ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จาก ‘หลักเอกภาพ สันติภาพ สันติธรรมของปรีดี พนมยงค์’ สู่หัวใจของการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้

19
สิงหาคม
2567

 

 

Focus

  • ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เสนอให้เห็นว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้สั่งสมปัญหามาตั้งแต่กรณีหะหยีสุหลงในทศวรรษ 2490 และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นสามารถเชื่อมโยงจากหลักเอกภาพ สันติภาพ สันติธรรมของนายปรีดี พนมยงค์ได้โดยมีแนวคิดสันติภาพเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 คือการเขียนนวนิยายและการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก
  • ที่สำคัญคือ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ซึ่งคิดว่ามันไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาชายแดนภาคใต้แต่ว่ามันคือปัญหาของทางประเทศ โดยชี้ให้เห็นเรื่องงบประมาณในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ว่าราว 5 แสนกว่าล้านบาทที่มาจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ

 

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย  : 

อาจารย์พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ได้ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะขอเริ่มต้นที่ ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา ก่อนนะคะ ฉายให้เห็นภาพใน 2 ทศวรรษไฟใต้กับเส้นทางสันติภาพในมุมมองที่อาจารย์ลงพื้นที่และเห็นถึงพัฒนาการต่าง ๆ ในปัญหาที่เกิดขึ้น ขอเรียนเชิญอาจารย์ค่ะ 

 

ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ :

ขอขอบคุณมายังสถาบันปรีดี พนมยงค์นะคะ ที่ให้ความสำคัญนะคะกับปัญหาชายแดนภาคใต้ซึ่งคิดว่ามันไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาชายแดนภาคใต้นะคะ แต่ว่ามันคือปัญหาของทั้งประเทศที่เราอาจจะให้ความสำคัญหรือว่าใส่ใจกับปัญหาที่นั่นน้อยไปนะคะถ้าอ้างอิงจากตัวเลขของงบประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ทุกท่านคิดหรือไม่คะว่างบประมาณตรงนั้นมันมาจากไหนมันไม่ได้มาจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศหรือคะ แล้วทำไมเราถึงใส่ใจปัญหานี้ ติดตามปัญหานี้น้อยจัง

เมื่อเทอมที่แล้ว ดิฉันเคยสอนนักศึกษาแล้วก็ชวนนักศึกษาลองหารกันดูนะคะว่างบประมาณ 5 แสนล้าน เอาตัวเลขกลม ๆ 5 แสนล้านแล้วก็เอา 20 ปีหารก็นับวันเลยนะคะ เราหารวันเลยเพราะว่าเราอยากรู้ว่าวันนึงใช้งบประมาณกันวันละเท่าไหร่ ก็คือประมาณวันละ 70 ล้านบาทแล้วเราก็กลับมานั่งมองประชากรในประเทศไทยว่าตอนนี้ประชากรของเรามีไม่ถึง 69 ล้านคนดี แล้วถ้า 20 ปีที่ผ่านมาทุกวันถ้าเราแจกคนละ 1 ล้าน ก็ยังมีเงินเหลือเลย อันนี้ก็คือสิ่งที่ดิฉันชวนนักศึกษาในห้องเรียนคิดว่าทำไมเราถึงสนใจปัญหาในประเทศของเราน้อยไป เราทำไมไม่มีความรู้สึก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความทุกข์ ความเจ็บปวด ความสูญเสียกับพี่น้องชายแดนใต้ เขาไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมชาติเราหรือ คำว่า ภราดรภาพในประเทศนี้หายไปไหน 

ทีนี้กลับมาที่การทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้นะคะ สำหรับตัวดิฉันเองใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตั้งแต่กำลังเรียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกก็ใช้วิธีการลงไปอาสาสมัครเป็นครูอาสาฯ เพื่อที่อยากจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่นั่นนะคะก็ 13 ปีผ่านมานะคะ แต่ด้วยสังกัดซึ่งอยู่ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาจึงต้องพูดถึงตรงนี้นิดนึงเพราะว่านี่คือบทบาทสำคัญของการศึกษาที่ควรจะต้องมีมากขึ้นนะคะ ในการที่จะรู้ร้อนรู้หนาวกับสันติภาพและความเป็นไปของสังคมนะคะ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งขึ้นมาหลังจากที่มีสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้นะคะ ท่านอาจารย์ รศ. ดร.โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการของสถาบันฯ ท่านแรกที่รับอาสาที่จะทำงานนะคะแล้วท่านก็เป็นหนึ่งใน กอส. (คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ The National Reconciliation Commission-กองบรรณาธิการ) นะคะ ซึ่งก็ต้องขอบคุณท่านอังคณา นีละไพจิตรก็นั่งอยู่ในที่นี้ซึ่งท่านเป็นคนที่ร่วมทำงานกับทาง กอส.ชายแดนใต้นะคะ ก็จะเห็นว่า 20 ปีที่ผ่านมานะคะเออจากรายงานของ กอส. ที่วิเคราะห์วินิจฉัยปัญหาโครงสร้างความรุนแรงในชายแดนใต้ว่าเป็นปัญหามาจากอะไร อันแรกคือ เราปฏิเสธไม่ได้อย่างท่านอาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจพูดไปแล้วว่าปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งความรุนแรงที่ชายแดนใต้

 

 

การที่สังคมไทยไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ว่าจะที่ส่วนกลางหรือที่ตารางนิ้วไหนของประเทศนี้มันก็ทำให้กรอบคิดในเรื่องการมองเห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่ว่าเขาจะแตกต่างจากเราแบบอย่างไร มันหายไปทำให้เกิดการมองว่าคนที่นั่นซึ่งเป็นคนที่มีชาติพันธุ์ มีศาสนา มีวัฒนธรรมต่างจากเรานั้นเป็นอื่นนะคะ นี่เป็นมุมมองจาก mindset จากของประเทศจากของสังคม การที่ไม่มีประชาธิปไตยที่มองเห็นคนเข้ากันก็ไปทำให้มุมมองแบบนี้ยังดำรงอยู่แม้กระทั่งปัจจุบันนะคะ เรายังมองคนที่นั่นคนอื่น

คุณอายุบ เจ๊ะนะ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ถูกมองว่าเป็นอื่นจากอัตลักษณ์มลายูมุสลิมนะคะ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ช่วง 20 ปีของพื้นที่ชายแดนใต้ที่มันเกิดความรุนแรงขึ้นมาคราวนี้เราเห็นภาพอะไร แน่นอนเราเห็นภาพความรุนแรงที่ 20,000 กว่าเหตุการณ์ และ 7,000 กว่าคนนะคะ แต่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะเรียกว่าสงครามภายในจะเรียกว่าอะไร หรือจะเรียกว่าเป็น state violence ไหมหรือจะเรียกว่าเป็นการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรมในประเทศตัวเอง จะเรียกอะไรก็ยังเป็นปัญหาเมื่อจะเกิดการนิยามใด ๆ ขึ้นมาด้วยความที่เราไม่มีเสรีภาพในทางวิชาการ เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เราก็จะถูกแทรกแซงและควบคุมกำกับการใช้ถ้อยคำใด ๆ ก็แล้วแต่จากฝ่ายรัฐบาลอันนี้ก็พูดตรงไปตรงมาที่สุด

 

 

แม้กระทั่งคำว่า สันติภาพก็พูดไม่ได้ในพื้นที่ชายแดนใต้คือมันเป็นเรื่องที่น่าอับอายแล้วก็หน้าเศร้ามากนะคะ คำว่าสันติภาพก็พูดกันทั่วโลกแล้วก็ต้องนิยามด้วยนะคะว่าสันติภาพคืออะไร เพราะเมื่อคุณพูดถึงสันติสุขคุณก็พูดแค่เชิงปัจเจกให้กลับไปดูว่าแต่ละคนมีความสุขอย่างไรแต่เราไม่ได้เป็นมนุษย์ที่อยู่ในกอไผ่ ไม่ได้เป็นไผ่ต่างปล้องแต่เราเป็นมนุษย์ที่เราอยู่ในป่าเดียวกัน แล้วอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันเพราะฉะนั้นจึงต้องมีความเชื่อมโยงกันในแง่ที่เราเกี่ยวข้อง เราต่างกันได้แต่เราเป็นดอกไม้ที่แตกต่างหลากหลาย แต่สวยอยู่ในสวนเดียวกัน เป็นต้น

พอเป็นอย่างนี้ทำให้จำนวนสถิติของผู้คนก็ถูก เขาเรียกว่าอะไรนะขออ้างอิงถึงศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ที่มีความพยายามที่จะพยายามที่จะเก็บสถิติตลอดมานะคะแต่ครั้งหนึ่งเมื่อมีสถิติเกิดขึ้นก็จะมีทางฝ่ายความมั่นคงก็จะลุกขึ้นมาบอกว่า สถิติอันนี้มันใช้ไม่ได้ เชื่อไม่ได้สถิติ แม้แต่สถิติก็เถียงกันนะคะ แล้วจะนับยังไง นับใครไม่นับใครก็ยังเถียงกันอยู่ อันนี้มันเป็นปัญหาจากการไม่เป็นประชาธิปไตยไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง ไม่มีการมองเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติมันขาดความเป็นเอกภาพคือ เราไม่เห็นคุณค่ากันและกัน

ภาพที่ชัดที่สุดของ 20 ปีชายแดนใต้ภาพนี้ยังอยู่และไม่ใช่แค่ 20 ปีชายแดนใต้นะคะ เมื่อย้อนกลับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ใช่แค่ 20 ปี คือตั้งแต่ท่านหะหยีสุหลงจนปัจจุบัน 70 กว่าปีแล้วนะคะแล้วถ้าเราย้อนกลับไปอีกและจะเชื่อมโยงกับบริบทปัจจุบันด้วย คือตอนนี้เราทำงานในพื้นที่เพราะเราทำงานพบว่าคนในพื้นที่เริ่มมีความรู้สึกและเริ่มพูดกันว่าตกลงนโยบายต่าง ๆ และวิธีการต่าง ๆ มีความพยายามจำนวนมหาศาลในการที่จะลงไปแก้ปัญหาชายแดนใต้โดยเฉพาะจากฝั่งของรัฐและโดยเฉพาะนโยบายพหุวัฒนธรรมที่พูดกันมากแล้วทางฝ่ายความมั่นคงก็นำไปปฏิบัติ

 

อย่างคำว่าเข้าใจที่ท่านอาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ พูดคือต้องชวนทางฝ่ายความมั่นคงไปทำความเข้าใจกันใหม่ว่าคำ ๆ นี้ จริง ๆ ในตัวของมันเองนั้นหมายความว่าอย่างไร เพราะว่าตอนนี้คนเริ่มมีความรู้สึกว่ามันคือการแปลงกายของแนวนโยบายและการปฏิบัติในยุคของการบังคับผสมกลมกลืน การกลืนกลายในทางวัฒนธรรมและมีความพยายามมากเลย ก็คือเราเข้าใจความตั้งใจดีแต่วิธีการผิด ต้องบอกคือ ทางฝ่ายความมั่นคงก็พยายามที่จะเข้าไปทำความเข้าอกเข้าใจ พยายามที่จะแต่งกายเข้าไปด้วยเสื้อมลายู พยายามที่จะไปทักทายด้วยคำว่า อัสซะลามุอะลัยกุม ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นศาสนิกของอิสลามแบบนี้ค่ะ ด้านนึงเราเห็นความพยายามชื่นชมแต่เป็นความพยายามที่ไม่ถูกต้อง และมันก็เซ็นซิทีฟตรงในแง่ที่ว่าถ้าคุณไม่ได้เป็นมุสลิม ไม่ได้เป็นอิสลาม ไม่ได้นับถือแบบนี้ค่ะ คุณก็เป็นแบบที่คุณเป็น ดิฉันเข้าไปก็บอกว่า ดิฉันเป็นคริสต์ เป็นคาทอลิกนะคะ ขอไปแบบนี้นะคะ ถ้าจะขอเข้ามัสยิดจำเป็นต้องคลุมผมไหม ถ้าต้องคลุมดิฉันมีผ้าที่พกไปเพราะเราต้องการให้เกียรติและก็ให้ความเข้าใจกับเขาว่า ผู้หญิงจะเข้าตรงไหนอย่างไร

เราพยายามจะทำความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและไปชวนเขาคิดต่อว่าจะทำอะไรร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ อันนี้คือแนวที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาพยายามทำมาตลอดแล้วเราก็พยายามสื่อสารกับฝ่ายความมั่นคงว่าถ้าเราอยากจะทำงานด้วยความเข้าใจต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานนะคะ แต่เปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างเดียวไม่พอต้องเปลี่ยนกรอบคิดด้วยในการที่จะมองคนในพื้นที่ชายแดนใต้นะคะ

 

ทีนี้ต้องกลับมานิยามด้วยว่าถ้าจะสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้จริง ๆ คุณต้องทำความเข้าใจนิยามคำว่าสันติภาพใหม่ สันติภาพที่ไปแปลว่าเป็นสันติสุข ช่วยทำความเข้าใจใหม่ ดิฉันพูดในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะคะว่าสันติภาพและสันติภาพเชิงบวกที่จะเป็นสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ชายแดนใต้มันต้องเป็นสันติภาพที่ผู้คนที่นั่นเขาต้องปราศจากความกลัว กลัวว่าจะเดินออกไปไหนแล้วจะถูกจับ กลัวว่าเดินออกไปไหนแล้วจะเข้าถึงทรัพยากรในการใช้ชีวิตไม่ได้เพราะที่นั่นทรัพยากรมันอุดมสมบูรณ์แต่เรายังมีคนที่อดอยาก มีเด็กที่ขาดสารอาหาร มีเด็กที่อยู่นอกระบบอยู่มากมาย อันนี้ไม่ตรงกับนิยามสันติภาพนะคะ สันติภาพคือคนต้องรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีความมั่นอกมั่นใจที่จะแต่งกายด้วยชุดอะไรก็แล้วแต่เดินไปสนทนากันอย่างมนุษย์ค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องโชว์บัตรหรือตรวจบัตรประชาชนอย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงต้องกลับมาที่นิยามใหม่นี่คือภาพรวมที่คิดว่าเป็นการเริ่มต้นของการจะความเข้าใจภาพสันติภาพ ดิฉันคิดว่าข้อมูลนั้นมีเยอะแยะมากมายทั้งที่ ThaiPBS ทำทั้งที่ Deep South Watch ทำ ฐานทรัพยากรสันติภาพทำนะคะ ข้อมูลชุดความรู้มีมากพอสมควรขอให้ช่วยนำกลับมาใช้ก่อนจะไปต่อค่ะ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย  : 

ค่ะขอบคุณอาจารย์พัทธ์ธีรา เราพูดคุยกันถึงเรื่องเส้นทางสันติภาพใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานะคะ โดยหลายท่านบนเวทีนี้ก็เห็นตรงกันถึงทางออกของพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ของการพูดคุยคือ หนทางที่ทั่วโลกก็ใช้ในการที่จะหาข้อยุติ หาทางออกของการสร้างสันติภาพ ดังที่อาจารย์พัทธ์ธีราได้ค้างไว้ในช่วงคำถามแรกนะคะ เรื่องแนวคิดสันติธรรมของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์กับกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน  จริงๆ ปัญหาที่ทุกท่านพูดที่จริงมันคือเรื่องนี้ทั้งความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นธรรม ดังนั้นสันติภาพที่ยั่งยืนในความหมายถ้าเราย้อนฟังแนวคิดของอาจารย์ปรีดีมันน่าจะสามารถนำมาปรับใช้และเป็นแนวทางหนึ่งของการที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ไหมคะ อาจารย์พัทธ์ธีรา

 

ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ :

จริง ๆ มันไม่มีคำตอบอื่นค่ะ ก็คือต้องใช้สันติวิธี หรือใช้แนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แล้วก็ต่อมาก็ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ก็ขยายกันต่อคือ สันติภาพ สันติธรรมคือพูดถึงเรื่องของการแก้ปัญหาโดยแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงและไม่สร้างเงื่อนไขความรุนแรงใหม่ คือไม่ใช่ว่าคุณแก้ปัญหานี้แล้วคุณสร้างเงื่อนไขความรุนแรงใหม่นะคะ อย่างเช่นที่ผ่านมาก็จะเป็นปัญหาอย่างที่เห็นกันคือพยายามที่จะสร้างสันติภาพ สันติสุขให้เกิดขึ้นก็ขุดถนนขุดคลองไม่รู้กี่เส้นทางแล้วนะคะ จริง ๆ อยากจะชวนไปเที่ยวชายแดนใต้มาเลยนะคะ ปลอดภัยค่ะ ถนนดี

 

คลองนี่ขุดกันจนเรียกว่าพลุที่เป็นแหล่งทรัพยากรอาหารอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ค่ะ ที่ประชาชนเคยใช้สำหรับการดำรงชีวิตได้นั้นมันหายไปเกือบหมดแล้วนะคะ ฐานทรัพยากรที่รุ่มรวยเนี่ยก็ถูกแทนที่ด้วยกันแก้ปัญหาแบบหนึ่งและไปผูกเงื่อนปมปัญหาใหม่  ๆให้เกิดขึ้น และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมากมันก็กลับมาที่แนวคิดเรื่องสันติธรรม สันติภาพอย่างที่บอกว่าหัวใจสำคัญก็คือต้องไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในเชิงรากเหง้าจริง เคารพสิทธิอัตลักษณ์ และความหลากหลายไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของอัตลักษณ์ความหลากหลายของผู้คนอย่างเดียวแต่มันคือความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมทั้งหมดทั้งมวลด้วยนะคะแล้วต้องพูดถึงเรื่องของความเป็นธรรมที่มันเกิดจากการกระทำ เกิดจากการปลูกฝังแล้วก็มองเห็นทุกคนเป็นหุ้นส่วนในขบวนการเดียวกัน เพราะว่าแนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดีนี่สำคัญมากเลยนะคะ

ในหนังสือที่พูดถึงเรื่องชายแดนใต้ อาจารย์ปรีดีใช้คำว่าเอกภาพ และเอกภาพเป็นคำสำคัญมากสำหรับการที่เราจะสร้างสังคมที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างที่ไม่ใช้ความรุนแรง เคารพ และก็เห็นกันและกัน ให้ความเป็นธรรมต่อกันนะคะ ซึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้นั้นหัวใจสำคัญของปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในชายแดนใต้คือเป็นปัญหาทางการเมืองและปัญหาเรื่องความยุติธรรม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ 2 เรื่องนี้เป็นหัวใจหลักและก็สำคัญถ้าไม่มีเจตจำนงในทางการเมืองที่จะอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนในสังคมที่นั่น แล้วสันติภาพจะเดินต่อได้ยังไงคะ ถ้าความยุติธรรมมันถูกผูกขาดหรือมันถูกนำไปสถาปนาเอาไว้อยู่ในค่ายทหารแล้วอะไรคือความยุติธรรม ความเป็นธรรม อะไรคือกลไกในการที่จะไปแก้ไขปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่

 

 

อย่าลืมนะคะว่าความอึดอัดคับข้องใจหรือความรู้สึกอยุติธรรม เรารู้สึกได้และทุกคนที่เป็นมนุษย์รู้สึกได้ ปกป้องได้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเด็กในโรงเรียน เด็กเล็ก ๆ รู้สึกว่าทำไมพ่อของเขาถูกทำให้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม คำถามและความรู้สึกนี้อยู่ไปตลอดชีวิตนะคะ ท่านอาจารย์ปรีดีพูดไว้สำคัญมากก็คือ ประชาธิปไตย การเห็นคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความสัมพันธ์ในแนวราบก็คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน หัวใจสำคัญอีกอันนึงคือว่าสังคมไทยเราคิดถึงคำนี้น้อยไปเพราะเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้เกิดขึ้น มีกระแสความเกลียดชังอิสลาม เกลียดชังมุสลิมแพร่กระจายเต็มไปหมดหลังจากเหตุการณ์ใน 9/11 ที่มันมีแพร่กระจายทั่วโลกในสังคมไทยเรามีกระแสอันนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมดเลยนะคะ และนโยบายการแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างในพื้นที่ชายแดนใต้มันก็ไปเสริมในช่องว่างแล้วก็ความสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างผู้คนที่ถูกมองว่าเป็นอื่นตั้งแต่ต้นก็ยิ่งห่าง ไม่ใช่ห่างแค่ชายแดนใต้แต่ทั้งประเทศก็มองแบบนั้นไปด้วย

เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นความยุติธรรมของคนที่เขามีอัตลักษณ์และความแตกต่างหลายแต่เขาเป็นเพื่อนร่วมชาติของเราที่มันไม่ได้ถูกคิดถึงคำนึงถึง และนี่คือหัวใจที่ท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเขียนเอาไว้ในในหนังสือเลยนะคะว่า ต้องเคารพความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์และต้องทำตรงกันข้ามด้วยคือต้องส่งเสริมให้เขามีความรู้สึกภาคภูมิใจและเราเกี่ยวพันกันเข้ามาเป็นเอกภาพในสังคมประชาธิปไตยที่เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้คนเสมอกัน อันนี้คือหัวใจที่ท่านอาจารย์ปรีดีเสนอไว้ว่ายังไงก็ต้องมีแล้วมันปักหมุดไปตั้งแต่ 79 ปีที่แล้ว

และอาจารย์ปรีดียังทำในหนังพระเจ้าช้างเผือกที่พยายามจะส่งเสริมว่าต้องกลับมาใช้แนวทางนี้และต้องมีเจตจำนงที่มุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะใช้สันติวิธี ไม่ใช้การกดทับเพื่อทำให้สถิติลดลงเพื่อทำให้บอกว่าไม่มีตัวเลขความรุนแรงและเราฝังความรุนแรงไว้ข้างล่างอันนั้นไม่ใช่นะคะ เพราะฉะนั้นอยากชวนให้เราคิดถึง งานที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้ปักหลักตั้งแต่การประกาศสันติภาพ พระเจ้าช้างเผือก และหลาย ๆ แนวคิดที่ท่านส่งต่อแล้วช่วยกันกลับมาทบทวน กลับมาคุยดิฉันคิดว่าท่ามกลางสภาวะความมืดหมดไม่ค่อยจะสว่างเท่าไหร่ของประชาธิปไตยไทยในวันนี้ค่ะถ้าเรายังไม่รู้สึกว่าสำคัญและจำเป็นต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำอย่างที่หลายท่านบอกเลยเราอาจจะไม่สามารถกำหนดอะไรได้หลังจากนี้

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย  : ขอบคุณอาจารย์พัทธ์ธีรานะคะที่ฉายภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการที่จะแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งและเราพูดถึงมา 20 ปีที่เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องการเคารพความแตกต่างที่หลากหลาย มันก็คือหลักการพื้นฐานของการที่จะใช้หลักสันติวิธีมาแก้ปัญหา การใช้ความรุนแรงมากดทับ แล้วก็การไปดำเนินคดี การสร้างการกดทับจากความไม่ยุติธรรมเหล่านี้ มันคือตัวที่สร้างปัญหาแล้วในสังคมประชาธิปไตยมันยังเป็นกรอบที่ช่วยคุ้มครองให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอยู่ภายใต้หลักการที่มีสิทธิเสรีภาพแล้วคำหนึ่งที่แยมก็เห็นด้วย คือเอกภาพในฐานะที่เราทำงานสื่อมวลชน เอกภาพคือเรื่องสำคัญนอกเหนือจากสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ เพราะคำว่าเอกภาพนั้นเราต้องสร้างความเป็นหนึ่งโดยไม่แยกคนในชายแดนใต้ให้เป็นอื่นอย่างที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s

 

ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16  สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์