ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความเห็นแย้งคำพิพากษา กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ตอนที่ 2 (จบ)

10
มิถุนายน
2567

Focus

  • บทความในตอนที่ 1 นำเสนอข้อโต้แย้งเกี่ยวกับวิธีการพิสูจน์และพิจารณาพยานหลักฐานแวดล้อมต่างๆ กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ได้แก่ การเปรียบเทียบปฏิกิริยาไนไตร๊ท์ การตรวจสอบสนิม การดมกลิ่นดินปืน การเทียบปลอกกระสุนปืน แรงสะบัดของปืน กำลังในการเหนี่ยวไกปืน ลักษณะอาการแข็งเกร็ง ลักษณะปืนและพระกร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หลักฐานที่โจทก์กล่าวอ้างจำเลยว่าเป็นผู้กระทำความผิดนั้นยังมีข้อบกพร่องหลายประการจึงไม่น่าเชื่อถืออย่างไรบ้าง
  • ในตอนที่ 2 นี้ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อบันทึกคำให้การของโจทก์ พยาน และจำเลย ประกอบกับการพิจารณาหลักฐานของกลาง และได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้และความสมเหตุสมผลทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึก ความสัมพันธ์ หลักฐาน สถานที่ และสถานการณ์ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปว่า “หลักฐานยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสาม”

 

 

โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสามเตรียมแผนการปลงพระชนม์ที่บ้านพระยาศรยุทธเสนี พยานโจทก์พร้อมด้วยนายปรีดี พนมยงค์และเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช นั้น มีเหตุน่าสงสัยหลายประการ ดังที่ศาลอาญากล่าวไว้ เฉพาะอย่างยิ่งนายตี๋ ศรีสุวรรณ ผู้ซึ่งมาหากินในการค้าขายไม้กับพระยาศรยุทธเสนีชั่วคราว จะได้รับโอกาสให้ได้ยินได้ฟังการปรึกษาหารือที่จะกำจัดพระมหากษัตริย์ ประมุขของชาติอันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเทียวหรือ พระยาศรยุทธเสนีไม่เคยไว้ใจอะไรนายตี๋ ศรีสุวรรณ แต่นายตี๋ ศรีสุวรรณกลับอ้างว่า พระยาศรยุทธเสนีบอกแก่นายปรีดี พนมยงค์ว่า เป็นคนไว้วางใจได้ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ตีตนเกินค่าตามที่โจทก์นำสืบมีเหตุน่าเชื่อว่า ได้นายตี๋ ศรีสุวรรณมาเป็นพยานโดยสุจริตแต่คำของนายตี๋ ตรีสุวรรณสำคัญกว่าการได้ตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ คำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไม่น่าเสื่อมใส จึงยังไม่ควรฟังเป็นหลักฐานในสำนวนดั่งศาลอาญากล่าวไว้

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมใกล้ชิดพระองค์มาก ถ้าหากการสวรรคตไม่ใช่เป็นการกระทำของพระองค์เองแล้ว จะพัวพันมาถึงจำเลยทั้งสองนี้ด้วย เพราะขณะเกิดเหตุต่างนั่งอยู่ที่หน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์ จำเลยทั้งสองอาจเป็นผู้ปลงพระชนม์พระองค์ท่านหรือเป็นผู้อื่น แต่พฤติการณ์ต่างๆ ในสำนวนไม่แสดงเลยว่า จำเลยทั้งสองได้เป็นผู้ลงมือกระทำเอง จึงต้องคิดไปอีกทางหนึ่งว่า จำเลยทั้งสองอาจสมคบกับบุคคลอื่นได้หรือไม่ จำต้องหวนกลับไปกล่าวถึงปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนของกลางอีกครั้งหนึ่ง ปืนของกลางเป็นปืนที่ยิงในวันนั้นเองก็ดี อาจเป็นได้ว่า ผู้ร้ายยิงแล้วทิ้งปืนของกลางพรางไว้ ปืนของกลางนี้ผู้ที่จะทิ้งไว้นั้นต้องเป็นตัวผู้ร้ายเอง เพราะปรากฏว่าอยู่บนพระแท่นก่อนที่พยานโจทก์หรือจำเลยทั้งสองจะเข้าไปเห็น

ปลอกกระสุนปืนของกลาง นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ให้การแตกต่างอยู่บ้างในชั้นสอบสวนและชั้นศาลว่า เก็บได้จากที่ใด แต่ที่ต่างๆ ที่ว่าเก็บได้นั้นอยู่ใกล้ๆ กัน ผลที่สุดเมื่อมาให้การชั้นศาลจึงชี้ลงในแผนผังหมาย 37 โดยจุดแดงลงที่ตัวอักษร ก. ของคำว่า ตู้เก็บพระแสงปืน กล่าวคือ เก็บได้ที่ใกล้ๆ พระแท่นที่ๆ เก็บปลอกกระสุนปืนได้นั้น แม้จะต่างที่กันก็ดี แต่อยู่ใกล้ๆ กันคือภายในโครงพระวิสูตร ทางด้านซ้ายของพระแท่น ถ้าเผอิญล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงจับพระแสงปืนดังกล่าวมาข้างต้น เผอิญพระแสงปืนขึ้นนกอยู่แล้วโดยไม่มีใครรู้ ปืนลั่นออก อาจจะสลัดปลอกกระสุนปืนไปทางพระกรข้างซ้าย และอาจตกอยู่ข้างๆ พระแท่นตามที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เก็บได้

ปลอกกระสุนปืนจะเก็บได้ ณ ที่ต่างๆ กันก็ดี แต่ที่เหล่านั้นอยู่ใกล้ๆ กันและอยู่ภายในโครงพระวิสูตร ความจำของนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 อาจผิดพลาดไปได้บ้าง

เมื่อปลอกกระสุนปืนของกลางนี้ เป็นปลอกที่ยิงออกมาจากปืนของกลางและเก็บได้ในทันทีนั้นแล้ว ความจำผิดพลาดของนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไม่เป็นการส่อความพิรุธ นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เพทุบายสับเปลี่ยนปลอกกระสุนปืน

สำหรับหัวกระสุนปืนของกลางนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบดูกับหัวกระสุนปืนอยู่ในปลอกยังไม่ได้ยิงที่ส่งเป็นของกลาง จะเห็นได้ว่า ผิดกันมากทีเดียวโดยหัวกระสุนปืนของกลางตรงปลายแหลมบู้เยินเข้ามาเห็นได้ชัด ถ้าไม่นำมาเปรียบเทียบเช่นนี้แล้ว รู้ได้ยาก

พ.ต.ท. เอ็จ ณ ป้อมเพชร์ ว่า กระสุนที่ผ่านกะโหลกศีรษะคน บู้มาก บู้น้อย ไม่บู้เลย ก็มีนั้น ได้เบิกความไปตามที่ตนผ่านมา เมื่อเรียนมาทางนี้และเคยตรวจหลักฐานเช่นนี้อยู่ในขณะรับราชการ เป็นสิ่งที่ส่อความชำนาญของ พ.ต.ท. เอ็จ ณ ป้อมเพชร์ แม้แต่หัวกระสุนปืนที่ทดลองยิงศพที่โรงพยาบาลในระยะเดียวกัน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผิดกัน บู้มากบ้าง น้อยบ้าง หัวกระสุนเหล่านี้แสดงว่า เมื่อผ่านกะโหลกศีรษะแล้วมีรอยผิดๆ กัน หัวกระสุนของกลางก็บู้เหมือนกัน แต่บู้น้อยเท่านั้น

พ.ต.ท. จำรัส ฟอลเล็ต พยานโจทก์ว่า หัวกระสุนปืนของกลางบุบเล็กน้อย หัวกระสุนปืนรูปที่ 3 บุบมากกว่าหัวกระสุนปืนของกลางมากนิดหน่อยเท่านั้น หัวกระสุนปืนรูปที่ 3 เป็นหัวกระสุนปืนที่ยิงผ่านกะโหลกศีรษะศพในคราวยิงทดลองเปรียบเทียบ

เมื่อหัวกระสุนปืนที่ทดลองยิงศพบู้มากบ้างน้อยบ้าง เฉพาะอย่างยิ่งหัวกระสุนรูปที่ 3 บุบกว่าหัวกระสุนปืนของกลางนิดหน่อยเท่านั้น จึงเห็นว่ากระสุนที่ผ่านกะโหลกศีรษะคนบู้มากบ้างน้อยบ้างไม่เหมือนกัน ดังคำ พ.ต.ท. เอ็จ ณ ป้อมเพชร์ เบิกความ หัวกระสุนของกลางนี้ได้ความจาก พ.ต.ท. เอ็จ ณ ป้อมเพชร์ และ ร.ต.ท. ทวี จำรูญจันทร์ ว่า ได้ผ่านปืนกระบอกของกลางดังกล่าวมาข้างต้น จึงเชื่อได้ว่า หัวกระสุนปืนของกลางเป็นหัวกระสุนที่ผ่านกะโหลกพระเศียร ไม่ไช่เป็นหัวกระสุนที่ถูกสับเปลี่ยน

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นก็จริง น่าจะเป็นเพราะเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ตรวจพระยี่ภู่และค้นหาหัวกระสุนปืนของกลางได้เอง

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้อง หัวกระสุนปืนอยู่ลึกเข้าไปในพระยี่ภู่ เมื่อเกิดเหตุแล้วนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ได้ไปทำหน้าที่อื่น นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไม่มีโอกาสจะสับเปลี่ยน หัวกระสุนปืนไม่ส่อความเป็นพิรุธแก่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด

ถ้าปืนของกลางพร้อมด้วยปลอกและหัวกระสุนได้ใช้ยิงในวันเกิดเหตุนั้นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงมือปลงพระชนม์แล้ว จะมีผู้ร้ายอื่นเข้ามากระทำการได้หรือไม่ โดยใช้ปืนกระบอกของกลางซึ่งแยกได้เป็น 2 นัย คือ ได้ปืนของกลางไปก่อนวันเกิดเหตุ นำเข้ามาในวันเกิดเหตุนั้นด้วย ยิงแล้วทิ้งพรางไว้ หรืออีกนัยหนึ่งเข้ามาแต่ตัวแล้วเข้าไปหยิบปืนของกลางจากตู้เล็กข้างพระแท่น ยิงแล้วทิ้งพรางไว้เช่นเดียวกัน

 

 

วันเกิดเหตุ ตามคำนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 เวลา 8 นาฬิกาเกือบครึ่ง ล้นเกล้าล้นกระหม่อมตื่นบรรทมและเสด็จเข้าห้องสรงแล้วเสด็จกลับออกมาขึ้นพระแท่นบรรทม ประทับอยู่ในท่าหันพระพักตร์ไปทางปลายพระบาท พระปฤษฎางค์ไปทางหัวพระแท่น นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ตามเสด็จเข้าไปเห็นดังนั้น ยืนคอยรอฟังว่าจะมีรับสั่งประการใด แต่ทรงโบกพระหัตถ์ข้างซ้ายแสดงพระอาการว่าให้กลับไปเสียก่อน นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 กลับออกมานั่ง ณ ที่เดิม ครั้นเวลา 9.00 น. มีเสียงปืนดังขึ้น

สมมติว่าผู้ร้ายไม่ได้นำปืนของกลางมาด้วย ผู้ร้ายจะต้องเข้าไปหยิบปืนจากตู้เล็กก่อนตื่นบรรทม ซึ่งผู้ร้ายเสี่ยงภัยมาก ได้ปืนแล้วผู้ร้ายจะต้องลงมือทันที เพราะกำลังทรงพระบรรทม ไม่ทันรู้สึกพระองค์

ถ้าผู้ร้ายได้ปืนของกลางไปก่อนวันเกิดเหตุ นำติดตัวเข้ามาในห้องพระบรรทมด้วยแล้ว ผู้ร้ายจะต้องลงมือในเวลาก่อนตื่นพระบรรทมเช่นเดียวกันเพราะยิ่งรอไปยิ่งไม่ปลอดภัยมากขึ้นหลายประการ เช่น พระจริยวัตรที่เคยตื่นบรรทมเวลาราว 8.00 น. และอาจมีผู้คนเข้าออกเห็นเข้า เป็นต้น แต่ก่อน 8.00 นาฬิกาเกือบครึ่ง ไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นเลย จึงเห็นว่า ไม่น่าจะมีผู้ร้ายก่อนเวลา 8 นาฬิกาเกือบครึ่งนี้

ถ้าผู้ร้ายจะเข้าไปหยิบปืนจากตู้เล็กภายหลังตื่นบรรทมแล้ว กล่าวคือภายหลังจากโบกพระหัตถ์ให้สัญญาณแก่นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 แล้ว ยิ่งน่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะล้นเกล้าล้นกระหม่อมเพิ่งตื่นบรรทมอยู่หยกๆ ไฉนผู้ร้ายจะกล้าเข้าไปหยิบปืนจากตู้เล็กข้างพระแท่นเช่นนั้น เป็นการเสี่ยงภัยมากที่สุด หากว่าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังไม่ทันบรรทมหลับ ผู้ร้ายจะเสี่ยงเข้ามาโดยไม่รู้ว่าบรรทมแล้วหรือไม่อย่างไรได้

ถ้าผู้ร้ายได้ปืนมาก่อนแล้ว และเข้าไปในห้องบรรทมได้ จะเป็นก่อนเวลา 8.00 น.เกือบครึ่งก็ดี หรือหลังจากเวลา 8.00 น. เกือบครึ่งก็ดี ผู้ร้ายรออยู่และลงมือกระทำการเมื่อเวลา 9.00 น. เศษ กล่าวคือ ตามเวลาที่เกิดเหตุในคดีนี้ ในกรณีแรกผู้ร้ายจะต้องรออยู่นาน และจะเป็นในกรณีใดก็ตาม ผู้ร้ายจะต้องเปิดพระวิสูตรเข้าไปและเปิดออกมา เพราะพระวิสูตรไม่มีรอยลูกปืน ยิงเสร็จแล้วจะต้องทิ้งปืนพรางไว้ ซึ่งดูออกจะลำบากสำหรับการลอบกระทำในเวลากลางวัน เพราะการเปิดพระวิสูตรอาจมีเสียงเนื่องจากมีเหล็กทับ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมอาจรู้ เพราะเพิ่งเสด็จบนพระแท่น ผู้ร้ายจะกล้าคอยเข้าไปดูอยู่หรือว่า บรรทมเมื่อใด หรือจะหลับพระเนตรเมื่อใด เห็นว่าผู้ร้ายไม่กล้ากระทำเช่นนี้

เจ้าหน้าที่ตรวจแล้ว ร่องรอยทางปีนป่ายเข้ามาไม่มี ถ้าจะเข้ามาจริง ก็จะต้องเข้ามาทางพระทวารห้องแต่งพระองค์หรือทางพระฉากห้องทรงพระอักษรถ้าผู้ร้ายเข้ามาได้ ควรจะกระทำการในเวลากลางคืนดีกว่า เพราะได้อาศัยความเงียบสงัดและความมืด ถ้าผู้ร้ายเข้ามาตอนกลางคืนแล้วรอกระทำตอนเช้า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะต้องรอเป็นเวลานานไม่ปลอดภัย ผู้คนตื่นขึ้นทำงานกันแล้ว โดยเวลาเกิดเหตุเป็นเวลา 9.00 น. มีคนพลุกพล่านทั้งชั้นบนและชั้นล่างของพระที่นั่ง แม้ในห้องพระบรรทม, ห้องพระ, ห้องทรงพระอักษร, ห้องทรงพระสำราญ และห้องสรง ไม่มีใครเข้าไปก็ดี แต่ถ้าเข้าไปพบในลักษณะเช่นนั้นแล้ว ย่อมหมายถึงอันตราย ผู้ร้ายไม่น่าจะเสี่ยงภัยรอคอยเป็นเวลานานๆ เช้าวันเกิดเหตุนั้นเองประมาณย่ำรุ่ง สมเด็จพระราชชนนี และนายมณี บูรณสุต ได้เสด็จเข้าไป และเข้าไปในห้องพระบรรทมเพื่อถวายน้ำมันละหุ่ง หากมีผู้ร้าย น่าจะปรากฏแก่สมเด็จพระราชชนนีและนายมณี บูรณสุต

ถ้าผู้ร้ายจะหาโอกาสให้มีพรรคพวกคอยช่วยเหลือในเวลากลางคืน และถ้าจำเลยทั้งสองสมคบด้วยแล้ว เมื่อคืนก่อน คือคืนวันที่ 7 เป็นเวรนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และคืนวันที่ 8 เป็นเวรนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ก็หามีผู้ร้ายกระทำการในเวลากลางคืนไม่ จึงเป็นเหตุให้คิดว่า ไม่มีผู้ร้ายเข้ามาในห้องบรรทมในคืนของวันที่ 8 และเช้าของวันที่ 9 และจำเลยทั้งสองไม่ได้สมคบกับผู้ร้าย

ผู้ร้ายจะเข้าออกทางบานพระฉากที่พระทวารห้องทรงพระอักษร ซึ่งนำไปสู่ระเบียงหน้าได้บ้างหรือไม่

บานพระฉากนี้ ในวันเกิดเหตุ ใครที่ผ่านออกทางพระฉากนี้ ต่างว่าเปิดอยู่ก่อนแล้ว บานพระฉากห้องทรงพระอักษรนี้ นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเวรมาแต่วันที่ 8 ว่า ได้ปิดลงกลอนไว้แต่เวลากลางคืน เมื่อเสร็จจากเหตุการณ์ในห้องพระบรรทม สมเด็จพระราชชนนีได้เสด็จจากห้องพระบรรทมเข้าไปในห้องทรงพระอักษร นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เป็นผู้เปิดพระฉากที่ไปสู่ระเบียงหน้านี้ถวาย แต่ไม่ได้ความชัดจากนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่ากลอนนั้นจะได้ลงไว้หรือไม่ พระฉากสู่ระเบียงหน้านี้ถ้าปิดอยู่ดังนายบุศย์ ปัมทศริน จำเลยที่ 3 ว่า ผู้ร้ายจะเข้ามาทางนี้ไม่ได้ ถ้าไม่เปิดอยู่คือไม่ได้ลงกลอน ผู้ร้ายเข้ามาตอนกลางคืนอาจไม่มีใครเห็น ถ้าเข้ามาตอนเช้าจะต้องผ่านสายตามหาดเล็กที่อยู่ห้องเสวย คือนายฉลาด เทียนงามสัจ แต่ไม่มีใครเห็น จึงควรฟังว่าไม่มีผู้ร้ายเข้ามาทางนี้ หากจะเล็ดลอดสายตานายฉลาด เทียนงามสัจ ที่อยู่ห้องเสวยเข้ามาได้ เพราะไม่ทันได้สังเกตจะเป็นก่อนหรือหลังจากที่มหาดเล็กเข้ามาอยู่ในห้องเสวยแล้วก็ตาม แต่ขาออกไม่ได้ออกทางนี้ เพราะเมื่อได้ยินเสียงปืนแล้ว นายฉลาด เทียนงามสัจ ซึ่งอยู่ในห้องเสวยไม่เห็นมีผู้ใดแปลกปลอม เห็นแต่พระฉากปิดอยู่จึงตัดทางเข้าออก อย่างน้อยที่สุดทางออกของผู้ร้ายไปได้ทางหนึ่ง

นายฉลาด เทียนงามสัจ อยู่ในห้องเสวย เมื่อได้ยินเสียงปืนมองไปดูทางห้องทรงพระอักษร เห็นพระฉากที่พระทวารปิดอยู่และได้ยินเสียงคนวิ่ง มองดูเห็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 วิ่งไปตามเฉลียงห้องบันได คือ ระเบียงหลังโฉมหน้าไปทางห้องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปืนและเสียงนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 วิ่งไปเช่นนี้ เป็นการผิดปกติ ย่อมทำให้นายฉลาด เทียนงามสัจ คอยสังเกตการณ์ต่อไป จนกระทั่งเห็นสมเด็จพระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบุคคลอื่นเสด็จเข้าไป และเข้าไปทางห้องทรงพระสำราญและห้องบรรทม แต่ไม่เห็นมีใครแปลกปลอมผ่านไปมาหรือขึ้นลงทางบันไดอัฒจันทร์อย่างใดเลย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกระแสรับสั่งว่า อยู่ในห้องเครื่องเล่น ได้เห็นคนวิ่งโดยเร็วผ่านประตูห้องบันได ซึ่งอยู่ติดกับห้องเครื่องเล่น แล้วได้ยินเสียงคนร้องตกใจและร้องไห้ ก่อนหน้านั้นไม่ได้ยินเสียงอะไรผิดปกติ

ห้องบรรทมสมเด็จพระราชชนนีอยู่ใกล้ๆ กับห้องเครื่องเล่น ผู้ที่ทรงเห็นวิ่งไปนั้นเห็นว่าเป็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 วิ่งไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนี เพราะนายฉลาด เทียนงามสัจ เห็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 วิ่งไปทางนั้น นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่าวิ่งไปทางระเบียงด้านหลัง

ถ้าผู้ร้ายจะวิ่งออกไปทางพระทวารห้องแต่งพระองค์ จะต้องวิ่งออกหน้านายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไปทางเดียวกัน ระเบียงหลังไม่มีพรมปู เสียงปืนทำให้นายฉลาด เทียนงามสัจ คอยสังเกตอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าผู้ร้ายวิ่งออกหน้านายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไป นายฉลาด เทียนงามสัจ จะต้องได้ยินเสียงวิ่งและเห็นผู้ร้ายเช่นเดียวกับได้ยินเสียงและเห็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกระแสรับสั่งว่า ก่อนหน้านั้น (คือก่อนหน้าได้ยินเสียงคนวิ่ง) ไม่ได้ยินเสียงอะไรผิดปกติ ตามพระราชกระแสรับสั่งและตามคำนายฉลาด เทียนงามสัจ ฟังได้ว่า ไม่มีผู้ร้ายวิ่งผ่านไปทางระเบียงด้านหลัง คงมีแต่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ผู้เดียววิ่งไป

ถ้าผู้ร้ายจะลงทางบันไดใหญ่ คือทางบันไดอัฒจันทร์ซึ่งอยู่ตรงกับห้องเสวยระหว่างระเบียงหน้าและระเบียงหลัง โดยวิ่งออกหน้านายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 หรือออกมาทางพระฉากห้องพระอักษรก็ดี จะต้องผ่านสายตาของนายฉลาด เทียนงามสัจ เพราะเสียงปืนและเสียงคนวิ่ง ซึ่งเป็นการผิดปกติ ทำให้นายฉลาด เทียนงามสัจ คอยสังเกตการณ์อยู่แล้ว แต่นายฉลาด เทียนงามสัจ ไม่เห็นผู้ใดแปลกปลอมเข้าออก

ถ้าผู้ร้ายจะวิ่งตามหลังนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไปทางระเบียงหลังจะไม่พ้นสายตา นายฉลาด เทียนงามสัจ เช่นเดียวกัน และนายฉลาด เทียนงามสัจ เบิกความว่า ไม่เห็นใครวิ่งตามหลังนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2

ชั้นล่างตามคำนายมังกร ภมรบุตร นอกจากยามในพระที่นั่งแล้วมีทหารมหาดเล็กอยู่ยามที่บันไดพระที่นั่ง คือ ภายนอกประตูเหล็ก 2 คน ที่บันไดหลัง 2 คน กับที่ร้านไม้ทางตะวันตก 1 คน มียามที่อยู่เวรที่บันไดระหว่างห้องภูษากับห้องเครื่องเล่นอีก

วันเกิดเหตุ นายพร หอมเนียมกับอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ได้อยู่ยามเพราะลา เป็นเวรอยู่ยามที่ชั้นล่าง ที่ห้องโถงที่บันใดใหญ่ของพระที่นั่งบรมพิมาน คือ บันไดอัฒจันทร์ อยู่ยามตั้งแต่ 6.00 น ถึง 9.00 น. แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว นายมังกร ภมรบุตร บอกให้อยู่ต่อไปอีกจนกระทั่ง 18.00 น. พยานนั่งอยู่ที่เก้าอี้บันไดทางด้านใต้ ระหว่าง 6.00 น. ถึง 9.00 น. ลุกขึ้นจากที่นั่งเปลี่ยนอิริยาบถ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 รวมประมาณ 15 นาที ครั้งที่ 3 สักครู่หนึ่ง และเมื่อ 9.10 น. อีกครั้ง 1 เป็น 4 ครั้ง ครั้งที่ 4 พยานไปสอบถามที่ห้องพักเครื่องว่ามีคนมาเปลี่ยนยามบ้างไหม เมื่อไม่มี พยานจึงกลับมา การลุกไป 3 ครั้งแรกเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ คนอื่นๆ ก็เคยทำเมื่อไม่มีใครมาเปลี่ยน พยานกลับมาอยู่ยามอีกต่อมานายมังกร ภมรบุตร บอกให้พยานอยู่ต่อไป พยานอยู่จนถึง 18.00 น.

หน้าที่ของยาม หมายความถึงหน้าที่ของพยาน คือ คอยดูไม่ให้ผู้ไม่มีหน้าที่ขึ้นชั้นบนพระที่นั่ง

เมื่อไปเปลี่ยนอิริยาบถครั้งที่ 3 แล้วครึ่งชั่วโมงกว่า จึงไปครั้งที่ 4 เพื่อถามเรื่องเปลี่ยนยามที่ห้องพักเครื่อง แล้วพยานกลับมายังที่อยู่ยามตามเดิมสัก 10 นาทีเศษ จึงได้ยินเสียงปืนแล้วได้ยินเสียงฝีเท้าคนวิ่ง และเสียงผู้หญิงร้องไห้ พยานตกใจออกจากห้องท้องพระโรง หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าห้องโถง คือ ที่ๆ พยานอยู่ยาม เดินไปที่มุขหลังไปยืนอยู่ที่หน้าประตูตรงช่องประตูใต้บันได ยืนอยู่ 5 นาที ตอนออกมานี้เห็นนายมณี บูรณสูต และ นายมังกร ภมรบุตร ขึ้นๆ ลงๆ พยานถามนายมังกร ภมรบุตร จึงทราบว่าในหลวงถูกปืน

เมื่อมียามใน คือ นายพร หอมเนียมแล้ว ถ้าผู้ร้ายจะลงทางบันไดใหญ่ห้องอัฒจันทร์ซึ่งเป็นที่โล่ง นายพร หอมเนียมจะต้องเห็น เพราะพยานตกใจเมื่อได้ยินเสียงปืน พยานไหวตัวสังเกตสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว พยานเห็นแต่นายมังกร ภมรบุตร และ นายมณี บูรณสูต สองคนเท่านั้นที่ลงมาจากพระที่นั่งตั้งแต่พยานได้ยินเสียงปืนแล้ว

ถ้าผู้ร้ายจะลงมาทางบันไดอัฒจันทร์ และออกไปทางบันไดใหญ่กลางของหลังพระที่นั่ง นายพร หอมเนียมอยู่ที่เก้าอี้ใต้บันไดทางด้านใต้ จะต้องเห็นผู้ร้าย เพราะบันไดใหญ่กลางของหลังพระที่นั่งอยู่ทิศเดียวกับที่ๆ พยานอยู่ยาม คือ ที่เก้าอี้ใต้บันไดอัฒจันทร์ แต่นายพร หอมเนียมไม่เห็นมีใครแปลกปลอม

อีกประการหนึ่ง ได้ความจากนายมังกร ภมรบุตร และนายพร หอมเนียมว่า มีทหารมหาดเล็กเป็นยามอยู่ที่มุขภายนอกประตูเหล็ก 2 คน และที่บันไดหลังคือบันไดใหญ่กลางของหลังพระที่นั่งอีก 2 คน ถ้ามีผู้ร้ายลงจากบันไดอัฒจันทร์แล้ว และผู้ร้ายออกไปทางประตูเหล็กหรือทางบันไดหลังแล้ว ทหารยามควรจะเห็น แต่หาปรากฏเช่นนั้นไม่ สรุปแล้วจึงเห็นว่า ไม่มีผู้ร้ายผ่านลงบันไดอัฒจันทร์มาชั้นล่าง

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวมา เห็นว่าไม่มีผู้ร้ายเข้ามากระทำการมิชอบปืนของกลางจึงมิใช่ปืนผู้ร้ายทิ้งพรางไว้ แต่เป็นปืนที่ได้ลั่นถูกล้นเกล้าล้นกระหม่อม จะเป็นด้วยเหตุใดนั้นจะได้พิจารณาต่อไป

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เช้าวันเกิดเหตุได้ไปนั่งอยู่ที่หน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์ ซึ่งไม่ใช่เวรของตน แก้ว่ารอตื่นบรรทมเพื่อวัดดวงพระตรา มีพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร เป็นพยานว่า เป็นผู้พาไปหาช่าง และนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่า ต้องวัดดวงพระตราก่อน จึงต้องกลับไป นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ว่า นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นั่งรอวัดดวงพระตรา ถ้านายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 จะสมคบกับผู้ร้ายแล้ว ควรจะให้ผู้ร้ายกระทำการเมื่อตนอยู่เวรแต่ผู้เดียว ไม่มีใครรู้เห็น ความลับจะได้ไม่แพร่งพราย ไม่น่าจะมานั่งอยู่กับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ให้เป็นพิรุธ การมานั่งอยู่ไม่ยังประโยชน์ให้แก่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 กลับเสี่ยงให้เป็นจำเลย เพราะเมื่อถูกสอบสวนอาจให้การขัดกับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 หรือเป็นที่สงสัยควรจะหลีกเลี่ยงภัยเสียให้ไกล

การที่ต้องวัดดวงพระตรานั้น คงจะทำตามคำสั่งของช่าง ทั้งนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ได้ถือหีบดวงพระตราไป หีบดวงพระตราเป็นพยานอยู่ในตัว การที่ต้องวัดดวงพระตราน่าจะเป็นเพื่อความแน่นอนของขนาด ได้ความจากพระยานุรักษ์ราชมณเฑียรว่า เจรจากันอยู่สักพักหนึ่ง ยังไม่เป็นที่เข้าใจกัน พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรไปเสียก่อน ต่อจากนั้นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 จึงได้เข้าไปวัดดวงพระตรา แต่ต้องรออยู่ เกรงจะมีเสียงเวลาไขตู้เซฟเพราะล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังบรรทม เวลาบรรทมอยู่นี้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าต้องไม่ให้มีเสียง ตู้เซฟอยู่ใกล้ห้องพระบรรทม เวลาไขอาจมีเสียง นายชิต สิงหเสนีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมหาดเล็กห้องบรรทมจำต้องรู้ในเรื่องเงียบเช่นนี้ หากจะมีเสียงทำให้ตื่นบรรทม นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 จำต้องรับผิด ฉะนั้นการที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นั่งรออยู่จึงเป็นการสมควรในหน้าที่มหาดเล็กห้องบรรทม

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เมื่อได้ประสบเหตุการณ์ ได้วิ่งไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีว่า “ในหลวงยิงพระองค์” นั้น นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ได้กราบทูลขณะอยู่ในความตื่นเต้น แม้นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ซึ่งได้ถามนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไม่ตอบ การกราบทูลทันทีในลักษณะตกอกตกใจเช่นนี้ อาจมีเค้าไปในทางต่างๆ กัน เพราะไม่ทันมีเวลาจะคิด คัดเลือกคำพูดให้เหมาะเจาะตรงกับรูปการณ์ทีเดียว เมื่อไม่เห็นผู้ใดอยู่ในห้องบรรทม หรืออยู่ใกล้ๆ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมและนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 กำลังตกใจจึงกราบทูลไปตามที่ตนเห็นโดยไม่ได้นึกคิดไปถึงข้ออื่นๆ ถ้านายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 รู้เห็นเหตุการณ์มาก่อน จะต้องตระเตรียมการมาก่อนแล้ว ควรจะหาคำพูดให้เหมาะสมยิ่งกว่านี้ กล่าวคือ เลือกเฟ้นคำกราบทูลชนิดที่ไม่เข้าตัวเอง การกราบทูลดังที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ได้กระทำ แสดงว่าเป็นความคิดที่เกิดขึ้นทันทีทันควัน ปราศจากการตระเตรียมแต่อย่างใดมาก่อน เป็นข้อหนึ่งซึ่งแสดงความนึกคิดในใจเกิดขึ้นทันทีทันใดอย่างบริสุทธิ์ ไม่ไช่เป็นการแสดงความเป็นพิรุธแต่อย่างไร

การพูดเช่นนี้ เป็นเพียงความนึกคิดของนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นดังนั้นหรือไม่ จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบอีก เพียงแต่คำพูดไม่ทำให้หลักฐานอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปได้

วันเกิดเหตุ นางสาวสงวนวรรณ เฟื่องเพ็ชร ได้ถามนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่า “ทำไมปล่อยให้ท่านเล่นปืน” นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ตอบว่า “ท่านจะเล่นของท่านเอง ห้ามท่านไม่ได้” คำถามของนางสาวสงวนวรรณ เฟื่องเพ็ชร ถามไปในทำนองว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมต้องกระสุนปืนโดยอุบัติเหตุ นายชิต สิงหเสนี ตอบไปในทำนองเดียวกัน ก็น่าจะเป็นเพราะขณะเกิดเหตุ ไม่มีผู้ใดอยู่ในห้องพระบรรทมจึงเห็นไปเช่นนั้น อนึ่ง ความที่ตอบแก่นางสาวสงวนวรรณ เฟื่องเพ็ชร นี้แคบกว่าที่นายชิต สิงหเสนี ได้กราบทูลสมเด็จพระราชชนนี ซึ่งอาจกินความถึงปลงพระชนม์พระองค์เองด้วย แต่น่าจะอาศัยเหตุผลอย่างเดียวกัน คือ ไม่มีผู้ใดอยู่ในห้องบรรทมและทูลไปตามภาพที่ตนเห็น

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ได้พูดแก่นางสาวจรูญ ตะละภัฏ ว่า “นี่จะบอกให้ ท่านไม่ได้เสด็จดอก ในวันที่ 13 นั่น” นางสาวจรูญ ตะละภัฏ ถามว่า “เพราะเหตุอะไร” ก็ไม่ตอบ นางสาวจรูญ ตะละภัฏ ว่า “ไม่เชื่อ” ถามต่อไปว่า “ทำไม เรือบินจะไม่มาอย่างนั้นหรือ? ฝรั่งเขากำหนด ทำอะไรต้องทำแน่นอนเสมอ ไม่คลาดเคลื่อน” นายชิตหัวเราะและพูดว่า “ไม่เชื่อก็แล้วไป คอยดูไปก็แล้วกัน” การพูดเช่นนี้จะเป็นพิรุธหรือไม่ นางสาวจรูญ ตะละภัฏ เบิกความว่าขณะนั้นพยานรู้สึกว่านายชิตหยอกเล่น เพราะเห็นพยานกระตือรือร้นอยากตามเสด็จไปต่างประเทศนัก อันการพูดหยอกเล่นหรือไม่นั้น จะถือเอาแต่คำพูดเท่านั้นไม่ได้ เพราะอาจแปลไปคนละความหมาย จะต้องพิจารณาถึงสิ่งอื่นๆ ประกอบ เช่น กิริยาท่าทาง สุ้มเสียง และเรื่องที่พูดติดต่อกัน เป็นต้น

เมื่อนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เห็นนางสาวจรูญ ตะละภัฏ กระตือรือร้นอยากตามเสด็จ และเกี่ยวกับเลข 13 เป็นการถือโชคลางว่าจะนำมาซึ่งโชคไม่ดีประกอบกับการหัวเราะ การที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 พูด จึงเป็นการพูดหยอกเล่นคำว่า “คอยดูไปแล้วกัน” เป็นคำต่อเนื่องมาจากความในตอนต้นเป็นทำนองว่าให้คำพูดที่หยอกเล่นนั้นมีน้ำหนักคล้ายกับจริงจังยิ่งขึ้น แต่เป็นคำพูดหยอกล้ออยู่นั่นเอง นางสาวจรูญ ตะละภัฏ ก็เข้าใจเช่นนั้น ไม่มีความหมายไปในทางอื่น

อีกครั้งหนึ่ง นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 พูดกับนายมี พาผล ว่า “แปลกใจทำไมในหลวงถึงจะเสด็จกลับวันที่ 13 ฝรั่งเขาถือ” นายมี พาผล ตอบว่า “ท่านไม่ทรงถืออย่างฝรั่ง เพราะท่านเป็นไทย ท่านก็เสด็จไป” นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่า “ท่านจะไม่ได้เสด็จนะนา” นายมี พาผลจึงว่า “ก็โหรทำนายแล้วท่านก็คงเสด็จ” นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 พูดต่อไปอีกว่า “ท่านจะไม่เสด็จนา” ตามคำนายมี พาผลนี้ เห็นได้ว่า การที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 คิคว่าจะไม่เสด็จวันที่ 13 เพราะตนเข้าใจว่าวันที่ 13 ทางฝรั่งถือกัน เมื่อนายมี พาผลว่า คงจะเสด็จเพราะโหรถวายฤกษ์แล้ว

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 จึงกล่าวเป็นเชิงสงสัยว่า “ท่านจะไม่เสด็จนา” คำพูดของนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เมื่อรวมกันแล้วเป็นคำปรารภ และนึกคิดเอาว่าอาจไม่เสด็จ เพราะเผอิญวันที่จะเสด็จตรงกับวันที่ 13 จึงคาดคะเนเอาว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นวันที่ตรงกับเลขที่ 13 ซึ่งฝรั่งถือว่าไม่ดี ถ้านายชิต สิงหเสนี รู้ความลับไม่น่าจะขยายให้นายมี พาผล ฟัง เพราะไม่รู้จักกันดีพอที่จะขยายเรื่องคอขาดบาดตาย คำพูดของนายชิต สิงหเสนี ทั้งสองคราวนี้ไม่ส่อว่ารู้เรื่องราวมาก่อนเลย แต่เป็นไปในทำนองหยอกล้อ และคาดคะเนเนื่องจากการถือโชคลางของฝรั่งในเลข 13

เมื่อตำรวจเรียกปืนของกลางจากนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไม่ส่งแต่ปืน กลับส่งปลอกกระสุนไปให้ด้วยนั้น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่เลยขอบเขต เพราะตนเป็นผู้เก็บปลอกกระสุนปืนได้ ปืนและปลอกกระสุนปืน 2 สิ่งนี้เกี่ยวโยงเป็นหลักฐานด้วยกันและอยู่ใกล้ๆ กัน เมื่อตำรวจเรียกแต่ปืนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ก็น่าจะส่งปลอกกระสุนปืนซึ่งวางอยู่ใกล้ๆ ไปด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา เห็นว่า นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไม่ได้สมคบกับผู้ใด หรือรู้เห็นเรื่องนี้มาก่อน

เฉพาะนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ได้รับพระมหากรุณาให้ตามเสด็จไปรับใช้ในต่างประเทศ ซึ่งมหาดเล็กอื่นๆ ไม่มีโอกาส นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ควรจะรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง จนไม่น่าจะคิดทรยศได้ เหตุการณ์อันสำคัญ คือ การที่นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ที่พระทวารห้องแต่งพระองค์ในเวลาเกิดเหตุ ได้ยินเสียงปืนแล้วเห็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เข้าไปดูที่ห้องพระบรรทม และกลับวิ่งออกมา นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 นั่งตกตะลึงอยู่ ถามนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่า อะไรกัน ก็ไม่ตอบ เป็นแต่วิ่งต่อไปตามระเบียงหลัง เหลียวไปดูในห้องบรรทมเห็นไม่มีอะไร ลุกตามนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไปเร็วๆ เพื่อจะถามให้รู้เรื่อง แต่ไม่ทันหยุดอยู่แค่ห้องพระภูษา

ต่อมาเห็นสมเด็จพระราชชนนีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับบุคคลอื่นๆ อยู่ในห้องพระบรรทม เห็นปืนกระบอกของกลางวางอยู่บนหลังตู้เล็กข้างพระแท่น โดยพระพี่เลี้ยงเนื่อง จิตตดุลย์ หยิบมาวางไว้นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 เกรงว่า สมเด็จพระราชชนนีจะใช้ปืนทำอันตรายแก่พระองค์เอง จึงคลานเข้าไปหยิบปืนนั้นออกมาเสีย นำไปเก็บไว้ในลิ้นชักตู้ห้องแต่งพระองค์ ความแต่เพียงเท่านี้ ไม่เป็นหลักฐานแสดงว่า นายบุศย์ปัทมศริน จำเลยที่ 3 มีผิดแต่อย่างใด

ถ้ามีผู้ร้ายวิ่งหนีไปก่อน คือวิ่งออกหน้าหรือหลังนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 คงเห็นแต่ไม่มีผู้ร้ายวิ่งไป จึงไม่มีข้อความใดแสดงว่า นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ไม่ได้สมคบกันหรือสมคบกับผู้อื่น หากว่ามีผู้ร้ายซุ่มซ่อนอยู่ก่อน ยิงแล้ว ปล่อยให้นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 วิ่งไปเสียก่อนแล้วจึงตามหลังออกมา ผู้ร้ายยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เพราะเสียงปืนทำให้ผิดปกติพออยู่แล้ว ยังจะมีเสียงคนวิ่งอีกย่อมทำให้ผิดปกติมากขึ้น จะก่อให้เกิดความสังเกตแก่ผู้คนและทำให้คอยดูเหตุการณ์มากขึ้น และมีโอกาสเห็นตัวผู้ร้ายมากขึ้น การที่ผู้ร้ายจะวิ่งตามหลังนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ออกไปจึงไม่มี

อีกประการหนึ่งนายฉลาด เทียนงามสัจ ซึ่งอยู่ในห้องเสวยตั้งแต่ได้ยินเสียงปืน เสียงคนวิ่ง และเห็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 วิ่ง จนกระทั่งเห็นสมเด็จพระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบุคคลอื่นเข้าไปทางห้องทรงพระสำราญและห้องแต่งพระองค์ ไม่เห็นมีคนแปลกปลอมเข้าออก แสดงว่าไม่มีผู้ร้ายวิ่งไปก่อนหรือหลังนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นอกจากนั้นนายพร หอมเนียม ซึ่งเป็นยามอยู่ที่ห้องโถง เชิงบันไดอัฒจันทร์ ไม่เห็นมีผู้แปลกปลอมลงบันได เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เห็นว่าไม่มีผู้ร้าย และจำเลยทั้งสองไม่ได้สมคบกัน

พฤติการณ์ที่นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ถามนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ว่าอะไรกันนั้น แสดงว่าไม่รู้เรื่องอะไรมาเลยเป็นการถามโดยปัจจุบันทันด่วน ถ้าสมคบกันมาคงจะไม่ถามเช่นนั้น

นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ได้ให้การชั้นสอบสวนเมื่อวันเกิดเหตุว่าปืนกระบอกของกลางทราบตอนหลังว่าพระองค์ท่านใช้ยิง เป็นทำนองว่า นายบุศย์ ปัทมศริน รู้แผนการปลงพระชนม์มาก่อน จะสอบสวนนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ในวันเกิดเหตุนั้นก็จริง แต่เป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุหลายชั่วโมงเกิดเหตุแล้วมีคนรู้กันมาก คงจะมีการพูดกันถึงเหตุที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จสวรรคต จึงปรากฏในคำให้การว่า นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ทราบเรื่องปืนภายหลัง ไม่ได้รับรองว่าเป็นความเห็นของตน แต่ได้รู้มาเช่นนั้นว่าเป็นปืนที่พระองค์ท่านใช้ยิง อาจเป็นคำพูดหลวมๆ เพราะปรากฏต่อมาในการสอบสวนวันที่ 13 เดือนเดียวกัน เรียกปืนกระบอกเดียวกันว่า “ปืนกระบอกที่ลั่นถูกในหลวง ข้าพเจ้า (คือนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3) เป็นผู้หยิบไปเก็บไว้ฯ” ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าครั้งแรก วันเกิดเหตุนั้นเองเวลาเย็นนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ได้พูดกับนางบุญสม ปัทมศริน ภรรยา เมื่อถูกถามว่าสวรรคตเพราะอะไร นายบุศย์ ปัทมศริน ตอบว่า ท่านยิงพระองค์เอง ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากข่าวที่ทราบในตอนเช้าวันนั้นเอง ดังปรากฏในคำให้การชั้นสอบสวนของวันเกิดเหตุ นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าเหตุการณ์เป็นดังนั้น จึงได้ตอบแก่ผู้ถามดังนั้น

นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ได้ตามนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เข้าไปทางห้องบรรทม แต่มิได้กระทำการถวายอารักขา เพราะนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 วิ่งไปแล้ว ไม่มีใครอีกจึงได้เดินออกมา

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เป็นมหาดเล็กห้องบรรทม ขณะเกิดเหตุอยู่ด้วยแม้จะไม่ใช่เวรของตน เป็นธรรมดาที่จะต้องช่วยเหลือเมื่อมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นหาควรปลีกตัวออกไม่ การที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นำปืนและปลอกกระสุนไปให้เจ้าหน้าที่ เนื่องจากเหตุนี้เอง ถ้าสมคบกันมากับผู้ร้ายแล้วทำไม่รู้ไม่เห็นเสีย หรือมิฉะนั้นอยู่เสียไกลๆ ไม่มาเกี่ยวข้อง น่าจะมีผลดีกว่าอีกประการหนึ่ง ศาลอาญาก็ว่านายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 มิใช่คนโง่

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เข้าไปในห้องบรรทมโดยไม่ใช่เวร เป็นเพราะได้ยินเสียงปืน และเป็นมหาดเล็กห้องบรรทมอยู่แล้ว เคยเข้าออกได้ จึงได้เข้าไปดูเหตุการณ์ว่าอะไรเกิดขึ้น ในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ไม่น่าจะถือว่าเป็นผิด หากมีเหตุจำเป็นอาจช่วยเหลือได้

นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 จะให้การแตกต่างกันตอนนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เข้าห้องบรรทมไปถึงแค่ไหนก็ดีไม่ทำให้คดีผิดแผกไป เพราะเหตุว่าจำเลยทั้ง 2 นี้อยู่ที่หน้าพระทวารด้วยกันได้ยินเสียงปืนแล้วต่างลุกขึ้นเพื่อเข้าไปดูห้องบรรทมว่าอะไรเกิดขึ้น อาจให้การผิดกันบ้างว่า นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เข้าไปถึงแค่ไหน แต่พอแลเห็นพระบรมศพได้นั่นเอง ถ้าไม่เห็นนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 จะกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีว่า “ในหลวงยิงพระองค์” ไม่ได้

คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้ง 2 ตอนหนึ่ง คือ นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2490 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2490 มีใจความว่า ต่างคนต่างสงสัยว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นสายนำคนภายนอกเข้ามาลอบปลงพระชนม์

การสงสัยซึ่งกันและกันเช่นนี้ อาจเป็นได้ว่า ได้สมคบกันมาหรือไม่ได้สมคบกันมา แต่เป็นนัยว่าการซัดทอดซึ่งกันและกัน ป้ายความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อตัวจะได้พ้นผิด ถ้าได้สมคบกันมา ต่างมีส่วนในการลอบปลงพระชนม์ จำเลยทั้งสองจะมานั่งอยู่พร้อมกันขณะเกิดเหตุทำไม เพราะจะทำให้ความลับของตนแตก หรือเจ้าหน้าที่ได้ระแคะระคาย โดยจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นพยานหรือเป็นจำเลย เป็นการเสี่ยงภัย อย่างน้อยที่สุดเป็นพยาน อย่างเลวที่สุดเป็นจำเลย เฉพาะอย่างยิ่งนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เวรของคนจะมาอยู่ในที่เกิดเหตุให้ลำบากไยเล่า ไปเสียไกลๆ ให้ปลอดภัยหมดความสงสัยว่าตนไม่เกี่ยวข้องเลยมิดีกว่าหรือ โดยให้ผู้ร้ายกระทำการขณะนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 อยู่เวรแต่ผู้เดียว

ถ้าสมคบกันแล้ว จำเลยทั้งสองมานั่งคอยช่วยเหลือกัน จะเป็นการเสี่ยงภัยดังกล่าวมา จึงไม่นำคิดจะเป็นไปได้ การที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เข้ามานั่งอยู่ด้วยกับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 นั้น เพื่อรอวัดดวงพระตรา

คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองในตอนนี้ เพียงแต่แสดงความคิดเห็นว่าสงสัยอีกฝ่ายหนึ่งโดยอาศัยเหตุผลซึ่งจำเลยทั้งสองให้การไปในทำนองเดียวกัน อันความสงสัยอาจมีได้เสมอ แต่มูลที่จะทำให้เกิดความสงสัยนั้นควรจะต้องมีหลักฐาน แม้กรณีสวรรคตนี้ ก่อนจำเลยถูกฟ้อง มีเหตุให้คิดกันไปได้ถึง 3 ทาง คือ ถูกลอบปลง ปลงเอง หรืออุบัติเหตุ ความสงสัยของจำเลยแต่ละฝ่ายไม่อาจยันอีกฝ่ายหนึ่งได้ จะว่าเป็นทำนองคำซัดทอดๆ ยิ่งมีน้ำหนักน้อย เมื่อพยานโจทก์อื่นๆ ไม่มั่นคงพอแล้วฟังประกอบเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้

โจทก์นำพลโท พระยาเทพหัสดิน และร้อยตรี กรี พิมพะกร เข้าสืบว่า ได้มีผู้ว่าจ้างนายสี่หรือชูรัตน์ ให้ยิงปลงพระชนม์ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ให้นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 เป็นผู้นำรอรับในวัง นายสี่หรือชูรัตน์นี้ทางพิจารณาได้ความว่าได้ตายเสียแล้วที่จังหวัดชลบุรี นายสี่หรือชูรัตน์ได้เคยเล่าข้อความที่กล่าวมาให้แก่ ร.ต. กรี พิมพะกร และพลโท พระยาเทพหัสดินฟังปัญหาว่าที่นายสี่หรือชูรัตน์เล่านี้จะใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้หรือไม่ พลโท พระยาเทพหัสดิน และ ร.ต. กรี พิมพะกร เป็นผู้เห็นอาการกิริยาที่นายสี่หรือชูรัตน์เล่า เป็นพยานชั้นที่ 1

ในส่วนที่เห็นและได้ยินนี้แต่ข้อเท็จจริงที่นายสี่หรือชูรัตน์กล่าวเป็นพยานบอกเล่า เป็นข้อเท็จจริงซึ่งพลโท พระยาเทพหัสดิน และ ร.ต. กรี พิมพะกร ไม่รู้เองเห็นเอง จะนำมาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนไม่ได้เพราะเป็นพยานบอกเล่า ผู้กล่าวคือนายสี่หรือชูรัตน์ไม่ได้สาบานหรือปฏิญาณ และเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสซักค้านจะซักค้านข้อความที่บอกเล่าจาก ร.ต. กรี พิมพะกร และพลโท พระยาเทพหัสดินไม่ได้ คำบอกเล่าของนายสี่หรือชูรัตน์ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ในเมื่อผู้ตายคือผู้กล่าวรู้ตัวว่าไม่มีหวังจะรอดจากความตาย เช่น ในเรื่องฆ่าคนตายโดยเจตนาและไม่เจตนา ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายหรือถูกรถยนต์จำเลยทับ ผู้ตายได้ระบุการกระทำของจำเลย กรณีเช่นนี้รับฟังคำของผู้ตายที่กล่าวได้ แม้จะเป็นพยานบอกเล่า คำของนายสี่หรือชูรัตน์เล่าไม่เข้าข้อยกเว้นของพยานบอกเล่าฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ จะฟังว่า ข้อความที่นายสี่หรือชูรัตน์บอกเล่าเหล่านั้นพาดพิงถึงนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ไม่ได้

การพิจารณาคดีจะต้องดูจากพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวน อาจเป็นพยานบุคคล วัตถุพยาน หรือพยานลายลักษณ์อักษร บางครั้งอาจต้องแปลความหมายของพยานหรือของตัวหนังสือ แล้วสรุปผลว่า เชื่อหรือไม่เชื่อพยานเหล่านี้ด้วยเหตุใดหรือแปลว่าอย่างไร

พยานหลักฐานต่างๆ ของโจทก์ที่สืบมา เห็นว่าไม่พอแสดงว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง ตามเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

คดีนี้ เมื่อวินิจฉัยข้อหาของโจทก์ในเรื่องลอบปลงพระชนม์หมดสิ้นแล้วควรพิจารณาด้วยว่า สวรรคตเพราะเหตุใด แยกออกได้เป็น 2 กรณี ปลงพระชนม์เองหรืออุบัติเหตุ ตามที่ได้แยกไว้ในที่อื่นๆ ตลอดมา

ผู้ที่จะกระทำอัตวินิบาตกรรมนั้น ตามธรรมดาย่อมจะมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจมาแต่ก่อน หรือมีเหตุอื่นๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าตายดีกว่าอยู่ แต่เฉพาะล้นเกล้าล้นกระหม่อมเหตุเช่นนี้ไม่น่าจะมี พระองค์เพียบพร้อมด้วยเกียรติยศ ทรัพย์ศฤงคาร บริวาร มุ่งหมายจะเสด็จนอกประเทศ พบปะกับบุคคลสำคัญเพื่อเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยให้สำเร็จเพื่อจะได้ช่วยให้อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในเรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะมีความเห็นขัดแย้งกับนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ก็จริง แต่ยังมิได้ตกลงแน่นอนว่าจะตั้งใคร นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่พอพระทัยได้ออกจากตำแหน่งไปแล้วไม่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก ระหว่างพระราชวงศ์ทรงรักใคร่กันฉันแม่กับลูก และพี่กับน้องที่ดียิ่ง

ในเช้าวันเกิดเหตุ สมเด็จพระราชชนนีได้เข้าเฝ้าถวายน้ำมันละหุ่ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงถามพระอาการก่อนสวรรคตเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองพระทัยแต่ประการใด นอกจากนั้น ยังได้ทรงนัดไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชและนัดให้บุคคลอื่นเข้าเฝ้าอีกซึ่งแสดงว่าไม่ได้ทรงคิดที่จะกระทำการเช่นนั้น การประชวรของพระองค์เกี่ยวแก่พระนาภีเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่เจ็บปวดจนถึงทำให้ท้อพระทัย ตามเหตุผลไม่น่าจะกระทำแก่พระองค์เอง

อันว่าอาการแข็งเกร็ง คือ คาดาเวอริค สปัสซั่ม ถ้ามีในพระบรมศพเป็นที่แน่นอนแล้ว ชี้ไปในทางที่ว่าทรงปลงพระชนม์เอง แต่ถ้าไม่มีแล้ว อาจเป็นการถูกลอบปลงหรืออุบัติเหตุ แต่อาการแข็งเกร็งในคดีนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่ามีในพระบรมศพหรือไม่ดังกล่าวมาข้างต้น จึงจะตัดการปลงพระชนม์เองออกเสียมิได้ ดังที่คณะกรรมการสอบสวนกรณีสวรรคตได้กล่าวไว้

อุบัติเหตุนั้น อาจเกิดด้วยประการใดๆ ได้ทั้งสิ้น เฉพาะผู้ที่ทำแก่พระองค์ไม่มี เพราะไม่มีผู้ใดอยู่ใกล้เคียง คงเหลืออยู่แต่ข้อที่ว่า อาจเกิดขึ้นได้ด้วยพระองค์เองหรือไม่ ปืนของกลางไกอ่อนกว่าธรรมดา และต้องใช้น้ำหนักเหนี่ยวไกเพียง 3 ก.ก. ซึ่งน้อยกว่าธรรมดา ปืนของกลางจึงลั่นได้ง่าย ถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงจับปืนเล่น จะเป็นด้วยพระหัตถ์เดียวหรือสองพระหัตถ์ก็ตามในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เผอิญนิ้วพระหัตถ์ไปถูกไกปืน และอีกนิ้วพระหัตถ์หนึ่งไปถูกที่ห้ามข้างหลังที่ด้ามปืนเข้า จะทำให้ปืนลั่นได้ ถ้าปืนนั้นได้ขึ้นนกอยู่แล้ว

แต่ทั้งนี้ เป็นข้อที่อาจเป็นไปได้เท่านั้น เพราะไม่มีผู้ใดทราบว่า ก่อนปืนลั่น ปืนอยู่ในลักษณะใด ผู้ทำความสะอาดแก่ปืน อาจทิ้งปืนให้ปืนขึ้นนกไว้ด้วยความพลั้งเผลอ หรืออาจมีผู้ใดผู้หนึ่งจับต้องปืนนั้น แล้วทิ้งไว้ในลักษณะนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมคงไม่ทำดังนี้ เพราะทรงมีความระมัดระวังในเรื่องนี้อยู่แล้ว จริงอยู่ ก่อนจะยิงปืนของกลางจะต้องเหนี่ยวไกหน้าและที่ห้ามปืนที่ด้ามปืนข้างหลังพร้อมกัน ซึ่งเป็นการค่อนข้างลำบากที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่การจับปืนที่จะเกิดอุบัติเหตุนั้น อาจเป็นไปในลักษณะใดๆ ก็ได้ตามวิธีจับปืนต่างๆ ที่ พ.อ.สุขุม ยั่งยืน กล่าวไม่จำเป็นจะต้องจับในลักษณะธรรมดาเลย ถ้าจับในลักษณะดังกล่าวมาข้างต้น อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ จึงจะตัดอุบัติเหตุออกจากกรณีนี้เสียทีเดียวไม่ได้

ข้าพเจ้าเห็นว่า หลักฐานยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสาม ฟ้องโจทก์เฉพาะนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ควรยกควรพิพากษายืนตามศาลอาญาเฉพาะนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1

หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธ์ (แย้ง)
สุเมธ ไพรัช พิมพ์/ทาน
[1]

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ และการเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ

บรรณานุกรม :

  • สันติสุข โสภณสิริ (บรรณาธิการ), คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ : โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๕๘๑๐/๒๕๒๒ (วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒) (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543)

 


[1] หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์, ความเห็นแย้งคำพิพากษา ใน สันติสุข โสภณสิริ (บรรณาธิการ), คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ : โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๕๘๑๐/๒๕๒๒ (วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒), (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543), น. 164-181.