ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อนุทินถึงพ่อ

17
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • ลูกคนหนึ่งของนายชิต สิงหเสนี เขียนแทนลูกๆ ทุกคน รำลึกถึงความศรัทธาที่พ่อมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 และความเคร่งครัดในการสั่งสอนลูกๆ ให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งพ่อเองยอมรับการถูกประหารชีวิต (เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498) ในกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8
  • การถูกประหารชีวิตของนายชิต สิงหเสนี เป็นเรื่องที่ลูกๆ เชื่อมั่นว่าพ่อของตนไม่ผิด แต่การยินยอมรับการถูกประหารชีวิตดังกล่าว เพราะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พ่อได้รับ มีความจงรักภักดีที่พ่อสามารถมอบกาย ใจ และชีวิตให้ได้ รวมทั้งเพราะพ่อยึดมั่นในหลักธรรมของพุทธศาสนา
  • แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2521 และผ่านความเจ็บปวดในการใช้ชีวิตหลังการจากไปของผู้เป็นพ่อ แต่ลูกๆ ทุกคนของนายชิต สิงหเสนี ก็ยังคงมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์

 

พ่อจ๋า

เมื่อก่อนลูกยังเล็ก ลูกไม่รู้หรอกว่าทำไมพ่อจึงเฝ้าสอนให้ลูกๆ จงรักภักดีต่อชาติ ให้มั่นคงและปฏิบัติตนสม่ำเสมอในพุทธศาสนา ให้เคารพและภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ลูกเฝ้าฉงนว่าทำไมจึงต้องจ้างพวกเราเด็กๆ ทุกคนในบ้านให้ไหว้พระสวดมนต์ให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกวัน พ่อจำได้ไหมจ๊ะว่า “ท่านบนตึก” เป็นผู้จ้างพวกเรา “ท่านบนตึก” ที่เราไม่เคยเรียกว่า “คุณป้า” แต่เรียกกันจนติดปากเหมือนทุกคนในบ้านว่า “ท่านบนตึก” เมื่อถึงเวลาย่ำค่ำท่านก็จะตีฆ้องเสียงดังกระหึ่ม เรียกเด็กๆ ทุกคนให้ขึ้นไปบนตึก พ่อจะคุมพวกเราไปด้วยทุกครั้ง แม้ลูกยังเล็กนัก แต่ลูกก็จำได้ดีว่าพอขึ้นไปบนตึก เข้าไปในห้องกลางซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาใหญ่เท่ากับความกว้างของห้อง มีพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมายหลายองค์ ขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ขนาดเท่าคนจริงๆ ลงมาจนถึงองค์เล็กเท่าฝ่ามือ ด้านตรงข้ามกันเป็นโต๊ะหมู่พระบรมรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ พวกเราจะนั่งพับเพียบเรียบร้อยเรียงเป็นแถว หันหน้าไปทางโต๊ะหมู่บูชา

เริ่มต้นด้วยการสวดนะโมสามจบ แล้วจึงสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณทั้งบทภาษาบาลีและภาษาไทย เมื่อจบแล้วก็จะลุกขึ้นยืนหันหน้าไปทางพระบรมรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วจบลงด้วยเพลงพุทธานุภาพ เมื่อจบแล้วเราก็จะได้รับแจกสตางค์คนละ ๑๐ สตางค์ทุกคนทุกวัน พวกเราสนุกและชอบขึ้นไปสวดมนต์เพราะอยากจะได้สตางค์มากกว่าอยากสวดมนต์หรือร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาย่ำค่ำ เราจะใจจดใจจ่อคอยฟังเสียงฆ้องว่าเมื่อไรจะตีสักที วันที่พวกเราสนุกสนานกันเป็นพิเศษก็คือวันสำคัญทางศาสนาหรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ พวกเด็กๆ จะถูกเกณฑ์ให้จัดทำดอกไม้สำหรับบูชาเป็นพิเศษประกวดประชันกัน บางคนอาจจะร้อยมาลัย บางคนอาจจะทำพวงหรีดเล็กๆ หรือช่อดอกไม้ ของใครสวยที่สุดก็จะมีรางวัลให้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำด้วยตนเอง เราสนุกกันตามประสาเด็กโดยไม่รู้ตัวสักนิดว่าเราถูกอบรมบ่มนิสัยด้วยวิธีการที่แนบเนียนเพียงไร

เมื่อมีเวลาว่างพ่อมักจะเล่านิทานชาดกในพุทธศาสนาบ้าง เล่าเกร็ดพงศาวดารเกี่ยวกับพระบุญญาธิการ และพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์บ้าง วีรกรรมของบรรพบุรุษบ้างให้ลูกได้ฟังอยู่เสมอ บางครั้งก็สอนให้ร้องเพลงปลุกใจจนลูกจำเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการได้ขึ้นใจเกือบทุกเพลง ลูกๆ ของพ่อทุกคนจึงชอบอ่านหนังสือพงศาวดารซึ่งพ่อมีให้อ่านเต็มตู้

วัน เดือน ปี ผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันหนึ่งพ่อก็หายไปจากบ้าน ตามปรกติพ่อเป็นคนรักลูกรักเมีย เมื่อเลิกงานพ่อจะรีบกลับมาบ้านเสมอ นอกจากวันที่พ่อต้องเข้าเวรหรือตามเสด็จไปไหนๆ พ่อไม่เคยหายไปหลายวันอย่างนี้ ลูกเห็นแม่ร้องไห้ พวกเราก็ร้องไห้ แม่บอกพวกเราว่าพ่อถูกจับเพราะเขาหาว่าพ่อสมคบกับพวกฆ่าในหลวง ใครๆ ก็พากันรังเกียจเหยียดหยามเราจนแทบจะเงยหน้าขึ้นจากแผ่นดินไม่ได้ ลูกได้ตะโกนก้องอยู่ในใจตามประสาเด็ก ทำไมใครๆ ไม่รู้ว่าพ่อรักในหลวงมากมายเพียงไร ครั้งหนึ่งลูกจำได้ว่าพ่อเอาอะไรอย่างหนึ่งมาบ้าน พ่อบรรจงใส่ลงในผอบเบญจรงค์ใบเล็กๆ แล้ววางไว้บนหิ้งบูชา พ่อเฝ้ามองแล้วก็ยิ้ม ลูกจำได้ติดใจ เพราะเป็นเรื่องที่ถูกคิดตามประสาเด็กว่าไม่เห็นจะสลักสำคัญอะไรเลยทำไมพ่อจะต้องทำอย่างนั้นด้วย พ่อจำได้ใช่ไหมจ๊ะว่าลูกถามพ่อว่า “อะไรจ๊ะ” พ่อบอกลูกว่า “เส้นพระเกศา” ลูกไม่รู้หรอกว่าพระเกศาของพ่อคืออะไร พ่อก็หยิบเอามาให้ดู ลูกคว้ามาเล่น เพราะสิ่งที่ลูกเห็นนั้นก็คือเส้นผมธรรมดาๆ สีดำเป็นมันขลับเท่านั้นเอง พ่อตีลูก ตอนนั้นลูกไม่เข้าใจเลยว่าทำไมพ่อต้องตีลูกเพียงแต่ลูกแย่งเส้นผมมาจากมือพ่อ พ่อคงคิดได้ว่าลูกไม่รู้ประสาจึงอธิบายให้ฟังว่า “ลูกเอ๋ย นี่คือเส้นพระเกศาของในหลวง เส้นผมไงล่ะลูก วันนี้ติดหวีของพระองค์ท่านมา เวลาพ่อล้างหวี พ่อจะเก็บไว้ทุกครั้งไม่ยอมให้ร่วงหล่นลงพื้นหรือหายไปไหน พ่อเก็บมาบูชาไงล่ะ” ลูกยังไม่เข้าใจอยู่ดี แต่ก็กลัวถูกตีจนไม่กล้าไปแตะต้องอีก

แม้ลูกยังเด็ก ยังไม่เข้าใจอะไรลึกซึ้งนัก แต่ลูกก็พอจะรู้ว่าพ่อนั้นรักและเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัวเพียงไร ทั้งพระองค์ท่านก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพ่อเป็นล้นพ้น ทั้งทรงอาทรห่วงใยมาถึงครอบครัว ลูกจำได้ว่าพ่อมักจะมีขนมหรือผลไม้ราคาแพงๆ มาฝากลูกเสมอ พ่อบอกว่าในหลวงพระราชทาน ทรงมีรับสั่งเสมอว่า “ชิตเอาไปฝากลูกซิ” พ่อเคยเล่าให้แม่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า เวลาที่ทรงพระประชวรนั้น นอกจากสมเด็จพระราชชนนีแล้ว มีพ่อเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะทรงยินยอมให้ทำอะไรถวายได้ ความผูกพันที่พ่อมีต่อพระองค์ท่านจึงเหนียวแน่นไม่มีวันเสื่อมคลาย

เมื่อลูกเติบใหญ่ลูกจึงรู้ว่าความจงรักภักดีของพ่อนั้นใหญ่หลวงเพียงใด พ่อมอบกาย มอบใจ แม้เต่ชีวิตให้ได้ พ่อเคยบอกลูกอย่างนั้น แล้วสั่งสอนลูกต่อๆ มาให้อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะทุกข์ยากลำบากแทบเลือดตากระเด็น

พ่อจ๋า แม้ลูกจะเป็นเด็ก ลูกก็จำได้ว่าเคยไปส่งปิ่นโตพ่อ ทุกครั้งพ่อจะสอนให้ลูกอดทน ให้ลืมความทุกข์ยาก ลืมความอาฆาตพยาบาทที่จับอยู่ในหัวใจ

พ่อจ๋า มันยากเหลือเกินนะจ๊ะ ลูกจะลืมได้อย่างไรที่เราต้องเจ็บปวดอดอยากลำบากยากแค้นแสนสาหัส ต้องเผชิญหน้ากับคนทั้งหลายที่เกลียดชัง ดูหมิ่นเหยียดหยามเรา แม้กระทั่งเพื่อนร่วมโรงเรียน ลูกของพ่อบางคนโชคดีที่มีเพื่อนที่ดี รักใคร่ อาทร เห็นอก เห็นใจคอยช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ แต่ลูกบางคนต้องเจ็บปวดทรมานใจเพราะ เพื่อนร่วมชั้น เกลียดชัง ดูหมิ่น เหยียดหยาม เยาะเย้ยสารพัด บางครั้งลูกแทบจะอดใจไม่ได้เมื่อได้ยินกับหูว่า “เลือดสิงหเสนี ยังมีอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอีกหรือ คิดว่าถูกกุดหัวไปเจ็ดชั่วโคตร์แล้ว” พูดแล้วก็พากันหัวเราะเยาะหยันเหมือนเป็นเรื่องสนุกสำหรับพวกเขา แต่ลูกซิที่เจ็บแค้นแน่นอก ลูกอยากจะกู่ตะโกนให้ก้องโลกว่า “เลือดสิงหเสนีนี่แหละ ที่ได้ทาแผ่นดิน ปกปักรักษาบ้านเมืองมาแล้ว พร้อมที่จะพลีชีวิตถวายเพื่อราชบัลลังก์ตลอดไป ชั่วลูกชั่วหลาน ชั่วเหลน” คนเหล่านั้นลูกจำได้ ลูกอยากจะรู้นักว่าเขาเหล่านั้นจะรักผืนแผ่นดินไทยเท่าพ่อไหม จะจงรักภักดีและเทิดทูนล้นเกล้าฯ เท่าพ่อหรือเปล่า ลูกอยากจะท้าทาย อยากจะท้าพนันโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันนัก แต่....มันก็ยอกแสยงอยู่ในหัวใจ แทบจะเงยหน้าขึ้นจากแผ่นดินไม่ได้

พ่อจ๋า กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเราอยู่ด้วยความอดทน เราต่อสู้กับความอดอยากยากแค้น การดูหมิ่นเหยียดหยามมาได้อย่างไร ใครๆ ต่างก็เข้าใจอะไรๆ ได้ดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราเป็นคนไทยที่รักผืนแผ่นดินไทยเหมือนต้นตระกูลของเรา เรายอมสละเวลา สละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมได้โดยไม่ย่อท้อหวั่นไหว

วิญญาณของพ่อจะอยู่หนแห่งใดก็ตาม พ่อคงจะรู้นะจ๊ะว่า บัดนี้ แม้ซากร่างกายของพ่อจะเน่าเปื่อย ผุพังและถูกเผาไหม้เป็นเศษธุลี แต่คุณความดีของพ่อ ความมั่นคงในความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดียังคงอยู่ และได้ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานแล้ว เทพเจ้าเบื้องบนสวรรค์เท่านั้นที่จะรับรู้ว่าพ่อมีความบริสุทธิ์อย่างไร

ลูกเชื่ออย่างนั้น เพราะพ่อเคยสอนลูกเสมอว่า “ลูกเอ๋ย การทำคุณงามความดีของเรานั้น เราควรทำทั้งในที่ลับและที่แจ้ง แม้คนไม่เห็นผีสางเทวดาก็เห็น”

พ่อจ๋า แม้จะสิ้นบุญท่านบนตึก ไม่มีใครจ้างเราให้สวดมนต์แต่พ่อก็ให้บทสวดมนต์แก่ลูก พ่อสอนเสมอให้กราบไหว้ ท่องบ่น ให้ปฏิบัติยึดมั่นในธรรมบทให้จะแจ้ง และเข้าใจว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นที่สุดของธรรมทั้งปวง เป็นความจริงแท้ที่ยากจะพรรณนาได้

พ่อจ๋า ลูกประจักษ์ในใจแล้วว่า เหตุใดพ่อจึงเดินเข้าสู่หลักประหารอย่างทรนง ไม่สะทกสะท้านเกรงกลัวใดๆ เพราะพ่อได้วางใจไว้กับพระธรรมอันบริสุทธิ์แล้วนั่นเอง พ่อถือสัจจะเป็นที่ตั้ง จึงไม่หวั่นไหวต่อความทุกข์ยากและภยันตรายใดๆ แม้แต่ความตาย

พ่อจ๋า ขอวิญญาณของพ่อจงรับรู้ด้วยเถิดว่า พวกเราทุกคนจะทำตามคำสอนของพ่อ แม้ชีวิตเลือดเนื้อเราก็ยอมสละได้ ถ้าจะแลกกับความอยู่รอดของแผ่นดิน และองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นพระประมุขของชาติ และถ้าพ่อมีชีวิตอยู่จนบัดนี้ พ่อก็คงจะชื่นชมในพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ลูกของพ่อยังคงระลึกอยู่เสมอในการที่จะรักชาติ ยึดมั่นในศาสนาในพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และสุดท้ายคือความจงรักภักดีที่มีต่อราชวงศ์ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์

จากลูกๆ ของพ่อ

 

ที่มา

  • ลูกพ่อคนที่หนึ่ง, “อนุทินถึงพ่อ” ใน งานฌาปนกิจศพ นายชิต สิงหเสนี ณ เมรุวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2521. (กรุงเทพฯ : พ. พิทยาคาร, 2521), น. 23 - 27.

หมายเหตุ

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากทายาทของคุณชิต สิงหเสนี แล้ว
  • คำสะกดตามอักขรวิธีสะกดในเอกสารชั้นต้น