ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทบาทของ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงสนิท สวัสดิวัตนในขบวนการเสรีไทย

17
ธันวาคม
2567

ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

 

เริ่มยุคใหม่ในชีวิตของพ่อ-ยุคเสรีไทย- พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๖)บทบาทของพ่อในขบวนการเสรีไทยนี้ จะได้เล่าเป็นรายละเอียดในบทความอีกเรื่องหนึ่ง

สงครามในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์จบลง เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) - -หลังจากวันสันติภาพ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ไม่กี่วัน พ่อก็มาปรากฏตัวที่บ้านคุณยายที่วัดสามปลื้ม เป็นครั้งแรกที่หน่อยและหนิ่งได้พบกับพ่อ แทบจะพูดได้ว่า เป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะเมื่อพ่อจากไปเมื่อ ๑๒ ปีก่อนนั้น เราเล็กเกินไปที่จะจําพ่อได้

ช่วงนี้นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์ระยะสั้น ๆ ของพ่อ ผลงานกู้ชาติของเสรีไทย การที่ท่านได้ร่วมมือสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฝ่ายชนะสงคราม แทนที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามไปกับญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลไทยได้ร่วมมือเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่นตลอดสงคราม พ่อได้รับยศเป็นพันโทแห่งกองทัพอังกฤษ เดินนำหน้ากองทหารเสรีไทยจากอังกฤษ ๓๖ คน ในการเดินสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย พ่อได้เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงรับรองนายทหารอังกฤษที่เข้ามาปลดปล่อยอาวุธทหารญี่ปุ่น และปล่อยเชลยศึกจากค่ายกักกันทั้งหลาย มีงานเต้นรำลีลาศโก้หรูที่วังมหานาค ต้อนรับ Colin Mackenzie นายพลแขวงพลเรือนของกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพ่อ ราวต้นเดือนธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับประเทศไทย พร้อมด้วยพระอนุชาและพระราชชนนี พ่อเข้าไปรับใช้ในพระบรมมหาราชวังอย่างใกล้ชิด และทำงานร่วมมือกับผู้นำเสรีไทย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว อาจารย์ปรีดีขอตัวพ่อเอาไว้ให้ช่วยเหลือประสานงานกับพระเจ้าอยู่หัวก่อน จนกว่าในหลวงรัชกาลที่ ๘ จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อ พ่อจึงจะตามเสด็จในฐานะราชองครักษ์พิเศษผ่านอเมริกาและอังกฤษ ก่อนเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนั้น อาจารย์ปรีดียังมีแผนการณ์จะให้พ่อไปประจำอยู่ที่ประเทศสวิสส์ต่อจากนั้น เพื่อรับใช้พระเจ้าอยู่หัวและประสานงานกับฝ่ายรัฐบาล แต่แล้ว เพียงสี่วันก่อนกำหนดเดินทางในวันศุกร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ เหตุการณ์มหาวิปโยคก็เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีวันคิดฝัน ในวันที่ ๙ มิถุนายน หลังเวลา ๙ นาฬิกาเล็กน้อย เสียงปืนดังขึ้นในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน มหาดเล็กห้องพระบรรทมนั่งอยู่หน้าประตูห้อง- ชิต สิงหเสนี วิ่งเข้าไปดู ก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ บรรทมนิ่งอยู่บนพระที่ มีแผลรอยยิ่งอยู่ที่หน้าผาก นายชิตวิ่งไปละล่ำละลัก กราบทูลพระราชชนนีว่า “ในหลวงยิงพระองค์เอง”

พ่อมีหมายเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเช้าวันนั้นพอดี จึงได้เข้าไปอยู่ที่พระที่นั่งบรมพิมานไม่นานหลังจากที่เกิดเหตุ พ่อเล่าให้เราฟังว่า พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งเสด็จในกรมพระชัยนาทฯ ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้น คิดว่า สวรรคตด้วยพระแสงปืนโดยพระองค์เอง พ่อจึงออกความเห็นว่า จะออกแถลงการณ์ตามนั้นไม่ได้- ยกตัวอย่าง เมื่อเจ้าชายรูดอล์ฟ รัชทายาทแห่งประเทศออสเตรีย ยิงพระองค์เองที่กระท่อมน้อยในป่า พระราชวังมาเยอร์ลิง จักรพรรดิโยเซฟ พระราชบิดา ต้องออกแถลงการณ์ว่าเป็นอุบัติเหตุ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ฉะนั้น ในกรณีนี้ก็เช่นกันต้องออกแถลงการณ์ให้เหมือนกับเป็นอุบัติเหตุ นายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้แถลง โดยที่มิได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังขณะนั้น ท่านอธิบายทีหลังว่า การที่ท่านไม่ได้เข้าไปในวัง ไม่มีอะไรไปกว่าที่ท่านคิดว่า รัฐบาลเป็นคนนอก นั่นเป็นเรื่องของเจ้านายฝ่ายในพระราชสำนัก

ในที่สุด พ่อได้กลับบ้านที่อังกฤษเมื่อราว ๆ เดือนกรกฎาคม ๒๔๘๙ ด้วยความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง ก่อนนั้น ทั้งแม่และพวกเราลูก ๆ พากันตื่นเต้นว่าจะได้รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ลอนดอน

ความรุ่งโรจน์และความปิติยินดีในความสำเร็จของงานเสรีไทยมีชั่วระยะสั้น ๆ ปี ๒๔๙๐ เริ่มยุคมืดของชีวิตพ่ออีกครั้ง

ทางเมืองไทย ต้นเดือนสิงหาคม ๒๔๘๙ มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ชนะพรรคประชาธิปัตย์ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๑-๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙ หลังจากนั้น ฯพณฯ ธำรง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ส่วนอาจารย์ปรีดีฯ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ระหว่างวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ -วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และพระราชชนนี ที่เมืองดาโวส เฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่พระตำหนักคอมป์ตัน เฮาส์ ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ ระหว่างนั้น ที่อังกฤษคุณดิเรก ชัยนาม เป็นเอกอัครราชทูต พ่อได้รับแต่งตั้งเป็น Ambassador at-Large เอกอัครราชทูตทั่วไป และได้อยู่ในคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติด้วย ระยะนั้น พ่อแม่ต้องต้อนรับเลี้ยงรับรองบุคคล สำคัญ ๆ ในวงการต่างประเทศและรัฐบาลอังกฤษบ่อยครั้ง

พ่อได้รับจดหมายจากวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ขอบใจสำหรับเครื่องเงินและกล่องซิการ์ ที่พ่อมอบให้เป็นที่ระลึกจากคณะเสรีไทย เมื่อพ่อได้รับเชิญไปพบเพื่อขอบใจด้วยตนเองสำหรับงานที่เสรีไทยได้ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร เชอร์ชิลล์ส่งซิการ์ให้พ่อสูบ แต่พ่อขอเอากลับบ้านเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ซิการ์ตัวนี้ตั้งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของพ่อไปอีกนาน

นอกจากได้เลื่อนยศเป็นพันโทแล้ว พ่อยังได้รับพระราชทานตรา O.B.E. Order of the British Empire (Military Division) ซึ่งลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน (Lord Louis Mountbatten) เป็นผู้เสนอ พ่อได้รับจดหมายแสดงความยินดีจากลอร์ดหลุยส์ และได้รับเชิญไปงานเลี้ยงรับรองที่บ้านของลอร์ดหลุยส์ พร้อมด้วยแม่และลูกสาวทั้ง ๔ คน ลอร์ดหลุยส์ให้พาลูกสาวไปด้วย เพื่อให้พบกับลูกสาวของท่าน ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเรา แต่เรารู้สึกเปิ่นและอายอย่างยิ่ง ไม่รู้จะคุยอะไรกับใคร มีพี่ต้อคนเดียวที่แสนจะเก่งกล้า พูดคุยกับทุกคนได้อย่างเปรื่องปราดและฉลาดเฉียบแหลม

เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างที่พ่อร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติอยู่ที่นิวยอร์ค วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ได้เกิดรัฐประหารโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และยกจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ อาจารย์ปรีดีต้องหนีออกจากประเทศโดยด่วน มีกัปตันเดนนิส ทูตทหารเรือประจําสถานทูตอังกฤษ เป็นผู้ช่วยให้ลี้ภัยไปสิงคโปร์

ที่องค์การสหประชาชาติ พอพ่อได้ข่าวรัฐประหาร ก็ลุกขึ้นประกาศว่า รัฐบาลใหม่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลไม่ถูกต้องตามกฎหมายคณะผู้แทนไทยประจำสหประชาชาติไม่ขอรับรอง และรัฐบาลอเมริกากับอังกฤษก็คงจะไม่มีวันรับรองด้วย เพราะจอมพล ป. เคยถูกหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากเคยร่วมมือกับญี่ปุ่นระหว่างสงคราม แต่ที่ไหนได้ เป็นการคาดผิดทั้งเพ อีกไม่กี่วัน รัฐบาลของทั้งอังกฤษและอเมริกาก็ประกาศรับรองรัฐบาลจอมพล ป. เพราะสนับสนุนนโยบายของจอมพล ป. ที่ว่าจะต่อสู้คอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ขณะนั้นอังกฤษและอเมริกากลัวคอมมิวนิสต์เผยแพร่เป็นที่สุด เป็นอันว่า พ่อต้องลาออกจากคณะผู้แทนไทยประจําสหประชาชาติกลับบ้านที่อังกฤษ

เริ่มยุคที่ ๕ ในชีวิตของพ่อ แผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ช่วงเวลาลี้ภัยในต่างแดน และไม่ได้รับการเหลียวแลรับรองในสายตาของโลก

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีข้ออ้างว่าเหตุผลที่ทำรัฐประหาร ก็เพื่อมาสอบสวนสืบสวนกรณีสวรรคตให้แจ่มแจ้งว่าใครเป็นผู้ปลงพระชนม์ยกเลิกทฤษฎีปลงพระชนม์เองกับอุบัติเหตุโดยสิ้นเชิง ศาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ และปรีดีเป็นผู้วางแผน

พ่อเป็นเจ้านายองค์เดียวที่ประกาศความบริสุทธิ์ของปรีดี ไม่เชื่อว่าปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตแม้แต่น้อย และเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุอย่างเดียว เจ้านายองค์อื่น ๆ ออกจะหมั่นไส้พ่อว่าหลงเสน่ห์อาจารย์ปรีดี ไม่ร่วมกันกับเจ้าองค์อื่น ๆ สมน้ำหน้าปรีดีที่โดนรับกรรมที่ตนทำเอาไว้กับราชวงศ์จักรี เมื่อคิดวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ่อออกจะเป็น “หมาหัวเน่า” ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พ่อได้รับความทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง

พ่อกลายเป็นคนว่างงาน- ไม่มีอนาคต เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ยอมตกอับไปด้วยกัน

พ่อใช้เวลาเขียนหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวถึงร้อยกว่าหน้าพยายามอธิบายคดีกล่าวหาว่ามีการลอบปลงพระชนม์นี้ เป็นแผนการเมืองของฝ่ายตรงข้ามกับอาจารย์ปรีดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์และเผด็จการทหารที่จะทําลายปรีดีให้ได้โดยสิ้นเชิง แต่พ่อไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ทั้งสิ้น

ในปี ๒๔๙๒ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินกลับเมืองไทย

สิ่งหนึ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กระทำเมื่อได้อำนาจกลับคืนเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากรัฐประหารเดือน พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คือ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พร้อมด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๒ ขบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิออกจากพระตำหนักคอมป์ตัน เฮาส์ ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ มุ่งสู่ท่าเรือเมืองเซาธ์แฮมปตัน (Southampton) ที่เรือเดินทะเลวิลฮ์เลม ไรส์ (Wilhem Ruys) เทียบท่ารออยู่ มีกองทหารเกียรติยศ นำโดยนายทหารชั้นนายพลที่รัฐบาลอังกฤษจัดมาถวายความเคารพเป็นวาระสุดท้าย เมื่อพ่อ ในชุด Morning Coat อย่างเป็นทางการ เชิญพระบรมอัฐิมาถึง กองทหารอังกฤษกระทำวันทยาวุธถวายอย่างพร้อมเพรียง พ่อจะต้องรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองดุริยางค์ทหารอังกฤษบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้น เป็นที่น่าประทับใจและซาบซึ้งแก่ทุกคนในที่นั้น

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จฯ ตรวจพลตามประเพณีแล้ว ก็อัญเชิญพระบรมอัฐิลงสู่เรือ ธงมหาราชสีเหลืองอันมีครุฑสีแดงประดับอยู่ตรงกลางก็ขึ้นสู่ยอดเสาโบกสะบัดในสายลม เรือค่อย ๆ เคลื่อนลำออกจากท่าท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ที่ยิงสลุตถวายบังคม

เมื่อส่งเสด็จลงเรือกลับเมืองไทยแล้ว พ่อก็ยังคงอยู่ที่อังกฤษต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๕

กลางปี ๒๔๙๒ นั้นเอง พ่อต้องปวดหัวใจอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น มีการจัดประชุมสามัคคีสมาคมเป็นครั้งแรกหลังจากสงคราม ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ที่เมืองเลเธอร์เฮด (Leatherhead) พ่อแม่พาลูกสาวทั้งสี่ไปร่วมงาน วันสุดท้ายเป็นวันงานเลี้ยงใหญ่ ทุกคนตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อท่านเอกอัครราชทูต หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เสด็จมาทรงร่วมงานเป็นแขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วยหม่อมหลวงบัวและธิดางามทั้งสอง- หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และหม่อมราชวงศ์บุษบา ในวันนั้น ท่านทูตได้รับสั่งเชิญทุก ๆ คนไปร่วมงานที่สถานทูต ในไม่กี่วันต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะเสด็จพระราชดําเนินมาเยี่ยมกรุงลอนดอน พวกเราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินข่าวลือว่าอาจจะมีการประกาศหมั้นระหว่างงานนี้ เราสังเกตเห็นพ่อเดินคุยกับท่านนักขัตรฯ พระญาติและพระ สหายเก่า อยู่ที่สนามด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รุ่งขึ้น พ่อเล่าให้พวกลูก ๆ ฟังว่าท่านนักขัตรฯ ขอไม่ให้พ่อไปร่วมงานเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวที่สถานทูต เพราะกําลังกริ้วพ่อมาก ด้วยทรงเข้าพระทัยและทรงเชื่อว่าต้องเป็น “ท่านขึ้น” *[1]แล้วไม่ใช่ใครอื่นแน่ ที่ไปรายงานลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ว่า กรณีสวรรคตเป็นการเล่นปืนกันระหว่างพี่น้องแล้วเกิดอุบัติเหตุ (กระสุนปืนพลาดไปถูกองค์พี่เข้าโดยบังเอิญ) ที่ทรงปักพระทัยว่าเป็นพ่อก็เพราะพ่อรู้จักคุ้นเคยกับลอร์ดหลุยส์ ทํางานเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของลอร์ดหลุยส์ระหว่างสงคราม

พ่อตะลึงงันอย่างที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรถูก เพราะความคิดเช่นนี้ไม่เคยเข้าหัวพ่อเลย พ่อเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่า กรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง (หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ) ไม่มีการลอบปลงพระชนม์ใด ๆ ทั้งสิ้น และปรีดีบริสุทธิ์

เรื่องนี้ปรากฏออกมาก็เพราะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติฯ ทรงเดินทางไปพบลอร์ดหลุยส์ที่ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เพื่อทรงวางแผนให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ดังที่พ่อเคยเสนอไว้ครั้งหนึ่ง แต่ลอร์ดหลุยส์ขอให้เลื่อนกำหนดแผนดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะสืบสวนกรณีสวรรคตแจ่มแจ้งแล้ว

พ่อบอกกับพวกเราว่า ในเมื่อพ่อถูกขอร้องไม่ให้ไปงานนี้ แต่ลูกอยากไปก็แล้วแต่ลูก แน่นอน เราทุกคนพร้อมใจกันบอกว่า ในเมื่อพ่อไม่ไป เราก็ไม่ไปเหมือนกัน เป็นอันว่า เราพลาดคืนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ณ สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน คนไทยในอังกฤษทุกคนได้ร่วมฉลองการประกาศพระพิธีหมั้น นอกจากเรา

ช่วงนี้เป็นระยะที่พ่อมีความระทมทุกข์อย่างยิ่ง ทั้งอัดอั้นตันใจและมองไม่เห็นแสงสว่างเลย มีหมายจากศาลเรียกตัวพ่อไปสืบสวนกรณีสวรรคต เพราะพ่อได้ชื่อว่า “เป็นพวกปรีดี” แต่พ่อไม่ยอมไป จนกระทั่งท้ายที่สุด อีก ๕ ปี ต่อมา จึงมีข่าวตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาผู้บริสุทธิ์ทั้งสามคน คนหนึ่ง คือ ชิต สิงหเสนี ญาติสนิทของแม่-ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวเหนือสิ่งอื่นใด ครอบครัวนี้ได้รับราชการฉลองพระมหากรุณาธิคุณมาแล้วหลายชั่วคน

เมื่อตาชิตถูกประหารแล้ว ยายหนู (ชูเชื้อ สิงหเสนี) ภรรยาตาชิตเล่าให้ฟังว่า ได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ท่านนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) สงสารว่ายายหนูตัวคนเดียวจะเลี้ยงลูกตั้ง ๗ คน ต่อไปได้อย่างไร ท่านจึงขอให้เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูครอบครัวเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ในจดหมายทางการที่มีมาถึงยายหนู ได้ให้คําอธิบายด้วยว่า ตาชิตเป็นผู้ที่ต้องรับภัยทางการเมือง

… … … …

หมายเหตุ:

  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  •  ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงสนิท สวัสดิวัตน, 1 ศตวรรษ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงสนิท สวัสดิวัตน (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543)

[1] *ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน