ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ข่าวคราวเรื่องนายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับจากปารีสมายังเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2518

27
มิถุนายน
2567

 

Focus

  • บทความนี้เสนอเรื่องนายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับจากปารีสมายังเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2518 ผ่านหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับคือ เดลินิวส์ และไทยรัฐ
  • เอกสารสำคัญของบทความนี้คือ คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงชาวธรรมศาสตร์ในวาระครบรอบ 41 ปีวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2518

 


มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง\
ที่มา: เฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri

 

ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2567 จะเป็นวาระครบรอบ 90 ปีวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคงมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองด้วยบรรยากาศที่ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และศิษย์เก่ามารวมตัวกันอย่างคึกคัก โดยสำหรับกิจกรรมในงานวันสถาปนาก็มิแคล้วเฉกเช่นเดียวกันกับทุกปีที่ล่วงผ่าน เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยการทำบุญใส่บาตรร่วมกัน พิธีเจริญพระพุทธมนต์ การกล่าวคำปราศรัย และการเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ

ทว่า ปีนี้อาจจะถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะคือการเฉลิมฉลองครั้งสำคัญ อันเนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานถึง 90 ปีเต็มเลยทีเดียว

พอว่าถึงกิจกรรมในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว หากเป็นช่วงเวลาที่ นายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 7 และที่สำคัญคือผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงมีชีวิตอยู่ ถ้าสบโอกาสเหมาะสมก็จะการส่งคำกล่าวปราศรัยมายังชาวธรรมศาสตร์ด้วย

ย้อนไปใน พ.ศ. 2518 แค่เดือนแรกสุดของปีก็ได้ปรากฏข่าวคราวเซ็งแซ่ว่า นายปรีดี ซึ่งพำนักในฝรั่งเศสนั้น กำลังจะเดินทางหวนกลับคืนยังมาเมืองไทย ภายหลังจากต้องลี้ภัยทางการเมืองไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเรื่อยมานับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2490

อันที่จริง กระแสข่าวที่ว่า นายปรีดี จะหาทางกลับมาเมืองไทยก็มีให้แว่วยินมาเป็นระยะๆ ตลอดหลายปี โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งนิสิตนักศึกษาและประชาชนได้ลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจรและคณะได้สำเร็จ ดูเหมือนข่าวเรื่องนายปรีดีจะกลับเมืองไทยก็ยิ่งหนาหูขึ้น แต่มักจะลงเอยด้วยการเป็นแค่ข่าวลือแล้วเงียบหายไป

แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยช่วงต้นปี พ.ศ. 2518 ค่อนข้างเชื่อแน่ว่านายปรีดีคงจะตัดสินใจกลับบ้านเกิดเมืองนอนจริงๆ ก็เนื่องจาก ท่านผู้หญิงพูนศุข ผู้เป็นภริยาได้เดินทางกลับมาถึงเมืองไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม โดยมาพักอยู่บ้านน้องสาวในตรอกพิกุล สาธรใต้  สร้างความตื่นตัวให้แก่บรรดาผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นอย่างมาก

จนในเช้าวันเสาร์ที่ 25 มกราคม ท่านผู้หญิงพูนศุข จึงเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาเข้าพบขอสัมภาษณ์ จากนั้นก็มีการนำถ้อยคำของภริยานายปรีดีไปนำเสนอข่าวอย่างเกรียวกราว

ดังเช่นหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ได้พาดหัวข่าว “บ้านเมืองไม่สงบยังไม่กลับ” และรายงานว่า

ข่าวเกรียวกราวกรณีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ศรีภรรยารัฐบุรุษอาวุโส "ดร. ปรีดี พนมยงค์" บินเงียบกลับประเทศไทย เพื่อกรุยทางและดูท่าทีก่อนที่จะเดินทางกลับมาอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร หลังจากลี้ภัยอยู่ในจีนแดงและปารีสเป็นเวลายี่สิบกว่าปี ตามข่าวที่เราเสนอมาแล้วนั้น

เมื่อเวลา 10 น.เศษ วันที่ 25 ม.ค. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เปิดให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ที่บ้านพักในตรอกพิกุล สาธรใต้ เริ่มแรกท่านได้กล่าวถึงการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ ก็มาเพื่อจัดการจะมาหาลู่ทางในการลงทุนค้าขาย เพื่อจะได้นำผลกำไรส่งไปเสียงชีพที่ปารีส อาจจะเป็นการซื้อหุ้นบริษัทอะไรทำนองนั้น แต่ต้องขอศึกษาสภาพความมั่นคงกิจการค้าของบริษัทนั้นๆ เสียก่อน ถ้าการลงทุนซื้อหุ้นไม่ดีก็จะทำอย่างอื่น

ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กล่าวถึงชีวิตการลี้ภัยในแผ่นดินใหญ่จีนว่า ทางรัฐบาลจีนเขาก็จัดที่อยู่เฉพาะให้ สภาพการครองชีพก็ไม่เดือดร้อนอะไรเพราะความช่วยเหลือของรัฐบาลจีนนั่นเอง โดยรัฐบาลจีนได้จัดเจ้าหน้าที่ให้การอารักขาเป็นอย่างดี ส่วนชีวิตในปารีส เนื่องจากเป็นประเทศประชาธิปไตย ได้อยู่บ้านของตนเองอย่างอิสระเสรี ชีวิตในปารีสก็เช่นคนธรรมดา เวลาว่างส่วนใหญ่ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็เขียนหนังสือเป็นวิทยาทาน ส่วนท่านผู้หญิงก็ทำหน้าที่แม่บ้าน ทำกับข้าวเองจ่ายตลาดเอง 'ท่านปรีดี...ท่านไม่ได้ช่วยเรื่องทำครัวหรอกค่ะ แต่ท่านก็เป็นคนทานง่าย เย็นข้าวต้มชามกับปลาเค็มก็อิ่มแล้วล่ะค่ะ' ท่านผู้หญิงเล่าความหลังด้วยความรื่นเริงท่ามกลางนักข่าวแสะญาติมิตร

ท่านผู้หญิงได้ตอบข้อซักถามถึงรายจ่ายร่ายรับของครอบครัวว่า ปัจจุบันนี้ได้รับเงินบำนาญที่รัฐบาลส่งไปให้เดือนละสามพันกว่าบาทไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงลิ่ว แต่ก็ได้เงินจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารในกรุงเทพฯส่งไปให้ ชีวิตก็อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนอะไร ผู้สื่อข่าวได้ถามย้อนถึงคดีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ดิฉันไม่อยากพูดถึงเรื่องเก่านี้เลย เพราะท่านก็สั่งมาว่า แก่แล้ว อย่าพูดอะไรมากนัก แต่ก็ขอยืนยันว่าท่านบริสุทธิ์ เสียดายที่คนบริสุทธิ์ถูกฆ่าตายหลายคน เราถูกกลั่นแกล้ง และพวกที่กลั่นแกลังเราก็ได้รับกรรมไปแล้ว ศรีภรรยาของรัฐบุรุษอาวุโสกล่าวในตอนหนึ่ง

ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กล่าวถึงการจะกลับประเทศไทยหรือไม่ของรัฐบุรุษอาวุโสว่า “เหตุการณ์บ้านเมืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ท่านคงไม่คิดจะกลับมา พวกคุณก็คิดดูเองก็แล้วกันค่ะ ความปลอดภัยก็ไม่มี มีการยิงกันและขว้างระเบิดอยู่ทั่วไปอย่างที่เห็น ถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่ท่านไม่กลับมาแน่ ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า ถ้า ดร.ปรีดีกลับเมืองไทยในโอกาสต่อไปจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองอีกหรือไม่?... “ขอตอบแทนท่านได้เลยค่ะว่า หัวเด็ดตีนขาด ท่านก็ไม่ยอมร่วมด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้บ้านเมืองของเราก็มีคนมีความรู้อย่างมากมายเป็นด๊อกเตอร์กันทั้งนั้น ถ้าช่วยกันจริงๆ บ้านเมืองของเราก็จะดีขึ้น ข้อสำคัญอย่าขัดกันเองก็แล้วกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าท่านรัฐบุรุษอาวุโสกลับมาคิดว่าจะถูกประท้วงขับไล่หรือไม่

ไม่ค่ะ...คงไม่มีประชาชนหรือนักศึกษาประท้วงขับไล่เราแน่ เพราะตลอดเวลาที่ทำงานให้ประเทศชาติ เรายืนอยู่ข้างประชาชนตลอดเวลา เราเป็นคนของประชาชนค่ะท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวพร้อมกับยกมือไหว้ขอตัวเพื่อจะไปต้อนรับแขกอื่นที่พากันมาเยี่ยมอย่างมากมาย.

 

ตามที่ ท่านผู้หญิงพูนศุข ให้สัมภาษณ์มานั้น เผยให้ทราบว่า นายปรีดี ยังไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย แม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 ภายหลังโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารและมีการยึดทรัพย์ของสามทรราชซึ่งประกอบด้วยจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจรแล้ว แต่ในช่วงปีดังกล่าวก็เต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง มีการชุมนุมและเดินขบวนประท้วงซ้ำบ่อย รวมถึงเกิดเหตุปะทะกันรุนแรงถึงขั้นนองเลือด ทั้งใช้อาวุธปืนยิงและการขว้างปาระเบิด

ท่านผู้หญิงพูนศุข ยังกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำนองว่า ไม่คุ้มเลยที่วีรชนต้องมาสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ แต่สถานการณ์บ้านเมืองกลับยังคงวุ่นวายอยู่ ท้ายที่สุด ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2517 จอมพล ถนอม ก็ได้ลักลอบเข้ามาในประเทศเพื่อเยี่ยมบิดาที่กำลังป่วย พร้อมยื่นคำขอพำนักในเมืองไทยและจะขอบวช ส่งผลให้ผู้นำนักศึกษาเรียกร้องให้มีการชุมนุมต่อต้าน กระทั่ง จอมพล ถนอม ต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอีกครั้ง

ประเด็นเหล่านี้ หนังสือพิมพ์ เดลิไทม์ ฉบับประจำวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ได้นำเสนอไว้ โดยพาดหัวข่าว “เผยชีวิต ‘ปรีดี’ ในต่างแดน” พร้อมกับรายงานว่า

“ท่านผู้หญิงพูนศุขยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่านายปรีดี พนมยงค์ ผู้สามีจะไม่กลับเมืองไทยในระยะอันใกล้นี้แน่นอน ทั้งๆ ที่เคยบอกว่าจะกลับมาตายที่บ้านเกิด แต่เมื่อได้เห็นและรับฟังถึงสถานการณ์ขณะนี้แล้วรู้สึกว่าจะไม่มีโอกาสได้กลับมาเสียด้วยซ้ำ ว่าการเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยยังมองไม่เห็นเด่นชัด สภาพการณ์ขณะนี้เห็นว่าไม่คุ้มกันเลยกับเลือดและชีวิตที่เสียไป เมื่อ “14 ตุลาคม” เผยชีวิตลำเค็ญที่ต้องระหกระเหินอยู่นอกประเทศถึง 23 ปี

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จนต้องระหกระเหินออกไปอยู่นอกประเทศเป็นเวลา 23 ปีแล้ว ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตอนเช้าวานนี้ (ที่ 25) ที่บ้านของน้องสาว ซอยพิกุล ถนนสาธรใต้ หลังจากเดินทางจากฝรั่งเศสกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มกราคม ศกนี้

กรณีที่ว่า นายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้ง โดยให้ภริยาเดินทางมาเตรียมการต้อนรับไว้ล่วงหน้านั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข ปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น นายปรีดี พนมยงค์ ยังไม่คิดที่จะกลับมาเมืองไทยในระยะนี้ ทั้งๆ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าจุดหมายปลายทางของชีวิตจะกลับมาตายที่บ้านเกิดเมืองนอนก็จริง แต่สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังไม่เหมาะสมที่จะกลับมา ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้กลับมาก็ไม่ต้องกลัว นายปรีดีจะยังไม่กลับมาอย่างเด็ดขาด และเมื่อตนเองได้มาเห็นสภาพและได้รับฟังเรื่องราวจากญาติมิตรแล้ว ก็เกิดความรู้สึกว่านายปรีดีอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาตายที่เมืองไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญ แต่ก็ปรากฏว่าบ้านเมืองยังไม่มีขื่อมีแป น่าสงสารวีรชนที่ต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อเมื่อเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้มกันเลยการเปลี่ยนแปลงยังมองไม่เห็นเด่นชัด เพียงแต่ได้รัฐธรรมนูญมาตามความต้องการ และมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเท่านั้นเอง

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ชี้แจงว่าการเดินทางกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ จะอยู่เพียงประมาณ 3 สัปดาห์เท่านั้นและได้ซื้อตั๋วเครื่องบินไปกลับไว้แล้ว ความต้องการเพื่อจะมาธุระและเยี่ยมลูกซึ่งพิการอยู่และจากกันไปนานเท่านั้น ไม่เหมือนกับถนอมที่เขากลับมาเยี่ยมพ่อของเขาเมื่อเร็วๆนี้ สำหรับธุระที่ต้องการมาทำในครั้งนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุข เปิดเผยว่าตั้งใจจะทำอย่างไรถึงจะหารายได้ไปเจือจุนครอบครัวที่อยู่ทางฝรั่งเศสโน่น เพราะขณะนี้ขัดสนมาก เงินทองของเก่าที่มีอยู่ก็ร่อยหรอเต็มที “คิดดูซิ เราทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ ไม่เคยค้าขายอะไรเลย บำนาญก็ได้เพียงเดือนละ 3 พันบาท ไม่เหมือนกับคนใหญ่คนโตอื่นๆ เขาที่ร่ำรวยมีทรัพย์สินมากมาย ถึงจะต้องไปอยู่ต่างประเทศก็ไม่เดือดร้อน” ท่านผู้หญิงพูนศุขตัดพ้อกับผู้สื่อข่าวเป็นการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นมานาน

ท่านผู้หญิงพูนศุข เปิดเผยว่าขณะที่อยู่ต่างประเทศก็ติดตามข่าวคราวของเมืองไทยอยู่ตลอดเวลา โดยได้รับทราบจากญาติพี่น้องที่ไปเยี่ยมบ้าง เขียนจดหมายไปเล่าสู่กันฟังบ้าง และจากหนังสือพิมพ์ที่ส่งไปบ้าง เกิดความรู้สึกว่าเวลานี้ประเทศไทยร่ำรวยเจริญก้าวหน้าไปมาก แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยได้เห็นสภาพแล้ว ถึงจะเป็นสภาพในเมืองหลวงก็เกิดความรู้สึกขัดๆ กันขึ้นมาหลายอย่าง เช่น สภาพตามถนนหนทางถึงแม้จะมีรถเก๋งคันใหญ่ ๆ ยาว ๆ วิ่งกันเต็มไปหมด แต่เมื่อดูคนที่เดินตามริมถนนแล้วยังมองเห็นความยากจนและความหมองหม่นอย่างเด่นชัด และสภาพของการจราจรที่ติดขัดก็น่ากลัวอันตรายมากที่ฝรั่งเศส ถึงแม้การจราจรของเขาจะติดขัดก็จริง แต่เขาติดอย่างมีระเบียบและเคร่งครัด

ท่านผู้หญิงพูนศุข ได้เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดปัญหาต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ว่าหลังจากถูกจับในข้อหาฉกาจฉกรรจ์คือกบฏภายใน และภายนอกราชอาณาจักร ถูกขังอยู่ 81 วัน แล้วออกมาก็จำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งๆ ที่รักเมืองไทยไม่อยากทิ้งเมืองไทยไปเลย ทรัพย์สินเงินทองก็แทบไม่มีติดตัวต้องลำบากมาก ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. 2495 ตอนแรกไปอยู่ฝรั่งเศสชั่วคราว แล้วย้ายไปอยู่ประเทศจีนเมื่อปี 2496 เคยกลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2500 เพราะคุณแม่เจ็บหนัก อยู่จนกระทั่งคุณแม่ตายทำศพเสร็จแล้วจึงกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีน 9 ปี อยู่ที่เมืองกวางตุ้ง แล้วจึงย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสจนถึงขณะนี้ 8 ปีเต็มแล้ว (ผู้เขียนบทความคิดว่าตรงจุดนี้น่าจะคลาดเคลื่อน เพราะนายปรีดีย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2513 ควรจะเป็น 5 ปีเสียมากกว่า)

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชีวิตในเมืองจีนกับฝรั่งเศสเปรียบเทียบกันแล้วเป็นอย่างไร ท่านผู้หญิงพูนศุข กล่าวว่าอยู่ที่เมืองจีนเป็นการอยู่ในฐานะแขกของรัฐบาล มีที่พักอาศัย และได้รับการดูแลอย่างดี แต่การติดต่อกับญาติพี่น้องลำบากมากทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กันจนรับฟังวิทยุกันได้ ส่วนความเป็นอยู่ในฝรั่งเศส ต้องอยู่อย่างประชาชนธรรมดาต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง อาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ แต่ก็สบายใจที่สามารถติดต่อกับญาติพี่น้องได้สะดวก เดินทางไปเยี่ยมเยียนกันได้ ไม่เหมือนเมืองจีน ซึ่งน่าแปลกใจว่าไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด คนที่ไปเมืองจีนแล้วทางราชการจะตั้งข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์หมด ขณะนี้ตนเองก็ยังไม่ทราบเลยว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร

ท่านผู้หญิงพูนศุขเปิดเผยความเป็นอยู่ของนายปรีดี ว่าขณะนี้อายุ 75 ปีแล้ว มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคของคนแก่เรียกว่าต่อมลูกหมากโต แพทย์ต้องดูแลอยู่เป็นประจำ แต่ถึงกระนั้นก็ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา คือค้นคว้าและเขียนหนังสือจากการติดตามเหตุการณ์รอบ ๆ โลก และมีนักศึกษาไปเยี่ยมสอบถามศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา “ขณะนี้สมองท่านยังใช้ได้อยู่ แต่ใครจะไปรู้ได้ว่า อีก 2-3 ปี ท่านจะไหวหรือไม่ไหวเพราะความร่วงโรยของสังขารนั้นไม่มีใครเอาชนะได้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้””

 

แม้ ท่านผู้หญิงพูนศุข จะตอบคำถามต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ทั้งหลายอย่างให้ความกระจ่างชัดถึงการกลับมาเมืองไทยของตนเพื่อเป้าหมายอันใด และยืนยันว่า นายปรีดี ยังจะไม่กลับเมืองไทยแน่นอน แต่ก็ยังมีการรายงานข่าวในเชิงที่ว่าถึงอย่างไร นายปรีดี ก็กำลังจะกลับมา และย่อมจะเดินทางมาถึงในเร็ววัน นั่นส่งผลให้ในแวดวงนักการเมืองไทยถึงกับต้องมาสนใจต่อประเด็นนี้เช่นกัน

หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุคคลหนึ่งออกมาแสดงความเห็น ดังที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 รายงานว่า

“ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นแก่ผู้สื่อข่าวกรณีนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ฝรั่งเศสเป็นเวลานาน  จะขอกลับมาอยู่ประเทศไทยว่า โดยหลักการแล้ว คุณปรีดีกลับเข้ามาได้ ไม่มีเหตุอะไรขัดข้องแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ อายุความต่างๆหมดแล้ว จึงไม่เห็นว่าน่าจะมีปัญหาอะไร

แต่สิ่งหนึ่งที่คุณปรีดีจะต้องคิดให้มากก็คือ คุณปรีดีนั้นมีคนรักก็มาก คนเกลียดก็มาก การจะกลับเข้ามา จึงมีทั้งผลดีและผลเสียพร้อมกัน ดังนั้น การจะตัดสินใจกลับเข้ามา จึงเป็นเรื่องที่คุณปรีดีจะต้องคิดไตร่ตรองเอาเองว่า สมควรจะกลับเข้ามาหรือไม่อย่างไร””

 

ตอนนั้น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ กำลังเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลผสม เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทำงานได้เพียงสามสัปดาห์ก็ลาออก เพราะสภาลงมติไม่ไว้วางใจ พรรคชาติไทยซึ่งมีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับสองกลับไม่ยอมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง แต่ให้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมซึ่งมีจำนวน ส.ส. แค่ 18 เสียง จัดตั้งรัฐบาลผสมแทน จน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนั้น

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับอ้างว่าได้รับข่าวกรองพิเศษที่น่าเชื่อถือ โดยยืนยันว่า นายปรีดี จะกลับมาเมืองไทยมาพร้อมกับอดีตผู้นำนักศึกษาในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์

 


หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์  ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518

 


หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์  ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518

 

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์  ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รายงานข่าวนี้ ด้วยการพาดหัวว่า “กำหนดวันกลับ ถ้ามา 23 กพ. นี้แน่!.”

หน่วยข่าวพิเศษของเดลินิวส์ได้รับรายงานถึงความเคลื่อนไหวของนายปรีดี พนมยงค์  จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เมื่อบ่ายที่ 20 ก.พ.นี้  ตามรายงานข่าวบอกว่านายปรีดีตัดสินใจในที่สุดจะบินกลับประเทศไทย  หลังจากลี้ภัยไปอยู่ที่จีนแดงเมื่อปี 2492 และไปพักอยู่ในปารีสเมื่อประมาณปี 2516 (ผู้เขียนบทความคิดว่าตรงจุดนี้น่าจะคลาดเคลื่อน ควรจะเป็นปี 2513) รวมที่จากไปเมืองไทยประมาณ 20 กว่าปี

ข่าวนายปรีดีจะกลับเมืองไทยนี้มีมาหลายครั้งหลายหนแล้ว  และลงท้ายไม่เป็นความจริง  จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้  ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของนายปรีดีก็ได้เดินทางจากปารีสกลับมาอยู่ที่บ้านพักย่านสาธร กรุงเทพฯ ท่ามกลางข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่านายปรีดีจะเดินทางตามมาในภายหลัง

ในข่าวนั้น มี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์พัวพันอยู่ด้วยว่าเป็นผู้บินไปพบนายปรีดีและติดต่อกับรัฐบาลไทยให้นายปรีดีกลับ แต่ ดร.ป๋วย ก็ปฏิเสธไปเช่นกันว่าไม่เคยไปพบนายปรีดีเลย เป็นการใส่ร้ายเท่านั้น จนถึงขนาดตำหนิหน่วยกรองข่าวของรัฐบาลว่าทำงานไม่เอาไหน

แต่แล้ว จากข่าวที่ได้รับรายงานเมื่อวานนี้ดังกล่าว หนทางที่นายปรีดีจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนแจ่มชัดขึ้น  โดยแหล่งข่าวระบุด้วยว่านายเสกสรร ประเสริฐกุล อดีตนายกสหพันธ์นักศึกษาเสรี  นายธีรยุทธ บุญมี ผู้ประสานงานของ ปช.ปช. และนายประสิทธิ์ ไชโย หัวหน้ากรรมกรโรงงานทอผ้า  เป็นผู้บินไปรับอย่างเงียบเชียบถึงปารีส

และจากการสืบทราบต่อมาของหน่วยข่าวพิเศษ “เดลินิวส์” ทราบว่า  ผู้มีบทบาทในวงการนักศึกษาและกรรมกรทั้ง 3 คนนั้น  หลังจากที่เงียบหายไปเฉย ๆ เป็นเวลานาน เพราะทั้ง 3 คนใช้เวลาทั้งหมดให้กับแผนงานที่จะไปเชิญนายปรีดีกลับ  และเมื่อตกลงกันแล้วได้บินไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ.นี้ โดยสายการบินอลิตาเลียเที่ยวบินที่ AZ 789 โรม-ปารีส

“ในขณะนี้บุคคลทั้ง 3 พบกับนายปรีดีเรียบร้อยแล้ว” เป็นรายงานต่อมาที่เดลินิวส์ได้รับ และแหล่งข่าวบอกด้วยว่า นายปรีดีมีแนวโน้มที่จะบินกลับประเทศไทยตามคำเชิญของบุคคลทั้ง 3  ถ้าเป็นไปตามกำหนดการแล้ว นายปรีดีจะมาถึงประเทศไทยภายในอีกไม่กี่วันนี้

และจากการพบกับนายตำรวจสันติบาลชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมื่อบ่ายวานนี้ “เดลินิวส์” ได้รับการยืนยันว่า นายเสกสรร ประเสริฐกุล ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปอเมริกาและยุโรปจริง โดยอ้างว่าจะเดินทางไปศึกษาต่อ แต่จะจริงหรือไม่ หรือเพื่อจะไปติดต่อผู้ใด ขณะนี้ตำรวจสันติบาลกำลังติดตามอยู่ นายตำรวจคนเดียวกันนี้ตอบคำถามคนข่าวเกี่ยวกับเรื่องมีผู้ให้ทุนนายเสกสรรเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ด้วยว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นทุนจากใคร เพียงแต่รู้ว่ามีผู้เสนอให้ทุนมากรายด้วยกัน รวมทั้งกล่าวว่าในไม่ช้า นายธีรยุทธ บุญมี ก็จะเดินทางตามนายเสกสรรไปอีกคนหนึ่งด้วย

รายงานข่าวต่อมาในกรณีนี้ แจ้งว่านายเสกสรร นายธีรยุทธ และนายประสิทธิ์ กำหนดจะเดินทางกลับเมืองไทยในวันที่ 23 ก.พ.นี้  ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์โดยสายการบินอลิตาเลียในเที่ยวบินที่ AZ 334 รายงานข่าวกล่าวว่านายปรีดีจะตัดสินใจกลับมาเมืองไทยหรือไม่นั้น ก็จะทราบกันแน่นอนในวันที่ 23 ก.พ.นี้แหละ และถ้ากลับก็จะมาพร้อมกับกลุ่มบุคคลทั้ง 3 นี้.

 


หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์  ฉบับประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518

ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและขอให้รัฐบาลจอมพล ถนอมลาออก เสกสรรค์รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมฝูงชน ส่วน ธีรยุทธ บุญมี นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้วถูกตำรวจสันติบาลจับกุม จนนำไปสู่การเดินขบวนของนิสิตนักศึกษาและประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ขณะที่ ประสิทธิ์ ไชยโย เป็นประธานสมาคมลูกจ้างอุตสาหกรรมผ้าสมุทรสาคร และเป็นผู้นำของกรรมกรอ้อมน้อยในการชุมนุม 7 วัน 7 คืนเพื่อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 20 บาท

ในช่วงปี พ.ศ. 2517 เสกสรรค์ และ ประสิทธิ์ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ ส่วน ธีรยุทธ ก็ยังคงเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้ขับเคลื่อนสังคมในด้านต่างๆ

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ มักจะเขียนชื่อ เสกสรรค์ ผิดเป็น “เสกสรร”

ความที่มีการนำเสนอข่าวกันมากว่า นายปรีดี จะเดินทางกลับเมืองไทย สำนักข่าวเอพี (Associated Press, AP) จึงขอสัมภาษณ์นายปรีดีทางโทรศัพท์  ซึ่งเขาปฏิเสธว่ามิได้จะเดินทางกลับในวันอาทิตย์ที่จะถึงตามข่าว พร้อมทั้งแสดงความแปลกใจว่ามีการกล่าวอ้างเรื่องเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะเขา “ไม่เคยตัดสินใจว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยในขณะนี้”

ส่วนที่มีข่าวว่า เสกสรรค์ ธีรยุทธ และประสิทธิ์ เรียกร้องให้นายปรีดีเดินทางกลับบ้านเกิดมาพร้อมกันนั้น นายปรีดีแจ้งว่า “ผมยังไม่เคยพบกับบุคคลเหล่านี้เลย”

แต่รัฐบุรุษอาวุโสก็เผยถึงความตั้งใจของตนว่า

“ความปรารถนายิ่งใหญ่ของผมก็คืออยากตายในแผ่นดินที่ถือกำเนิด แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา ที่เพื่อนฝูงจำนวนมากขอร้องให้เดินทางกลับ แต่ขณะนี้ต้องรอดูสักพัก”

กรณีที่พอกลับประเทศไทยแล้วจะเข้ามาทำงานการเมืองอีกหรือไม่นั้น นายปรีดี ปรารภว่า

“เดี๋ยวนี้แก่และกำลังน้อยเต็มที่สำหรับการเมืองแล้ว อีก 2 เดือนก็จะมีอายุครบ 75 จึงไม่ต้องมีปัญหาข้องใจเลยว่า ผมจะเป็นผู้ตั้งรัฐบาลใหม่ ทั้งยังไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาอีกด้วย”

 

ด้านของภริยาคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข จะพำนักอยู่ในไทยเพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางกลับกรุงปารีส

 


หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518

 

ครั้นผู้สื่อข่าวทางเมืองไทยรับทราบการให้สัมภาษณ์ของนายปรีดีต่อสำนักข่าวเอพี ก็เร่งนำรายละเอียดมาเสนอสู่สายตาผู้อ่านทันที ดังหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 รายงานโดยพาดหัว “ปรีดีปฏิเสธข่าวกลับบ้าน ไม่ตัดสินใจตอนนี้เลย.”

“นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ปารีสเมื่อวานนี้ ปฏิเสธรายงานข่าวจากกรงเทพฯ ที่ว่าจะเดินทางกลับเมืองไทยในวันอาทิตย์หน้า ว่าไม่เป็นความจริงเลย อดีตรัฐบุรุษอาวุโสกล่าวว่า “ผมประหลาดใจต่อรายงานข่าวที่พูดถึงผม ผมยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับบ้านเลย””

 

ไทยรัฐ ฉบับเดียวกัน ยังให้ข้อมูลอีกว่า

“อดีตนายกรัฐมนตรีเปิดเผยต่อไปว่า จุดหมายขั้นสุดท้ายคือต้องการกลับมาจบชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอน แต่ว่าเวลานี้ยังไม่เหมาะสมที่จะเดินทางกลับ "เพื่อนของผมหลายคนได้ขอร้องให้กลับ แต่ขณะนี้ผมต้องรอดูไปก่อน"

เมื่อนักข่าว เอพี. ถามว่า พร้อมที่จะกลับสู่เวทีการเมืองอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ เมื่อเดินทางกลับเมืองไทย นายปรีดีตอบว่า "ผมแก่และเหนื่อยเกินไปสำหรับการเมือง อีกสองเดือนก็จะอายุ 75 ปีแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่ผมจะไปตั้งรัฐบาล ผมแก่เกินไป และนอกจากนั้น ผมก็ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนด้วย ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะกลับไปเป็นรัฐบาลได้"

นายปรีดีเปิดเผยด้วยว่า การที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เดินทางกลับมาเยี่ยมประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้เป็นการมาเยือนชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็จะกลับปารีส”

         

กระแสข่าวที่ นายปรีดี จะกลับเมืองไทยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ยังส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์อย่าง พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร ต้องออกมาให้ความเห็น ซึ่งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ รายงานเรื่องนี้พร้อมกับพาดหัวว่า “อรรถสิทธิ์วิจารณ์ข่าวปรีดีกลับไทย.”

“พลตำรวจตรีอรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณี นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยมีอดีตผู้นำนักศึกษา ๓ คนไปรับกลับมานั้น ว่าไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง ว่านายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับในระยะนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ได้ทราบข่าวว่านายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับประเทศไทย จากหนังสือพิมพ์เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้และได้สอบถามไปยังกรมตำรวจ ซึ่งพลตำรวจโทพจน์ เภกะนันท์ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจได้มารายงานให้ทราบถึงเรื่องที่อดีตผู้นำนักศึกษา ๓ คน ที่เดินทางออกไปนอกประเทศว่าอดีตผู้นำนักศึกษาเดินทางออกไปเพื่อดูงานและการศึกษา ดังนั้น เมื่อฟังรายงานของผู้รักษาการอธิบดีกรมตำรวจแล้วคิดว่า การที่นายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับมาประเทศไทยคงจะไม่เป็นความจริง

ต่อข้อถามของผู้สื่อข่าวว่า ถ้านายปรีดี พนมยงค์ จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในขณะที่มีสถานการณ์อยู่ขณะนี้จะเป็นการสมควรหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า สำหรับในด้านคดีอาญาที่นายปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวหา คือคดีลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ซึ่งขณะนี้หมดอายุความแล้ว แต่นายปรีดี พนมยงค์ จะมีคดีอะไรอีกนั้นยังไม่ทราบ ส่วนปัญหาที่ว่า นายปรีดี พนมยงค์สมควรจะกลับมาประเทศไทยในระยะนี้ หรือไม่นั้นก็ไม่ควรจะพูดถึง ซึ่งจะทำให้เกิดมีเรื่องราวกันขึ้นมาอีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในที่สุด”

 

หากคนไทยก็ยังเฝ้าจับตามองกันอย่างใจจดใจจ่อว่า ในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ นายปรีดีจะกลับมาเมืองไทยโดยสายการบินอาลิตาเลีย (Alitalia) ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของอิตาลี เที่ยวบินที่ AZ 334 จากปารีสด้วยหรือเปล่า แต่แล้วก็ปรากฏว่ามีนายเสกสรรค์กลับมาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

 


หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518

 

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ขึ้นพาดหัว “จีรนันท์ไปรับด้วย ไม่พบธีรยุทธ, ประสิทธิ์” และรายงานว่า

“สนามบินดอนเมือง คึกคักตื่นข่าว “ปรีดีกลับไทย” นักข่าว ช่างภาพ นสพ. และสานุคิษย์ไปรอรับคับคั่ง รัฐบุรุษอาวุโสตัดสินใจยังไม่กำหนดกลับมาตุภูมิ คงมีแต่ “เสกสรร ประเสริฐกุล” บินเดี่ยวกลับจากยุโรป เผยไม่ได้พบปรีดี  เหตุที่รีบกลับเพราะได้ข่าว “ทรราชประภาสจะคืนเมือง” ท่านผู้หญิงพูนศุขชี้แจง “ปรีดี” ยังไม่พร้อมที่จะกลับขณะนี้ บ้านช่องในกรุงเทพฯก็ไม่มี งานค้นคว้าทางวิชาการก็ยังค้าง สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย ย้ำถ้ารักจะทำงานเพื่อชาติอยู่ที่ไหนก็เช่นเดียวกัน

ตามที่เดลินิวส์เสนอไปเมื่อ 2 วันก่อนว่า ผู้นำนักศึกษาและผู้นำกรรมกร ธีรยุทธ บุญมี เสกสรร ประเสริฐกุล และประสิทธิ์ ไชยโย บินด่วนไปรับรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์กลับประเทศไทย ส่วนปัญหาที่ว่า "ปรีดี" จะกลับเมืองไทยพร้อมผู้นำนักศึกษาหรือไม่จะรู้แน่ชัดในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ. นั้น

ปรากฏว่าเมื่อเช้าวานนี้ (ที่ 23) บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง นิสิตนักศึกษาและประชาชนตลอดจนช่างภาพ และนักข่าว นสพ. หลายคนพากันไปรอรับเมื่อสายการบินอาลิตาเลีย เที่ยวบินที่ AZ 334 จากปารีสร่อนลง เมื่อเวลา 11.35 น. ปรากฏว่าเครื่องบินเที่ยวนี้  ไม่มีผู้โดยสารชื่อปรีดี พนมยงค์ หรือชื่อย่อใน นาม ป. พนมยงค์ แต่ประการใด

อย่างไรก็ตามโดย "อาลิตาเลีย" เที่ยวนี้  "เสกสรรค์ ประเสริฐกล" ผู้นำนักศึกษาแห่งขบวนการ 14 ตุลาคม ได้เดินทางกลับมาโดยมีเพื่อนสนิทไปคอยรับมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะ "จีรนันท์ พิตรปรีชา" เพื่อนหญิงหนึ่งในผู้นำนิสิตนักศึกษาได้ไปรับด้วย เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ “เสกสรร"  เปิดเผยว่าเขาได้รับเชิญจากองค์การนักศึกษาของอังกฤษและฝรั่งเศสให้เดินทางไปปาฐกถาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ในการเดินทางไปยุโรปครั้งนี้  "เสกสรร" เปิดเผยว่าเขาให้ไปปารีสด้วย แต่ไม่ได้พบกับรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์แต่อย่างใด ในความรู้สึกส่วนตัวนั้น "เสกสรร" ยกย่องว่า "ปรีดี" รัฐบุรุษคนสำคัญยิ่งของไทยเคยทำงานรับใช้ชาติที่สำคัญๆ มาแล้วหลายครั้งหลายหน ทั้งเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 รวมตลอดถึงการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติเสรีไทยเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การที่เขาไปปารีสแต่ไม่ได้พบกับปรีดีก็เพราะเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่ประการใด และการเดินทางไปยุโรปครั้งนี้ เขาก็ไม่ได้ไปพร้อมกับธีรยุทธ บุญมี หรือประสิทธิ์ ไชยโย

สำหรับเหตุผลที่ต้องรีบกลับเมืองไทยทั้งๆ ที่มีหมายกำหนดการจะเดินทางต่อไปสหรัฐนั้น "เสกสรร" เปิดเผยเพราะมีพรรคพวกแจ้งข่าวด่วนไปว่า "ประภาส จารุเสถียร" จะเดินทางกลับจากไทเปเข้ามาเมืองไทยอีก พอทราบข่าวนี้เข้าจึงตัดสินใจเดินทางกลับเป็นการด่วน

สำหรับทางด้านท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ศรีภริยาของรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งขณะนี้เดินทางกลับมาพำนักรักษาตัวอยู่ที่บ้านน้องสาวในตรอกพิกุล สาธรใต้ กรุงเทพฯ ได้ชี้แจงแก่ "เดลินิวส์" ว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ยังไม่ได้ตัดสินใจที่กลับเมืองไทยในขณะนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งปัญหาบัานที่จะพำนักอาศัยก็ไม่มี สถานการณ์ทางการเมืองก็ไม่เอื้ออำนวย และอีกประการหนึ่งในช่วงเวลานี้ท่านปรีดีกำลังรีบเร่งค้นคว้าเขียนตำราทางวิชาการทางด้านกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเชื่อว่าหากคงอยู่ในปารีสก็ย่อมสะดวกในการค้นคว้าหาตำราอัางอิง และอีกประการหนึ่ง

"ท่านก็ได้ปรารภอยู่เสมอๆ ว่า ถ้ารักจะทำงานเพื่อชาติอย่างแท้จริงแล้วจะอยู่ที่ไหนแผ่นดินไหนก็เช่นเดียวกัน" ท่านผู้หญิงกล่าวคำก่อนจะปรารภความในใจว่า เจตนาที่จะมาใช้บั้นปลายของชีวิตในเมืองไทยนั้น เป็นความต้องการอย่างแท้จริงของท่านปรีดี แต่ขณะนี้ก็ได้รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมอยู่”

 

สังเกตได้อีกว่า หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ยังเขียนชื่อ จิระนันท์ พิตรปรีชา ผิดเป็น “จีรนันท์”

ผ่านไปราวสี่เดือนภายหลังจากมีข่าวคราวเรื่อง นายปรีดี จะเดินทางกลับจากปารีสมายังเมืองไทย จวบจนกระทั่งเช้าวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 41 ปี โดยจัดงานกิจกรรมเฉลิมฉลองกันที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย นั่นคือการทำบุญตักบาตรร่วมกันทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า คณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษา นายประกอบ หุตะสิงห์ นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กล่าวเปิดงาน ต่อจากนั้น พระปัญญานันทภิกขุได้แสดงพระธรรมเทศนา และผู้แทนสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์กล่าวคำปราศรัย ก่อนจะมีการแจกทุนการศึกษา และการมอบโล่เกียรติยศให้แก่ผู้ทำประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย

จวบจนเวลา 11.00 น. ได้มีการเปิดเทปคำปราศรัยถึงชาวธรรมศาสตร์ของ นายปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งอัดเสียงไว้แล้วส่งมาจากกรุงปารีส ดังเนื้อความที่ว่า

“สวัสดีชาวธรรมศาสตร์และท่านสาธุชนทั้งหลาย ผมได้รับโทรเลขของนายก อมธ. ขอให้ผมปราศรัยในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 41 จึงขอสนองศรัทธาท่านทั้งหลายด้วยข้อความโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

ผมยินดีที่ชาวธรรมศาสตร์ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาแล้วเป็นจำนวนมาก ได้รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทยซึ่งเป็นที่รักของเราให้เจริญก้าวหน้าหลายประการ และยินดีที่นักศึกษาซึ่งกำลังเล่าเรียนได้แสวงหาวิชาความรู้ที่เป็นสัจจะ สมานกับการปฏิบัติซึ่งกำลังบำเพ็ญอยู่และจะบำเพ็ญต่อไป เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วก็รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นต่อไปด้วย ผมปรารถนาให้ท่านทั้งหลายมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเสนอให้ท่านทั้งหลายรับวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งไว้ประกอบการพิจารณาว่า ในการศึกษาทางทฤษฎีก็ดีในทางปฏิบัติก็ดีนั้น ทุกคนรวมทั้งตัวผมก็ย่อมมีการผิดพลาดบกพร่องซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน แม้ผู้ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่อาจหลุดพ้นจากการผิดพลาดบกพร่องได้ ซึ่งท่านทั้งหลายย่อมรู้แล้วว่าการงดเว้นกระทำในสิ่งควรกระทำ ก็อาจเป็นผิดตามกฎหมายได้ เช่น คนเห็นเด็กตกน้ำซึ่งคนนั้นสามารถช่วยเด็กได้  แต่ไม่ช่วยก็มีความผิดทางอาญา

ความก้าวหน้าของบุคคลและคณะบุคคลก็อยู่ที่ต้องสำรวจตนเองเป็นเนืองนิจ ประดุจตื่นเช้าก็ต้องล้างหน้าเพื่อชำระล้างฝุ่นละอองให้หมดไปสำหรับวันนั้น แต่ชำระวันเดียวก็ไม่อาจคงตลอดไป เพราะรุ่งขึ้นก็มีฝุ่นละอองอีก ฉะนั้นจึงต้องล้างหน้าทุกๆวัน การสำรวจตนเมื่อพบความผิดพลาดบกพร่องก็ต้องรีบแก้ไข เพื่อมิให้การนั้นสะสมมากขึ้นจนกลายเป็นความเคยชินแล้วก็ยากที่จะแก้ไข ลำพังคนเดียวอาจมองไม่เห็นความผิดพลาดบกพร่องของตน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้เพื่อนช่วยชี้ให้แล้วรับมาประกอบพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้อง พุทธศาสนาก็สอนวิธีสำรวจตนเอง พระภิกษุก็มีวิธีปลงอาบัติ คริสต์ศาสนามีวิธีล้างบาป ศาสนาอิสลามก็มีวิธีทำนองนั้น สังคมปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็กำหนดไว้เป็นหลักเบื้องต้นว่า ความก้าวหน้าจะเป็นไปได้ก็โดยการวิเคราะห์ตนเอง และการรับฟังการวิเคราะห์แล้วต้องแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง  ความก้าวหน้าของบุคคลต่อประเทศชาติและราษฎรจริงจังก็โดยวิธีปลงอาบัติและแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องเริ่มจากน้อยไปสู่มาก เพราะถ้าความผิดพลาดบกพร่องน้อยไม่อาจแก้ไขได้แล้ว การงานที่จะต้องทำสำคัญกว่าและมากกว่านั้นจะแก้ไขได้

โอกาสนี้ผมขอส่งความปรารถนาดีและอวยพรให้ชาวธรรมศาสตร์ และท่านสาธุชนทั้งหลายมีความสุขกายสบายใจพร้อมกับมีความก้าวหน้า  ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติในการรับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทยให้เจริญก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการเทอญ.”

 


หนังสือพิมพ์ เดลิไทม์ ฉบับประจำวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2518

 

การหมั่นสำรวจตรวจสอบตนเองแล้วปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น อันเป็นสิ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ฝากมายังชาวธรรมศาสตร์ในวาระครบรอบ 41 ปีวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ถือเป็นแง่คิดที่น่าใคร่ครวญ ถึงแม้ว่าผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยเยี่ยงเขาจะมิได้เดินทางจากกรุงปารีสกลับมายังเมืองไทยตามที่เป็นกระแสข่าวคราวอย่างหนาหูในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปีนั้นก็ตาม ซึ่งอาจเป็นเพราะ นายปรีดี ก็ได้สำรวจตรวจสอบตนเองว่า หากเขาเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนในช่วงเวลาที่สถานการณ์ของประเทศยังคงวุ่นวายย่อมจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะควร อาจจะก่อชนวนปัญหาในสังคมไทยอีกหลายประการตามมา แม้โดยส่วนลึกของหัวใจแล้ว นายปรีดี จะคิดถึงเมืองไทยอย่างมากล้น สอดคล้องกับวรรคหนึ่งใน J'ai deux amours เพลงภาษาฝรั่งเศสที่เขาโปรดปราน นั่นคือ “J'ai deux amours, Mon pays et Paris” หรือ “สองรักของฉัน บ้านเกิดเมืองนอน และปารีส”

 

บรรณานุกรม :

  • กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554. บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์, 2555.
  • “กำหนดวันกลับ ถ้ามา 23 กพ. นี้แน่!.” เดลินิวส์ (21 กุมภาพันธ์ 2518)
  • “จีรนันท์ไปรับด้วย ไม่พบธีรยุทธ, ประสิทธิ์.” เดลินิวส์ (24 กุมภาพันธ์ 2518)
  • “บ้านเมืองไม่สงบยังไม่กลับ.” เดลินิวส์ (26 มกราคม 2518)
  • “ปรีดีปฏิเสธข่าวกลับบ้าน ไม่ตัดสินใจตอนนี้เลย.” ไทยรัฐ (22 กุมภาพันธ์ 2518)
  • “ปรีดีปราศรัยกับนักศึกษา มธ. ให้สำรวจตนเองแล้วแก้ไข.” ไทยรัฐ (28 มิถุนายน 2518)
  • “ปรีดียืนยันข้ามทวีป ขอตายเมืองไทย รอเวลา ไม่มีใครเชิญ กลับเอง.” เดลิ
    นิวส์ (22 กุมภาพันธ์ 2518)
  • “ปรีดีส่งสารถึงชาวธรรมศาสตร์.” เดลินิวส์ (28 มิถุนายน 2518)
  • “ปรีดีส่งสาสน์วันสถาปนาธรรมศาสตร์.” เดลิไทม์ (28 มิถุนายน 2518)
  • “เผยชีวิต ‘ปรีดี’ ในต่างแดน.” เดลิไทม์ (26 มกราคม 2518)
  • “ให้หมั่นตรวจสอบตัวเอง เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด.” ชาวไทย (27 มิถุนายน 2518)
  • สาส์นจาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบปีที่ 41, 27 มิถุนายน 2518 (ฉบับอัดสำ-
    เนา)
  • “ ‘เสนีย์’ พูดถึง ‘ปรีดี’ กลับ ย่อมมาได้ อายุความหมด.” สยามรัฐ (3 กุมภาพันธ์ 2518)
  • “อรรถสิทธิ์วิจารณ์ข่าวปรีดีกลับไทย.” สยามรัฐ (22 กุมภาพันธ์ 2518)