ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม

10
มกราคม
2567

Focus

  • ผู้เขียนเห็นมีความว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นต้นแบบของสตรีผู้ยืนหยัดต่อสู้ในแนวของนักปฏิบัติการสันติวิธีที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากมหาตมะ คานธี หรือแม่ชีเทเรซาแห่งกัลกัตตา
  • ในสมัยปัจจุบัน ผู้หญิงนักต่อสู้จำนวนหนึ่งควรได้รับการศึกษาและเรียนรู้ อาทิ ‘ก๊ะแยนะ สะแลแม’ ผู้หญิงมุสลิมที่พยายามทวงคืนความยุติธรรมเพื่อสามีและลูกชาย ช่อ ‘พรรณิการ์ วานิช’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และ ‘อวยพร เขื่อนแก้ว’ นักกิจกรรมผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมในท้องถิ่น
  • สตรีเหล่านี้เป็นนักปฏิบัติการสันติวิธี  ผู้มุ่งเน้นความยุติธรรมและความพยายามอย่างสันติวิธี มีความกล้าหาญซื่อตรงต่ออุดมการณ์ อันแสดงออกในเชิงวัฒนธรรมมาตาธิปไตย คือ วัฒนธรรมแบบผู้หญิงในแบบแม่ที่ใจกว้างและรักความเป็นธรรม

 

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ที่มาภาพ: https://www.sarakadee.com/03/27/ท่านผู้หญิงพูนศุข-พนมยง/

 

112 ปีแห่งชาติกาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ข้าพเจ้าไม่มีคำกล่าวนอกจากแสดงความขอบคุณอย่างสุดจิตใจที่ท่านเป็นต้นแบบของสตรีที่ยืนหยัดอดทนต่อทุกพายุที่ซัดโถมต่อท่านและครอบครัวของท่านอย่างไม่หวั่นไหวและไม่ปรารถนาจะรับเกียรติยศใดๆ ทั้งที่มีผู้ปรารถนาจะมอบแด่ท่านไม่น้อย นั่นคือหัวใจและจิตวิญญาณอันเด็ดเดี่ยวห้าวหาญไม่ยึดติดต่อลาภยศสรรเสริญของนักปฏิบัติการสันติวิธีที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากมหาตมะ คานธี หรือแม่ชีเทเรซาแห่งกัลกัตตา

คุณสมบัติอันโดดเด่นของนักต่อสู้เพื่อสันติวิธีอีกประการหนึ่ง คือ การมีเป้าหมายเพื่อการปลดปล่อยผู้คนออกจากการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ถูกกระทำความรุนแรงต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำความอยุติธรรม

เป็นเวลา 20 ปีแห่งโศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 จะครบรอบ 20 ปี และจะครบอายุความทางกฎหมายที่จะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายได้ตามกฎหมายไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นความรุนแรงโดยรัฐที่คนผิดยังลอยนวลพ้นผิด แม้จะกระทำความผิดอย่างใหญ่หลวงต่อผู้เสียชีวิตที่เป็นชายทั้ง 78 ราย พิการและตกในสภาพความเจ็บป่วยทุกข์ทรมานเรื้อรังทางจิตใจ หรือ PTSD อีกกี่รายไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่ที่สำคัญครอบครัวและคนที่อยู่เบื้องหลังคือ “ผู้หญิง” ในฐานะเมีย แม่ ลูกสาว พี่สาว น้องสาว หลานสาวที่ยังคงจดจำเรื่องราวของผู้เสียชีวิตในความทรงจำ หลายคนอยู่กับความหวาดกลัวและพยายามที่จะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทว่าไม่มีทางจะลืมได้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ 

 


ก๊ะแยนะ สะแลแม
ที่มาภาพ : https://www.benarnews.org/thai/news/TH-TAKBAI-10222015155758.html

 

‘ก๊ะแยนะ สะแลแม’ เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งออกจะเป็นคนที่อยู่ชายขอบของสังคมไทยเพราะความที่เธอเป็นผู้หญิงมุสลิมที่อยู่ไกลถึงตากใบ นราธิวาสเกือบสุดชายแดนไทยก่อนจะข้ามไปมาเลเซีย ไม่ได้มีการศึกษาสูงส่ง หรือมาจากชนชั้นที่มีฐานะทางสังคมใดๆ แต่เธอเป็นนักต่อสู้ด้วยสันติวิธีเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้สูญเสียกลายมาเป็นนักต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

แม้วันนี้สุขภาพร่างกายอาจจะเคลื่อนไหวไม่คล่องตัวเหมือนวันก่อนเพราะเธอเจ็บป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก กระนั้น ความทรงจำและความปรารถนาจะทวงคืนความยุติธรรมเพื่อสามีและลูกชายของเธอและของผู้หญิงคนอื่นๆ ยังคงเต็มเปี่ยมในหัวใจ กล่าวได้ว่าในรอบ 20 ปีที่ความรุนแรงถึงตายได้ถาโถมเข้าไปในชายแดนใต้

ก๊ะแยนะ’ เป็นผู้หญิงนักสันติวิธีคนหนึ่งที่สังคมไทยควรให้การยกย่องเชิดชู มิใช่ด้วยเหตุผลอื่นใด แต่เป็นเพราะเหตุผลที่เธอเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญและศรัทธาในสันติภาพและความยุติธรรมที่ต้องอยู่คู่กัน

 


พรรณิการ์ วานิช
ที่มาภาพ : https://thematter.co/social/interview-with-chor-pannika/73648

 

ผู้หญิงนักสู้ด้วยสันติวิธีอีกคนหนึ่งของสังคมไทยที่ข้าพเจ้านึกถึงคือ คุณช่อ ‘พรรณิการ์ วานิช’ อดีตนักข่าวและพิธีกร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ อดีตแกนนำพรรคก้าวไกลซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตท่ามกลางคำถามและความเคลือบแคลงสงสัยถึงความยุติธรรมในคำตัดสินที่ว่าผิดจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งคำว่าจริยธรรมทางการเมืองเป็นคำที่มีคำถามในเชิงปรัชญาและการนำมาปฏิบัติในสังคมการเมืองไทยอย่างมากจนเป็นที่ตั้งคำถามของนักวิชาการและผู้รู้ทางกฎหมายหลายคน

จากนักข่าวผู้ซึ่งมีความกล้าหาญในการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นธรรมสู่การเป็นนักการเมืองหญิงที่ฉลาดและตรงไปตรงมา จนถึงวันที่เธอถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต คำพูดของเธอหลังทราบคำตัดสินนั้นสะท้อนความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มั่นคงในอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตย และสะท้อนให้เห็นการไม่ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ หากมุ่งมั่นทำงานเพื่อหมุดหมายการเมืองประชาธิปไตยที่ผู้คนควรมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเสมอกัน

 


อวยพร เขื่อนแก้ว
ที่มาภาพ : https://mappalearning.co/ouyporn-keunkaew/

 

ผู้หญิงที่ต่อสู้ทางการเมืองอีกคนหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นครูผู้อยู่เบื้องหลังผู้หญิงและผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่นจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมจากแผ่นดินที่หมักหมมด้วยวัฒนธรรมความรุนแรงไปสู่การแทนที่ด้วยวัฒนธรรมสันติภาพ และสังคมไทยยังรู้จักวิธีการต่อสู้ของเธอน้อยไปมาก ผู้หญิงคนนั้นคือ ‘อวยพร เขื่อนแก้ว’ นักกิจกรรมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม (International Women’s Partner for Peace and Justice - IWP)

เธอเป็นนักปั้น เป็นนักเสริมพลังให้ผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกกระทำความรุนแรงจากสังคมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ถูกทำให้ท้องแล้วทิ้งหรือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ผู้หญิงที่ต้องมีชีวิตอยู่กับเชื้อเอดส์ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียทุกอย่างในชีวิตและถูกสังคมผลักไสเหยียบซ้ำว่าไร้ค่าต่างๆ นานา

‘อวยพร’ ทำงานสร้างพลังให้ผู้หญิงมากมายทั่วโลกมิใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น นักกิจกรรม นักต่อสู้เพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคมไทยหลายคนล้วนเคยได้รับการปลุกปั้นเสริมพลังจากเธอทั้งนั้น และที่สำคัญ เธอเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและพร้อมเป็นเบาะรองรับอันอบอุ่นเพื่อเติมเต็มพลังงานที่ขาดพร่อง (Recharge) เมื่อนักต่อสู้ข้างหน้าประสบความล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับที่ท่านผู้หญิงพูนศุข ได้ทำหน้าที่นั้นเสมอมายามที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี ต้องประสบชะตากรรมอันเจ็บปวด

ข้าพเจ้าพูดถึงผู้หญิงทั้งสามคนในฐานะนักต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสู่สังคมที่สันติและเป็นธรรมด้วยเหตุผลว่า ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ดูจะไม่มีอำนาจใดๆ หากแต่มีพลังอำนาจและความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ในสันติภาพและความเป็นธรรม  มีความกล้าหาญซื่อตรงต่ออุดมการณ์และความถูกต้องเป็นธรรม ทั้งไม่ได้ปรารถนาจะได้มาซึ่งอำนาจที่จะอยู่เหนือใคร หากแต่ต้องการให้สังคมนั้นมีความเป็นธรรมสำหรับทุกผู้คนได้อาศัยอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและเกื้อกูลต่อกันซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของวัฒนธรรมมาตาธิปไตย คือ วัฒนธรรมแบบผู้หญิง แบบแม่ที่ใจกว้างรักความเป็นธรรม อันเป็นคุณสมบัติอีกประการของนักปฏิบัติการสันติวิธี

สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าพลังการต่อสู้ของผู้หญิงเช่นนี้ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ปลดปล่อยผู้คนจากการถูกกดขี่และจากการถูกกระทำความอยุติธรรมไปสู่ความมีเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เสมอกัน ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค สันติและเป็นธรรมได้อย่างยั่งยืน หากว่าผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงความกล้าหาญ ศรัทธาในตนว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้และพร้อมใจกันลุกขึ้นมาประสานพลังขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันเพื่อสังคมที่ดีกว่าสำหรับลูกหลานของเราทุกคน

 

ที่มาของภาพ

  • https://www.benarnews.org/thai/news/TH-TAKBAI-10222015155758.html
  • https://mappalearning.co/ouyporn-keunkaew/
  • https://www.sarakadee.com/03/27/ท่านผู้หญิงพูนศุข-พนมยง/
  • https://thematter.co/social/interview-with-chor-pannika/73648

เอกสารอ่านประกอบ

  • ช่อ-พรรณิการ์: เวลาของเราจะหมดลงก็ต่อเมื่อเราหยุดสู้เท่านั้น, วันที่สืบค้น 9 มกราคม 2567, จาก https://theactive.net/read/time-is-on-my-side-pannika/
  • แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคน ตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้, วันที่สืบค้น 9 มกราคม 2567, จาก https://www.thepeople.co/social/little-big/52498
  • อวยพร เขื่อนแก้ว กระบวนกรเฟมินิสต์ นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม “พุทธเฟมินิสต์ และการทำแท้ง", วันที่สืบค้น 9 มกราคม 2567,  จาก https://www.feminista.in.th/post/ouyporn-khuankaew-buddhist-feminist-right-to-abortion
  • ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม (International Women`s Partnership for Peace and Justice - IWP), วันที่สืบค้น 9 มกราคม 2567, จาก https://womenforpeaceandjustice.org/