ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐสวัสดิการกับการรักษาความรักในสังคม

13
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • ในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันแห่งความรัก ผู้เขียนจึงใช้โอกาสนี้นำเสนอว่า ผู้คนอาจให้นิยามของ “ความรัก” ที่หลากหลาย ลื่นไหล และแปรเปลี่ยนไปตามพื้นที่และกาลเวลา หรืออาจให้ความหมายที่เฉพาะตายตัวข้ามพื้นที่และเวลาก็ได้
  • John A. Lee สรุปความหลากหลายของความรักที่ไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียวตลอดชีวิตไว้ดังเช่น (1) Eros : ความรักแบบโรแมนติก (2) Ludic : ความรักสำหรับคนที่มีโลกทัศน์แบบเดียวกัน (3) Storge : ความรักที่มั่นคงในทางจิตใจ (4) Pragma : ความรักที่มองปัจจัยภายนอกเป็นหลัก และ (5) Agape : ความรักแบบไม่มีเงื่อนไขโดยเป็นความรักอันบริสุทธิ์
  • สังคมที่เหลื่อมล้ำ (เน้นกลไกตลาด) และสังคมแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือสังคมแบบรัฐสวัสดิการ (เน้นความเสมอภาค) ให้โอกาสแก่ผู้คนในการมีความรักตามแบบทั้งหลายที่แตกต่างกัน โดยสังคมที่เสมอภาคจะช่วยค้ำยันความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน และเอื้อต่อการแบ่งปันความรักประเภทต่างๆ ได้ดีกว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำ

 

เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเรื่องปกติที่จะมีบทความอธิบายเรื่องความรักต่างๆ ทั้งในมุมมองดั้งเดิม จนถึงมุมมองสมัยใหม่ “ความรัก” มีนิยามที่หลากหลายลื่นไหล แปรเปลี่ยนไปตามพื้นที่และกาลเวลา ขณะเดียวกันก็มีผู้คนจำนวนมากยังเชื่อว่าความรักมีความหมายเฉพาะตายตัวข้ามพื้นที่และเวลา แต่ไม่ว่าความรักจะมีความหมายลื่นไหล หรือเฉพาะเจาะจงตายตัว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกนี้ไม่เคยแห้งหายจากความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักจากความสัมพันธ์รูปแบบใด

“ความรัก” คือสิ่งที่ทำให้เราเห็นตนเองในตัวของผู้อื่น และรับตัวตนของผู้อื่นเข้ามาในตัวเอง คำถามสำคัญคือเมื่อความรักเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม มันมีสังคมแบบใดเป็นพิเศษหรือไม่ที่สามารถส่งเสริมหรือทำลายความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อความรักมีความหลากหลาย ผมจึงขอใช้นิยามการจัดแบ่งประเภทความรักแบบที่มีความเข้าใจกันทั่วไปซึ่ง John A. Lee ได้ทำการรวบรวมไว้ ดังเช่น

  • Eros – ความรักโดยพื้นฐานความรักแบบโรแมนติก
  • Ludic – ความรักสำหรับคนที่มีความสนุก หรือโลกทัศน์แบบเดียวกัน ความรักในหมู่เพื่อน
  • Storge – ความรักที่มั่นคงจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ
  • Pragma – ความรักที่มองปัจจัยภายนอก เป็นหลัก
  • Agape – ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ความรักอันบริสุทธิ์

ความรักดังที่ยกมาทั้ง 5 ประเภทนี้ เป็นเครื่องยืนยันความเป็นมนุษย์ ที่เราอาจไม่ต้องมีความรักแบบใดแบบหนึ่งอย่างเดียวกันตลอดไปทั้งชีวิต

คำถาม คือ สังคมแบบใดที่จะเอื้อให้เราได้ทำความรู้จักความรักทั้ง 5 ประเภทนี้ โดยผมขอเทียบลักษณะของรูปแบบสังคมสองประเภท คือสังคมที่เหลื่อมล้ำเน้นกลไกตลาด และสังคมแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือสังคมที่ปรับใช้แนวทางแบบรัฐสวัสดิการ

เราเริ่มต้นที่ความรักแบบแรกคือ Eros ความรักที่มีความโรแมนติก รักแรกพบ หรือการตกหลุมรัก แม้จะฟังดูไร้เหตุผลแต่ ความรักแบบ Eros ยังมีที่มาที่ไป เมื่อพิจารณาในสภาพสังคม ความรักประเภทนี้เกิดขึ้นได้ผ่านโอกาสในการรวมตัวกันในงานเลี้ยง หรือกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมนั้นเป็นโอกาสสำหรับบุคคลที่จะพบกันและเชื่อมต่อกันดังกล่าวและค้นพบความสนใจหรือความเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ร่วมกัน ทำให้สามารถแบ่งปันทัศนคติ ความคาดหวังในมิติวัฒนธรรมอื่นๆ ได้

ในแง่นี้เราจึงพบว่า ความรักในลักษณะนี้จึงเกี่ยวพันกับมิติด้านพื้นที่สาธารณะ กิจกรรมความบันเทิงที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง ที่เปิดกว้างคนหลากหลายชนชั้นให้เข้าร่วม เราลองจินตนาการว่า หากกิจกรรมทางดนตรี วัฒนธรรม กีฬา ถูกจัดขึ้นอย่างเพียงพอก็จะทำให้ ผู้คนย่อมมีโอกาสตกหลุมรักกันในลักษณะนี้ได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกันหากค่าใช้จ่ายในกิจกรรมทางสังคมสูงขึ้น ก็จะกีดกันคนกลุ่มหนึ่งออกจากการพบเจอความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ในลักษณะนี้

เมื่อขยับมาที่ Ludic หรือความรักที่ดูมีเงื่อนไขมากขึ้น ความรักที่เกี่ยวพันกับกิจกรรม ความสนใจ หรือกระทั่งความรักที่พัฒนามาจากมิตรภาพ ความรักที่มีเพื่อนนี้ คือความรักที่พาเราสู่ความบันเทิง การทำกิจกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน หรือกระทั่งความรู้สึกปลอดภัย พึ่งพิงในบางโอกาส มีความคิดความเข้าใจในโลกแบบเดียวกัน หรือความสัมพันธ์รสนิยมทางเพศ แบบเดียวกัน ความรักแบบ Ludic จึงมีลักษณะความสัมพันธ์แบบลองผิดลองถูกได้ พึ่งพิง และผ่อนคลาย

เรามักเข้าใจว่า ในโลกทุนนิยมเสรี เราจะสามารถแสวงหาความรักประเภทนี้ได้ง่ายขึ้นด้วยความสัมพันธ์ที่เปิดกว้าง อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นว่า ในประเทศที่มีระบบสวัสดิการทั่วถึง ประชาชนจะมีแนวโน้มมีจำนวนเพื่อนที่มากกว่า มีกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่า ประเทศที่ระบบสวัสดิการไม่ดี อันสามารถนำสู่ความสัมพันธ์และความเชื่อใจต่อคนกลุ่มใหม่ๆ ได้ดีกว่า สังคมที่ไม่มีระบบสวัสดิการที่ดี ที่ระดับความไว้ใจของผู้คนในสังคมจะน้อยกว่า

Storge – ความรักที่มั่นคงจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ หรือความรักในลักษณะครอบครัว การก่อร่างสร้างความรักประเภทนี้อาศัยต้นทุนทางเศรษฐกิจ และการอุทิศชีวิตและจิตใจ หรือกระทั่งความรักประเภทอื่นเพื่อความรักประเภทนี้ บ่อยครั้งที่ความรักประเภทนี้ถูกนิยามว่าเป็นความรักที่มีลักษณะอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตาม ความรักประเภทนี้ยังถือว่าเป็นความรักที่มนุษย์โดยทั่วไปให้ความสำคัญไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม แน่นอนที่สุดสังคมที่มีระบบสวัสดิการสำหรับคนในครอบครัวที่ดี ไม่ว่าเงินเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการการศึกษา ประกันการว่างงาน ที่อยู่อาศัย บำนาญ ย่อมทำให้สามารถรักษาความรักประเภทนี้ไว้ได้

อย่างไรก็ตามมักมีข้อสังเกตว่า ประเทศรัฐสวัสดิการส่วนมากมีสถิติการหย่าร้างสูงจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นไปตามที่ผู้เขียนอธิบายได้ว่า “ความรักในโลกนี้มีหลากหลายประเภท” การที่ระบบสวัสดิการสังคมดีที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากอีกฝ่าย เมื่อความรักในลักษณะครอบครัวไปไม่รอด ก็สามารถแยกทางกันได้ไม่ต้องฝืนให้อยู่ด้วยกันจนแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง

Pragma – ความรักที่มองปัจจัยภายนอก ไม่ว่าเรื่องรูปลักษณ์ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ความรักแบบ ‘Pragma’ ไม่ได้มีค่าน้อยกว่าความรักประเภทอื่น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทางเลือกต่อความรักของผู้คนจะถูกจำกัดด้วยมิติทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่อาศัย และรายได้ จนกลายเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนไปเสียทั้งหมด จนบางครั้งเราอาจแยกไม่ออกว่านี่คือความรักหรือการลงทุน

และสุดท้าย ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ความรักบริสุทธิ์ Agape ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่าสังคมมนุษย์อยู่ในรูปแบบใด เสมอภาค เหลื่อมล้ำ สันติ หรือสงคราม เราก็ยังมีความรักประเภทนี้ แต่สภาพสังคมที่บีบคั้นอาจทำให้ความรักในลักษณะนี้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่มนุษย์ยังสามารถรู้สึกต่อความเจ็บปวดของผู้อื่น เสียน้ำตาให้กับเรื่องที่ไม่ใช่ความทุกข์ร้อนของตนเอง ก็เป็นเครื่องหมายว่าเรายังมีความรักประเภทนี้อยู่ และความรักประเภทนี้ ที่แปรเปลี่ยนให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ที่เราสามารถโอบอุ้มดูแลซึ่งกันและกันได้ ดูแลคนอ่อนแอโดยไม่หวังผลใดตอบแทน ก้าวออกจากความสิ้นหวัง และเป็นฐานสำคัญให้เราออกแบบสังคมที่ดีขึ้น โอบอุ้มผู้คนได้มากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักความรักประเภทอื่นต่อไป

ในจุดนี้ผู้เขียนอาจไม่สามารถสรุปได้ตรงใจนิยามความรักของทุกคน แต่ก็ยืนยันในจุดนี้ว่า สังคมที่เสมอภาค สังคมที่ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน จะช่วยค้ำยันให้มนุษย์เราคงความเป็นมนุษย์ และแบ่งปันความรักประเภทต่างๆ ตามนิยามของตนได้ดีกว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำแน่นอน

เอกสารอ้างอิง

  • Phillip Anthony O’Hara, Political Economy of Love: Nurturance Gap, Disembedded Economy and Freedom Constraints within Neoliberal Capitalism, (Australia: Global Political Economy Research Unit, 2014), 166-169.