ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การต่อสู้ด้วยสันติวิธีของผู้หญิงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

19
มกราคม
2567

Focus

  • ในฐานะคู่ชีวิต คู่ใจ และคู่จิตวิญญาณของท่านอาจารย์ปรีดี ในวิถีของแนวคิด “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ที่มิใช่ “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์” ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้เป็นสตรีนักสันติวิธีต้นแบบกลับถูกจับ จากความที่คาดเดาได้ว่าท่านเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่จะทำให้สังคมไทยและประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีถ้วนหน้า
  • ท่านผู้หญิงพูนศุขมีอำนาจภายในแบบวัฒนธรรมมาตาธิปไตย คือ วัฒนธรรมของผู้หญิงที่เมตตา กรุณา เกื้อกูล แบ่งปัน มีเมตตาธรรมอยู่ในจิตวิญญาณสูงส่ง ไม่ได้ขัดขวาง แต่เป็นลมใต้ปีกให้แก่ท่านอาจารย์ปรีดี จึงสมควรศึกษาถึงสันติวิธี ทั้งในกระบวนการและเป้าหมายที่ท่านใช้และยึดถือ
  • ผู้หญิงไทยยังเผชิญกับปัญหาในหลายประเด็น อาทิ ความรุนแรงในสังคม บทบาทของผู้หญิง สิทธิสตรี สุขภาวะทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ และพื้นที่ของคนตัวเล็กตัวน้อยและคนกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้สมควรได้รับการแก้ไขที่โครงสร้างสังคมประชาธิปไตยเพื่อจะเอื้ออำนวยต่อความเป็นธรรมทางสังคม การเคารพสิทธิมนุษยชน และการสร้างวัฒนธรรมสันติวิธีของการต่อสู้

 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ในทุกวันนี้ตามชายขอบยังคงมีเรื่องของผู้หญิงที่ถูกใช้เป็นเครื่องบำเรอทางเพศอยู่ด้วย แล้วก็บางทีเรามองไปต่างบ้านต่างเมือง แม้กระทั่งสังคมในออฟฟิศหรือหน่วยงานต่างๆ ผู้หญิงก็ยังคงถูกกดทับ ถูกคุกคาม ถูกล่วงละเมิดด้วยเช่นเดียวกัน ในประเด็นนี้ขอเชิญอาจารย์ช่วยร่วมแลกเปลี่ยนในกรณีต่างๆ ที่อาจารย์ได้ทราบมา ว่ามีประเด็นไหนที่เราควรที่จะมาเป็นกรณีศึกษากันบ้าง

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

เรียนท่านทายาทของท่านผู้หญิงฯ แล้วก็ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ก่อนที่จะไปถึงประเด็นเรื่องของผู้หญิงฯ ที่ถูกกระทำความรุนแรงต่างๆ อยากจะบอกว่าวันนี้เป็นเกียรติที่สุดในชีวิต ที่ได้มาพูดถึงต้นแบบของคนที่ทำงานเพื่อสันติภาพ

ดิฉันเป็นคนที่ทำงานจัดการเรียนการสอนอยู่ในสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา แต่ว่าไม่สามารถจะบอกได้เลยว่างานที่ทำอยู่ได้เศษเสี้ยวหนึ่งของท่านผู้หญิง ต้องเรียนแบบนี้ เพราะว่ายิ่งศึกษาก็ยิ่งทราบ แล้วก็ยิ่งอยากจะเรียกร้องด้วยว่า ในฐานะของสังคมไทย ระบบการศึกษาไทย เราศึกษาเรื่องวีรบุรุษหรือเรื่องวีรสตรีที่ประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย แต่ทำไมเราไม่มีพื้นที่สำหรับการศึกษานักสันติวิธีที่เป็นสตรี เป็นอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง และเป็นผู้ที่ปวารณาตัวไม่รับเกียรติยศใดๆ

ชีวิตของท่าน ผลงานของท่านที่ท่านทำมา คือต้นแบบสำคัญที่นักสันติภาพควรจะศึกษาอย่างยิ่ง เด็กเยาวชนไทยควรต้องรู้จัก ยิ่งอ่านก็ยิ่งพบว่าประวัติของท่าน ผลงานของท่าน คุณูปการที่ท่านมีต่อสังคมไทย ถ้าเรารู้จักนักสันติวิธี อย่างเช่น มหาตมะ คานธี หรือว่าแม่ชีเทเรซาแห่งกัลกัตตา จะบอกว่าท่านผู้หญิง ไม่ได้น้อยหน้า และตรงกันข้าม ท่านทำอะไรมากกว่าที่เราได้รู้จักด้วยซ้ำไป ในฐานะที่เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เป็นคุณแม่ของลูกๆ ทั้ง 6 และเป็นภรรยาของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมสาสตร์และการเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงเมื่อสมัยที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้ริเริ่มไว้จนปัจจุบัน ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งต้องสานต่อ

เพราะฉะนั้น เป็นเกียรติมากๆ ที่ได้รับเกียรติ ขอบพระคุณทางมูลนิธิฯ ทางผู้จัดทุกท่านที่ให้อนุญาตมานั่งอยู่ตรงนี้ พอได้มีโอกาสศึกษาจึงตระหนักได้ว่า เราควรจะต้องศึกษามากกว่านี้ และควรจะพูดถึงท่านผู้หญิง มากกว่านี้

ทำไมต้องศึกษาถึงคุณูปการของท่านผู้หญิง 112 ปี ชาตกาลของท่าน พอได้รับการเชิญแล้วมานั่งศึกษา รู้สึกเสียดายต่อสังคมไทย ที่ทำไมเราทิ้งเวลาไปนานมากขนาดถึง 112 ปี แล้วเพิ่งจะมาชวนกันคุย ถึงเรื่องคุณูปการของท่านต่อสันติวิธี ต่อสันติภาพในประเทศไทย เพราะว่าในฐานะที่ท่านเป็นภรรยาของรัฐบุรุษ ของท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นผู้นำที่อยากทำให้ประเทศไทยไม่ต้องไปอยู่ในฝั่งของผู้แพ้สงคราม และต้องชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามมหาศาล

ถ้าเรามองไปดูในประเทศฝั่งผู้แพ้สงคราม จะเห็นว่าชีวิตของคนที่อยู่ในประเทศที่เขาแพ้สงคราม เขาลำบากขนาดไหน ส่วนตัวมีโอกาสได้ไปประเทศเยอรมัน โปแลนด์ ไปหลายๆ ประเทศ เราได้เห็นว่าชีวิตของผู้คนที่เขาต้องอยู่ภายใต้การเลือกที่ผิดข้าง ไปเลือกเข้าข้างฝ่ายของผู้กระทำความรุนแรง คนที่ก่อสงคราม ท้ายที่สุดมันไม่ใช่เฉพาะตัวเอง ตัวผู้เลือกเองที่จะได้รับผล แต่ว่าทำให้คนทั้งสังคม ทั้งประเทศต้องรับผลกระทบเชิงลบอันนั้นไปด้วย

เพราะฉะนั้น เราน่าจะภาคภูมิใจ เราฉลองวันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทยมาหลาย 10 ปี แล้ว แต่ทำไมเราใช้เวลาในการศึกษาชีวิตของท่านช้า เราพูดถึงท่านช้าเพราะฉะนั้นประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่อยากจะชวนคิดชวนคุย

อีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่าในฐานะที่ท่านเป็นคู่ชีวิต เป็นคู่ใจ และเป็นคู่จิตวิญญาณของท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้เราได้ตระหนักในคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยแบบที่มองเห็นชีวิตผู้คนตัวเล็กตัวน้อย คนธรรมดา ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพราะว่าท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ที่เสนอโครงร่างของการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองไทย ที่ให้คุณค่ากับการกระจายทรัพยากร การยกระดับเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า ในวิถีที่เรียกว่า “สังคมนิยมประชาธิปไตย” แบบที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียเขาใช้กัน

คำว่า “สังคมประชาธิปไตย” และ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ในประเทศไทยก็เข้าใจผิดอีก ไปเข้าใจว่าคือสิ่งเดียวกันกับ “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์” ไปยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับท่านผู้หญิงและอีกหลายๆ ท่าน ตอนที่ท่านผู้หญิงถูกจับ ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา ทำให้เรามานั่งนึกถึงจริงๆ เมื่อ 80-90 ปีที่ท่านอาจารย์ปรีดี ผู้มาก่อนกาลเสนอเรื่องแบบนี้ อาจจะต้องถามทางทายาทของท่านด้วย แต่เข้าใจแล้วยิ่งดูจาก VTR (เครืองบันทึกเทปวิดีโอ) ยิ่งเดาได้เลยว่าท่านผู้หญิง ก็จะต้องเห็นดีเห็นงามด้วยกับกรอบแนวคิดนั้นๆ ที่จะทำให้สังคมไทย ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีถ้วนหน้า

นั่นคือเห็นดีเห็นงามกับเรื่องของความเป็นธรรมในทางสังคมที่จะยกระดับสังคมทั้งหมด ให้คนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เฉพาะแต่ชนชั้นนำ ชนชั้นสูง ซึ่งถ้าเราไปดูประวัติของท่าน ท่านมาจากชนชั้นสูง ชนชั้นนำของสังคมด้วยซ้ำไป ที่จริงท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องคิดถึงคนข้างล่างก็ได้ แต่การที่ท่านส่งเสริมท่านอาจารย์ปรีดี สนับสนุนเป็นลมใต้ปีกตลอดเวลา แสดงว่าท่านก็เห็นดีเห็นงามกับการจะยกระดับคุณภาพชีวิต กับแผนการพัฒนาประชาธิปไตย ในลักษณะที่เป็นสังคมความเป็นธรรมถ้วนหน้าแบบนี้ด้วย

เพราะฉะนั้น นี้เป็นอีกคุณูปการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับกรอบแนวคิดเรื่องของสตรีนิยม และความเป็นธรรมในทางสังคมที่อยากจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนคนทั่วๆ ไป ได้เข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วม ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นชนชั้นนำ เป็นประชาชนคนรากหญ้า เป็นคนธรรมดา เป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชาย ก็ควรที่จะมีบทบาท หรือว่ามีส่วนร่วมในการที่จะได้รับการพัฒนาอันนั้นไปด้วย

เมื่อปี 2565 ที่มีจัดงานเรื่องปาฐกถา 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม ในหนังสือเล่มนี้ (หนังสือ ปรัชญาสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย - มุนินทร์ พงศาปาน) ก็พูดถึงคุณูปการที่สำคัญของท่านอาจารย์ปรีดี จริงๆ คือกรอบแนวคิดเดียวกันกับที่การให้บทบาทของผู้หญิง และคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมได้ขึ้นมาทัดเทียมกันกับบทบาทของคนอื่นๆ ที่มีอำนาจอยู่แล้วในสังคม คิดว่าก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเห็นคุณูปการของของท่านผู้หญิงที่มีต่อสังคมไทย ยิ่งทำให้เห็นด้วยว่าท่านผู้หญิงน่าจะมีส่วนร่วมอย่างสำคัญทีเดียวในการที่จะช่วยผลักดันให้สังคมไทย ซึ่งในขณะนั้นเป็นสังคมที่อยู่ในวัฒนธรรมแบบอำนาจเหนืออำนาจ หมายความว่ากลุ่มที่มีอำนาจก็ผูกขาดอำนาจเอาไว้ภายในกลุ่มในพรรคพวกตัวเอง ทีนี้พอท่านอาจารย์ปรีดีเสนออะไรที่จะเปิดพื้นที่แบ่งปันอำนาจให้กับคนอื่นๆ ความทุกข์ระทมก็ถาโถมทั้งท่านปรีดี ทั้งท่านผู้หญิงและครอบครัว

เพราะฉะนั้นที่ท่านอาจารย์อัครพงษ์ พูดก็คือว่า ความกล้าหาญซึ่งเป็นอำนาจภายในตัวท่านผู้หญิงที่เราเห็นชัดเจนมาก คือท่านผู้หญิงมีอำนาจภายในแบบวัฒนธรรมมาตาธิปไตย คือ วัฒนธรรมของผู้หญิงที่เมตตากรุณา เกื้อกูลแบ่งปัน มีเมตตาธรรมอยู่ในจิตวิญญาณสูงส่งมาก และอำนาจภายในเหล่านี้จึงทำให้ท่านไม่ได้ลุกขึ้นมาขัดขวางท่านอาจารย์ปรีดี

เมื่อเป็นสามีภรรยากัน ไม่เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ปรีดีทำแบบนี้ เดี๋ยวครอบครัวเราจะเดือดร้อน หรือว่าเดี๋ยวเราจะเสียตำแหน่ง เสียอำนาจ ที่จริงท่านจะคัดค้านก็น่าจะทำได้ แต่ท่านไม่ทำ แสดงว่าท่านมีอำนาจภายในแล้วท่านเห็นความเป็นธรรม ท่านเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ปรีดีกำลังพยายามทำอยู่ ท่านเห็นว่านั่นคือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ มิใช่ประโยชน์ส่วนตัวของครอบครัวหรือตนเอง นี่คือสิ่งที่เราเห็นชัดมากเลย เพราะฉะนั้นเราจึงได้มีท่านอาจารย์ปรีดี แล้วก็มีเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีคุณูปการหลายๆ อย่างที่ตกมาจนถึงเราในทุกวันนี้

สิ่งแรกที่คิดว่าเป็นประเด็นแรกๆ ที่อยากเสนอว่าสังคมไทย ระบบการศึกษาไทย หรือว่าคนที่ทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมในประเทศไทย ควรจะนำเรื่องราวชีวิตการต่อสู้ของท่านผู้หญิงมาศึกษาก่อน ยังไม่ต้องไปดูว่าเราจะต้องเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศอย่างขึงขัง หรือเข้มแข็ง เข้มข้น เบื้องต้นศึกษาก่อนว่าวิธีที่ท่านใช้สันติวิธีทั้งในกระบวนการและเป้าหมายด้วย ไม่ใช่ว่าเราดูจากเป้าหมายที่อยากจะเห็นสันติภาพและความเป็นธรรม แล้วเราใช้กระบวนการหรือวิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ท่านผู้หญิงใช้กระบวนการ วิธีการ และเป้าหมายไปด้วยกัน

ส่วนต่อมาที่อยากจะกล่าวถึงก็คือว่าพอพูดถึงเรื่องประเด็นต่อสู้ของผู้หญิงในมิติเรื่องความรุนแรงในเชิงสังคม เรื่องเพศ เราต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้ประเทศไทยเราอาจจะดูดีมากขึ้น เพราะว่าเรามีบทบาทของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ เป็นแนวหน้าในสังคมค่อนข้างเยอะขึ้น แต่มีอุปสรรคอีกเยอะ

เรามี ส.ส. ผู้หญิงแต่ถ้าดูตามสัดส่วนในสภาน้อยมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังดีใจที่ได้มีสัดส่วนของ ส.ส. หญิงในสภา มีผู้สื่อข่าวหญิง ซึ่งจริงๆ พูดถึงในบทความว่า เรามีคุณช่อ พรรณิการ์ ซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าว และทำประเด็นข่าวในเรื่องความเป็นธรรมในทางสังคมมาก่อน ก็ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เรื่องความสุขภาวะทางเพศ เรื่องความปรารถนาในทางสังคม คิดว่าคุณช่อเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่อ่านประวัติของท่านผู้หญิงอย่างกระจ่างชัดมาก

เพราะวันที่สุดท้าย วันที่คุณช่อถูกตัดสิทธิในทางการเมืองตลอดชีพ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกือบจะคล้ายกัน คุณช่อกล่าวว่าไม่ได้ต้องการตำแหน่งใดๆ ในทางสังคม ไม่ได้ต้องการเกียรติยศใดๆ ที่สังคมนี้จะมอบให้ แต่สิ่งที่ยังเป็นปรัชญาอุดมการณ์ และการทุ่มเททำงานอย่างหนักแน่นมั่นคงต่อไปในวิถีทางของประชาธิปไตย นั่นคือสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณที่คุณช่อยังใช้อยู่

ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูท่านผู้หญิง ตลอดชีวิตของท่าน ท่านมีสิทธิ์ที่ได้รับเกียรติยศมากมายท่านก็ปฏิเสธ ไม่ได้ยึดติด ถึงได้บอกว่าเรามีคุณช่อ แล้วเรามีพี่แยมที่นั่งอยู่ตรงนี้ จะบอกว่าพี่แยมเองก็เป็นผู้สื่อข่าวอีกคนที่ทำประเด็นเรื่องของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ กรณีโรฮิงญาจริงๆ มีอีกประเด็นอีกมากมายที่เราจะต้องต้องตามต่อ

อยากจะกลับมาประเด็นเรื่องของ ‘ความรุนแรงทางเพศ’ ถ้าเราตามประเด็นจริงๆ ปี 2565 เป็นปีที่ผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วยการข่มขืนในสงครามเยอะขึ้น ถูกกระทำความรุนแรงในพื้นที่สงครามมากขึ้น ต้นปี 2565 เรามีสงครามอยู่ที่ยูเครน-รัสเซีย เรามีในสงครามแอฟริกาในพื้นที่หลายๆ พื้นที่ และมีพื้นที่ในตะวันออกกลาง เรามีพม่า เรามีเพิ่มเติมมาคือ อิสราเอลกับปาเลสไตล์

ถ้าเราไปดูในพื้นที่ส่งข่าวความรุนแรง ผู้หญิงถูกใช้เป็นเหยื่อของสงครามด้วยการข่มขืนในกองทัพ ไม่ใช่เฉพาะว่าคนที่เป็นเหยื่อถูกจับมา ที่เป็นเฉลยศึกที่ถูกข่มขืน แม้กระทั่งแพทย์หญิงในกองทัพเดียวกันก็ถูกทหารผู้ชายใช้เป็นเหยื่อระบายทางเพศ ซึ่งเรายังศึกษาประเด็นนี้กันน้อยมาก เราคิดว่าคงมีแต่เฉพาะในประเทศต่างๆ แต่ถ้าเรากลับมาย้อนดูในประเทศไทยปี 2563-2564 ดิฉันได้มีโอกาสทำงานช่วยเด็กและเยาวชนที่ถูกรุมโทรมข่มขืนในพื้นที่ชายแดนใต้ เราก็ต้องทำเงียบๆ แล้วถามว่าทำเสร็จแล้วปัจจุบันจนถึงวันนี้ ผู้หญิงก็ยังถูกกระทำความรุนแรงด้วยการข่มขืน และถูกปิดปากเงียบแบบนี้มีอีกเยอะมาก ในหน่วยงาน ในองค์กร ในสถานที่ทำงานก็ยังมีเรื่องแบบนี้อยู่เยอะมาก แต่สังคมไทยไม่กล้าพูด ผู้หญิงจะถูกประณามทันที

ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อและลุกขึ้นมาพูดจะถูกประณาม ปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมปิตาธิปไตย สังคมที่ให้อำนาจกับผู้ชนะ สังคมที่ให้อำนาจกับผู้กระทำการที่ตัวใหญ่กว่า เงินมากกว่า เกียรติยศสูงกว่า อาวุโสกว่า มีอำนาจวาสนามากกว่า เพราะฉะนั้น คนที่ถูกกระทำตัวเล็กตัวน้อย เวลาที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้อง หรือเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาพูด หรือเปิดเผยความจริงแบบนี้มันพูดไม่ได้ แล้วมันไม่มีพื้นที่พูดและเมื่อจะพูดขึ้นมา อย่างแรกก็คือต้องฟันฝ่าตัวเองก่อนว่า ถ้าพูดออกไปแล้วอะไรจะสะท้อนหรือว่าจะทับถมกลับมาที่ตัวเอง พูดไปแล้วคนในสังคมก็จะบอกเลยว่า “ไปทำอีท่าไหนล่ะถึงถูกข่มขืน ไปอยู่ตรงไหนถึงได้ถูกข่มขืน แต่งตัวแบบไหนถึงได้ถูกข่มขืน” มีประเด็นเหล่านี้เต็มไปหมด เพราะว่าสังคมเรายังไม่ได้เห็นคุณค่าของผู้หญิง ที่เรียกว่าเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกัน และยังไม่ได้เห็นคุณค่าของคนตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน เพื่อความเป็นธรรมสำหรับตัวเองสำหรับสังคม

คนที่ถูกข่มขืนไม่ใช่สู้เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่ทุกครั้งที่มีคนแบบนี้พูดขึ้นมา เธอกำลังพยายามที่จะสู้เพื่อให้สังคมนี้ได้เปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมเสียที เลิกมองเห็นคนตัวเล็กตัวน้อย คนต่ำต้อยค่าเป็นเหยื่อ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการข่มขืน เรื่องการเอารัดเอาเปรียบในมิติทางเศรษฐกิจ หรือเรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย

พื้นที่ของสังคมมุสลิม เป็นพื้นที่ของสังคมคนตัวเล็กตัวน้อย คนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีวิถีชีวิต เมื่อสักครู่ฟังเปียโนกับไวโอลิน เพลงช่วงหลังที่เป็นเพลงที่มาจากคนยิปซี จะเห็นว่ามีจังหวะท่วงทำนองที่ร่วงโรยมาก มีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก เหมือนกับความหลากหลาย ความสวยงามของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชีวิตของเขามีความคล้ายกับสุนทรียศาสตร์ ที่มีท่วงทำนองจังหวะจะโคน แต่เป็นช่วงทำนองที่เราไม่คุ้นชิน ที่รัฐไม่คุ้นชิน ดังนั้นจึงถูกผลักไสไล่ส่ง หรือว่าถูกเหยียบหางกดเอาไว้

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ขอบคุณอาจารย์ด้วยนะคะที่ได้พูดถึงท่านผู้หญิงพูนศุข ก่อนหน้านี้คีย์เวิร์ดหนึ่งที่มายด์ชอบมาก คือ “ความกล้าหาญ เป็นอำนาจที่อยู่ภายใน” นี่คือสิ่งที่ทรงพลังมาก และมายด์คิดตรงกันกับที่อาจารย์กล่าวว่า เราควรต้องศึกษา อย่างน้อยๆ คือศึกษาแนวคิด ความรู้สึกเบื้องลึกที่ทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขกล้าหาญ แล้วพวกเราจะกล้าหาญอย่างไรได้บ้าง เพื่อยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรี

อีกเรื่องคือเรื่องของความรุนแรงทางเพศ การทารุณกรรมทางเพศ มายด์ตกใจมากที่แม้แต่แพทย์หญิงที่อยู่ในกองทัพ ยังโดนทหารด้วยกันเองข่มขืน หรือว่าใช้เป็นเครื่องบำเรอทางเพศ ใช้เป็นเครื่องระบาย ใช้เป็นเหยื่อในการระบายอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก มายด์คิดว่าเรื่องพวกนี้มันยังคงมีอยู่ในสังคมไทย และก็อย่างที่อาจารย์ระบุว่าพวกเราต้องยิ่งสนใจ ต้องอย่ามองว่าเป็นเรื่องของคนที่โดนกระทำจริงเท่านั้น แต่คือเรื่องของทุกคน ถ้าเราไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ

เรื่องของการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้หญิงจริงๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเยอะมาก หลายเรื่องๆ กระทบกระเทือนต่อ emotional เยอะมาก บางครั้งเราพูดกันไป เราไม่สามารถพูดได้จนจบด้วยซ้ำ แต่ว่าในเวทีนี้น่าจะได้เห็นความหลากหลายของประเด็น รวมถึงหลายๆ แง่มุมในมุมมองที่แต่ละท่านได้พบเจอมา ผู้หญิงที่โดนกดขี่ ณ ตอนนี้ อดีตเคยถูกกดขี่อย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ และมีหลายแง่มุมมากที่พวกเราจะได้พูดคุยถกเถียงกัน ถึงแม้ว่าจะยากลำบากต่อใจ แต่เราก็ต้องคุยกันเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกับอีกเพศหนึ่งบ้าง แล้วสมเหตุสมผลหรือไม่ สังคมก็ต้องช่วยกันเรียนรู้กันต่อไป

ระบบสังคมชายเป็นใหญ่ยังกดทับกันอยู่อย่างที่เราคุยกัน และการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของผู้หญิง เราเหมือนต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อให้มันเป็นธรรม อาจารย์มีข้อเสนออย่างไรบ้างต่อข้อท้าทายลักษณะนี้

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

จริงๆ ก็ต้องบอกว่าต้องคิดถึงภาพที่เป็นเชิงระบบ แต่ก่อนไปคิดเชิงระบบก็อยากจะชี้ชวนให้เห็นว่า นี้คือทนายโจร นี้นักข่าวโจร นี้คือนักวิชาการขายชาติก็เป็นโจร นี่ก็เด็กชังชาติ ท่านเห็นอะไรไหม เมื่อเวลาที่ผู้หญิงลุกขึ้นมา ผู้หญิงในสังคมถูกคาดหวัง ถูกคาดหมาย ถูกกรอบไว้ว่าต้องพับเพียบเรียบร้อย รักนวลสงวนตัวอยู่บ้านอย่าพูดมาก ไม่ต้องตั้งคำถามเยอะ ให้อยู่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยเอาไว้เป็นดี เชื่อฟังเอาไว้เป็นดี

แต่เมื่อเราเริ่มลุกขึ้นมาพูดท่ามกลางสังคมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่จริงๆ แล้วระบบสังคมที่มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เสมอกัน มันคือรากเหง้าสำคัญมากๆ ที่ทำให้ทุกครั้งที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดหรือแม้กระทั่งเด็กที่ลุกขึ้นมาพูดทีไรก็จะเจออะไรแบบนี้

นี่คือคุณลักษณะของสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดทับ พยายามทำให้คนอื่นไม่เท่าตัวเอง แล้วเอาเข้าจริงๆ คนที่อยู่ในอำนาจชายเป็นใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายแต่ว่าหลายครั้งก็พบว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นร่างทรงของอำนาจชายเป็นใหญ่ได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ในสังคมไทยเรายังเห็นสัญลักษณ์ เรายังเห็นสัญญะนี่ก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ส่วนใหญ่ เวลาที่เขาลุกขึ้นมาพูด หรือมาห้ามปราม หรือมากดทับแล้วพยายามที่จะสกัดกั้นเราทุกวิถีทาง อยากจะบอกว่านั่นคือการแสดงความขี้ขลาดอ่อนแอ ความกลัวที่จะสูญเสียอำนาจ สูญเสียผลประโยชน์ สูญเสียสิ่งที่คิดว่าเคยควบคุมครอบครองได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามสกัดกั้นทุกอย่าง

อย่างที่บอกว่านี่คือสังคมวัฒนธรรม พอเราพูดถึงคำว่าวัฒนธรรมมันไม่ใช่แค่มาม่าที่ใส่น้ำร้อน หรือว่าอะไรที่มันสามารถดึงออกได้เอาเข้าได้หรืออะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่ปลั๊กที่ไปเสียบแล้วก็ดึงออก ดังนั้น วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ คือวัฒนธรรมของพวกเผด็จการ พวกที่ชอบกดทับคนอื่น ชอบเอารัดเอาเปรียบคนอื่น

ทีนี้ เราลองมาดูว่าทำไมต้องไปแก้ที่โครงสร้างสังคมประชาธิปไตยก่อน แล้วจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบสังคม ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบทุนนิยมเสรี เพราะว่าการที่จะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบให้นายทุนเสรีกินรวบกินขาดอะไรแบบนั้น ก็คือวัฒนธรรมของความรุนแรง วัฒนธรรมที่โปรไปทางชายเป็นใหญ่ เพราะว่าถือว่าคนที่ชนะก็คือ Take All ก็จะไปผูกขาดอำนาจอยู่เหมือนเดิม

เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เห็นคุณค่า ในเมื่อประชาธิปไตยมันไปผูกกับทุนนิยมเสรีอย่าง Unlimited ไม่มีไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งเราเห็นอยู่ในประเทศเรา เราเห็นอยู่ว่าคนที่เขาได้เขาก็ได้ทั้งอำนาจและก็ได้ทั้งเศรษฐกิจไปด้วย ผูกขาดไปด้วยไม่พอ มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์กติกา อำนาจในการเป็นเจ้าของสื่อ เพราะฉะนั้นการที่พี่แยมลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของสื่อเองถูกต้องที่สุดแล้ว เราก็ต้องชวนกันทำความเข้าใจว่าสังคมไทยต้องกลับมาทำความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น เพื่อให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ประชาธิปไตยที่จะเอื้อประโยชน์ ที่จะเอื้ออำนวยต่อความเป็นธรรมทางสังคม ที่จะเห็นหัวของคนทุกคนเสมอกัน ควรจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไหน เป็นประชาธิปไตยที่มันวางอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน บนฐานของความเป็นธรรม บนฐานของการเห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าของผู้คนเสมอกัน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เอาแต่นายทุน

ฉะนั้นประเด็นแรกเลยคือโครงสร้างใหญ่ของสังคมไทย ต้องกลับมาทำความเข้าใจ อย่าให้ใครบางคนไปอ้างอยู่ในสภาแล้วบอกว่าฉันมาด้วยประชาธิปไตย มาด้วยการเลือกตั้งไม่รู้เลือกตั้งหรือจัดตั้ง อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามไว้ก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่เข้าใจร่วมกัน เราขยับอันอื่นก็ลำบาก

ส่วนที่สองคิดว่า เวลาที่เราต่อสู้กับโครงสร้างใหญ่ๆ อยากจะให้ลงไปทำแบบที่พี่แยมทำ เพราะว่าตอนที่ตัวเองลงไปทำงานกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไปทำงานก๊ะแยนะ ไปถือศีลอดกับแก ไปกินไปนอนอยู่ที่บ้านเขา เราถึงเข้าใจว่าหัวอกของภรรยาที่สูญเสียสามี หัวอกของแม่ที่สูญเสียลูก แล้วยังมีคดีความอีก ยังถูกตีตราจากสังคมอีกว่าเป็นเมียโจร คือมันเจ็บปวดมันขนาดไหน

เราต้องลงไปทำงานกับคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ เพื่อให้ได้ยินเสียงว่า ความเจ็บความปวดเขาเป็นแบบไหน เราต้องเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจะทำไม่ได้เลย ถ้าเรายังอยู่ในวัฒนธรรมแบบฟังแต่เสียงคนเสียงดังๆ แต่ไม่เคยฟังเสียงคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่เคยลงไปนั่งตั้งใจใส่ใจฟัง เราจะไม่มีวันเข้าใจเลย เราจะไม่มีวันได้ความจริงจากคนที่เขาตกเป็นเหยื่อของระบบและโครงสร้างสังคมแบบนี้เลย

สิ่งแรกอย่างที่บอก คือ ต้องรื้อระบบแล้วต้องทำความเข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบฉาบฉวยหรือว่าอ้างแต่ว่าได้เสียงมา ได้อะไรมาอย่างนี้ หรือแม้กระทั่งจริงๆ ฟังสภาอย่างนี้ก็รู้สึกว่าอยากจับกลับมานั่งเรียนใหม่ แสดงว่าไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตย

เราต้องทำงานเรื่องวัฒนธรรมสันติภาพ อาจารย์โคทม อารียานั่งอยู่ตรงนี้ อาจารย์ใช้เวลาตลอดชีวิตของอาจารย์ทำงานเรื่องวัฒนธรรมสันติภาพ เท่านั้นยังไม่พอ อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่เข้าใจ มาตาธิปไตย แต่เราต้องการแนวร่วมมากกว่านี้ เราต้องการคุณผู้ชายหรือคนที่อยู่ในอำนาจอ ยู่ในตำแหน่งที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน เปลี่ยนแปลงตัวกฎหมาย แม้กระทั่งผู้พิพากษาศาล ผู้มีอำนาจกองทัพ

พวกคุณเหล่านี้ ถ้าคุณมีใจ คุณมีความเข้าอกเข้าใจ แล้วคุณเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณคือ Change Agent คนสำคัญทีเดียว เราต้องการคนที่มาช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลง อย่างที่ทนายแจมบอกว่า ไปช่วยลูกความก็เหมือนจะช่วยลูกตัวเองในอนาคต ท่านจะรู้ได้อย่างไร ในวันที่ท่านหมดตำแหน่งอำนาจ ลูกหลานของท่านจะไม่ได้มาเป็นลูกความของทนายแจม

ตราบใดที่สังคมยังมีความอยุติธรรมเต็มไปหมด ยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงเต็มไปหมด วัฒนธรรมความเห็นอกเห็นใจ วัฒนธรรมสันติภาพ วัฒนธรรมของความเป็นธรรมในทางสังคมมันยังไม่กลับมา เราก็จะเป็นสังคมที่ผลิตผู้กดขี่และก็ผลิตเหยื่อวนไปเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นไม่สุด เพราะฉะนั้นมันต้องเปลี่ยนในเชิงทั้งโครงสร้างและวัฒนธรรม

อยากจะเล่าให้เป็นตัวอย่างว่าทำไมตอนแรกถึงได้พูดถึงว่า ถ้าท่านอาจารย์ปรีดีไม่ได้พูดถึงเรื่องของสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือพูดถึงเรื่องของความเป็นธรรมในทางสังคม แล้วเราไม่ได้เอาแนวคิดอันนี้มาขบคิดกันอย่างจริงจัง เหมือนอย่างที่ตอนนี้เราก็เริ่มมีการคิดมีการถกเถียงกันมากขึ้นในเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่คนที่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการโดนบอกว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์อยู่ นั่นแสดงว่าเราไม่ได้เข้าใจ

ปีที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศที่เขาเป็นรัฐสวัสดิการจริงๆ คือประเทศฟินแลนด์ และประเทศนอร์เวย์ และประเทศสวีเดน เรารู้ว่ามีผู้หญิงไทยแต่งงานไปอยู่ในประเทศรัฐสวัสดิการเยอะมาก เป้าหมายของเราคือต้องการแลกเปลี่ยนกับผู้หญิงไทย เราอยากจะถามเขาว่า เวลาที่คุณไปอยู่ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ ไปอยู่ในประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย ไปอยู่ในประเทศที่รัฐบาลหรือสังคม เขาเห็นหัวคนทุกคนเท่ากัน เขาไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร คุณมีคุณภาพชีวิตแบบไห

เราได้ไปเดินคุยกับผู้คนเกือบ 10 คน เราทำหน้าที่เหมือนนักมนุษยวิทยา ไปตามหาแล้วคุย คนแรกที่เราเจอจบแค่ ป.6 จากประเทศไทย เป็นผู้หญิงทางอีสาน แต่งงานไปอยู่ที่ฟินแลนด์ 29 ปี เธอบอกเลยว่าต้องขอบคุณรัฐบาลที่เห็นคุณค่าของเธอตั้งแต่วันแรกที่มาเหยียบแผ่นดินฟินแลนด์ จบ ป.6 ภาษาก็ไม่ได้อะไร ไม่รู้เลยสักอย่าง สิ่งที่รัฐบาลฟินแลนด์ทำคือให้เรียนภาษาฟรีเพื่อให้สื่อสารได้ เพราะเธอจะต้องไปจับจ่ายซื้อของเอง

นั่นคือศักยภาพของมนุษย์  ศักยภาพของเราที่จะ survive ที่จะเอาชีวิตรอดได้ เราก็ต้องรู้ว่าเราจะไปซื้อข้าวกินตรงไหน จะขึ้นรถเมล์อย่างไร เวลาเขาจะขึ้นรถเมล์ก็ต้องใช้ภาษาอะไร เพราะฉะนั้นให้เรียนฟรีไปที่โรงเรียน ไปโรงเรียนจ่ายตังค์ไหม? ที่ฟินแลนด์บอกว่าเธอต้องไปเรียนฟรี และขึ้นรถไปฟรีจนกว่าจะสอบวัดระดับที่สามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ เขาก็จะเริ่มถามว่าอยากทำงานหรือยัง ระหว่างนั้นเธอตั้งท้องกับสามีที่เป็นคนฟินเแลน์ เขาก็จัดการให้เลยว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะต้องไปอบรมการเป็นแม่ว่าจะต้องเลี้ยงดูลูกอย่างไร

เขาเล่าให้ฟังว่าเขาก็ต้องไปอบรมก่อนว่าจะเป็นแม่คนอย่างไร เธอต้องเลี้ยงดูลูกของเธอซึ่งเป็นพลเมืองฟินแลนด์อย่างไร เพราะลูกของเธอเป็นลูกของประเทศฟินแลนด์ด้วย นี่คือระบบของรัฐบาลที่เขาใช้วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย ที่เคารพสิทธิมนุษยชน เห็นคนทุกคนเท่ากัน เห็นคุณค่าของพลเมืองเท่ากัน และใช้วัฒนธรรมแบบสันติธรรม เพราะเขาบอกว่าถ้าเธอเลี้ยงลูกไม่ดี ลูกของเธออาจจะเป็นพลเมืองที่ไม่มีคุณภาพ และประเทศของเราก็จะด้อยพัฒนา

เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เธอเป็นแม่ที่ดีเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกของคนฟินแลนด์ไม่ใช่ลูกของเธอคนเดียว ลูกของคนฟินแลนด์ให้มีคุณภาพพอที่อนาคตไปพัฒนาประเทศของฟินแลนด์ให้เจริญก้าวหน้า คนที่หนึ่งผ่านไปเดินไปแล้วเราไปถามแบบนี้ คนที่ฟินแลนด์ตอบเหมือนกัน ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี

ตอนนี้คนฟินแลนด์เริ่มไม่ค่อยมีความสุข เขาเริ่มกังวลว่าฉันจะรักษาความเป็นที่ 1 ได้ยังไง ถ้าสมมุติว่าคุณภาพของคนฟินแลนด์ด้อยค่าลงและถ้ารัฐบาลของเราไม่ได้เป็นรัฐบาลที่ส่งเสริมหรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาระบบให้มันอยู่ เพราะมีความท้าทายเข้ามาก็คือพอมีสงครามรัสเซียบุกยูเครน ฟินแลนด์อยู่ใกล้ เขาก็เริ่มกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ที่อยากจะชวนให้เราเห็นว่า ทำไมเราต้องกลับไปที่การทำความเข้าใจเรื่องระบบการเมืองการปกครองให้ชัดเจนและใช้วัฒนธรรมสันติวิธี ใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐานในการพัฒนาให้เห็นคุณค่าของคนทุกคนมาเป็นองค์ประกอบของชาติ

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=UuTa8SIzB7Q&t=2599s

 

ที่มา : PRIDI Talks #24: 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” เนื่องในวาระ 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี.