ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก “เฉลียง Rare Item RESTAGE”

26
มกราคม
2567

Focus

  • วงดนตรีเฉลียงในตำนาน (แนว ป็อป แจ๊ส และสตริง) ได้กลับมามีชีวิตชีวา (อย่างครบทีม) อีกครั้งในปี 2566 ด้วยการแสดงคอนเสิร์ตอันเป็นที่ประทับใจยิ่งของผู้ชม คือ คอนเสิร์ต “เฉลียง Rare Item Concert” เมื่อ 26-27 สิงหาคม 2566 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน และคอนเสิร์ต “เฉลียง Rare Item RESTAGE” ระหว่างวันที่  9-11 ธันวาคม 2566 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล
  • เมื่อ 42 ปี ที่แล้ว ในปี 2525 วงดนตรีเฉลียงถูกก่อตั้งขึ้นโดยนักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันได้แก่ ประภาส ชลศรานนท์ (จิก) นิติพงษ์ ห่อนาค (ดี้) และ วัชระ ปานเอี่ยม (เจี๊ยบ) โดยประภาส ชลศรานนท์ (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2561 สาขาศิลปะการแสดง) เป็นพี่ใหญ่ในการก่อตั้งและสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นให้กับวงดนตรีอย่างต่อเนื่อง
  • ผลงานเพลงตัวอย่างที่มีชื่อเสียงของ “เฉลียง” ได้แก่ เพลง “ต้นชบากับคนตาบอด”  “เร่ขายฝัน” “นิทานหิ่งห้อย” “ยังมี” “พ่อกล่อมลูก” “จากกระดาษ … วาดไว้” “เรื่องราวบนแผ่นไม้” และล่าสุด คือ เพลง “ยังคงเอกเขนก” ล้วนสะท้อนออกมาด้วยภาษาที่สละสลวยเชิงบทกวี ปรัชญาในบทเพลง ความไม่สุดโต่ง เพลงสนุกที่มีลูกเล่นในเนื้อหา และสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก”

 

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

 

“คลาสสิคอย่าดูถูกแจ๊ส
แจ๊สอย่าดูแคลนป๊อป
ป๊อปอย่ารังเกียจลูกทุ่ง
ลูกทุ่งเองก็อย่ารังงอนหมอลำ
หมอลำก็อย่าคิดว่าคลาสสิคมันสูงส่ง”

ประภาส ชลศรานนท์

7 ปีที่รอคอย “ตัวโน้ตอารมณ์ดี” กับการกลับมาของวงดนตรีไทย ‘ขวัญใจเด็กแนว’ ยุค 80-90 (และยังคงความนิยมจนถึงปัจจุบัน) ของ “เฉลียง” การแสดงในครั้งนี้ต่อเนื่องจากคอนเสิร์ต “เฉลียง Rare Item Concert” เมื่อ 26-27 สิงหาคม 2566 ณ Royal Paragon Hall  สยามพารากอน ที่มีผลตอบรับจากแฟนเพลงสูงเกินคาด อาจเป็นเหตุให้เกิดคอนเสิร์ต “เฉลียง Rare Item RESTAGE” อีกครั้งใน 9 - 10 ธันวาคม 2566 (และ 11 ธันวาคม 2566 เป็นรอบพิเศษการกุศลของ ศิริราชมูลนิธิ (รายได้จากการจำหน่ายบัตรมอบให้กับ กองทุนกายอุปกรณ์เพื่อผู้พิการ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร) การแสดงทั้ง 3 รอบจัด ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ครั้งนี้เป็นวาระเต็มวงในทุกส่วนมากที่สุดสมกับเป็นรุ่นเก๋า รวมเหล่านักดนตรีเก่ง 35 ชิ้น ร่วมด้วยคอรัสรวมแล้วกว่า 40 ชีวิต ควบคุมโดย โดม ทิวทอง เป็นแบ็คอัพอลังการภายในมหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol Hall) ที่สมาชิกทุกคนในวงลงมติร่วมกันว่าเป็นอาคารที่มีระบบเสียงที่สมบูรณ์คุณภาพดีสุด เหมาะแก่การแสดงดนตรีตามที่ใฝ่ฝันร่วมกันมา จุ้ยหวานชมว่า “สถานที่ดี คนดูก็ดูดี เป็นที่ชอบใจในวาทะศิลป์เช่นเคยสมกับที่คิดถึงกัน”

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

นักร้องนักดนตรีกลุ่มนี้ ไม่รวมตัวกันบ่อยนัก ถนัดงานการกุศล ครั้งนี้ก็ขนกันมาเต็มวงสมาชิกครบ 6 คน คิดถึงแฟนเพลงมากเหมือนกัน : เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ , ฉัตรชัย ดุริยประณีต, นิติพงษ์ ห่อนาค, ภูษิต ไล้ทอง, วัชระ ปานเอี่ยม, ศุ บุญเลี้ยง และอีกคนที่แม้ไม่ปรากฏบนเวที แต่มีตัวตนของเขาเป็นเงาทาบแทบทุกบรรทัด ในโน้ตของทุกเพลงที่บรรเลงจากสมองสองมือของศิลปินปราชญ์ ประภาส ชลศรานนท์ (พี่จิก) พี่ชายที่แสนดีของทุกคน (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2561 สาขาศิลปะการแสดง)  ผู้ก่อตั้ง “เฉลียง” ทำทั้งโปรดิวส์และแต่งเพลงให้วง มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่เขาเคยขึ้นเวทีเพราะถูกร้องขอคราว ‘เฉลียงลา’ ในคอนเสิร์ต “เรื่องราวบนแผ่นไม้” ปี 2543 และ คอนเสิร์ตเพลงประภาส ปี 2551)

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เขาไม่ได้ปรากฏตัวแต่แฟนๆ ต่างรู้สึกเหมือนมีพี่จิกของน้อง ๆ  ร่วมร้องอยู่บนเวที โดยเฉพาะเมื่อมีสมาชิกร้องเพลงที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น อ่อนหวาน ส่งแรงสะท้าน สะท้อนใจในบางขณะ เมื่อจังหวะชีวิตมาถึงจุดที่ต้องมองย้อนกลับไปในวันวาร ราวกับมีพลังพิเศษส่งผ่านงานเพลงมาให้กำลังใจทุกคน ทุกครั้ง  นี่กระมังคืออีกเหตุผลที่เฉลียงยังอยู่ยง ไม่แผ่วลงตามวัฏอย่างที่ควรจะเป็นมากนัก เพราะความรักคือยาวิเศษ…

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

พี่จิกเรียนสถาปัตย์จึงตั้งชื่อวงว่า “เฉลียง” เพราะอยากสื่อถึงความเป็นบ้าน เฉลียงเป็นส่วนที่เชื่อมต่อข้างนอกกับข้างในบ้าน ที่พักของทั้งกายและจิตใจ ซึ่งเป็น ‘ตรงกลาง’ ที่อยู่ระหว่างข้างนอกกับข้างใน (จิตใจ) และประกอบกับชื่อ “เฉลียง” มีเสียงคล้ายกับเฉียง ๆ เอียง ๆ ไม่ค่อยตรง ประหนึ่งจะบอกว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เพราะแท้จริงแล้วความแหว่งวิ่น ขาด เกิน คือธรรมชาติเดิมแท้ของความเป็นมนุษย์ ดีที่สุดคือพยายามรักษาสมดุลชีวิต ด้วยการประคองจิตให้มั่นคงอยู่ตรง ‘สายกลาง’ ตามอย่างพุทธวจน เนื้อหาของเพลงจึงเป็นการอธิบายนามธรรมที่เข้าใจยาก ให้เห็นเป็นภาพที่สามารถเข้าใจได้ง่าย อธิบายด้วยภาพให้เห็นตาม  งามด้วยอารมณ์ขันแล้วถึงชวนขบคิด (หลักจิตวิทยาประทับใจก่อนแล้วจะจำง่าย) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่ ‘กลุ่มปัญญาชน’ สื่อมวลชนยุคนั้นพร้อมกันให้นิยามตามความจริงในปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยของเพลงไทยช่วง 80-90 ว่า

“เฉลียง” คือต้นฉบับบทเพลงของนักคิดนักเขียน ที่ยังคงความสดใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งเนื้อหาและดนตรีที่แทรกอยู่ในทุกช่วงเวลาของวงการเพลงไทยในใจของนักฟังเพลงคุณภาพ ทำให้พวกเขากลายเป็นตำนานครองใจนักฟังเพลงมายาวนานต่อเนื่องถึง 40 ปีเต็ม

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

บทเรียนแรกของ “เฉลียง” เริ่มในปี 2525 จากการรวมกลุ่มของ ‘หนุ่มถาปัด’ นำโดยผู้บุกเบิก 3 คน  ประภาส ชลศรานนท์, นิติพงษ์ ห่อนาค และ วัชระ ปานเอี่ยม (นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ทุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่ JSL ไป ทำ DEMO (เทปตัวอย่างงาน) ที่ไม่มีแม้กระทั่งชื่อชุดไปเสนอ พี่เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ ให้ช่วยอำนวยการผลิต (เป็นช่วงอยู่ระหว่างกำลังเตรียมงานก่อนการก่อเกิดของ Grammy Entertainment ในปี 2526) หน้าปกเทปถูกออกแบบให้มีรูปฝนกราฟิกออกแบบโดย พี่จิก เลยถูกเรียกว่าชุด ปรากฏการณ์ฝน” ตามชื่อเพลงหนึ่งในชุดนั้น เป็นเพลงที่นำเสนอมุมมองใหม่ ให้แง่คิดที่ทันสมัย ความ‘ล้ำยุค’ และ ‘มาก่อนกาล’ จึงนำมาซึ่งปรากฏการณ์ ‘ประสบความสำเร็จอย่างยับเยิน’ ด้วยยอดขายเพียง 3,000 ชุด ห่างไกลล้านตลับเมื่อเทียบกับรุ่นเดียวกันช่วงนั้น โครงการเร่ขายฝันมีอันพับหลับไปถึง 4 ปี แต่กลับเริ่มสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการเพลงไทยในยุคนั้น นั่นคือการมาถึงของแนวเพลงใหม่ ๆ เกิดนักร้องใหม่ ๆ และค่ายเพลงใหม่ ๆ ขึ้นมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อจากนั้นอีกคณานับ

 


Photo : www.chaliang.com

 

“เฉลียง” กลับมารวมกลุ่มกันอีกครั้งใน ปี 2529 เมื่อ ศุ บุญเลี้ยง (จุ้ย) ตั้งใจจะขอเพลงของพี่จิก “เที่ยวละไม” (ในดวงใจ) ไปรวมตลับสำหรับศิลปินเดี่ยว แต่พี่จิกเห็นจุ้ยแววดี ‘มีของ’ แต่ร้องคนเดียวท่าจะไม่รอด จึงรวบเข้ากลุ่มรวมกันกับน้องรัก เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ (เกี้ยง - ช่วงเรียนปี 4 สถาปัตย์) แล้วตั้งใจให้ชื่อวงดูโอ้ใหม่เอี่ยมว่า “ไปยาลใหญ่” มีนักเป่าแซกโซโฟนระดับเทพคือ พี่ต๋อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากร อัดจนเสร็จ 10 เพลง แต่…ยังไม่เป็นที่พอใจของพี่จิกนัก เพราะทำนองเพลงที่มีจังหวะสวิงกระจุ๋งกระจิ๋ง พี่จิกจึงบรรเจิดโจทย์ใหม่เพื่อให้เสียงร้องพ้องกับเพลง พลันเพิ่ม วัชระ ปานเอี่ยม (เจี๊ยบ ขณะกำลังแจ้งเกิดกับ “ซูโม่สำอาง”) เข้ามาเสริม แล้วเติมดนตรีให้เต็มด้วย ภูษิต ไล้ทอง (แต๋ง จากครุศาสตร์ สถาบันเดียวกัน) มาเป่าแซกโซโฟน เจี๊ยบชวนสมาชิกเฉลียงมาอีกคนคือ ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค ลากกันมาเพื่อรักษาน้ำใจเพื่อน (เพราะเคยเร่ขายฝันมาด้วยกันในยุคแรก) หลังการอัดเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดี้จึงได้ตำแหน่งหัวหน้าวงไปโดยปริยาย ชุดดูโอ้ “ไปยาลใหญ่” จึงถูกพับไป แล้วรื้อเพลงทำใหม่ในชื่อชุด อื่น ๆ อีกมากมาย

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “เที่ยวละไม” : 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 

ส่วนจุ้ยขิงว่าความจริงมีหลายระดับ (น่าจะหลายชุดมากกว่านะ) เขาน่ะเป็นคนกู้เงินไปเข้าห้องอัดเทปชุดนี้ 50,000 บาท เพราะฉะนั้นความจริงในชุดของจุ้ยคือ เฉลียงยกวงมาอยู่กับ ศุ บุญเลี้ยง ทุกคนรับว่าใช่ ! ไม่ขัดคอ การกลับมาของเฉลียงยุคสองจึงมีค่าย “Creatia Artist” เป็นหน่วยหนุนจัดจำหน่ายนำโดย จิระ มะลิกุล ผู้ตื่นเต้นเห็นแววดีว่ามีเพลงแบบนี้ในเมืองไทยด้วยหรือ !? (เขาคือ พี่เก้ง คนเก่ง เป็นรุ่นพี่ของจุ้ยที่ นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันคือ Head of Producer ของ GDH 559 ค่ายหนังใหญ่ ที่คนทำหนังรุ่นใหม่ใฝ่ฝันจะร่วมงาน) คราวนี้กลุ่ม INDY ที่เคยมาก่อนกาล ได้จังหวะลงตัว ร่วมกันสุมหัวรัวสมองปล่อยของใส่สื่อ คงได้เวลา ‘A Star Is Born’ ทุกขั้นตอนผลิตล้วนรวมหัวกะทิที่สุดของวงการอินดี้เพลงไทย (แม้ ‘แกรมมี่’ พี่ใหญ่จากสายโฆษณาเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2526 แต่น้องขอเลือกพี่เก้งร่วมก๊วน) ความเป็นเพชรน้ำดีจึงได้จังหวะเปล่งประกายฉายนำเหนือกาลเวลา

 


Photo : www.chaliang.com

 

อัลบั้มใหม่ “อื่น ๆ อีกมากมาย” อำนวยการดนตรีโดย ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แจ้งเกิดทันทีจากนักฟังเพลงในวงกว้าง เป็นช่วงระหว่างกลุ่มใหม่เกิด เปิดรับเพลงแนวแปลกแหวกวงการ เฉลียงรวมดนตรีดี เนื้อหาสาระเด่น ทั้งชุดโดนใจมหาชน จนเปิดตัวเฉลียงให้มีชื่อเสียงในกลุ่ม MASS นำโด่งมาด้วย “อื่น ๆ อีกมากมาย” (กับความหมายที่เราไม่ควรที่จะตัดสินใคร หรืออะไร  เพียงเฉพาะจากสิ่งที่มองเห็นเท่านั้น) หนำซ้ำยังโดนตลาดอีกหลายเพลง (เที่ยวละไม, รู้สึกสบายดี, เข้าใจ, คนดนตรี, กล้วยไข่, ต้นชบากับคนตาบอด ฯลฯ) และมีความเป็นต้นแบบ BOY BAND วงแรกของไทย ให้อารมณ์เหมือนได้ดูหนังแนว Romantic Realism & Comedy บอกบุคลิกหนุ่มกลุ่มนี้ ตามสรรพนามที่พี่เก้งตั้งให้ตรงใจทุกคนว่า “ตัวโน้ตอารมณ์ดี” จากสถาบันพระเกี้ยวเดียวกัน แม้ต่างคณะ (สถาปัตยกรรมศาสตร์ - เจี๊ยบ เกี๊ยง ดี้/ นิเทศศาสตร์ - จุ้ย/ ครุศาสตร์ - แต๋ง) ดี้ค้านว่า “ไม่ใช่อารมณ์ดีตลอดนะ เรียกว่า ‘มีอารมณ์ขัน’ น่าจะเหมาะกว่า” แต่เป็นส่วนผสมที่ลงตัว ตรงใจพี่จิก นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง กูรูผู้มองทะลุและลึกซึ้งกับทุกสิ่งเสมอ เสมือนแม่ทัพนำทีมอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนั้น และต่อเนื่องจนปัจจุบันนี้ 42 ปีเต็ม เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจให้ศึกษา ค้นคว้า และต่อยอด

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “อื่น ๆ อีกมากมาย” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 

เพลง “อื่น ๆ อีกมากมาย”

ประพันธ์คำร้องและทำนอง : ประภาส ชลศรานนท์
วัชระ ปานเอี่ยม : ร้องนำ, กีตาร์
เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ : ร้องนำ, กีตาร์
ศุ บุญเลี้ยง : ร้องนำ, กีตาร์, เครื่องเคาะ
ภูษิต ไล้ทอง : แซกโซโฟน, ฟลูต
นิติพงษ์ ห่อนาค : ถ่ายปก

หากถามเธอตรงตรง ว่าเธอรักเหตุใด
ใครตอบได้ไหม เหตุใดรักยั่งยืน
เหตุใดที่รักร้าว กลับหวานเป็นขมขื่น
ตอบกันทั้งวันคืน อื่นอื่นอีกมากมาย

เด็กหนีไม่ยอมเรียน โดดเรียนเพราะเหตุใด
ลองตอบกันไหม เด็กไปเพราะใจแบ่ง
แม่ให้ไปขายของ ครูสอนไม่ดีเอง
เด็กรักเป็นนักเลง อื่นอื่นอีกมากมาย

อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)

อีกมากมาย (มากมาย) มากมาย (มากมาย) ที่ไม่รู้
อาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น

ต้นไม้จะงามดี ให้มีผลดอกใบ
พรวนแต่งดินไว้ ใส่ใจทุกเช้าค่ำ
เพิ่มดินผสมปุ๋ย ให้น้ำที่ชุ่มฉ่ำ
เด็ดทิ้งที่ใบดำ อื่นอื่นอีกมากมาย

หากเขาเป็นคนเลว ที่เลวนั้นจากใด
คำตอบมีไว้ ตอบไปก็คนอื่น
อาจเลวเพราะแสนเข็ญ หยาบช้าเพราะขมขื่น
เหตุนำนั้นพันหมื่น อื่นอื่นอีกมากมาย

อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย) อีกมากมาย (มากมาย)
มากมาย (มากมาย) ที่ไม่รู้
อาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น
อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)

อีกมากมาย (มากมาย) อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)
อีกมากมาย(มากมาย) อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)
อีกมากมาย(มากมาย) อีกมากมาย(มากมาย)
อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย) อีกมากมาย(มากมาย)
อีกมากมาย(มากมาย) อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)
อีกมากมาย (มากมาย) อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)
อีกมากมาย (มากมาย) อื่นอื่นอีกมากมาย (มากมาย)
อีกมากมาย อีกมากมาย (มากมาย)

 

บางเพลงนอกจากต้นฉบับดีงามแล้ว ความสร้างสรรค์ยังนำเพลงมาหั่นแปลงเฉียง ๆ แบบเฉลียงขี้เล่น (ใช้ทำนองเก่าแต่แผลงจากเนื้อเดิม) เช่นเพลง “อื่น ๆ อีกมากมาย” ก็ได้อารมณ์ขี้อ้อนกุ๊กกิ๊กกรุ้มกริ่มยิ้มหัวยั่วฮาน่าเอ็นดู แต่แกะเนื้อท่อนเด็ดไม่ได้เลย เพราะเสียงฮาทับทุกวรรคตอนที่ร้อนแรง นี่แค่ไตเติ้ลเล็กน้อย น้ำจิ้ม

 

“หากถามกันตรง ๆ ทำไมต้องเจอกัน ตอบแบบสั้น ๆ ก็มันคิดถึงนี่
เอะอะก็คิดถึง คิดถึงอยู่ทั้งปี เหตุผลจริง ๆ มี โทษทีพี่ร้อนเงิน
อาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น…
เป่าแซ็กมาทำงาน แต่งานไม่ค่อยมี คอนเสิร์ตปีนี้โชคดีได้เล่นใหม่
เล่นแล้ว ก็เล่นซ้ำกี่ครั้งก็ยังได้ ได้ร้องเพลงกุ๊กไก่สบายใจแล้วกู … (ฮาชอบใจ)
อาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น…
ปวดหลังมานมนาน ปวดนานมาหลายปี เสร็จจากงานนี้ จะชวนน้องไปผ่า
ผ่าดีก็คงหายสบายบรื๋อขึ้นมา เสร็จแล้วค่อยเสริมหน้าผ่านมฯ …”(เสียงฮากลบทับ)

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เรื่องน่าทึ่งพิเศษสุดบอกความเป็น อัจฉริยะ ของพี่จิกคือ พี่เริ่มแต่งเพลงมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ในวัยเด็กน้องจิกชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เขียนกลอน ชอบฟังเพลง ดูหนัง โปรดปรานวงการบันเทิง พอเริ่มอ่านออกเขียนได้ ก็แต่งเพลง จนพัฒนาเป็นเพลงดีมีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ชัดเจน นอกจากภาษาสวยเป็นบทกวี มีทำนองสนุก มองโลกสดใส ให้ความรู้สึกดี มีความหวังแล้ว การใช้ภาษาที่ไม่ซับซ้อน เป็นคำพื้นฐานที่ใช้ในวิถีปกติของคนทั่วไป เมื่อรวมกับทำนองน่ารักแบบ Easy Listening เพลงยิ่งฟังติดหูง่าย เข้าข่าย ‘เพลงโฆษณา’ ตามที่พี่จิกมีพื้นฐานมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ครบสูตรความเป็นเพลง POP และเข้าขั้นเพลง NEO CLASSIC

เพราะอีกด้านที่เด่นเป็นลายเซ็นชัดเจนคือ ‘ปรัชญาในบทเพลง’ ที่มีอยู่ในทุกเนื้อเพลง โดยไม่จำเป็นต้องแปลไทยเป็นไทยก็เข้าใจได้ง่ายทันที แม้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก แต่ไม่ยากต่อการซึมซับรับรู้ งานจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนมากมาย ที่ไม่ใช่แค่ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลงหลายคนหลากค่ายที่ได้เป็นแรงบันดาลใจไปต่อยอดความฝันสร้างสรรค์งานของตัวเอง แต่รวมไปถึง ครีเอทีฟ ผู้กำกับหนังโฆษณา พิธีกร นักคิด นักเขียนรุ่นใหม่มากความสามารถ เช่น สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ด้วย (เอ๋ หรือนามปากกา “นิ้วกลม”) ผู้เป็นผลผลิตจากงานเพลงของพี่จิก ยังยืนยันถึง ครูจิก ของเขาไว้อย่างน่าสนใจในมุมมอง…

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

ประภาส ชลศรานนท์ ที่ผมแอบมอง

1

จำไม่ได้ว่าผมหยิบหนังสือ “เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก” มาจากหิ้งหนังสือของห้องสมุดแห่งไหนในจุฬาฯ แต่จำได้แม่นว่า นี่คือหนังสือเล่มหนึ่งที่เติมสารประกอบสำคัญเข้ามาในสมอง และหล่อหลอมให้เกิดความคิดแบบหนึ่งขึ้นในหัว กระทั่งวันนี้ ความคิดนั้นยังคงอวลอยู่ไม่ไปไหน ความคิดที่ว่าคือ "อื่นๆ อีกมากมาย" ที่เคียงคู่มากับความรู้สึกว่า มือเล็กๆ ของเราเขียนโลกได้

ผมฟังเพลง "เฉลียง" มาตั้งแต่ช่วงประถม มาเข้าใจก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งวงเขาก็แยกย้ายกันไปหมดแล้ว ทิ้งไว้เพียง “เรื่องราวบนแผ่นไม้” สำหรับผม เพลงเฉลียงไม่เคยเก่า ซึ่งจำนวนมากเหล่านั้นถูกเขียนขึ้นจากปลายปากกาของ พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นความคิดเบื้องหลังของเพลงแต่ละเพลงแจ่มชัด

และยิ่งเห็นตัวตนของคนเขียนเพลงมากขึ้นไปอีก สำหรับผม ไม่ว่าพี่จิกจะเขียนเพลง เขียนหนังสือ หรือทำหนัง สิ่งที่พี่เขาพยายามจะทำคือ ชวนให้คนลองมองในมุมที่มีมากกว่าแค่มุมที่มองอยู่ มองโลกกว้าง ๆ แล้วใจจะกว้างขวางขึ้น

เนื้อเพลงหลายเพลงยียวนกวนสมอง เช่น เมื่อเพลงรักจำนวนมากพูดทำนองว่า “โลกนี้มีเพียงแต่เรา” พี่จิกถามว่า อ้าว แล้วเวลาจะกินก๋วยเตี๋ยว พี่จะซื้อจากใครล่ะครับ ในช่วงที่มีเพลงดังร้องประมาณว่า “รักไม่รักก็บอกมา บอกมาเลย บอกมาสักคำ” พี่จิกก็แต่งเพลงบอก ใจเย็นน้องชาย จะรีบไปไหน ดูใจกันก่อนสิ

คุณประภาสมักจะมองโลกในมุมโดรน คือบินขึ้นไปดูภาพกว้างๆ แล้วแผ่ออกมาให้เห็นว่า มันอาจจะมีมุมที่เราลืมมองไปนะ โลกอาจจะเป็นอย่างอื่นได้อีก

...

2

“อื่น ๆ อีกมากมาย” ในความหมายของพี่จิก ไม่ได้กินความแค่เรื่องหนึ่งสิ่งมีที่มาที่เป็นไปได้นับร้อยพันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมองทุกคนทุกสิ่งสำคัญเท่า ๆ กัน สวยงามเท่า ๆ กัน ไม่เปรียบเทียบเพื่อเอาชนะคะคานกัน แต่มองแง่งามของสิ่งนั้น คนนั้น แล้วดึงศักยภาพนั้นออกมาสร้างคุณค่า

 

“คลาสสิคอย่าดูถูกแจ๊ส
แจ๊สอย่าดูแคลนป๊อป
ป๊อปอย่ารังเกียจลูกทุ่ง
ลูกทุ่งเองก็อย่ารังงอนหมอลำ
หมอลำก็อย่าคิดว่าคลาสสิคมันสูงส่ง”

 

นี่คือข้อความบนหน้าจอในคอนเสิร์ตเพลงแบบประภาส ทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่พี่จิกเคยเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ “คนเราก็เหมือนกับนิ้วน่ะ มันไม่เท่ากัน แต่เป็นนิ้วเหมือนกัน และมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน” เป็นบทพูดของครูที่สอนเด็กในหนังเรื่อง      “วัยระเริง” ของเปี๊ยก โปสเตอร์

ถึงวันนี้ อุปลักษณ์ “นิ้วไม่เท่ากัน” ถูกตีความและวิพากษ์กันหลากหลาย แต่ในความหมายที่ผมเข้าใจว่าพี่จิกต้องการสื่อความนั้นเน้นไปที่ “ความแตกต่าง” มากกว่า “ความไม่เท่าเทียม” คือนิ้วโป้งก็ต่างจากนิ้วชี้และนิ้วก้อย และพี่จิกเขียนว่า “คุณอาจเป็นนิ้วก้อยก็ได้ ซึ่งมีความสำคัญกว่านิ้วชี้ในบางเรื่อง” อ่านแล้วก็คิดว่า นิ้วกลมๆ ของเราก็มีคุณค่าในแบบเรา ความเป็น “เต๋า” ซึ่งมองเห็นคุณค่าในธรรมชาติของสรรพสิ่งเช่นนี้ พบเห็นได้บ่อยๆ ในผลงานของพี่จิก

...

3

คุณประภาสเป็นคนไม่สุดโต่ง ถ้ามีโต่งสองข้าง พี่จิกจะไม่ไปยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง อาจเป็นเพราะสายตาที่เห็นแง่งามของแต่ละสิ่ง แต่ละความคิด และมุมมองที่เปิดกว้าง ไม่เชื่อว่าใครจะถูกไปทั้งหมดหรือผิดไปทั้งหมด ดีไปทุกอย่างหรือแย่ไปทุกสิ่ง ที่สำคัญ ความยืดหยุ่นทางความคิดแบบนี้ ย่อมเชื่อว่า ผู้คนหรือความคิดสุดโต่งที่เราเห็นอยู่นั้น มิได้เป็นนิรันดร์ แต่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความสุดโต่งยังสามารถปรับ ผสม แบ่ง แลกเปลี่ยน จนได้ส่วนผสมใหม่ในตัวเองได้อยู่

 

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้นั่งคุยงานกับพี่จิก ทีมของพวกเราสนใจรายการที่เน้นเนื้อหาสาระ ว่าง่าย ๆ คืออยากส่งต่อสาระความรู้สู่ผู้ชม พอเล่ารูปแบบและเนื้อหาให้พี่จิกฟัง ท่านพี่ถามว่า “ความรู้มันจำเป็นไหมว่าต้องไม่สนุก” หยุดให้คิด แล้วถามต่อ “แล้วความบันเทิงมันจำเป็นไหมว่าต้องไร้สาระ” แค่สองคำถามนี้ ก็ขยายขอบเขตการมองของพวกเราออกไปมาก เรามองเห็นพื้นที่ใหม่ว่า ยังมีพื้นที่ตรงกลางที่ผสมผสานสิ่งที่เราเคยคิดว่าไม่เกี่ยวกัน คนละพวก คนละโลก เข้าด้วยกันได้ และถ้าทำได้ก็จะไม่ตัดคุณค่าแบบไหนทิ้งไปเลย

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “เธอกับฉันกับคนอื่น ๆ” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 

4

นั่นคืออีกคุณลักษณะหนึ่งของพี่จิกที่ผมแอบมอง ชายผู้นี้ไม่สอนตรง ๆ ไม่แสดงความคิดเห็นโจ่งแจ้ง แต่ชอบตั้งคำถามให้คู่สนทนา ไปไตร่ตรองเอาเองในใจ  เทคนิคนี้ถูกใช้ในงานเขียนเช่นกัน คำถามที่พี่จิกโยนใส่ มักทำให้เราได้คิดว่า “มันเป็นอย่างอื่นได้ไหม” หรือ “มันมองได้แค่แบบเดียวจริง ๆ หรือ” บทสนทนาเช่นนี้ เหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่ไม่ปิดกั้น คือไม่ขีดเส้นว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่คลี่ภาพให้เห็นแล้ว ให้เราไปเลือกเอาเอง นี่คือวิธีแหย่ให้คิดด้วยคำถาม ซึ่งคุณประภาสใช้อาวุธชนิดนี้ได้แพรวพราวอย่างยิ่ง

หากใครได้ร่วมงานกับพี่จิก บางทีอาจรู้สึกว่า ทำไมฉันคิดไอเดียนี้ออกมาได้ ! ฉันเก่งจริง ๆ ! แต่อันที่จริง เราคิดมาได้ เพราะถูกกระตุ้นด้วยคำถามของพี่เขา แต่เราจะรู้สึกดี เพราะไม่มีใครสั่งให้เราทำแบบนั้น เราตัดสินใจของเราเอง

จึงไม่ใช่แค่ผลงานที่สร้างสรรค์ แต่วิธีการในการทำงานก็สร้างสรรค์ด้วย

...

5

ภาพของพี่จิกที่ผมจำได้ตอนที่แอบมองไอดอลในห้องประชุม คือภาพของผู้บริหารขี้เล่น เหมือนเด็กน้อยที่ไม่มีมาดของคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจในการตัดสินใจแต่อย่างใดเลย ผมเห็นพี่เขานั่งหมุนปากกา วาดรูปยุกยิก และคอยแหย่ คอยปล่อยมุกออกมาในขณะที่ทุกคนประชุมกันอย่างจริงจัง คิดนู่นนี่กันคิ้วขมวด

ไอเดียที่ดีมักจะผุดขึ้นในช่วงเวลาที่เราผ่อนคลาย--ผมเคยได้ยินคนคิดเก่งหลายคนว่าไว้อย่างนั้น หลายคนบอกว่า ถ้าเราไม่สูญเสียความเป็นเด็กไป เราจะเก็บศักยภาพในการจินตนาการและสร้างสรรค์ไว้ได้เสมอ

ภาพคุณประภาสในห้องประชุมสำหรับผม เหมือนเด็กขี้เล่นคนหนึ่ง

อีกภาพที่จำได้คือ ในห้องประชุมและบนโต๊ะกินข้าวของชาวก๊วน พี่จิกจะแกล้งคนขี้กลัวด้วยการเอาแก้วน้ำมาตั้งไว้ปริ่ม ๆ ขอบโต๊ะเหมือนจะตก เพื่อทดสอบว่า คนนั้นจะทนได้ไหม พอคนนั้นเขยิบแก้วให้ลึกเข้าไป คุณประภาสก็จะหัวเราะแล้วบอกว่า “ทนไม่ได้เหรอ เป็นคนทนเรื่องแบบนี้ไม่ได้เหรอ”

นักเขียน นักคิด นักสร้างสรรค์ ที่เราติดตามผลงานมานาน ชื่นชมและคิดภาพว่า เขาจะต้องเงียบ ๆ ครุ่นคิด ขรึม ๆ แต่พอเจอตัวจริง กลับกลายเป็นเด็กน้อยขี้เล่น พูดเร็ว มุกตลกแพรวพราว และเป็นนักตั้งคำถามเริ่มบทสนทนาที่สนุกอย่างยิ่ง

...

6

พี่จิกเป็นคนที่ไม่ได้บ้าแสงไฟ ผู้คนอาจเห็นผลงาน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นตัวของเขาก็ได้ เรารู้จักเพลงเฉลียง กรี๊ดกร๊าดและหัวเราะไปกับพี่ ๆ นักร้องนักดนตรี เราชื่นชอบรายการของเวิร์คพอยท์ หรืองานสร้างสรรค์อีกหลายอย่างที่เกิดจากความคิดของพี่ชายคนนี้ แต่บ่อยครั้งที่เราไม่รู้หรือไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า มีเขาอยู่เบื้องหลัง

นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่พี่จิกเคยสอนผม เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือสร้างสรรค์บางสิ่งได้โดยที่ไม่ต้องให้คนเห็นเรา ซึ่งในบางกรณีมันกลับมีพลังมากกว่า มีผลลัพธ์ที่ดีกว่าด้วยซ้ำไป

เราได้เห็นคุณประภาสผ่านผลงานบางชิ้น แต่ผมเชื่อว่า ยังมีผลงานจากหัวสมองอันแหลมคมและมนกลมนี้อีกหลายชิ้นที่เราไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของเขา

ความพอดีของการถูกมองเห็น เป็นสิ่งที่พี่จิกบริหารจัดการได้อย่างน่าเรียนรู้และน่านับถือ ประภาส ชลศรานนท์ จึงเป็นครูที่มีบทเรียนให้แอบมองและเรียนรู้อีกมากมาย ขอบคุณพี่จิกที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นผู้เปิดมุมมองทางความคิด เป็นผู้จุดประกายความฝันในการเขียนหนังสือ และเป็นผู้มอบเคล็ดวิชา “อื่น ๆ อีกมากมาย” ใส่ไว้ในใจผมตั้งแต่ในวัยรุ่นผ่านผลงานของพี่

ขอแสดงความยินดีกับพี่จิก สำหรับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล ในปีนี้ (2019 / 2562)

ผมอยากบอกกับพี่จิกว่า “เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก” ได้จริง ๆ ครับ

อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งที่เป็นผลผลิตจากเพลงของพี่ครับ

ด้วยรักและขอบคุณ

เอ๋ (นิ้วกลม)

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “ ต้นชบากับคนตาบอด” 10 ธันวาคม 2566:มหิดลสิทธาคาร

 

ปรัชญาในเสียงเพลง

 

ลักษณะพิเศษอีกประการในเพลงของพี่จิกคือ แนวคิดเชิงปรัชญา ที่แทรกอยู่ในทุกเพลง โดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น “ต้นชบากับคนตาบอด” (ในชุดแจ้งเกิด “อื่น ๆ อีกมากมาย”) ฯลฯ มีที่มาของวิธีคิดในการประพันธ์เพลงน่าสนใจ เมื่อพี่จิกอ่านพบบทกวีหนึ่งในหนังสือพิมพ์ ผู้เขียน ‘สงสารดอกชบาที่ขึ้นอยู่ในโรงเรียนสอนคนตาบอด ไม่มีใครชื่นชมความงามซึ่งอุตส่าห์ผลิดอกออกใบ แต่ไม่มีใครเห็นค่า’ พี่จิกจึงตอบโต้บทกวีด้วยเพลงนี้ที่ทักท้วงว่า ‘เรารู้ได้ยังไงว่าคนตาบอดไม่รับรู้ความงามของดอกไม้ และหลายสรรพสิ่ง เขาอาจรู้สึกได้มากกว่าคนตาดี ที่มองจนชินชาเห็นเป็นของธรรมดาไม่รู้สึกด้วยซ้ำ’ (มนุษย์เราสามารถรับรู้สิ่งดีงามได้ด้วยจิตสัมผัส ไม่ใช่เพียงเฉพาะสิ่งที่มองเห็นเท่านั้น) คืออีกหนึ่งตัวอย่างผลงานแนวปรัชญาที่เนื้อหามีความเป็นนามธรรมสูง แต่ถูกถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายและงดงามในความเป็น ‘บทกวีในเสียงเพลง’ กาลเวลาช่วยเพิ่มคุณค่าสัจธรรมทุกคำที่เขียน คนที่ถ่ายทอดเพลงให้ไพเราะได้อารมณ์เหมาะสมที่สุดคือ “ตั๊ก” อธิศรี สงเคราะห์ แชมป์สมาชิกจาก “สมาคมดนตรีเพื่อคนตาบอด” (โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ร้องใน “คอนเสิร์ตเพลงแบบประภาส” ปี 2551)

 

เพลง: ต้นชบากับคนตาบอด
คำร้อง / ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์
ขับร้อง : เจี๊ยบ วัชระ ปานเอี่ยม

 

ผลิดอกงาม แตกกิ่งใบ
จับดวงใจแม้ใครบังเอิญได้เดินมองมา
อาจจะพบเห็น เห็นด้วยตา
ต้นชบาขึ้นในโรงเรียนสอนคนตาบอด
ไม่อาจชมดอกชบา
ด้วยดวงตาสองตามีกรรมโลกจึงมืดมน
ไม่อาจพบเห็นเหมือนบางคน
ว่าดอกผลนั้นมีสีสันรูปทรงอย่างไร

บอดก็เพียงสายตาเท่านั้น
แต่จิตใจก็ยังผูกพันความงาม
อาจจะรับรู้ไปตาม
สูดกลิ่นงามฟังเสียงวิไลร่มไม้บังเงา
ต่างก็เพียงผู้จะชม
สิ่งจะชมสำคัญในมันนั่นคืออันใด
เหตุกับผลนั้นหรือว่าใจ
ต้นชบาก็มีความหมายไปตามคนมอง

บอดก็เพียงสายตาเท่านั้น
แต่จิตใจก็ยังผูกพันความงาม
อาจจะรับรู้ไปตาม
สูดกลิ่นงามฟังเสียงวิไลร่มไม้บังเงา
สิ่งจะงามอยู่กับใจ
บอดที่ใจเห็นไปอย่างไรไม่มีวันงาม
โลกจะสวยนั้นสวยไปตาม
จิตที่งามมองโลกสดใสไปในทางดี

โลกจะสวยนั้นสวยไปตาม
จิตที่งามมองโลกสดใสไปในทางดี

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เสน่หาสถาปัตย์

 

 

ไม่ปล่อยให้ว่างนานหลังเครื่องติดในต้นปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลง ชุดที่ 3 ตามมาติดๆ “เอกเขนก” กับค่าย คีตา (KITA) ทั้งแผ่นเสียงและเทป (ต่อมาคือ คีตา เรคคอร์ดส และ คีตา เอ็นเตอร์เทนเม็นท์) ในชุด “เอกเขนก” มีเพลง เร่ขายฝัน”  Music Video ถูกออกแบบให้ ‘ล้ำหลุดโลก’ ความยาว 9 นาที (พี่จิกกำกับเองเป็นหนังสั้นที่ชวนตีความตามสารนามธรรม นำหนุ่มเฉลียงรอนแรมเร่ขายฝันจนหลุดเข้าไปถึงดินแดนดึกดำบรรพ์ มีหัวหน้าเผ่าเป็นหญิงสาว ผู้คนบูชาบางอย่างมีสัญลักษณ์เป็นรูปโป่งสีขาวราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฯ) ได้รับรางวัล มิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยม จากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D. Awards) ประจำปี 2530 และรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประจำปี 2530 ตามมาด้วยคอนเสิร์ตเปิดวงอย่างยั้งไม่อยู่ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการเพลงไทยในยุคนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เฉลียงดังเปรี้ยงเป็นที่นิยมแบบเกิดเต็มวงอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา เพราะคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นหนุ่มเซอร์ (ระดับกำลังดี) ที่สาวเห่อในยุคนั้น (Surrealism) อันประกอบด้วยอัตลักษณ์หลายประการ

  • ความแปลกของเนื้อหาเพลงที่แหวกตลาดสตริงหวานของวัยวุ่นรุ่น 80-90
  • การมีวรรณศิลป์ในภาษาที่เป็นบทกวี มีสัญญะ ให้ผู้ฟังสนุกกับการตีความ
  • ในเพลงสนุกมีลูกเล่นของเนื้อหา-ภาษา ที่มีความเป็นเด็กซน หนุ่มขี้เล่น
  • ในเพลงละมุนกรุ่นกลิ่นรักละไมให้สติ-วิธีคิด เห็นจิตที่อ่อนโยน มองโลกในแง่ดี มีอุดมการณ์ก้าวหน้า มีปรัชญา เปิดมุมมองใหม่ รู้จักโลก-เข้าใจชีวิต
  • แนวทางการสื่อสารใช้ ภาษาโฆษณา (เข้าใจง่ายได้ทันทีที่ได้ยิน ฟังติดหู)
  • ความสามารถและความมีเสน่ห์เฉพาะตัวของสมาชิกแต่ละคนในวงเฉลียง
  • แนวทางของดนตรีมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง สร้างลายเซ็นเป็นอัตลักษณ์

 

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

และอื่นๆ อีกมากมายเกินขยายความให้ครอบคลุม เพราะหนุ่มถาปัดยุคนั้นได้รับการวิเคราะห์วิจัยแล้วได้ผลสรุปว่า เป็นส่วนผสมของ ‘มนุษย์พันธุ์วิทย์กับศิลป์’ ที่ลงตัวสุดๆ (โรแมนติค มีวุฒิภาวะ มีตรรกะเชิงวิชาการ หนักแน่น ละเอียดอ่อนแต่ไม่ไหวเอนเหมือนผู้ชายสายศิลป์ ฯลฯ) และโดยเฉพาะความเป็นคนมีอารมณ์ขันที่มารวมกันอยู่ในเพลง ซึ่งถูกออกแบบเฉพาะเจาะจงจะให้เป็นเพลงประจำตัวของแต่ละคน หรือเพลงกลุ่มที่รุมร้องร่วมกันก็ครื้นเครงทั้งคนร้อง-คนฟัง แม้มีบ่อยครั้งที่สามัคคีกันลืมเนื้อเพลงเพราะไม่ได้ซ้อม แฟนเพลงก็พร้อมใจกันให้อภัยเพราะมีมุกเนียนลื่นไหลมาทำให้ฮาจนถือสาไม่ลง คงภารกิจมากจนไม่มีเวลาซ้อมพร้อมกัน แต๋งแก้ต่างอย่างมีหลักการว่า “พี่จิกคงรู้เลยแต่งเพลงให้แบบให้ทุกท่อนเป็นอิสระต่อกัน สามารถลืมได้”

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เพลง “เร่ขายฝัน”

เพลง : เร่ขายฝัน / อัลบั้ม : เอกเขนก
คำร้อง : ประภาส ชลศรานนท์
ทำนอง : ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์
เรียบเรียง : จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน
ขับร้อง : วัชระ ปานเอี่ยม
Download on iTunes : ‪
http://hyperurl.co/4niots
MV. ได้รับรางวัล Music Video ยอดเยี่ยม จาก สมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D. Awards) ประจำปี 2530 และรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประจำปี 2530

 

ใครอยากมีฝันล้อมวงตรงเข้ามา
มีฝันที่ว่าแบบหรูเลือกดูกัน
คนที่ไม่มีฝันไกล ใครไม่กล้าจะฝันกัน
ขายถูก ๆ เท่านั้น ไม่เอาแพงเลย

มีเงินมากเงินน้อย ไม่เห็นเป็นไร
เราคัดไปให้ จัดไว้ของดีเลย
เพียงใครอยากเอาฝันไป
เอาไป ไปทำให้สวยเลย
ฝันไม่จบอย่าเฉย มาเอาไปใหม่

ฝันสวย ๆ นั้นแม้ขาดเงินจะซื้อ
ยืมเอาไป เอาไปฝันกันได้ก่อน
แม้นสมหวังเหมือนฝันอย่าใจร้อน
เอามาคืนความฝันคืนมา
เผื่อจะได้เป็นฝันให้ยืมกันต่อ

เปรียบเรามีฝันนั้นเป็นดังทำนอง
ชีวิตก็ดั่งคำร้อง ร้องตามจริง
รีบ ๆ มาเอาฝันไป
ไป ไปทำให้เห็นจริง
ฝันไม่เสร็จอย่าทิ้ง ไว้ตามริมทาง

ฝันสวย ๆ นั้นแม้ขาดเงินจะซื้อ
ยืมเอาไป เอาไปฝันกันได้ก่อน
แม้นสมหวังเหมือนฝันอย่าใจร้อน
เอามาคืน ความฝันคืนมา
เผื่อจะได้เป็นฝันให้ยืมกันต่อ

เปรียบเรามีฝันนั้นเป็นดังทำนอง
ชีวิตก็ดั่งคำร้อง ร้องตามจริง

รีบ ๆ มาเอาฝันไป
ไป ไปทำให้เห็นจริง
ฝันไม่เสร็จอย่าทิ้ง ไว้ตามริมทาง

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

คุยกันแบบเอียง ๆ กับ ‘เฉลียง TALK (SHOW)’

เฉลียงเปิดการแสดงแต่ละครั้งคือ งานคราฟที่เล่นไม่เหมือนกันสักรอบแม้จะพยายาม นอกจากไม่มีสคริปท์ให้เล่นตามยามนี้ยังมีพักครึ่งให้ผู้ชมได้หายใจบ้าง สำหรับแฟนเพลงของ “เฉลียง” นอกจากจะรู้สึกสนุกทุกช่วงเวลาที่สมาชิกคุยกันแล้ว แต่ละฮาดูเหมือนว่า Highlight โดยเฉพาะช่วงนั่งคุยกันที่ทำท่าเหมือนจะจริงจัง พยายามทำขลังไม่แพ้เพลงคือช่วง Talk (ในท่าทีเล่นทีจริงที่ถูกทำให้เหมือนไม่ตั้งใจจะ) Show แค่หยอกกันแต่มันบังเอิญสะเทือนถึง “ท่าน” เท่านั้นเอง แม้นักเลงที่ถูกเอ่ยถึงยังยิ้มกระหยิ่มใจ รู้สึกขำไปกับมุกขันขื่นโดยไม่ต้องฝืนเก๊กท่า เหมือนว่ามี ‘ซูโม่สำอาง’ ยกแก๊งมากวนกึ่งชวนทะเลาะร่ำไป เปิดช่วง Talk (Highlight) ใส่เพลง “นิทานหิ่งห้อย” เด็กน้อยกับปรัชญาของคุณยาย จากสายน้ำเสียงนุ่มละมุนอุ่นละไมของ จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ก่อนเสี่ยงกระสุนลุ้นติดคุกด้วยนิทานสนุกของเจี๊ยบคั่นเป็นระยะ ฮาสนั่นกับวาทะเคลือบสัญญะที่ทุกคนรู้สึกสนุกร่วมกันด้วยเท่าทันมุก ต่อให้กวาดเข้าคุกก็ไม่พอขัง เลยได้นั่งหัวร่อจนพอใจ เพราะทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า “พูดคุยสนุก ฟังแล้วสบายใจ มีความสุขทุกครั้งที่ได้ฟัง”

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เพลง “นิทานหิ่งห้อย”

ประพันธ์คำร้อง / ทำนอง : ประภาส ชนศรานนท์
เรียบเรียง : ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์

 

เด็กน้อยได้ยินเรื่องราวกล่าวขานมานาน
หากใครได้จับหิ่งห้อยมาเก็บเอาไว้ใต้หมอน
นอนคืนนั้นจะฝันดี จะฝันเห็นดวงดาวมากมาย

ฝันเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม

เด็กน้อยนั่งตักคุณยายไถ่ถามความจริง
ยายยิ้มกินหมากหนึ่งคำไม่ตอบอะไรส่ายหัว
ใจเด็กน้อยอยากเห็นจริง อยากเห็นดวงดาวมากมาย
อยากเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง อยากฝันสวยงาม

หิ่งห้อยนับร้อยนับพัน
ส่องแสงระยิบระยับกัน สว่างไสวไปทั้งต้นลำพู
เด็กน้อยแอบออกมา ไล่คว้าแสงน้อยมาดู
ใส่ไว้ในกล่องงามหรู ซ่อนไว้ใต้หมอนแล้วนอนคอยฝันดี

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

ทุกครั้งหลังอินโทรเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ขึ้นมาแล้ว ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเฉลียงที่จะมีนิทานซ้อนมาอีกเรื่องหนึ่งเสมอ ใน “เฉลียง Rare Item” ที่ สยามพารากอน (ROYAL PARAGON HALL 26-27 สิงหาคม 2566) ได้เล่าเรื่อง “หนูน้อยหมวกแดง” ไปแล้ว ครั้งนี้ RESTAGE มีการย้อนความเดิมนิดหนึ่งก่อนดึงคนดูด้วยนิทานเรื่องใหม่ (ใส่ไข่มากกว่าเดิม) โดย เจี๊ยบ เจ้าเก่า

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหนูน้อยคนหนึ่งเธอชอบใส่ชุดสีแดง ใส่หมวกสีแดงตลอดเวลา ชาวบ้านก็เลยขนานนามให้เธอว่า “หนูน้อยหมวกแดง” หนูน้อยหมวกแดงอาศัยอยู่กับแม่ที่ชายป่าแห่งหนึ่ง มีคุณยายอยู่อีกชายป่าหนึ่ง ตรงกลางเขาคั่นเอาไว้เป็นป่า … ป่าอะไรนะจุ้ย?” จุ้ยตอบทันใจว่า “ป่ารอยต่อ” ฮา “วันนั้นหนูน้อยมีภารกิจ คุณแม่คิดถึงคุณยายก็เลยทำขนม ให้หนูน้อยเอาไปให้คุณยายอีกฝั่งหนึ่งของป่ารอยต่อ พอหนูน้อยได้ยินว่าจะได้ออกจากบ้านไปป่า ใจมาเต็มรีบเอาขนมใส่ตะกร้าแล้วเดินด็อกแด๊ก ด็อกแด็ก ออกไปถึงหน้าประตู แม่บอกว่า “อย่าออกนอกเส้นทางนะลูก เพราะมีอันตรายสองข้างทางเต็มไปหมดเลย”แต่ด้วยจิตใจที่รักเสรี แล้วในป่ามันมีเสรีมาก เสรีที่สุด” เสียงดี้แทรก “เสรี พิสุทธิ์” ได้ฮาอีก “หนูน้อยเชื่อแม่นะ แต่สองข้างทางมีดอกไม้สวยงามมาก ทำให้เพลินเก็บดอกไม้ไปเรื่อย ออกจนกระทั่งหลงนอกเส้นทางเข้าไปกลางป่า พบกระท่อมหลังเล็กๆ หน้ากระท่อมเป็นลานกว้างมีคนออกมาเต้นรำกัน หนูน้อยแอบเพ่งดูเห็นสาวสวยหนึ่งคน ล้อมรอบไปด้วยคนแคระทั้งเจ็ด…” จากความเดิมตอนที่แล้วตัดกลับมาที่  RESTAGE  ต่อด้วย…

“หนูน้อยจะไปเยี่ยมคุณยายเจอเจ้าชายสูงสง่ากลางป่า ปลดปล่อยตัวเองออกมากลายเป็นหมาป่า กัดกินหนูน้อยหมวกแดง คุณยายสโนไวท์ กินคนแคระทั้ง 7 กินงูเห่าที่จะเลื้อยมาเข้ากระท่อม หมาป่าตัวนั้นอิ่มมาก จบลงตรงนี้ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ‘อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจราชทัณฑ์’ หยอดมุกมันได้ทันสมัย ในเหตุการณ์กลับบ้านของนักโทษ (การเมือง) กิตติมศักดิ์ ผู้ไปพักรักษาตัวอย่างเย้ยกฎหมาย โดยไม่ได้ถูกคุมขัง ผู้ชมฮาสนั่นขันขื่น ต่างตั้งใจรอมุกชื่นมื่นไหลลื่นอย่างต่อเนื่องต่อไป

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

ตัดภาพกลับมามุมนี้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง ราชสีห์ ตัวละครใหม่คือใครอยู่ ๆ โผล่มา … มันอยู่ในร่างของหมาป่าอีกทีหนึ่ง นอนอิ่มพุงกางก็เลยรูดซิบชุดหมาป่าทิ้งไปกลายเป็น ราชสีห์ ราชาแห่งสัตว์ทั้งปวง มีหนูเล็ก ๆ ตัวหนึ่งปีนขึ้นมาบนตัว ราชสีห์ตกใจตื่นแล้วคว้าหนูเอาไว้จนหนูตกใจมาก อยู่ ๆ ก็มีราชสีห์มาคว้าตัวไว้ ร้องขอชีวิต “ราชสีห์เจ้าขาปล่อยข้าไปเถอะ สักวันข้าจะกลับมาทำประโยชน์ให้กับท่านได้ เราสัญญา ๆ” ราชสีห์หัวเราะก้องป่า “ฮ่า ๆ เจ้าหนูตัวน้อย อยู่ ๆ จะมาช่วยข้ามันเป็นไปไม่ได้”

จุ้ยกลัวตัวเองหลับนั่งจับผิดเริ่มป่วนมุก “อันนี้เป็นเรื่องต่อจากครั้งที่แล้วเหรอ ?” “คุณสป…” เจี๊ยบหยอดมุก แต๋ง แทรกว่า “อีสป” (อีสป-Aesop) เจี๊ยบทนไม่ไหวเกรงบูลลี่ “อยู่ ๆ ไปเรียกเขา ‘อี’ ได้ไงแต่ ‘อีสาน’ ได้นะ คุณสปเขาเล่าไว้ผมเลยเอามาถ่ายทอดให้ฟัง” ระหว่างเล่าก็มีแวะพักหักมุกกันไปมา แซวฮากระทั่งโคมไฟบนเวทีที่ถูกกล่าวหาว่าแย่งซีน ไม่รู้จะมีไว้ทำไม? (คนออกแบบฉากคงตั้งใจตกแต่งให้ได้บรรยากาศความเป็นบ้าน นั่งคุยกันในห้องนั่งเล่น) โคมไฟเลยถูกปิดไปอ้างว่าเพื่อให้เห็นนักดนตรีที่อยู่เวทีด้านหลังชัดขึ้น ความจริงคือต้องการโฟกัสเฉพาะจุดคนพูด

ราชสีห์ยังฮาไม่เสร็จ “วันนี้ข้าสบายใจเพราะว่า นอกจากข้าจะเป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งปวงแล้วข้าก็ยังสบายกับชุดที่ใส่ สบายกับถุงเท้าของข้าที่เปลี่ยนสีไปบ่อย ๆ ฮ่า ๆ ข้าจะปล่อยเจ้าไป” ว่าแล้วก็ถลกขากางเกงโชว์ถุงเท้าสีแดงแทงตาอย่างสบายใจก่อนปล่อยหนูเข้าป่าไป”…

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

“วันหนึ่งอาจเป็นวันเคราะห์ร้ายของราชสีห์ก็ได้ ไปติดบ่วงของนายพรานเข้า เสียงร้องดังก้องป่าไปหมดเลย เพราะว่ายิ่งดิ้น บ่วงยิ่งรัดเจ็บมาก หนูได้ยินเสียงราชสีห์ก็จำได้ วิ่งออกมาจากชายป่า เข้ามาแทะ ๆ กัด ๆ จนกระทั่งบ่วงนั้นขาดออกจากกัน ราชสีห์ดีใจที่ได้รับอิสรภาพอีกครั้ง อุ้มหนูอย่างทะนุถนอมขึ้นมา “โอ้เจ้าหนูน้อย ข้าต้องขอโทษจริง ๆ ที่เคยปรามาสเจ้าไว้ว่าตัวนิดเดียวจะทำประโยชน์อะไรให้กับข้าได้ วันนี้เจ้าถึงกับช่วยชีวิตข้าเชียว ถ้าอย่างนั้นข้าขอแต่งตั้งให้เจ้าเป็น มท. 1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย)”  ผู้ชมฮาฟ้าถล่มให้กับมุกแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ดี้ไขสือพาซื่อถามว่า “กระทรวงสาธารณสุขใช่ไหม ?”  เจี๊ยบทำหน้าตายตอบว่า “ใช่มั้ง…เกี่ยวกับกัญชาอะไรพวกนี้” พร้อมออกอาการสยองมุกตัวเอง จุ้ยบอกให้ทุกคนเต็มที่ไม่ต้องกั๊ก เพราะเป็นรอบสุดท้ายแล้ว (10 ธันวาคม 2566) เจี๊ยบรอบคอบตอบให้สตาร์ทรถรอรับก่อนเล่าต่อ…

ราชสีห์แต่งตั้งให้หนูเป็น มท.1 หนูตอบขอบคุณมาก “หนูตัวเล็ก ๆ ยังได้เป็นถึง มท.1 แล้วท่านล่ะเป็นถึงราชาแห่งสัตว์ทั้งปวงท่านจะเป็นอะไร ?” ราชสีห์ตอบอย่างภูมิใจว่า “ข้าเป็นหุ่นเชิด !!” ผู้ชมฮาฟ้าแตก (ดังปานเพดานจะถล่ม สมกับมุกเด็ด) จุ้ยสะใจใส่ลูกไล่ “มันต้องอย่างนี้แล้ว…ฝากไว้ในแผ่นดิน !!” ดี้ยุให้เอ่ยชื่อ แต่เจี๊ยบเกรงใจ “เดี๋ยวจะเข้าใจผิด … หุ่นเชิดเคยดูไหมครับ คนเชิดอยู่ข้างล่าง หุ่นที่ถูกเชิดจะอยู่สูงกว่าคน แต่หุ่นที่เป็นราชสีห์ตัวนี้คนเชิดอยู่ข้างบนแล้วชักใย (ทำท่าชักหุ่นสายแบบ Marionette) ย้ำคำใบ้ต่อ “ต้องอยู่ที่สูงมาก” แต๋งช่วยต่อมุก “ชั้น 14 น่ะพี่สูงพอมั๊ย ?”  เจี๊ยบตอบสวนเสียงฮาลั่นรับมุกนักโทษการเมืองผู้ได้รับเกียรติยกเว้นขัง อัญเชิญไปยังชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจอีกรอบ “พอ !! พวกมึงก็พอได้แล้ววว… เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป Soft Power จะเกิดขึ้นหรือไม่ ตะโกนกันให้ลั่นประเทศว่า ‘Soft Power’ แล้วมันจะ Soft จริงไหม ?... ” วัชระหยอดไว้ให้คิด

เจี๊ยบได้พลังใจใส่ความชัดเจนอีก “พรรคประชาธิปัตย์” เสียงตอบรับสวนทันทีทั้งบนเวทีและข้างล่าง จุ้ยหักมุก “เก็บไว้ Episode ต่อไป” แต่มีเสียงไม่เห็นด้วยเพราะไหน ๆ ก็หลุดออกมาแล้วก็ว่าต่อไปสิ เจี๊ยบตามใจพูดต่อ “จะใช้นโยบายของหัวหน้าพรรคใหม่ว่า ‘กูจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีพ’ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับผม” ยกมือทาบอกตัวเองแล้วตัดบทประชดการเมือง “รอเด็กตื่นก่อนแล้วค่อยร้องต่อ” ผู้ชมมัวหัวเราะจนเกือบลืมไปแล้วว่า ‘นิทานผู้ใหญ่’ ถูกโยงมาจากเพลง “นิทานหิ่งห้อย” …. จุ้ยร้องละไมต่อไปถึงช่วงกลางเพลง…

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

“ตื่นเช้าพอได้ลืมตามองเห็นคุณยาย
มาแกล้งถามว่าเจออะไรสนุกแค่ไหนที่ฝัน
ใจเด็กน้อยจึงทบทวน ไม่ฝันเห็นอะไรมากมาย
รีบค้นเร็วไวใต้หมอนเปิดฝานั้นดู

หิ่งห้อยในกล่องตอนนี้เหมือนหนอนตัวหนึ่ง
ไม่สวยดังซึ่งตอนอยู่ใต้ต้นลำพูส่องแสง
ยายจึงยิ้มแล้วสอนตาม จะมองเห็นความงามที่จริง
อย่าขังความจริงไม่เห็น อย่าขังความงาม”

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เจี๊ยบยังเล่าต่อ “ตัดภาพมายังเวทีหิ่งห้อยหายไปในพริบตา ดีแล้วล่ะครับผมไม่รู้ว่าอันไหนเป็นแสงจากมือถือ อันไหนเป็นแสงจากเลเซอร์ (ย้ำคำคุณยายเตือนให้ตระหนักต่อความจริง … เพราะในแสงสีมีมายาภาพ โปรดทราบและแยกแยะให้ได้) มาดูอีกมุมหนึ่ง นายพรานที่เอากับดักสัตว์มาวางแล้วเห็นเชือกขาดกระจุยไม่ได้อะไร ไม่มีสัตว์ติดตรงนั้นให้เป็นอาหารเย็น หิวมากไม่รู้จะทำยังไง ยิ่งหิวยิ่งทรมานมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยตัดสินใจต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตัวเองจะได้มีเงินไปซื้ออาหาร ตัดไม้ในป่าไปขายดีกว่า ลากขวานด้ามหนึ่งเดินเข้าป่าไป ในใจก็คิดว่า ‘ทำไมชีวิตต้องเป็นแบบนี้ด้วย’ ทำท่าพรานรำพึงกลางไพรใจสลายแต่ผู้ชมอมขำ

แต๋งถามแซว “ตกลงจะเป็นพรานหรือคนตัดฟืน” สวนทันที “คนเรามันมี หลายอาชีพได้จริง ๆ บางคนก็ร้องเพลง เขียนหนังสือ ไปเป็นวิทยากร อะไรแบบนี้” เอฟซีฮาทันที รู้ดีว่าแขวะใคร นกนั่งยิ้มนานแล้วช่วยชงว่า “นักร้องบางคนก็ขายหนังสือ” จุ้ยโดนหมัดหนักแย็บกลับทันที “ร้องอย่างเดียวมันไม่ได้แสดงศักยภาพเต็มที่เนาะ เขียนอะไรได้ก็เขียนขายอะไรได้ก็ขาย บางคนอ่านข่าวด้วยขายคอลลาเจนด้วย หน้าพี่ดูใสดีกินอะไรหรือเปล่า” แต่เจี๊ยบไม่ยอมจนมุม “พี่กินคอลลาเจนเพราะอยากให้ข้อเข่ามันดี  ถ้าหน้าใสแล้วเดินแบบนี้ได้ไง…” ทำท่าขาเป๋เดินเซหันไปแซวผู้ชมหาตัวช่วย “ท่านรู้หรือไม่ว่ากระดูกหัวเข่ามี 3 ชิ้น” แต่จุดใต้ตำตอ เหล่าคุณหมอแถวใกล้เวทีพยักหน้ารับทันที “รู้ครับ” เล่นมุกเองได้ฮาเองแล้วบรรเลงต่อ

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

“จริงแล้วคนตัดฟืนกับนายพรานเป็นคนเดียวกัน มันหิวเพราะดักสัตว์ไม่ได้ ที่บ้านก็ไม่มีอะไรกิน เงินที่ฝากเอาไว้ห้าแสนกับเจ็ดบาท แม่งก็ไม่เข้าเกณฑ์” ได้ฮากันกรามเคลื่อนกับเงื่อนไขในการแจกเงิน Digital Wallet 10,000 บาท ที่กำหนดว่า ต้องเป็นประชาชนคนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป มีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาท/เดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท (นับเฉพาะในระบบเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทุกบัญชี ไม่รวมฉลากออมทรัพย์ การลงทุนในกองทุน ตลาดหลักทรัพย์ และบัญชีเงินฝากสหกรณ์ เริ่มใช้ พฤษภาคม ปี 2567 หมดเขต เมษายน ปี 2570)

เจี๊ยบยังคร่ำครวญต่อจนพอใจ ในนามประชาชนชาวไทยผู้ยากไร้ทั้งแผ่นดิน “แทนที่จะได้เงินช่วยเหลือก็ไม่ได้ ค่าแรงบอก 450 ยังได้ไม่ถึง 400 เลย กูเก็บได้ 370 อ่ะ… แล้วจะร้องไห้ทำไม (หยุดทันทีเมื่อได้คิดว่าไม่มีประโยชน์) … พรานถือขวานเดินขึ้นเทือกเขาบรรทัด ไปเจอเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งจูงหมามาตัวหนึ่ง นายพรานเข้าไปถามทาง เจ้าหน้าที่บอกอย่าขึ้นไปมันอันตรายมาก ๆ” จุ้ยถามแทนท่านผู้ชมว่า “เจ้าหน้าที่หน่วยงานไหน จะได้ไม่ต้องสงสัยไง” แต๋งตอบแทนว่า “ตำรวจ” ทุกคนฮือฮาเห็นด้วยกับตำแหน่งที่มอบให้เจ้าหน้าที่ ดูเหมือนจะเดาทางเรื่องได้แล้ว

“มีผีป่าดุมาก มีไข้ป่าเป็นมาหลายคนแล้ว มีตัวต่อต่อยโป้งเดียวเท่านั้นเละเป็นโจ๊กเลย” ดี้ชงมุกสงสัยถาม “ตัวต่อที่ไหนต่อยเละเป็นโจ๊ก? โจ๊กก็เป็นโจ๊ก ต่อก็คือต่อ” จุ้ยตอบแทนว่า “โจ๊กกองปราบ แล้วที่กองปราบรู้ไหม ต่อไหน?” เจี๊ยบตอบทันที “ต่อศักดิ์” จุ้ยสะใจ “ต้องเล่นกันระดับนี้ ผมจะพยายามดันให้สุดเลยวันนี้” ฮาสนั่นกันถี่ๆ ไม่มีพัก เกี๊ยงทนไม่ไหวถามว่า “ตำรวจขึ้นไปบนภูเขาไปหาอะไรพี่” เจี๊ยบอ้อมแอ้มตอบแทนตำรวจว่า “เขาก็ไปหาลักฐานอะไรบางอย่าง” เกี๊ยงต่อมุก “ไอ้ผงขาวๆ ใช่เปล่า” ดี้เสริมว่า “Soft Powder” ผู้ชมฮาอื้ออึงกับมุกผง ‘แป้ง’

เจี๊ยบยังไม่จบ “นายพรานก็เลยถามเข้าป่ามาทำไม? จูงหมามาทำไม? เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่า คือพวกผมมากันเยอะๆ ขนาดนี้ หลายคนบอกว่า “ไม่เห็นจับหมาได้สักตัว” นี่ไงได้แล้วตัวหนึ่ง (ชี้หมาทิพย์) นายพรานก็เลยขึ้นเขาลัดเลาะไปเจอบึงน้ำใหญ่ มีต้นไม้ขึ้นสวยงามพร้อมให้ตัดขายได้ เงื้อขวานขึ้นมา (ทำท่าฟัน) ฟุ๊บ! ขวานตกน้ำไป ร้องไห้เสียงดัง เงินในบัญชีกูห้าแสนเกินมาเจ็ดบาทก็ไม่เข้าเกณฑ์ วนมาเรื่องนี้อีก” มีแซวตัวเอง “เทพารักษ์ดูแลป่าสงสารออกมาช่วย ถาม ‘เจ้าเป็นไรถึงร้องไห้’ เทพารักษ์ตอบว่า เอ๊ะไม่ใช่สิเริ่มมั่วแล้ว” เนียนเปลี่ยนมุกได้อีก แต๋งต้องช่วยด้น “เทพารักษ์แถวสำโรง” ถึงรอด “ขวานตกน้ำนายพรานเข้าใจเลยลงไปงมขวานขึ้นมาให้เทพารักษ์ เอ๊ะไม่ใช่สิเอาใหม่ เอาใหม่”

 

 

“เทพารักษ์ไปงมขวานเก่าขึ้นมาให้นายพราน นายพรานว่า อ้าว! ไม่เหมือนที่ข้าเคยได้ยินมานะ ‘ข้าเคยได้ยินว่าเทพารักษ์งมขึ้นมาครั้งแรกพบขวานเงิน พรานบอกไม่ใช่ งมครั้งที่สองพบขวานทอง พรานบอกไม่ใช่อีก งมครั้งที่สามขวานเหล็ก พรานบอกใช่ของข้า เทพารักษ์เห็นว่าซื่อสัตย์ยกให้หมดเลย เรื่องเป็นแบบนี้นะ’ เทพารักษ์ตอบว่า ‘อ๋อเจ้าเคยได้ยินแบบนั้นใช่ไหม นั่นมันเป็นวาทกรรมตอนหาเสียง’ ในป่านี้เวลาหาเสียงกับตอนทำมันทำอีกอย่างเสมอ” ฮาตกเก้าอี้ไปหลายสิบรายกับมุกนี้ ดี้ไม่ยอมเข้าใจให้เหตุผล “เพราะว่าถ้าจะงมได้ต้องผ่านกฤษฎีกาก่อน แล้วถึงจะเข้า ครม.” (พระราชกฤษฎีกา - บทกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นเพื่อใช้ในการบริหาร) เจี๊ยบอึ้งเพราะลืมข้อนี้ไปจนต้องขอให้พอก่อน

เจี๊ยบยังไม่ยอมจำนน “ขวานเงินขวานทองไม่เป็นไร ขวานจริงต้องอันนี้แหละคือ มันต้องกู้” จุ้ยอดรนทนไม่ไหวขอแจมแถมคำถาม “ที่ว่าจะได้ 10,000 นี่มันเป็นพวก Call center มั๊ยพี่ว่า ?” ผู้ชมฮาสนั่นพร้อมกันทั้งโรงอีกแล้ว เจี๊ยบเล่าต่อ “ใช่พี่โดนโทรมาทุกวัน เรื่องบัตรเครดิตอย่างโน้นอย่างนี้ เขาเป็นพนักงานธนาคารจริง ๆ (ฮา) เขาบอกเขาจะแจ้งความ ถ้าโทรแบบเห็นหน้ากันพี่ก็จะยกมือไหว้เลย ขอโทษ ๆ คือก่อนหน้านั้นโดนมาดอกหนึ่งแล้วไง ขวานดิจิทัลต้องกู้แต่มันกู้ไม่ได้เพราะว่าติดกฤษฎีกา เพราะถ้ากู้ไปเทพารักษ์ที่ร่วมกันจะติดคุกหมด!” กวาดมือไปยังผู้ชมที่กำลังอ้าปากฮาอย่างทั่วหน้าทั่วถึง

แต๋งป่วนขึ้นมาอีก “แล้วไง ติดคุกมันจะเป็นยังไง” เจี๊ยบเหลืออด “การติดคุกมันก็ไม่สบายใจสิ ไม่เคยติดคุกเหรอ มาถึงตั้ง 100 วันแล้วยังไม่ติดคุกเลย” แต่ละมุกโดน! สนุกสนั่น “ในที่สุดนายพรานก็ได้แต่ขวานเก่า เทพารักษ์หายตัวไปเรียบร้อย พรานเดินสูงขึ้น ๆ ไปเจอกับดักอีกแล้ว มีคนดักเอาไว้เป็นตู้เหล็กใหญ่ ๆ 38 ตู้คอนเทนเนอร์เรียงกัน มีใบสำแดงเอาไว้ว่ามันคือ ‘หัวปลาแซลมอน’ นายพรานไม่ได้กินหัวปลาแซลมอนมาตั้งนานอยากกินมาก เปิดตู้มาเจอ ‘หมูเถื่อน’ ทำเสียงตกใจมาก

อยู่ ๆ ดี้บอกมีโทรศัพท์เข้า “เขาโทรมาบอกว่ามี 10 กิโล ช่วยจัดการที” เจี๊ยบนึกขึ้นมาได้ “คราวก่อนที่เขาให้มา 2 โลไง คราวนี้จะให้ 10 โล” ดี้เฉลย “คราวนี้เป็นหมูแผ่นมั้ง แลกกันคราวก่อน 10 กิโลเท่ากับ 1,000 บาท” เจี๊ยบต่อรองของเป็น 12 ถึงจะหาร 3 หน่วย ลงตัว” ดี้เตือนสติ “เราก็เหมือน ครม. (คณะรัฐมนตรี) ถ้าติดก็ติดทั้งคณะเหมือนกัน” ผู้ชมส่งฮาเอาใจช่วย เจี๊ยบไกล่เกลี่ย “ไม่มีอะไร 10 โลที่ว่านี่ ศุลกากร ประมง แล้วก็…” อ้อมแอ้มพูดอะไรในลำคอ แล้วสรุป “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจศุลกากร !” … ม่านโปร่งแสงถูกดึงขึ้นให้มองเห็นด้านหลังมีนักดนตรี 35 ชีวิต นั่งเรียงกันบนชั้นอัฒจันทร์ลดหลั่นสามขั้น บรรเลงส่งผู้ชมจนโน้ตตัวสุดท้ายสิ้นเสียง ฝากไว้เพียงความประทับใจไม่รู้ลืม … ปิดช่วง Talk ที่เผ็ดร้อนด้วยเสียงอ่อนละมุนอุ่นใจของจุ้ยกับ “นิทานหิ่งห้อย” เรียงร้อยจนจบเพลง …

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เด็กน้อยนอนหลับสบายอมยิ้มละไม
ใต้หมอนไม่มีกล่องอะไร ไม่มีสิ่งใดใดถูกขัง
นอนคืนนั้นจึงฝันดี ฝันเห็นดวงดาวมากมาย
ฝันเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม .

 

ด้านล่างเวทีดารดาษไปด้วยทะเลดาวที่เกิดจากการกวัดไกวด้วยไฟโทรศัพท์กว่า 1,900 ดวง เต็มพื้นที่ทั้งสามชั้นของ Concert Hall มหิดลสิทธาคาร เป็นช่วงเวลา Magic Moment ทำให้นึกถึงที่มาของเพลง ซึ่งมีกระบวนการทางความคิดที่เข้าถึงชีวิตกับธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้งของผู้ประพันธ์ พี่จิก ประภาส ชนศรานนท์ เคยสื่อทัศนะสอนน้องให้มองอะไรรอบตัวไม่ฉาบฉวย ในสิ่งสวยงาม มีความจริงอิงสัจธรรม โลกของความฝันและจินตนาการงดงามหล่อเลี้ยงจิตใจ

 

“หิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่มหัศจรรย์มาก เหมือนเทพนิยาย ดวงไฟเล็ก ๆ ที่บินได้เวลาอยู่รวมกันเยอะ ๆ แล้วมันเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ เหมือนฉากหนึ่งในความฝันของเด็ก ๆ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเป็นแสงของแมลงหน้าตาน่าเกลียดตัวหนึ่ง เคยเห็นไหม... เหมือนเหลือบ หิ่งห้อยเป็นตัวแทนของธรรมชาติที่แสนมหัศจรรย์ได้อย่างดีความงามของมันเป็นความงามที่ห้ามกักขัง ธรรมชาติก็เช่นกัน เราขังเขาไม่ได้เลย และถ้าผมจะเลือกตัวแทนของความฝันแห่งวัยเยาว์ ผมก็จะนึกถึงหิ่งห้อยก่อนเป็นลำดับแรก ผู้ใหญ่ทุกคนมีโลกอีกโลกหนึ่งของตัวเอง โลกในวัยเด็กที่บริสุทธิ์สวยงาม และทุกคนก็มีหิ่งห้อยเป็นกุญแจนำไปสู่โลกแห่งความฝันของ ตัวเอง ทุกคนมีหิ่งห้อยคนละตัว เราปล่อยให้มันบินอยู่อย่างอิสระหรือเปล่า เราขังมันไว้หรือเปล่า หรือเราได้ฆ่ามันเสียแล้ว…”  

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

ลูกไม้ใต้ต้นของคนสร้างเพลง

เมื่อครั้งคอนเสิร์ต “เรื่องราวบนแผ่นไม้” ปี 2543 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คอนเสิร์ตเปิดฉากด้วยเด็กน้อยคนหนึ่งอายุประมาณ 8 ขวบ ในชุดนักเรียนเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์เพลงสรรเสริญพระบารมี ภูษิต ไล้ทอง ผู้เป็นพ่อเซอร์ไพรส์อย่างภาคภูมิใจ “ลูกชายผมเองครับ” วันนั้นมีเพียงน้อง “ต้นไม้” วันนี้มีอีกคนน้อง  “ต้นน้ำ” นักศึกษาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเล่นดนตรีแบ็คอัพให้พ่อกับเพื่อนอยู่ข้างหลัง เรียกเสียงปรบมือร่วมภาคภูมิใจในผลผลิต

หลังฮาสนุกกันจนเมื่อยกรามแล้ว เกี๊ยงก็ชวนครวญเพลงซึ้งตรึงทุกคนด้วย “ยังมี” เสียงหล่อละมุนอบอุ่นมาก ตามมาด้วยสาวสวยเสียงหวานกังวานใส นำความสุขลึกมาแบ่งปันให้แฟน ๆ ร่วมรู้สึกตั้งแต่ประโยคแรกจนถึงประโยคสุดท้ายของเพลง โดยเฉพาะช่วงที่เรียกน้ำตาแห่งความปิติ ตื้นตันใจไปกับท่อนทองของเพลง ซึ่งบอกความสัมพันธ์ลึกซึ้งสื่อถึงเยื่อใยของคนที่รักกันในทุกสถานะ เป็นขณะเดียวกับที่บางคนอาจน้ำตาไหลเพราะรู้สึกทั้งเศร้าและเหงาจับใจในช่วงเวลาเดียวกัน… ผู้ประพันธ์ร่วมรับรู้…

 

“วันใดที่เธอมีเพื่อนรุมล้อมเธอหรือยังมีใคร เธอก็จะไม่เห็นฉันเลยคนดี
แม้วันใดหัวใจเธอพ่าย จะมาแพ้ไปกับเธอ
และถ้ามีวันใด น้ำตาเธอเอ่อ จะร้องไห้เป็นเพื่อนกัน…”

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “แค่มี” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เพลง : ยังมี
คำร้อง / ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์

 

เธอเคยบอกว่าเธอไม่มีแม้ใครสักคนหนึ่ง
คงลืมว่าอย่างน้อยยังมีฉันไง
วันใดที่เธอมีเพื่อนรุมล้อมเธอหรือยังมีใคร
เธอก็จะไม่เห็นฉันเลยคนดี
แม้วันใดหัวใจเธอพ่าย จะมาแพ้ไปกับเธอ

และถ้ามีวันใด น้ำตาเธอเอ่อ
จะร้องไห้เป็นเพื่อนกัน

หากเธอสมหวังในวันหนึ่ง
ให้รู้ว่าฉัน ยังแอบเห็นและชื่นชม
หากเธอท้อแท้ฉันยังอยู่
หากแม้นไม่เห็นฉัน
จงโปรดรู้ไว้ว่าเธอ ใช่อยู่คนเดียว

เธอเคยบอกว่าเธอไม่มีแม้ใครสักคนหนึ่ง
คงลืมว่าอย่างน้อยยังมีฉันไง
วันใดที่เธอมีเพื่อนรุมล้อมเธอหรือยังมีใคร
เธอก็จะไม่เห็นฉันเลยคนดี
แม้วันใดหัวใจเธอพ่าย จะมาแพ้ไปกับเธอ

และถ้ามีวันใด น้ำตาเธอเอ่อ
จะร้องไห้เป็นเพื่อนกัน

หากเธอสมหวังในวันหนึ่ง
ให้รู้ว่าฉัน ยังแอบเห็นและชื่นชม
หากเธอท้อแท้ฉันยังอยู่
หากแม้นไม่เห็นฉัน
จงโปรดรู้ว่ายังมี

หากเธอสมหวังในวันหนึ่ง
ให้รู้ว่าฉัน ยังแอบเห็นและชื่นชม
หากเธอท้อแท้ฉันยังอยู่
หากแม้นไม่เห็นฉัน

จงโปรดรู้ไว้ว่าเธอ ใช่อยู่คนเดียว

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “แค่มี” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

จบเพลงซึ้ง เกี๊ยงดึงทุกคนออกจากภวังค์ ผายมือไปยังสาวน้อยด้านข้าง แนะนำอย่างภาคภูมิใจ “ลูกสาวครับ” น้องแก้ม กำลังศึกษาอยู่ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังสอบติดทั้งสองสถาบัน (ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล) แต่เกรงใจพ่อ-แม่ต้องรับส่งไกลบ้าน ตัดสินใจเลือกสถาปัตย์เพราะชอบวาดรูปเป็นทุนเดิม น้องแก้มเรียบร้อยน่ารักมาก เคยขึ้นเวทีกับพ่อมาแล้วเมื่อตอนอายุ 2 ขวบ คอนเสิร์ต “เหตุเกิดที่...เฉลียง : งานดนตรีบำบัด ถาปัดจัด เฉลียงโชว์” อิมแพ็ค อารีน่า 30 มิถุนายน 2550 ในเพลง “พ่อกล่อมลูก” ที่ เจี๊ยบ แต๋ง ดี้ ขนลูก ๆ มาร่วมร้องด้วย แม้วันนี้ 19 ปีแล้ว ยังสำรวมกริยาตลอดเวลายืนยันว่า “ตื่นเต้นมากค่ะ” ต่างกับขณะที่ร้องเพลงคู่กับพ่อ น้องดูมีความมั่นใจ หนักแน่น  นิ่ง และเปี่ยมพลัง เห็นถึงการปลูกฝังอย่างมีคุณภาพของครอบครัว ความมีวุฒิภาวะที่เป็นผู้ใหญ่เกินอายุ

ช่วงคัดเพลง พ่อเกี๊ยงคิดหนักจะเลือกเพลงไหนให้เหมาะสมกับวาระพิเศษที่สุด “แรกผมนึกถึงเพลง “น้อยใจ” ที่ผมแต่งทั้งเนื้อร้อง-ทำนอง ตอนนั้นโปรดิวซ์ให้พี่ตุ๊ก เป็นชุดที่ขายดีที่สุดของพี่ตุ๊กเลยนะครับ” (วิยะดา โกมารกุล ณ นคร ชุด “ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน”) “มาคิดอีกทีเด็กขนาดนี้จะอารมณ์น้อยใจทำไมในเมื่อพ่อก็เลี้ยงดี๊ดีเลยไม่เอาดีกว่า มีอยู่เพลงที่ผมรู้สึกมากว่าเหมาะกับเราที่สุดเลย น้อยคนจะเคยได้ยิน คนที่เรียนสถาปัตย์อาจจะเคยได้ยินบ้าง เป็นเพลงที่ผมแต่งให้กับคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ  แต่ผมว่าเหมาะที่จะเล่าเรื่องพ่อลูกคู่นี้มาก ๆ เลยครับชื่อเพลง “จากกระดาษ วาดไว้” (แต่งเมื่อปี 2562 ครั้ง ละคอนเสิร์ต “ครบเด็กสร้างบ้าน” วาระ 72 ปี สถาปัตย์ จุฬาฯ) ทุกคนรับรู้ได้ถึงความสุขจากความรักความภูมิใจในตัวลูก

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “จากกระดาษวาดไว้” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 

 “จากกระดาษ … วาดไว้”

คำร้อง / ทำนอง เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
ขับร้อง รัณนภันต์ ยั่งยืนพูลชัย (แพท วงเคลียร์)
เรียบเรียง อพิสิษฎ์ ณ ตะกั่วทุ่ง
อำนวยการผลิต จักราวุธ แสวงผล

                                  

ในวันวานมองบ้านที่เธอสร้างกัน เธอเขียนเธอวาดความฝันให้ฉันดู
ฉันยังเด็กเยาว์วัย และยังไม่ค่อยรู้ ฉันเฝ้าดูด้วยความสนใจ
วันต่อมา ได้มาอยู่ใกล้กัน เธอสอนให้วาดความฝันด้วยกันไป
ฉันจึงได้เรียนรู้ เรื่องราวอะไรมากมาย จากกระดาษวาดไว้กลายเป็นเรื่องจริง

เป็นบ้านที่สร้างจากฝัน เป็นที่ที่เราได้พบกัน เป็นความทรงจำมากมายหลายสิ่ง
เป็นที่มีเพลงขับขาน เป็นเพลงของเด็กสร้างบ้าน เป็นเพลงของวันเวลาประทับใจ

ในวันนี้ขอบคุณที่พบกัน เด็กน้อยเมื่อวานวันนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่
วันนี้ฉันสร้างความฝัน ที่ฉันวาดมันทั้งใจ ตรงหน้านั่นเธอใช่ไหมที่มานั่งดู

วันต่อมา ได้มาอยู่ใกล้กัน เธอสอนให้วาดความฝันด้วยกันไป
ฉันจึงได้เรียนรู้ เรื่องราวอะไรมากมาย จากกระดาษวาดไว้กลายเป็นเรื่องจริง

เป็นบ้านที่สร้างจากฝัน เป็นที่ที่เราได้พบกัน เป็นความทรงจำมากมายหลายสิ่ง
เป็นที่มีเพลงขับขาน เป็นเพลงของเด็กสร้างบ้าน เป็นเพลงของวันเวลาประทับใจ

ในวันนี้ขอบคุณที่พบกัน เด็กน้อยเมื่อวานวันนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่
วันนี้ฉันสร้างความฝัน ที่ฉันวาดมันทั้งใจ ตรงหน้าเป็นเธอใช่ไหมที่มานั่งดู
ตรงหน้านั่นเธอใช่ไหมที่มานั่งดู

 


Photo : chaliangfc.fandom.com

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

ลายไม้บนแผ่นไม้

ทุกคนในวงเฉลียงมีเพลงประจำตัวที่ถูกวางให้เข้ากับบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอและมีเพลงที่ร้องรวม ต่างรับรู้ได้ว่าเป็นเพลงแต่งพิเศษสำหรับทุกคนในวง ส่งความรู้สึกผูกพันระหว่างคนทำงานกับแฟนเพลง เช่น “เรื่องราวบนแผ่นไม้” หวาน เศร้า แต่เข้าถึงทุกความเป็นไปในวัฏจักรชีวิต และเพลงใหม่ล่าสุดที่แต่งสำหรับ “เฉลียง RareItem” (26-27 สิงหาคม 2566) และ “เฉลียง RareItem RESTAGE” (9-11 ธันวาคม 2566) คือเพลง “ยังคงเอกเขนก” ที่มีท่วงทำนองและเนื้อร้องที่ทำให้คิดถึงเพลง “เอกเขนก” ที่โด่งดังในอดีต ประหนึ่งจะย้ำเตือนถึงวันเวลาที่ผ่านมาและปัจจุบันที่เป็นอยู่ ชาวเฉลียงยังคงสบายดี ชิว ๆ กับชีวิต ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นมายา ทว่ามองโลกอย่างเข้าใจไม่เพียง มองผ่าน แต่มองให้ ทะลุ ภายใต้บุคลิกน่ารัก นุ่ม ๆ เนิบ ๆ เนือย ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบสุขนิยมแต่คมในฝัก คอยตักเตือนเพื่อนทั้งผองอย่างผู้เฝ้ามอง… เป็นพี่ใหญ่ของน้อง ๆ ที่คอยปกป้องอยู่ห่าง ๆ  ระหว่างเรามีเงาของเสียงเพลงบรรเลงอยู่ในใจ ขอเพียงเจ้ายืดหยุ่นกับชีวิต ไม่นานวิกฤติก็จะผ่านไป…

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เพลง “ยังคงเอกเขนก”

คำร้อง / ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์
เรียบเรียง โดม ทิวทอง

 

พร้อมจะพัก และพร้อมจะเพียร พิงหลังนั่งเรียน เหยียดขาหาความรู้
บางคราวก็เป็นศิษย์ บางกิจก็เป็นครู แบ่งปันเรียนรู้ กันแบบสบาย สบาย

พร้อมจะฝัน แม้วันมันจะเก่า ต่อให้ตาเริ่มยาว ผมขาวสักเท่าไร
บางคราวก็หงุดหงิด เมื่อชีวิตไม่ได้ดังใจ เราก็มองเลยไป ไปถึงวันที่มันจะดี

ยังคงสบาย ยังหัวใจเอกเขนก ยังได้มองผู้คน แบบไม่สนตัวเลข
ยังมองท้องฟ้าผืนป่าสีเขียว บางทีก็มองคนเดียว บางทีก็มองกับเด็กเด็ก

ชีวิตมีรัก เอาไว้ชักนำ แต่ถ้าเพลี่ยงพล้ำ ก็อย่าให้นำมากไป
จะเร่งจะเร้า เหยียบดาวดวงอื่นทำไม โลกเรากว้างไกล ทั้งสายใจและสายตา

ไม่ใช่ขี้เกียจ ไม่ใช่แชเชือน แต่อยู่ในโหมดคอยเตือน แบบสแตนบาย
แดดลมก็อ่อนอ่อน เอนนอนตอนสายสาย ผึ่งพุงผ่อนกาย แบบหัวใจไม่เกกมะเหรก

ยังคงสบาย ยังหัวใจเอกเขนก ยังได้มองผู้คน แบบไม่สนตัวเลข
ยังมองท้องฟ้าผืนป่าสีเขียว บางทีก็มองคนเดียว บางทีก็มองกับเด็กเด็ก

ยะเราก็ยะเนิบเนิบ เปิบเราก็เปิบทีละคำ หรอยเราก็หรอยเป็นประจำ
เห็นเด็กตูดดำ เราก็ฮัมเป็นเพลง ตูดแช่น้ำแล้วเดินต่อไป

เดินอีกไม่เท่าไร มันก็คงแห้งเอง แดดส่องมาแค่ให้โดนกางเกง
ธรรมชาติบรรเลง ด้วยบทเพลงแห้งกรัง

พร้อมจะพบ และพร้อมจะผ่าน เหตุการณ์ที่เบิกบาน สุขสมสักเท่าไร
ต่อให้เป็นเรื่องโศกศัลย์หรือหวั่นใจ มันก็ผ่านเลยไป ในไม่นานไม่นาน

นั่งเอนหลัง มองและฟังทุกทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือว่าเป็นเรื่องชวนฝัน
เมฆน้อยลอยคว้าง เปลี่ยนรูปร่างได้ทุกวัน เซลล์ในตัวก็คือกัน เปลี่ยนผันไปไม่เหมือนเดิม

ยังคงสบาย ยังหัวใจเอกเขนก ยังได้มองผู้คน แบบไม่สนตัวเลข
ยังมองท้องฟ้าผืนป่าสีเขียว บางทีก็มองคนเดียว บางทีก็มองกับเด็กเด็ก

ยังคงสบาย ยังหัวใจเอกเขนก ยังได้มองผู้คน แบบไม่สนตัวเลข
ยังมองท้องฟ้าผืนป่าสีเขียว บางทีก็มองคนเดียว ยังหัวใจเอกเขนก

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “ เรื่องราวบนแผ่นไม้” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 

เพลง “เรื่องราวบนแผ่นไม้”

 

แผ่นไม้ดูไกลๆ เหมือนเดิม ถูกเสริมเป็นบางแผ่น
เฉลียงดูเอียงๆ เหมือนแอ่น แต่ไม้ยังแกร่งทน

ห่างหายไปก็นานหลายปี ได้หวนคืนมาอีกหน
เอนหลังนั่งพิงราวถามถึงผู้คน อยากรู้เป็นอย่างไร

มะลิยังอบอวลชวนดม ยินเสียงเจียวไข่ดังไกลๆ
นึกถึงคนหนึ่งคนเอมใจ ชายตาบอดกับชบาต้นนี้

ถามถึงคนอีกคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้เธอเป็นครูประถมสี่
เด็กเรียกคุณครูใจดี สารภีคือชื่อเธอ

มุดหาลงใต้ราวระเบียง ถามหาเจ้าแมงมุมชักใย
ท่อน้ำที่พาดขวางข้างใน มันหยดซึมจนมีตะไคร่น้ำ

ไม้นี้คงเก่าไปตามกาล ชีวิตคงเก่าไปด้วยกรรม
เรื่องราวบนแผ่นไม้ถูกทำ ให้เราไว้นั่งดู

(เรื่องราวบนแผ่นไม้จดจำ ให้เราไว้นั่งดู)

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

กลุ่มคนดูของเฉลียงเป็นผู้ชมที่เสพศิลป์เป็นอาหารสมองสนองใจ นอกจากได้ฟังเพลงดี ทั้งดนตรีและเนื้อหาที่ส่งสาร  การได้รับฟังทัศนคติต่อสิ่งเล็กใหญ่ใกล้ตัวที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้อารมณ์ขันคลาสสิค แม้จิกกัดเห็บหมัดของสังคมแต่ กริยา-ภาษา ไม่ต่ำตม จึงเป็นที่ชื่นชมในเสน่ห์ตามธรรมชาติของกลุ่มคนหนุ่มอารมณ์ดีที่ชื่อ “เฉลียง” เหมือนได้นั่งชมคอนเสิร์ตที่เปิดการแสดงบนระเบียงบ้าน เพราะบรรยากาศที่สบายๆ ผ่อนคลาย ต่อให้มีแต่เพลงเก่า ทุกคนก็ยินดีมีความสุขกับนักร้องที่เป็นตัวจริงเสียงจริง ร่วมทิ้งปัจจุบันฝันถึงอดีตไปด้วยกันชั่วขณะ เพื่อเก็บความประทับใจกลับไปเป็นที่ระลึก…

ในช่วงท้ายสุด ไม่มีคำว่า ‘ครั้งสุดท้าย …’ ให้ใจหายอีกแล้ว ไม่ต้องลา ไม่ต้องร้องไห้ หากยังมีใจถึงกัน ทุกสิ่งที่รังสรรค์จะเชื่อมความสัมพันธ์ใจต่อใจ ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตวันข้างหน้าจะเป็นยังไง ขอให้มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะที่เรายังมีกันและกัน ก็พอแล้ว หวังจะได้พบกันใหม่ในปีต่อ ๆ ไป ยืนยันความในใจจากตัวแทนคนดู สรุปเป็นความเห็นตรงกันว่า “ล้ำค่าและหายากจริง ๆ”

  • เราจะรอดูจนกระทั่งทุกคนถือไม้เท้าขึ้นเวทีครับ
  • ความบ้า ความไม่ปกติ ความพิเศษไม่เหมือนใครค่ะ
  • ความเอียง ๆ ทางความคิดของพี่เขาที่มัน ฉีก ๆ เฉียง ๆ ซึ่งมันจะไม่ตรง
  • แม้ตัวเล็กรุ่นหลานยังหวานว่า “อยากขอดูเฉลียงอีกสัก 10 ครั้งครับ”

 


เฉลียง Rare Item RESTAGE : “ไม่รักแต่คิดถึง” 10 ธันวาคม 2566 : มหิดลสิทธาคาร

 


Photo : FB : เฉลียง Rare Item

 

เอกสารอ้างอิง