ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

24
สิงหาคม
2567

Focus

  • บทความนี้ผู้เขียนเล่าถึงเรื่องราวของละครร้องเพลงเฉลียงเรื่อง นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัลที่จัดทำโดย Workpoint Entertainment และมีผู้กำกับคือ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด โดยมีรอบการแสดงเมื่อวันที่ 19-21 และ 26-28 กรกฎาคม 2567
  • นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล มาจากบทเพลงของ “เฉลียง” วงดนตรีที่เริ่มทำเพลงชุดแรก “ปรากฏการณ์ฝน” ในปี 2525 โดยผู้บุกเบิกจากคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ 3 คน ได้แก่ ประภาส ชลศรานนท์ [1], นิติพงษ์ ห่อนาค และ วัชระ ปานเอี่ยม นำเสนอต่อ พี่เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ โดยบทเพลงของ “เฉลียง” ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้เป็นปีที่ 42

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

เพลง "นิทานหิ่งห้อย"

ขับร้อง : ศุ บุญเลี้ยง / ด.ญ ศลินา เพ็ชรอินทร์ (344)
ประพันธ์คำร้อง / ทำนอง : ประภาส ชนศรานนท์

เรียบเรียง : ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์

เด็กน้อยได้ยินเรื่องราวกล่าวขานมานาน
หากใครได้จับหิ่งห้อยมาเก็บเอาไว้ใต้หมอน
นอนคืนนั้นจะฝันดี จะฝันเห็นดวงดาวมากมาย
ฝันเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม

เด็กน้อยนั่งตักคุณยายไถ่ถามความจริง
ยายยิ้มกินหมากหนึ่งคำไม่ตอบอะไรส่ายหัว
ใจเด็กน้อยอยากเห็นจริง อยากเห็นดวงดาวมากมาย
อยากเห็นเจ้าชายเจ้าหญิง อยากฝันสวยงาม

หิ่งห้อยนับร้อยนับพัน
ส่องแสงระยิบระยับกัน สว่างไสวไปทั้งต้นลำพู
เด็กน้อยแอบออกมา ไล่คว้าแสงน้อยมาดู
ใส่ไว้ในกล่องงามหรู ซ่อนไว้ใต้หมอนแล้วนอนคอยฝันดี

ตื่นเช้าพอได้ลืมตา มองเห็นคุณยาย
มาแกล้งถามว่าเจอะอะไร สนุกแค่ไหนที่ฝัน
ใจเด็กน้อยจึงทบทวน ไม่ฝันเห็นอะไรมากมาย
รีบค้นเร็วไว ใต้หมอน เปิดฝานั้นดู

หิ่งห้อยในกล่องตอนนี้ เหมือนหนอนตัวหนึ่ง
ไม่สวยดังซึ่งตอนอยู่ ใต้ต้นลำพูส่องแสง
ยายจึงยิ้มแล้วสอนตาม จะมองเห็นความงามที่จริง
อย่าขังความจริง ไม่เห็น อย่าขังความงาม

เด็กน้อยนอนหลับสบายอมยิ้มละไม
ใต้หมอนไม่มีกล่องอะไร ไม่มีสิ่งใด ๆ ถูกขัง
นอนคืนนั้นจึงฝันดี ฝันเห็นดวงดาวมากมาย
ฝันเห็นเจ้าชาย เจ้าหญิง ฝันแสนสวยงาม

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

จากบทเพลงของ “เฉลียง” วงดนตรีสุดล้ำแห่งยุค 90 นับตั้งแต่เริ่มทำเพลงชุดแรก “ปรากฏการณ์ฝน” ในปี 2525 โดยผู้บุกเบิกจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ 3 คน ประภาส ชลศรานนท์[2], นิติพงษ์ ห่อนาค และ วัชระ ปานเอี่ยม นำเสนอต่อ พี่เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ (ก่อนการก่อเกิดของ Grammy Entertainment ในปี 2526) บทเรียนแรกแหวกวงการให้นักฟังเพลงตระหนักใน ‘เพลงไทยแนวใหม่’ แม้ไม่ประสบความสำเร็จด้านการตลาดนัก เฉลียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยอัลบั้มที่ 2 เมื่อปี 2529 จากชุด “อื่น ๆ อีกมากมาย” ตามติดด้วยชุดฮิตลำดับ 3 “เอกเขนก” ในปี 2530 ประสบความสำเร็จทุกด้าน แฟนเพลงหลายกลุ่มตกหลุมรัก ทุกคนได้ประจักษ์ด้วย ‘ลักษณะพิเศษ’ ผ่านบทเพลงว่า เราสามารถคิดใหม่ทำใหม่ไม่จำเป็นต้องย่ำอยู่ในขนบเดิม นักร้อง นักดนตรี ต่างรับแรงดลใจจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนใหม่ของวงการเพลงไทย จุดประกายให้เกิด ‘ปรากฏการณ์เฉลียง’ ต้นแบบ ‘เพลงสัญลักษณ์’ เปี่ยมปรัชญา ศาสนา ที่แฝงมากับความงามของบทกวีในเสียงเพลง สร้างนักฟังเพลงรุ่นใหม่ให้มีวิธีคิดใหม่ และเติบโตไปพร้อมกับรสนิยมใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะการฟังเพลงเท่านั้น แต่มันคือ Life Style

“เฉลียง” ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้เป็นปีที่ 42 แล้ว แทบทุกบทเพลงในทุกอัลบั้มรวมทั้งในบรรยากาศการแสดงสดทุกครั้งยังคงเป็นที่จดจำ และช่วงสำคัญในคอนเสิร์ตที่แฟนเพลงประทับใจให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฟังเพลงคือ การได้ฟัง พี่เจี๊ยบ วัชระ ปานเอี่ยม เล่า “นิทานหิ่งห้อย” จากเรื่องเล่าเคล้าข้อคิดถูกขุดมาขวิดการเมืองเล็กน้อย แม้ไม่ค่อยตั้งใจจะให้เป็น Talk Show แต่ก็โก้จนกลายเป็นช่วงรื่นรมย์ที่แฟนเพลงรอ แม้แฝงสัญลักษณ์ลุ่มลึก แต่ทุกคนก็สนุกนึกที่ได้ตีความตามเหตุการณ์ของยุคสมัย สมาชิกในวงต่างช่วยชงให้มีรสชาติขันคมขึ้น จนกลายเป็นธรรมเนียมในการแสดงคอนเสิร์ตของเฉลียง เพลงนิทานหิ่งห้อย ยังคงเดินทางต่อมาอีกหลายเวอรชั่น หนึ่งในนั้นมี “คอนเสิร์ตเพลงประภาส” เมื่อ 4-6 กรกฎาคม 2551 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการออกแบบพิเศษให้ ดีเจบ็อบบี้ นิมิตร ลักษมีพงศ์[3] เป็นคนเล่า เปิดเรื่องด้วยดการให้ความรู้เรื่องเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตรา ก่อนพากษ์เสียงแทนทุกตัวละครอย่างสนุก น่ารัก ได้อารมณ์เล่านิทานที่ต่างออกไปอีกแบบ  เช่นเดียวกับอีกหลายเวอร์ชั่นของพี่เจี๊ยบและคนอื่น ๆ ที่ถูกถ่ายทอดให้ล้ำ ไม่ซ้ำแนว

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ถึงวันนี้การเล่า “นิทานหิ่งห้อย” จากเพลงเด่นในอัลบั้มที่ 3 เอกเขนก ในแบบฉบับของ ‘เจี๊ยบจอมจ้อ’ ก็ส่งพลังพิเศษไปยังทีมงาน บริษัทโต๊ะกลม (ในเครือเวิร์คพอยท์) ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงทุกรูปแบบ รวมถึงละครเวทีด้วย จากเนื้อหาของนิทานเรื่องเล่าที่สร้างความประทับใจ จึงพัฒนามาไกลกลายเป็นละครประจำปีของ โรงละครเคแบงก์สยามพิคเนศ (K Bank SIAM PIC GANESHA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสะพานส่งผ่านบทเพลงของ ‘เฉลียงผู้สร้างตำนาน’ สู่นักร้อง นักดนตรี และแฟนเพลงทุกรุ่นให้ร่วมรังสรรค์ จนถึงปัจจุบันรวม 3 ครั้งในเวลา 8 ปี เวอร์ชั่นแรกจากโจทย์ที่ทำงานร่วมกับนักร้องผู้เข้าประกวด “นักล่าฝัน AF ALL STARS” กลั่นออกมาเป็นละคร “The Legend เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะ มิวสิคัล จัดแสดงวันที่ 2 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ณ เอ็มเธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จำนวน 17 รอบ / ครั้งที่ 2 ปี 2559 ในชื่อ “นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ” จัดแสดง 2 ครั้ง ช่วงแรก 8-9 ตุลาคม 2559 และ 28 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 รวมจำนวน 11 รอบ

จนถึงครั้งที่ 3 ในปีนี้ 2567เรามี “นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง” ด้วยแนวคิดจากเพลง “นิทานหิ่งห้อย” บนโจทย์ของการทำงานร่วมกับนักร้องขวัญใจวัยรุ่นวง 4 EVE และ ATLAS ครั้งนี้ น้องอ๊ะอาย (กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ) เด็กน้อยผู้รับบท ‘เด็กหญิง 344’ ในครั้งที่ 2 มารับบท ‘พระจันทร์’ ตัวนำฝ่ายหญิงในครั้งที่ 3 ด้วย นับเป็นการแสดงของนักร้องนักแสดงรวมรุ่นมาร่วมร้อง 26 เพลงไพเราะ เล่าผ่านเรื่องราวของสองอาณาจักรที่อยู่ขั้วตรงข้ามระหว่าง “มหานครแห่งตรรกะ” เมืองของมนุษย์ผู้บูชาลัทธิ ‘เหตุและผล’ ดำเนินชีวิตอย่างแกร่งในหลักการ ตรงข้ามกับ “อาณาจักรเอกเขนก” ดินแดนแห่งความรื่นรมย์ของมนุษย์ผู้มีความฝัน ใช้หัวใจและสัญชาตญาณเป็นสรณะ เมื่อวิถีแห่งจักรวาลนำตัวแทนของสองดินแดนมาพบกัน ความสัมพันธ์ต่างเผ่านำเข้าสู่การเรียนรู้ส่งคำถามสู่ผู้ชมต่อการเลือกใช้ชีวิตจัดแสดงเมื่อ 19-21/26-28 กรกฎาคม 2567 รวม 10 รอบ นับเป็นการส่งต่ออุดมคติในบทเพลงอมตะผ่านละครคอนเสิร์ตที่สุดประทับใจ ให้กับนักฟังเพลงรุ่นต่อไปอย่างสง่างาม ท่ามกลางตัวเลือกมากมาย…

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

การเดินทางของ “นิทานหิ่งห้อย”[4]

กำเนิดของเพลง “นิทานหิ่งห้อย” เริ่มปี 2529-2530 เมื่อพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ผู้แต่งเพลง กำลังเตรียมแต่งเพลงสำหรับอัลบั้มที่ 3 “เอกเขนก” พี่มีเรื่องราวของเด็กชายที่เชื่อว่า ‘การจับหิ่งห้อยมาใส่กล่องแล้วเก็บไว้ใต้หมอนจะทำให้คืนนั้นนอนฝันดี’ เป็นประเด็นทางความคิดที่รอเวลาจุดติด มันถูก Keep in mind ตลอด มาเป็นเวลา 7-8 ปี ตามวิธีทำงาน creative ของนักแต่งเพลง แต่ยังคิดไม่ตกว่าจะนำไอเดียนี้ไปสร้างสรรค์เป็นงานประเภทไหน เพลง เรื่องสั้น หรือวาดรูปเป็นนิทานสำหรับเด็ก จนกระทั่งได้ไปหมกตัวอยู่กับกลุ่มเพื่อนชาว’ถาปัตย์รุ่นเดียวกันที่บ้านนักเขียน ปินดา โพสยะ ขณะกำลังจะเดินเข้าบ้าน ได้พบหิ่งห้อยตัวน้อยบินผ่านหน้ามาให้แปลกใจ เพราะในระบบนิเวศเมืองที่ไม่น่าเอื้อต่อการมีอยู่ของน้องนัก เรื่องของเด็กชายจับหิ่งห้อยก็ลอยมาเหมือนจะเตือนว่า ‘อย่าลืมฉัน’ นั่นจึงเป็นเหตุให้พี่จิกเริ่มต้นเขียนเพลงนี้กับทำนองขึ้นข้างวงเหล้าในโอกาสต่อมา ขณะที่เพื่อน ๆ กำลังสนุกกับการดื่ม ร่างแรกของเพลงถูกนำเสนอกับ พี่ดี้ นิติพงศ์ ห่อนาค ที่พยายามจะใส่ดนตรีด้วยกีตาร์โปร่งตัวโปรด แต่ไม่สำเร็จ… พี่จิกเขียนบันทึกไว้ว่า

ยิ่งเขียนเพลงนี้ยิ่งพบว่ามันเป็นนิทานสำหรับผู้ใหญ่หัวใจเด็กมากกว่า  ผมได้ไอเดียการใส่คอร์ดเทนชั่นของนิติพงษ์ในครานี้ แม้จะดูไร้วิชาการไปหน่อยสำหรับการเรียบเรียงเสียงประสาน แต่ผมได้เอาความคิดนี้บอกกับ พี่ทรงวุฒิ ในตอนบอกให้แกเรียบเรียงเสียงประสานว่า ผมอยากให้เพลงนี้ไม่ใช่โฟลค์ซองแบบคอร์ดคันทรี่ง่าย ๆ แต่อยากให้ดนตรีมีความรู้สึกเป็นแจ๊สที่ให้ความลึกลับผสมกับความน่าเอ็นดู อยากให้รู้สึกว่าเพลงนี้มันมีการดำเนินเรื่องเหมือนความฝัน เหมือนเทพนิยายบ้านนอก พี่ทรงวุฒิเข้าใจทันทีเพราะแกเป็นคนเปียทางแจ๊สอยู่แล้ว พี่แกเรียบเรียงมาครั้งแรกผมก็ชอบเลย แล้วผมก็ขอให้แกช่วยสร้างดนตรีท่อนพิเศษด้วย นั่นคือท่อนโซโล่ที่ผมไม่อยากให้เหมือนท่อนปกติทั้งคอร์ดทั้งลีลา ผมบอกแกไปว่า มันคือท่อนความฝันของเด็กชายที่ไม่ได้ฝันดีอะไรเลย อยากได้ดนตรีแบบอึมครึมไม่เชิงสว่างนัก อยากให้รู้สึกว่ามันเหมือนฉากแม่มดกำลังปรุงยาอะไรทำนองนั้น ซึ่งพี่ทรงวุฒิก็ทำออกมาดีเหลือเกิน ดีกว่าที่ผมจินตนาการไว้อีก

เพลงนี้บันทึกเสียงร้องโดย ศุ บุญเลี้ยง ผมออกแบบไว้ว่าเสียงคนเล่านิทานนี้ต้องเป็นเสียงซื่อ ๆ ชวนฝัน ซึ่งคือเสียงของจุ้ยในวัยนั้นเลย หลังจากออกอัลบั้มไป เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงเอกอีกเพลงหนึ่งของวงเฉลียงที่ผู้คนพูดถึงกัน เป็นเพลงที่ไม่เคยขาดหายไปเลยในแทบทุกคอนเสิร์ต แถมหนำซ้ำเมื่อเข้าไปอยู่ในการออกแบบโชว์ วัชระ ปานเอี่ยม ก็จะเอาเพลงนี้มาทำทอล์คโชว์เล่านิทานอีกเรื่องสลับฟันปลาไปมากับเพลงนี้ ซึ่งในทุกครั้งก็จะเป็นนิทานประเภทที่พวกเราเรียกกันว่านิทานแดกดันการเมืองนั่นเอง ลีลาการเล่านิทานแซวการเมืองชวนขันของเจี๊ยบกับลีลาการร้องเพลงนุ่ม ๆ ชวนฝันของจุ้ยดูน่าจะย้อนแย้งกัน ไม่น่าอยู่ด้วยกันได้ แต่มันกลับเป็นโชว์ที่กลายเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทุกครั้ง”

 


photo : อัลบั้ม เอกเขนก - เฉลียง : ความทรงจำดี ๆ กับสตริงวันวาน ยุค '80-'90

 

“จงมีฝัน และอย่าขังความจริง” : 37 ปี นิทานหิ่งห้อย

 “จะมองเห็นความงามที่จริง อย่าขังความจริง ไม่เห็น อย่าขังความงาม”

เพลง “นิทานหิ่งห้อย” อยู่ในอัลบั้มชุด “เอกเขนก” ของวง เฉลียง วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2530 โดยค่าย คีตาแผ่นเสียงและเทป บุคคลสำคัญผู้สร้าง ‘ตำนานเฉลียง’ คือ ประภาส ชลศรานนท์ นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลงคนสำคัญ ศิลปินแห่งชาติ (ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล) ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเกิดกลุ่มนักร้องนักดนตรีล้ำยุค ที่คือความสำเร็จของวงการเพลงและเป็น ICONIC ของยุคสมัย แม้เมื่อมีการแสดงคอนเสิร์ต ละครเวที หรือบนเวทีการมอบรางวัลจากหลายสถาบัน ประภาสมักไม่ปรากฏตัว (ยกเว้น “คอนเสิร์ตเพลงประภาส” 4-6 กรกฎาคม 2551 แฟนเพลงปรบมือส่งเสียงต้อนรับยาวนาน) แม้กระนั้นพี่จิกก็เป็นกำลังใจสำคัญให้คนที่รักในบทเพลงแบบประภาสของวง เฉลียง ที่มีวิธีคิด ปรัชญาชีวิต ความรัก ฯลฯ รวมเป็นตัวตนของ ‘พี่จิก’ กับสมาชิกวง แทรกอยู่ในทุกอณูของเนื้อเพลงที่พี่จิกกลั่นจากใจมอบให้ทุกคน และจะปรากฎตนในมโนนึกทุกครั้งที่รู้สึกต้องการพลังใจ แม้ไม่พบกัน เพราะ 3 เหตุผล ที่มีผลต่อการสร้างสรรค์ศิลป์ใส่เสียงเพลงของ ประภาส ชลศรานนท์ (ผู้ให้กำเนิดทั้ง เฉลียง และ เวิร์คพอยท์ ที่ต่างเติบโตเคียงคู่ จากกูรูคนเดียวกัน)

 

ศิลปะมีหน้าที่ 3 อย่าง ชมชีวิต ชื่นชีวิต ชุบชีวิต

ชมชีวิต - งานศิลปะมันเล่าเรื่อง ทำให้เราเห็นว่าชีวิต มียากมีง่าย มีช้ามีเร็ว มีทุกข์มีสุข

ชื่นชีวิต - เพราะชีวิตมันงามตั้งแต่เกิดจนโตขึ้น แม้เมื่อถึงวันที่ชีวิตร่วงโรยก็งามของเขาอยู่ เราได้เห็นความงามของการเติบโต การแบ่งปัน การให้ การรับ เป็นความชื่นใจที่ศิลปะนำเสนอเรื่องเหล่านี้

ชุบชีวิต - ศิลปะชุบชีวิตคนจริง ๆ ผมมีความสุขที่เพลงของผมทำให้คนฟังกลับไปหาคนที่เขารักได้ กลับไปขอโทษคน ลุกขึ้นมาสู้ชีวิตใหม่ นี่คือหน้าที่ของงานศิลปะครับ

 


photo : เร่ขายฝัน (บน) กับ นิทานหิ่งห้อย (ล่าง) :  Prapas Cholsaranong
สองภาพนี้ คล้ายกันโดยบังเอิญ แม้จะถูกถ่ายในเวลาที่ห่างกัน 37 ปี”  [5]

 

พี่จิก บันทึกถึงความสัมพันธ์ของ “เร่ขายฝัน”[6] กับ “นิทานหิ่งห้อย” ไว้ว่า

- ทั้งสองเพลงเป็นเพลงของเฉลียงทั้งคู่ และทั้งสองเพลงอยู่ในอัลบั้มเดียวกัน นั่นคือ อัลบั้ม “เอกเขนก”

-เนื้อเพลงของทั้งสองเพลงพูดถึงความฝันเหมือนกัน แต่พูดคนละประเด็น

-แก่นของทั้งสองเพลงได้ถูกนำมาใช้เป็นแกนของบทละคร “นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล” ทั้งคู่ และละครเพลงเรื่องนี้เมื่อครั้งเปิดแสดงครั้งแรกใช้ชื่อว่า “เร่ขายฝัน”

-วัชระ ปานเอี่ยม เป็นผู้ชายที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งสองเพลงอย่างมาก นั่นคือ เพลง “เร่ขายฝัน” เขาเป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียง ส่วน “นิทานหิ่งห้อย” นั้นแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียง แต่ทุกครั้งในคอนเสิร์ตเฉลียง แทบจะเป็นประเพณีไปแล้วว่าเขาจะเป็นผู้เล่านิทานอีกเรื่องหนึ่งคู่ขนานกับเพลงนิทานหิ่งห้อยเสมอ

- เมื่อ “นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล” ถูกนำกลับมาสร้างอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม วัชระ ปานเอี่ยม ได้รับเชิญให้มารับบทชายตาบอด ตัวละครที่เป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง จึงเป็นครั้งแรกที่เราได้ยินเขาร้องเพลง “นิทานหิ่งห้อย” เกือบทั้งเพลง และจากฝีมือการแสดงของเขา ผู้ชมจึงแทบจะพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่เป็นเพลงนิทานหิ่งห้อยที่สะกดผู้ฟังที่สุดเวอร์ชั่นหนึ่ง”

-ในมิวสิควิดิโอ “เร่ขายฝัน” วัชระรับบทเป็นชายพ่อค้าเร่ที่หลงเข้าไปในเมืองที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งละม้ายกับบทชายตาบอดที่หลงเข้าไปในเมืองที่ไม่คุ้นเคยในนิทานหิ่งห้อยเดอะมิวสิคัล

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ว่าด้วยการตั้งชื่อตัวละครที่ซ่อนนัย
ใน “นิทานหิ่งห้อย ละครร้องเพลงเฉลียง”
[7]
(ประภาส ชลศรานนท์)

 

ละครเพลงนิทานหิ่งห้อย ผู้สร้างละครจงใจให้ตัวละครของเมืองทั้งสองเมืองมีชื่อต่างกันอย่างชัดเจน แม้ไม่เห็นตัวแค่ได้ยินชื่อก็สามารถบอกได้เลยว่าเป็นคนเมืองไหน

เมืองตรรกะ ชื่อเมืองก็ตั้งใจบอกบุคคลิกของชาวเมืองที่เต็มไปด้วยเหตุผล ชื่อของตัวละครจึงตั้งเป็นตัวเลข เหมือนสินค้าในโรงงานที่รันนัมเบอร์ แต่ในขณะเดียวกันทุกชื่อก็มีความหมายซ่อนอยู่

ชื่อ ‘1001’ พันหนึ่ง ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นทหารก็คงประมาณยศนายพัน และคำว่าหนึ่ง ก็หมายความว่าเป็นหมายเลขหนึ่ง เป็นหัวหอก เป็นคนเก่ง

อีกคนชื่อ ‘100009’ แสนเก้า ตัวเลขมากกว่าพัน ราวกับจะบอกว่าชายคนนี้มีปมในใจลึก ๆ มากมายนับแสน แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ คำว่าเก้าช่างพ้องเสียงกับการก้าวเดินไม่หยุด และพ้องไปถึงคำว่า ก้าวร้าว

ท่านประธาน ‘50-50’ ห้าสิบห้าสิบ อันนี้น่าเอ็นดู คนบุคลิกนี้มีอยู่ไม่น้อยในสังคมทุกวันนี้เสียด้วย อลุ้มอล่วยตลอดเวลา เอาน่าหยวน ๆ เจอกันครึ่งทาง ไม่ตัดสินใจไปทางไหนอะไรเลย

หญิงสาวอีกคนมีชื่อว่า ‘3.1416’ หรือ ‘พายอาร์’ ชื่อของเธอมีความเป็นคณิตศาสตร์อย่างสุดโต่ง ตัวละครนี้น่าจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีความซับซ้อนไม่น้อย เพราะค่าพายนั้นเป็นที่รู้กันในหมู่คนที่เรียนวิทยาศาสตร์ว่ามันเป็นตัวเลขทศนิยมไม่รู้จบ จนถึงทุกวันนี้ค่าพายที่คำนวณจากคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดจากการหาร 22 ด้วย 7 นั้นได้คำตอบทศนิยมไม่รู้จบไปถึง 62 ล้านล้านหลักอย่างไม่ซ้ำเลย และก็ยังไม่รู้จบอยู่

มาทางฝั่งเมืองเอกเขนกบ้าง เมืองนี้ทั้งชื่อเมืองและชื่อประชากรล้วนนำมาจากคำในเนื้อเพลง เฉลียง แทบทั้งสิ้น บ่งบอกเป็นความหมายว่าเมืองนี้คือเมืองที่ใช้ ‘นิสัยของเพลงเฉลียง’ มาเป็นบุคลิกนั่นเอง

“พระจันทร์” สาวน้อยผู้กอดความฝันไว้

“ปุยปุย” สาวน้อยชิล ๆ เหมือนก้อนเมฆบนท้องฟ้า

“ยับยับ” จะไม่เอาหลักการอะไรบ้างเลยรึท่านหัวหน้า ยับตลอดเวลา กะจะไม่เอาเนี๊ยบเนี๊ยบบ้างเลย

“เนิบเนิบ ฟูฟู หวาน หัวเต่ง ไข่เจียว“ ฟังชื่อแล้วก็รู้บุคลิกทันที

“ชนะลม“ ชื่อที่ซ่อนความหมายไว้เช่นกัน ใครในโลกจะเอาชนะสายลมได้หรือ มีแต่จะโอนอ่อนผ่อนตาม ฟังแล้วรู้สึกถึงความเป็นกวี เพราะเราคงต้องพูดด้วยภาษากวีเท่านั้นเราจึงจะชนะธรรมชาติได้ น่าแปลกที่ชื่อนี้มีคำว่าชนะ แต่เรากลับรู้สึกถึงความอ่อนโยน

“ชายตาบอด” แม้จะไม่ใช่ชื่อของตัวละคร แต่เมื่อนึกถึงคำว่า ‘ตาบอด’ ในเพลงไทยก็น่าจะมีอยู่ไม่ถึงห้าเพลง และสองในห้าเพลงนั้นเป็นเพลงของเฉลียง (ต้นชบากับคนตาบอด)

ตัวละครสุดท้ายเป็นเด็กน้อยแห่งเมืองตรรกะ เธอชื่อ ‘344’ เลขนี้อาจไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้สึกอะไรเมื่อฟังชื่อ แต่ในทางเพลงเฉลียงแล้ว คำว่า ‘สามสี่สี่’ เป็นตัวเลขที่มีเสียงพ้องใกล้กับคำว่า ‘สารภี’ มากที่สุดแล้ว และ สารภี ก็คือตัวละครหนึ่งที่อยู่ในเพลงที่แฟนเฉลียงคุ้นเคยดั่งญาติมิตรมานานแสนนาน

สารภี เป็นชื่อของเด็กน้อยจากเพลง “กล้วยไข่”[8]  ในชุด “อื่น ๆ อีกมากมาย” อัลบั้มที่ 2 ปี 2529 ขับร้องโดย พี่ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค อีกหนึ่งผลงานอมตะ abstract มากความหมายของ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ (ที่แต่งไว้ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยม และต่อเติมอีกครั้งตอนเรียนมหาวิทยาลัย และดัดแปลงล่าสุดในละครเรื่อง “นิทานหิ่งห้อยฯ”  ครั้งที่ 3 โดยผู้กำกับ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (เพิ่ม “กล้วยไข่มีหวีเดียว ต้องแบ่ง 7 คนไป หวีหนึ่งมี 5 ใบ แล้วจะแบ่งกันอย่างไร”)[9]

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ความนัยของ “กล้วยไข่” : ประภาส ชลศรานนท์[10]

เพลงนี้มีอายุ 28 ปี บรรเลงและร้องโดย วงเฉลียง (ถึงปัจจุบัน 2024 รวม 38 ปี)

เป็นเพลงที่มีเนื้อหา ดนตรี และมิวสิควิดิโอที่เดินเรื่องถ่ายภาพแตกต่างจากเพลงอื่น ๆ ในยุคนั้น อย่างชนิดต้องเงี่ยหูฟังและหันมามองทันที กำกับมิวสิควิดิโอโดย จิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

...

รำลึกถึงเพลงนี้เพราะไม่เคยคิดว่าประโยคในเพลง

"เอาปืนยิงแล้วโยนระเบิดซ้ำ ตีจนคะมำแล้วชวนมาใหม่"

ที่ผมเคยเขียนในวัยหนุ่มเพราะต้องการเสียดสีสงครามบนโลกที่ชอบเอาเด็กเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเกิดภาพจริงขึ้นวันนี้

...

เพลงนี้ขึ้นต้นประโยคแรกว่า

"เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม

เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม"

...

สิบกว่าปีแรกที่เพลงนี้โลดแล่นอยู่ในหูคนฟัง

คำถามหนึ่งที่ผมมักถูกถามเสมอคือ เพลงนี้มีความหมายว่าอย่างไร

ทำไมประโยคแต่ละประโยคดูเหมือนไม่ต่อเนื่อง และให้เหตุผลซึ่งกันและกันเลย

มันเป็นแอบเสิร์ดมิวสิคอย่างหนึ่งใช่ไหม แม้จะตื้อถามเท่าไร ผมไม่เคยตอบสักที

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผมอยากให้คนตีความเพลงของผมด้วยประสบการณ์ของเขาเอง มากกว่าจะมาเฉลยทั้งหมด

เพลงเป็นวรรณกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้คนได้คิดได้ ผมเชื่ออย่างนั้น

...

ถึงวันนี้ถ้าจะตอบ ผมคงจะตอบเฉพาะวันนี้ว่า

"สงครามไหน ๆ ก็ไร้เหตุผลทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามที่เอาเด็กเข้าไปเกี่ยวข้อง"

Prapas Cholsaranon

24 กุมภาพันธ์ 2014

 

เพลง “กล้วยไข่” วงเฉลียง

ขับร้อง นิติพงษ์ ห่อนาค และ
ด.ญ ศลินา เพ็ชรอินทร์ (344) และ ด.ช ณัฐภัทร พิชยานนท์ (9555)
คำร้อง-ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์
เรียบเรียง จักรพรรดิ์ เอี่ยมหนุน

 

“..เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม
เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม...

กล้วยน้ำว้าเวลาสุกงอม อีกกล้วยหอมกินแล้วชื่นใจ
ฉันชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

กล้วยหักมุกเผาสุกกินดี กล้วยบวชชีไม่รู้อยู่ไหน
ฉันชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

ลั้ล ลัล ลา เด็กน้อยสารภี ลั้ล ลัล ลา ไม่ยอมฟังครู
ลั้ล ลัล ลา ครูเงื้อไม้ตี ลั้ล ลัล ลา สารภีตีตอบ
เอาปืนยิง แล้วโยนระเบิดซ้ำ ตีจนคะมำ แล้วโยนมาใหม่

กลับมาบรรเลง ร้องเพลงกล้วยไข่
จับมือร่วมร้องเข้าไว้ ไม่มีกระดูก

แปลกใจจริงแขกชอบอะไร ลูกหยี เม็ดกวยจี๊ แตงไทย
แขกชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

แปลกใจจังฝรั่งชอบอะไร ฮอตดอก แซนด์วิชก็ไม่ใช่
ฝรั่งชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก

เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม
เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม...”

 

 

35 ปี เวิร์คพอยท์ กับ “นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล”

Workpoint Entertainment เจ้าพ่อแห่ง Mass Media ของไทย (รวมทั้งลูกหลานในเครือ) เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการผลิตเกมส์โชว์และรายการทีวี  ที่บริหารจัดการ Commercial & Art ที่มีจิตวิทยาการตลาดได้อย่างลงตัวสำหรับสังคมไทยซึ่งไม่ง่ายนักแต่ก็ดำเนินกิจการอย่างประสบความสำเร็จมาตลอดตั้งแต่ต้นจนปัจจุบันร่วม 35 ปีแล้ว (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2532 โดย นายปัญญา นิรันดร์กุล และ นายประภาส ชลศรานนท์)  ส่วนโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ (KBank Siam Pic-Ganesha) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โรงละครสยามพิฆเนศ” เป็นพื้นที่ของกิจกรรมและศิลปะการแสดงที่สร้างขึ้นในพื้นที่ของ จุฬาฯ ซึ่งมีนโยบายขยายโรงละคร (เวิร์คพอยท์ มีผู้บริหารที่รักในละครเวทีจึงลงตัว และมีผู้สนับสนุนหลักคือธนาคารกสิกรไทย) ประกอบไปด้วย The Theatre โรงละครขนาด 1,069 ที่นั่ง / The Playhouse ขนาด 200 ที่นั่ง (เวทีการแสดงหรือการสัมมนา) / Studio ห้องซ้อม ขนาด 84 ตารางเมตร มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ปฐมฤกษ์เบิกโรงด้วยการแสดงละครเวทีเรื่องแรก “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล[11] โดย บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ (4 เมษายน-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558)

ในปี 2559 ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม หนึ่งในผู้บริหารและหุ้นส่วนของบริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด (เวิร์คพอยท์ ถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์) นำเสนอการแสดงละครเรื่องที่ 2 ของโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ด้วย “The Legend of เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะ มิวสิคัล” ที่เคยกำกับไว้ควรนำกลับมาทำใหม่โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล” ตาม  Theme ของเรื่องที่มี “นิทานหิ่งห้อย” เป็นเพลงหลักของละครแทนชื่อ “เร่ขายฝัน”  กำหนดจัดการแสดงครั้งแรกตั้งไว้ในวันที่ 8 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2559 แต่แสดงได้เพียง 2 รอบแรก (8-9 ตุลาคม) ต้องเลื่อนออกไปเพื่อถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (13 ตุลาคม 2559) ต่อมาจึงจัดการแสดงขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 จำนวน 9 รอบ ล่าสุด “นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล” นำกลับมาจัดแสดงเป็นครั้งที่ 3 ในนาม “นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง”  เมื่อวันที่ 19-21, 26-28 กรกฎาคม 2567

 


photo : www.workpoint.co.th : ผู้กำกับ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์)   

 

ไร้ขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ คือแรงบันดาลใจ

ผู้กำกับ สังข์  ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม[12]  นักเขียน นักแสดง นักละคร นักบริหาร

“ละครถาปัด” กิจกรรมประจำปีของนิสิตนักศึกษา ซึ่งกลายเป็นประเพณีรวมรุ่นของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517[13] มีเอกลักษณ์ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวคือความเป็นละครตลกล้อเลียนเสียดสี  มีมุข และลูกเล่นบนเวทีแพรวพราวที่สามารถ surprise ผู้ชมได้แบบไม่ไว้ชีวิต เพราะวิธีคิด การออกแบบฉาก เวที แสงสี ที่สวยงามมีศิลปะกับที่เรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผลงานที่ประสบความสำเร็จมากคือเรื่อง “สามก๊ก” (เมื่อปี 2519 - เปิดการแสดงกว่าร้อยรอบ) จนกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต’ ของศิษย์หลากรุ่นหลายคนบนวงการบันเทิงไทย รวมทั้ง ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (พี่สังข์) ละครสถาปัดสร้างแรงกระแทกติดตราตรึงจนถึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้หันเข้าหาคือเรื่อง “The God Father” พ่อเจ้าประคุณทูนหัว

เสน่ห์ของละครถาปัดซัด ‘พี่สังข์’ เข้าสู่วงการละครเวทีตั้งแต่ก่อนเข้าศึกษาปีแรกใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รุ่น 54 ปี 2529) ด้วยความโชคดีเกิดในครอบครัวที่มีอันจะกิน ให้อิสระต่อการเลือกศึกษาและใช้ชีวิตขณะอยู่ในวัยแสวงหาพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ คนหลงรักศิลปะการแสดงจึงมีโอกาสได้ทำงานที่ตัวเองรัก โดยไม่มีภาระรับผิดชอบทางบ้านมาจำกัดกรอบการลองผิดลองถูก มีโอกาศใช้หัวใจกับความรักสร้างศิลปะละครเวทีได้อย่างเต็มศักยภาพ ในวาระสำคัญวันตกผลึกชีวิต พี่สังข์ให้แนวคิดจากการวิเคราะห์บริบทของละครเวที ในยุคสมัยที่ผลงานมีพลังบริสุทธิ์ที่สามารถส่งแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์ (อันเกิดจากความจริงใจ ความใฝ่ฝัน อุดมคติ และความรักแบบไร้เงื่อนไขที่มีให้กับงาน) ซึ่งยากจะหาได้ในปัจจุบัน การพูดคุยถูกแบ่งปันผ่าน SIAMPIC TALK ช่องประชาสัมพันธ์ของ สยามพิคเนศ ก่อนเปิดการแสดงไว้น่าสนใจในบริบทของการเติบไต่ที่ต้องมี ‘นิเวศน์ศิลป์’ เกื้อกูลเพื่อการเติบโต

 


photo : 108 มงกุฏ กับ บางช่วงบางตอน ในรายการตี 10 : นานา-สาระ-1,000 [14]

 

เอก โต๊ะกลม -  ที่มาของการเข้าวงการได้ทำงานละคร

สังข์ ธีรวัฒน์ - เริ่มจากครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ให้อิสระต่อการตัดสินใจในชีวิต ท่านไม่เดือดร้อนเรื่องรายได้เราไม่ต้องดูแลมากมาย ทำให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะได้เงินหรือไม่ได้เงิน หรือต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ท่านได้ทำสิ่งนั้นไว้แล้ว ผมรู้สึกเป็นพระคุณอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ขอบคุณมากที่ผมได้เกิดมาในครอบครัวนี้ครับ ไม่งั้นผมจะไม่มีวันนี้เลย เรียนหนังสือก็ไม่ได้ตั้งใจเรียน ถ้าเป็นคนที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน เขาต้องตั้งใจเรียนเพื่อจะประกอบอาชีพ ครอบครัวปล่อยให้เราได้ทำอะไรเรียนรู้ไปตามประสา คอยตักเตือนอยู่ห่าง ๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยฟังอยู่ดี ฟังแต่ไม่ทำตาม คิดว่าเราทำแบบนี้มันถูก ผิดพลาดก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

เอ็นทรานส์ติดเพราะเราอยากเข้า’ถาปัตย์ จุฬาฯ อยากทำละคร ก่อนเข้าได้ไปชมละครที่หอศิลป์พีรศรี  ตอนนั้นเราอยู่ ม.6 เป็นโรงเล็กที่นั่งได้ประมาณสองสามร้อยคน ครั้งแรกของการดูละครเวทีคือละครถาปัตเรื่อง “The God Father” (พ่อเจ้าประคุณทูนหัว) เรื่องนี้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เพราะเราเห็นพี่ ๆ บนเวทีทำ “การแสดงในฝัน” ของผมเลย คือตลกตลอดเวลาทุก 1 นาที ทุกคนมีทักษะในการแสดงที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในโลกนี้ เป็นตัวของตัวเองอย่างมาก ตอนแรกจะเอ็นวิศวะ เข้า’ถาปัตย์ดีกว่าอยากเจอพี่พวกนี้ อยากเล่นละครแบบนี้ เอ็นเข้ามาก็ได้ทำละครสมใจ จบมาก็ได้ไปทำสิ่งที่เราชอบ เขียนบทละคร ออกทีวีครั้งแรกได้ไปเล่นในรายการ “วิก 07” ของ JSL ที่ดังมาก เป็นรายการละครเวทีที่อยู่ในทีวี  วิธีถ่ายทำก็เหมือนเล่นละครเวทีเลย ไม่มีคัท ไม่มีเบรค ซ้อมให้เหมือนจริง แล้วไหลไปตามจริง เลยชอบรายการนี้มากได้เล่นอยู่พักหนึ่ง แล้วได้มาทำ “108 มงกุฏ” กับพี่ วิทวัส สุนทรวิเนตร์ ในรายการ “ตีสิบ” เป็นกลุ่มตลกสามคนที่ออกอากาศตอนดึก ๆ ทำให้มีคนรู้จักอยู่บ้าง เป็นโอกาสให้มาเปิด บริษัท โต๊ะกลม ทำกับน้อง ๆ ที่’ถาปัตย์

 

เอก โต๊ะกลม - ตอนทำ โต๊ะกลม รายการสี่ทุ่มสแควร์ ช่วงนั้นเป็น “ตีสิบ” แล้ว?

สังข์ ธีรวัฒน์ - เป็นตีสิบแล้ว เขาหาตลกช่วงท้ายเลยไปขอเล่นเลย ผมเป็นคนที่เดินไปหาโอกาสตลอด โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเราทำได้ไม่ได้ แต่ว่าเราเดินเข้าไปก่อน พี่วิทวัสเห็นว่าพอทำได้ เล่นอยู่ในรายการสองปีก็ออกมาทำเองเปิด บริษัท โต๊ะกลม (ร่วมก่อตั้ง บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2547 (โดยมี สังข์ - ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม , เอก - ชยานันต์ เทพวนินกร และ โจ้ - วิรัตน์ เฮงคงดี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง)  ทำรายการ “TV เบลอ เบลอ” เป็นรายการแรก (รูปแบบล้อรายการโทรทัศน์ ออกอากาศ 1 มกราคม-15 เมษายน 2547) ช่วง “สุขชาวบ้าน” ที่เห็นเป็นที่รู้จักนั่นส่วนหนึ่งนิดเดียวแค่น้ำจิ้ม ไม่ได้เป็นเมนของทั้งรายการ แต่ด้วยความที่ประเทศเราเป็นแบบนี้ก็เลยดัง ไม่เกี่ยวกับดีอะไรหรอก เกี่ยวกับว่าประเทศเรายังเดินย่ำอยู่กับที่ คลิปก็เลยกลับมาดังอีกที มันอยู่ที่เราพัฒนาประเทศได้ไหม ถ้าไม่อยากให้คลิปเหล่านี้วนมาก็พัฒนาประเทศ เป็นเรื่องราชการ การเมือง อย่ากินกันเยอะเท่านั้นแหละ อีก 10 ปีข้างหน้าประเทศเราเดินไปอีกสักครึ่งก้าวก็ยังดี

 


photo : 23 พฤษภาคม 2562 ชายกลางเดอะมิวสิคัล ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ[15]

 

เอก โต๊ะกลม - แม้เข้าทีวีแล้วแต่ยังทำละครเวทีอยู่เรื่อย ๆ

สังข์ ธีรวัฒน์ - ถึงแม้ทำมาหากินเป็นคนเขียนบททีวี เล่นละครทีวี ทำรายการทีวีแล้วก็ตาม  แต่เรา ยังมีจิตใจฝักใฝ่พยายามที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโปรดักชันของละครเวที เข้าไปบ่อยที่สุดคือละครของน้อง’ถาปัตย์ ไปขอเขาช่วยทุกปีเพราะเราชอบละครเวที ทาง Dass Entertainment ก็เคยไปเล่น ของครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ก็เคย ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของแต่ละคน ทำกับพี่โน้ต (อุดม แต้พานิช) พี่เปิ้ล (นาคร ศิลาชัย) ทำเรื่อง “3 อัน ฮ่า” เป็นละครเวทีเรื่องแรกที่ทำแล้วเก็บตังค์เพื่อให้ได้ตังค์เข้ามา  อันนั้นเป็นละครที่ห่วยมาก ทำเพราะว่าทุกคนอยากทำ เพราะทั้งสามคนมีแนวทางของตัวเอง เรื่องนี้แบ่งเป็นสามส่วนใครอยากทำอะไรก็ทำแล้วมาประกอบร่งกันมันก็เลยห่วย ถือว่าเป็นการทำงานที่ได้เรียนรู้ เนื้อหาจำไม่ได้แล้ว ขนาดตัวเองทำยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ทั้งสามคนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรทำ ทำเพราะชอบละครเวทีเท่านั้นแหละ

คุณโน้ตเล่นละครเวทีเรื่องแรกก็เกิดจากละครของพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง ช่วงนั้นทำสำนักศิษย์สะดือเป็นเรื่องแรก) ชื่อ “ห้องไอซียู” เล่นเป็นคนแก่ในโรงพยาบาลบ้า ช่วงนั้นผมจบ’ถาปัตย์มาใหม่ ๆ ได้ไปดู คนนี้เป็นใครยังไม่ดังแต่อยู่บน stage แล้ว charming มีเสน่ห์ที่ทำให้รักเขามาก รักคนเดียวเลยในเรื่อง พอจบละครก็ไปเขียนเลยว่า อยากแต่งงานกับคนที่เล่นเป็นคนแก่คนนี้มากเลย ตอนหลังถึงดังคือ โน้ต อุดม นั่นเอง พี่เปิ้ลก็เหมือนกัน ตอนเล่นที่จุฬาฯ ก็ไปดูแกเป็นคนมีของ คือเราพาตัวเองไปหาสิ่งที่เราชอบ ส่วนด้านทีวีก็ทำมาหากินไป ละคเวทีเป็นเรื่องของการเยียวยาด้านจิตใจเป็นหลักเลย ถ้ามันทำเป็นอาชีพได้จะทำ อยากทำอาชีพนี้มาก ๆ แต่มันทำไม่ได้ มันไม่ค่อยได้ตังค์ เพราะเวลาที่ลงไปกับเงินที่ตอบแทนมามันฟ้ากับเหวเลยถ้าเทียบกับทีวี

 

เอก โต๊ะกลม - นอกจาก “The God Father” แล้ว มีละครเวทีที่พี่เคยดูแล้วติดอยู่ในใจอีกบ้างไหมครับ

สังข์ ธีรวัฒน์ - มีอีกเรื่องซึ่งก็เป็นละครถาปัดอยู่ดี บางคนไม่นับ ละครถาปัด ว่า “ละคร” ด้วยซ้ำเพราะสถาปัตฯ ไม่ได้สอนให้ทำละคร เขาสอนให้สร้างบ้าน ออกแบบต่าง ๆ นานา สำหรับผมจะเรียกอะไรก็ได้ ละคร มหรสพ โชว์ ก็ได้ ที่มันขึ้นไปบนเวทีแล้วทำให้คนประทับใจ รู้สึกอะไรบางอย่างได้ ผมนับว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ก่อนได้ดูเรื่อง “The God Father”  สิ่งที่ผมเห็นวันนั้นในละครถาปัดคือเรื่อง “น่านเจ้า” ไม่ได้เห็นในเวทีด้วยซ้ำไป เห็นในตลับวิดีโอ ลักษณะเป็นม้วนวิดีโอที่มีภาพอยู่ข้างใน (VHS-Video Home System เป็นการบันทึกภาพจากกล้องลงม้วนเทปด้วยเครื่อง Video Tape Recorder เพื่อรองรับความบันเทิงในครอบครัวเป็นหลัก) แค่นั้นผมก็รู้สึกว่านี่มันสุดยอดของละครเลย แม้ยังไม่ได้ความสดจากการดู แต่ก็รู้สึกว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ได้ คือดูแล้วมันดึงดูด ยุคนั้นก็ต้องเกิด(รู้สึก)แบบนั้นพอถึงยุคนี้ก็ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นได้อีกแล้ว เป็นไปตามยุคสมัย ตอนที่เราอยู่ในยุคนั้นเห็นสิ่งนั้นแล้วประทับใจ แต่ถึงวันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดเหมือนยุคนั้นได้หรือเปล่า

เราประทับใจกับละครแบบนั้นในยุคสมัยนั้น พอดูละครสมัยนี้ทำไมไม่รู้สึกขนาดนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน คือความรู้สึกของละครสมัยนั้นมันมีความจริงใจสูงมาก ในละครเหล่านั้นที่เห็น คือปราศจากการประดิษฐ์หรือเสแสร้งโดยสิ้นเชิง คิดอะไรก็ใส่เข้าไป ๆ ไม่ว่าจะดูละครเรื่องไหนก็ตามความรู้สึกก็ไม่สามารถเกิดขึ้นแบบนั้นได้อีกแล้ว มันหมดยุคสมัยของคนทำที่มีความรู้สึกนั้นไปแล้ว คนทำในยุคสมัยนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีคนแบบนั้นทำสิ่งนั้นได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในใจก็เลยกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในอดีต ดูละครตอนนี้เลยไม่รู้สึกเท่ากับที่ดูตอนนั้น ไม่รู้จะบอกได้ยังไงว่าละครที่เราชอบที่สุดคือเรื่องอะไร นอกจากละครในยุคสมัยแรกที่ได้ดู

 

เอก โต๊ะกลม :  มันอาจจะคล้าย ๆ กับที่เขาพูดเรื่องเราฟังเพลงไหมครับว่า เราก็จะประทับใจช่วงเราวัยรุ่นน่ะ จะฟังเยอะแล้วประทับในความทรงจำ

สังข์ ธีรวัฒน์ - หมายถึงว่านี่ไม่ใช่ในแง่ของตัวเราแต่เป็นในแง่ของคนที่ทำสิ่งนั้นขึ้นมา ในยุคสมัยนั้นคนที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมามีความรู้สึกแบบนี้อยู่ ในความคิดของผมคือมันมีความจริงใจ มีความเพียวมาก ๆ ต่อการที่จะสร้างอะไรขึ้นมา เหมือนการสร้างงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้วไม่สนว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่สนใจคำวิจารณ์ของคนอื่น ก็เลยรู้สึกกระแทกรุนแรงมาก  ไม่เหมือนสมัยนี้ที่จะทำอะไรสักอย่างในละครเวทีเราต้องมีโจทย์ ตรงนี้คนจะชอบไหม ตรงนี้ต้องทำอะไรยังไง มันมีโจทย์เยอะมากที่ใส่เข้าไปในหัวเราเพื่อที่จะสร้างงานออกมา ไม่เหมือนสมัยก่อนไม่มีอะไรมาบอกว่าต้องทำอย่างนี้เพื่อคนนี้ ไม่มี ฉะนั้นสิ่งที่คนสมัยนั้นทำขึ้นมามันเกิดจาก หัวใจ ของเขาจริง ๆ เท่านั้นแหละเลยกลายเป็นเสน่ห์แล้วอยู่ยาวยืนยงในใจของคนที่ได้ดูคือผมนี่แหละ

 

photo : ตัวอย่างผลงานของ ป. อินทรปาลิต

 

เอก โต๊ะกลม : ก็อาจจะคล้ายกับงานศิลปะประเภทอื่นเหมือนกัน มีเรื่องยุคสมัย แฟชั่น ความนิยมของช่วงนั้น ๆ นอกจากละครเวทีแล้ว สิ่งที่ส่งอิทธิพลกับตัวพี่ในสื่ออื่น ๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ หรือเพลง ที่หล่อหลอม ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม

สังข์ ธีรวัฒน์ - สิ่งที่ส่งแรงกระตุ้นให้เป็นตัวตนจนทุกวันนี้คือหนังสือ หัสนิยายชุด “พล นิกร กิมหงวน” หรือ “สามเกลอ”[16] ประพันธ์โดย ป. อินทรปาลิต (ปรีชา อินทรปาลิต ได้รับความนิยมสูงพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2511) เป็นเรื่องของ คุณพล คุณนิกร คุณกิมหงวน คุณดิเรก 4 คนเพื่อนกัน เขียนถึงสมัยนั้นกับหนุ่มสาวยุค 2490 แล้วอยู่ยั้งยืนยงมาถึงสมัยหลังอีกประมาณ 20-30 ปี อย่างผมตอนนั้นได้อ่าน มันสนุก ตลก บอกเล่าอะไรบางอย่างเกี่ยวกับยุคสมัยของตัวเอง แล้วทุกคนดูน่ารัก เป็นพื้นฐานของการทำละครในยุคนี้ของผมเลย มีความลึกซึ้งที่แอบสอนแบบไม่โจ่งแจ้งอยู่ในเรื่องราวของคนยุคนั้น ทำให้เราประทับใจมาก ๆ ถือว่าเป็นครูเลย เพราะทั้งสำนวนการใช้ภาษาเขียนคำ หรือว่าลีลาของแกสุดๆ แล้ว

มีอีกท่านที่ชอบมากคือนักเขียนนามปากกา ฮิวเมอริสต์ (อบ ไชยวสุ) ผมเป็นคนชอบภาษาไทยตอนเรียนได้ 4 ตลอด ท่านเขียนหนังสือด้วยภาษาไทยที่มันมีลีลากวนตีนมากสำหรับผม ขอโทษนะ ทำให้เรารู้สึกว่าภาษาไทยสนุกจริง ๆ  พอเราเปลี่ยนตำแหน่งสลับคำเพิ่มบางคำทำให้มันเปลี่ยนความหมายหมดเลย มันติดตัวเรามาจนถึงทุกวันนี้ มันเกิดจากสิ่งนี้ทั้งนั้นเลยที่เราอ่านตั้งแต่เด็ก เพราะสิ่งนี้ส่งแรกกระแทกรุนแรงเข้าไปอยู่ในใจเด็กคนหนึ่งได้ ผมถึงบอกว่าเวลาที่เราสร้างงานอะไร ถ้าเราสร้างงานที่ดีมันจะกระแทกไปหาใครบางคน แล้วมันจะอยู่กับเขาคนนั้นไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าเราลงมือทำงานแล้วขอให้ทำให้ดี ผมสอนน้องที่โต๊ะกลมตลอด ถ้ามันไม่ดีก็อย่าไปทำ หรือทำสิ่งที่มันเลวร้ายส่งผลให้คนเกิดความคิดทางลบ มันจะส่งผลทางลบไปหาคนที่เสพ แล้วอยู่ในใจเขาเหมือนกัน ในทางกลับกันทั้งบวกทั้งลบจะอยู่ในใจเขาตลอดเวลาเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะทำเราควรทำสิ่งดีเพื่อให้สิ่งนั้นอยู่ในใจเขา อย่างน้อยก็ไม่สร้างขยะเป็นผลงานที่ทำร้ายผู้คนดิ่งไปทางต่ำให้กับประเทศชาตินี้ เป็นนโยบายในการทำงานตลอดชีวิตที่ผ่านมาของผมครับ

 


photo : /pantip.com/topic/42090864[17]

 

เอก โต๊ะกลม :  ด้านเพลงมีศิลปินท่านไหนส่งอิทธิพลต่อพี่มาก ๆ

สังข์ ธีรวัฒน์ - เพลงจะเป็นยุคสมัยรวม ๆ ช่วงแรกก็เหมือนวัยรุ่นชอบฟังเพลงรักอกหักไปเรื่อย แต่ว่าเพลงที่มันโผล่ขึ้นมาแล้วกระแทกใจก็คือ “เฉลียง” นี่แหละ ตั้งแต่ปกเทปแล้ว เวลามองไปบนแผงปกเขาจะโดดออกมาจากคนอื่น พอไปฟังยิ่งหนักเลยสำหรับเด็ก 16-17 ในยุคที่มีแต่เพลงสตริงหวานแหวว ซึ่งตอนนั้นชอบมากแล้วก็ยังไม่เลิกชอบถึงทุกวันนี้ เพลงเฉลียงเป็นเหมือนตัวมาตัดเลี่ยนแล้วใส่อะไรบางอย่างเข้าไปในหัวว่า ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ทุกครั้งนะ เพลงไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงแบบนี้นะ ไม่ใช่แค่เพลงนะ เพลงเฉลียงบอกให้เรารู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรในแบบที่เขาเคยทำกันมาก็ได้ ทำในสิ่งที่คิดว่าโอเคสำหรับเราแม้มันไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ เฉลียงทำให้เรามีแนวคิดนี้ในชีวิตที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพลง มีอิทธิพลอย่างมาก

ผมเป็นคนชอบอ่านเครดิต เปิดปกเทปอ่านชื่อคนทำงานเห็น ประภาส ชนศรานนท์ แต่งเพลงนี้ ก็จดไว้ในใจคนนี้เจ๋งเราชอบมาก แล้วจำชื่อนี้ไว้พอไปเจอผลงานอื่น ๆ อีกตอนนั้นมีละคร “คุณยายกายสิทธิ์” “นายแพทย์สนุกสนาน” ใครทำไม่รู้ทำไมมันไม่เหมือนละครเรื่องอื่นเลย พอดูท้ายเรื่องกำกับการแสดงโดย ประภาส ชนศรานนท์ พี่จิก ถือเป็น idol เป็นครูคนหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้

จากงานที่แกทำ ส่งแรงกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้ผมได้ใช้อิทธิพลจากงานของแกสร้างงานของตัวเองขึ้นมา ต่อยอดจากที่ได้เสพงานของแก เรื่องนิทานหิ่งห้อย กราบขอบพระคุณพี่จิกที่อนุญาตให้เอาเพลงของมาอยู่ในละคร ไว้วางใจให้พวกเรา ‘โต๊ะกลม’ ได้ทำละครขึ้นมา แล้วส่งต่อเพลงให้กับคนรุ่นต่อไป เผื่อว่าแรงกระแทกจะส่งต่อรุ่นถัดไปได้อีกเรื่อย ๆ นะครับ

เพลงของเฉลียงที่ชอบภาษามาก ๆ คือ “ใยแมงมุม”[18] (อัลบั้ม : เฉลียงหลังบ้าน ปี 2530) เพราะภาษาลีลาเขียนคำในเนื้อร้องสุด ๆ  แค่อ่านคำอย่างเดียวก็เพราะแล้ว “เหมือนแขวนนิ่งลอย แมงมุมน้อยกลางสายใย เหนียวแน่นซับซ้อนแต่อ่อนไหว ทุกเส้นสายล้วนสร้างสรรค์” ส่วนเพลงที่ชอบเรื่องเนื้อหา “อื่่น ๆ อีกมากมาย” ชัดเจนมากเลยว่าในโลกนนี้ยังมีอื่น ๆ อีกมากมาย ตอนเด็ก ๆ ฟังก็ยังแค่เพราะไม่เข้าใจความหมายมาก พอโตขึ้นถึงค่อย ๆ เข้าใจขึ้นเรื่อย ๆ ใครมันจะแต่งเพลงแบบนี้ขึ้นมา คุณประภาสนี่ต้องมีธรรมะอยู่ในใจสูงมาก เพลงเฉลียงมีธรรมะแอบซ่อนอยู่เยอะมาก พี่จิกล้ำลึกเหนือมนุษย์มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่

ตอนที่เขียนบท “นิทานหิ่งห้อย” มีบางเพลงไม่ได้ใช้อยู่ในละคร แต่พออ่านบททวนมีอยู่ช่วงหนึ่งของละครที่เหมือนกับ …เอ๊ะ ตรงนี้เหมือนขาดเพลงบางเพลงไปนะ ขาดอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่สมบูรณ์ พอเราไปเจอเพลงนี้แล้วเอามาใส่ตรงจุดนั้น ปรากฎว่าเพลงนี้บอกเล่าสรุปเนื้อหาของละครได้อย่างดี เหมือนเพลงเกิดมาเพื่ออยู่ตำแหน่งนี้ ที่เราหาไม่เจอในตอนแรก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในละครถึงได้เหมาะสมและลงตัวที่สุด เป็นละครที่กลมกลืนมากไม่มีอะไรเกินอะไรขาด

เพลงสมัยก่อนที่ชอบมากเลยเป็นเพลง วงสุนทราภรณ์ ซึ่งก็เฟี้ยวมาก ๆ นะสำหรับยุคนั้น ฟังแล้วมันอ่อนเข้าไปในใจอีกแบบหนึ่ง ส่งผลเหมือนกันแต่ไม่กระแทก ส่งผลแบบไหล ๆ ซึม ๆ แล้วเข้าไปอยู่ในใจเราได้ นอกนั้นก็ฟังทั่วไปชอบเยอะแต่ที่ส่งผลรุนแรงมีแค่งานของสองท่านนี้

 


photo : เพลง ถุงเท้าหอม: THE MASTERPIECE เวทีบันลือโลก

 

เอก โต๊ะกลม : ยังมีละครเรื่องไหน หรืออะไรที่อยากจะทำอยู่ในแผนอีกไหมครับ

สังข์ ธีรวัฒน์ - “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” นำมา Restage ที่อยากทำใหม่ก็คือเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ท่านค้นพบ เป็นสุดยอดของวิชา  สุดยอดการค้นพบของมวลมนุษยชาติ อยากนำสิ่งนี้มาบอกต่อในวิธีของเรา คิดว่าอยากจะทำอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่สำเร็จซักที คาดว่าสักวันคงสำเร็จ มีบางส่วนที่กำกับในรายการ “The Masterpiece เวทีบรรลือโลก” ตอน “เพลงถุงเท้าหอม”[19] ก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าขั้นลึกเลย พยายามนำมาทำให้มัน entertain ดูสนุก (ใช้ orchestra บรรเลงเต็มวงแบบคลาสสิค เนื้อเพลง “ทุกข์เพราะตีนเขาหรือใจของเราที่ทำให้ทุกข์ ไม่ว่าวันใดที่โลกยังหมุน ถุงเท้าเราก็ยังมีกลิ่นเหม็นอยู่ดี สิ่งใดเกิดแล้ว เมื่อเรารู้ทันเห็นมัน สิ่งนั้นดับลงทันที”) หลังออกอากาศก็มีตอบรับเข้ามาเยอะ ดีใจที่มีคนมารีวิวเพลงนี้ในยูทูปเป็นวัยรุ่นนะ เป็นเด็กยุคนี้ที่ดูแล้วชอบบอกว่า “ชอบจังเลย ต้องทำอย่างนี้ ด้วยเนื้อหาแบบนี้” มันเข้าถึงเขาได้ถ้าเราทำด้วยวิธีที่เขาเข้าถึงได้ ก็สามารถเผยแพร่ไปหาคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้ได้ เลยมีความหวังมีกำลังใจจะทำละครหรือโชว์ อะไรก็ตามที่มีเรื่องราวมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่สำคัญมีคนหนึ่งดู “เพลงถุงเท้าหอม” แล้วส่งมาทางเวิร์คพอยท์ว่า ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ทำเพลงนี้ เพราะว่าก่อนที่จะดูเขาคิดอยากจะฆ่าตัวตาย แต่พอได้ดูตอนนี้เหมือนโดนกระตุกให้ตัวเองหยุดแล้วตั้งสติได้ แล้วเปลี่ยนความคิดที่จะฆ่าตัวตาย อันนี้คือสิ่งที่มีค่าในการทำงานเป็นอันดับสองรองจากเงิน สิ่งนี้แหละหล่อเลี้ยงจิตใจเราได้ ที่บอกว่าเราต้องทำให้ดีที่พาคนไปที่สูงมันจะส่งผลอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอีกอย่างที่ยุยงไปในทางลบ มันจะดึงเขาลงที่ต่ำดูเสร็จเขาก็คงฆ่าตัวตายไปแล้ว สิ่งที่เราทำมันดึงคนที่อยู่จุดต่ำขึ้นมาได้ คือคุณค่าจากการทำงานของเรา

 

เอก โต๊ะกลม : มีมุมไหนครับถ้าคนในยุคนี้จับเรื่องคำสอนในพุทธศาสนามากขึ้นแล้วมันจะดีขึ้นกับชีวิต กับประเทศ กับโลกของเรา เอาแบบง่าย ๆ

สังข์ ธีรวัฒน์ - ที่ง่ายสุดคือการที่เราไปยึดอะไรบางอย่างที่คิดว่ามันมีคุณค่า รักใครสักคนมากก็ยึดคนนี้ไว้พอเขาจากไปเราก็เสียใจพังทลาย สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบคือ ไม่มีสิ่งใดเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ทุกอย่างเกิดแล้วพัฒนาขึ้น คงอยู่ขณะหนึ่ง แล้วค่อย ๆ เสื่อมหายไป ถาเราเข้าใจสิ่งนี้ได้ มันจะทำให้เราปล่อยวางในการยึดถือบางอย่าง หรือทุกอย่างในโลกนี้น้อยลงไปในระดับหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยงรวมทั้งตัวเราด้วยที่ค่อย ๆ เสื่อมลงทุกวัน แล้ววันหนึ่งก็จะดับสลายหายไปจากโลกนี้ ถ้าเรายึดไม่อยากแก่ก็จะเกิดความทุกข์ สิ่งที่เราทำได้คือยอมรับว่า เมื่อเราแก่ร่างกายเราเสื่อมมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เมื่อเข้าใจก็ช่วยเหลือเราได้ระดับหนึ่ง การยึดสิ่งที่ไม่ยั่งยืนทำให้เกิดทุกข์ แล้วอะไรที่ไม่ยั่งยืนในโลกนี้ ทุกสิ่งไม่ยั่งยืน ทุกอย่างวิ่งไปสู่ทางดับ เสื่อมสลาย รวมทั้งโลกนี้ด้วยก็จะหายไป “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ยังไม่เพียงพอ ต้องอย่าไปกอดสิ่งที่จะดับไปไว้เป็นสรณะ ไม่มีอะไรเลย

ถ้าละครทำ ‘ด้วยหัวใจ’ (ด้วยข้อแม้นี้อย่างเดียวเท่านั้น) จะมีตัวตนของคนทำอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่นับดีหรือเลว ออกมาเป็นยังไงนี่อีกเรื่องหนึ่ง อยากรู้จักผู้กำกับเป็นคนยังไงดูงานของเขามันมีอะไรอยู่ในนั้น จะรู้เลยว่าตัวตนเป็นคนอย่างนี้ พอเราเริ่มรู้สึกมีธรรมะเข้ามาในชีวิตละครก็จะเปลี่ยนไปจากตอนที่เราเคยทำแต่ไม่มีในชีวิต  มันจะมีแนวคิดเข้ามาอยู่ในตัวเราแล้วเราจะใส่ลงไปในละคร แล้วละครจะเปลี่ยนไปตามผู้กำกับคนนั้น เป็นไปตามกาลเวลา

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้ง “นิทานหิ่งห้อย” ที่ restage ครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะมันเป็นละครที่ดีมาก เนื้อหาของละครเรื่องนี้ดีมาก ๆ เป็นเรื่องความแตกต่างของคน กับการยอมรับความแตกต่าง มีอื่น ๆ อีกมากมายสอดแทรกอยู่ในเรื่องนี้เพราะว่า

เพลงของเฉลียงก็ดีมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งคมคายอยู่แล้ว พอเราเอามาทำเป็นบทละครเป็นเรื่องขึ้นมา (โดย คุณมุ หนึ่งในทีมเขียนบท ซึ่งทำหน้าที่ดูแลน้อง ๆ เรียกว่ามารดา 4 EVE เลยก็ว่าได้) เขียนออกมาได้ดี พอบทละครดีเราก็เล่นซ้ำได้เรื่อย ๆ เป็นร้อยปี เพราะของดีมันอยู่เหนือกาลเวลาไปแล้ว ดูเมื่อไหร่ก็ได้ ดูแล้วจะได้อะไรดี ๆ ตลอดเวลา เป็นเรื่องของสองเมือง เมืองหนึ่งใช้แต่เหตุผล อีกเมืองใช้แต่ความรู้สึก อารมณ์ มันก็แตกต่างกันสุดขั้วแล้ว พระเอกหลงเข้าไปในเมืองที่ใช้แต่อารมณ์ทั้งที่ตัวเองใช้แต่เหตุผล ตรรกะ ก็เลยเกิดเรื่องขึ้นมา

แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้นมีเรื่องของความรัก กุ๊กกิ๊กน่ารัก รื่นเริง เป็นความบันเทิงขั้นสูงสุดอีกอันหนึ่ง ที่ชอบละครเวทีเพราะสำหรับผมมันคือความบันเทิงขั้นสูงสุด มันเกิดขึ้นต่อหน้าเราสด ๆ ไม่เหมือนกับดูหนังดูซีรีย์ในทีวี ในมือถือ  แล้วก็ไม่เหมือนคอนเสิร์ตด้วย เพราะคอนเสิร์ตไม่มีเรื่องราวเฉพาะ แต่ละครเวทีมีทั้งเพลงและเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ต่อหน้าเราสด ๆ มันมีมวลของแรงกระแทกมีพลังงานส่งมาหาคนดูสูงมาก ที่สำคัญคือหลังจากที่คนดูได้รับพลังงานนี้แล้ว คนดูจะมีความสุขเฮฮาหรือเศร้าเสียใจมากก็ส่งกลับไปหานักแสดง มันก็มีพลังงานเด้งไปเด้งมาของความสุข ความตลก ความเฮฮา ความซาบซึ้ง ความทุกข์ ส่งไปส่งมาระหว่างคนดูกับนักแสดงตลอดเวลา มันเกิดขึ้นครั้งแรกที่ได้ดูละครถาปัดเรื่องแรก “The God Father” (พ่อเจ้าประคุณทูนหัว) คนดูหัวเราะ นักแสดงก็เล่นมันขึ้น พลังงานแบบนี้ไม่มีสื่อไหนในโลกที่ทำแบบนี้ได้ มีแค่ละครเวทีอย่างเดียวและต้องมาดูในโรงละครเท่านั้น

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ถึงบอกว่าเราจะถ่ายไปลงในยูทูป ลงในเน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ สื่อไหนก็แล้วแต่ ไม่มีทางเหมือนกับดูในโรงละคร อารมณ์จะได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ของความรู้สึกจริงเท่านั้นอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องมาดูในโรงละครถึงจะรู้ว่ามวลของพลังมันรุนแรงแล้วก็ดีแค่ไหน เพราะไม่ใช่มวลระหว่างนักแสดงกับคนดูเท่านั้น แต่เป็นมวลพลังงานรวมของทั้งโรงละคร ซึ่งมันเกิดจากคนทำงานรวมกันเกือบสองร้อยคนที่ทำในแผนกต่าง ๆ ตั้งแต่ ไฟ stage เสื้อผ้า อาหาร แต่งหน้า ทำผม อะไรทุกอย่าง หลังจากไฟดับลงละครกำลังจะเริ่มเรื่อง ทุกคนจะวิ่งมุ่งหน้าไปหาสิ่งเดียวกันก็คือ ทำละครเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งพลังงานนี้ไม่มีที่ไหนอีกเหมือนกัน มันเป็นแรงงานของทีมงานที่อบอวลอยู่ในโรงละคร ทั้งข้างบนและข้างล่างเวทีที่หายากมาก ไม่มีที่ไหนในสื่ออื่น ๆ จะทำได้นอกจากละครเวที  นี่คือเสน่ห์ของมัน

นี่คือมวลของพลังงานในความมืดที่มุ่งไปหาสิ่งเดียวกัน ทั้งหมดต้องทำงานในความมืดเพื่อให้บนเวทีสว่างอยู่จุดเดียว ทุกคนวิ่งตะลุยไปพร้อมกันมันสนุกตรงนี้เพราะว่าจะไม่เหมือนกันสักรอบ เสน่ห์คือมันจะไม่เหมือนกันสักรอบ รอบนี้ตรงนั้นถูกตรงนี้ผิด อีกรอบตรงนั้นถูกมาก ๆ ถูกที่สุดในโลก ละครที่ผมทำจะเลือกว่าต้องเข้าไปอยู่ในใจผู้คนประทับใจยาวนานที่สุด ไม่งั้นไม่เสียเวลาทำครับ เพราะเราใช้เวลาเป็นเดือน ๆ บางเรื่อง 5-6 เดือน บางเรื่องเป็นปี ถ้าทำละครแล้วไม่สามารถเข้าไปนั่งในใจคนได้อย่าทำดีกว่า เสียเวลา เราต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้คนดูได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

 

 

เอก โต๊ะกลม : ครั้งนี้มีตัวละครตัวไหนที่กำกับแล้วมีความแตกต่างจากตอนเป็น “เร่ขายฝัน” กับ “นิทานหิ่งห้อย” ครั้งแรกเมื่อ 7 ปีที่แล้วบ้างครับ

สังข์ ธีรวัฒน์ - พอเราเริ่มทำครั้งนี้ก็จะมีแคสของตัวละครเวอร์ชั่นที่แล้วอยู่ในหัว พระจันทร์ ปุยปุย พันหนึ่ง แสนเก้า แต่พอเรามาแคสนักแสดงชุดใหม่ 4 EVE/ ATLAS/ จัสมิน เข้ามาสวมบทตัวละครแล้ว เขาจะล้างภาพในหัวเราไปทีละน้อย แล้วเขาจะเป็นตัวละครที่เราไม่เคยเห็น เขาจะเป็นตัวของเขาเอง ทำให้เราลืมภาพของแคสที่แล้วไปเลย เห็นทุกตัวละครเป็นคนใหม่ แสดงว่าละครก็มีชีวิตของเขาเอง พอตัวละครใหม่ที่เป็นคนยุคนี้ที่มีความคิดคนละแบบ หรือแนวคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มาใส่ในตัวละครเดียวกันมันก็ไม่เหมือนกัน เป็นเสน่ห์ของละครเวที เราได้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายจะเหมือนเดิมแต่ไม่เหมือนเดิม เป็นรสชาติใหม่

ตัวละครที่รู้สึกชื่นชมที่สุดในตอนนี้คือน้อง เออร์วิน เจ็ท แทด สามคนนี้ที่มาเล่นละคร น้องเจ็ทเคยเล่นมาแล้วก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งในการฝึกฝน แต่สำหรับ น้องแทดกับเอร์วินไม่เคยเล่นละครหรือแสดงอะไรมาก่อน น้องต้องใช้ความพยายามอย่างสูงมากที่มาเล่นเรื่องนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ละครทีวีที่พูดประโยคหนึ่งถ่ายแล้วคัทเทคใหม่ตัดต่อได้ เพราะเขาอยู่บนเวทีแล้วแสดงโดยที่ไม่ได้ลงจากเวทีเลย เป็นความยากลำบากอย่างหนึ่งในชีวิตของเขาพี่เข้าใจอย่างมาก แต่เขาสามารถทำได้จากวันแรกที่อ่านบท แล้วพี่อยากจะบอกว่า ‘เออร์วินกลับบ้านไปเถอะ’ (พูดให้น้องมีแรงฮึดต้องทำให้ได้) มีคุณโน้ตกับคุณดาวผู้ช่วยพี่ประกอบกับความตั้งใจของทั้งสามคน ทำให้เขาสร้างตัวละครขึ้นมาอย่างมีเสน่ห์มาก ๆ ณ วันนี้  เขาสามารถสร้างตัวละครในแบบของเขาไม่เหมือนแคสเดิม มีเสน่ห์คนละแบบดีคนละอย่าง เชื่อว่าคนดูตกหลุมรักเขาแน่ ๆ คิดดูว่าเขาใส่หัวใจลงไปมากแค่ไหน พยายามหนักหน่วงมากแค่ไหนถึงได้วันนี้มา สร้างเหตุด้วยกรรมดี กรรมดีก็สนองให้ได้รับผลที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เขาทำสำเร็จเพราะคนรอบข้างด้วย ทำให้วันนี้เขาไม่ต้องกลับบ้านไปได้อยู่บนเวทีอย่างสง่างาม แฟนเพลงของน้อง ๆ ก็คงไม่ค่อยได้ดูละครเวที พอมาดูแล้วเขาจะได้เห็นว่ามันมีสิ่งนี้อยู่นะ รวมทั้งบทเพลงของเฉลียงที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วย ผมคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก ๆ สำหรับผู้ชมเรื่องนี้ครับ

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

มนุษย์ในสองดินแดน ตัวแทนของ ความมหัศจรรย์ ในสมอง 2 ซีก[20]

“นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง” ได้จำลองความต่างของมนุษย์สองกลุ่มใน 2 ดินแดน คือ ‘มหานครตรรกะ’ กับ ‘อาณาจักรเอกเขนก’ ผ่านละครเพลงที่บอกเล่าธรรมชาติของความแตกต่างได้อย่างสร้างสรรค์ ทุกวัยเข้าใจง่าย โดยใช้บทเพลงไพเราะทั้งหมด 26 เพลง เป็นเครื่องมืออธิบาย ขยายรายละเอียด ให้เห็นถึง หลักการ-เหตุผล และอารมณ์-ความรู้สึก ที่ส่งผลถึงพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ตรงตามหลักการที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูล กายวิภาค (encephalon) ให้เข้าใจง่ายในวงกว้างว่า

คนเรามีสมองอยู่สองซีก คือ ซีกซ้าย กับ ซีกขวา
โดยแบ่งออกเป็น ส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง

*สมองซีกขวา จะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย
*สมองซีกซ้าย จะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกขวา   

สมองมีไยประสาทเชื่อมอยู่จำนวนมากมายมหาศาลเพื่อให้สมองทั้งสองส่วนรับรู้การทำงานซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ถึงแม้มันจะเชื่อมกัน แต่สมองทั้งสองซีกจะมีการทำงานที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดคือ

สมองซีกซ้าย  เป็นส่วนของการควบคุมการคิด ตรรกะ มีการทำงานออกเป็นรูปธรรม เช่น การคิดเลข การบอกเวลา การนับจำนวน การสรรหาถ้อยคำ การหาเหตุผล ซึ่งตรงกับลักษณะของผู้คนใน  ‘มหานครตรรกะ’ ที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรด้วยเหตุผล ประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน มีระบบที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดำเนินชีวิตด้วยกฎระเบียบ ทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักการและเหตุผล

สมองซีกขวา  เป็นส่วนซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับจินตนาการ ความฝัน สร้างสรรค์  มีความคิดใหม่ ๆ แปลก ๆ การเข้าถึงซึมซาบในศิลปะได้อย่างลึกซึ้ง และการที่คนเราสามารถคิดอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้นั้นก็เกิดจากการทำงานของสมองซีกขวา เมื่อสมองซีกขวาทำงาน สมองซีกซ้ายจะรับหน้าที่แสดงผลการทำงานออกมาให้เห็น ซึ่งตรงกับลักษณะของผู้คนใน อาณาจักรเอกเขนก ดินแดนแห่งความสุข ผู้คนเต็มไปด้วยความรู้สึก ความเชื่อ และอารมณ์ ดำเนินชีวิตด้วยสัญชาติญาณ

 


photo : ไทยประกันชีวิต

 

สิ่งที่สมองทั้งสองส่วนเหมือนกัน คือ การรับรู้ความเป็นไปภายนอก จะรับรู้ว่าใครเป็นใคร ผ่านอวัยวะรับรู้ทางประสาทชุดเดียวกัน (เช่น แก้วตา รับการสะท้อนของโฟตอนเข้าแก้วตา ปรับเปลี่ยนเป็นคลื่นส่งต่อเข้าสมอง ทำงานเร็วมาก) แต่สมองทำงานต่างกันอย่างมากคือ ในขณะที่สมองซีกซ้ายกำลังทำหน้าที่พูดคุย ใช้เหตุผลต่าง ๆ สมองซีกขวาก็จะกำลังทำหน้าที่จินตนาการต่าง ๆ โดยไม่มีการคำนึงถึงกาลเวลา และมีศักยภาพสูงมากกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ ผู้ที่ไขปริศนานี้ คือนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล โรเจอร์ สเปอร์รีย์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และ สมองซีกซ้ายเป็นเรื่องของวิชาการควบคุมความเป็นเหตุเป็นผล การเรียนรู้ด้านภาษา ตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิด การวิเคราะห์ ฯลฯ ในขณะที่สมองซีกขวามีความเป็นศิลปิน มีจินตนาการ มีความฝัน มองภาพเห็นมิติต่าง ๆ ได้อย่างอ่านทะลุ ฯลฯ แต่สมองทั้งสองซีกก็ทำงานสัมพันธ์กันอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรจะอัตโนมัติและอัศจรรย์ได้เท่ากับร่างกายของมนุษย์อีกแล้ว

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

หากจำแนกลักษณะและคุณสมบัติของคนสองจำพวกนี้ จะเห็นชัดว่ามีนิสัยที่แตกต่างกันคนละขั้ว คนบางกลุ่มจะมี ‘ลักษณะผสม’ ที่มีจุดดีจุดด้อยของแต่ละฝั่งรวมกันไม่มากก็น้อย เป็นหลักการเดียวกันกับ ‘หยิน-หยาง’ (Yin-Yang)[21] เป็นแนวคิดปรัชญาของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณกาล ได้จากการสังเกตและค้นพบลักษณะที่สำคัญของธรรมชาติ ว่าสิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วย 2 ด้าน ซึ่งขัดแย้งกัน ต่อสู้กัน พึ่งพากัน แยกจากกันไม่ได้) ในความเป็นผู้หญิงก็มีความเป็นผู้ชายอยู่ในยีนส์ ในความเป็นผู้ชายก็มีความเป็นหญิงอยู่ด้วย น้อยคนนักที่ธรรมชาติจะจัดสรรได้ลงตัวไม่บกพร่องแบบ ‘สมดุล’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ ‘วิเศษ’ มาก ยากจะพบในมนุษย์ปกตินอกจาก ‘คนพิเศษ’ หนึ่งในล้านที่โดดออกมา แม้จะมีความไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม

  • พวกตรรกะ มีความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ใช้เหตุและผลในการดำเนินชีวิตอย่างมีหลักการ และเป็นนักจัดการที่เคารพในกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดแบบทหาร แข็งกร้าว เด็ดขาด ปราศจากการยืดหยุ่น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบซึ่งวางระบบไว้อย่างเคร่งครัดจัดเจน กล้าได้กล้าเสีย ตรงฉิน ยอมหักไม่ยอมโค่น
  • พวกเอกเขนก คนอีกฝั่งที่ตรงข้ามจะมักตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมมนุษย์เสมอ มีจินตนาการนอกกรอบและไม่ชอบกฎเกณฑ์ ละเอียดอ่อน อ่อนโยน ใช้ชีวิตโดยลิขิตด้วยหัวใจ ความรู้สึกและสัญชาติญาณเป็นสรณะนำทาง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นนักสู้หากรู้ว่าถูกรังแก และไม่ยอมแพ้อยุติธรรม

จากหลักการนี้ เป็นที่มาของแนวความคิดจากฝั่งตะวันตกที่เชื่อว่าคนเราแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ที่มีนิสัยแบบ ‘มนุษย์หมา’ หรือ ‘มนุษย์แมว’ หมาจะตรงกับพวกแรกที่มีความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งแบบทหาร กร้าวกร้าน หาญกล้า บ้าบิ่น เคารพระเบียบ เฉียบขาดในการตัดสินใจ ในขณะที่พวกแมวบางคนอาจเข้าข่าย over sensitive ละเอียดอ่อน รักสงบ รักอิสระ เชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (spiritual) เหมือนที่แมวมีสัญชาติญาณพิเศษ โลกและเราล้วนต้องการความแตกต่างเพื่อสร้างสมดุลย์ จากคุณสมบัติทั้งมวลที่ล้วนจำเป็นต่อการดำรงอยู่อย่างราบรื่นร่วมกัน เพื่อตัดบันไดขั้นแรกก่อนลุกลามไปสู่ สงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามประสาท หรือ สงครามโลก “นิทานหิ่งห้อยฯ” คอยย้ำการอยู่ร่วมท่ามกลางความแตกต่าง คือวิธีสร้าง “ศิลปะในการใช้ชีวิต” ผ่าน ศิลปะการแสดง (ละครเวทีวิถีโลกธรรม)

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

เปิดไตเติลด้วย OVERTURE เพลง “นิทานหิ่งห้อย” ในเวอร์ชั่นที่ทำให้รู้สึกเสมือนได้ล่องลอยผ่านยานอวกาศ สามารถไปเชื่อมโยงยังดาวอีกดวงในห้วงจักรวาล แล้วได้พบเด็กสองคนกำลังยืนอ่านแผ่นจารึกข้างโทรศัพท์ในเครื่องบินลำหนึ่ง ซึ่งเคยมาเยือนดาวดวงนั้นนานมากแล้ว เด็กชาย 9555 อ่านให้เด็กหญิง 344 จดไว้ความว่า “เครื่องบินลำนี้ ถูกค้นพบในสนามรบ แต่ถูกนายทหารคนหนึ่งซึ่งเป็นกบฏ ขโมยไปช่วยเหลือศัตรู” ตามด้วยเพลง กล้วยไข่ ประสานเสียงด้วยเนื้อหาที่เพิ่มมาจากต้นฉบับเดิมที่มีวรรคทองว่า “เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม”เพราะขึ้นชื่อว่า สงคราม ไม่เคยปราณีใคร เพศอะไร  หรือวัยไหนทั้งนั้น แต่โฟกัสอยู่ที่เด็กเพราะความเป็นผู้บริสุทธิ์และยังเยาว์ ที่สำคัญเขาไม่มีส่วนรู้เห็นหรือได้เสียกับการก่อเกิดของสงคราม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

“กล้วยไข่มีหวีเดียว ต้องแบ่ง 7 คนไป หวีหนึ่งมี 5 ใบ แล้วจะแบ่งกันอย่างไร”[22] คือส่วนใหม่ในเนื้อเพลง ที่เพิ่มมาโดยผู้กำกับ พี่สังข์ ซึ่งยังไม่ทิ้งแนวคิดเดิม คือการต่อต้านสงครามที่มีเด็กถูกกวาดเข้าไปเกี่ยวข้อง (หรืออะไรที่มีนัยหมายถึงความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง) และถูกขยายความเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ ให้ชัดขึ้นในบริบทปัจจุบันที่มี ‘ผู้ใหญ่’ ในนามของ ‘อำนาจ’ เป็นผู้ควบคุมชะตากรรมของผู้คนและความเป็นไปในโลกใบนี้ ผ่านประเทศมหาอำนาจทั้ง 7 ของโลก ที่ควบคุมการแบ่งปันเค้ก (ผลประโยชน์จากทรัพยากรของโลก ประโยค “ต้องแบ่ง 7 คนไป” ชวนให้คิดถึงการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ของ G7 (Group of Seven) เจ็ดประเทศมหาอำนาจของโลก ที่เป็นเวทีการเมืองระหว่างรัฐบาลประกอบด้วย แคนาดา , ฝรั่งเศส , เยอรมนี , อิตาลี , ญี่ปุ่น , สหราชอาณาจักร และ สหรัฐ โดยมี สหภาพยุโรป เป็นแกนกลางในการจัดระเบียบตามค่านิยมพหุนิยมกับรัฐบาลแบบมีผู้แทนร่วมกัน ประชากรโลกทั้งมวลล้วนไม่ต่างจากเด็กที่อยู่ใต้การปกครองของ G7

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

“หวีหนึ่งมี 5 ใบ แล้วจะแบ่งกันอย่างไร” คำถามปลายเปิดที่มีต่อนโยบายจัดการกับเขตพื้นที่ทรัพยากร 5 ใน 7 ทวีปทั่วโลก อันได้แก่ ทวีปเอเชีย, ทวีปแอฟริกา , ทวีปอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้ ทวีปออสเตรเลีย และทวีปยุโรป ไม่ว่าสงครามยุคใหม่จะมาในรูปแบบไหน แม้กระทั่งฝังอยู่ในนโยบายทางการทูตก็ถือว่าอันตราย และสำหรับเด็กในยุคใหม่ ไม่ว่า ‘กล้วยไข่’ จะมีนัยหมายถึง ‘ปราศจากพิษภัย’ หรืออะไรก็ตาม “เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม” ก็แทบไม่เท่าเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะระบบนิเวศใหม่มีอิทธิพลหล่อหลอม (“เอาปืนยิงแล้วโยนระเบิดซ้ำ”)  พร้อมที่จะผลิตสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ให้พ้นไปจากสภาวะเดิมได้ทุกเมื่อ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กด้วย ‘ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต’ เพื่อไม่ให้มีวิธีคิดเป็นเด็กก้าวร้าว (ครูเงื้อไม้ตี สารพีตีตอบ) รู้จักมอบความสุขแบ่งปันความรัก คือแกนหลักของเส้นเรื่องที่ส่งผ่านเด็กน้อยสองคนมาในตอนต้นตั้งแต่เปิดเรื่อง และไม่ลืมย้ำอีกครั้งตอนปิดท้ายเรื่อง ชัดเจนในหัวใจที่เติบโตอย่างคนที่มีภูมิต้าน มารชีวิต

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ไตเติลยังถูกขยายโดยชายนิรนาม (พี่จ้อน ธานี พูนสุวรรณ)[23] ด้วยเพลง “เรื่องตลก” ยกมาเป็นนิทานเล่าให้เด็กน้อยฟัง ฝังสัญลักษณ์ สลักวรรณศิลป์ “อยากฟังฉันบ้างไหมใครได้ฟังก็คงหัวเราะร่า อย่ามาเอาเป็นเรื่องราวมาก แค่เพียงฟังให้เพลินก็พอ โลกเหตุผลดำเนินไปเหมือนเหมือนเดิม เหลือแต่เขาคนนี้คนเดียวที่เปลี่ยนไป คล้ายคล้ายมีหมุดแหลมฝังใจ ให้เขายังปวดร้าว คืนมืดลง แสงดาวกลับสวยงาม เหมือนความฝันที่แท้ที่เขาไม่อาจทำลายลงได้ จากนั้นเขาจึงเปลี่ยนผันไป แบ่งปันความฝัน เรื่องมันไม่ถึงร้อยปี มีสองเมืองที่ทั้งคู่ต่างไม่รู้สักนิดว่ามีใครอยู่อีกฝั่งฟ้า สองเมืองต่างกันโดยสิ้นเชิง เล่าขานต่อกันมาไม่ว่าใครก็ยากจะลืมเลือน

เพลงเป็น ballad ที่ไพเราะ บอกเล่าเรื่องราวมูลเหตุที่โลกโกลาหล เพราะต้นเหตุจากเรื่องเล็ก ๆ แต่ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่สามารถทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เริ่มเรื่องที่เมืองตรรกะ ในวันที่ไฟดับทั่วเมือง เกิดอุบัติเหตุอันมีสาเหตุเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้น้อยเสียบสายไฟผิดรู เพราะมีลมแรงพัดมาพากระโปรงหญิงสาวเปิดเป็นเป้าให้เขาหันไปสนใจ เมื่อไล่ขึ้นไปถึงต้นเหตุพบว่า ลมแรงเนื่องจากรถไฟวิ่งเร็วเพราะเบรคมีปัญหา วุฒิสมาชิกแสนเก้า มอบให้ 191 สืบจนทราบว่าต้นเหตุที่เบรครถไฟมีปัญหาเนื่องมาจาก เด็กล้างจานคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่อยู่ในโรงซ่อมบำรุง แต่กลับละหน้าที่หนีไปวาดรูป เด็กไปเพราะชายตาบอดชักชวนให้เด็กล้างจานวาดรูป (เรื่องไม่ได้ขยายสาเหตุที่ชายตาบอดพลัดถิ่น เขาอาจเป็นนักบินคนที่พาเครื่องมาตกลงตรงตรรกะนคร บางครั้ง ชีวิตก็ต้องปล่อยให้โชคชะตาพาไปไม่อาจควบคุม)

“ข้าไม่ได้ชวน ข้าเพียงแต่ถามเขาว่า ชอบล้างจานจริงๆ เหรอ นี่ไงสวยด้วย ใช้สีดีมากเลย”

ไร้สาระตาบอดจะมองเห็นได้ไง ทุกคนในเมืองนี้ล้วนถูกประเมินแล้วว่าใครเหมาะกับหน้าที่อะไร ท่านมีเหตุผลใดในการกระทำที่ขัดต่อเหตุผลของบ้านเมืองเช่นนี้”

“เหตุผลของข้าก็คือ ข้าเห็นว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่นี้ มันช่างไร้เหตุผลสิ้นดี” (ความต่างในมุมมองของมนุษย์สองประเภทมักสวนทางกันเสมอ) เห็นความงามในสัจธรรมนำอมตะพจน์ แม้กระนั้น ‘เหตุผล’ ยังทรยศต่อ ‘ความจริง’ สิ่งซึ่งเรียกว่าความดี (ที่แบ่งปันความฝัน) กลับถูกห้ำหั่นเพราะคิดต่าง สร้างโศกนาฏกรรม…แล้วท่อนทองของเพลง “ต้นชบากับคนตาบอด” ก็เข้ามาสอดรับกับจังหวะของเรื่องได้อย่างลงตัว…

“บอดก็เพียงสายตาเท่านั้น แต่จิตใจก็ยังผูกพันความงาม

อาจจะรับรู้ไปตาม สูดกลิ่นงาม ฟังเสียงวิไล ร่มไม้บังเงา

ต่างก็เพียงผู้จะชม สิ่งจะชมสำคัญในมันนั่นคืออันใด

เหตุกับผลนั้นหรือว่าใจ ต้นชบาก็มีความหมายไปตามคนมอง”

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ละครกล่อมคนดูให้กรี๊ดด้วยความสุขสนุกได้ทุกมุขในองก์ 1 ทุกกลุ่มรุมร้องเพลงไปด้วยกันได้อย่างพร้อมเพรียง เสียงเริ่มแผ่วเมื่อเข้าสู่องค์ 2 เรื่องเข้มขึ้นตามลำดับ จนสุดท้ายแม้คนที่ใจแข็งแค่ไหนยังต้องเสียน้ำตาให้กับผู้บริสุทธิ์ที่เสียสละ ยอมอุทิศชีวิตเพื่อปกป้องความถูกต้องยุติธรรม ครั้งนี้ พี่เจี๊ยบ วัชระ ปานเอี่ยม ไม่ได้เล่านิทานแบบ Talk Show เหมือนเคย แต่ได้ใจผู้ชมไปยิ่งกว่าเคยในบทบาทของผู้เฒ่าตาบอด สุดยอดทั้งการแสดงและการวางตำแหน่งตัวละครในเรื่อง จากผู้เล่าเข้ามาเป็นผู้แสดง พี่เจี๊ยบทำให้เราเชื่อได้อย่างหมดใจจนจุดอกน้ำตาตกกันทั้งโรง ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ส่งพลังให้ทุกตัวละครในนครตรรกะไม่เป็นหุ่น

แต่ในขณะเดียวกันประมุขของเมืองตรรกะถูกออกแบบให้มีความเป็น ‘คนปกติ’ ที่ไม่เข้าพวกยืนยันด้วยชื่อ ‘5050’ (ห้าสิบ-ห้าสิบ พี่แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง) เมื่อต้องเลือกคนส่งไปค้น เอกเขนก อาณาจักรที่หลุดสำรวจ และเมื่อต้องออกตามหาพันหนึ่งที่หายไป บทบอกชัดในความไม่เด็ดขาดมาดผู้นำ ด้วยบุคลิกลังเล ดูใจดี ยืดหยุ่นทั้งที่สถานะควรจะต้องเข้มเพื่อความขลังของตรรกะนคร ที่มีคำปฏิญาณตนติดปากติดใจว่า “ขออำนาจแห่งหลักการและเหตุผล จงคุ้มครอง เมืองตรรกะจงเจริญ”

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

นอกจากมีเพลงเด่นมาเป็นอันดับหนึ่งแล้ว แล้วละครยังใช้ ‘ฉาก’ เป็นตัวเอกเสกความต่างอย่างจงใจให้ชัดเจนตาม THEME ของเรื่อง เปิดฉากแรก องก์ที่ 1 ณ มหานครตรรกะ บอกเล่าสถานการณ์วิกฤตเพราะไฟดับทั้งเมือง อันเนื่องมาจากเด็กล้างจานมัวสนานกับการวาดรูปเพราะชายตาบอดชวน  แนะนำตัวละครหลักไม่นานมาก แต่ไอเดียฉากจากโจทย์จึงออกแบบเมืองนี้มีรูปทรงเลขาคณิตติดสัญลักษณ์ถักแสงสีที่ออกแนว ‘กระสวยอวกาศ’  เหมือนปราศจากชีวิตจริง จนทำให้รู้สึกมึนกับบรรยากาศที่เหมือนลอยออกนอกโลกไปโขกกับมนุษย์ต่างดาว (สำเร็จตั้งแต่ก้าวแรกกันเลย) ก่อนที่จะรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกยัดเข้าไปอยู่ในสุญญากาศจนขาดใจ ฉากสองก็ถูกส่งเข้ามา พาผู้ชมที่ใกล้เป็นลมไปรับอ๊อกซิเจนจาก ‘เมืองดอกไม้’  ในอาณาจักรเอกเขนกที่มาช่วยเบรคไว้ทัน ด้วยบุปผานานาพันธุ์ที่ให้ชีวิตเปี่ยมชีวาทั้งเพลากลางวันกลางคืน เหมือนจะได้กลิ่นหอมโชยชื่นของเกสรดอกไม้ลอยมา

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

บทไม่ลืมที่จะกระจายตัวแทนผู้คนอยู่ในหลายกลุ่มหมู่มวล ชื่นมื่นกับการพบกันครั้งแรกของ พระจันทร์ กับ 1001 ที่ถูกส่งมาปฏิบัติภารกิจสำคัญในต่างแดน และลุ้นเอาใจช่วยกับคู่จีบกระจุ๋มกระจิ๋มระหว่าง ปุยปุย กับ ชนะลม องค์แรกผ่านไป อิ่มตากับฉาก แสง และการแสดง เอมใจกับ 13 เพลง ทั้งเสียงร้องและเรื่องราว เสมือนได้รื่นรมย์อยู่ในดินแดนธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ให้ความสุขมนุษย์ได้เต็มเปี่ยม

องก์ 2 อิ่มใจกับอีก 13 เพลง ว้าวุ่นลุ้นความต่างระหว่างมนุษย์สองสายพันธุ์ ตั้งแต่เรื่องความรักที่ไขว้กันไปมาระหว่างสองคู่สี่คนบนต่างแดนที่ต้องเคลียร์ใจ ไปจนถึงความต่างสร้างความขัดแย้งสุดขั้วจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ทำให้สำนึกใน ‘ความเป็นมนุษย์ที่แท้’ สุดท้ายต้องการแค่สันติภาพเพื่อได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยไม่แก่งแย่ง แข่งขัน ห้ำหั่น เพื่อสนองกิเลสซึ่งต้องแลกด้วยหายนะ เรื่องราวทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคนแปลกหน้าจากเมืองตรรกะต้องพิศูจน์ตัวเองกับผู้คนในเมืองเอกเขนก ที่ไม่มองเพื่อนมนุษย์เป็นฝ่ายตรงข้ามในนามของ ‘ศรัตรู’ ตรงข้ามกับเมืองตรรกะขณะกำลังเลือกตั้งผู้นำใหม่ การแก่งแย่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นตึงเครียด แม้ผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงจะไม่ได้อยู่ร่วมรับรู้การแข่งขัน มีผู้เข้าชิงสำคัญแค่สองคนคือ พันหนึ่งกับแสนเก้า โดยมี ‘ผู้เฒ่าตาบอด’ เข้าไปเป็นตัวแปรแก้ไขให้สถานการณ์คลี่คลาย แม้ต้องแลกด้วยความตายของผู้บริสุทธิ์ถึงสองคน

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

ในเนื้อหาที่หนักหน่วงพ่วงมาด้วยความเพลิดเพลินใจไปกับความรักวัยรุ่น (ปุกปุย - ชนะลม) หนุ่มสาว (พันหนึ่ง-พายอาร์) ที่ให้ภาพต่างระหว่างมนุษย์สองขั้วที่ชวนหัวเราะทั้งน้ำตา … 1001 ไม่ยอมเรียกพายอาร์แต่เรียก 3.14 เพราะคิดว่าพายอาร์มีค่ามากกว่า 3.14159....มีเศษห้อยติดมาอีกหลายหน่วยจึงไม่เหมาะสมตามหลักการและเหตุผล และยืนยันว่า ผู้หญิงมีอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก มีความเป็นมนุษย์ที่แท้มากกว่าผู้ชาย ผ่านบทสนทนาที่พายอาร์พยายามเตือนสติพันหนึ่งผู้อุดมด้วยเหตุผล ให้มีความเป็น ‘คน’ ที่ใช้ ‘หัวใจ’ ด้วยสัญชาติญาณของความเป็นผู้หญิง

 

3.14 : ท่านคิดว่าข้าเหมาะสมที่จะเป็นคู่หมั้นของท่านหรือไม่ ข้ารู้สึกว่า…

1001 : ความรู้สึกมันไม่มีเหตุผลไม่มีหลักการ ไม่งั้นเราจะทะเลาะกันเป็นครั้งที่ 28 ในรอบสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 4 ครั้งมันมากกว่ากินข้าวซะอีก

3.14 : ข้ารักท่านนะเพียงแค่รู้สึกว่า… (แม้เป็นคนของตรรกะนคร แต่ความเป็นมนุษย์ที่แท้คือ มีหัวใจและต้องการความรัก)

1001 : ในเมื่อได้รับการประเมินว่าเราสองคนเข้ากันได้ในทุกๆ ด้าน เจ้ายังจะสงสัยอะไรอีก

3.14 : ท่านรักข้าไหม รักจริงหรือ (ผู้หญิงละเอียดอ่อนต้องการความมั่นใจในคนรัก)

1001 : รักสิ ด้วยเหตุผลทั้งหมดแล้วข้ารักเจ้า ไม่มีใครหมาะสมกันเท่าเจ้ากับข้าอีกแล้ว

ส่งเพลง “เธอกับฉันกับคนอื่น ๆ ” เธอกับฉันรวมกันเป็นสองคน … เข้ามาร่วมยืนยันพันธกิจเพื่อชาติที่รัก ก่อนหักมุมไปเป็นอื่น คนเราฝืนลิขิตไม่ได้จริงไหม แล้วใครคือผู้กำหนด… หรือการค้นพบความเป็น คนที่มีหัวใจ จากพระจันทร์ คือคำตอบ

 

 

เมื่อพันหนึ่งจะถูกส่งตัวไปสำรวจอาณาจักรเอกเขนก เขาประเมินว่าโอกาสที่จะไม่ได้กลับมามี 0.01 % ที่จะไม่ได้กลับมา จึงฝากทุกภารกิจให้แสนเก้าดูแลและรับผิดชอบรวมทั้ง 3.14 ด้วย (ยกให้เพื่อนได้ง่าย ๆ เพียงเพราะความรับผิดชอบเท่านั้น ไม่สำคัญที่ผู้หญิงจะรู้สึกอย่างไรในการจัดการ) ย้ำความเป็นเลิศในศักยภาพของความเป็นมนุษย์เหตุผลด้วย เพลง เปิดเมืองเอกเขนก ขณะถูกนำตัวมาให้ ยับยับ ประมุขของอาณาจักรเอกเขนกสอบสวนหลังเครื่องบินตกลงบนเฉลียงหลังบ้านของ ปุยปุย จนยับยุ่ยยู่ยี่ แต่เขามีเหตุผลในการสั่งให้ปล่อยตัวด้วยภาษาของเหตุผลจนคนฟังมึน

พันหนึ่ง :  เริ่มด้วยประการที่หนึ่ง ข้าไม่ได้ผิด ตามเหตุและผล ทุกคนก็ควร ปล่อยข้าไป

และด้วยประการที่สอง ข้าทำเมืองท่านวุ่นวาย คิดเป็นตัวเลขความเสียหาย ได้ 12.66

 แต่เครื่องบินของข้าตก บวกลบตัวเลขในใจ คำนวณดูแล้วยังไง ทางข้าเสียหายมากกว่า

และด้วยประการที่สาม กับดักติดอยู่ที่ขา มวลกับดัก กับมวลตัวข้า ต่างกัน 65 กิโลกรัม ทำลายกับดักได้แน่ แค่แตกแรงที่กระทำ สมการนี้ใครก็รู้ ซิกม่าเอฟ เท่ากับ เอ็มคูณเอ

ยับยับ : พูดจาเลอะเทอะ ฟังไม่รู้เรื่อง (หันไปไต่สวนทุกข์สุขประชากรเราต่อดีกว่า)

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

หลังเปี่ยมสุขกับการแสดง เสียงเพลง พบการสูญเสีย ที่ต้องหลั่งน้ำตาให้กับสองชีวิตจนใจสลายแล้ว ฉากสุดท้ายก็ละลายใจด้วยบทจบที่บอก ‘ความจริง’ จากกล่องในกระเป๋าเด็กน้อย รู้สึกเหมือนมีใครคอยโอบกอดเช็ดน้ำตาให้ เมื่อบทย้อนมาย้ำว่า ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นมันคือนิทาน เด็กน้อยของเมื่อวานยังคงเติบโตอย่างคนที่มีหัวใจ มีความรัก และไม่ไร้จินตนาการ สีหน้าปิติในอารมณ์ความรู้สึกของชายนิรนามคนเดิม เขาพบบางสิ่งที่ไม่ใช่หิ่งห้อยในกระเป๋าเด็กน้อย ดนตรีพลิ้วบรรเลงสดสอดประสาน ส่งความซาบซ่านหวานชื่นรื่นรมย์ไปทั่วโรงละครก่อนกลับบ้าน เหมือนได้ ‘ของขวัญพิเศษ’ เป็นที่ระลึก คือความรู้สึกที่ถ่ายทอดถึงกัน ยืนยันแนวคิดการสร้างระบบนิเวศน์ให้หิ่งห้อยได้เติบโตโชว์ประกายแสง ด้วยศิลปะการแสดง (ละครเวที) เหมือนที่พี่สังข์ผู้กำกับได้รับโอกาสและประสบการณ์ เป็นพลังในการรังสรรค์งานอย่างมีความหมาย ความสำคัญ และส่งต่อด้วย Dream Team ที่เข้าใจในการปลดปล่อยความฝันให้เป็นอิสระ … ‘อย่าขังความจริง ไม่เห็น อย่าขังความงาม’ เพื่อตามความฝันไปให้ถึงที่สุด และพร้อมจะบอกน้อง ๆ ทุกคนว่า “จงเชื่อในสัญชาติญาณ อย่าหยุดอย่ายอมแพ้ แม้ต้องหดหู่ เพราะหนูไม่ได้สู้อยู่คนเดียว”

“มีสองสิ่งที่เราจงเชื่อ สิ่งแรกคือ คุณค่าของชีวิตในวันนี้
สิ่งที่สองคือ ความงามของความฝันวันพรุ่ง
ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไป ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่เต็ม”

ประภาส ชลศรานนท์

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

เพลง "โลกยังสวย"

ขับร้อง :: พระจันทร์ กับ ชาวเมืองเอกเขนก
คำร้อง :: ประภาส ชลศรานนท์
ทำนอง :: เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
เรียบเรียง :: จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน

ถ้ายังเห็นดอกไม้
ถ้ายังมองเห็นความชุ่มฉ่ำ
คงยังมองเห็นใจมั่น
เปี่ยมด้วยหวังดังใจ มีดอกไม้ชื่นชม

โลกดูเหมือนโหดร้าย
ไม่เป็นดังฝันดังเราใฝ่
มองไปทางไหนดูหม่น
ขาดดอกไม้ชื่นชม เพราะดอกไม้แห้งเหี่ยว

เสียอาจเสียใจร้องเถิดร้องไห้
ปลดปล่อยมันเสียจากใจ
ฝนขาดฟ้าไป รอความหวังใหม่
ดินจะเปียกฝนอีกครั้ง

โลกยังสวยเสมอ ไม่เกินเราฝันเกินเราใฝ่
ลมพาเกสรปลิวว่อนอีกไม่ช้ารอก่อน
เกิดดอกไม้ชื่นชม
ลมพาเกสรปลิวว่อนอีกไม่ช้ารอก่อน
เกิดดอกไม้ชื่นชม
ลมพาเกสรปลิวว่อนอีกไม่ช้ารอก่อน
เกิดดอกไม้ชื่นชม

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 

  • บริษัทผู้สร้าง : โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ, เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
  • อำนวยการสร้าง : สยามพิฆเนศ
  • ผู้กำกับ : ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม
  • ผู้ช่วยผู้กำกับและฝึกสอนการแสดง  : ชัชรินทร์ แซ่ตัน, ชลเลขา ละงู
  • บทละคร : ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม, วิรัตน์ เฮงคงดี, ณัชพล เรืองรอง, อาภาพร โสตะจินดา, พงเศรษฐ์ ลักษมีพงษ์, พิมพ์ไทย โลหิตคุปต์
  • เพลงประกอบ : ประภาส ชลศรานนท์, ฉัตรชัย ดุริยประณีต, จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน, เกรียงไกร วชิรธรรมพร, ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม, พิมพ์ไทย โลหิตคุปต์, ชัชวาลย์ วิศวบำรุงชัย, บอย ตรัย ภูมิรัตน, ชยานันต์ เทพวนินกร
  • กำกับดนตรี : ระพีเดช กุลบุศย์
  • กำกับวงและเรียบเรียงดนตรี : ทฤษฎี ณ พัทลุง
  • ออกแบบและควบคุมแสง สุพัตรา เครือครองสุข, ภรทิพย์ กำเหนิดคุณ
  • กำกับศิลป์และออกแบบฉาก : พล หุยประเสริฐ, ศรัณย์ภัชร์ รัชตะนาวิน
  • ออกแบบเครื่องแต่งกาย : พัชรพันธุ์ เทียนศิริ
  • ดำเนินการผลิต : ประภาส ระสินานนท์
  • ควบคุมการผลิต : กฤตพร ภิรมยาภรณ์
  • จัดการโครงการ  : ชยานันต์ เทพวนินกร
  • ที่ปรึกษา : ประภาส ชลศรานนท์, พาณิชย์ สดสี, ดร.วิชนี ศรีสวัสดิ์, ชลากรณ์ ปัญญาโฉม

 

นักแสดงหลัก

  • อาทิตยา ตรีบุดารักษ์, กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ,
  • โจริญ คัมภีรพันธุ์, แฮนน่า โรเซ็นบรูม,
  • ทิพานัน นิลสยาม, เบญญาภา อุ่นจิตร,
  • ณัฐธยาน์ บุตรธุระ, แอวิน แพทริค เพนนอร์ส,
  • ภัทร์ไพบูลย์ โอภาสสุวรรณ,
  • ฐาปนา จงกลรัตนาภรณ์, เดชาธร วรรณวานิชกุล,
  • มะลิมาริสา ฮิวส์, อัญชุลีอร บัวแก้ว,
  • ธานี พูนสุวรรณ, มงคล สะอาดบุญญพัฒน์
  • เฉลียง รับเชิญ : วัชระ ปานเอี่ยม, ภูษิต ไล้ทอง

 


photo : นิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง

 


[1] นายประภาส ชลศรานนท์ อัตลักษณ์งานศิลป์ศิลปินแห่งชาติ, หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม,  สืบค้น 20 กรกฎาคม 2567  https://www.youtube.com/watch?v=20x-0ZDbr34

[2] นายประภาส ชลศรานนท์ อัตลักษณ์งานศิลป์ศิลปินแห่งชาติ, หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม,  สืบค้น 20 กรกฎาคม 2567  https://www.youtube.com/watch?v=20x-0ZDbr34

[3]  นิทานหิ่งห้อย - ดีเจ บ็อบบี้, NOMONDAY, สืบค้น 20 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=YIjr2-e9jRs

[4] การเดินทางของนิทานหิ่งห้อย, Prapas Cholsaranon, สืบค้น 28 มีนาคม 2567 https://www.facebook.com/photo/?fbid=978981146917456&set=a.346488116833432

[5] ประภาส ชลศรานนท์,  37 ปี นิทานหิ่งห้อย,  Prapas Cholsaranon, สืบค้น, 20 กรกฎาคม 2567 https://www.facebook.com/photo?fbid=1047920990023471&set=a.346488116833432

[6] เฉลียง : เร่ขายฝัน อัลบั้ม : เอกเขนก, Kita Music, สืบค้น 20 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=mf0fxQwXIkU

[7]Prapas Cholsaranon, ว่าด้วยการตั้งชื่อตัวละครที่ซ่อนนัย,  สืบค้น, 20 กรกฎาคม 2567 https://www.facebook.com/photo.php?fbid=980208136794757&id=100044167402783&set=a.346488116833432

[8] กล้วยไข่ - เฉลียง, Book Thanthip, สืบค้น 19 กรกฎาคม https://www.youtube.com/watch?v=lpBZRnxa8FA

[9] 02 กล้วยไข่, Siam Pic-Ganesha, สืบค้น 19 กรกฎาคม https://www.youtube.com/watch?v=jv-Q83T_sLI

[11]  ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ลมหายใจกลายเป็นละครเวที, หนุ่มเมืองจันท์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ, สืบค้น 19 กรกฎาคม 2567  https://www.youtube.com/watch?v=vEKS6YszkSU

[12] SiamPicTalk EP_34 , Siam Pic-Ganesha , สืบค้น , 19 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=Uvt5WX5TWi0

[13]  ย้อนรอย คณะถาปัด จุฬา 3, aey SrirathSomsawat, สืบค้น, 19 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=-iZQ_6AHVio&t=122s

[14] 108 มงกุฏ กับ บางช่วงบางตอน ในรายการตี 10 : นานา-สาระ-1,000 ,  สืบค้น 18 กรกฎาคม 2567  https://www.youtube.com/watch?v=GGfWkDXvVIw

[15]   ชายกลางเดอะมิวสิคัล ,   www.tramaekrua.com , สืบค้น 18 กรกฎาคม 2567 https://www.tramaekrua.com/คุณแซ็ก-ธนินวัฒน์-พัฒนวี/

[16]  “พล นิกร กิมหงวน”, www.sarakadee.com, สืบค้น 18 กรกฎาคม 2567  https://www.sarakadee.com/feature/2001/08/samgler.htm

[17] กลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดี "เฉลียง" , pantip.com ,  สืบค้น 25 กรกฎาคม 2567 https://pantip.com/topic/42090864

[18]  เพลงใยแมงมุม - เฉลียง,  IThardcore, สืบค้น 25 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=1T_ybUqT1bQ

[19] ผลงานมาสเตอร์พีซ Beethoven | จ๋าย ไททศมิตร, สังข์ ธีรวัฒน์, WorkpointOfficial WorkpointOfficial , สืบค้น  สืบค้น 25 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=omWZ2YDfMPg

[20] ความมหัศจรรย์ของ สมอง 2 ซีก, สำนักงานตัวแทนดิจิทัล, สืบค้น 25 กรกฎาคม 2567 https://digitaloffices.thailife.com/thaweerak.wis/articles/มหัศจรรย์-สมอง-2-ซีก

[21] หยิน-หยาง พจ.ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์ , www.gj.mahidol.ac.th , สืบค้น 19 กรกฎาคม https://www.gj.mahidol.ac.th/main/tcm/yinyang/

[22] 02 กล้วยไข่ , Siam Pic-Ganesha , สืบค้น 19 กรกฎาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=jv-Q83T_sLI

[23] ธานี พูนสุวรรณ ผู้รังสรรค์เนื้อเพลงการ์ตูนดิสนีย์,   plus.thairath.co.th, สืบค้น 28 มกราคม 2566  https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/102708