ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิ - สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมจัดพิธีลงนาม “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” 

29
มีนาคม
2566

(วันนี้) 29 มีนาคม 2566 ณ อาคารทรงกลม ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายการเมืองและภาคประชาสังคมหลายฝ่าย ได้แก่ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย, มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม, มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, WeWatch, เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566, ศูนย์ประสานงานเพื่อการพูดคุยเชิงมนุษยธรรม, โครงการผู้หญิงผู้นำทางการเมือง, โคแฟค (ประเทศไทย), สภาสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาองค์กรผู้บริโภค จัดพิธีลงนามใน “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566”

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวต้อนรับพร้อมระบุถึงความสำคัญของพิธีลงนามในวันนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ เชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและโปร่งใส เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นหมุดหมายที่ทำให้ประชาชนศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยและเชื่อมั่นในระบบพรรคการเมือง เปลี่ยนผ่านการเมืองไทยจากระบอบกึ่งประชาธิปไตยที่สืบทอดอำนาจของคณะ คสช. สู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

ในช่วงกล่าวเปิดงาน นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การลงนามในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความพ้องต้องกันของพรรคการเมืองที่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2566 นี้ ดำเนินไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม อีกทั้งเป็นการวางรากฐานของกระบวนการติดตามและตรวจสอบการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม

ภายในงาน ได้มีการร่วมอ่านและลงนามในปฏิญญา 2 ฉบับ ได้แก่ “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” และ  “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566” ซึ่งการลงนามทั้งสองวาระนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมลงนามในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม พร้อมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมองค์กรอื่นๆ

สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไป ให้ความสำคัญต่อวาระดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง พร้อมร่วมจับตาและสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 โดยมีผู้แทนจากหลายองค์กรร่วมลงนามในพิธี รวมถึงชี้แจงบทบาทของแต่ละองค์กรในสนามการเลือกตั้ง 2566 ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการเลือกตั้ง

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ผู้แทนในนามเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 กล่าวถึงกระบวนการและความชะงักงันที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 2557 โดย คสช. ผลพวงจากระบอบ คสช. ทำให้เกิดความผิดปกติทางการเมือง สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้คาดการณ์ว่าผลพวงดังกล่าวจะยังคงส่งผลเช่นดังเคย อาทิ ความผิดปกติของกฎกติกา และ การดำเนินงานของกกต. ฉะนั้นจึงอยากชักชวนเครือข่ายประชาชนทุกคน เข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อสร้างความโปร่งใสตามหลักประชาธิปไตยสากล เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ตลอดจนสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย คุ้มครองและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดของประชาชนโดยปราศจากการคุกคาม

ธนิสรา เรืองเดช ผู้แทนในนามกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (WeVis) ระบุถึงความเคลื่อนไหวในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มที่มีชื่อว่า “Promise Tracker” เพื่อรวบรวมคำสัญญาและแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองในช่วงการหาเสียง เพื่อสำรวจและติดตามการทำงานที่สนองต่อนโยบายของพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด ว่ามีข้อใดที่ทำให้บรรลุผลไปแล้วบ้าง สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ WeVis ยังคงมุ่งแสวงหาเป้าหมายเดิมขององค์กรอย่างใกล้ชิดต่อไป

และ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงบทเรียนของบทบาทสื่อมวลชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้สู่ยุคปัจจุบัน โดยโคแฟคได้ริเริ่มโครงการตรวจสอบความจริง ร่วมกับ FactCollabTH เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโคแฟคภาคี รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการบิดเบือนข่าวสารทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่การสื่อสารทางการเมืองที่อิงอยู่บนข้อเท็จจริง เคารพความเห็นต่าง และไม่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรง อีกทั้งร่วมรณรงค์การใช้สื่อออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ