ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สงครามจิตวิทยาก่อนประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา

22
สิงหาคม
2567

Focus

  • บทความฉบับนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์ ภายหลังการเข้ามาของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย ด้วยสถานการณ์สงครามทำให้รัฐบาลไทยในฐานะชาติพันธมิตรของประเทศญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์
  • การดำเนินงานของกรมโฆษณาการ นอกจากการเผยแพร่ข่าวสาร กรมโฆษณาการยังมีบทบาทในการดำเนินการสงครามจิตวิทยาต่อประชาชนในประเทศ

 


โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อจากกรมโฆษณาการ
ที่มา : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

 

-1-

นายวิจิตร วิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ) เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการแทนนายวิลาศ โอสถานนท์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้ลาออกตามความต้องการของญี่ปุ่น

รัฐบาลได้สั่งห้ามประชาชนฟังวิทยุสัมพันธมิตรโดยที่ประชาชนส่วนมากสมัยนั้นไม่มีเงินซื้อเครื่องรับฟังวิทยุ ส่วนคนชั้นกลางที่มีเงินไม่มากก็มีแต่เครื่องรับวิทยุที่รับฟังคลื่นยาวได้เท่านั้น ฉะนั้น ส่วนมากจึงรับฟังวิทยุกรมโฆษณาการ ผู้พอมีเงินซื้อเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นได้นั้นมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ต้องแอบรับฟังวิทยุสัมพันธมิตร

รัฐบาลได้ทำการตรวจเรื่องที่หนังสือพิมพ์จะนำลงข่าวต่างประเทศที่กรมไปรษณีย์โทรเลขรับฟังและพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกเฉพาะรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ต้องการเท่านั้น รัฐบาลไทยกับฝ่ายญี่ปุ่นได้ตั้งกรรมการตรวจข่าวต่างประเทศร่วมกัน ข่าวต่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจึงถูกตัดออก ยกเว้นข่าวที่สัมพันธมิตรรับว่าพ่ายแพ้ในการรบ ส่วนข่าวของญี่ปุ่นและเยอรมันกับอิตาเลียนนั้นเผยแผ่ได้เต็มที่

ประชาชนส่วนมากจึงได้ยินความข้างเดียวของรัฐบาลและของฝ่ายญี่ปุ่นกับอักษะ แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็มีสติและปัญญาอาศัยรูปธรรมที่ประจักษ์แก่ตนและเหตุผลที่ข้อความโฆษณามีขัดแย้งกันภายในตัวเอง ทำให้วิจารณ์ได้ว่าเรื่องใดเป็นเท็จเรื่องใดบิดเบือน เรื่องใดเป็นความจริงทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน

 

-2-

เนื้อหาแห่งสงครามจิตวิทยาสมัยนั้น นอกจากเกลี้ยกล่อมประชาชน เพื่อหวังให้เกิดความนิยมแสนยานิยมญี่ปุ่นและอักษะแล้ว ก็ยังมุ่งทำสงครามจิตวิทยาต่อประชาชนไทยเอง โดยเกลี้ยกล่อมประชาชนเพื่อหวังให้นิยม “ผู้นำ” ยิ่งขึ้น โดยอาศัยความจำเป็นแห่งภาวะสงครามเป็นพื้นฐานให้เห็นความจำเป็นว่า โดยวิธีเผด็จการแบบนาซีเยอรมันเท่านั้น ชาติจึงจะมีชัยในสงครามและมีความสำเร็จในการสถาปนามหาอาณาจักรไทย

 

-3-

ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมแก่นายวิจิตรฯ ว่า ขณะเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการนั้น แม้จะโฆษณาโจมตีสัมพันธมิตร แต่ก็ใช้คารมเพียงกระแนะกระแหน บางครั้งก็แต่งกลอนโต้ตอบกับวิทยุสิงคโปร์ภาคภาษาไทย มิได้ใช้วาจาหยาบคาย

แต่ภายหลังที่นายวิจิตรฯ ได้เลื่อนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและพ้นจากหน้าที่อธิบดีกรมโฆษณาการแล้ว จอมพล ป. ได้ควบคุมวิทยุกรมโฆษณาการโดยตนเองให้กระชับขึ้นซึ่งมีผู้ช่วยในการสรรค์เรื่อง เราจึงได้ยินบทความโจมตีพระราชวงศ์อังกฤษนั้นอย่างสาดเสียเทเสียทีเดียว ลีลาในการเขียนก็มีถ้อยคำก้าวร้าวมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีพระราชวงศ์ไทยบางท่านมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่ปารีส ทรงรับสั่งถึงเรื่องระหว่างสงครามซึ่งท่านผู้นี้จำบทความเหล่านี้ได้ และยังมีเพื่อนเก่าบางคนที่มาเยี่ยมข้าพเจ้า ณ กรุงปารีสพูดฟื้นความจำอย่างสนุกๆ ว่า เขาไม่เชื่อว่าบทความโจมตีพระราชวงศ์อังกฤษนั้นจอมพล ป. เขียนเองเพราะสนใจในวิชาทหารมากกว่าเรื่องประวัติพระราชวงศ์ต่างประเทศ ฉะนั้น จึงอาจจะเป็นบุคคลที่สมัยนั้นมีฉายาว่า “จตุสดมภ์” ดังที่กล่าวไว้แล้วในบทที่ 3 ไม่ใช่ “ปุโรหิต” เขียนให้

 

หมายเหตุ:

  • ภาพประกอบจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์. “สงครามจิตวิทยาก่อนประกาศสงครามกับ บริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” ใน บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 205-207