Focus
- ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่องละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี
- การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการปกป้องทั้งเกียรติของตนและคณะราษฎรทั้งยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าได้มีการอ้างอิงและอธิบายประวัติศาสตร์คล้ายนวนิยายโดยเฉพาะเรื่องการอภิวัฒน์สยาม เช่นกรณีที่นายประยูรระบุในหนังสือเรื่องการนำร่างรัฐธรรมนูญการปกครองถวายแด่รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎรได้ไปเข้าเฝ้าฯ นั้นมีพระยาทรงสุรเดชรวมอยู่ด้วยและกล่าวตำหนินายปรีดีเรื่องปฐมรัฐธรรมนูญแต่เมื่อตรวจสอบหลักฐานฯ อย่างรอบด้านและจากปากคำประวัติศาสตร์ของนายปรีดีจึงพบว่าพระยาทรงสุรเดชไม่ได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 7 ในวันดังกล่าว
- คดีสิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลย การฟ้องร้องคดีฯ ครั้งนี้ของนายปรีดีถือเป็นการปกป้องทั้งเกียรติของตนและคณะราษฎรทั้งยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องให้ปรากฏเป็นหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลใหม่และปฏิกิริยาจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตอบรับและยืนยันการรักษาสัจจะในครั้งนี้เป็นอย่างดี
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่องละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี นายปรีดี ระบุว่า "ความบางตอน (ในหนังสือ) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัจจะทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกิดความเสียหายแก่ราษฎรผู้ร่วมก่อการ 2475 หลายคนและมี…หลายตอนที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง” ส่งผลให้ต่อมามีการเพิกถอนรางวัลแก่หนังสือเล่มนี้ มีการขอขมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ และทำลายหนังสือส่วนที่เหลือทั้งหมดราว 1,000 เล่ม คดีสิ้นสุดเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลย การฟ้องร้องคดีฯ ครั้งนี้ของนายปรีดีถือเป็นการปกป้องทั้งเกียรติของตนและคณะราษฎรทั้งยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องให้ปรากฏเป็นหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลใหม่และยังมีปฏิกิริยาจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ตอบรับการรักษาสัจจะในครั้งนี้
ข้อมูลใหม่เรื่องการฟ้องคดีฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของประยูร ภมรมนตรี
จุดตั้งต้นของการฟ้องคดีฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน ของข้าพเจ้า เขียนโดยนายประยูร ภมรมนตรีต่อกระทรวงศึกษาธิการและห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2522 ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์ได้รับหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าแล้วพบว่ามีความบางตอนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัจจะทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกิดความเสียหายแก่ราษฎรผู้ร่วมก่อการ 2475 หลายคนรวมทั้งตัวโจทก์เอง และมีความหมายหลายตอนที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงโจทก์จึงได้มอบอำนาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นตัวแทนฟ้องคดีฯ โดยนายปรีดีบรรยายใจความหลักในเอกสารฯ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ดังนี้
“ข้าพเจ้านายปรีดี พนมยงค์ มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นตัวแทนข้าพเจ้า มีอํานาจเต็มทําการฟ้องกระทรวงศึกษาธิการและห้างหุ้นส่วนจํากัด บรรณกิจเทรดดิ้งและพวกที่ร่วมกันไขข่าวแพร่หลาย ข้อความอันฝ่าฝืนความจริงแห่งหนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยพลโท ประยูร ภมรมนตรี” นั้น ซึ่งทําให้เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณทางทํามาหได้และทางเจริญของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นตัวแทนของบุคคลดังกล่าวนั้น เพื่อขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้บุคคลดังกล่าวนั้นทําให้ชื่อเสียงของข้าพเจ้ากลับคืนดีและใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายทุกประการให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อการนั้นให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชรมีอํานาจแต่งตั้งทนายความและดําเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนข้าพเจ้าได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาประ โยชน์ของข้าพเจ้า รวมทั้งให้มีอํานาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา ขอให้พิจารณาคดีใหม่ เพิ่มท้องและถอนฟ้องและ รับเงินต่างๆ ตามที่ศาลสั่งให้แก่ข้าพเจ้านั้นด้วย…”
ต่อมานายปรีดีได้จัดทำหนังสือคําประท้วงกับบันทึกประกอบคําประท้วงแล้วส่งไปยังจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้รับหนังสือคําประท้วงกับบันทึกประกอบคําประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เรื่อง คณะกรรมการที่มีลักษณะเป็นตัวแทนและตัวแทนช่วงของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
ทั้งนี้ในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยนายประยูร ภมรมนตรี ได้มีการอ้างอิงและอธิบายเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการอภิวัฒน์สยาม เช่นกรณีที่นายประยูรระบุในหนังสือเรื่องการนำร่างรัฐธรรมนูญการปกครองถวายพระปกเกล้าฯ ว่าในวันที่คณะราษฎรที่ไปเข้าเฝ้าฯ นั้นมีพระยาทรงสุรเดชรวมอยู่ด้วยและนายประยูรเขียนว่าพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ตำหนินายปรีดีในวันนั้นแต่ข้อเท็จจริงเมื่อตรวจสอบกับหนังสือพิมพ์ที่รายงานเหตุการณ์ในวันดังกล่าว บันทึกความทรงจำของคณะราษฎร หรือ หนังสืออนุสรณ์งานศพจะพบว่า พระยาทรงสุรเดชไม่ได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 7 ในวันนั้น ดังนี้
“พระยาฤทธิฯ ก็ได้กล่าวถึงบุคคล 7 คนตรงกับที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ได้พิมพ์ไว้ ซึ่งเป็นผู้เข้าเฝ้าในหลวงในวันนั้น คือ 1. พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี, 2. พ.ท.พระประศาสน์ทยายุทธ, 3. พ.ต.หลวงวีระโยธา, 4. อ.ต.หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, 5. ร.อ.ประยูร ภมรมนตรี, 6. นายจรูญ ณ บางช้าง และ 7. นายสงวน ตุลารักษ์
พระยาฤทธิฯ มิได้อ้างว่าตัวท่านเองได้ร่วมกับคณะไปเฝ้าในหลวงในวันนั้น และท่านมิได้อ้างว่าพระยาทรงฯ ได้ไปเฝ้าในหลวงในวันนั้น
ฉะนั้นข้อความที่พลโท ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 173-177 เกี่ยวกับ คําพูดและการกระทำของพระยาทรงสุรเดชนั้นจึงเป็นข้อความที่พลโท ประยูรฯ เขียนขึ้นฝ่าฝืนความจริงเพื่อใส่ความโจทก์ให้เสียชื่อเสียงและเกียรติคุณ ครั้นแล้วจําเลยที่ 2 กับพวกและตัวแทนกับตัวแทนช่วงของจําเลยที่ 1 ได้นําไปเผยแพร่ชักจูงให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนั้นหลงเชื่อว่าเป็นความจริง…”
นี่คือข้อความที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ของนายประยูรในวันที่คณะราษฎรนำปฐมรัฐธรรมนูญถวายต่อรัชกาลที่ 7 โดยกุชื่อว่ามีพระยาทรงสุรเดชเข้าเฝ้าฯ ด้วยและได้กล่าววาจาที่หมิ่นเกียรติต่อนายปรีดี-โจทก์ ดังนี้
“โจทก์ขอประทานกราบเรียนศาลถึงกระทงความผิดต่าง ๆ ของจําเลยกับพวกต่อไปนี้
(3) ข้อความที่ พลโท ประยูรฯ เขียนไว้ซึ่งโจทก์อ้างแล้วนั้นมีความตอนหนึ่งว่า
และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ นํารัฐธรรมนูญขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงพิจารณารู้สึกพระองค์สนใจทรงอ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์ ครั้นแล้วรู้สึกว่าทรง
อ้ำอึ้งในข้อความบางประการ ซึ่งในที่สุดก็ทรงรับสั่งถามพระยาทรงสุรเดชว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง พระยาทรงสุรเดชก็กราบทูลว่ายังมิได้อ่าน แล้วหันมาถามข้าพเจ้าว่า คุณประยูรฯ ได้อ่านมาบ้างหรือเปล่า ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่ายังไม่ได้อ่านเพราะไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะ แต่ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชได้ประชุมกําชับหลวงประดิษฐฯ ไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างรัฐธรรมตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้วต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่เรื่องอะไรกัน จึงต้องใช้คําแทนเสนาบดีว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย แบบคอมมิวนิสต์
โจทก์ขอประทานกราบเรียนศาลว่าข้อความดังกล่าวนั้นฝ่าฝืนความจริง เพราะเหตุดังต่อไปนี้
(ก) พระยาทรงสุรเดชมิได้ไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้น (เน้นข้อความโดยกองบรรณาธิการ) จึงเป็นไปไม่ได้ที่ในหลวงจะรับสั่ง ถามพระยาทรงฯ และพระยาทรงฯ กราบทูลเช่นนั้น และเมื่อไม่มีรับสั่งถามพระยาทรงฯ และพระยาทรงฯ กราบทูลเช่นนั้นแล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรับสั่งถามนายประยูรฯ ข้ามหน้าผู้มีอาวุโสกว่านายประยูรฯในการไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้น
(ข) ขณะนั้นยังไม่ได้ใช้ศัพท์ไทย “รัฐธรรมนูญ” เพื่อหมายถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กําหนดระบบปกครองแผ่นดิน สมัยนั้นกฎหมายดังกล่าวเรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ส่วนคําว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นได้เริ่มใช้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
(ค) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งโจทก์เป็นผู้ร่างและนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ประกาศใช้เป็น “ธรรมนูญการปกครอง แผ่นดิน (ชั่วคราว)” เมื่อวันที่ 27 เดือนนั้น ปรากฏชัดแจ้งในมาตรา 31 และ 35…”
ทั้งนี้นายปรีดียังได้อ้างถึงหลักฐานฯ ประกอบคำฟ้องคือบันทึกเจ้าหน้าที่พระราชสำนักซึ่งหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ของกรมพระคลังข้างที่ฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่ามีข้อความตอนที่นายปรีดีถวายร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไว้อย่างละเอียด
“ครั้นแล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนขึ้นอ่านพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับฟังและทรงพยักพระพักตร์เป็นคราวๆ ด้วยความพอพระราชหฤทัยยิ่ง เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ่านถวายสิ้นกระแสความแล้วจึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมนามาภิธัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้มีข้อความยืดยาว เพียงแต่ทรงสดับยังไม่เข้าใจดี จึงขอทอดพระเนตรอีกครั้ง แล้วหลวงประดิษฐ์ฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระธรรมนูญการปกครอง ครั้งแล้วเวลา 12.15 นาฬิกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จขึ้น
ครั้นเวลา 12.40 นาฬิกา พระยาอิศราธิราชเสวี ได้นำพระกระแสพระบรมราชโอการมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะให้คำตอบในวันที่ 27 เดือนนี้เวลา 17 นาฬิกาตามทางราชการ”
จากหลักฐานฯ บันทึกเจ้าหน้าที่พระราชสำนัก หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และบันทึกของพระยาฤทธิอัคเนย์เพื่อประกอบร่างคำฟ้องคดีฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าที่นายปรีดีหยิบยกมาสนับสนุนและให้น้ำหนักในการต่อสู้กับการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงของนายประยูรนั้นได้ตอกย้ำให้เห็นว่ามีการสร้างนิยายประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรใหม่ของหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ปฏิกิริยาจากหนังสือพิมพ์ต่อเรื่องการฟ้องคดีฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของประยูร ภมรมนตรี
หลังจากที่คดีฯ ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการ และห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจ เทรดดิ้งต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรีสิ้นสุดเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยแล้วได้มีการรายงานข่าวและการลงขอขมาของจำเลยในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์และความถูกต้องที่นายปรีดีได้ปกป้องเกียรติของตนและคณะราษฎรไว้ได้สำเร็จ ดังนี้
หนังสือพิมพ์มาตุภูมิ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
“ห้างหุ้นส่วนบรรณกิจเทรดดิ้ง ยอมรับผิดที่ได้พิมพ์ และโฆษณาหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน ซึ่งเขียนโดยพลโทประยูร ภมรมนตรี ซึ่งทําให้นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับความเสียหายศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2525 ให้คดีสิ้นสุด ตามหนังสือ ประนีประนอมยอมความ ระหว่างโจทก์กับจําเลย โดยจําเลย คือห้างหุ้นส่วนบรรณากิจ ยอมส่งมอบหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินที่เหลืออยู่ 1,000 พันเล่มต่อศาลเพื่อทําลายและประกาศขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์
หนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เขียนโดย พลโทประยูร ภมรมนตรี นี่เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลชมเชยยอดเยี่ยม ประจําปี 2518 ประเภทสารคดี ต่อมา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2522 นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และอดีตนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคําประท้วง และบันทึกประกอบคําประท้วงต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า มีข้อความมากมายหลายประการ ในหนังสือที่ฝ่าฝืนความเป็นจริง
กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อผดุงไว้และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทยและเพื่ออนาคตกุลบุตร กุลธิดา ของชาติไทยเห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดี จึงขอเพิกถอนคําตัดสินของคณะกรรมการพิจารณา หนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดีที่ได้ตัดสินรางวัลชมเชย และถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานหนังสือแห่งชาติที่ให้แก่สํานักพิมพ์บรรณกิจด้วย
อนึ่ง พลโทประยูร ภมรมนตรี ผู้เขียนหนัง สือ ชีวิต 5 แผ่นดิน เป็นหนึ่งในจํานวนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ร่วมกับนายปรีดีด้วย”
หนังสือพิมพ์พ่อบ้านไทยแลนด์ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
ศึกษาธิการ ยอมแพ้รัฐบุรุษปรีดี
“กระทรวงศึกษาธิการยอมแพ้ ปรีดี พนมยงค์ ประกาศยกเลิกรางวัลหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของ ข้าพเจ้า” เขียนโดย พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทสารคดี
กรณีนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้มอบอํานาจให้ น.ส.นวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่องละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อ ความฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง อันเป็นที่เสียหายแก่โจทก์และบุคคลอื่น โจทก์กับบรรยายฟ้อง โดยสรุปว่า
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 22 โจทก์ได้รับเอกสารหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อชีวิต 5 แผ่นดิน ของข้าพเจ้า โดย พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี จัดพิมพ์โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ที่ 1 ในคณะกรรมการประกวดหนังสือยอดเยี่ยมประเภทสารคดีของจําเลยที่ 1 ให้ตัด สินให้เป็นหนังสือประเภทสารคดีที่ยอดเยี่ยมประจําปี 2518 เนื้อหาของหนังสือ เมื่อ โจทก์โดยละเอียดแล้วความบางตอนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัจจะ ทางประวัติศาสตร์ ของชาติไทย และเกิดความเสียหายแก่ราษฎร (ผู้ร่วมก่อการ 2475) หลายคนรวมทั้ง ตัวโจทก์ด้วย และมีความหมายหลายตอนที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 22 โจทก์ได้รับเอกสารหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดย พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี จัดพิมพ์โดยจําเลยที่ 2 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ จําเลย ที่ 1 ในคณะกรรมการประกวดหนังสือยอดเยี่ยมประเภทสารคดีของจําเลยที่ 1 ให้ตัดสินให้เป็นหนังสือประเภทสารคดีที่ยอดเยี่ยมประจําปี 2518 เนื้อหาของหนังสือ เมื่อโจทก์ดูโดยละเอียดแล้วความบางตอนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัจจะ ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกิดความเสียหายแก่ราษฎร (ผู้ร่วมก่อการ 2475) หลายคนรวมทั้งตัวโจทก์ด้วย และมีความหมายหลายตอนที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง
เมื่อโจทก์ทราบแล้วจึงได้ยื่นหนังสือประท้วงไปยังจําเลยที่ให้เพิกถอนคําประกาศของคณะกรรมการประกวดดังกล่าวเสีย จําเลยที่ 1 ก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนคําตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดีที่ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดย พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี กับให้จําเลยที่ 1 สั่งเก็บหนังสือดังกล่าวด้วย
จําเลยให้การสู้คดี แต่ต่อมาจําเลยที่ 1 ได้ประกาศยกเลิกการตัดสินของคณะกรรมการที่ให้หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี เป็นหนังสือประเภทสารคดี และจําเลย 2 ก็ยอมรับผิด ส่วนหนังสือพิมพ์รายวันตลอดทั้งคําประกาศยกเลิกการตัดสินของคณะกรรมการ และจําเลยที่ 1 ยอมขอขมาที่ให้ชมเชยหนังสือดังกล่าวอีกด้วย โจทก์จําเลยทําสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อโจทก์ ส่วนหนังสือพิมพ์รายวันตลอดทั้งคำประกาศและยกเลิกการตัดสินของคณะกรรมการที่ให้ชมเชยหนังสือดังกล่าวอีกด้วย โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาล และศาลจึงพิพากษาไปตามยอม”
หนังสือพิมพ์มาตุภูมิ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
ประกาศเรื่อง
คําขอขมาของห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้ง จําเลยที่ 2
“ตามที่คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประจําปี 2519 ตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการได้ตัดสินและให้เอกสารหลักฐานรางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจําปี พ.ศ. 2518 ประเภทสารคดีแก่สํานักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” เรียบเรียงโดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งได้โฆษณาจําหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปนั้น
นายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการเป็นจําเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งเป็นจําเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดําที่ 8586/2523 ฐานโฆษณาหนังสือที่มีข้อความฝ่าฝืนความจริงทําให้โจทก์เสียหาย
กระทรวงศึกษาธิการจําเลยที่ 1 โดยนายสิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ได้มีประกาศลงวันที่ 14 มีนาคม 2523 เพิกถอนการให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มที่ พล.ท. ประยูรฯ เรียบเรียง และเพิกถอนเอกสารหลักฐานที่ให้แก่ ห.ส.จ. บรรณกิจเทรดดิ้งนั้นแล้ว
ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้ง ขอรับผิดที่ได้โฆษณาหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งทําให้นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับความเสียหาย และยอมส่งมอบหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินฯ” ที่เหลืออยู่อีก 1 พันเล่ม ต่อศาลแพ่งเพื่อทําลาย และได้ทําสัญญาประนีประนอมต่อศาลยอมรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องทุกประการ
ศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2525 ให้คดีสิ้นสุดลงตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยแล้ว
ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้ง จําเลยที่ 2 จึงประกาศขอขมานายปรีดี พนมยงค์ ณ ที่นี้ พร้อมทั้งได้นําประกาศกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ไว้ต่อท้ายคําขอขมาของห้างฯ ด้วย
ประกาศมา ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2525 ลงชื่อ ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้ง จําเลยที่ 2”
ท้ายที่สุด แม้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ฟ้องร้องหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดย พลโทประยูร ภมรมนตรีจะยอมรับการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมกับจำเลยแต่ในร่างคำฟ้องคดีความฯ คําประท้วง และบันทึกประกอบคําประท้วงที่จัดทำขึ้นนั้นมีข้อมูลยืนยันหนักแน่นว่าหนังสือเล่มนี้ฝ่าฝืนความเป็นจริงหรือสัจจะทางประวัติศาสตร์ ขณะที่อีกมุมหนึ่งยังถือว่าเป็นหลักฐานฯ อันทรงคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ไทยสมัยคณะราษฎรในอนาคต
หมายเหตุ: คงอักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- เอกสารส่วนบุคคลของนายปรีดี พนมยงค์
- ประยูร ภมรมนตรี, ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2518)