ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมะจะรักษาเรา

20
มกราคม
2565

ขออนุโมทนาท่านที่มีน้ำใจบอกข่าวแจ้งเรื่องราวให้ทราบว่า เวลานี้โยมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถ้าท่านยังอยู่จะมีอายุถึง ๑๑๐ ปี ถ้าลำพังอาตมานึกถึงท่านก็ได้แต่นึกถึงนาม นึกถึงชื่อก็ไม่ทราบว่าท่านมีอายุถึงบัดนี้ ๑๑๐ ปีแล้ว ถ้าพูดอย่างคนทั่วๆ ไป ชอบพูดกัน ก็บอกว่าเวลาช่างรวดเร็วเสียเหลือเกิน 

ทีนี้จะให้อาตมาพูดเรื่องเก่าๆ ความจำที่เกี่ยวกับโยมท่านผู้หญิงก็น่าจะพูดแต่ว่าอาตมาก็เกิดปัญหาว่าความจำไม่ดี พูดกันว่าคนที่ชราแล้ว มักจะจำเรื่องใหม่ไม่ได้ แต่ว่าเรื่องเก่าจำได้แม่นยำมาก แต่ของอาตมานี้ไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องใหม่ก็ไม่จำ เรื่องเก่าก็หายไป เพราะฉะนั้นก็เลยเล่าเรื่องต่างๆ ยาก ที่จะมีเหลืออยู่ก็คือเป็นจุดๆ หย่อมๆ จำตรงนั้นตรงนี้เห็นเป็นภาพพร่าๆ มัวๆ 

ถ้าจะให้เล่าเวลานี้ ก็เห็นภาพเมื่อ ๓๐ ปีมาแล้ว แล้วก็อาจจะเห็น ๒-๓ ภาพ แล้วก็ไม่ติดต่อกัน ก็เลยเล่าไหนๆ จะให้พูด ก็เล่าให้ฟังบ้าง อย่างเรื่องที่จำได้อันหนึ่งก็เป็นภาพ นั่งกันอยู่ที่บนยอดเนินเขาชื่อเขาดงยาง โยมท่านผู้หญิงก็ไปที่นั่น ไปเยี่ยมพระ ไปนมัสการพระซึ่งอยู่กันที่นั่น รวมทั้งอาตมาด้วยก็ ๓ รูป ท่านก็พาลูกหลานไปกัน แล้วก็นั่งสนทนากัน ก็นึกได้แต่เพียงภาพ แล้วก็บรรยากาศเป็นความรู้สึก จำว่าคุยอะไรต่ออะไรกัน จำไม่ได้ แต่ว่าพูดถึงบรรยากาศก็รู้สึกว่าอยู่ในบรรยากาศที่มีความสุข แล้วก็พูดคุยกันแม้แต่จำเรื่องไม่ได้ ก็เป็นเรื่องเบาๆ สบายๆ เรื่องราวความเป็นไปในชีวิตประจำวันอย่างนี้ก็จุดหนึ่ง

ต่อมาอีกไม่รู้กี่ปี ก็เห็นเป็นภาพที่ท่านไปเยี่ยมที่วัดญาณเวศกวัน ไปกันกับลูกหลาน อันนั้นก็จำเรื่องราวก็ไม่ได้ จนกระทั่งต่อมา ทีนี้เป็นปี ได้ปีด้วย แต่ได้ปีจากเอกสารเก่า คือครั้งสุดท้ายไม่ได้พบตัวท่านแล้ว ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่วัดญาณเวศกวัน หลังจากโยมท่านผู้หญิงได้สิ้นแล้ว ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม แล้ววันที่ ๒๐ พฤษภาคม หรือ ๑๖ พฤษภาคมก็มีคณะถ่ายทำไปให้พูดธรรมกถาเรื่อง ธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

อันนั้นก็คือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับโยมท่านผู้หญิง ก็เรียกได้ว่าเป็นครั้งสุดท้าย อย่างเมื่อไม่กี่วันนี้ พระท่านก็นำเอาภาพที่ชัดเจนเป็นหลักฐานเป็นพยานมาให้ดู แต่ตัวอาตมาเองกลับจำเรื่องไม่ได้เลย อันนี้ก็เลยว่าจะเล่าอะไรต่ออะไรให้ฟัง เรื่องเก่าๆ ก็เลยยาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบสาวเรื่องเก่าๆ ที่เป็นการพูดจาอย่างนิมนต์ให้อาตมาพูดธรรมกถา เราก็ต้องพูดถึงเรื่องของชีวิตของท่าน เรื่องราวความเป็นไป แล้วก็หลักเรียกว่าธรรมะสำหรับการดำเนินชีวิตของท่าน ก็จะปรากฏชัดเจนว่าโยมท่านผู้หญิง ถ้าจะถือพุทธภาษิตบทหนึ่ง ที่หลายคนคงจำได้ในวงการของวัด พระ ญาติโยม พุทธบริษัท จำกันได้ดี พุทธภาษิตสำคัญบทหนึ่งว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ ํ แปลว่า ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม นี้เป็นหลักธรรมประจำชีวิตของท่าน แล้วก็พูดได้ว่าหลักธรรมนี้สำคัญมาก แสดงอะไร อย่างน้อยแสดงถึงความมุ่งหมายในจิตใจท่านที่ว่าอยู่ที่ธรรมะ ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นจริง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ในความหมายว่าธรรมะ

ทีนี้คนที่จะรักษาธรรมะ ก็ต้องมีความเข้มแข็ง อันนี้ก็เป็นของคู่กัน คนมีความเข้มแข็ง มีความจริงจังหนักแน่นมั่นคง จึงจะรักษาธรรมไว้ได้ เหมือนอย่างที่ธรรมนั้น ปรากฏแก่จิตใจ อย่างที่เราท่องกันบ้าง เรื่องมงคลสูตรก็จะมีคาถาสำคัญที่บอกว่า บุคคลที่มีมงคลประจำใจ มงคลนี่หมายถึงธรรมะ เมื่อประสบโลกธรรม โลกธรรมก็ธรรมประจำโลก ก็เรียกว่าที่พูดกันอยู่เสมอ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ นี้เป็นความผันผวนปรวนแปรปั่นป่วนในชีวิต เมื่อประสบแล้วมีจิตใจสงบได้ มั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก แล้วก็ไม่คร่ำครวญ แต่ว่ามีความเข้มแข็งมีจิตใจสงบปลอดโปร่งสดใสมั่นคง อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้เข้มแข็ง แต่เข้มแข็งอย่างนี้ ก็ทำให้รักษาธรรมได้

อันนี้ ท่านผู้หญิงก็มีชีวิตผ่านเรื่องราวต่างๆ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ก็ต้องการความเข้มแข็งมั่นคง รักษาธรรมไว้ได้ ก็พูดถึงเหตุการณ์อย่างที่พูดเล่าให้ฟังว่าอาตมานึกถึงเป็นภาพที่เขาดงยางที่โยมไปกันกับลูกหลานจะสี่ ห้า หกคน ก็จำไม่แม่น บรรยากาศนั่นแหละที่จำได้ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ เป็นบรรยากาศที่สบายๆ สงบ มีความสุข คือว่าร่มเย็น บรรยากาศอย่างนี้ก็เพราะว่าไม่มีอะไร ท่านก็พูดคุยเรื่องราวทั่วๆ ไป จิตใจก็สบายกับสภาพที่เป็นอยู่นั้น ก็ในแง่นี้ก็หมายถึงสภาพจิตใจของท่านด้วย การแสดงออกก็มาจากภูมิธรรมในจิตใจ การที่ท่านอยู่กับสภาพปัจจุบันได้ดี 

ทีนี้ ถ้ามองในแง่ธรรมะอีกอย่างหนึ่ง การที่ท่านไปพบพระ ไปที่มีธรรมชาติอยู่รอบข้าง สภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นร่มเย็น จิตใจสบายอยู่ในบรรยากาศที่มีความสุขพูดคุยกันเรื่องสามัญธรรมดา เรื่องราวที่ทำให้สบายใจ ก็หมายความว่าในแง่หลักธรรม พูดว่าท่านอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันก็จิตใจไม่ถูกกระทบกระเทือน เป็นต้น 

จิตใจคนนี่ ถ้าไม่อยู่กับปัจจุบันก็จะกลายเป็นว่าไปจมอยู่กับอดีต หรือไม่ก็เลื่อนลอยไปในอนาคต อย่างที่เขาว่าหวนละห้อยความหลัง เพ้อหวังอนาคต อย่างนี้ก็ไม่อยู่กับปัจจุบัน เมื่อไม่อยู่กับปัจจุบันจิตใจก็อยู่กับความรู้สึกที่ว่าอาจจะมีความเศร้าโศกโหยหาคร่ำครวญอะไรต่างหรือไม่ก็เพ้อฝันอะไรไป เรื่องข้างก่อนและข้างหน้า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางธรรมะต้องให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ท่านจึงสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าไม่จบอยู่กับในอดีต ไม่เลื่อนลอยในอนาคต นี่เป็นเรื่องของจิตใจ แต่ต้องขอบอกไว้นิดหนึ่ง กันพลาดว่าที่พระท่านสอนให้อยู่กับปัจจุบันหมายถึงเรื่องจิตใจ

จิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งก็คือปัญญา ปัญญาท่านไม่ได้บอกว่าอยู่กับกาลไหนทั้งสิ้น ปัญญานี่ต้องทั่วตลอดได้หมด อดีต ปัจจุบัน อนาคต รู้อย่างนี้ก็รู้ตลอดถึงกันตั้งแต่อดีตมาปัจจุบันยันอนาคตรู้หมดเลย

คนที่จะอยู่ในโลกได้ ดำเนินชีวิตที่ดี เป็นหลักอะไรต่างๆ ต้องมีปัญญา แต่ว่าจิตนั้นอยู่กับปัจจุบัน แต่ปัญญานั้นรู้ทั่วตลอดหมด เอาแค่ว่าเราจะเดินไปไหนแค่ใกล้ๆ สั้นๆ เดินไปถึงครึ่งทาง ค่อนทางก็ต้องรู้อดีตแล้วว่าตัวเองเดินมาจากไหน ผ่านอะไรมา ผ่านมาได้ยังไง แล้วก็รู้อนาคตว่าจะไปไหน อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าจะไปไหน ถ้าให้ดีก็รู้ด้วยว่าทางที่จะไปจะเจออะไร ตรงไหนเป็นยังไง จะเดินได้อย่างดี นี่เรื่องปัญญา 

แต่เรื่องจิตต้องอยู่กับปัจจุบัน ก็คือตอนที่เดิน จิตเวลานั้นอยู่ตรงที่เดินนั่น นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมะที่มาโยงกับชีวิตของมนุษย์เราทั้งหลาย ก็คิดว่าอย่างที่โยมท่านผู้หญิงไปพบกับพระบนเขาดงยางพูดคุยสนทนากัน ท่านก็พูดกัน โดยมีจิตใจอยู่กับเรื่องปัจจุบัน แต่ปัญญาท่านก็รู้เรื่องราวความเป็นไป แล้วก็ด้วยความรู้นั้น ก็พูดไปในสิ่งที่สมควรจะพูดบอกเล่ากัน นี่ก็เลยบอกว่าอยู่กับปัจจุบัน ก็จิตก็มั่นคง อันนี้อาตมาก็เลยพูดถึงเอาหลักธรรมมาพูดแล้วก็มาโยงกับโยมท่านผู้หญิงเท่าที่ว่าจะนึกอะไรพูดถึงท่านได้

ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่าเวลานี้ ความจำของอาตมาก็เลือนรางมาก จำอะไรก็ไม่ค่อยได้ ก็อย่างนึกเมื่อกี้นี้แว็บเข้ามาหน่อย นึกถึงท่านได้อีกภาพหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือจะหอประชุมใหญ่ ตอนนั้นอาตมาไปพูดเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ จะเป็นวันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุเท่านั้นปี ท่านไปฟังด้วยอย่างนี้ก็เป็นภาพที่โผล่ขึ้นมาแล้วก็ไม่ปะติดปะต่อกับอะไร ก็ได้แค่นั้นเอง

แต่ว่าที่สำคัญก็คือว่า แม้จะพูดได้ไม่มาก เนื่องจากความจำเลือนลางไป แต่ว่าความจำรวมๆ เกี่ยวกับโยมท่านผู้หญิงเองก็เป็นความจำที่ดีงาม ที่เรียกว่าสบายใจ อยู่กันพบปะกันในบรรยากาศที่มีความสุข อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเรานึกถึงอดีต แล้วก็นึกถึงในภาวะสภาพแวดล้อม บรรยากาศที่ร่มเย็นมีความสุข ก็เป็นเรื่องที่ดีงาม จะพูดเป็นเรื่องของโชคลางก็เป็นสิริมงคล แล้วก็พาให้จิตใจคนฟังมีความสุขด้วย

เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทุกท่านที่ได้ฟังก็มีความสุขด้วยว่าโยมท่านผู้หญิง เวลาพบปะกันอยู่ในบรรยากาศธรรมชาติอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ยอดเนิน เขาก็เรียกว่าจมูกเขา มันยื่นมาจากเขาดงยาง แล้วก็บรรยากาศที่นั่นเป็นป่าเล็กๆ แม้มันจะเป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว อยู่กันพูดคุยกันสบายๆ มีความสุขกับครอบครัวลูกหลานท่าน ลูกหลานท่านบางท่านก็อาจจะฟังอยู่ด้วยก็ได้ ถ้าท่านฟังอยู่ด้วยก็ช่วยตรวจสอบอาตมาด้วยว่าพูดถูกพูดผิด แต่เอาเป็นว่าเป็นบรรยากาศที่ดีมีความสุข ก็ขอให้ความทรงจำที่ดีมีความสุขนี้ คงอยู่ตลอดเรื่อยไป

บรรยากาศนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของท่าน แล้วก็โยงไปหาธรรมะที่ว่าแล้ว ก็ยกเอาธรรมะที่ท่านใช้เป็นหลักนำชีวิตของท่าน เมื่อกี้เอามาย้ำไว้อีก จะได้เข้ากับบรรยากาศนี้ เพราะเรื่องธรรมะเป็นเรื่องที่ดี นำมาซึ่งความสุข ก็บอกว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริํ -ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม รักษาแล้วเป็นไง ก็ให้อยู่ดีมั่นคงและอย่างร่างกาย สภาพแวดล้อมเหตุการณ์เป็นอย่างไร ผันผวนปรวนแปร แต่ว่าคนมีปัญญา อยู่กับธรรมะ สามารถมีความสุขได้ เมื่อมีความสุขแล้วก็เป็นสิ่งที่ดีงาม เข้ากับหลักธรรมะ 

เมื่อรักษาธรรม อยู่กับธรรมะมีความสุข แล้วก็ให้เรามีความสุขกันโดยธรรมะรักษาเรา แล้วเราก็รักษาธรรม รักษากันไป เรารักษาธรรม เวลารักษาธรรม จิตใจเราอยู่กับสิ่งที่ดีงามมีความสุข แล้วธรรมะรักษาเราให้อยู่ดีมีความสุขเช่นเดียวกัน ไม่เฉพาะรักษาตัวเรา รักษาคนรอบข้างไป จนกระทั่งถึงสังคมประเทศชาติ ก็ขอให้มีความร่มเย็น งอกงามมีความสุข โดยในขณะนี้ก็โยงไปถึงโยมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวาระที่เราระลึกถึงท่านก็ขอให้ระลึกถึงด้วยจิตใจที่มีความสุข ก็ให้ทุกท่านมีความร่มเย็นเป็นสุข เจริญด้วยจตุรพิธพรชัยตลอดกาลยั่งยืนนานสืบไปทุกเมื่อเทอญ.

บันทึกเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕