ธรรมะประจำใจ
ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นกุลธิดาที่ได้รับการอบรมมาอย่างดีในครอบครัว “บ้านป้อมเพชร์” ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น บิดามารดาของท่านอบรมสั่งสอนให้ลูก ๆ ปฏิบัติตามหลักศีล 5 เป็นพื้นฐาน ท่านผู้หญิงพูนศุขเลื่อมใส่ในคำสอนของพระภิกษุร่วมสมัยผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมอย่างน้อย 4 ท่าน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาส อาสภมหาเถระ) แต่เมื่อเป็นพระพิมลธรรม กับพระปาล และโยมมารดา
รูปแรก คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) หรือที่คนทั่วไปรู้จักท่านในชื่อพระพิมลธรรม ผู้เป็นมหาปราชญ์ฝ่ายพุทธและพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคกึ่งพุทธกาล พระมหาเถราจารย์ท่านนี้ได้ ร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการปฏิรูปการพระศาสนาให้ก้าวหน้าตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งอนุวัติการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ซึ่งสอดคล้องกับหลักสามัคคีธรรมในพุทธศาสนา ในการนี้พระพิมลธรรม (อาจ) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสังฆมนตรีรูปแรกในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับคณะราษฎรดังกล่าว
ตอนที่ผู้สำเร็จราชการฯ ปรีดี พนมยงค์ ดำริจะตั้งสวนโมกข์อีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ได้เสนอให้พระพิมลธรรมเป็นผู้รับผิดชอบจัดการในเรื่องนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านนี้ผูกพันสนิทสนมกับครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เป็นอย่างมาก เมื่อนายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของปรีดี-พูนศุข ถูกคุมขังจำด้วยข้อหากบฏสันติภาพนั้น สมเด็จพุฒาจารย์ขณะดำรงสมณศักดิ์พระพิมลธรรมได้กรุณาสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่นายปาลภายในคุก และเมื่อนายปาลได้รับอิสรภาพในพ.ศ. 2500 ท่านก็ได้เป็นอุปัชฌาย์ในการอุปสมบทแก่พระภิกษุปาลด้วย
สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นพระมหาเถราจารย์ผู้มีความคิดเป็นประชาธิปไตย เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงในหมู่นักคิดทางสังคมนิยมประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า ท่านเองสนิทสนมกับรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นพิเศษ เห็นได้จากลิขิตที่ท่านมีถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโส เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2501 ความว่า
วัดมหาธาตุ
กรุงเทพฯ
27 สิงหาคม 2501
ขอเจริญพรแด่ ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่นับถืออย่างยิ่ง
เนื่องแต่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์พร้อมด้วยคณะจะได้เดินทางมาทัศนาจรที่เมืองจีนได้ไปลาอาตมภาพที่วัดให้รู้สึกคิดถึงท่านและท่านผู้หญิงจึงถือโอกาสเขียนหนังสือนี้มาพร้อมกับนายกุหลาบ
วันที่อาตมภาพออกเดินทางจากประเทศไทยไปอเมริกา ได้เห็นท่านผู้หญิงไปส่งถึงท่าอากาศยานดอนเมือง อันเป็นภาพที่กระตุ้นเตือนให้นึกถึงภาระหน้าที่เป็นอันมาก ครั้นกลับมาถึงประเทศไทย ได้ทราบว่า ท่านผู้หญิงไม่อยู่ มาอยู่เสียเมืองจีนกับท่าน ซึ่งก็นับว่าเป็นการถูกต้อง และสมควรจักได้เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ตามวิสัย ได้ทราบว่า คุณปาลกลับเมืองไทยแล้ว แต่ยังมิได้พบกัน จึงไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับท่านและท่านผู้หญิง
อาตมภาพนึกถึงพระคุณอยู่เสมอ ใคร่ที่จะได้พบได้สนทนา แต่ก็ยังไม่มีโอกาส ประกอบด้วยเวลานี้อายุสังขารก็เจริญมากขึ้นตาม ๆ กัน ยังไม่มีทางอื่นใดที่จะสนองพระคุณ จึงขอฝากหนังสือธรรมมาเป็นส่วนธรรมบรรณาการ เพื่อที่จะได้อ่านใคร่ครวญพิจารณาในยามว่าง ถ้าสบอารมณ์ก็จักเป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่สุด ยิ่งในยามวิปโยคเช่นนี้ ก็อาจจะเป็นคุณแก่ชีวิตจิตใจอย่างมาก หนังสือทำนองนี้อุบัติขึ้นจากการลงมือปฏิบัติธรรม หรือจะเรียกว่าเกิดจากภาคปฏิบัติ มิใช่เกิดจากภาคทฤษฎี จึงมีส่วนใกล้กับข้อเท็จจริงเป็นอันมาก ผู้ที่เจริญด้วยภูมิปัญญาเหมือนอย่างท่าน อาจเหมาะสมในเมื่อได้ใคร่ครวญพิจารณาโดยถูกส่วนแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามีโอกาส ก็อาจที่จะซักถามนายกุหลาบได้อย่างสมประสงค์ เพราะเขามีความเข้าใจ โดยที่ได้ผ่านการปฏิบัติมาด้วยตนแล้ว หนังสือที่ฝากมอบมาพร้อมนี้ คือ
- วิปัสสนากถา
- ทางไปนิพพาน
- มรรค ผล นิพพาน
- อุดมธรรม
- คุณค่าทางสุขภาพของวิปัสสนากรรมฐาน
อาตมภาพกลับจากต่างประเทศถึงเมืองไทยแต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม โดยสวัสดี มีคนไทยและคนต่างประเทศสนใจตามสมควร การไปต่างประเทศของอาตมภาพนั้น นับว่าเป็นผลสมความประสงค์ ประการหนึ่ง ซึ่งได้คอยเฝ้าหาโอกาสอยู่ตลอดมา และเชื่อว่าถ้าท่านยังมีตำแหน่งอยู่ที่เมืองไทยอย่างแต่ก่อน อาตมภาพคงได้ไปต่างประเทศนานแล้ว เพราะจำได้ว่า ครั้งหนึ่งที่อยุธยา ท่านได้พูดไว้ว่า อาตมภาพมีคุณสมบัติ “ควรไปดูกิจการในต่างประเทศ”
การไปต่างประเทศคราวที่แล้ว โดยตั้งความประสงค์ไว้ 4 ประการ คือ
ประการที่ 1 เพื่อเสนอความปรารถนาของขบวนการ เอม.อาร์.เอ. ซึ่งมีท่าน ดร.แฟรงค์ บุดแมน เป็นมูลฐาน เพราะเขาได้เพียรอาราธนามาหลายครั้งแล้ว
ประการที่ 2 เพื่ออาศัยขบวนการ เอม.อาร์.เอ. เป็นทางดำเนินการเผยแผ่พุทธธรรมแก่ชาวอเมริกาและยุโรปตามที่จะเป็นได้
ประการที่ 3 เพื่อพิจารณาหาลู่ทางที่จะส่งนักศึกษาภิกษุไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญในถิ่นฐานนั้น ๆ เพื่อใช้การได้ตามความมุ่งหมายในอนาคต
ประการที่ 4 เพื่อปลูกสร้างมิตรกับระหว่างหัวหน้าศาสนาต่าง ๆ ในโลก โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้นักสอนศาสนาทุกศาสนา ร่วมมือกัน เป็นมิตรกัน ช่วยกัน เผยแผ่ศาสนธรรมของแต่ละศาสนา ไปสู่พื้นน้ำใจประชาชนทั่วโลก
การไปครั้งนี้ นับว่าได้ผลสมความมุ่งหมาย ทั้ง 4 ประการ ซึ่งจะได้พิจารณาดำเนินการเป็นขั้น ๆ ในโอกาสต่อไป แม้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ทางเมืองจีนนี้อาตมภาพก็ได้ดำริไว้ว่าจักพยายามให้ได้มาดูลู่ทางสักครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อย สุดแท้แต่จะได้โอกาสเมื่อไร
หวังว่า ท่านผู้หญิงก็คงเป็นสุขสบายดี อาตมภาพขอส่งความระลึกมาพร้อมหนังสือนี้ และขอตั้งกุศลจิตอธิษฐาน ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย และบุญกุศลที่อาตมภาพได้บำเพ็ญไว้ จงตามอภิบาลรักษาท่านและท่านผู้หญิงให้ปราศจากภัยพิบัติอุปสรรคอันตราย จงเจริญยิ่งด้วยจตุรพิธพร และมีใจยินดีอยู่ในพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
มีความยินดีและขออนุโมทนาเป็นพิเศษโดยยิ่ง
พระพิมลธรรม
ภารกิจสุดท้ายที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้บำเพ็ญแก่ครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ก่อนที่ท่านจะถึงกาลมรณภาพ คือ การนั่งรถเข็นไปเป็นประธานพิธีเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านเกิด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
รูปที่สอง คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ที่นายปรีดี พนมยงค์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงกับเคยนิมนต์ท่านมาสนทนาธรรมด้วยที่บ้านของผู้สำเร็จราชการทำเนียบท่าช้างหลายครั้งในปี พ.ศ. 2485 ทั้งที่เวลานั้นเป็นช่วงที่สงครามกำลังร้อนระอุ แต่หัวหน้าเสรีไทยผู้มีภารกิจกอบกู้บ้านเมืองเต็มมือ ก็ยังให้ความใส่ใจในการปฏิรูปการพระศาสนา ถึงกับขอให้ท่านพุทธทาสช่วยเปิดสวนโมกข์อีกแห่งที่อยุธยา แต่ไม่สำเร็จ เพราะนายปรีดีประสบมรสุมการเมือง หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วนตัวของท่านผู้หญิงเองเคยตามผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์ ไปฟังธรรมของท่านพุทธทาสเป็นครั้งแรกในคราวที่ท่านมาเทศนาอบรมผู้พิพากษาที่มหามกุฏราชวิทยลัยในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2486
เมื่อครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ย้ายจากจีนไปพำนักที่ฝรั่งเศส ท่านพุทธทาสก็ยังเคยส่งหนังสือธรรมะไปให้ ต่อมาเมื่อสิ้นนายปรีดีแล้วท่านผู้หญิงได้เดินทางกลับคืนสู่เมืองไทย จึงได้มีโอกาสไปกราบนมัสการพระผู้เป็นกัลยาณมิตรเก่าที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสได้แสดงสัมโมทนียกถาเรื่อง “นิพพาน คือความไม่มีอารมณ์” เนื่องในวาระอายุ 81 ปี ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
(ซ้ายสุด) ท่านปัญญานันทภิกขุในงานฌาปนกิจท่านปรีดี พนมยงค์
รูปที่สาม คือ พระพรหมมังคลาจารย์ (ท่านปัญญานันทภิกขุ) ผู้เป็นกัลยาณมิตรทางธรรมของครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ มาช้านานกว่า 60 ปี ทันทีที่ทราบว่าจะมีพิธีฌาปนกิจสรีระท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ณ สุสานแปร์ลาแชส กรุงปารีส เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ท่านปัญญานันทภิกขุ ขณะที่ยังปฏิบัติสังฆกิจอยู่ในอังกฤษก็รีบขอวีซ่าข้ามไปฝรั่งเศส เพื่อประกอบพันธกิจแห่งกัลยาณมิตรแท้ นั่นคือเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจบุคคลสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว
ก่อนละสังขาร 6 วัน ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ไปนมัสการท่านปัญญานันทภิกขุที่วัดชลประทานฯ พร้อมร่วมทำบุญสร้างพระอุโบสถกลางน้ำของพระอารามในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือธรรมะเล่มสุดท้ายที่ท่านอ่านคือ รักลูกให้ถูกทาง ลิขิตโดยท่านปัญญานันทภิกขุ ทั้งยังได้แนะนำให้พ่อ-แม่หลายคนอ่านหนังสือธรรมะเล่มนี้
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กราบนมัสการสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ณ วัดพระพิเรนทร์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2537
รูปที่สี่ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านผู้หญิงพูนศุขเลื่อมใสในปฏิปทาและภูมิธรรมของพระเถราจารย์ท่านนี้มาก มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้อาราธนาท่านเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชวรมุนีมาเป็นองค์ปฐมปาฐกของปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ลุอิสรภาพด้วยอนิจจัง” เนื่องในโอกาสอัญเชิญอัฐิ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ กลับคืนสู่ประเทศไทย วันที่ 10 พฤษภาคม 2529 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อครั้งอายุ 80 ปี ท่านได้ขออนุญาตจัดพิมพ์ ธรรมนูญชีวิต ของท่าน ป. อ. ปยุตฺโต เผยแพร่
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538 มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้อาราธนาท่านเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก มาทำพิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ
และในพิธีเชิดชูเกียรติ 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญของโลก ซึ่งจัดขึ้น ณ รัฐสภา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 ท่านผู้หญิงก็ได้เลือกท่าน ป. อ. ปยุตฺโต เป็นผู้แสดงปาฐกถาธรรมในวาระสำคัญดังกล่าว โดยแสดงผ่านภาพวิดีทัศน์
ครั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 อันเป็นวันพิธีไว้อาลัยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านได้แสดง “ธรรมาลัย” (ผ่านภาพวิดีทัศน์) ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตามเจตน์จำนงของท่านผู้วายชนม์ ซึ่งเคยปรารภไว้ก่อนหน้านี้
นอกจากพระเถราจารย์ทั้ง 4 รูป ข้างต้นแล้ว ท่านผู้หญิงพูนศุข ยังสนใจสดับธรรมจากพระสุปฏิปันโนท่านอื่น เช่น ในช่วงที่ยังแข็งแรงอยู่ท่านได้เดินทางไปนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปูฝั้น อาจาโร มหาเถระที่วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. 2519
ท่านผู้หญิงพูนศุข ตามปกติตื่นนอนตอนตีสอง (สองนาฬิกา) เพื่อเปิดวิทยุฟังพระบรรยายธรรม ฟังข่าว วันอาทิตย์ดูรายการโทรทัศน์ที่มีการบรรยายธรรมโดยนักเทศน์ศาสนาคริสต์บ้าง ศาสนาอิสลามบ้าง (ที่ท่านสนใจศาสนาอิสลาม เพราะบรรพบุรุษสายหนึ่งของท่านสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุไลมาน)
ด้วยการที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นศาสนิกผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนี่เอง ธรรมะจึงคุ้มครองท่านให้ล่วงพ้นมรสุมชีวิตทางการเมืองมาได้ จนปรากฏเกียรติคุณเป็นที่ยอมรับแก่ชนทั่วไป สมกับพุทธภาษิตที่ท่านและรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ยึดถือเสมอมาว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”
ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย
ท่านผู้หญิงพูนศุขได้รับบำเหน็จแห่งความดีที่ท่านก่อสร้างไว้ กล่าวคือ ภายในประเทศ ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและเข็มเกียรติยศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2541 “ในฐานะภริยาผู้เป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาของท่านผู้ประศาสน์การ ได้กระทำไปโดยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้มีจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตย และการรับใช้ชาติอย่างแท้จริงและมั่นคง”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543 ท่านยังได้เป็นศิษย์เซนต์โยเซฟตัวอย่าง สาขาการเมืองด้วยคุณสมบัติเป็นผู้ดำเนินชีวิตอย่างคุณภาพและศีลธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ฯลฯ
ส่วนในระหว่างประเทศนั้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ฯพณฯ เล ดึก อันห์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้มอบเหรียญมิตรภาพแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “ที่ได้สร้างคุณูปการมากมายต่อภารกิจกอบกู้เอกราชของประเทศเวียดนาม”
ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ฯพณฯ คำไต สีพันดอน ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มอบเหรียญชัยมิตรภาพแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “ในฐานะภริยาท่านปรีดี พนมยงค์ เพื่อจารึกผลงาน คุณงามความดีของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ให้ความช่วยหลือการปฏิวัติลาวในระยะหนึ่งที่ขบวนการต่อสู้ของประชาชนลาวอยู่ในสภาพคับขัน”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2548 ในโอกาสวันสตรีสากล องค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร ได้มอบรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ประจำปี 2548 แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจาก สันติสุข โสภณสิริ, “สตรีในประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทย พูนศุข พนมยงค์” ใน หวนอาลัย (กรุงเทพฯ: ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี, 2551), น. 34-42.
- พูนศุข พนมยงค์
- สันติสุข โสภณสิริ
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ [อาจ อาสภมหาเถระ]
- พระพิมลธรรม
- พุทธทาสภิกขุ
- พระพรหมมังคลาจารย์ [ปัญญานันทภิกขุ]
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ [ป.อ. ปยุตฺโต]
- บ้านป้อมเพชร์
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- สมเด็จพุฒาจารย์
- ปาล พนมยงค์
- กบฏสันติภาพ
- วัดมหาธาตุ
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- ปรีดี-พูนศุข
- สวนโมกขพลาราม
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- วัดธารน้ำไหล
- ไชยา สุราษฎร์ธานี
- สุสานแปร์ลาแชส
- ลุอิสรภาพด้วยอนิจจัง
- ธรรมนูญชีวิต
- ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย
- เซนต์โยเซฟคอนแวนต์
- เล ดึก อันห์
- ฯพณฯ คำไต สีพันดอน
- หวน อาลัย