ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ”

18
สิงหาคม
2567
 

 

 

สถาบันปรีดี พนมยงค์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ”  ขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ และมุมมองต่อปัญหาชายแดนใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนและถกประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และทางออกสู่สันติภาพ

 

 

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คุณอับดุลเราะมัน มอลอ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมผู้แทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คุณอายุบ เจ๊ะนะ รองประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและกรรมาธิการฯ สันติภาพ โดยมี คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Repoters ผู้ดำเนินรายการเสวนา

 

“สันติธรรมภายใต้ระบบพหุขั้วอำนาจโลก”

 

 

ในช่วงก่อนกิจกรรมการเสวนา รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำโดยกล่าวถึง ความสำคัญของวันสันติภาพไทยและกิจกรรมที่ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และสะท้อนถึงบทบาทของไทยในการสร้างสันติภาพภายใต้ระบบพหุขั้วอำนาจโลกที่ แม้ว่าความพยายามของการสร้างสันติภาพของโลกจะไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งจบสิ้นท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจโลก

 

 

ทางด้านประเทศไทยจึงต้องวางบทบาทให้เหมาะสม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งปัญหาทางการเมืองและสถานการณ์ชายแดนใต้ของไทยที่เกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นในไทยและโลกได้ จึงควรเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง รัฐ กับ ประชาชน จากแนวคิดแบบสั่งการ Top-down เป็น ความสัมพันธ์แบบปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วม และต้องสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยการสมานความขัดแย้ง เพื่อเป็น สันติธรรมประชาธิปไตย

   

“แนวคิดสันติธรรมกับการแก้ไขปัญหา”

 

 

ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ กล่าวว่า  ตลอดระยเวลา 20 ปี จากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ เงื่อนปมสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นคือการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองที่แตกต่างกันทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และวิธีการที่ดีสุดในการแก้ปัญหาคือการสร้างความเข้าใจและกรอบความคิดให้ตรงกันและการสร้างพื้นที่เชิงบวก

 

 

ทางด้านแนวคิดสันติธรรมของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แม้ว่าการกระทำผ่านการประกาศสันติภาพหรือการสร้างภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” สามารถนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะ เอกภาพ หลักในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง การสร้างความเป็นหนึ่งเดียว การเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย จะสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้

 

“บทบาทความมั่นคงกับการสร้างสันติภาพ”

 

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ 2 ทศวรรษ ของปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ กองทัพมีความคิดชุดเดียวกันกับความคิดเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ทหารมีบทบาทในพื้นที่มากกว่าตำรวจและพลเรือนและกฎหมายที่นำมาใช้ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

 

ทางออกที่ดีสุดในการแก้ปัญหาคือการพูดคุยสันติภาพ แต่การที่จะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดีต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม และการพูดคุยต้องยึดการพูดคุยสันติสุขเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ  “PHD” Peace Happiness Dialogue ความสงบ ความสุข สัมผัสได้จริง โดยการพูดคุยสันติสุข

 

“ทางออกของปัญหาคือการร่วมมือกัน”

 

 

คุณอับดุลเราะมัน มอลอ กล่าวถึง  ตลอดระยะเวลา 20 ปี เหตุการณ์ปัญหาชายแดนใต้ จากกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้น แบ่งออกเป็น 10 ปีแรกของปัญหา คือการแสวงสันติภาพเพื่อยับยั้งการก่อเหตุ แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ 10 ปี ไม่เห็นการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อเปรียบเทียบกับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศ

 

 

แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้จะต้องดำเนินการเปิดพื้นที่ทางออกทางการเมืองและการพูดคุยเพื่อแก้ไขในพื้นที่ โดยประชาชนต้องเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือ เพื่อกำหนดทางออกและกรอบการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพเชิงบวก

 

“การเมืองนำการทหาร”

 

 

คุณอายุบ เจ๊ะนะ กล่าวถึง ตลอดระยะเวลา 20 ปีปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้นำมาสู่การสูญเสียที่เกิดและส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง และการมองปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ตรงจุดและการแก้ปัญหาในระยะยาว

 

 

ทางออกของปัญหา คือ การเมืองนำการทหาร เพราะในพื้นที่ไม่ได้มีเฉพาะปัญหาความมั่นคง และการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นจะสามารถแก้ไขปัญหา แต่การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดและแก้ไขปัญหาตรงจุด จะต้องทำความเข้าใจและลดเงื่อนไขในการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งการดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s

 

ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16  สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์