ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ชีวิต 5 แผ่นดินของพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ พ.ศ. 2443 - 2540

7
พฤศจิกายน
2565

ชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่จะยืนยาวมาเกือบถึง 100 ปี ย่อมถือว่าเป็นบุญยิ่งนัก แต่การที่จะสามารถครองตนดำรงชีวิตอย่างมีค่า ตลอดอายุขัยย่อมยากยิ่งกว่า...

และนี่คือ ประวัติชีวิตของ ‘พันตรี วิลาศ โอสถานนท์’ ที่ท่านเจ้าของชีวิตชอบที่จะเล่าให้ลูกหลานและผู้ใกล้ชิดฟัง

 

“คุณพ่อ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ) เป็นบุตรพระสุพรรณสมบัติ (ถมยา โอสถานนท์) ผู้บังคับการโรงทองและคลังเครื่องทองฝ่ายพระราชวังบวรฯ ตามประวัติต้นตระกูลโอสถานนท์ ได้อพยพมาจากเวียงจันท์ และตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลนาเหล่าน้ำ และนาเหล่าบก อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คุณพ่อท่านเป็นพระยาถึง 5 ครั้ง 5 ชื่อ เป็นเทศาภิบาล หรือเจ้าเมือง (ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน) อยู่ถึง 4-5 แห่ง คุณพ่อเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นหลังรัชกาลที่ 6 คุณแม่ คือ คุณหญิงนิล สกุลเดิมศรีไชยยันต์ เป็นธิดาบุญธรรมของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ สมุหกลาโหมครั้งรัชกาลที่ 5”

 

พันตรี วิลาศ โอสถานนท์

 

ท่านเกิดรุ่งอรุณของวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2443 คุณแม่ของท่านเล่าว่า เป็นเวลาเช้าตรู่ พอที่จะมองเห็นผ้าเหลืองที่ห่มรอบภูเขาทองแล้ว เนื่องจากบ้านที่ถือกำเนิด ซึ่งเป็นเรือนไม้โบราณสองชั้นอยู่ย่านสำราญราษฎร์ บริเวณบ้านติดคลองโอ่งอ่าง และลึกจรดกำแพงเมือง เนื่องจากเป็นบุตรคนโต และคงจะได้รับการตามใจมากเป็นพิเศษ ท่านจึงเป็นเด็กซุกซน และ “หัวโจก” ของเด็กๆ ในย่านสำราญราษฎร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระโดดน้ำเล่นในคลองโอ่งอ่างทำให้เป็นที่ห่วงใยของมารดาอยู่เนืองๆ หรือเล่นฟุตบอลบนชานเรือน เป็นต้น อีกผู้หนึ่งที่ท่านจะรำลึกถึงเสมอ คือ สองสามี-ภริยา พี่เลี้ยงของท่านที่ชื่อแม่แย้มกับตาไล้

 

“แม่แย้มกับตาไล้เป็นชาวอยุธยา มาขออยู่กับคุณพ่อคุณแม่โดยแลกเปลี่ยนกับเงิน 4 บาท หรือ 1 ตำลึง ในสมัยนั้นคุณแม่จึงมอบหน้าที่ให้แม่แย้มเป็นพี่เลี้ยง ส่วนตาไล้ก็ช่วยงานในบ้านด้วย เพราะตาไล้เก่งทางด้านช่างไม้และช่างบัดกรี……”

 

แม่แย้มเลี้ยงท่านมาตั้งแต่ยังแบเบาะ และเกิดมีนิมิตรว่าเทวดามาบอกให้ไปแทงถั่วโป เลข 2 และเลข 3 โดยให้แม่แย้มถือสัจจะว่าเมื่อเงินเต็มกระเป๋า แล้วให้กลับบ้านทันที แม่แย้มจึงร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น และถือว่า “คุณใหญ่” ของแม่แย้มเป็นผู้นำโชคมาให้

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานชื่อ “วิลาศ”

เนื่องจากคุณพ่อของท่านได้ทำงานถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะเลขานุการของพระองค์ท่าน จึงได้กราบทูลขอให้พระองค์ท่านประทานชื่อลูกชายคนโต พระองค์ท่านได้พระราชทานชื่อ “วิลาศ”

 

“เมื่อคุณพ่อท่านทราบว่าประทานชื่อ “วิลาศ” ท่านเข้าใจว่าจะแปลว่า เยื้องกราย ร่ายรำ สวยงาม แต่เสด็จในกรมฯ ได้ทรงอธิบายว่า นั่นเป็น “วิลาส” แต่ท่านพระราชทานชื่อ “วิลาศ” แปลว่า ฝรั่งอังกฤษ เนื่องจากคุณพ่อเป็นนักเรียนอังกฤษก็เลยตั้งชื่อลูกเป็นลูกอังกฤษ”

 

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2497 วิลาศ แปลว่า ของยุโรป (เป็นคำที่ชาวอินเดียในสมัยก่อนเรียกชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวอังกฤษ) เช่น สาคูวิลาด, เหล็กวิลาศ, ผ้าวิลาศ

 

เด็กชายจอมแก่นมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง

ในวัยเด็ก นอกจากจะมีเรื่องซุกซนต่างๆ นานา แล้ว ท่านยังมีโอกาสได้เข้าเฝ้าเจ้าจอมมารดาและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับเด็กชายที่ซุกซนย่อมมีเรื่องที่จดจำนำมาเล่าให้ลูกหลานฟัง แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์นั้นมาเกือบศตวรรษ

 

“ตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบแล้ว สำหรับเด็กผู้ชายจะถือว่าเกินวัยที่จะให้เข้าไปในบริเวณที่ “ฝ่ายใน” ประทับแต่เนื่องจากคุณยายใกล้ชิดกับเจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 น้องสาวทั้งสองคนคือ ระยับกับชำนัญ ก็ได้ถวายตัวตั้งแต่ยังไม่หย่านม พระธิดาทั้งสองพระองค์ของท่านคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอภันตรีปชาและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ เวลาท่านประชวร ต้องจัดส่งหมอฝรั่งเข้าไปตรวจพระอาการ คณะที่จะไปประกอบด้วย คนจุดคบเดินนำหน้า หมอฝรั่งเดินกลาง และตบท้ายด้วย เด็กชายวิลาศ คุณท้าวกรมวัง เสนาบดีโขลน ซึ่งคุ้นเคยกับครอบครัวและเรียกตัวเองว่าย่า ท่านจะแกล้งทักว่า “ตาลาศ เป็นหนุ่มแล้วเข้าวังไม่ได้แล้วนะ” แต่ที่ได้สิทธิพิเศษก็เพื่อมิให้หมอเข้าไปตรวจพระอาการโดยลำพัง”

 

เล่นละครเป็นนางวันทอง ตอนวันทองห้ามทัพพระไวย
เล่นละครเป็นนางวันทอง ตอนวันทองห้ามทัพพระไวย

 

เหตุการณ์ที่ตื่นเต้นในวัยเด็กก็คือ การที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเล่าว่า

 

“ในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านทรงมีหมายรับสั่งให้ข้าราชการที่เป็นชั้นพระยาพาครอบครัวเข้าเฝ้าในงานฤดูหนาวเดือนธันวาคมของทุกปี เขาจัดที่ไว้ให้ที่สนามตรงพระบรมรูปทรงม้า (ขณะนั้นยังไม่มี) ทุกคนที่เป็นพระยาต้องนำครอบครัวไปหมดเอาพรมปูกับสนามหญ้าเป็นวงกลม มีการจัดลำดับที่ไว้ให้ เช่น พระยาราชวินิจจัย พระยา มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) คุณพ่อนั่งอยู่ประมาณแถวที่ 3 มีทั้งคุณแม่ คุณน้า และคุณยายไปด้วยกัน ส่วนตัวเองยังเด็กมาก คุณพ่อให้ใส่เสื้อราชปะแตน และนุ่งโจง ซึ่งเกลียดมาก จึงได้รับอนุญาตให้นุ่งกางเกงแพรได้เพราะยังเป็นเด็ก เจ้าจอมมารดาแสได้เตือนให้ใส่เสื้อข้างในให้อุ่นไว้เพราะอากาศเย็น เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านทุกคนก้มลงกราบ ท่านจะทรงทักทายกับคุณพ่อเรื่องการถ่ายรูป เพราะคุณพ่อชอบเล่นกล้อง และมีห้องอัดรูปส่วนตัวที่บ้าน บางครั้งก็นำเอาฟิล์มที่พระองค์ท่านได้ทรงถ่ายนำไปล้างและอัดถวาย และทรงทักคุณยายว่า แม่อุ่นปีนี้สาวขึ้นนะ ส่วนตัวเองนั้น ท่านทรงเอ็นดูด้วยเห็นว่าเป็นเด็ก ทรงไถ่ถามชื่อ และเอาพระหัตถ์กดหัว เด็กชายวิลาศจอมแก่นก็พยายามแข็งขืน

พระองค์ท่านรับสั่งว่าตาลาศนี่หัวแข็ง และทรงจับหัวบิดไปมา พร้อมกับรับสั่งว่า “เสนาเปีย-แกเป็นเสนาฉัน” เมื่อพระองค์ท่านเสด็จผ่านไปแล้ว ท่านก็ถามคุณพ่อของท่านว่า ทำไมในหลวงจึงรับสั่งว่า ผมเป็นเสนาเปีย คุณพ่อตอบว่า “เพราะเราไม่ยอมตัดผม ชอบไว้ผมยาว บอกให้ตัดทีไรก็วิ่งหนีขึ้นกำแพงเมือง พระองค์ท่านคงทรงเห็นว่า ผมเรายาวเกือบจะถักเปียได้อยู่แล้ว” เมื่อเติบโตขึ้น คุณพ่อของท่านได้ชี้ให้เห็นถึงพระจริยวัตร อันงดงามของพระองค์ท่าน ไม่ถือพระองค์ และทรงมีพระเมตตาเผื่อแผ่มาถึงครอบครัวด้วย จึงทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มีความรู้สึกจงรักภักดีและผูกพันกับพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง”

 

เข้ารับการศึกษาหลายสำนักเพราะความซน

“คุณพ่อ คุณแม่ เห็นว่าอยู่บ้านก็ซนมาก จึงส่งให้ไปเป็นลูกศิษย์ท่านมหาอยู่ที่วัดสระเกศซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ท่านเป็นครูคนแรกที่สอนให้อ่านเรียน ก. ข. และต่อมาท่านมหาอยู่ได้ดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช”

 

หลังจากเรียน ก. ข. กับท่านมหาอยู่แล้ว ทางบ้านได้ส่งให้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัยและเทพศิรินทร์เพราะใกล้บ้าน ท่านจำได้ว่าครูของท่านชื่อครูฉัตร การเดินทางไปโรงเรียนนั่ง “รถเจ๊ก” ที่มีคนลากโดยพี่เลี้ยง คือ แม่แย้มและตาไส้สามีตามไปส่งด้วย จึงทำให้รถหนักกว่าปกติ ต้องมีผู้ช่วยดันท้ายรถอีกด้วย ถ้าขึ้นรถรางก็จะขอโอกาสช่วยคนขับรถราง ซุกซนไม่เป็นอันเรียน คุณพ่อคุณแม่จึงจับให้ไปอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งก็กลับได้เป็นหัวโจกในการซนอีก เพราะพรรคพวกที่เคยซนด้วยกันแถวบ้านที่สำราญราษฎร์ก็อยู่โรงเรียนนี้เป็นส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าน่าจะติวเข้มเรื่องการศึกษามากกว่านี้ จึงส่งให้ไปอยู่ชั้นหนึ่งที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดยให้ไปกิน-นอนอยู่ที่โรงเรียนกับอาจารย์นอกซ์ และมิสเตอร์แอทกินส์ เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ เพราะโรงเรียนนี้ห้ามพูดภาษาไทย ถ้านักเรียนพูดภาษาไทยจะถูกตัดเงินเบี้ยเลี้ยง

ในช่วงนี้ทางบ้านได้ย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ย่านสีลมใกล้ๆ ป่าช้าฮกเกี้ยน คุณพ่อคุณแม่ของท่านก็ย้ายไปเป็นเทศาภิบาลในจังหวัดต่างๆ คุณยายจึงเป็นผู้ปกครองดูแลท่านและน้องๆ ที่อยู่ในวัยเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ตัวท่านเองไม่เดือดร้อน เพราะอยู่ประจำเป็นส่วนใหญ่ และมีความสุขสนุกสนานกับเพื่อนๆ จนไม่อยากเรียนจบโดยเฉพาะเมื่อออกจากกรุงเทพคริสเตียนแล้ว ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน) ถึง 9 ปี โดยเรียนซ้ำชั้นในปีสุดท้ายถึง 3 ปี เพราะคบคิดกับเพื่อนรัก 5 คน ไม่ส่งข้อสอบ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกจากโรงเรียน ร้อนถึงเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นผู้ปกครองแทนคุณพ่อของท่านต้องเรียกไปตักเตือน และดุว่าถ้ารู้ถึงพระกรรณในหลวง (รัชกาลที่ 6) ท่านจะทรงกริ้ว

 

อุปสมบท
อุปสมบท

 

ถ่ายกับพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช
ถ่ายกับพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช

 

โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ชีวิตในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงสนุกอย่างไรคงจะต้องคัดลอกจากบทสัมภาษณ์ของท่านที่ให้สัมภาษณ์หนังสือจันทร์ ฉบับที่ 104 เดือนพฤษภาคม 2539

 

“ผมเรียนอยู่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่ชั้นเล็กจนจบ ม.8 เป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียน ชีวิตผมอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 6 ใกล้ชิดมากนะครับ เวลาพระองค์ท่านเสวยโดยมากท่านไม่เสวยพระองค์เดียวหรอก ท่านมีอันเต คือ มีข้าราชการผู้ใหญ่ไปนั่งด้วย อย่างเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าพระยาต่างๆ เวลาพระองค์ท่านเสวยพวกเราต้องไปคอยอยู่นะครับ ท่านเรียกผม วิลาศมานี่ ท่านเรียกให้ผมไปปัดยุงให้ท่าน แล้วท่านเสวยอะไรท่านจะแบ่งใส่จาน ผมยังนึกเลยว่าทำไมท่านต้องให้เรากิน บังคับด้วยนะว่าอย่ากินข้าวมานะ มากินกับฉัน ท่านให้นั่งกินกับพื้นมีพนักงาน เอาช้อนส้อมน้ำท่าอะไรมาเสร็จ วางกับพื้นพรม ท่านจะเลี้ยงเด็กนักเรียนทุกคนเห็นท่านยิ่งกว่าพ่ออีก

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ท่านเสด็จฯ มาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงทุกวันเสาร์ ท่านไม่เคยพลาด ทุกอย่างต้องเรียบร้อยหมด แม้แต่ครูบาอาจารย์ต้องมายืนรับเสด็จฯ ท่านเสด็จฯ มา 10 โมงเช้า แล้วพวกเรานักเรียนต้องร้องเพลงถวายพระพร เพลงพุทธานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลน้อยใหญ่……ท่านประทับยืนฟัง พวกนักเรียนชั้นมัธยม 8 ก็ยืนอยู่ข้างหน้า ท่านทอดพระเนตร พวกเราก็เงียบกันหมดเขาจะถวายรายงาน ท่านถามเจ้าพระยารามฯ (เจ้าพระยารามราฆพ (เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา)) พวกนักเรียนลูกศิษย์เราอยู่พร้อมไหม สมัยนั้นมีนักเรียน 120 คน โรงเรียนเป็นหลังคาจาก……ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง คือ นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) เป็นคนเชียงใหม่ เขามีพี่เลี้ยงเป็นลาว โรงเรียนต้องจัดห้องให้เขานอน คุณวอก็ใช้พี่เลี้ยงทำโน่นทำนี่ ทีนี้คุณวอเขาเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับผม อยู่ห้องเดียวกัน คุณวอบอกพี่เลี้ยงของเขาสักที่หัวนิ้วมือ เขามียา ถ้างูกัดแล้วไม่เป็นไร งูเห็นรอยสักมันหนีนะ ผมก็บอกว่าผมเห็นมีงูอยู่ตัวหนึ่งใหญ่มากเลยผมก็สักที่ข้อนิ้วบ้าง ให้พี่เลี้ยงคุณวอสักให้แถววังสวนจิตรฯ มีป้อม แล้วมีคลอง โรงเรียนมหาดเล็กหลวงอยู่ฝั่งตรงกันข้าม เราชอบไปจับปลามาปิ้งกินกัน โอ้โฮ พบ งูหลามตัวใหญ่มันโผล่หัวออกมา ผมเขกหัวมัน จะให้มันเข้าไป ผมบอกนี่ งูมันอยู่นั่นนะ เขาบอกเฮ้ย ทดลองซิว่าที่สักใช้ได้ผลไหม

 

งานวชิราวุธานุสรณ์
งานวชิราวุธานุสรณ์

 

ผมบอกจะทำยังไง เขาบอกถ้ามันโผล่หัวออกมา ถ้าเราย่องข้างบนให้ดี คว้าคอมัน ผมบอกเอาไม่อยู่หรอกเอาผ้าขาวม้าชุบน้ำเสียก่อนแล้วพันมือ งูนั่นมันเจ้ากรรม มันไม่เอาหัวออกมา มันถอยหลังออกมา ผมคว้าปั๊บ จับดึงกันใหญ่สองคน ที่ไหนได้ งูดึงเราเข้าไป งูเหลือมนี่มันแข็งแรงมันจะพันข้อมือเรา เอ้า ผมบอกแล้วทีนี้มึงจะกลับหัวยังไงมากัดกูน่ะ เราก็เอาผ้าที่พันมือนี่พันมันๆ ในที่สุดประเดี๋ยวเดียวเพื่อนมาเยอะเชียว ช่วยกันชักคะเย่อเอางูออกมา นี่ครับซนกันถึงที่สุด แต่ยาของเขาใช้ได้ผลจริงๆ ครับ งูเห่ากัดจึ๊กเดียวน้ำดำๆ มันจะไหลออกมา แหม ยาเขาดีเหลือเกินครับ ยาของเชียงใหม่สมัยโบราณ

 

เล่นละครให้กับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ กับพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ฯ ปี 2491
เล่นละครให้กับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ กับพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ฯ ปี 2491

 

ทีนี้ในห้องเรียนโต๊ะเรียนมันมีที่สำหรับวางกระปุกปากกามีรูนะครับ เราก็ปิดมันเสียแล้วเอาลวดผูกไม่ให้มันเปิดได้ใครจับงูได้ 5 ตัว ได้กินข้าวกลางวันฟรี (หัวเราะ ) ก็มีคนสมัคร 4-5 คน ไปจับกันใหญ่เลย ผมไปจับก่อนใครๆ ผมรู้หมดมันอยู่ที่ไหน เอามือไปจับหัวปั๊บ แหมมันรัด ปากมันกัด มีพิษแต่ไม่เป็นไร ผมจับงูยัดใส่ลงไปในกระปุกตรงโต๊ะเรียนยัดเข้าไปๆ ทีนี้มันหลายคนนี่ครับ มันก็ได้งูอัดเต็ม ทีนี้ครูมาก็อ้าว ใครเอากระปุกหมึกไปล่ะ ครูจะเขียนชื่อ ผมบอกเพื่อนเฮ้ยประเดี๋ยวงูมันออกมาแล้วครูจะทำยังไง พอดีครูมาเลย หลวงจรูญฯ เป็นครูสอนเลข บิดาแกขายของอยู่ที่เสาชิงช้าแกเคยเรียกผมไปแล้วบอกว่านี่ ขอย่างเดียวอย่าซนให้เสียของนะ ซนเสียของนี่โต๊ะเต๊อะเขาพังหมดแล้ว

แกมาถึงแกก็เปิดฝากระปุก เปิดไม่ออกใครเอากุญแจมาใส่ ผมบอกครูอย่าเปิดเลยวันนี้ เดี๋ยวผมไปหามาให้ แกก็ไม่ยอม แกสงสัยใครเอากุญแจมาใส่โต๊ะแก แกไม่ได้ใส่ แหมประเดี๋ยวเดียวไอ้งูดันกระปุกหมึกกระเด็นเลย มันขึ้นมาเลยครับ ขึ้นมาทีละตัวๆ ในห้องเรียนนี่งูทั้งนั้น หลวงจรูญฯ วิ่งหนี เจ้าคุณบรมบาทเป็นผู้บังคับการโรงเรียน (อาจารย์ใหญ่) หลวงจรูญฯ แกก็ไปฟ้องเจ้าคุณบรมบาท เจ้าคุณตีระฆังเรียกประชุมเลย บอกแหม เล่นอย่างนี้ไม่ไหวเอางูพิษมาเที่ยวได้ปล่อยก็เราไม่ได้ปล่อย ครูแกไปเปิดออกมาเอง (หัวเราะ) ในที่สุดเขาลงความเห็นให้หลวงจรูญฯ ตีผม 5 ที ใช้ไม้ยาวตี เรียกประชุม มีครูฝรั่งเป็นคนอังกฤษ 5 คนมายืนคอยดู

หลวงจรูญฯ ความที่แกยังหนุ่มอยู่แกก็โกรธ แกตีผมปั๊บเดียว ผมนี่นุ่งกางเกงตั้ง 3 ตัว แกไปตีน่อง เลือดออกผมล้มลงเลย แกให้จับให้ยืนขึ้นอีก ความที่แกโมโห ครูฝรั่งบอกครูจะตีต่อไปอีกไหม นี่เห็นไหมเลือดออกแล้ว ครูฝรั่งคนนี้เป็นครูที่ชอบผมด้วย ไปหมดเลย บอกดูไม่ได้ นี่มันไม่ใช่ตีกันฆ่ากันนี่ ฝรั่งเขาไปบอกผู้บังคับการโรงเรียน ท่านก็มา ท่านบอกทำไมคุณหลวงจรูญฯ เหี้ยมโหดอย่างนี้ล่ะ จับดูน่องผม แหม แตกเลยครับ เดินไม่ได้เลย ต้องอุ้มไปเลยถูกตีทีเดียว ครูฝรั่งโกรธ เขารักผมทุกคนนึกยังไงก็ไม่รู้ เด็กๆ นี่ซนเดี๋ยวนี้ผมไม่กล้าเล่นกับงูแล้ว กลัวยามันอาจจะหมดฤทธิ์แล้วก็ได้ (หัวเราะ)”

 

หนุ่มนักเรียนนอก (พ.ศ. 2464 - 2472)

ท่านให้สัมภาษณ์ในหนังสือจันทร์ว่า

 

“ผมมีเพื่อนสนิท คือ ทวี บุณยเกตุ เขาอยู่โรงเรียนราชวิทยาลัย เราเล่นฟุตบอลแข่งกันทุกปีเลยครับ ทวีมาเป็นนักเรียนอังกฤษด้วยกัน เขารู้นิสัยผมดี ผมตัดสินใจผมชก-ิบ-หายหมดครับ เด็กฝรั่งไม่กล้ามาย่างกรายผมหรอก คือ อายุมันมากแล้วครับ เจ้าคุณภรตราชาผู้ดูแลนักเรียนโกงอายุผมนะ ผมอายุ 19 แล้ว เจ้าคุณภรตฯ บอกอายุ 13 เองไปทำพาสปอร์ตใหม่ให้ผม แล้วผมบอกครูครับนี่ครูทำผิดกฎหมาย (หัวเราะ) ท่านบอกเออน่าแกอย่าซน นิ่งๆ ไว้ ท่านเอาพาสปอร์ตผมไปเปลี่ยนใหม่ ผมมาดูเอ๊ะ ที่ต้องโกงเพราะว่าเราเป็นนักเรียนผู้ใหญ่แล้ว ถ้าไปเข้าโรงเรียนเด็กใครเขาจะรับล่ะครับ นักเรียนเขาอายุ 14 ทั้งนั้นแหละรับ แต่เจ้าคุณภรตฯ ไม่ให้เราไปเข้าโรงเรียนผู้ใหญ่ถึงเป็นผู้ใหญ่ โกงได้ก็ให้ไปเข้าโรงเรียนเด็ก อยากจะให้ใช้ชีวิตอย่างเด็กนักเรียนอังกฤษ จะได้รู้จักว่ามันเป็นยังไง”

 

วิลาศ ซ้ายสุด
วิลาศ ซ้ายสุด

 

“ทวีเป็นเพื่อนเรียนกับผมมา แกซนครับ แกชอบสูบบุหรี่ แกไปขุดจอมปลวกที่หลังโรงเรียน ทำเป็นโครงเข้าไปด้วยสูบบุหรี่ควันมันก็ขึ้น ปล่องเขาเจาะรูไว้ ผมต้องไปเรียก บอกครูเขากำลังจะตรวจ สูบบุรี่ควันมันออกน่ะ แกยังไม่กลัว ผมไปฉุดแกออกมา พอฉุดเข้าไปในห้องน้ำครูมาถึง เขาซนที่สุด ผมต้องคอยห้ามแก เจ้าคุณภรตฯ ยังบอก คุณทวีนี่แกซนมหาศาล ซนอย่างร้ายกาจที่สุด

แกไปกินน้ำชาที่โรงเรียนนี่พวกนักเรียนฝรั่งหนุ่มๆ มานั่งอยู่ตรงประตูนะครับ ประตูใหญ่ที่เขาเปิดให้วัวเข้าออกพอเราก้าวไปเสียงประตูมันดังเช้งๆ มันถามว่าเราเป็นเจ๊กหรือ ทวีบอกว่า นี่คุณวิลาศ ไอ้พวกนี้เราต้องปราบมัน สองคนปราบอยู่ไหม ผมบอกลองดู ก็ปรึกษากันว่านี่พรุ่งนี้เราไปเดินฝั่งที่มันนั่งนะ แล้วมันก็จะต้องว่าเช้งๆ อีกนะ ไอ้คนที่ออกปากเช้งน่ะ คุณระวังให้ดีนะ มันกำลังเช้งๆ อย่างนี้ผมจะชกมันให้มันดิ้นอยู่ตรงนั้นแหละ คุณคอยดูซิ ผมเดิน มันเช้งๆ 3 หน พอถึงตรงนี้ผมตบหน้ามันทีเดียวด้วยหลังมือชักดิ้นลงไปตรงนั้น เด็กฝรั่งมันไม่เก่งจริงหรอกครับ แหม ผมเห็นเลือดมันออกเลย พวกเพื่อนมันเปิด ไม่มีใครช่วยเลยสักคน แล้วเราสองคนกับทวีต้องไปอุ้มมัน ตั้งแต่นั้นคนในอองก้า เมืองเล็กๆ ที่เราไปเรียนนับถือเราหมด เออ แปลกแฮะไอ้ฝรั่งนี่” คุณทวี บุณยเกตุ ต่อมาคือนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงหนึ่ง

ในฐานะนักเรียนทุนหลวงของกรมชลประทาน ท่านจึงได้ไปสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยลอนดอน แต่พอจะเข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ท่านเจ้าคุณภรตฯ ก็แจ้งให้ทราบว่า กรมชลประทานมีนักเรียนทุนที่อังกฤษ 6 คนแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ขอให้ท่านย้ายไปเรียนวิชาการเกษตรที่เดวอนเชียร์ เป็นที่เสียดายทั้งของตัวท่านเองซึ่งต้องการอยู่ลอนดอนมากกว่า และท่านเจ้าคุณภรตฯ ที่ต้องเสียผู้ช่วยไปหนึ่งคน เพราะตอนนั้นเป็นนักเรียนซีเนียร์แล้ว และมีนักเรียนที่เป็นเจ้านายส่วนใหญ่ เช่น พระองค์อาภัสฯ (พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์) พระองค์จุมภฏฯ (พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร) ซึ่งยังเด็กๆ จึงต้องดูแลพาเจ้านายเล็กๆ ไปตัดกางเกง ซื้อเสื้อ หรือพาไปเสวย เป็นต้น”

 

ถ่ายกับ Miss Harrison ผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษและน้องสาว ชำนัญ สุขุม
ถ่ายกับ Miss Harrison ผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษและน้องสาว ชำนัญ สุขุม

 

กลับเมืองไทย พ.ศ. 2472

เมื่อท่านจบปริญญาตรี ด้านการเกษตรแล้ว จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย รับตำแหน่งผู้จัดการแปลงนาทดลองของกรมการข้าวที่รังสิต และสามารถคัดข้าวพันธุ์ดีส่งไปประกวดที่แคนาดาจนได้รางวัลชนะเลิศ

ท่านให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

 

“กลับจากเมืองนอกได้ไม่กี่เดือน ทางราชการเขาให้ไปเป็นผู้จัดการสถานีทดลองข้าวที่รังสิต ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ เวลานั้นเขามีการประกวดข้าวที่แคนาดา เขาบอกเรามาทางราชการเขาสั่งผมคัดเอาข้าวพันธุ์ที่ดีที่สุดของเราส่งประกวดตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการนาทดลองคลองรังสิต เอาข้าวทั้งหมดที่เรามีเยอะแยะนะครับ ไปเลือกเอาข้าวหอมทดลองบ้าง ทองระย้าดำบ้าง ทีนี้ผมถามว่าข้าวอะไรที่เราเรียกว่าข้าวชั้นหนึ่ง เขาบอกว่าข้าวขาวทดลอง เขาบอกว่าเป็นข้าวที่หุงเป็นอาหารดีที่สุด

ผมไปดูข้าวขาวทดลอง โอ ข้าวเม็ดยาวด้วยครับ ผมให้แกะไม้เป็นเม็ดข้าว เอาข้าวขาวทดลองละเลงๆ ในไม้ แล้วเอามาเคาะๆ มันก็ได้ของดีทั้งนั้น มันถูกต้องตามสเปค เวลานั้นเจ้าคุณอาหารบริรักษ์ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่กับเจ้าคุณโภชากร ผมมีนายเป็นพระยา 2 คน เจ้าคุณโภชากรบอกผมว่าพยายามคัดพันธุ์ข้าวของเราที่ดีที่สุดส่งไปประกวดที่แคนาดา เราประกวดได้รางวัลที่ 1 เจ้าคุณอาหารฯ ท่านให้เงินผม 200 บาท บอกคุณวิลาศคุณหัวดีเหลือเกิน ต้มฝรั่งได้ (หัวเราะ) ถ้าดูตามประวัติผมเป็นแจ็ค ออฟ ออล เทรด (JACK OF ALL TRADE) ครับ”

 

ร่วมในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

เมื่อท่านกลับจากอังกฤษได้ไม่นาน ได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเพื่อนรักที่เคยเรียนร่วมกันมาที่อังกฤษ คือ คุณทวี บุณยเกตุ ด้วยเป็นหนุ่มไฟแรง อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่านจึงได้เข้าร่วมในคณะผู้ก่อการฯ ด้วย

 

“ตอนร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ไม่กลัวตาย กลัว แต่ถึงได้บอกว่าก่อนที่เขาจะเอาไปเป็นพวกนี่เขาถามว่านอนกรนหรือเปล่า เขาถามว่าละเมอหรือเปล่า (หัวเราะ) คือ ว่าถ้าละเมอแล้วมันอาจจะไปเปิดเผย ผมนี่นะครับเขาให้เป็นช่าง เขารู้ว่าผมชอบทำเครื่องอะไรต่ออะไร เขาเอาปืนมาให้ผมคนละกระบอกให้ถูเลขออก คือ ปืนทุกกระบอกจะมีเลขให้เอาตะไบถู ที่นี้ผมมีเครื่องมือ เมื่อก่อนผมซ่อมรถเอง ก็เอาเครื่องมือถู แหม มันมา 3 กระบอก 5 กระบอก พ่อตาผม (นายเซียว ฮุดเส็ง สีบุญเรือง) เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวรศัพท์ เขาเดินไปเดินมา เขาได้ยินเสียงใครตะไบไอ้นี่ทุกวันๆ ก็ขึ้นมาดู ถามว่าวิลาศตะไบปืนไปทำไมล่ะ แหม เวลานั้นหัวดี ผมบอกเดี๋ยวนี้รัฐบาลเขาจะออกตัวเลขปืนใหม่ เขาจะเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว แกบอกว่าไม่ต้องไปถูเอง ไปเรียกคนที่โรงพิมพ์มาถูให้ ผมนึกแหมเรายิ่งปิดอยู่ ไม่อยากให้ใครรู้”

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านได้ถูกกำหนดให้ไปปฏิบัติการร่วมกับคุณควง อภัยวงศ์ ในการทำลายสายโทรเลขที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพุทธ และต่อมาเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย คุณควง อภัยวงศ์ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์และได้สมัครผู้แทนราษฎรในเขตอำเภอยานนาวา กรุงเทพฯ แข่งขันกับท่านซึ่งอยู่คนละพรรค เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 และเกิดการโฆษณาหาเสียงเป็นที่ฮือฮากันในสมัยนั้น โดยทางฝ่ายคุณควงได้ใช้คือ “เหล็กวิลาศ หรือจะสู้ตะปูควง” แม้ท่านจะมิได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น ท่านก็ยอมรับผลด้วยน้ำใจนักกีฬา และได้อธิบายให้ลูกชายซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยเด็ก และเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับลูกของคุณควง อภัยวงศ์ ว่า การเลือกตั้งย่อมมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวิถีทางประชาธิปไตย

 

ข้าหลวงพาณิชย์ ประจำฮ่องกงคนแรก พ.ศ. 2478-2481

ท่านให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านในการเป็นข้าหลวงพาณิชย์ประจำฮ่องกง ด้วยอารมณ์ขัน

 

“ผมมีโอกาสดีกว่าข้าราชการคนอื่น เพราะว่าไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ คนแรกที่ฮ่องกง ชีวิตผมนี่แปลก เป็นคนแรกเรื่อย เขามีงานที่ไหนผมมักจะเข้าไปเป็นคนแรกเรื่อยไม่รู้มันอะไรนะ ข้าหลวงพาณิชย์ประจำประเทศจีนนี่ ผมก็เป็นคนแรก เป็นข้าหลวงพาณิชย์ตอนปี 2478 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี เขาก็ให้ผมไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ที่ฮ่องกง ผมยังหนุ่มอยู่ ผมนุ่งกางเกงขาสั้นจะไปตีเทนนิสที่สโมสร มีฝรั่งพ่อค้าคนหนึ่งเขามานั่งรออยู่ที่ห้องรับแขกตอนเช้า อยากจะพบผม เขามีการ์ดมาด้วย เขาอยากจะ ติดต่อค้าขาย แหม ฝรั่งมันลุกขึ้นยืนบอกว่าบอกคุณพ่อคุณนะ เทล ยัวร์ ฟา เธอร์ ไอ ค้านท์ เวท ฟอร์ ฮิม มันคิดว่าผมเป็นลูกข้าหลวงพาณิชย์ ผมบอกมันว่า มาย ฟาเธอร์ อิส อิน ไทยแลนด์ มันตกใจเลย (หัวเราะ)

 

ถ่ายเมื่อครั้งเป็นข้าหลวงพาณิชย์ประจำฮ่องกง
ถ่ายเมื่อครั้งเป็นข้าหลวงพาณิชย์ประจำฮ่องกง

 

ที่ฮ่องกงมีสโมสร ผมไปหมดทุกสโมสรเลย รู้จักคนทั่วหมดเพราะเราต้องการจะให้เขารู้ว่าเราเป็นข้าหลวงพาณิชย์มาศึกษาในเรื่องการค้า เวลานั้นผมยังหนุ่มมากครับ ไม่สมควรจะไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์หรอก คือ คณะรัฐมนตรีเขาเอาผมเป็นเพราะเขาเห็นว่าผมเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นลูกเขยของนายเซียวฮุดเส็ง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจีนของมณฑลกวางตุ้งสมัยดอกเตอร์ซุนยัดเซ็น ผมไปเล่าเรื่องให้ฝรั่งสมาชิกที่สปอร์ตคลับที่ฮ่องกงฟัง มันบอกว่าไอ้แกมันรูปร่างเด็กนี่หว่า ผมมาเล่าเรื่องนี้ให้เจ้าคุณพหลฯ ฟัง ผมบอกแหมมันน่าขันเหลือเกิน เจ้าคุณพหลฯ บอกนี่จะเตือนให้นะไว้หนวดเสียซิ เหมือนอย่างคุณพ่อ” (หัวเราะ)

 

ขณะเป็นข้าหลวงพาณิชย์ที่ฮ่องกง ปี 2478 วิลาศ แถวบนขวาสุด
ขณะเป็นข้าหลวงพาณิชย์ที่ฮ่องกง ปี 2478 วิลาศ แถวบนขวาสุด

 

ญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

เช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บางปู และอีก 6 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เป็นการเปิดฉากการเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา

ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการคนแรกและเป็นผู้ก่อตั้งกรมนี้ โดยมีคุณไพโรจน์ ชัยนาม เป็นรองอธิบดี นอกจากนี้ ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่ไปด้วยคือเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยคุณควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทราบข่าวแล้วว่าญี่ปุ่นจะบุกเข้ามายังประเทศไทย แต่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของวันที่จะเข้าบุก  เมื่อถึงวันนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการเรียกประชุมด่วน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อนายกรัฐมนตรีได้ ว่าท่านอยู่ที่ใด ทูตญี่ปุ่นก็มานั่งคอยอยู่เพื่อจะได้รับทราบจากทางฝ่ายรัฐบาลไทย ว่าจะตัดสินใจประการใด เป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านจอมพล ป. จึงได้เดินทางมาถึงและแจ้งให้ทราบว่า ตลอดเวลาที่ท่านหายไปนั้น ท่านได้ไปประเมินสถานการณ์กำลังทัพทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น และได้ติดต่อกับกองทัพญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความพินาศที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปสู่สิงคโปร์ มลายู และพม่า แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทำร้ายคนไทย เพราะหากฆ่าฟันคนไทยแล้ว ไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นจะรบกับทหารไทยเท่านั้น แต่จะต้องรบกับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นก็ยินยอมตกลงตามเงื่อนไข

ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะไม่ทำร้ายคนไทย แต่ก็ได้เข้ามายึดครองสถานที่ราชการ และบ้านเรือนของประชาชนตามอำเภอใจ ในขณะนั้นกรมโฆษณาการมีรถกระจายเสียงดีที่สุด และมีเครื่องโฆษณาที่ดีที่สุดของเมืองไทย นายทหารของกองทัพญี่ปุ่นจึงต้องการยึดเอากรมโฆษณาการทั้งหมดและเวียนเข้าเวียนออกกรมโฆษณาการวันละหลายๆ ครั้ง จนท่านเกือบระงับอารมณ์ไม่ได้ และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกระทบกระทั่งกับนายทหารญี่ปุ่น ท่านจึงขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2484

 

เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย

ท่านเล่าให้ฟังว่า คุณสงวน ตุลารักษ์ ได้มาชักชวนให้ร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น โดยมี คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้ากลุ่มคนไทยภายในประเทศ ท่านไม่ขอรับเป็นหัวหน้าสาย และสมัครใจที่จะอยู่เป็นลูกสายของคุณหลวง นฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) หน้าที่หลักของท่านก็คือ การรับอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งฝ่ายเสรีไทยในต่างประเทศจะเป็นผู้ทิ้งลงมากับร่มชูชีพ รวมทั้งคอยรับทหารต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมฝึกการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวและได้ชักชวนให้น้องชาย คือ คุณทวีลาภ โอสถานนท์ เข้าร่วมขบวนการอีกด้วย

อาวุธฯ ที่ท่านได้รับมอบหมายให้ไปรับนั้น จะอยู่ตามแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ และท่านได้นัดแนะให้มีการทิ้งอาวุธลงในไร่อ้อยของท่านที่อำเภอศรีราชา และลำเลียงอาวุธเหล่านี้ เก็บอยู่ในถังน้ำของโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล ท่านขุนวิโรจน์ฯ รวมทั้งคุณดำรง จักกะพากซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ศรีราชา ท่านเล่าว่าได้สั่งให้คนงานคอยระแวดระวังคนญี่ปุ่นให้จงดี วิธีที่ควรจะสังเกตว่าเป็นคนญี่ปุ่นก็ให้ดูได้จากวิธีเดินซึ่งแตกต่างจากคนไทย นอกจากนี้นายทหารญี่ปุ่นยังชอบตัดอ้อยถือเป็นไม้เท้าติดตัวและบางครั้งก็เดินแทะไปด้วย

ครั้งหนึ่ง เมื่อได้รับนัดหมายให้ไปรับฝรั่งชื่อ มิสเตอร์ คูล ซึ่งจะกระโดดร่มชูชีพลงมา ณ ไร่อ้อย หลังจากที่ท่านได้ส่งสัญญาณแสดงจุดที่ควรจะกระโดดแล้ว ก็มีเสียงตอบผ่านวิทยุสื่อสารจากเครื่องบินเป็นประโยคภาษาจีน ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานดังกล่าว ท่านไม่คาดคิดว่าจะมีเพื่อนคนใดคนหนึ่งสามารถทำตลกได้อีก เพราะท่านเคยอยู่ที่ฮ่องกงหลายปี พอจะเข้าใจศัพท์ภาษาจีนบ้าง ท่านจึงตอบกลับไปว่าคุณเป็นใคร เสียงที่ตอบกลับมาทำให้ท่านอดหัวเราะไม่ได้ “ขาบ……พ่อมึง” พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร เพื่อนรักของท่านซึ่งเป็นเสรีไทยสายสหรัฐฯ “อั๊วเห็นลื้ออยู่ข้างล่างชัดเจน จากกล้องส่องทางไกล” ม.ล.ขาบ กล่าวฯ

ในที่สุดมิสเตอร์คูล ก็สามารถกระโดดลงมายังที่นัดหมายได้โดยปลอดภัย ท่านได้จัดให้มิสเตอร์คูล นั่งขดตัวมากับท้ายรถจนถึงกรุงเทพฯ โดยส่งมอบให้ที่บ้านพักของคุณหลวงนฤเบศร์มานิต น่าเสียใจที่มิสเตอร์คูลถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ในระยะต่อมา และถูกกักขังทรมานในระหว่างสงครามทำให้มิสเตอร์คูลถึงกับเป็นง่อยพิการเมื่อสงครามยุติลง

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านชอบเล่าเสมอก็คือ เมื่อท่านไปขนอาวุธที่ส่งมาจากเสรีไทยจากภาคใต้เพื่อลำเลียงเข้ากรุงเทพฯ รถกระบะคันนั้น มีผู้โดยสาร 3 คน คือ นายถนอม คนรถ คุณหลวงนฤเบศร์มานิต และตัวท่านกำลังมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ โดยมีอาวุธเต็มค่อนรถและลูกมะพร้าวแห้งทับปิดไว้ เมื่อรถถึงปราณบุรี มีทหารญี่ปุ่น 4 นาย ยืนโบกมือให้รถหยุด ท่านและคุณหลวงนฤเบศร์ฯ ตัดสินใจทำใจดีสู้เสือ จอดรถตามคำสั่ง ทหารญี่ปุ่นส่งภาษาใบ้พอเข้าใจได้ว่าจะขออาศัยโดยสารไปด้วย ทั้งสองท่านจึงไม่มีทางเลี่ยง โดยให้ทหารญี่ปุ่นขึ้นนั่งบนกองมะพร้าวนั่นเอง และกระซิบบอกกันระหว่างรถวิ่งต่อไปว่าเรา 3 คน ต้อง “เก็บ” เจ้าญี่ปุ่น 4 คน ให้ได้ก่อนที่มันจะฆ่าเรา รถวิ่งไปได้ชั่วครู่ เมื่อใกล้ถึงเพชรบุรีมีเสียงกระทุ้งส่งสัญญาณจากญี่ปุ่น นายถนอมจึงหยุดรถ พร้อมที่จะปฏิบัติการ แต่ทหารญี่ปุ่นไม่ทราบถึงสิ่งผิดปกติโบกมืออำลาและขอบอกขอบใจที่ให้อาศัยรถมาท่ามกลางความโล่งอกของคนไทยทั้งสาม ท่านเล่าเรื่องนี้พร้อมทั้งกล่าวว่าไม่รู้รอดมาได้อย่างไร

 

กับรถจี๊ปกลางสมัยบุกเบิกทำไร่อ้อย ที่ศรีราชา
กับรถจี๊ปกลางสมัยบุกเบิกทำไร่อ้อย ที่ศรีราชา

 

ญี่ปุ่นดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับท่านตลอดระยะเวลาสงคราม สิ่งที่ท่านแค้นใจไม่หายก็คือ การที่ญี่ปุ่นมายึดเอาม้าแข่งตัวที่ท่านรักมากที่สุดชื่อ พิมลแมน ไปใช้ในการสงคราม นอกจากจะเสียดายม้าที่ทำเงินมาให้แล้ว ท่านยังมีความรู้สึกสงสารพิมลแมนเป็นอย่างยิ่ง เพราะม้าแข่งไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะไปใช้งานตรากตรำแม้จะขอแลกกับม้าตัวอื่นๆ ทางญี่ปุ่นก็ไม่ยินยอม

 

ที่สุดของชีวิต-เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระอนุชาขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

ตลอดระยะเวลาที่ท่านปฏิบัติการเป็นเสรีไทย ชีวิตของท่านก็ยังวนเวียนอยู่กับการเมือง โดยเป็น ส.ส. ประเภท 2 และเมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส.ส. ประเภท 1 แก่คุณควง อภัยวงษ์ เมื่อ 6 มกราคม 2489 แล้ว ท่านได้กลับเข้าเป็น ส.ส. ประเภท 2 อีกครั้งหนึ่ง และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒิสภาเมื่อ 24 พฤษภาคม 2489 และได้รับเลือกเป็นประธานพฤฒิสภาเมื่อ 4 มิถุนายน 2489 มีอายุ 46 ปี

เพียง 5 วัน หลังจากที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานพฤฒิสภา เหตุการณ์ที่มิได้คาดฝันและนำความวิปโยคมาสู่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล เสด็จสวรรคต

ท่านให้สัมภาษณ์ ถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า

 

“วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต ผมกำลังเล่นบิลเลียดอยู่ที่สโมสรราชตฤณมัยฯ เขาไปบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต ผมก็รีบไปพบนายกฯ เสร็จแล้วต้องเรียกประชุมสภาด่วน เพื่อชาวเสียงกันว่าใครจะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ตามกฎมณเทียรบาล ตามรัฐธรรมนูญต้องมีพระเจ้าแผ่นดินภายใน 3 วัน จากนั้นผมจึงไปพบพระยานุรักษ์ราชมณเฑียร ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีด่วน เพื่อกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระอนุชาขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ สมเด็จพระราชชนนีท่านโปรดให้พวกเราเข้าเฝ้าได้ตอนบ่าย 2 โมง ผมก็กลับไปสภา ผมบอกสำเร็จแล้ว บ่ายสองโมงสมเด็จพระราชชนนีท่านโปรดให้พวกเราเข้าเฝ้าเพราะฉะนั้น ขอเชิญท่านรองประธานพฤฒิสภา (ปัจจุบันคือ วุฒิสภา) สองคน แล้วบอกไปทางสภาผู้แทนด้วย 2 สภา รวมเป็น 6 คน คือ ประธานและรองประธานสภาละ 2 คน สมเด็จฯ ท่านจะจัดที่ให้นั่ง มีมหาเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนและผมเป็นประธานรัฐสภา กับรองอีก 4 คนเข้าเฝ้า

พอไปถึงเจ้าคุณอนุรักษ์ฯ ท่านก็พาผมขึ้นไปบนพระที่นั่ง สมเด็จพระราชชนนีประทับนั่งรออยู่แล้ว ท่านชี้แจงว่านี่นะคุณวิลาศนั่งตรงนี้ สมเด็จพระอนุชาท่านจะประทับตรงนั้น มากันพร้อมหรือยัง เราทูลท่านว่ามากันพร้อมแล้ว ท่านก็เสด็จฯ เข้าไป เชิญเสด็จฯ พระอนุชาออกมาประทับนั่งบนพระเก้าอี้ พอท่านเสด็จออกมาเราก็ลุกขึ้นยืนหมดท่านรับสั่งว่าเชิญนั่ง พวกผมก็คุกเข่า กราบบังคมทูลท่านว่าพวกข้าพระพุทธเจ้ามากันวันนี้พร้อมกันหมดทั้งรัฐสภาขณะนี้รัฐสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ขอให้เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทขึ้นเสวยราชสมบัติแทนสมเด็จพระเชษฐาธิราช”

 

ไปติดต่อซื้อน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม ปี 2484 (ยืนกลาง) พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หันหลัง) นายโลเต๊กชวน บุลสุข (ยืนซ้าย) วิลาศ
ไปติดต่อซื้อน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม ปี 2484 (ยืนกลาง) พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หันหลัง) นายโลเต๊กชวน บุลสุข (ยืนซ้าย) วิลาศ

 

เมื่อครั้งเดินทางไปญี่ปุ่น เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย วิลาศ คนที่ 6 จากซ้าย
เมื่อครั้งเดินทางไปญี่ปุ่น เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย วิลาศ คนที่ 6 จากซ้าย

 

เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ 24 มิถุนายน 2478, แถวหน้า สเหวก นิรัญชัย  แนบ พหลโยธิน  ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์  ชม จารุรัตน์  ช่วง ขวัญเกิด, แถวหลัง ดิเรก ชัยนาม  ยล สมานนท์  วิลาศ โอสถานนท์  ทองเย็น หลี่ละเมียร
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ 24 มิถุนายน 2478, แถวหน้า สเหวก นิรัญชัย  แนบ พหลโยธิน  ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์  ชม จารุรัตน์  ช่วง ขวัญเกิด, แถวหลัง ดิเรก ชัยนาม  ยล สมานนท์  วิลาศ โอสถานนท์  ทองเย็น หลี่ละเมียร

 

ท่านเล่าว่า เมื่อทรงตอบรับ คณะที่เข้าเฝ้าทั้งหมด ต่างทรุดกายลงกราบถวายบังคมด้วยความปลื้มปิติ……ท่านถือว่าเป็นบุญเหนือหัวแห่งชีวิตของท่านที่ได้มีโอกาสเช่นนี้ และท่านได้มีอายุยืนยาวจนกระทั่งได้อยู่ร่วมฉลองปีกาญจนาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2539 ด้วยความปิติ ด้วยความซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงมีต่อประเทศและประชาชนชาวไทย

ท่านดำรงตำแหน่งประธานพฤฒิสภา จนถึงเดือนสิงหาคม 2489 จวบจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ งานในขณะนั้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้อง ข้าวยากหมากแพงเป็นสำคัญ เพราะประเทศอยู่ในภาวะหลังสงคราม และยังต้องมีภาระผูกพันส่งข้าวให้สหประชาชาติจำนวน 1.5 ล้านตัน โดยไม่คิดมูลค่า

ชีวิตของท่านมิได้หยุดแต่เพียงนี้ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ท่านได้ทำหรือริเริ่ม แต่ทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นเรื่องที่ท่านเจ้าของชีวิต ภาคภูมิใจ มีความสุขที่จะเอ่ยถึง กี่ครั้งก็จะเล่าได้เหมือนถอดจากเทป

ท่านเกิดดี อยู่ดี และไปดี.

 

ที่มา : เนื้อหาบางส่วนจาก “ชีวิต 5 แผ่นดินของพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ พ.ศ. 2443 - 2540”, ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม. ท.ช. ต.จ., (กรุงเทพฯ: ศิริชัยการพิมพ์, 2540), หน้า 60 - 78.