Focus
- การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม (Fieldwork) ถือเป็นหัวใจสำคัญของงานศึกษาวิจัยมานุษยวิทยา (Anthropology) เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวัน วิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการเข้าไปสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม หรือฝังตัวอยู่ในชุมชนแต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ในสนามที่มีความขัดแย้งรุนแรงถึงตาย (deadly conflict) วิธีการแบบเดิม ๆ ในการเก็บข้อมูลภาคสนามอาจมีข้อจำกัดหลายประการ
- บทความนี้นำเสนอประสบการณ์และชีวิตแห่งการต่อรอง (negotiated life) ของนักวิจัยในระหว่างการทำงานภาคสนาม โดยเฉพาะสนามที่อันตราย (dangerous fieldwork) ต้องเสี่ยงภัยร้ายแรงชนิดที่ถึงตาย (deadly violence) เช่น ในชายแดนใต้ของไทยหลัง พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับ ผู้สนใจทำงานภาคสนามในพื้นที่เสี่ยงอันตรายได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
โหมโรง
ความรุนแรงในชายแดนใต้ที่อุบัติขึ้นครั้งใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ดึงความสนใจนักวิจัยจำนวนมากทั้งมืออาชีพและมือใหม่หัดวิจัยให้เข้าไปข้องเกี่ยวในหลายมิติ ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้มาตั้งแต่จำความได้ อาจจะด้วยการที่ผู้เขียนได้ติดตามพ่อไปอยู่ในจังหวัดภาคใต้ในช่วงที่รัฐไทยกำลังสู้ภัยคอมมิวนิสต์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การต่อสู้ที่ถูกป้ายสีตีตราด้วยสีชมพูและสีแดงคล้าย ๆ กับปรากฏการณ์แต้มสีแดงในชายแดนใต้นับแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา หากแต่การอยู่ร่วมสมัยกับความรุนแรงระลอกใหม่นี้พิเศษกว่าตรงที่ไฟความรุนแรงลุกโชนร้อนแรงและแผดเผาเอาชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากกว่าที่เคย
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสงสัยว่าในครั้งนี้จำนวนคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนได้รวบรวมนำเสนอเป็นระยะ ๆ และมีการจัดแบ่งกลุ่มเหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งที่เจ็บและตายด้วยเกณฑ์การจำแนกที่น่าสนใจ กล่าวคือ มีการแยก “ศาสนา” ของเหยื่ออย่างชัดเจนว่า เป็นพุทธ เป็นมุสลิม หากแต่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าในบรรดาเหยื่อที่เจ็บและตายนั้น นอกจากชาวพุทธและชาวมุสลิมแล้ว ยังมีคนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือไม่ และหากยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ อยู่ในพื้นที่ คําถามต่อมาคือ “คนอื่น ๆ” ที่มิใช่พุทธ หรือมุสลิม เหล่านั้นตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึงตาย หรือแค่บาดเจ็บบ้างหรือไม่ แล้วพวกเขาอยู่อย่างไรในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนั้น
ความสงสัยใคร่รู้ถึงการดำรงอยู่ของผู้คนต่างวัฒนธรรมในสังคมชายแดนใต้ที่ถูกสื่อสารออกสู่สังคมโลกด้วยภาพที่ฉายให้เห็นแต่ความรุนแรงถึงตาย เร่งเร้าให้ผู้เขียนอยากเข้าไปสืบเสาะค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบระเบียบว่าในสังคมชายแดนใต้ท่ามกลางความรุนแรงถึงตายดังกล่าว ผู้คนต่างศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม มีชีวิตอยู่อย่างไรกัน เพราะภาพที่ส่งออกมาชี้แต่เพียงแนวโน้มว่าผู้คนที่ต่างกันเหล่านั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี ความต้องการเข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่อย่างแรงกล้าและตระหนักดีว่าหากจะค้นหาความจริงจากหลักฐานชั้นสองที่เป็นเอกสารหรือข้อมูลที่สื่อมวลชนส่งออกมาคงจะไม่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าใกล้ความจริงเรื่องชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่นได้วิธีการที่จะสืบค้นหาเพื่อเข้าใกล้ความจริงมากที่สุดจึงน่าจะเป็นการทำงานในสนามแบบนักมานุษยวิทยา ทั้งนี้ ด้วยสาระหลักของมานุษยวิทยาคือ วิชาว่าด้วยการศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจมนุษย์[1]
ภาคสนามในสถานการณ์ปกติ
วิธีการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา โดยเฉพาะ “ชาติพันธุ์วิทยา” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม ยศ สันตสมบัติ[2] อธิบายไว้ว่า พื้นฐานสำคัญของสาขาวิชานี้อยู่ที่การทำวิจัยภาคสนาม (field research) อันเป็นการศึกษาสังคมวัฒนธรรมด้วยการเข้าไปสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (participant observation) กล่าวคือ เข้าไปกินไปนอน ไปอยู่ร่วม ไปหัดพูดภาษาของชาวบ้านให้ได้ไปร่วมงานฉลองและพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดสัมภาษณ์และซักถามในประเด็นต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตและความเป็นอยู่ระบบการทำมาหากิน ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และทำการจดบันทึกการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อที่จะได้นำไปเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ และเขียนรายงานในเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) ต่อไป นั่นคือวิธีการทำงานภาคสนามในสถานการณ์ทั่ว ๆ ไปแต่อาจจะไม่สามารถใช้ได้อย่างครบถ้วนตามขนบดังกล่าวในพื้นที่ซึ่งมีความรุนแรงถึงตาย
ก้าวย่างเข้าสนามความรุนแรงถึงตายชายแดนใต้

ฉากชีวิต ณ ชายแดนใต้
ที่มา : เพจที่นี่ชายแดนใต้
“ไม่กลัวเหรอ? อยู่ยันกรุงเทพฯ ยังมาถึงที่นี่อีก ไม่มีใครเขามากันแล้ว”
“เปลี่ยนเรื่องทำได้มั้ย หรือไม่ก็ไปทำที่อื่น เก็บข้อมูลที่อื่น เหนือ อีสาน อะไรโน่น จะมาเสี่ยงทำไมที่นี่? ลูกของพี่ยังไม่อยากให้เขากลับมาอยู่นราฯ เลย”
“ทำไมต้องมาทำที่สามจังหวัดนี่ด้วย?”
“น้องกลับไปสอนหนังสือที่กรุงเทพฯ เหมือนเดิมเถอะ อย่ามาอีกเลยมันอันตราย ไม่กลัวหรือไง?”
“ไม่เข้าใจ ทำไมพี่เห็นเขาโฆษณาว่าเรียนปริญญาเอกสองปี สามปีจบ ฟังดูแล้วท่าทางมันไม่เห็นต้องมาทำอะไรยาก ๆ เหมือนเรา (ผู้วิจัย) ทำเลย แล้วนี่ทำไมต้องมาทำอะไรเสี่ยง ๆ อย่างนี้ล่ะ น่ากลัวก็น่ากลัวนะ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
“เฮ้ย เธอจะมาทำไมอีก สถานการณ์ตอนนี้มันน่ากลัวมากขึ้นอีกแล้วนะ ช่วงนี้มันชักก่อเหตุในเมืองมากขึ้น บ่อยขึ้นนะ ชั้นเองยังเสียว ๆ สันหลังเลยอยู่ที่นี่น่ะ ขนาดว่าคุ้นเคยและรู้ช่องทางหนีทีไล่พอสมควรแล้วนะ”
สารพัดคำถาม คำทัดทาน กระทั่งคำขู่กลาย ๆ ทั้งจากเพื่อนพ่อแม่พี่น้องคนรอบข้าง รวมถึงผู้ให้ข้อมูลในสนามวิจัยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันแรกที่บอกกับใคร ๆ ว่าจะทำวิจัยเรื่องคาทอลิกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ข่าวคราวทางหน้าสื่อมวลชน (mass media) ทั้งไทยและเทศโหมกระพือสื่อสารภาพความรุนแรงให้แพร่สะพัด เขย่าขวัญผู้คนที่รับรู้สถานการณ์ความรุนแรงผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจจนกลายเป็นความหวาดกลัวจับขั้วหัวใจใครหลายคน
ดังต้องมนต์เสน่ห์ของการทำงานภาคสนามตั้งแต่เมื่อคราวยังคงสถานะเป็นนักเรียนปริญญาเอกสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การได้มีโอกาสก้าวเข้าไปศึกษาในอาณาบริเวณของห้องเรียนมานุษยวิทยา แม้จะช่วงสั้น ๆ แต่ก็ทำให้ตระหนักว่า การเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ด้วยนักมานุษยวิทยานั้นนอกจากจะเป็นผู้ตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบจากเอกสารหลักฐานอื่น ๆ แล้ว
กล่าวได้ว่า ผู้ให้ข้อมูลในสนาม คือ กุญแจไขไปสู่ความรู้ความจริงที่เป็นคำตอบของคำถามทว่ามิใช่เพียงนักมานุษยวิทยาที่ทำงานภาคสนามจะเป็นฝ่ายตั้งคำถามแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ บ่อยครั้งทีเดียวที่นักมานุษยวิทยาก็ถูกกลุ้มรุมด้วยคำถามจากสนามทั้งที่เป็นคำถามในเชิงญาณวิทยา วิธีวิทยา และรวมไปถึงคำถามที่จะถูกรุกกลับเป็นอันดับต้น ๆ เสียด้วยซ้ำจากกลุ่มผู้ที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญ (key informants)
ท่ามกลาง “ความกลัว” ของใคร ๆ ก็ตามที่ได้ยินเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นนั้นมันมี “การเมืองของความกลัว” (politics of fear) พรางกายอยู่ด้วยหรือไม่? อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัดของบทความนี้ที่มีจุดเน้นไม่ได้มุ่งเน้นเกี่ยวกับเรื่อง “รัฐ” และการปกครองแบบโครงสร้างอำนาจรัฐที่อาจจะผูกขาดสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นได้ แต่งานนี้มีเป้าหมายที่จะแบ่งปันประสบการณ์การเก็บข้อมูลภาคสนามและคลี่คลาย “ความกลัว” ไปด้วยในตัว
จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เมื่อจะเดินทางไปอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อต้น พ.ศ. 2552 แค่เอ่ยชื่อจังหวัดนราธิวาสเพื่อถามหาตั๋วเครื่องบินเท่านั้น พนักงานขายตั๋วก็ทำท่าทางตกใจกลัวขึ้นมาทันทีและย้อนถามผู้เขียนเพื่อความแน่ใจว่า “จะไปนราธิวาสจริง ๆ หรือ?”
ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาจากการเก็บข้อมูลรอบดังกล่าว ผู้เขียนอาศัยรถแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิให้มาส่งที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ถามผู้เขียนว่าเดินทางมาจากไหน พอตอบคำถามไปว่า มาจากนราธิวาส เขาก็แสดงท่าทางตกใจ จ้องมองผู้เขียนทางกระจกพร้อม ๆ กับ บอกว่า “น่ากลัว” และตั้งคำถามกับผู้เขียนต่อไปว่า “ไปทำไม เป็นคนนราธิวาสหรือเปล่า?” น่าสนใจว่าแค่เพียงเอ่ยชื่อจังหวัดก็สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในใจของผู้ฟังเสียแล้ว
หากสนามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยความน่ากลัวด้วยอันตรายหลายรูปแบบ ทั้งอันตรายจากความรุนแรงถึงตายที่มาจากการใช้อาวุธที่มีอานุภาพในการสังหารแล้ว ยังมีอันตรายจากอคติความลำเอียง ความไม่เข้าใจไม่ไว้ใจกันอยู่มากในพื้นที่ การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามแบบนักมานุษยวิทยาที่ใช้วิธีการแบบชาติพันธุ์วรรณาจะทำได้อย่างไร บทความนี้ต้องการนำเสนอให้เห็นแนวทางในการทำงานภาคสนามท่ามกลางอันตรายหลากรูปแบบ รวมทั้งข้อจำกัดและข้อพึงระวังต่าง ๆ
สํารวจบทเรียนจากสนามอันตราย
การทำงานภาคสนามในท่ามกลางความรุนแรงถึงตายชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษด้วยอาจเกิดความรุนแรงได้ง่าย[3] ทั้งนี้ นับแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นหมื่นครั้งจำนวนเหยื่อที่ถึงแก่ความตายมีทั้งเด็ก สตรี คนชรา พระภิกษุสงฆ์ อิหม่าม และคนอื่น ๆ สนามวิจัยที่เต็มไปด้วยอันตรายจากความรุนแรงที่อาจจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ทุกเมื่อ การจะใช้วิธีการทำงานภาคสนามแบบนักมานุษยวิทยาในขนบเดิม ๆ ที่เคยใช้ในสถานการณ์ปกติอาจจะมีปัญหาหรือข้อจำกัด และไม่เพียงเท่านั้น ความท้าทายทางอคติของผู้เขียนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าไปสนามชายแดนใต้ การจะทำงานบนฐานอคติและประสบการณ์ส่วนตัวอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการจะกล่าวอ้างว่าเป็นการทำงานทางวิชาการที่มีความเชื่อถือได้ ดังนั้น การทบทวนประสบการณ์และบทเรียนของผู้อื่นผ่านการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับนักวิจัยที่ต้องการเข้าถึงความจริงอย่างเป็นระบบระเบียบ

Fieldwork Under Fire Contemporary Studies of Violence and Culture by Carolyn Nordstrom , Antonius C. G. M. Robben.
ในงานเขียนชิ้นสำคัญชื่อ Fieldwork under Fire บรรณาธิการโดย Carolyn Nordstrom (ค.ศ. 1995) รวบรวมประสบการณ์ตรงของนักวิจัยที่ทำงาน ภาคสนามที่เต็มไปด้วยอันตรายถึงตายหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดี งานเหล่านั้นมีประโยชน์ในการทำงานภาคสนามท่ามกลางความรุนแรงในชายแดนใต้ เพราะชี้ให้เห็นข้อจำกัดในการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังร้อนระอุด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน อาจเทียบเคียงได้กับการทำงานภาคสนามที่อันตราย (Dangerous field) มีความไม่ปลอดภัยสูง เช่น ในสถานการณ์สงคราม สนามที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 งานวิจัยทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น สนามที่มีความรุนแรงกำกับ สนามการประท้วงต่อต้านในที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสนามที่มีอันตราย วิธีการต่อรองของชีวิตจึงราวกับจะเริ่มต้นกับตัวผู้ศึกษาก่อนใคร เพราะในสนามเช่นนั้น การต่อรองด้วยวิธีการ “ปรับ” หรือ “เปลี่ยน” วิธีการทำงานภาคสนามเกิดขึ้นได้เกือบตลอดเวลา เพื่อจะเอาชีวิตรอดกลับมาให้ได้ พร้อม ๆ กับต้องได้ข้อมูลภาคสนามติดมือกลับมาด้วย[4]
ขณะที่ประสบการณ์การทำงานภาคสนามของ Anna Simons[5] ที่เมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย ในภาวะอนาธิปไตยที่เต็มไปด้วยข่าวลือจนไม่รู้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “ข่าวลือ” ทำงานไม่เคยหยุดหย่อน ไม่เพียงเท่านั้น การทำงานในพื้นที่สงครามภายในโครเอเชีย ความกลัวได้แบ่งแยกผู้คนในสังคมออกจากกันด้วย “ความระแวงสงสัย” และ “ความหวาดวิตก” ไม่เฉพาะต่อคนแปลกหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงคนร่วมสังคมเดียวกันด้วย
ด้วยสิ่งที่ผู้ศึกษาประสบดูคล้ายกับประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยาหลายคน เช่น ประสบการณ์การเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่งของ Frank N. Pieke[6] ที่จริงการต่อรองเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่ทันได้เก็บข้อมูล กล่าวคือ การขออนุญาตเข้าประเทศจีนเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับทำงานวิจัยไปจนถึงความยากลำบากในการเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่เป้าหมายอันเนื่องมาจากเขาเก็บข้อมูลตรงกับช่วงเวลาที่เกิดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ของบรรดานักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในห้วงเวลาที่จีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เสรีภาพไม่ว่าจะของพลเมืองหรือผู้วิจัยล้วนถูกจำกัด การต่อรองกับระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือและการเชื่อฟังคำแนะนำจากเจ้าบ้านในการปฏิบัติตนเพื่อมิให้ละเมิดต่อกฎระเบียบของทางการอันอาจจะเป็นเหตุให้การให้อนุญาตเก็บข้อมูล เพื่อทำงานวิจัยต้องถูกยกเลิก[7]
ดังนั้น การได้เจ้าภาพหรือผู้ช่วยวิจัยที่เป็น “คนใน” หรือคนที่มีอำนาจในการต่อรองกับทางการได้ย่อมมีส่วนช่วยลดอุปสรรคในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมาก เพราะเขาย่อมรู้ว่าพื้นที่หรือช่วงเวลาใด หรือใครและอย่างไรที่ควรจะติดต่อด้วย และเช่นเดียวกับการทำงานภาคสนามในยามที่พื้นที่ของสามจังหวัดภาคใต้ตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด ทำให้การเดินทางเข้าออกแต่ละพื้นที่ต้องเผชิญกับการตรวจสอบในฐานะคนแปลกหน้า ดังนั้น การมีชื่อและที่อยู่ของคนในพื้นที่ไว้ให้อ้างอึงเวลาต้องผ่านแต่ละด่านตรวจในช่วงแรก ๆ เป็นข้อพิสูจน์ได้ในเรื่องนี้
การเข้าสู่สนามทั้งวิธีการเดินทางและวิธีการเข้าถึงตัวผู้ให้ข้อมูลหลัก โดยเฉพาะเมื่อยามที่ความรุนแรงได้ฉีกกระชากความไว้วางใจระหว่างผู้คนในพื้นที่ไปเสียเกือบหมดสิ้น[8] การเข้าไปกับใครจึงมีความหมายมาก เพราะ “คนแปลกหน้า” จะถูกจับจ้องมองตามด้วยความหวาดระแวง[9] ไม่เพียงจากผู้คนในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเท่านั้น แต่ในระหว่างทางก่อนถึงหมู่บ้านจำต้องผ่านด่านตรวจมากมาย บางด่านสงสัยว่าทำไมคณะของผู้ศึกษาจึงเดินทางเข้ามาในพื้นที่ทั้ง ๆ ที่นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ผู้คนจากต่างถิ่นน้อยนักที่จะอยากเดินทางเข้ามา ชาวบ้านคาทอลิกแนะนำให้ตอบคำถามเจ้าหน้าที่ว่า “มาเยี่ยมญาติ” และต้องระบุที่ตั้งของบ้านญาติปลายทางให้ถูกต้องด้วย[10]
ในการเดินทางเข้าพื้นที่ครั้งแรกร่วมกับนักบวชหญิง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 เมื่อผ่านด่านตรวจด่านหนึ่งและมีคำถามจากเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจว่ากำลังจะเดินทางไปไหน นักบวชหญิงซึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับชิงตอบคำถามว่า “ไปเยี่ยมญาติที่สุคีริน” เจ้าหน้าที่ไม่ติดใจถามต่อและปล่อยให้รถของเราผ่านไปได้
แต่ก่อนจะเข้าหมู่บ้านปลายทางผู้ศึกษาสังเกตว่ามีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับตามมาห่าง ๆ เป็นระยะทางพอสมควร เมื่อรถของเราหยุดที่แปลงเกษตร รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวก็เลี้ยวตามมาจอดอยู่ห่าง ๆ คนขับเป็นชายวัยกลางคนสวมหมวกกันน็อก เมื่อรถของเราเลี้ยวไปดูฟาร์มเลี้ยงแพะ รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวก็ขับตามมาด้วย คราวนี้เขาลงจากรถและเดินเข้ามาใกล้มากขึ้น จนได้เห็นว่าที่เอวของเขาเหน็บมีดสปาร์ต้าเล่มยาวทีเดียว แต่พอเขาเห็นคนนำทางของเราจึงร้องตะโกนมาว่า “โธ่! นึกว่าคนแปลกหน้าที่ไหน ที่แท้หัวหน้านี่เอง” แล้วเขาก็ชวนคุยว่า “รู้หรือไม่ว่าเขาขับรถตามมาตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาในเขตหมู่บ้านเสียอีกเพราะเห็นทะเบียนแปลก ๆ และคนในรถก็แปลกหน้าด้วย เลยต้องตามมาดู เดี๋ยวนี้ไว้ใจใครไม่ค่อยได้ต้องช่วยกันสอดส่อง[11]

มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี
ต่อมาในการเดินทางเข้าพื้นที่นี้อีกเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะของเราเดินทางด้วยรถยนต์ที่มีเครื่องหมายและป้ายชื่อพ่นติดข้างรถว่า “มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี” มีนักบวชหญิงคนเดิมนั่งด้านหน้าคู่กับคนขับ แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่แต่ละด่านเพียงแต่โบกให้คนขับชะลอความเร็วเมื่อจะผ่านด่านบางด่านเจ้าหน้าที่ก้มมองเพียงเล็กน้อย บางด่านเจ้าหน้าที่ก็ยิ้มให้แต่ไม่มีคำถามจากด่านใดเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าที่จะเข้าเขตสามจังหวัดชายแดน พวกเราต่างก็คิดกันว่าคราวนี้คงจะต้องถูกตรวจค้นรถแน่ ๆ เพราะบรรทุกข้าวของเสียจนน่าสงสัยภายในกระบะด้านหลังส่วนที่ต่อหลังคาและมีกระจกใสพอที่จะมองเห็นด้านในได้ชัด
ประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยาดังกล่าวข้างต้นมีส่วนช่วยให้ผู้ศึกษาประยุกต์วิธีการเก็บข้อมูลในภาคสนามท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความรุนแรงได้ไม่น้อย เช่น วิธีการเข้าหาผู้ให้ข้อมูลที่ตกอยู่ในความหวาดกลัวจากงานของ Green ช่วยให้ผู้วิจัยได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์จากผู้ให้ข้อมูลบางคนที่มีประสบการณ์ได้รับความรุนแรงและยังมีอาการหวาดกลัวอยู่มากจนไม่อยากจะพูดถึงอีก[12] กรณีนี้ ผู้ศึกษาประยุกต์ใช้เมื่อต้องเก็บข้อมูลจากชาวคาทอลิกที่เคยมีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ถูกกราดยิงและถูกลอบวางระเบิดในอำเภอรือเสาะ ประสบการณ์ตรงที่เธอได้รับทำให้เธอ หวาดกลัวและไม่อยากจะพูดถึงเหตุการณ์นั้นอีก
การเข้าไปทำความรู้จักกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในพื้นที่ก็น่าสนใจ เพราะในช่วงแรก ๆ ของการแนะนำตัวและเริ่มสำรวจข้อมูลเบื้องต้น กลายเป็นว่าแทนที่ผู้ศึกษาจะเป็นคนที่ทำหน้าที่ศึกษาพวกเขา ตนเองกลับตกเป็นวัตถุที่ถูกศึกษาของคนในพื้นที่ ด้วยพวกเขาตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามต่าง ๆ นานากับผู้ศึกษาข้อจำกัดเรื่องการเดินทางในสถานการณ์ที่ไม่มีใครสามารถจะให้ความมั่นใจได้ว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่ ทำให้การนัดพบกับผู้ให้ข้อมูลหลักต้องอาศัยผู้นำทางซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย บางครั้งผู้ศึกษานัดกับผู้นำทางเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาออกเดินทางจริง ๆ สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจก็ทำให้ถูกเลื่อนนัดหลายครั้ง
ดังนั้น ก่อนที่ผู้ศึกษาจะค้นหาว่าชาวคาทอลิกอยู่อย่างไร ใช้วิธีการใดในการต่อรองบ้างเพื่อจะดำรงให้ได้ในสังคมการเมืองที่ถูก ผลพวงจากความรุนแรงกระแทกใส่ ผู้ศึกษาเองก็ต้องเรียนรู้วิธีการต่อรองตั้งแต่การเข้าสนามแต่ละครั้ง รวมทั้งจะอยู่อย่างไรในสนามให้ได้เสียก่อน การปรับเปลี่ยนต่อรองจึงเกิดขึ้นตลอดเวลาที่เก็บข้อมูลในสนาม
ผู้ศึกษาสังเกตในการทำงานภาคสนามครั้งต่อ ๆ มาว่า หากสวมเสื้อ[13] ที่มีตราหรือสีที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเสื้อที่มีเครื่องหมายหรือตัวอักษรที่บ่งบอกว่าเป็นคาทอลิกในที่อื่น ที่มิใช่ชุมชนคาทอลิกจะได้รับการยอมรับจากชาวบ้านให้เข้ามาพูดคุยด้วยมากกว่าเมื่อสวมเสื้ออื่น ๆ เช่น ที่แปลงเกษตรของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่สุคิริน ที่ตลาดสะพานปลาปัตตานี หรือในเขตเทศบาลเมืองเบตง เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่พวกเขายังไม่คุ้นเคยกับผู้ศึกษามากนัก เสื้อจากสถาบันการศึกษาดูจะมีอำนาจสะกดผู้คนให้ยอมพูดคุยด้วยมากกว่าเสื้อสัญลักษณ์คาทอลิก โดยเฉพาะเมื่อเดินตามผู้ให้ข้อมูลที่มิใช่บาทหลวงหรือนักบวชหญิง
ต่อมาเมื่อคุ้นเคยกันพอสมควรแล้วเสื้อที่มีตราของสถาบันก็ไม่สำคัญมากนักเพราะพวกเขาจดจำได้แล้วว่าผู้ศึกษาเป็นใคร อยู่สังกัดใด ในขณะเดียวกันการสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษายังใช้ได้ดีกับการเดินไปในตลาดนอกพื้นที่ชุมชนคาทอลิกอีกด้วย เพราะผู้คนที่เห็นจะสนใจเข้ามาพูดคุยด้วยมากกว่าเมื่อสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของศาสนาคาทอลิก อาจเป็นเพราะน้อยคนนักที่จะรู้จักตราสัญลักษณ์ของคาทอลิก
อีกด้านหนึ่งเมื่อทำงานไปสักระยะชาวบ้านจะมาเฉลยว่าที่สะดุดกับสัญลักษณ์ทางศาสนาเพราะว่าในพื้นที่ชายแดนใต้มีความละเอียดอ่อนไหวด้านศาสนาอยู่มาก บางคนบอกว่าเมื่อเห็นสัญลักษณ์ศาสนาคริสต์ คาทอลิก ชวนให้คิดถึงสงครามครูเสดระหว่างศาสนาอิสลามกับคริสต์ขึ้นมา บางคนบอกว่า “กลัว” ว่าชาวคริสต์จะเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในที่นี้เหมือนที่เคยได้ยินมาว่าไปเผยแผ่ที่อื่น
จริยธรรมการวิจัยในคน

ตลาดปลาปัตตานี
ที่มา : เพจที่นี่ชายแดนใต้
การทำงานภาคสนามสำหรับนักวิจัยในสนามเสี่ยงภัยถึงตาย การยึดมั่นในหลักจริยธรรมการวิจัยในคนเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งชีวิต ยิ่งในสนามที่ความรุนแรงพร้อมจะไปเยือนได้ทุกเมื่อ ไม่เลือกสถานที่ เวลา เพศ วัย หรือสถานะทางสังคมใด ๆ เช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระลอกความรุนแรงปัจจุบัน ด้วยทั้งพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำศาสนา สตรี เด็ก หรือใครก็ตามต่างมีสิทธิถูกคุกคามชีวิตได้เสมอหน้ากัน และไม่มีใครบอกได้ว่า คำพูด ความคิดเห็นของผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนในสนามประเด็นใดจะเป็นชนวนจุดไปสู่คนถืออาวุธ ในขณะที่ขนบของการเก็บรวบรวมข้อมูลจำเป็นต้องมีการบันทึกข้อมูลจากสนามเพื่อนำกลับมาเป็นหลักฐานในการเขียนรายงานเพื่อการวิเคราะห์วิจัยด้วยแล้ว หลายคนมักจะพึ่งพาการใช้เทปบันทึกเสียง หรือกล้องบันทึกภาพของผู้ให้ข้อมูลเพราะเกรงว่าจะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้คนที่ไม่ได้เข้ามาในสนามวิจัยด้วยเชื่อถือในงานวิจัยของเรา
การขออนุญาตเป็นหลักการที่นักวิจัยส่วนใหญ่รับรู้รับทราบว่าต้องขออนุญาตผู้ให้ข้อมูลก่อนการบันทึก กระนั้น จากประสบการณ์ตรงในภาคสนามพบหลายครั้งว่านักวิจัยภาคสนามไม่ได้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมการวิจัยในคนดังกล่าว และได้ละเมิดสิทธิของผู้ให้ข้อมูลในหลายลักษณะ ที่พบบ่อยมากคือการแอบบันทึกเสียงโดยไม่บอกกล่าวเล่าแจ้งให้ผู้ให้ข้อมูลทราบ บางรายใช้เครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กซุกซ่อนในกระเป๋าขณะทำการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมหรือสัมภาษณ์แบบเจาะจง ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ มีการหลุดรั่วของข้อมูลไปสู่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง กรณีที่ยังไม่เกิดภัยอันตรายถึงตายแก่ผู้ให้ข้อมูลก็ดีไป แต่หากเกิดอันตรายขึ้นกับผู้ให้ข้อมูลเล่า ดังนั้น นักวิจัยภาคสนามต้องให้ความเอาใจใส่และเคร่งครัดให้มากกว่าในการทำงานภาคสนามในสถานการณ์ปกติทั่วไป
ความเคร่งครัดในจริยธรรมการวิจัยเป็นสิ่งสำคัญมาก ขณะเดียวกันก็เป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของนักวิจัย เพราะการขอบันทึกเสียงสนทนา แม้ว่าจะเข้าถึงกลุ่มผู้ให้ข้อมูลได้แล้วและมีความคุ้นเคยกันพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้ศึกษาขออนุญาตบันทึกเสียง ผู้ให้ข้อมูล หลายคนตั้งคำถามกลับว่าจะบันทึกไปทำไม จะเอาเสียงที่บันทึกและเรื่องราวของพวกเขาเล่าไปทำอะไร แม้ผู้ศึกษาจะแจ้งว่าเพื่อการศึกษาปริญญาเอกแต่หลายคนก็ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะผู้อาวุโสหลายคนไม่ให้บันทึกเพราะกลัวว่าจะไม่เป็นผลดีต่อความปลอดภัยของพวกเขาหากมีคนที่ไม่หวังดีมาได้ยินเรื่องราวที่เขาเล่า หลายคนไม่ยอมแม้แต่จะให้บันทึกภาพ แต่หลังจากที่ผู้ศึกษาเข้าออกพื้นที่และพบปะพวกเขาบ่อยขึ้น บางคนก็ยอมให้บันทึกภาพได้ แต่ไม่ยินดีให้บันทีกเสียงและชื่อของพวกเขาหรือเปิดเผยให้คนอื่นทราบ หลายคนย้ำว่า “ห้ามเอาชื่อไปลงในหนังสือ (ดุษฎีนิพนธ์) นะ”
แต่ก็ยังมีบางกลุ่มโดยเฉพาะชาวคาทอลิกปัตตานีที่แม้ผู้ศึกษาจะใช้เวลากว่า 6 เดือนอยู่ในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่สามารถจะพูดคุยกับพวกเขาได้ เพราะพวกเขา ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงจึงมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเรือหาปลากลางทะเล และเมื่อขึ้นฝั่งพวกเขาก็มักจะเก็บตัวเงียบอยู่กับครอบครัว บางคนยังมองผู้ศึกษาเป็นคนแปลกหน้าแม้ว่าจะรู้จากเพื่อนบ้านแล้วว่าผู้ศึกษาเป็นใคร
ปิดม่าน
ประสบการณ์ภาคสนามในการทำงานในสนามความรุนแรงในชายแดนใต้อาจมีประโยชน์สำหรับผู้สนใจทำงานในสนามที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนไหว และเป็นพื้นที่ที่อาจเกิดความรุนแรงได้ง่าย การทำงานเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงและเอาชีวิตรอดกลับมาได้พร้อมกับข้อมูลที่มีคุณค่ากลับมาเขียนรายงานโดยไม่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน การเก็บข้อมูลภาคสนามในสนามที่รุนแรงถึงตายถือว่ามีความจำเป็นมาก ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้ด้วย
เอกสารอ้างอิง :
- ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานี ในรอบกึ่งศตวรรษ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)
- พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, “คนกลุ่มน้อยนิด” และ “ชีวิตแห่งการต่อรอง”: กรณีศึกษาคาทอลิกในปัตตานี, (กรุงเทพฯ: ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)
- ยศ สันตสมบัติ, มนุษย์กับวัฒนธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
- Green, C. , and Robben, Living in a State of Fear, (In Nordstrom, 1995), Green, C. , and Robben, A. C.G.M., (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 105-128.
- Nordstrom, C. and Robben, A. C.G.M. (Eds.), Fieldwork under fire: Contemporary Studies of Violence and Survival, Berkeley, Los Angeles, (London: University of California Press, 1995)
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอขอบคุณวารสารสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อนุเคราะห์บทความฯ
- ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
[1] ยศ สันตสมบัติ, มนุษย์กับวัฒนธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 3.
[2] ยศ สันตสมบัติ, มนุษย์กับวัฒนธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 3-7.
[3] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานี ในรอบกึ่งศตวรรษ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), หน้า 8.
[4] C. and Robben, A. C.G.M. (Eds.), Fieldwork under fire: Contemporary Studies of Violence and Survival, Nordstrom, Berkeley, Los Angeles, (London: University of California Press, 1995), p. 209.
[5] Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 42-61.
[6] Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 62-81.
[7]Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 66-67.
[8] Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 105-128.
[9] Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 42-61.
[10] คนเลี้ยงแพะ, สัมภาษณ์, 23 มีนาคม 2552
[11] คนเลี้ยงแพะ, สัมภาษณ์, 23 มีนาคม 2552.
[12] Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 105-128.
[13] Green, C. , and Robben, A. C.G.M. , (Fieldwork Under Fire: Contemporary studies of Violence and Survival 1995), pp. 276-294.