ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การข่าวและการต่างประเทศไทย ก่อน-หลังอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี พ.ศ. 2482

3
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องการข่าวและการต่างประเทศไทย ก่อน-หลังอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2482 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในช่วงเวลานี้ได้มีประกาศใช้ 'พระบรมราชโองการประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482' และมีข้อถกเถียงเรื่องการออกประกาศครั้งนี้อย่างเข้มข้น
  • ในช่วงเวลานี้มีหลักฐานชั้นต้นสำคัญ 2 ชิ้น ได้แก่ การรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (พิเศษ) ครั้งที่ 47/2482 วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2482 เรื่อง สงคราม และบันทึกการประชุมกรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉิน ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมกระทรวงการต่างประเทศ 4 กันยายน 2482 ซึ่งได้นำเสนอไว้อย่างละเอียดในบทความชิ้นนี้

 

 

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่สยามปกครองโดยรัฐบาลคณะราษฎร และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลจึงประกาศตนเป็นกลาง ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาไมตรีกับนานาชาติไว้ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศสหรือฝ่ายพันธมิตร และเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอักษะโดยยังพยายามรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศเพื่อให้พ้นภัยสงครามซึ่งกําลังขยายตัวมาสู่ภาคพื้นเอเชียด้วยการลงนามในกติกาสัญญาไม่ลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับการเจริญสัมพันธไมตรี และการเคารพต่อบูรณะภาพแห่งอาณาเขตของกันและกันกับญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

 


คำแถลงการณ์เกี่ยวกับการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา

 

หากภายหลังจากญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจรับข้อเสนอบางประการจากญี่ปุ่น ฝ่ายอักษะในสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังจากนั้น รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้กระทำการอันรุนแรงและบีบคั้นประเทศไทยจนไม่สามารถจะวางเฉย และประเทศไทยได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ทางรัฐบาลได้ประกาศสงครามใหญ่กับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เวลา 12.00 น.

 

การเมืองภายในและการต่างประเทศไทยก่อนอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พ.ศ. 2478-2481 ซึ่งสยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรมจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้กับ 13 ประเทศ อาทิ สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือโดยนายปรีดีเป็นผู้นำในการทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมาโดยยึดหลักเอกราชทั้งในทางการเมือง การศาล และการเศรษฐกิจ นายปรีดีได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม และนอร์เวย์ 

ประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคของนายปรีดีในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญดังนี้

1. สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extra-territorialiry) สิทธิพิเศษที่ชาวต่างประเทศไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตนไปพำนักอยู่แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตนสังกัดเมื่อกระทำความผิดจึงไม่ต้องขึ่นศาลของสยามเป็นเหตุให้สยามสูญสิ้นเอกราชในทางการศาล

2. กรณีภาษีร้อยชักสาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลสยามจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้นจนทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศอย่างที่ควรจะเป็นจึงเป็นการสูญเสียเอกราชในทางการเศรษฐกิจ

ดังนี้ นายปรีดีได้ใช้กลยุทธ์ทางการทูตในการบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาต่าง ๆ และยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ภายใต้หลักดุลยภาพแห่งอำนาจและสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวได้สำเร็จ บทบาทการต่างประเทศของนายปรีดีทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและทางเศรษฐกิจคืนกลับและมีสิทธิเสมอภาคเทียบเท่ากับชาติมหาอำนาจต่าง ๆ

ทั้งนี้นายปรีดีได้กล่าวถึงปณิธานและอุดมคติระหว่างที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่ด้านการต่างประเทศไว้ว่า

          "ระหว่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุไว้หลายครั้ง ได้เขียนเผยแพร่เอกสารหลายชิ้นที่แสดงถึงอุดมคติที่ข้าพเจ้ายึดถือในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนสันติภาพแห่งโลก...และในบทภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือกว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ คือสุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี"

 

ขณะที่การข่าวและการต่างประเทศไทยก่อนอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีในช่วงก่อนและหลังการอุบัติขึ้นของสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั้นมีเอกสารประวัติศาสตร์ที่สำคัญ 2 ชิ้น ดังต่อไปนี้  

 

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (พิเศษ)
ครั้งที่ 47/2482 วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2482
เรื่อง สงคราม

 

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม: การที่เชิญมาประชุมพิเศษในวันนี้ก็เพราะเยอรมันกับโปแลนด์ได้รบกันแล้ว จึงขอหารือว่าสําหรับเราจะดําเนินการอย่างไร

นายดิเรก ชัยนาม: ได้รับรายงานว่าเยอรมันได้รุกเข้าไปทิ้งบอมบ์ในโปแลนด์ อังกฤษได้เตรียมทัพเรือไว้พรักพร้อม แซมเบอเลนได้ยื่นคําขาดไปยังฮิตเลอร์ว่าให้ระงับเหตุการณ์เสียภายใน ๖ ชั่วโมง ถ้าไม่ตอบจะให้ทูตเดินทางกลับอังกฤษว่าเตรียมพร้อมที่จะช่วยโปแลนด์ตามที่ตกลงเสนอ และได้พิมพ์หนังสือเสนอข่าวให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า ความรับผิดชอบครั้งนี้ ควรจะตกอยู่แก่ฮิตเลอร์คนเดียวเท่านั้น เพราะมี Selfish Aim ส่วนฮิตเลอร์ก็ว่าที่อังกฤษยุ่งกับโปแลนด์ครั้งนี้ก็เพื่อความเป็นใหญ่ของอังกฤษเอง และขอบใจมุสโสลินีที่สนับสนุนตลอดมา แต่ว่าเวลานี้ยังไม่ต้องการความช่วยเหลือ และหวังว่าคงจะถือแนวนาซีตลอดไป เวลานี้เยอรมันประกาศดานซิกเป็นของเยอรมันแล้ว และประกาศตั้งผู้แทนไว้ว่า ถ้าฮิตเลอร์ตายให้เกอริงแทน ถ้าเกอริงตายให้เฮสแทน ถ้าเฮสตายให้เลือกกันเอง การที่เยอรมันรุกโปแลนด์ครั้งนี้ เยอรมันได้ให้เหตุผลว่าแทนที่จะเจรจาด้วยดีกลับระดมพลและท้าทายด้วย

หลวงประดิษฐมนูธรรม: หนักใจเรื่องงบประมาณเห็นจะต้องเตรียมรูปงบประมาณใหม่เลย

นายดิเรก ชัยนาม: เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งให้เตรียมดูเรื่องครั้งสงครามปี ค.ศ. 1914 ว่าเมื่อประกาศสงครามแล้ว เราได้ปฏิบัติการไปอย่างไรบ้าง จนกระทั่งภายหลังได้ทําอะไรไป นอกจากนี้ยังได้เตรียมนโยบายเป็นกลาง คือได้หารือกับนายดอลแบร์ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและนายกียองที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ในที่สุดได้ประชุมยกร่าง “ประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482” มาเพื่อพิจารณาด้วยแล้ว ถ้าจําเป็นก็จะได้ประกาศใช้ต่อไป

หลวงประดิษฐมนูธรรม: ถ้าเขาไม่แจ้งว่าได้มีการสงครามมาจะใช้กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ ฉะนั้น ประกาศนี้จะประกาศได้ก็ต่อเมื่อเขาได้แจ้งให้เราทราบว่าได้มีสงครามเกิดขึ้นแล้ว

นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย: การกระทําในบัดนี้ถือว่ามีการสงครามแล้ว เมื่อเราถือนโยบายเป็นกลางก็ควรประกาศอาณาเขตต์ทางทะเลเสียด้วย ซึ่งทางทหารเรือได้ออกคําสั่งและโอวาทที่จะปฏิบัติเพื่อรักษาความเป็นกลาง ในเมื่อเหตุการณ์ระหว่างประเทศตึงเครียดหรือเกิดสงครามขึ้น คําสั่งและโอวาทที่ออกไปนี้ก็อาศัยยึดถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไปจึงขอเสนอเพื่อทราบ

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม: ในเรื่องอังกฤษ ฝรั่งเศสรบเยอรมันนี้ มีปัญหาสําหรับเราคือ จะเข้าข้างใดก็รู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ก่อนเรารบเพื่อหาชื่อเสียง แต่เวลานี้เรามีทุก ๆ อย่างที่เราต้องการแล้ว เช่น เอกราชในทางศาลในทางศุลกากร และสนธิสัญญาก็เสมอภาคกันดี ฯลฯ จึ่งเห็นว่าถือนโยบายเดิม คือเป็นกลางเป็นนโยบายที่ดีที่สุด ตามประวัติศาสตร์การผูกมิตรกับประเทศอื่น โดยช่วยรบนั้น ปรากฏว่าประเทศเล็กไม่ได้อะไรเลย ผลที่สุดคนเก่งเอาไปหมด เมื่อถือนโยบายว่าจะเป็นกลาง อยากจะกระทําเป็นข้อแรกก็คือ การรับข่าวยังแยกย้ายกันทําอยู่ สํานักงานโฆษณาการ หรือที่อื่น ๆ ก็มี ควรที่รัฐบาลจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมข่าวสักหนึ่งคนอย่างมลายู เขาทําอยู่แล้วคือเซนเซอร์ ควรมีเจ้าหน้าที่รวบรวมข่าวในโลกเวลานี้ และมอบให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือจะมอบให้ตั้งกรรมการเพื่อดูหรือประการใด

หลวงประดิษฐมนูธรรม: ควรให้ทุก ๆ แห่งรับข่าวแล้วส่งกระทรวงการต่างประเทศรวบรวม และควรรับทุก ๆ ภาษา

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม: กรรมการที่ตั้งเพื่อรวบรวมข่าว ควรให้กําหนดอํานาจและหน้าที่เช่นอาจติดต่อกับกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ ได้ด้วย

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ: กรรมการสําหรับต่างประเทศขอเสนอหลวงสิทธิสยามการ นอกนั้นน่าจะมีผู้แทนกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ ด้วย เช่น เศรษฐการ, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการคลัง, สํานักงานสํานักงานโฆษณาการ, กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น

นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย: สําหรับหนังสือพิมพ์จะให้ลงข่าวจากไหน

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม: เมื่อเราเป็นกลางแล้ว ไม่ควรลงข่าวที่เป็นอกุศล จะลงต่อเมื่อออกจากเรา

นายพันตํารวจเอก หลวงอดุลยเดชจรัส: ในพระราชบัญญัติการพิมพ์มีบทบัญญัติให้รัฐบาลมีอํานาจให้เสนอข่าวก่อนพิมพ์ได้ในกรณีฉุกเฉิน

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม: เป็นอันตกลงว่าจะประกาศเป็นกลางเมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งความประเทศที่ทําสงคราม ฉะนั้นจึ่งเห็นว่าในขณะสงครามนี้กระทรวงทะบวง กรมต่าง ๆ ควรจะตระเตรียมการไว้ให้พรักพร้อม เช่นกระทรวงกลาโหมก็เตรียมไว้กระทรวงมหาดไทย ก็ควรแจ้งให้ข้าหลวงทราบว่าให้ช่วยประกาศให้ราษฎรว่าอย่าตระหนกตกใจ ฯลฯ ระมัดระวังโจรผู้ร้าย มีเหตุการณ์เช่นมีใครรุกล้ำล่วงเขตแดนเข้ามาต้องโทรเลขให้ทราบโดยด่วน อย่าละทิ้งจังหวัดไม่ได้ สําหรับกระทรวงเศรษฐการในเรื่องการค้าก็ควรเตรียมไว้ โดยเหตุดั่งกล่าวแล้วจึงขอให้เจ้ากระทรวงต่าง ๆ รับทราบนโยบายไปดําเนินการต่อไป

นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ: สําหรับน้ำมันเชื้อเพลิง อยากจะขอให้คิดอ่านประหยัดกัน

นายพันเอก หลวงพรหมโยธี: ได้ร่างพระราชบัญญัติเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว จะออกควบคุมให้ประหยัดเมื่อใดก็ได้

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม: เนื่องจากสงครามเราอาจกะทบกระเทือน คือการค้าขาย ตกต่ำ ถ้าของแพง จะหาวิธีไร อย่าให้ของแพงได้ อนึ่งโดยที่เวลานี้มีสงคราม การส่งสินค้าคงชะงัก หรืออาจจะซื้อไม่ได้ก็ได้ เพราะเรือไม่มีมาส่ง ฉะนั้นอยากจะให้ช่วยกันตรวจดูถ้ารายได้ซื้อไม่ได้จะได้ใช้เงินนั้นในการอื่นต่อไป อนึ่งการซื้อนั้น ไม่ควรให้เงินล่วงหน้า เพราะเหตุการณ์ไม่แน่นอน

หลวงประดิษฐมนูธรรม: ลองซื้อเรือเยอรมันที่หลบหนีเข้ามาจะได้ไหม อาจซื้อได้ถูก และได้ฉวยโอกาสตั้งบริษัทเดินเรือบ้าง

นายนาวาเอก หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์: เรื่องนี้ถ้าติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศคงรู้ดี

นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย: ความเป็นกลางนี้ ควรจะแจ้งให้ราษฎรทราบว่ามีอะไรบ้าง และจะทําอย่างไร

นายดิเรก ชัยนาม: ขอให้หัวหน้าสํานักงานโฆษณาการรับทราบไปติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศต่อไป

ที่ประชุมตกลง

1. รับทราบตามที่หลวงสินธุสงครามชัยเสนอ

2. ให้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาข่าวในยามฉุกเฉิน โดยให้มีอํานาจติดต่อกับกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ เพื่อตรวจพิจารณารวบรวมข่าวให้ทั่วทุกประเทศ กรรมการคณะนี้ประกอบด้วย

  1. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธานกรรมการ
  2. หลวงสิทธิสยามการ เป็นรองประธานกรรมการ
  3. นายตั้ว ลพานุกรม เป็นกรรมการ
  4. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบก 1 นาย เป็นกรรมการ
  5. ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ
  6. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
  7. ผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นกรรมการ
  8. ผู้แทนสํานักโฆษณาการ เป็นกรรมการ

3. ให้กระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ พิจารณาดูว่า การสั่งซื้อของจากต่างประเทศ ถ้าเห็นว่า ประเทศนั้น ๆ อยู่ในฐานะไม่มั่นคง หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจัดหาหรือส่งของให้ได้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี ให้รีบระงับการซื้อเสีย และให้จัดซื้อในประเทศที่มีฐานะมั่นคง อันอาจจะส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อให้ได้ ส่วนการซื้อนั้นไม่ควรวางเงินมัดจําล่วงหน้า

เห็นชอบด้วยร่างประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482 แต่ให้รอการประกาศไว้ก่อน เมื่อฝ่ายที่อยู่ในสถานะสงครามได้แจ้งให้รัฐบาลทราบเมื่อใดจึ่งค่อยดําเนินการประกาศพระบรมราชโองการนี้ต่อไป

 

การข่าวไทยภายหลังจากอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี

ผลกระทบของสงครามโลก ครั้งที่ 2 ส่งผลต่อการข่าวในไทยกระทั่งต้องมีการประชุมเพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉินและออกข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ดังต่อไปนี้ 

 

บันทึกการประชุมกรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉิน ครั้งที่ 1

ณ ห้องประชุมกระทรวงการต่างประเทศ 4 กันยายน 2482

 

ผู้ที่มาประชุมคือ 

1. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมการ

2. หลวงสิทธิสยามการ รองประธานกรรมการ

3. นายวิลาศ โอสถานนท์ กรรมการผู้แทนสํานักงานโฆษณาการ

4. พระอร่ามรณชิต กรรมการผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลข

5. หลวงวิวรณ์วิทยุเทพ กรรมการผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลข

6. พ.ต. ขุนสนิทยุทธโยธา กรรมการผู้แทนกระทรวงกลาโหม

7. น.ต. หลวงประดิยัตินาวายุทธ กรรมการผู้แทนกระทรวงกลาโหม

8. พ.อ. พระรามณรงค์ กรรมการผู้แทนกระทรวงมหาดไทย

9. หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง

10. นายตั้ว ลพานุกรม กรรมการ

เปิดประชุมเวลา 14.20 น.

เมื่อประธานทรงกล่าวเปิดประชุมแล้ว ทรงกล่าวว่า ในขั้นต้นนี้จะชี้แจงและหารือกันในเรื่องหลักการพิจารณาข่าว คือ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นก็เพื่อจะให้รวบรวม ประมวลข่าวต่าง ๆ และควรจะทราบด้วยว่าข่าวที่ประมวลต่อคณะรัฐบาล คือ คณะรัฐมนตรี ส่วนประโยชน์ที่จะใช้ต่อไปนั้นทางสํานักงานโฆษณาการอาจจะนําเอาไปใช้ประโยชน์ในความรับผิดชอบของสํานักงานเองได้ ส่วนหนังสือพิมพ์นั้น ทางสํานักงานโฆษณาการไม่ควรแจก เพราะถ้าแจกไปแล้ว หนังสือพิมพ์อาจถือเอาว่า รัฐบาลรับผิดชอบในข่าวที่ได้รับแจกไป ซึ่งอันที่จริงหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพที่จะลงข่าวอย่างใด ๆ ก็ได้ หากไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ ส่วนทางสํานักงานโฆษณาการจะใช้กระจายเสียงหรือไม่ก็แล้วแต่ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะพิจารณาหลักการว่า เราควรจะประมวลข่าวอย่างใดบ้าง

ก่อนอื่น เราควรจะวางหลักหรือเข็มไว้ว่า โดยที่นโยบายของรัฐบาลได้ประกาศไว้แล้วว่าจะเป็นกลาง แง่ที่จะพิจารณาในแง่ความเป็นกลางซึ่งตามคําสั่งคณะรัฐมนตรีที่ตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้น ก็ว่าเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศไทย เห็นว่าข่าวที่จะประมวลควรจะแบ่งได้ดั่งนี้ คือ

ประเภทที่ 1 ข่าวการเมือง

ประเภทที่ 2 ข่าวการทหาร

ประเภทที่ 3 ข่าวการค้าและการคลัง

ประเภทที่ 4 ข่าวเกี่ยวกับการเป็นไปตามชายแดน ราชอาณาจักรคือข่าวความสงบของเรา

 

ประเภทที่ 1 ข่าวการเมืองนั้น สําหรับประเทศเรา เราจะต้องคอยสังเกตดูการเคลื่อนไหวของมหาประเทศ มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ซึ่งในตอนนี้เป็นข่าวทั่ว ๆ ไป เพราะเมื่อประกาศ สงครามแล้ว ก็ไม่รู้สําคัญนัก ข่าวที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ ก็คือประเทศที่เป็นกลางมีท่วงทีอย่างไรบ้าง เช่นสหรัฐอเมริกา และประเทศเล็ก ๆ เช่นประเทศหมู่ออสโล Oslo Group เป็นต้น นอกจากทางยุโรป ต้องดูข่าวทางตะวันออกไกลด้วย เช่นญี่ปุ่นต้องถือว่าสําคัญมาก ควรจะดูการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นว่า มีท่วงทีอย่างไรกับรัสเซีย และมีท่วงทีอย่างไรกับอังกฤษ ส่วนการเคลื่อนไหวกับจีนนั้น ก็ควรจะอยู่ในข่าวเหมือนกัน แต่ไม่รู้สําคัญนัก ข่าวการเมืองนี้ ขอมอบให้หลวงสิทธิสยามการเป็นเจ้าหน้าที่ คือเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ

ประเภทที่ 2 ข่าวการทหารนั้น ขอมอบให้ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ในตอนนี้ สําหรับทั่ว ๆ ไป แล้ว ไม่สู้สําคัญนัก กระทรวงกลาโหมจะเห็นข่าวการเคลื่อนไหวอย่างไรสมควรจะรวบรวมส่งมาก็แล้วแต่ แต่ว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ อาจจะสําคัญขึ้นเมื่อใดก็ได้

ประเภทที่ 3 ข่าวการค้าและการคลังนั้น ในตอนนี้ข่าวการคลังเท่านั้นที่สําคัญ ฉะนั้น ขอมอบให้ไว้กับผู้แทนกระทรวงการคลัง ในชั้นนี้คงจะไม่มีข้อยุ่งยากอะไร ที่เติมการค้าลงด้วยนั้น เห็นว่า จริงอยู่มีแต่คุณตั้ว ลพานุกรม มาเป็นผู้แทนทั่ว ๆ ไป แต่ต่อไปก็ควรจะมีใครศึกษาไว้ จึงขอเสนอต่อที่ประชุมว่า จะควรมีผู้แทนกรมพาณิชย์หรือไม่ หรือว่าถ้าไม่เห็นสําคัญในเวลานี้ ก็จะให้กองการค้ากระทรวงการต่างประเทศทําไปพลางก่อน แต่อย่างไรก็ดี เห็นว่าต่อไปทางการค้าจะสําคัญเหมือนกัน ถ้าได้ผู้แทนมาด้วยจากกรมพาณิชย์ก็จะดี

เมื่อได้อภิปรายกันแล้ว ที่ประชุมตกลงให้ขอผู้แทนมาจากกรมพาณิชย์

ประธานฯ ทรงกล่าวต่อไปว่า

ประเภทที่ 4 เหตุความสงบ คือการเคลื่อนไหวทางชายแดนนั้น ขอมอบให้ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีข่าวการเคลื่อนไหวอย่างใดที่เห็นสมควรรวบรวมส่งมาใน เรื่องนี้ ก็ขอให้บอกมา

วิธีดําเนินการในเรื่องนี้ก็คือ เก็บข่าวจากข่าววิทยุทางกรมไปรษณีย์โทรเลข กับข่าวทางสํานักงานโฆษณาการเป็นหลัก และมาประกอบกับข่าวที่ได้รับจากสถานทูตของเราในต่างประเทศด้วย ในชั้นนี้ได้ตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ต่างเห็นพ้องกันว่า ควรจะซื้อเครื่องรับวิทยุไว้สําหรับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจะได้รับข่าวทางต่างประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ข่าวที่ได้รับนั้น โดยมากเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทางกระทรวงการต่างประเทศรู้ภาษานี้ดี และจะจัดการบันทึกไว้ ส่วนข่าวอิตาเลียนนั้น มีเป็นภาษาอังกฤษก็มี และที่เป็นภาษาอิตาเลียนก็มี จึงดูเป็นการสมควรเหมือนกันที่จะมีผู้รู้ภาษาอิตาเลียนคอยฟังสอบกับข่าวอังกฤษ แล้วถามว่า นายเสถียร กลางสุข เวลานี้ยังสังกัดอยู่ทางกระทรวงนี้หรือเปล่า

หลวงสิทธิฯ ทูลตอบว่า เวลานี้ นายเสถียร กลางสุข ได้ย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว

พระอร่ามฯ กล่าวว่า ข่าวจากกรุงโรมมาเป็นภาษาอังกฤษก็มี

ประธานฯ ทรงกล่าวว่า ในชั้นนี้ เราควรเชิญนายเสถียรฯ มาฟังวิทยุดูว่า ข่าวภาษาอิตาเลียนจะมีอะไรแตกต่างไปจากที่ภาษาอังกฤษลงหรือไม่

นายวิลาศ โอสถานนท์ กล่าวว่า เวลานี้ ทางสํานักงานโฆษณาการเปิดวิทยุรับ 4 เครื่องในเวลาเดียวกัน เพราะในเวลาอันเดียวกันมีข่าวส่งมาจากประเทศต่าง ๆ ถ้าทางกระทรวงการต่างประเทศมี เครื่องรับเครื่องเดียว จะรับไม่สะดวก และเพื่อการนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะส่งคนไปร่วมมือได้ทางสํานักงานโฆษณาการจะมีความยินดีอย่างยิ่งที่ทําเช่นนั้น ก็เพราะว่าเราใคร่จะทราบข่าวให้ทั่ว ๆ ไป

ประธานฯ ทรงกล่าวว่า สําหรับภาษาอิตาเลียน ควรส่งนายเสถียรฯ ไปฟังดู และทรงกล่าวต่อไปว่า สําหรับแผนกอื่น ๆ เช่นทหาร ก็เก็บข่าวมาให้คงไม่ยาก การทําเช่นนี้ควรจะมีเจ้าหน้าที่แผนก ภาษาต่าง ๆ แล้วมาร่วมประชุมกันว่า อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ว่ากระไร แล้วเราก็เก็บข่าวจากนั้นมาเขียนเป็นภาษาไทยแล้วส่งมายังกองกลาง ทางทหาร ทางการคลัง ทางความสงบชายแดน ก็รายงาน มาทางกองกลางตามเวลาที่จะกําหนด เมื่อกองกลางรวมข่าวแล้วนําเสนอคณะกรรมการในชั้นนี้ อยากจะให้ประชุมกันทุกวัน หรือจะใช้วิธีแจกไปยังกรรมการแล้วว่าถ้าไม่มีใครท้วงก็ผ่านไป แต่สําหรับใหม่ ๆ นี้ เห็นว่าควรกําหนดเวลาประชุมกันสักหน่อยจะดีกว่า

นายวิลาศ โอสถานนท์ เสนอขอให้ประชุมเวลา 15.00 น.

หลวงสิทธิฯ สนับสนุนผู้แทนกระทรวงกลาโหมไม่ขัดข้อง

ประธานฯ ทรงกล่าวว่า สําหรับการทหารนั้น แม้สําคัญก็เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมโดยมาก ส่วนที่เกี่ยวกับส่วนกลางนั้น ก็มีญี่ปุ่นเท่านั้นอาจจะคึกคักขึ้นมาได้ สําหรับกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากข่าวที่ได้รับจากวิทยุแล้ว ก็แปลข่าวที่ได้รับจากทูตของเรา ซึ่งมีมาและถือเป็นหลักฐานทางราชการ แต่โทรเลขที่ทูตมีมาโดยมากกับข่าวที่เราได้รับแล้วทางวิทยุ

พระรามณรงค์ ถามว่า ข่าวชายแดนจะเริ่มเมื่อใด

ประธานฯ ทรงตอบว่า เริ่มแต่เดี๋ยวนี้ เช่นมีคนอพยพเข้ามาหรือมีการเคลื่อนไหวเป็นพิเศษอย่างใด ก็ขอให้รายงานมา

พระอร่ามฯ กล่าวว่า หน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับข่าวมาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนการกระจายเสียงเป็นหน้าที่ของสํานักงานโฆษณาการ และข่าวเช่นนี้ ได้เคยส่งมาเรื่อย ๆ แล้ว

ประธานฯ ทรงอธิบายว่า เท่าที่เชิญผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลขมาก็เพราะทางนี้อาจจะต้องขอสําเนาข่าววิทยุให้มากขึ้นอีกเพื่อแจกกรรมการ

พระอร่ามฯ กล่าวว่า ข่าวชายแดนทางกรมไปรษณีย์โทรเลขก็ได้รับเหมือนกัน จะส่งมาให้ทางใคร คือ เวลานี้ส่งไปให้ทางสํานักนายกรัฐมนตรี

ประธานฯ ทรงกล่าวว่า เห็นควรส่งให้ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยด้วย ส่วนทางสํานักนายกฯ นั้น ก็ควรส่งตามเดิม เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนที่ส่งให้ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยในที่นี้ ก็เพื่อประมวลข่าวเท่านั้น

พระอร่ามฯ ได้ปรารภถึงการไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการรับข่าว เพราะข่าวเวลานี้ส่งมานอกเวลาเรื่อย ๆ

ประธานฯ ทรงกล่าวว่า ข่าวรอยเตอร์นั้น ผู้สืบข่าวของเขาชำนาญมาก ข่าวของเขาจึงได้ประโยชน์ดี รอยเตอร์เป็นสํานักเอกชนก็จริง แต่ก็เข้ากับฝ่ายอังกฤษเป็นธรรมดา ความต้องการของเราก็คือ ได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี

พระอร่ามฯ ทูลถามว่า พวกที่มีลิขสิทธิ์นั้น เราจะขอเขาหรือไม่

ประธานฯ ทรงตอบว่า เราใช้วิธีลักเอาก็แล้วกันไม่ต้องขอลิขสิทธิ์เขาไป

นายวิลาศ โอสถานนท์ กล่าวว่า เวลานี้ การส่งวิทยุรัฐบาลเข้าควบคุมมาก ขอให้ทางกรมไปรษณีย์โทรเลขรับแล้วเสนอให้กรรมการดู และอีกประการหนึ่ง ขอให้รับข่าววิทยุจากจีนด้วย

พระอร่ามฯ เสนอว่า ถ้ามีคนไปคอยรับข่าววิทยุแล้ว จะได้เร็วดีมาก

หลวงสิทธิฯ ถามว่า จะส่งคนไปรับได้เวลาใด และสําหรับกระทรวงการต่างประเทศ ใครจะขอเพิ่มอีก 3 ฉบับ

พระอร่ามฯ ตอบว่า จะแจ้งเวลามาให้ทราบภายหลัง

ประธานฯ ทรงกล่าวว่า สําหรับกรรมการอื่น ๆ ด้วย ขอให้ทางกรมไปรษณีย์โทรเลขเตรียมไว้ให้เสร็จแล้ว มอบมากับผู้ไปรับทีเดียว และทางนี้จะได้จัดการนําไปแจกกรรมการเลย

นายวิลาศ โอสถานนท์ ถามว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทางวิทยุกระจายเสียงจะเปิดถึงเที่ยงคืนได้เตรียมโปรแกรมว่า ได้รับข่าวจากวิทยุต่างประเทศเมื่อใด ก็จะจัดการแปลแล้วนําไปประกาศการกระทําเช่นนี้จะอยู่ในความควบคุมของกรรมการคณะนี้หรือไม่

ประธานฯ ทรงกล่าวว่าไม่อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการชุดนี้ การกระทําเช่นนั้นเป็นการกระทําเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่ง เมื่อได้รับข่าวแล้วก็แปลออกเสนอมหาชน

หลวงสิทธิฯ เสนอว่า ถ้าไม่มีข่าวอะไรจะส่งมาก็ขอให้โทรศัพท์มาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบหรือถ้าข้าพเจ้าไม่อยู่ก็ขอได้โปรดโทรศัพท์มาติดต่อกับหลวงวิสูตรวิรัชเทศ

ประธานฯ ทรงกล่าวปิดประชุม และว่าขอนัดประชุมใหม่พรุ่งนี้เวลา 15.00 น.

 

ปิดประชุมเวลา 14.50 น.

(ลงนาม)
หลวงวิสูตรวิรัชชเทศ
เลขานุการ

 

 

พระบรมราชโองการประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482 กับการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา

 


ภาพความเสียหายบริเวณหัวลำโพง
จากการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485 - 2487

 

ก่อนการประกาศสงครามประมาณ 1 เดือนได้มีข้อมูลจากบันทึกของราษฎรนิรนามเสนอภาพความรุนแรงจากสงครามมหาเอเชียบูรพาว่ามีการโจมตีในเขตธนบุรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยเครื่องบินอังกฤษมาทิ้งระเบิด และหลังจากนั้นกรุงเทพฯ ก็ถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นระยะและปรากฏร่องรอยความเสียหายทั้งในเขตพระนครและเขตธนบุรีซึ่งการโจมตีจะเน้นไปที่สถานที่ราชการสำคัญและไม่เว้นแม้กระทั่งโรงทาน

 


ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

 

และช่วงเที่ยงของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา โดยปัญหาทางประวัติศาสตร์ของประกาศสงครามฯ ฉบับนี้คือ การอ้างชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งที่มิได้อยู่ลงนามและการอ้างอิงความชอบธรรมของรัฐบาลจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่งกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป”

ในคำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาฉบับถัดมาได้ระบุข้อมูลการโจมตีไทยจากฝ่ายพันธมิตรไว้ว่า

“ในระหว่างเวลาตั้งแต่วันที่ 8 ​ธันวาคม ถึง 20 มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ 30 ครั้ง และโจมตีทางบกถึง 36 ครั้ง”

 และในคืนวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 เครื่องบินอังกฤษยังบินมาโจมตีกรุงเทพฯ อีกครั้งซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลอ้างถึง แล้วนำมาสู่การประกาศสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

นับตั้งแต่การรับข้อเสนอครั้งแรกของรัฐบาลไทยก็เกิดข้อถกเถียงและความขัดแย้งภายในสมาชิกคณะราษฎรชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ในเวลาดังกล่าวที่ไม่ได้ลงนามในการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายปรีดี ได้บันทึกประวัติศาสตร์และข้อวิจารณ์สงครามครั้งนี้ไว้อย่างละเอียดและไม่ค่อยมีการกล่าวถึง จึงขอนำเสนอไว้ในบทความชิ้นนี้พร้อมกับหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว

 


พระบรมราชโองการประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482

 

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้มีการประกาศวันสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดย นายปรีดี พนมยงค์ และภายหลังสงครามจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ยังมีข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์เรื่องการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 สำคัญ จากทั้งนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย หรือทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายเสรีนิยมว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. ครั้งนั้นเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482 หรือไม่ อย่างไร

หากมองในทางหลักกฎหมายถือเป็นการละเมิดต่อประกาศฯ นี้อย่างแน่แท้ เนื้อความสำคัญในพระบรมราชโองการฯ เรื่องสถานะความเป็นกลางบัญญัติ มีดังนี้ โดยผู้เขียนได้คงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้

“โดยที่บัดนี้มีสถานะสงครามอยู่ในบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี, และ

โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดํารงเป็นผาสุกอยู่ในสันติภาพและมิตรภาพกับพระมหากษัตริย์และประมุขแห่งรัฐ ตลอดจนอาณาประชาชนและคนชาติแห่งรัฐนั้นๆ แต่ละรัฐ และ

โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะให้อาณาประชาราษฎรของพระองค์คงได้รับประโยชน์เป็นมั่นคงอยู่ในสันติภาพอันเป็นคุณหาที่สุดมิได้ และเพื่อการนี้ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและ เที่ยงธรรมในสถานะสงครามดั่งกล่าวแล้ว

ฉะนั้น คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึ่งให้ตราประกาศขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

ให้บันดาข้าราชการและอาณาประชาราษฎรไทย และบันดาบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ปฏิบัติตามความเป็น กลางอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรม ในระหว่างที่มีสถานะสงครามอยู่นีั้…”

ส่วนข้อถกเถียงอีกแง่คือรัฐบาลจอมพล ป. มีทางเลือกอื่นในการไม่ประกาศสงครามหรือไม่ในเวลานั้น

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขรและการสะกดคำจากหลักฐานชั้นต้น
  • ภาพประกอบบทความหลักฐานชั้นต้นจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น:

  • คำแถลงการณ์เกี่ยวแก่การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 247-251.
  • ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485, ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 59 ตอนที่ 5 (25 มกราคม 2485): 244–246.
  • พระบรมราชโองการประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 56 (5 กันยายน 2482): 847-849.
  • สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, ครั้งที่ 47/2482 เรื่อง สงคราม วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2482.
  • สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร. 0201.33.1/2 เอกสารสํานักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สงครามโลกครั้งที่ 2 ประมวลข่าว เรื่อง กรรมการพิจารณาข่าวในยาม ฉุกเฉินหรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการสงครามให้กรมโฆษณาการ จัดการรวบรวม (พ.ศ. 2482)

 

หนังสืออนุสรณ์งานศพ:

  • ทวี บุณยเกตุ. “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2515)

 

หนังสือและวารสารภาษาไทย:

  • กฤษฎา บูรณมานัส, "การประมวลข่าวสงคราม: บทบาทของกรรมการพิจารณาประมวลข่าวสงครามของไทย พ.ศ. 2482-2484", วารสารประวัติศาสตร์, (2564), 61-78.
  • ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร: แพร่พิทยา, 2510)
  • ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2554)
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะบรรณาธิการ, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2543)

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์:

  • สุพจน์ ด่านตระกูล, (24 สิงหาคม 2565), อ่านความคิดของปรีดี: นโยบายการต่างประเทศ และ ความเป็นกลาง, สืบค้นที่ https://pridi.or.th/th/content/2022/08/1221