เราต้องแก้ไขความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความผันผวน ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะแก้ไขความไม่เที่ยงแท้ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ได้ ก็คือการจัดให้มีสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า มีระบบประกันสังคมเข้มแข็ง หรือที่ท่านอาจารย์ปรีดี ใช้คำว่า “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ของประชาชน

“หลักการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” มาจากแนวคิดที่มีผลมาจากปรัชญาภราดรภาพนิยมของท่านปรีดี ซึ่งมีนักวิชาการ นักคิดหลายท่านได้ศึกษาไว้ ท่านปรีดีได้รับอิทธิพลจาก ‘ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ จิ๊ด’ (Charles Gide) และท่านก็ได้อธิบายว่าภราดรภาพนิยม (Solidarism) เป็นแนวคิดที่มองว่า “มนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งการนี้เป็นมูลฐานแห่งความยุติธรรมของสังคม” 

“ภราดรภาพนิยม” เชื่อว่า มนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน เช่น คนจนนั้นเพราะสังคมอาจทำให้จนลง หรือ คนที่รวยเวลานี้ก็ไม่ใช่ว่ารวยด้วยตัวเองอย่างเดียว หรือ เพราะแรงงานของตน แต่ต้องอาศัยแรงงานผู้อื่น ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันในการประกอบการในสังคมหรือในเศรษฐกิจ

รัฐบาลควรเร่งจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะว่าการเก็บภาษีจากทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งของบุคคล อันนี้จะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งการเก็บภาษีในฐานทรัพย์สินนั้นจะไม่กระทบการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ Covid-19  นอกจากนี้มันยังเป็นไปตามหลักที่ผู้คนจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะว่าคนมั่งมีก็มีความสามารถในการที่จะสละความมั่งคั่งบางส่วนเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งเวลานี้มีคนตกงานว่างงาน และบางคนว่างงานมาตั้งแต่ล็อคดาวน์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีงานทำ ลูกหลานก็ต้องออกจากโรงเรียน มีชีวิตที่ลำบากมาก ผมจึงอยากจะสรุปว่า การที่จะทำให้เกิดสังคมภราดรภาพในเบื้องต้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ประการแรก ต้องสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดย ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขึ้นมาให้ได้เสียก่อน

ประการที่สอง ต้องปลูกฝัง ค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านการศึกษาทั้งในระบบและระบบการศึกษาตามอัธยาศัย และต้องบรรจุบทเรียนความรุนแรงทางการเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ อยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงอุดมศึกษาฯ เพื่อเราจะหลีกเลี่ยงวิกฤตความรุนแรงในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้หลายประเทศก็ทำ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือเยอรมัน เขาจะเอาประวัติศาสตร์ซึ่งเขาเคยผิดพลาดและมีปัญหามาเป็นบทเรียน

ประการที่สาม ต้องผลักดันให้เกิด “รัฐสวัสดิการ” “สวัสดิการถ้วนหน้า” ด้วยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน อันเป็นไปตามแนวคิด “ภราดรภาพนิยม”

ประการที่สี่ ต้องส่งเสริมให้ใช้ “ระบบคุณธรรม” แทน “ระบบอุปถัมภ์” ในระบบราชการโดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจ ทหาร ซึ่งมีปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายที่มีลักษณะการดำเนินการแบบเล่นพรรคและเล่นพวกมาโดยตลอด ต้องเอาระบบคุณธรรมมาใช้แทน

ประการที่ห้า เสนอให้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการถาวร เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและการเรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียน เป็นสิ่งที่เตือนสติ เป็นสิ่งที่สังคมได้เรียนรู้ว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติธรรม มีศักดิ์ศรีและมีเสรีภาพได้อย่างไร 

ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว ไม่ว่า 14 ตุลาฯ 16  6 ตุลาฯ 19 ในประเทศไทย จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันเนี่ย หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ มีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนต่อสู้กับเผด็จการทหาร ปี 2523 จนเกิดการการสังหารหมู่ หรือแม้กระทั่งกรณี เทียนอันเหมิน ซึ่งมีการเรียกร้องการปฏิรูปและเสรีภาพก็ถูกปราบปรามเมื่อปี พ.ศ. 2532 จากนั้นก็มีการลุกขึ้นสู้ของประชาชน อาหรับสปริงทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง โดยเริ่มต้นที่ ตูนิเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2553 หลายกรณีก็ถูกปราบปรามโดยผู้มีอำนาจรัฐ

ไม่ว่าที่เมืองกวางจูเพื่อโค่มล้มเผด็จการทหารเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นที่เทียนอันเหมิน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดอกมะลิหรืออาหรับสปริงที่ตูนิเซียจนลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง หรือกรณีล่าสุด การลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวเมียนมาในการไม่ยอมรับการรัฐประหารของ “มิน อ่อง หล่าย” 

เราจะเห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยหลายเหตุการณ์ มักจะจบลงด้วยการปรามปรามของ “ทรรัฐ” ผมเรียกว่าทรรัฐ ไม่ว่าจะใช้ระบบการปกครองแบบไหนก็ตาม แต่ถือว่ารัฐที่ใช้ความโหดร้ายในการทำร้ายประชาชน ตรงนี้อยู่ที่ผู้นำ และกลุ่มชนชั้นนำว่าต้องการบริหารอำนาจและรักษาอำนาจแบบไหน

ถ้าเป็นไปตามกลไกที่ถูกทำนองคลองธรรม ถูกกฎหมายก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าจำนวนไม่น้อยก็ใช้วิธีปราบปราม ใช้วิธีการยัดคดี ใช้วิธีเข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ ผู้นำหรือกลุ่มผู้นำแบบนี้ก็ถือว่าเป็น “ทรราชย์” และไม่ว่าเขาจะมาจากการปกครองระบอบแบบไหนก็ตาม ที่ใช้ความรุนแรงด้วยกองทหารและอาวุธยุปโธปกรณ์จากภาษีประชาชน นำมาเข่นฆ่าและทำร้ายประชาชน ล้วนเป็น “ทรรัฐ” ได้ทั้งสิ้น

อย่างเป็นทางการตามกฎหมายอาจไม่มี “อำนาจจริง” ในการควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความรุนแรงนองเลือด แต่อาจจะมีการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก ซึ่งบางทีนักวิชาการก็เรียกว่า “อำนาจจากรัฐพันลึก” ซึ่งก็อาจเข้ามาแทรกแซง เข้ามาก่อเหตุการณ์สร้างสถานการณ์

สำหรับ คนหนุ่มสาว ที่รอดชีวิตมาได้หลังความรุนแรงนองเลือดในค่ำคืนวันที่ 5 ตุลาฯจนถึงช่วงย่ำรุ่งวันที่ 6 ตุลาคม 19 ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ท้องสนามหลวง ถือว่าเป็นผู้โชคดีที่รอดพ้นจากเงื้อมมืออันโหดร้ายของ “ทรรัฐ” ในยุคนั้น หลายท่านก็ได้เติบโตก้าวหน้าเป็นกำลังสำคัญให้กับสังคมไทยในหลายภาคส่วน อย่างเช่น ‘ท่านสุธรรม แสงประทุม’ ท่านก็เป็นผู้นำนักศึกษา และต่อมาก็ได้ทำหน้าที่ต่างๆ ให้ชาติบ้านเมือง หรือหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ‘คุณภูมิธรรม เวชยชัย’ ‘คุณจาตุรนต์ ฉายแสง’ ‘คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช’ คนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองทั้งสิ้น โชคดีที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์นั้นได้ เนี่ย

หากย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีที่แล้ว เสียงปืนระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย เป็นฐานที่มั่นของฝ่ายประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ธรรมศาสตร์สถาบันที่พร่ำสอนให้รักประชาชนถูกปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ทหารบางส่วน รวมทั้งกองกำลังมวลชนจัดตั้งขวาจัดอย่าง กระทิงแดง นวพล และ ลูกเสือชาวบ้าน

มวลชนเหล่านี้ก็ถูกปลุกเร้าว่า นักศึกษาที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เป็นพวกชังชาติ ขายชาติ หนักแผ่นดินและเป็นพวกคอมมิวนิสต์ การปลุกเร้าใส่ร้ายด้วยวาทกรรมเหล่านี้ก็มีผลทำให้เกิดความบ้าคลั่ง จนเกิดกระทำรุนแรงต่อผู้นำนักศึกษา หรือนักศึกษาทั้งหลาย ที่ไปร่วมชุมนุมประท้วงอย่างสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เราได้เห็นวีรชนที่ได้สละชีวิตไป ไม่ว่าจะเป็นร่างไร้วิญญาณของ คุณวิชิตชัย อมรกูล คุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ คุณมนัส เศียรสิงห์ คุณอนุวัตร อ่างแก้ว และมีวีรชนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ทั้งหมด 

นอกจากนี้ มีผู้นำนักศึกษาจำนวนมากถูกจับติดคุกโดยไม่มีความผิด เช่น สุธรรม แสงประทุม, สุรชาติ บำรุงสุข, ธงชัย วินิจจะกูล, ประยูร อัครบวร, สุชีลา ตันชัยนันท์, อรรถการ อุปถัมภากุล, สุชาติ พัชรสรวุฒิ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ, อภินันท์ บัวหภักดี, ประพนธ์ วังศิริพิทักษ์, โอริสสา ไอราวัณวัฒน์, วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, บุญชาติ เสถียรธรรมมณี, มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม, เสงี่ยม แจ่มดวง, เสรี ศิรินุพงศ์, คงศักดิ์ อาษาภักดิ์, สุชาติ พัชรสรวุฒิ และ อารมณ์ พงศ์พงัน ซึ่งผู้นำกรรมกร ผู้ล่วงลับ เป็นต้น                                          

ผู้คนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยที่รักความสงบ รักความเป็นธรรม แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาในประเทศไทยได้อย่างไร ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา ที่ “ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์” และ “คณะราษฎร” มีความมุ่งหมายให้สถาบันแห่งนี้ เป็นแหล่งผลิตพลเมืองเพื่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อการเมืองใหม่หลังการอภิวัฒน์ 2475

ในวันนั้น “ธรรมศาสตร์” ต้องนองไปด้วยเลือดและตกเป็นเป้าของอาวุธสงครามที่ยิงถล่มเข้ามาราวกับเป็นสนามรบ

เหตุการณ์เยี่ยงนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้ว บ้านเมืองของเราเป็นเมืองพุทธ องค์พระศาสดาสอนไว้ ผู้คนมีเมตตากรุณาต่อกัน มีพรหมวิหาร 4  ห้ามการฆ่าฟันกัน คือ แม้ว่าจะมีความเห็นต่าง คือมีความขัดแย้งอะไรก็ตาม เราต้องไม่ฆ่ากัน ที่น่าเสียใจ น่าเสียดาย และเศร้าใจมาก คือ ประเทศไทยไม่เคยจำบทเรียน เพราะว่า 40 ปี ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ก็ยังมีเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองแบบนี้อีก ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว

สมัยเมื่อ 45 ปีฯ คนหนุ่มสาวในปี 2519 จำนวนหนึ่งถูกคุกคามไล่ล่าจนต้องหนีเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวในยุคนี้ก็ถูกคุกคาม ถูกยัดคดี ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรจะฟังจากเขา ควรจะให้เยาวชนได้แสดงออก และ เปิดการสานเสวนากันเพื่อแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง คนหนุ่มสาวเหล่านี้ เขาก็คือ ลูกหลานของเราเอง เป็นอนาคตของชาติ ที่เราต้องปกป้องดูแล ไม่ใช่ทำลายล้าง  

การปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณต่อขบวนการสันติธรรมประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวโดยทรรัฐ ไม่ว่าเหตุการณ์ไหนก็ตาม 40 กว่าปีที่ผ่านมา ก็อาจทำให้ประเทศไทยถลำลึกที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกได้ ซึ่งเมื่อ 45 ปีที่แล้ว มันก็ได้ถลำลึกลงไปแล้ว ก็ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างกองเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบระหว่างกองทัพไทย กับ กองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ กว่าจะฟื้นฟูให้บ้านเมืองให้ความสงบปรองดองสมานฉันท์ได้ระดับหนึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี

คนหนุ่มสาวที่ได้ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในวันนั้น ได้กลายเป็นวัยเกษียณในวันนี้ บางท่านอยู่ในวัยเกษียณ บางท่านก็ยังไม่ได้หยุดทำงาน แต่ประเทศไทยยังหนีไม่พ้นที่เรียกว่าวงจรของระบอบเผด็จการแฝงเร้น ยังวนเวียนกลับมาอยู่จุดเดิม สายธารประชาธิปไตยได้วกกลับไปอยู่ในจุดเดียวกับหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

45 ปี เรามีรัฐประหารอีก 4 ครั้ง ความพยายามก่อกบฏโดยคณะทหารอีกหลายครั้ง มีการเรียกร้องประชาธิปไตย และเกิดเหตุการณ์รุนแรงนองเลือดหลายครั้งและการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

45 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และ 48 ปีหลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับ และมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แม้สามทศวรรษก่อนหน้านี้ ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจน สู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง

แต่วันนี้ คนยากจนกลับเพิ่มขึ้นจากวิกฤตการณ์โควิด 19 ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ติดอันดับต้นๆ ของโลก รายได้ประเทศลดลง ขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ ต้องขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60% เป็น 70% 

ลำพังไม่มีวิกฤติความขัดแย้ง ปัญหาเหล่านี้ก็แก้ไขยากอยู่แล้ว ยิ่งมีความขัดแย้งยิ่งแก้ยาก ฉะนั้นประเทศต้องการความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเราต้องเอาหลักคิดภราดรภาพนิยมมาเป็นตัวนำ

สังคมต้องการความสามัคคี สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดหากไม่คิดเรื่อง “ภราดรภาพ” สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าสังคมยังไม่มีความเป็นธรรม ความสันติธรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรายังไม่มีเสรีภาพและไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง

เราต้องใช้ “ภราดรภาพ” ในการเอาชนะพลังแห่งการเกลียดชังและทำลายป้ายสี และ ทำลายความหวาดระแวงในหมู่คนไทยด้วยกัน หากพวกเราทั้งหลาย ยึดหลักภราดรภาพ มองทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นส่วนประกอบกันขึ้นเป็นสังคมไทย ผู้มีอำนาจยึดถือความเป็นธรรมและปกครองประเทศอย่างมีนิติรัฐ นิติธรรม เสรีภาพได้รับความคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนได้รับการดูแล ประเทศของเราก็จะมีอนาคตและไม่มีเหตุการณ์นองเลือดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

บัดนี้ สมควรแก่เวลาขอให้ท่านทั้งหลายได้ร่วมสดับตรับฟัง การอภิปราย PRIDI Talks ครั้งที่ 13 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ สังคมที่ก้าวหน้า เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยทำให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่แท้จริง ทำให้กองทัพเป็นสถาบันของทหารอาชีพ ให้ปฎิบัติภารกิจให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ขอบคุณครับ.

 

ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร ปาฐกถานำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ หัวข้อ ภราดรภาพนิยม: แนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรมในวิกฤตขัดแย้งและสังคมเห็นต่าง, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564