ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ธรรมพรส่งท้ายปีเก่า : ไม่ว่าอดีตหรืออนาคต ก็ต้องปัจจุบันเป็นหลัก

31
ธันวาคม
2566

Focus

  • พุทธศาสนาเน้นการให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอดีตและอนาคต เพราะอดีตผ่านไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง แต่ปัจจุบันคือสิ่งที่กำลังอยู่กับเราและต้องการการปฏิบัติ (ให้ดีที่สุด)
  • การยึดปัจจุบันเป็นหลัก ย่อมต้องการความเข้าใจต่อสิ่งที่เป็นมาในอดีตที่ทำให้เกิดปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ช่วยเตรียมวางแผนอนาคตโดยเข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นมาอย่างไร และฉะนั้นพึงจะทำอะไรและอย่างไรในอนาคต
  • ไม่พึงหวนละห้อยกับความหลังที่ผ่านล่วงไปแล้ว ด้วยความเสียดาย และมองอนาคตด้วยความฝันเพ้อ แต่ควรอยู่กับปัจจุบันและทำประโยชน์กับปัจจุบัน

 

 

คนเราที่มองเรื่องของกาลเวลานี้เวลาพูดถึงปีเก่าและปีใหม่ ก็จะไปเน้นเรื่องอดีตและอนาคตมาก ปีเก่าก็มองเป็นเรื่องอดีต และปีใหม่ก็มองเป็นเรื่องอนาคต

ปีเก่าเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราก็นึก เราก็อยากจะให้เป็น เรื่องที่ผ่านพ้นกันไปเสียที ก็หมดๆ เราก็คิดแค่นั้น คิดว่า ให้มันผ่านไป ส่วนปีใหม่เราก็มองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่า จะมีความเจริญงอกงาม บางทีก็เป็นการฝันลมๆ แล้งๆ

แต่ความจริงสิ่งที่ปฏิบัติได้ คือปัจจุบันเท่านั้น เวลาอดีต เราก็ย้อนกลับไปทำอะไรมันไม่ได้ อนาคตเราก็ยังไปทำอะไรยังไม่ได้ มันไม่ได้อยู่กับเรา สิ่งที่อยู่กับเราแน่นอนก็คือปัจจุบัน

ในระยะที่ส่งท้ายปีเก่าและขึ้นปีใหม่นี้ เราจะเห็นพฤติกรรมของคนว่า คนส่วนมากจะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ เวลาที่ตัวมีอยู่ แต่จะพยายามมองถึงว่าทำอย่างไรจะให้ผ่านพ้น เก่าให้เป็นอดีตไปเสีย ทั้ง ๆ ที่มันยังไม่ได้เป็น แต่ไม่ปฏิบัติ

ให้เป็นปัจจุบัน มันก็เลยเป็นอดีตไป แล้วพร้อมกันนั้นก็หวังไป ในอนาคตโดยที่ไม่ยึดปัจจุบันให้แน่นไว้

ถ้าทากว่าเรายึดปัจจุบันให้แน่นไว้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะ ปัจจุบันอยู่กับเราแน่นอน เมื่ออยู่กับเราแล้ว เราเอาปัจจุบันเป็นหลัก อดีตก็จะมีความหมาย

 

อดีตจะมีความหมายอย่างไร?

อดีตนั้น เมื่อเอาปัจจุบันเป็นหลัก ก็จะมีความหมายในแง่ ที่ว่า มันโยงใยในทางเหตุปัจจัย กล่าวคือ ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ก็เพราะเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในอดีต หรือที่ทำมาในอดีต ที่นี้เหตุปัจจัยนี้ เราจะต้องสืบสาวหามัน เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่า เราทำไม

มาเป็นอย่างนี้ ด้วยวิธีนี้เราก็จะได้ตรวจสอบว่า อะไรมันยิ่ง อะไรมันหย่อน อะไรมันขาด อะไรมันเกิน ควรจะแก้ไขอะไร อะไรบทเรียน อดีตก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา

พร้อมกันนี้เราจะเตรียมวางแผนอนาคต ก็ต้องทำกับปัจจุบันนี้แหละ จึงจะมองเห็นว่าอนาคตเรามีแนวโน้มอย่างนี้ มีความพร้อมเท่านี้ มีทุนด้านนี้ แล้วควรจะเป็นไปอย่างไรต่อไป เสร็จแล้ว จึงจะวางแผนได้ถูกต้อง

การที่อดีตกับอนาคตมาโยงกับปัจจุบัน โดยยึดปัจจุบันเป็นหลัก นี้แหละจึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องกาลเวลา

ถ้าหากว่าอดีตกับอนาคตไม่ยึดปัจจุบันเป็นหลัก  อดีตนั้นก็จะเป็นเรื่องที่จม คือถ้าเราไปนึกถึงอดีตเมื่อใด เราจะจมหายไปเลย คือจมไปในอดีตนั้น ถ้าเป็นอนาคต ก็เป็นลอยไป เลื่อนลอย เคว้งคว้างหายไปเลย

คนจำนวนมากจะมีชีวิตอย่างที่ทางพระเรียกว่า หวนละห้อย ความหลัง หวนละห้อยก็คือมองย้อนไปในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องของสิ่งที่ผ่านล่วงไปแล้ว ด้วยความเสียดายอะไรทำนองนั้น แล้วก็มองอนาคตด้วยความฝันเพ้อ อย่างที่เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศอะไรทำนองนั้น ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องที่ท่านเรียกว่าไม่มีประโยชน์

ฉะนั้นประโยชน์ก็อยู่ที่การรู้จักทำกับปัจจุบันนี้แหละ

 

 

ที่มา : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ใน พรตลอดปี ชีวิตดีตลอดไป เนื่องในโอกาสมงคลวารคล้ายวันเกิดครบ ๗๕ ปี พล.อ.อ.วิเชียร เวชพันธุ์ และคุณอำไพ เวชพันธุ์. กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์; 2550, หน้า 5-7.