ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ทัศนาจุดสูงสุด “คณะราษฎร” ผ่าน “เมืองไทย หนังสือภาพ” จากวันชาติ ถึง วันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484

29
มิถุนายน
2567

“ความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลนี้ก็คือ จะบำรุงฐานะของราษฎรให้เป็นพลเมืองดีตามวิถีรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักงานโฆษณาการจะได้ดำเนินการเผยแพร่อบรมต่อไป”

พระยาพหลฯ
25 ธันวาคม พ.ศ. 2476
[1]

 

ยุคสมัยการปกครองของคณะผู้ก่อการ 2475 “คณะราษฎร” นับเป็นหนึ่งในสมัยเรืองรองของสื่อสิ่งพิมพ์  รัฐบาลดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลงานจำนวนมากผ่านหนังสือที่ระลึกในวาระต่าง ๆ ภายใต้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าผู้ก่อการขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 5 ปีนั้น ได้จัดพิมพ์หนังสือหลายเล่มในระดับจำเป็นต้องใช้อ้างอิงจนถึงทุกวันนี้ เช่น “เทอดรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2476)” “ประชานุเคราะห์ (พ.ศ. 2478 และ 2481)” จนถึงปลายสมัยได้จัดพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงานเล่มใหญ่ชื่อว่า “สมุดที่ระลึกของสำนักนายกรัฐมนตรี ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480” ที่ต่อมาใช้เป็นต้นแบบของหนังสืออนุสรณ์วันชาติในยุคสมัยต่อมา

 


ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482

 

ทันทีที่หลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพระยาพหลฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2481 เพียงครึ่งปีถัดมารัฐบาลได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 อย่างหรูหราด้วยกระดาษอาร์ตมันปกแข็งหุ้มผ้ากระสอบป่านชื่อว่า “ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ” เนื้อหาแสดงผลงานที่ผ่านมาของคณะราษฎรพร้อมภาพประกอบจัดพิมพ์อย่างประณีต, ภาพวาดลงสีต้นแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ตัวเลขเทียบเคียงสถิติต่าง ๆ ด้วยรูปแบบกราฟที่ดูเข้าใจง่ายระหว่างยุคราชาธิปไตยกับประชาธิปไตย, การตกลงเรื่องสนธิสัญญาใหม่ เป็นต้น

 

ไทยในสมัยปัจจุบัน ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติ ปี 2483 

 


ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติ ปี 2484

 

รัฐบาลยังคงสร้างหนังสือรูปแบบเดียวกันนี้ต่อเนื่องในวันชาติอีกสองปีถัดมา พ.ศ.2483 ให้ชื่อว่า “ไทยในปัจจุบัน” ดังประหนึ่งหนังสือเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินกลาง และวันชาติปี พ.ศ. 2484 ด้วยชื่อ “ไทยในสมัยสร้างชาติ” ภาพปกจัดแสดงภาพแผนที่ประเทศไทยใหม่ที่เพิ่งได้รับมอบดินแดนจากประเทศฝรั่งเศส ภายหลังญี่ปุ่นยื่นมือเข้าเป็นเจ้าภาพไกล่เกลี่ยในอนุสัญญาโตเกียวก่อนหน้าวันชาติปีนั้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ครั้งนั้นประเทศไทยสามารถขยายอาณาเขตด้านตะวันออกเพิ่มขึ้นอีก 4 จังหวัดคือ พระตะบอง, พิบูลสงคราม, นครจัมปาศักดิ์ และลานช้าง

ในวันชาติปี พ.ศ. 2484 ช่วงนี้เองกรมโฆษณาการโดยรัฐบาลได้ริเริ่มจัดพิมพ์หนังสือรายเดือนหัวสำคัญชื่อว่า “เมืองไทย หนังสือภาพ”  มีนายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เป็นผู้อำนายการ นายกุมุท จันทร์เรือง เป็นบรรณาธิการและผู้จัดการ และนายระบิล บุนนาค เป็นบรรณาธิการแผนภาพ จำหน่ายในราคาเล่มละ 1 บาท ตัวเล่มจัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ไทยเขษม หนังสือหัวนี้วางตลาดต่อเนื่องนับจาก “วันชาติ” ปีนั้นจนถึงฉบับสุดท้ายเพื่อเฉลิมฉลอง “งานรัฐธรรมนูญ” ปลายปีเดียวกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 เล่ม

สาเหตุสำคัญที่หนังสือภาพหัวนี้จำต้องหยุดกิจการไปอย่างกะทันหันสันนิษฐานเป็นอื่นไปมิได้นอกเหนือจาก “ญี่ปุ่นบุก” ณ เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484  เหตุการณ์นี้ตรงกับพิธีเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญจนทำให้รัฐบาลจำต้องล้มเลิกงานปีนั้นไป และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเข้าร่วมวงไพบูลย์สงครามมหาเอเชียบูรพาต่อมาอีกเป็นระยะเวลายาวนานอีกถึงเกือบ 4 ขวบปี กระทั่งยุติลงเมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488

ฉะนั้น “เมืองไทย หนังสือภาพ” จำนวน 5 เล่มนี้ จึงเสมือนการฉายภาพสมัยรุ่งเรืองถึงขีดสุดของประเทศไทยภายใต้การปกครองของผู้ก่อการ 2475 “คณะราษฎร” ด้วยเป็นระยะที่ประเทศไทยเพิ่งประกาศเกียรติภูมิขยายดินแดนเพิ่มขึ้นถึง 4 จังหวัด ในห้วงเวลาที่พลตรีหลวงพิบูลสงครามครองตำแหน่งผู้นำประเทศจนได้อำนวยยศทางการทหารขึ้นสูงสุดในฐานะ “จอมพล” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484[2] เคียงข้างด้วยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งขณะนั้นกำลังขับเคลื่อนการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย  และความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะผู้ก่อการยังคงกลมเกลียวรวมใจเป็นหนึ่งอย่างถึงที่สุด

 

หนังสือภาพเมืองไทย 5 เล่ม “จุดสูงสุดของคณะราษฎร”

“วิธีปรับความเข้าใจกันในสมัยนี้ ถ้าทำฉะเพาะในทางการเมืองแต่อย่างเดียวแล้ว ยังไม่เป็นการเพียงพอ ประเทศที่เจริญย่อมเห็นความสำคัญของหนังสือที่ชูเชิดเกียรติของชาติ ดังจะเห็นได้ว่า ต่างประเทศได้ส่งหนังสือดี ๆ เข้ามาปลูกความนิยมในบ้านเมืองของเขาให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวเราหลายฉะบับ ฉะนั้น เราขอส่งหนังสือฉะบับนี้ไปตอบแทนบ้าง

หากจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวรรณคดีกันแล้ว หนังสือฉะบับนี้จะพยายามทำตนให้เหมาะสมที่ได้เป็นผู้แทนของประเทศชาติต่อไปในภายหน้า”

นายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์
24 มิถุนายน พ.ศ. 2484

 

ข้อความข้างต้นใน “เมืองไทย หนังสือภาพ ฉบับปฐมฤกษ์” คือถ้อยแถลงของนายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ (พ.ศ. 2442-2540) อธิบดีคนแรกของกรมโฆษณาการ[3] ควบนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการของหนังสือฉบับนี้ พันตรีวิลาศเป็นชาวคณะราษฎรสายพลเรือนผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มสำนักงานเพื่อโฆษณางานในปี พ.ศ. 2476 ระหว่างนั้น “ได้มีการพัฒนาผลงานมาเป็นลำดับโดยมีการปรับปรุงและขยายความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นทุก ๆ ระยะตามความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการสภาพของสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัย และเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘กรมโฆษณาการ’ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2483” จนท้ายสุดเป็นที่รู้จักดีทุกวันนี้ในชื่อ “กรมประชาสัมพันธ์” นับแต่ พ.ศ. 2495[4]

บทความนี้จะนำพาผู้อ่านทัศนาจรประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2484 ผ่านหนังสือภาพทั้ง 5 เล่ม ดังต่อไปนี้

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 1 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 “วันชาติปีที่ 3”

 


ภาพปก เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 1 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484

 

“เมืองไทยหนังสือภาพ” ประเดิมฉบับปฐมฤกษ์ด้วยภาพวาดลงสีวัดพระศรีรัตนศาสดารามมองจากมุมถนนหน้ากระทรวงกลาโหมโดยมีภาพรถถังขนาบมอเตอร์ไซค์สองข้าง ภายในเปิดฉากด้วยคำแถลงของผู้อำนวยการหนังสือนายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ต่อด้วยภาพหมู่คณะทูตนำโดยพระองค์วรรณขณะเป็นตัวแทนรัฐเดินทางไปประชุม ณ กรุงโตเกียวเพื่อทำสัญญารับมอบดินแดน ลงลึกเข้าไปในตัวเล่มถ่ายทอดถึงภาพถ่ายจากหลากหลายมุมมองอันงดงามของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภายใต้หัวเรื่อง “ไทยแสนยานุภาพ” ติดตามด้วยการแสดงภาพเปรียบเทียบของเยาวชนไทย “วานนี้” กับ “วันนี้”

นับจากเล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้ายล้วนต้องประดับเรื่องราวและภาพชาดกอันวิจิตรจากฝีพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ. 2406-2490) ในเล่มปฐมฤกษ์นี้ประเดิมด้วย “เพียรกล้า” ของ “พระมหาชนก” เมื่อพลิกหน้าถัดมาจะพบบทความเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวบ้าน บทความของเสฐียรโกเศศ เรื่อง “จารีตประเพณี” และนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เรื่อง “ผลึกเติบโตอย่างไร” รวมถึงการแสดงเกียรติภูมิของชาติไทยต่อชาวต่างประเทศผ่านบทความ “ไทยไม่ด้อยกว่าวิเทศิก” โดย หลวงบุณยมานพพาณิชย์ ช่วงท้ายเล่มจะมีคอลัมน์ประจำชื่อว่า “บ้านไทยสมัยนี้” แสดงถึงความก้าวหน้าด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

ฉบับปฐมฤกษ์นี้ได้นำเสนอข่าวสำคัญสองชิ้น หนึ่งคือภาพและเนื้อหางานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินทร และข่าวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระปกเกล้าฯ หนึ่งหน้าดังความย่อหน้าแรกว่า “จวนจะถึงเดือนมิถุนายนนี้ เราได้รับข่าวที่สลดใจว่า สมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จสู่ปรโลกด้วยโรคพระหทัยพิการ ณ ตำบลเซอเรย์ ในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมายุได้ 47 พรรษา”

หนังสือปิดท้ายด้วยโฆษณาจากองค์การค้าของราชการต่าง ๆ เช่น “พันธบัตรช่วยชาติ”, “สุราสรรพสามิตต์”, บริษัทไทยเดินเรือทะเล และ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ รวมถึงจากสินค้าเอกชน เช่น เบียร์ไทยตราหมี ตราสิงห์ พัดลมไฟฟ้า กล้องถ่ายภาพ ยาดม และ บุหรี่

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 2  สิงหาคม พ.ศ. 2484

 


ภาพปก เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 2 สิงหาคม พ.ศ. 2484

 


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ใน เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 2 สิงหาคม พ.ศ. 2484

 


จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 2 สิงหาคม พ.ศ. 2484

 

ถัดมาอีก 2 เดือน กรมโฆษณาการตีพิมพ์เล่ม 2 ด้วยภาพปกขบวนรถบุปผชาติครั้งงานวันชาติปีนั้น ถ้อยแถลงบรรณาธิการโปรยหัวด้วย “ประเทศไทยได้จอมพล” เพื่อแสดงความยินดีต่อยศทหารสูงสุดของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามที่เพิ่งได้รับพระราชทานเมื่อปลายเดือนก่อน พร้อมยกคำปราศรัยของจอมพลขณะนั้นว่า  “เมืองไทยเป็นเมืองพระ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” อีกทั้งแสดงภาพและเรื่องราวของ 3 ผู้นำคณะราษฎรคนสำคัญ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พ.ต.หลวงโกวิทอภัยวงศ์ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)

งานอุปสมบท “หลอมนิกาย” ของพระยาพหลฯ (ภิกษุพหลโยธี) เมื่อเดือนก่อนหน้าวันที่ 6 กรกฎาคม ได้รับการนำเสนออย่างรอบด้าน เช่นเดียวกับภาพชุดงานวันชาติที่เพิ่งผ่านพ้นมา

ชาดกประจำเล่มของสมเด็จกรมพระยานริศฯ คือเรื่อง “มโหสธ” สัญลักษณ์ของ “ปัญญาเลิศ” บทความเล่มนี้ประกอบด้วย ทรัพย์ในดิน โดย ดร.โรเบิท แอล.เพ้นเดิลตัน, ล่องแก่งแม่ปิง โดย อารี สุพล, ดอกบัว โดย ทวี ทวีวรรธนะ, เจ้าแห่งสังเวียน โดย ม.ร.ว.จักรทอง ทองใหญ่ และนิยายประจำฉบับเรื่อง สังสารวัฏ โดย รุจี

คอลัมน์ “บ้านไทยสมัยนี้” นำเสนอเคหสถานของ “หมิว อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2448-2506) ” สถาปนิกชื่อก้องผู้ออกแบบสถานที่สำคัญในยุคสร้างชาตินี้ โฆษณาท้ายเล่มฉบับนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบริษัทไทยเดินเรือทะเลด้วยบทความของ นายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ที่นอกจากจะครองตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการและเป็นผู้อำนวยการหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังดำรงตำแหน่งผู้จัดการบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด อีกด้วย

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 3 กันยายน พ.ศ. 2484

 


ภาพปก เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 3 กันยายน พ.ศ. 2484

 

ภาพปกฉบับนี้นำเสนอด้วยสตรีชุดไทยนั่งสีซอสามสาย เนื่องด้วยเดือนนี้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา 20 กันยายน พ.ศ. 2484 จึงเริ่มด้วยบท “อาศิรวาท”

 

 


หนังสือที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม

 

กระนั้นก็ปรากฏเรื่องเศร้าในหมู่ผู้ก่อการ 2475 เมื่อ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือนก่อนหน้า บทบรรณาธิการจึงแสดงการไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของรัฐบุรุษด้านวิทยาศาสตร์ท่านนี้

เชื่อมโยงกับภาพปกคือบทความ “กำเหนิดของดนตรี” โดย บุญธรรม ตราโมท (พ.ศ.2443-2538) ตามด้วยการ “นำเที่ยวเมืองเหนือ” โดย ร.บุนนาค และ “หัวหินชายทะเล” โดย ตัณธนะ บันทึกประจำเล่มกล่าวถึงสงครามอินโดจีนที่เพิ่งผ่านพ้น แสดงความสำคัญของสภากาชาด และปิดท้ายด้วยการรณรงค์นโยบายรัฐนิยมที่ได้ประกาศไปแล้ว 11 ฉบับ

ชาดกประจำเล่มคือ “พระสุวัณณสาม” สัญลักษณ์แห่ง “เมตตา” ด้านคอลัมน์ “บ้านไทยสมัยนี้” เสนอเรือนหลังเล็กสไตล์เก๋ไก๋กลางบ่อน้ำย่านบางกะปิของผู้อำนวยการหนังสือเล่มนี้ พันตรีวิลาศ โอสถานนท์

เมืองไทยฯ ฉบับนี้ปิดท้ายด้วยเรื่อง “กีฬา ฟุตบอลฺล” เนื่องด้วยเดือนก่อนหน้าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม รัฐบาลเพิ่งจัดการแข่งขันฟุตบอลล์ลชิงถ้วยของท่านจอมพล หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างทีมธนบุรีกับทีมอำเภอเบตง ณ สนามกีฬาแห่งชาติ ประชาชนตีตั๋วเข้าชมอย่างล้นหลามจนสามารถเก็บเงินได้ประมาณ 24,052 บาท “เงินจำนวนนี้จะได้จัดส่งสมทบทุนชดใช้ค่าทางและรถไฟในดินแดนเก่าที่ได้กลับคืนมาใหม่”

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 4 ตุลาคม พ.ศ. 2484

 


ภาพปก เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 4 ตุลาคม พ.ศ. 2484

 

ปกฉบับเดือนนี้ให้ความสำคัญกับกายบริหารของกรมพละศึกษา ท่ามกลางภาวะความตึงเครียดของสงครามในยุโรปเริ่มขยายวงกว้าง ประเทศไทยขณะนั้นยังคงวางตัวเป็นกลาง บทบรรณาธิการจึงนำเสนอว่า “โลกกำลังทำลาย-แต่ไทยกำลังสร้าง” ความบางตอนว่า “ประเทศไทยควรจะแขวนป้ายไว้ที่พรมแดนเตือนชาวต่างประเทศให้รู้ตัว่า ‘ห้ามเข้าไปเกะกะ ประเทศไทยกำลังยุ่งกับการก่อสร้าง’” อันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นต่อการ “สร้างชาติ” อย่างจริงจัง เนื้อหาช่วงต้นฉบับนี้เป็นเรื่อง “พระปิยมหาราช” เนื่องด้วยอยู่ในเดือนตุลาคม

การเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม เป็น ไทย” เมื่อวันชาติก่อนหน้านั้น 2 ปี ย่อมกระทบถึงชื่อเรียกเดิมของ “พระสยามเทวาธิราช” เช่นกัน ฉบับนี้ “ครูเทพ” หรือนามปากกาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ.ศ.2419-2486) ได้ประพันธ์บทสดุดี “ไทยเทวาธิราช” ความยาวถึง 4 หน้า พร้อมร่ายสังเขปประวัติศาสตร์ไทยไล่เรียงนับจากอดีต คือ “เทพสดุดี”, “ประดิษฐานอาณาจักร์”, “เสียกรุงกู้คืน”, “สมัยยุโรปล่าเมืองขึ้น”, “ไทยรอด” จนถึงปัจจุบัน คือ “ไทยเข้าแถวเคียงไหล่กับนานาชาติ”, “รัฐธรรมนูญ”, “โลกกลียุค”, “ขอพระไทยเทวาธิราชทรงคุ้มครอง”, “นพคุณพระไทยเทวาธิราช”

ชาดกประจำเล่มนี้คือเรื่อง “เตมิยชาดก” ในหน้าถัดมา น่าสนใจมีการแสดงภาพชุดหมู่บูชาพระ ประกอบคำบรรยายว่า “บ้านไทยต้องมีห้องพระและที่บูชาแสดงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะขาดเสียมิได้” นับเป็นการสะท้อนแนวคิดของรัฐที่ชี้นำรูปแบบพุทธศาสนพิธีต่อราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ในอีกด้าน คอลัมน์ “บ้านไทยสมัยนี้” กลับแนะนำปรับที่อยู่อาศัยให้ทันสมัย แนะแบ่งส่วนภายในแบบบ้านตะวันตก เน้นเนื้อที่ใช้สอย ด้วยการนำเสนอบ้านของ นางสาวถวิล เสริฒประเสริฐ

บทความในเล่มที่ปลุกกระแสความรักชาติฉบับนี้คือ “ศึกถลาง” เขียนภาพประกอบโดย สวาท คเชนทร์ ขณะที่วรรณกรรมประจำเล่มปรากฏชื่อของ “อุษณา เพลิงธรรม” เป็นครั้งแรกด้วยเรื่อง “กมลา” ความยาว 12 หน้า

ฉบับเดือนตุลาคมปิดท้ายด้วยเรื่องกีฬาเหมือนเล่มก่อนหน้า แต่คราวนี้เปลี่ยนจากฟุตบอลเป็นรักบี้ นำเสนอฤดูการแข่งขันรักบี้โดยมีผู้ส่งเข้าแข่งขัน 7 ทีม คือ ธรรมศาสตร์, ราชตฤณมัย, จุฬาลงกรณ์, นายเรือ 1 และ นายเรือ 2, เกษตรศาสตร์ และราชกรีฑา

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 5 ฉะบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ธันวาคม พ.ศ. 2484

 


ภาพปก เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 5 ฉะบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ธันวาคม พ.ศ. 2484

 

หนังสือภาพเมืองไทยฉบับพิเศษนี้จัดพิมพ์ด้วยจำนวนหน้ามากกว่าเล่มก่อนหน้า ในวาระฉลองงานรัฐธรรมนูญแต่จำต้องยกเลิก เมื่อญี่ปุ่นยกทัพยาตราเข้าประเทศไทยเมื่อเช้ามืดวันงาน ภาพปกเล่มนี้นับว่าไฉไลแลดูทันสมัย ดูโมเดิร์นแปลกตา

“ภาพใต้” บริบทสงครามรอบด้านยามนั้น เนื้อหาช่วงต้นเผยแพร่พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” ติดตามด้วยบทความของครูเทพ เรื่อง “มนุษย์จะก้าวหน้าหรือถอยหลัง” และ “ความเจริญของหนังสือพิมพ์ในระบอบรัฐธรรมนูญ” โดย ชวาลา สุกุมลนันทน์

ความพิเศษของฉบับนี้คือการรวมไฮไลท์ภาพถ่ายงานเฉลิมฉลองรัฐธรรนูญปี พ.ศ.2481 2482 และ 2483  บ่งบอกความเป็นอารยประเทศ เสริมด้วยการรวบรวมภาพถ่ายอันงดงามจากจังหวัดทั่วทั้งประเทศ ชื่อของนักประพันธ์แห่งยุค สด กูรมะโรหิต ปรากฏครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อว่า “กฎธรรมดา”

ช่วงท้ายปิดเล่มด้วยกีฬาเช่นสองเล่มก่อนหน้า ฉบับนี้นำเสนอเรื่อง “มวยนักเรียน” ก่อนผนวกท้ายเล่มด้วยการประชาสัมพันธ์ “ฉบับปีใหม่ เล่มหก” แต่ต้องยุติไปเนื่องด้วยสภาวะสงคราม ภาพปกหลังเล่มนี้แสดงความสง่างามของ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่ตั้งมั่นได้ครบ 5 ปีพอดี

 

ปิดท้าย

 

หากจะกล่าวถึงหนังสือที่ระลึกที่ดีสุดของคณะราษฎร คงต้องนึกถึงหนังสืออนุสรณ์เฉลิมฉลองวันชาติ 3 ปีซ้อน คือ “ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2482” “ไทยสมัยปัจจุบัน พ.ศ. 2483” และ “ไทยสมัยสร้างชาติ พ.ศ. 2484”

หากจะเอ่ยถึงหนังสืองานศพอันแสดงความสามัคคีของสมาชิกผู้ก่อการ 2475 ย่อมต้องนึกถึงอนุสรณ์งานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ก่อนญี่ปุ่นบุกเพียง 5 วัน

หากจะอ้างถึงชุดหนังสือ “เมืองไทย หนังสือภาพ” จำนวน 5 เล่มนี้ ย่อมหมายถึงเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ให้ภาพสมัย “บ้านเมืองยังดี” ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคณะราษฎร ไม่ว่าจะด้วยภาพถ่ายที่คัดสรรอย่างมืออาชีพ บทความจากนักประพันธ์ชั้นแนวหน้า และการจัดพิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพสูง (ก่อนจะขาดแคลนอย่างหนักในช่วงสงคราม)

ท้ายสุดนี้ ขอผนวกปิดการนำเที่ยวหนังสือชุดนี้ด้วยบทความ “ความก้าวหน้าในระบอบรัฐธรรมนูญ” ของ เสริม บุณยรัตพันธุ์ จัดพิมพ์ไว้ในเล่มสุดท้าย ฉบับฉลองงานรัฐธรรมนูญที่มิได้ฉลอง งานเขียนชิ้นนี้ถือได้ว่าคือการบรรยายสรุปถึงผลงานอันโดดเด่นของคณะผู้ก่อการ 2475 ที่ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างกระชับชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีแรกแห่งการครองอำนาจ

 

ความก้าวหน้าในระบอบรัฐธรรมนูญ โดย เสริม บุณยรัตพันธุ์

นับแต่เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในระยะ 10 ปีนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงส่วนสำคัญ ๆ ของประเทศให้เจริญขึ้นอย่างผิดตา อาทิเช่น เส้นทางการคมนาคม มีถนนหลวงเปิดเดินได้เกือบทั่วถึงกันทั้งประเทศแล้ว ทั้งทางรถไฟก็ได้เพิ่มระยะมากขึ้นอีก สายการบินได้ขยายออกไปอีกหลายแห่ง ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก การจัดความเจริญของจังหวัดต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคจึงเป็นไปโดยรวดเร็ว เนื่องจากการติดต่อในการคมนาคมเจริญดีกว่าครั้งก่อน ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพย์ในดินและสินในน้ำ แต่ในการจะส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเดิมไม่ใคร่สะดวก เนื่องจากเราต้องอาศัยเรือเดินทะเลของบริษัทต่างประเทศแทบทั้งสิ้น นอกจากการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายจะไม่สะดวกแล้ว ยังจะต้องจำหน่ายด้วยราคาแพงกว่าที่จะซื้อขายกันตามปกติ เพราะต้องเพิ่มอัตราค่าระวางขนส่งเข้าอีก บัดนี้อุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้บรรเทาเบาบางลงไปมากแล้ว โดยเหตุที่ได้เกิดบริษัทไทยเดินเรือทะเลขึ้นในความร่วมมือของรัฐบาล โดยซื้อเรือเดินทะเลจากบริษัทต่างประเทศมาใช้เดินรับส่งสินค้ากับประเทศอื่น ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา การค้าขายจึงสะดวกขึ้นอีกมาก สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ธงไทยได้ปลิวสะบัดเป็นที่ปรากฏแก่สายตาของมหาชนตามเมืองท่าประเทศต่าง ๆ เป็นเหตุให้ต่างประเทศรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ผลที่ได้รับจากการมีบริษัทไทยเดินเรือทะเลจึงสะท้อนกลับเป็นประโยชน์แก่ประเทศอย่างมาก เพื่อจะให้การเศรษฐกิจของประเทศได้เจริญก้าวหน้าไปอีก รัฐบาลจึงได้สร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ขึ้นโดยเร่งรีบ บัดนี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว และทำการขุดลอกทำร่องน้ำเป็นทางเดินให้เรือเดินสมุทรใหญ่ ๆ สามารถเข้าจอดเทียบท่าในจังหวัดพระนครได้ แทนที่จะต้องชะงักอยู่แต่เพียงเกาะสีชัง เพราะติดสันดอนเช่นครั้งก่อนนี้

บรรดาชาวต่างประเทศ ที่จากประเทศไทยไปในระยะ 10 ปีนี้ ถ้าได้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งจะต้องรู้สึกพิศวงและตื่นตาตื่นใจในการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของประเทศไทย สมดังที่นักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรจะแขวนป้ายไว้ที่พรมแดนเตือนชาวต่างประเทศให้รู้ตัวว่า “ห้ามเข้าไปเกะกะ ประเทศไทยกำลังยุ่งในการก่อสร้าง” ถนนแทบทุกสายในพระนครได้ขยายกว้างขึ้นเพื่อสะดวกแก่การจราจร ถนนราชดำเนินได้ปรับปรุงใหม่ ปลูกสร้างอาคารแบบทันสมัย มีอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยเครื่องหมายแห่งการมีอิสสระเสรีตระหง่านเป็นสง่าอยู่ในถนนราชดำเนิน สถานที่ทำการของรัฐบาลและของเอกชน ส่วนมากได้ทำการก่อสร้างใหม่สวยงามเป็นสง่าสมแก่สภาพแห่งประเทศเอกราชทางภาคตะวันออกไกล การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เจริญดีขึ้นนี้ ปรากฏว่าชาวต่างประเทศได้ยอมรับว่า ในการวางแผนผังและการก่อสร้างตลอดจนระเบียบต่าง ๆ ของการจัดการคมนาคมของประเทศไทยได้นำหน้าหลาย ๆ ประเทศในตะวันออกไกลนี้ไปมากแล้ว

ในส่วนการป้องกันประเทศเพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ คือการทหารก็ได้กระทำการไปด้วยดีทุกประการ จนเป็นที่อุ่นใจได้ว่าหากประเทศหนึ่งประเทศใดจะหาญเข้ามารุกรานแล้ว ก็จะประสพการต้านทานจากกองทัพไทยอันแข็งแกร่งและมีสมรรถภาพอย่างดีเยี่ยม ทหารไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากชัยชะนะในการรบเนื่องในกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศสว่าเป็นทหารที่กล้าหาญเช่นเดียวกับทหารของอารยประเทศอื่นทั้งหลาย ราษฎรไทยทุกคนมีหน้าที่ป้องกันประเทศและมีส่วนร่วมกับทางการทหารเพื่อรู้หน้าที่อันสำคัญนี้โดยทั่วถึงกัน ยุวชนและยุวนารีได้มีโอกาสฝึกหัดให้รู้งานและหน้าที่เพิ่มพูนสมรรถภาพ เป็นการช่วยเหลือราชการทหารได้รับผลอย่างดียิ่ง งานในส่วนยุวชนและยุวนารีนี้ได้ขยายออกกว้างขวางยิ่งขึ้นทุกขณะ

ในส่วนการศึกษา อันเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการก่อร่างสร้างประเทศ เพราะเป็นรากฐานของความเจริญอันมั่นคงในกาลต่อไปนั้น ได้เจริญขึ้นทั้งในอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และการศึกษาของเทศบาล ประชาบาล ต่างประเทศได้รับรองคุณภาพของสถานศึกษาในประเทศไทย ทุก ๆ ปีจะมีนักศึกษาที่สำเร็จจากชั้นศึกษานั้น ๆ เป็นจำนวนมาก และได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศตามคุณวุฒิที่ตนถนัดทวียิ่งขึ้นทุกที

ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ดีที่สุดในภาคตะวันออก งานของสถานพยาบาลแห่งประเทศไทยเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ มีนักศึกษาและนายแพทย์สำเร็จการศึกษาทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก ในศกก่อนได้เกิดองค์การอาสากาชาดขึ้น เป็นกองแยกกองหนึ่งของสภากาชาด ชั่วระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ล่วงมา กิจการของอาสากาชาดได้เจริญขึ้นมากเป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลาย เปิดโอกาสให้ประชาชนพากันมาสมัครเป็นสมาชิกเพื่ออุทิศเวลาว่างแก่การกุศลสาธารณประโยชน์ตามที่ตนถนัดได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นการอาสากาชาดยังเป็นคุณประโยชน์ในการเพิ่มพูนความสามัคคีพร้อมเพรียงของประชาชนชาวไทยได้ดีทางหนึ่ง

รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญ ได้พยายามส่งเสริมความก้าวหน้าของประเทศในทุก ๆ ทาง การศาสนาซึ่งเป็นหลักการอบรมทางใจที่สำคัญยิ่งนั้นก็ได้รับการบำรุงจากรัฐบาลด้วยดีเสมอ วัดพระศรีมหาธาตุที่สร้างขึ้น ณ ตำบลบางเขน เป็นประจักษ์พยานในความเจริญของพุทธศาสนาในระบอบรัฐธรรมนูญ

ประชาชนชาวไทยทุกวันนี้ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการแต่งกาย ในการอยู่กินและในความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ดูประเทศไทยในปัจจุบันแล้วเปรียบกับประเทศไทยในสมัยเดิมจะเห็นว่า ความเจริญในทุก ๆ ส่วน ทั้งทางฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายราษฎรและการเศรษฐกิจได้เจริญก้าวหน้าผิดกว่าแต่ก่อนอย่างมาก ความเจริญเท่าที่เห็นประจักษ์ตาในปัจจุบันนี้เป็นรากฐานที่จะเริ่มความเจริญก้าวหน้าทวีขึ้นในกาลต่อไป ความมั่นคงของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นก้าวแรกของการสร้างความวัฒนาถาวร เพื่อความใหญ่หลวงของชาติในอนาคต

วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นศุภวารดิถีเวียนมาบรรจบครบรอบ จิตต์ประวัติระลึกถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ เสียงเครื่องบินครางกระหึ่มอยู่เบื้องบน เสียงพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ทุก ๆ อารามในประเทศไทยย่ำระฆังกังวานดังไปทั่ว วิทยุกระจายเสียงแถลงข่าวการเคลื่อนไหวในขณะที่พระราชทานรัฐธรรมนูญทุก ๆ ระยะ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้ตื่นแล้ว นับแต่วาระนั้นเป็นต้นไป ประชาชนชาวไทยทั้งหลายจะได้รับสิทธิและเสรีภาพเพิ่มขึ้นตามลำดับ ภายในขอบเขตต์บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนวยผลให้เกิดความสมบูรณ์พูลสุขดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แสงสว่างแห่งอารยธรรมได้เริ่มฉายและจะแรงกล้ายิ่งขึ้นตามลำดับ ประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้า ได้วิวัฒน์จากวัฒนธรรมไปสู่อารยธรรม ความใหญ่หลวงของชาติ ซึ่งทุกคนมุ่งหวังก็จะประสพผลสมบูรณ์ในเวลาไม่นานนัก

การฉลองรัฐธรรมนูญ ก็คือการฉลองขวัญของประชาชน เป็นการแสดงวิญญาณร่วมของประชาชนชาวไทย ให้ระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ประศาสน์ผลอำนวยความสุขสมบูรณ์ให้ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ทุก ๆ ปีจะมีการฉลอง และในการฉลองนั้น ได้จัดให้มีการแสดงความก้าวหน้าของประเทศในทุก ๆ ด้านให้ประชาชนได้ชม ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจในกิจการที่รัฐบาลได้จัดทำเพื่อบำรุงประเทศให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ความรู้สึกร่วมในอันที่จะเทิดไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญจึงซาบซึ้งในจิตต์ใจของมวลชนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

รัฐธรรมนูญได้ขจัดปัดเป่าความทุกข์ให้เหือดหาย ให้ได้รับความร่มเย็นทั้งกายและใจประชาราษฎร์ ต่างได้รับความสุขสบายเพิ่มพูนยิ่งขึ้นเป็นลำดับทั่วราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญเปรียบดังฉัตรชัยที่กั้นกำบังประเทศให้ร่มรื่นพ้นจากความทุกข์ ให้สิทธิเสรีภาพเสมอกันหมดไม่มีการแบ่งแยกชั้นวรรณะและตระกูล รัฐบาลและราษฎรต่างร่วมการกระทำเพื่อสร้างความใหญ่หลวงให้แก่ชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ขอรัฐธรรมนูญจงเจริญอยู่คู่กับความเป็นเอกราชและอธิปไตยของไทยจวบจนฟ้าดินสลาย[5]

 

 

 

หมายเหตุ: 

  • คงอักขร การสะกดคำ และการเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากเอกสารส่วนบุคคลของคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์

 

ภาคผนวก:

ภาพเหตุการณ์สำคัญในเมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 1-5 พ.ศ. 2484 

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 1 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 2 สิงหาคม พ.ศ. 2484 

 

เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 3 กันยายน พ.ศ. 2484

 

 เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 4 ตุลาคม พ.ศ. 2484 

 

 เมืองไทย หนังสือภาพ เล่ม 5 ฉะบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ธันวาคม พ.ศ. 2484

 

 


[1] กรมประชาสัมพันธ์, 70 ปี กรมประชาสัมพันธ์ (กรุงเทพฯ: กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2546), น. 24.

[2] ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศบรมราชโองการ, วันที่ 28 กรกฎาคม 2484 เล่ม 58, หน้า 981. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[3] วิลาศ โอสถานนท์. ช่วงหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมโฆษณาการ, เข้าถึงได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2023/12/1782

[4] กรมประชาสัมพันธ์. ประวัติกรมประชาสัมพันธ์, เข้าถึงได้ที่ https://edusuratthani.prd.go.th/th/content/page/index/id/1

[5] กรมโฆษณาการ, เมืองไทย หนังสือภาพ ฉะบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ, ปีที่ 1 เล่ม 5, (ธันวาคม พ.ศ. 2484), น. 40-46.