ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถาม-ตอบ เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต

3
กรกฎาคม
2567
 

 

Focus

  • สรุปบทเรียนสำคัญที่ได้จากการเสวนาเอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต มีดังต่อไปนี้ 1) ภายในคณะราษฎรเองจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันแต่สามารถรวมกันและปฏิบัติการร่วมกันเพื่อเป้าหมายที่มีเหมือนกันได้  ดังนี้ ขบวนการประชาธิปไตยให้ความสำคัญน้อยเกินไปของเอกภาพในมิติที่เป็นเอกภาพระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ 2) คนหนุ่มสาวสามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้ทั้งที่ยังอายุน้อยนับตั้งแต่สมัยการอภิวัฒน์ 2475 3) แนวคิดของวิทยากรในงานเสวนาครั้งนี้ให้ความหมายของประชาธิปไตยสมบูรณ์ และเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตย แตกต่างกันออกไป

 

 

วรรณภา ติระสังขะ

ขออนุญาตเปิดเวทีให้ทุกท่านถามคําถามคะ ขอกําหนดเงื่อนไขนิดนึงได้ไหมคะ อันดับแรกค่ะขออนุญาตถามสั้น ๆ นะคะ แล้วก็แนะนําตัวเองก่อนนะคะแล้วก็ถามเป็นคําถามนะคะ

 

คำถาม

 

 

ผม วรัญชัย โชคชนะ ติดตามการเมืองไทยในสภาฯ แห่งนี้มา 48 ปี เห็นทั้งความสำเร็จและอุปสรรคมากมาย ผมขอชื่นชมงานเสวนาวันนี้ที่มีคุณค่า หากได้รับการประชาสัมพันธ์ที่ดี และรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยให้การสนับสนุน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ฝากไว้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลในอนาคต

ประเด็นที่ผมอยากเรียนถามท่านวิทยากรทุกท่านคือ ทำอย่างไรประชาธิปไตยไทยจึงจะหยั่งรากลึก ไม่วนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง แล้วก็ยึดอำนาจอีก ผมทำทุกวิถีทางแล้ว ทั้งร่วมเดินขบวนกับประชาชน ลงสมัคร ส.ส., ส.ว., ผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ยังไม่เห็นหนทางแก้ไข ท่านจะมีวิธีแก้อย่างไรที่จะตัดวงจรอุบาทว์ได้นะครับ ตั้งแต่ยึดอํานาจ ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง และตั้งรัฐบาล คําถามสุดท้ายครับ ทําอย่างไร จึงจะให้ทางรัฐบาล รัฐสภา และทหารเข้ามามีบทบาทของการสร้างประชาธิปไตย 

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาและสื่อมวลชน ในอดีตเมื่อปี 2516 นักศึกษามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันกลับไม่เห็นบทบาทดังกล่าว ผมอยากเห็นนักศึกษากลับมามีส่วนร่วมทางการเมืองอีกครั้ง เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐ สื่อมวลชนเองก็มีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามสีเสื้อ จนยากจะหาสื่อที่นำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นกลาง สุดท้ายนี้ครับปรากฏว่าหลายคนดีใจที่จะขึ้นค่าแรง 400  บาท หลายคนดีใจที่ขึ้นค่าแรง ปรากฏว่าเกิดข้อกังวลว่านายจ้างจะหาทางเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม จนทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นอีก ขอกราบเรียนก่อนจะจบด้วยว่าฝากด้วยว่าผมไม่ไว้ใจหรอกว่าประเทศไทยมันจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าไม่มั่นใจว่ามัน จะสะดุดเมื่อไหร่จะมีการยึดอํานาจเมื่อไหร่นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียน แล้วทําให้ท่านทั้งหลายขบวนการประชาธิปไตยสู่ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ท่านจะพูดไปดีแค่ไหนไม่มีทาง ผมเป็นห่วงครับแต่ก็ไม่ย่อท้อก็ต้องสู้ต่อไปครับข้อกล่าวขอบคุณสวัสดีครับ

 

วรรณภา ติระสังขะ

เดี๋ยวขออนุญาตเป็นคําถามที่สอง ก็ถามทีเดียวแล้วก็ให้วิทยากรเลือกตอบได้เลยนะคะ เชิญค่ะ

 

คำถาม 

สวัสดีครับ ผมชื่อแชมป์ อาชีพนักแปล ผมมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ด้วยความรักที่พูดถึงไปเมื่อครู่ ผมเข้าใจว่าจริง ๆ ความรักและความอดกลั้นเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แต่ผมสงสัยว่าเราจะมอบความรักและความอดกลั้นให้กับคนที่เกลียดชังและต้องการทำลายเราได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการบางท่านกล่าวว่าไม่ควรมีสมรสเท่าเทียม เพราะจะทำให้ผู้ชายผู้หญิงด้อยค่าลง หรือคนบางกลุ่มที่ต้องการยึดอำนาจประชาธิปไตยแล้วถวายคืนให้กับเผด็จการ เราจะมอบความรักและความอดกลั้นให้กับคนเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาต้องการทำลายเราอยู่ตลอดเวลา คำถามของผมคือ เราจะมีวิธีจัดการกับความเกลียดชังและการทำลายล้างจากคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร โดยยังคงยึดมั่นในหลักการของความรักและความอดกลั้นครับ

 

วรรณภา ติระสังขะ

ได้ค่ะ ขอบคุณมากค่ะสําหรับคําถาม แล้วก็มีคําถามอีกสองคําถามนะคะจากเฟซบุ๊กนะคะก็คือว่า คำถามแรกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มีการสถาปนาองค์กรอิสระขึ้นท่านคิดว่าองค์กรอิสระเหล่านี้มีปัญหาหรือไม่นะคะ ไม่ได้ระบุองค์กรอิสระนะคะหรือศาลใดศาลหนึ่งมา คำถามที่สองค่ะระหว่างเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยกับประชาธิปไตยสมบูรณ์ สิ่งใดง่ายกว่าหรือยากกว่าในสังคมการเมืองไทยปัจจุบันค่ะ อันนี้เป็นคําถามกว้าง ๆ นะคะ แล้วแต่วิทยากรอยากเลือกตอบคําถามไหนหรือว่าสรุปประเด็นได้เลยค่ะ เรียนเชิญค่ะ

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ขออนุญาตตอบเรื่องความรักก่อนนะคะว่ารู้สึกมีคนคาใจเยอะเหลือเกิน กรณีสว. นะคะก็คัดค้านค่ะ แต่หมายความว่าคือบังเอิญว่าดิฉันก็ปฏิบัติเช่นนี้มาตั้งแต่เด็กตั้งแต่ร่วมขบวนการต่อสู้ ดิฉันไม่หมอบราบคาบแก้วให้กับ สว.ท่านที่ขัดขวางเสรีภาพของมนุษย์ไม่ไปประจกประแจงแล้วก็ยืนยันคัดค้านความเห็นนะคะแต่หมายความว่า ดิฉันไม่ได้เกลียด มองข้ามไปเลยคือไม่ได้เกลียดนะคะ คือไม่ได้เกลียดแล้วก็ไม่ต้องไปคอยจิกหัวด่าว่าเป็นสัตว์นรกเป็นอะไรแบบนี้อ่ะค่ะ คือหมายถึงแบบดิฉันทําแบบนี้ดิฉันเชื่อว่าการที่ต่อสู้คือการทําสิ่งที่เราเชื่อ การต่อสู้คือเดินหน้าทําสิ่งที่เราเชื่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องไปจิกหัวด่าคนอื่นที่เขาอาจจะคิดต่างจากเราอันนี้คือคําตอบนะคะ

ส่วนเรื่องรัฐประหารดิฉันก็จนปัญญาเหมือนท่านหลายคนนั่นแหละ มันมีทางเดียวเท่าที่คิดออกในแง่ของประชาชนด้วยกัน ก็คือเราต้องเผยแพร่ความคิด หรือสร้างความคิดให้แน่นแฟ้นว่าเราจะไม่สนับสนุนอํานาจนอกระบบ เราไม่เรียกร้องให้มีอํานาจนอกระบบมาโค่นล้มมาทําลายรัฐบาลจากการเลือกตั้งแม้ว่ารัฐบาลนั้นเราจะไม่ชอบ ถ้ารัฐบาลทําอะไรที่ผิดพลาดฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและเสียงประชาชนที่มีเหตุผลก็คงจะช่วยกัน จัดการดูแลตามที่เหมาะสม แต่มันต้องหมายความว่าเป็นเหมาะสมเป็นชุดข้อมูลความรู้ไม่ใช่ความเชื่อ


วรรณภา ติระสังขะ

ขอบคุณค่ะหวังว่าจะตอบคําถามขอบคุณมากค่ะ คุณนิธินันท์ค่ะขอบคุณมากค่ะท่านอื่นขอเชิญอาจารย์แล

 

แล ดิลกวิทยรัตน์

พูดถึงเรื่องแรงงาน คือทุก ๆ งานสัมมนาผมจะเจอหน้าคุณวรัญชัยบอก 40 กว่าปีใช่ไหม เผอิญผมเป็นผู้ดําเนินการอภิปรายพวกนี้มา 50 กว่าปี คําถามที่คุณวรัญชัยถาม ประเด็นที่อยากตอบจริง ๆ ได้ยินข้ออ้างที่ว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้ธุรกิจปิดตัวลงหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นบ่อยครั้ง ผมอยากจะบอกว่าข้ออ้างเหล่านี้เป็นเพียงข้ออ้างของคนที่ไม่ต้องการให้ลูกจ้างมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่าลืมว่าประเทศไทยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วยการกดค่าแรงมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ด้วยการกดค่าแรงด้วยการไม่มีกฎหมายแรงงานด้วยการไม่ให้สิทธิ์ลูกจ้างเจรจาต่อรองมาตลอด แล้วเราก็คิดว่านโยบายอย่างนั้นเป็นนโยบายที่ถูกต้องเมื่อใดที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ําปั๊บโรงงานมันจะย้ายนะ ผมก็เลยบอกว่าโรงงานเค้าเน้นเรื่องกําไรขาดทุนแต่ทุนไม่ได้อยู่ที่ค่าจ้างอย่างเดียว คุณไม่ได้จ้างคนไปขุดหลุมฝังอะไรนี่นะ ค่าแรงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนพิจารณา ยังมีต้นทุนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษี ค่าวัตถุดิบ

ซึ่งค่าแรงเป็นเพียงส่วนเล็กๆเท่านั้น ในอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ อย่างเช่นอุตสาหกรรมน้ำมันค่าแรงมันไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เพราะฉะนั้นการที่คุณขึ้นค่าแรงไปร้อยเปอร์เซ็นต์มันก็ทําให้ค่าแรงไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดมันเป็นเหตุอะไรที่คุณจะต้องย้ายทําไมคุณไม่ถามเวลาขึ้นค่าไฟ มันแพงกว่าค่าแรงที่ขึ้นใช่หรือไม่ คุณโวยอะไรรึเปล่า เวลาขึ้นอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมดแต่ว่าคุณไม่เคยต่อรองไม่โวยวาย แต่พอค่าจ้างลูกจ้างจะขึ้นพอแค่ต่อลมหายใจเนี่ยหลายคนโวยบ้านเมืองมันจะแจ้งว่าเหตุนี้ ผมว่าเราตกหลุมพรางมานานแล้ววันนี้ก็ยังไม่ยอมขึ้นจากหลุมนะ

 

อธึกกิต แสวงสุข

ขอตอบเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2540 นะครับ ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการสร้างองค์กรอิสระขึ้นมา โดยคาดหวังว่าจะมีคนดี คนเก่ง คนซื่อสัตย์มาทำหน้าที่ตัดสินแทนประชาชน และก็สามารถที่จะตัดสินสิ่งที่อํานาจที่ประชาชนเลือกนักการเมืองเข้ามาใช่ไหมครับ อันนั้นคือปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ว่าจะเป็นตัวปปช., กกต. และก็ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสืบต่อเนื่องมาตลอดจนกระทั่งเขียนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ด้วยกัน แล้วก็ต่อเติมเข้าไปต่อเติม แต่ว่าเราต้องบอกว่ารากฐานความคิดมันผิดแต่แรกนะครับ ที่คิดว่าจะมีคือประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องของมนุษย์ธรรมดา แล้วมนุษย์ธรรมดาเราพูดได้ว่าหลักการได้ว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนเรามีรักโลภโกรธหลง เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถที่จะไปหาใครมาเป็นองค์กรอิสระหรือว่าเป็นตุลาการหรืออะไรต่าง ๆ ที่มันตัดสินได้ทุกอย่างซึ่งตอนหลังเราจะเห็นว่ามันงอกเงย ให้ตุลาการตัดสินจริยธรรมซึ่งอันนี้คือเป็นเรื่องที่เพี้ยนมาก ๆ ประชาธิปไตยประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือ การเลือกตั้ง และหลักนิติรัฐ แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สร้างปัญหาโดยการข้ามเส้นของทั้งสองหลักการนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามสร้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบขององค์กรอิสระ เพื่อควบคุมนักการเมือง แต่กลับกลายเป็นการควบคุมการตื่นตัวทางประชาธิปไตยของประชาชนด้วย แนวคิดที่ว่าองค์กรอิสระคือผู้วิเศษ หรือเปาบุ้นจิ้นนั้นไม่มีอยู่จริง นี่คือปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตยของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวถึงเรื่องที่ความรักก็คืออยากให้ทุกคนมีความคล้าย ๆ ว่าเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยหวังที่จะเปลี่ยนโลกด้วยความรักใช่ไหม เพียงแต่ผมจะพูดอีกอย่างว่ามันก็จะแบบว่าการที่คนถูกกดมันก็มีความโกรธใช่มั้ย แต่ว่าอุดมคติของเรา เราก็ควรจะมีความรักแต่ว่านะแต่ว่าด้วยความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยความรักที่มีต่อโลกต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปแล้วก็ตามแต่เพียงแต่ว่ามันปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกมุมหนึ่ง เวลาที่เราถูกตอบโต้ถูกกดถูกอะไรต่าง ๆ ก็จะมีความโกรธแล้วโลกปัจจุบันนั้นแสดงออกได้เร็วใช่ไหม มมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้นอย่างที่คุณสะอาดว่ามันก็ทําให้แบบมันก็ตอบโต้กันรวดเร็วแล้วก็แต่ผมก็คิดว่ามันก็ยังไม่ได้ท็อกซิกมากนะ ก็มีด้านหนึ่งที่มันท็อกซิกแต่มันก็มีด้านที่แบบว่ามันก็สร้างสรรค์มันมันถูกกว่าถกเถียงเรื่องความคิดความรู้อะไรพอสมควร ผมยังประหลาดใจเลยว่าในช่วงประมาณสองเดือนสามเดือนที่ผ่านมาผมเห็นการถกเถียงทางการเมืองน้อยลงน้อยลง แต่เห็นคนไปวิจารณ์เรื่องอย่างที่บอกวิจารณ์เรื่องศาสนาวิจารณ์ เรื่องการศึกษา เรื่องระบบการศึกษาที่มันสอนคนแบบไม่ให้คิดเยอะมากเลยอันนี้คือสิ่งที่เราได้เห็นครับ

 

ศิธา ทิวารี

ผมขอพูดถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ครับ ความเป็นประชาธิปไตยหรือความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญนั้น ขึ้นอยู่กับที่มาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากมาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กฎเกณฑ์ที่ร่างขึ้นก็อาจจะถูกต้องในสมัยหนึ่ง และอาจจะผิดพลาดในอีกสมัยหนึ่งได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีกฎหมายใดที่สมบูรณ์แบบตลอดกาล ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าหลักการที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นค่อนข้างถูกต้องแล้ว แต่ในส่วนของการคัดเลือกองค์กรอิสระนั้น ต้องยอมรับว่าคนไทยมักจะพยายามหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่เสมอ เรื่ององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. เราได้ยินเรื่องการทุจริตมาโดยตลอด อย่างกรณีบ้านป่าที่บิ๊กตำรวจพูดถึง การติดสินบนเพื่อให้ได้ตำแหน่งต่าง ๆ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงในรัฐธรรมนูญปัจจุบันคือการเลือกตั้ง ส.ว. คนกลาง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถและตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ ต่างถอดใจ

เพราะเมื่อเข้าไปแล้ว กลับกลายเป็นว่าต้องเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองเพื่อความอยู่รอด คนที่อยู่วงในจะรู้ดีว่า คนที่เป็นกลางและซื่อสัตย์มักจะถูกกีดกันตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก หากไม่สามารถตัดออกได้ตั้งแต่แรก ก็จะถูกกีดกันในรอบต่อ ๆ ไป จนถึงรอบสุดท้าย ก็จะมีการซื้อเสียงและการใช้อิทธิพลต่าง ๆ ระบบแบบนี้ทำให้คนที่ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติหมดกำลังใจ และทำให้การเมืองไทยยังคงเต็มไปด้วยปัญหาเดิม ๆ ครับว่าพอเข้าไปมันเป็นการจับกลุ่มกันแล้วก็เป็นการแบบล่อเหมือนกับแบบล่อเป้าให้นักการเมืองโดดเข้าไปร่วมวง แล้วตอนนี้คนที่อยู่วงในจะรู้เลยก็พูดคําเดียวกันหมดว่าคนที่เป็นกลาง ๆ และเป็นน้ําสะอาดที่จะเข้าไปทําแล้วกลายเป็นว่าต้องเอาตัวรอดด้วยการเข้าไปเป็นเครือข่ายของนักการเมืองถึงจะได้

กระบวนการเลือกตั้ง ส.ว. มีการจับกลุ่มกันตั้งแต่แรก เริ่มจากการสกรีนผู้สมัครที่มีแนวโน้มจะเป็นคู่แข่งตั้งแต่รอบแรก หากยังไม่สามารถตัดออกได้ ก็จะคัดออกในรอบต่อ ๆ ไปจนถึงรอบสุดท้าย ซึ่งจะมีการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลต่าง ๆ เพราะนักการเมืองคำนวณแล้วว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อเสียงนั้นถูกกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับมาก ลองจินตนาการดูว่า หากพรรคการเมืองที่มี ส.ว. สนับสนุนมากที่สุดในสภาฯ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นธนกิจการเมือง สามารถตั้ง ส.ว. เข้าไปได้จำนวนมาก จะเกิดอะไรขึ้น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบุคลากรต่าง ๆ ต้องไปเลือกผ่านกระบวนการของสว. ถ้าอย่างนี้กลายเป็นว่าประเทศเราก็จะถูกกินรวบหมดแล้วอย่างที่ผมบอกว่าคนที่มีอํานาจมากที่สุดทางการเมืองคนที่มีอํานาจมากที่สุดทางเศรษฐกิจหรือทางการค้าหรือเป็นนายทุนผูกขาดคนที่เป็นนักกฎหมายที่สามารถจะเขียนมารองรับได้เพื่อให้สมประโยชน์กัน มันกลายเป็นว่าไปอยู่ข้างเดียวกันหมดแล้วระบบตรวจสอบถ่วงดุลในอนาคตจะอ่อนแอมากและเขาตั้งคนเป็นสว. เพื่อไปคัดกรององค์กรอิสระแล้วก็เอามานั่งองค์กรอิสระที่ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือสองอย่างคือ

หนึ่ง ปกป้องพวกพ้องที่แต่งตั้งเข้ามา และ สอง กำจัดฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการปฏิรูประบบ ปัญหาหลักของการเมืองที่ทำให้เสียงของประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองคือเรื่องสถาบันฯ หรือ ม.112 ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยในปี 2543-2544 ที่ถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้าจนถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ข้อกล่าวหาไม่ต่างกัน คือ ล้มเจ้า ชังชาติ มีแม้กระทั่งผังล้มเจ้า ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการใส่ร้ายคนบางกลุ่มว่าล้มเจ้า ชังชาติ ปัจจุบันมีคนอีกกลุ่มที่แหลมคมกว่าเดิม จึงต้องจับแยกคนสองกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้รวมกัน กราฟประชาธิปไตยจะตกต่ำถึงขีดสุดถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้  อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันจริง ๆ คําถามของพี่วรัญชัยก็คือจะแก้ไขยังไงก็เป็นโจทก์ที่ยากมากแล้วมันก็ต้องแก้ทั้งระบบ และอยู่ที่พี่น้องประชาชนที่จะออกไปเลือกตั้งแล้วก็เลือกพรรคการเมืองแบบที่เราไม่ใช่กองเชียร์ที่เห็นเขาเป็นเทพเจ้า แต่เลือกเข้าไปเพื่อให้เขาไปนับหนึ่งทําประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนแต่ผมยังมีความรู้สึกในในมุมดีมันแบบเป็นโลกสวยงามนะว่ากลิ่นความเจริญมันจะกลับมาอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้าครับขอบคุณครับ

 

คำถาม

ผมชื่อกฤต ไกรจิตติครับ เป็นอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและขอพูดในนามของลูกหลานเหลนบรรพตุลาการ ซึ่งมีบทบาทสําคัญในการที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกเลยนะครับ ก่อนอื่นก็ขอกล่าวรําลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นผู้ที่วางรากฐานระบอบการปกครองและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมย้ําตรงนี้นะครับผมเป็นเหลนของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นหลานปู่ของพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์เป็นหลานปู่ของดร.ประกอบ หุตะสิงห์แล้วก็เป็นลูกของอาจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ ซึ่งทุกคนคงจะรู้จักดีนะครับ ผมอยากจะขอย้อนประวัติศาสตร์ประวัติพูดกันถึงประวัติศาสตร์ของ 24 มิถุนานะครับก็แน่นอนที่สุดครับ 92 ปีใช่ไหมครับเรื่อง 24 มิถุนานะครับ ความเห็นก็มีหลากหลาย ผู้ที่มีบทบาทสําคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่พระยาพหลพลพยุหเสนา, อาจารย์ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป.พิบูลสงคราม สําคัญที่สุดสําหรับผมอํานาจตุลาการ ศาลยุติธรรมตอนนี้หายไปไหน วันนี้เรามีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งตัดสินยุบพรรคมาตั้งแต่ตั้งมา เพราะฉะนั้นผมจะพูดตรงนี้นะครับว่ารัฐธรรมนูญที่เราเห็นว่าท่านอาจารย์ปรีดีแล้วก็รัฐธรรมนูญฉบับแรก 10 ธันวาคมซึ่งเป็นพื้นฐานกฎหมายที่เราใช้ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

 

เมื่อสักครู่มีผู้ที่ถามว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีองค์กรอิสระมีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาทําลายระบบการแบ่งแยกอํานาจตามอํานาจอย่างไร ผมจะขอพูดตรงนี้นะครับว่าในรัฐธรรมนูญอํานาจอธิปไตยสามอํานาจคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการจะต้องเท่าเทียมกันตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ปปช.องค์กรอิสระขึ้นมาซึ่งแต่งตั้งโดยความยินยอมของวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญผูกพันทั้งสามอํานาจแต่ทําไมไปแต่งตั้ง โดยทําให้ความยินยอมของวุฒิสภาซึ่งฝ่ายเป็นฝ่ายนิติบัญญัตินะครับ เพราะฉะนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผิดเพี้ยนไปมันเริ่มตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งพัฒนามาจนรัฐธรรมนูญปี 2560

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับตอนนี้ที่ทุกคนก็กําลังรอคอยลุ้นด้วยความระทึกใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ที่ผ่านมาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย กกต.นะครับยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าพรรคไทยรักไทยทําผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองใช่ไหมครับ พ.ร.บ. พรรคการเมืองแน่นอนที่สุดครับ ว่ามีคําว่าล้มล้างการปกครองแต่ข้อหาก็คือว่าไปจ้างให้คนไปลงสมัครพรรคเล็กนะครับสําหรับที่จะให้ qualify ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งจะต้องมีพรรคการเมืองลงหลาย ๆ พรรคแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยนะครับตามข้อหาที่ทาง กกต. กล่าวหาแล้วก็ปรากฏว่าปีหนึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดํารงตําแหน่งการเมืองก็พิพากษาว่าพลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าจ้างคนลงสมัครพรรคเล็กใช่ไหมครับ เมื่อไม่ถึงแล้วทําไงครับ คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสิทธิ์ยุบพรรคไปแล้ว ก็ควรจะต้องถูกเพิกถอนถูกไหมครับ ผมกําลังพูดถึงว่าอํานาจของศาลยุติธรรมมาจนถึงล่าสุดที่มีการตัดสินคุณธนาธร ข้อหาถือหุ้นสื่อแล้วก็ผิดกฎหมายเลือกตั้ง กกต. มีหน้าที่ในการที่จะจัดเลือกตั้งและก็ตรวจสอบว่ามีใครทุจริตเลือกตั้งหรือไม่แล้วก็ต้องยื่นคําร้องให้ศาลยุติธรรมหรือศาลคดีเลือกตั้งไต่สวนไม่ใช่ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอํานาจสรุปตรงนี้ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่พวกเราหวังว่าจะมีการแก้ไขหรือยกเลิกร่างใหม่ทั้งฉบับก็ขอให้ท่านกลับไปให้เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งสามอํานาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนะครับเท่าเทียมกันตรวจสอบถ่วงดุลแล้วก็ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ, กกต., ปปช.นะครับซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อํานาจศาลอํานาจเลยนะครับ โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการของศาลยุติธรรมเลยครับ

 

คำถาม

 

ผมชื่อฉัตริน ภาคีฑูตนะครับ เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คําถามแรกของผมก็คือผมได้ยินเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาครับที่ว่าบทบาทของนักศึกษาในทางการเมืองในทุกวันนี้ อาจจะมีลดน้อยลงในสายตาของบางคนบ้าง ผมในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งที่เอาจริง ๆ อุดมการณ์ก็ไม่ค่อยแน่วแน่เท่าไหร่เพราะยังหาตัวเองไม่เจอ แต่มีคําถามว่าระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่บางทีเราเห็นว่ามันไม่ถูกต้องมันไม่ใช่แต่เราอยากพูดถึงแต่เราก็รู้ถึงความเสี่ยงเวลาเราพูดถึงออกมาร่วมกับความเป็นห่วงในชีวิตของตัวเองกับครอบครัวครับ ในสถานการณ์บทบาทแบบนี้เราควรที่จะดําเนินต่อไปยังไงเราควรที่จะสู้ต่อแบบพูดตรง ๆ เลยไหมหรือเราจะมีทําอะไรได้บ้าง อีกคําถามคือเรื่องวิกฤตศรัทธาในนักการเมืองครับ พูดในมุมมองหนึ่ง คือว่าบางคนอาจจะไม่ศรัทธาและอาจจะมีประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจเกิดจากอิทธิพลในพื้นที่นั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญไม่ว่าจะเป็นในระดับสภาฯ หรือระดับท้องถิ่น การพูดถึงเรื่องนี้บ่อยครั้งจะมองในมุมมองที่ใหญ่โตเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ในท้องถิ่นบางครั้งมีปัญหาเช่นเดียวกัน เช่น บุคคลที่มีอิทธิพลในพื้นที่บางครั้งมักจะเป็นผู้ชนะ และเรามักจะมีความขัดแย้งหรือการต่อต้านที่ยากที่จะเอาชนะเขาได้ มันก็เลยอาจจะเป็นปัญหาหรือไม่ว่ามันเกิดวิกฤตศรัทธาต่อนักการเมืองไปแล้ว

 

วรรณภา ติระสังขะ

ขอบคุณมากค่ะซึ่งก็ทั้งสองคําถามตัวแทนนักศึกษาก็เขาก็ทํางานเคลื่อนไหวเหมือนกันแต่ว่าต้นทุนวิถีชีวิตปากท้องอาจจะพูดถึงรวม ๆ หลาย ๆ คนมันอาจจะมีต้นทุนที่แตกต่างกันนะคะ

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

คือจริง ๆ ไม่ค่อยกล้าพูดเลยนะคะเพราะรู้ตัวว่าโดนแปะป้ายไปแล้วว่าเป็นคนแย่มากชั่วร้ายเนอะอาจจะไม่มีสิทธิ์พูด แต่ว่าอยากจะให้กําลังใจค่ะ คืออย่างนี้ อยากจะบอกจากประสบการณ์ตัวเอง อยากจะบอกจากประสบการณ์ตัวเองว่าเท่าที่รู้จักเพื่อนสนิทที่ยังทํางานการเมืองอยู่ ทั้งหมดนั่นก็คือความศรัทธาในสิ่งที่ทํา ความเชื่อมั่นสติปัญญา ความมุ่งมั่นอดทนมีคือถ้าเรามุ่งมั่นอดทนมันก็จะผ่านไป เหมือนกับกรณีที่ดิฉันทํางานเหมือนกันการทํางานเข้าไปใหม่ ๆ เราก็จะเจออะไรที่มันไม่ไม่เอื้อต่อเราเลย มีแต่คนนั้นก็ใหญ่คนนี้ก็ดีคนนั้นก็เก่งว่าเราเป็นตัวเล็ก ๆ สิ่งที่สําคัญก็คือว่ามุ่งมั่นอดทนเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทําค่ะโดยไม่ต้องแคร์ว่าใครเขาจะด่าอะไรเราถ้าเราเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อเพราะเราสมเหตุสมผลของเราแล้วและสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่ได้ทําร้ายใครเชื่อต่อไปและทําต่อไปให้กําลังใจค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

แล ดิลกวิทยรัตน์

ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ คือกระแสมักจะพูดกันลักษณะนี้ เข้าใจว่าคุณวรัญชัยพูดว่านักศึกษาสมัยนี้เนี่ยมีบทบาทน้อยใช่ไหม ผมไม่แน่ใจนะว่าอันนี้เป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกอย่าลืมนะครับพูดไปแล้วผมแก่ที่สุดในนี้ คือผมอยู่มาก่อน 14 ตุลา ช่วงของการเคลื่อนไหวเรามีนักศึกษาแน่นอนแต่อย่าลืมว่ามีชาวนา มีศิลปินมีคนหลากหลายอาชีพมากนะครับในการที่มาร่วมขบวนต่อต้านเผด็จการในตอนนั้น ลองดูรายชื่อของคนที่เซ็นต์ชื่อร้อยคนแรกที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญนะครับมีคนหลากหลายอาชีพมากแต่ว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเวลาที่ออกมาเคลื่อนไหวออกมานําโดยนักศึกษา ผู้นํานักศึกษาเช่นธีรยุทธ บุญมี, เสกสรรค์ ประเสริฐกุลนะครับแล้วหลาย ๆ คนในนั้นมีกรรมกรด้วยในนั้นมีชาวนาด้วยใช่ไหมครับ หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าน้องจอมพลถนอมด้วย พลตํารวจตรี สง่า กิตติขจร คือคนพวกนี้หลากหลายอาชีพมากไม่ใช่นักศึกษาอย่างเดียว แต่พอขบวนมันเคลื่อนมันเคลื่อนออกมาจากธรรมศาสตร์แล้วคนขึ้นไปจับไมค์อภิปรายก็คือผู้นํานักศึกษา

แต่ว่าคนที่ทํางานทั้งหมดมีคนที่หลากหลายมาก ถ้าพูดถึงต้นทุน ถามคนทั่ว ๆ ไปว่าทําไมนักศึกษาออกมาเยอะ คําตอบก็คือ นักศึกษามีต้นทุนต่ำกว่าอันนี้อาจจะผิดก็ได้นะ นักศึกษาไม่ต้องคิดมากไม่เหมือนคนมีครอบครัวแล้วนะครับเพราะฉะนั้นนักศึกษาที่คิดเหมือนคุณที่ถามมันมีน้อยสมัยนั้นติดคุกก็ไม่เป็นไรก็กินข้าวหลวงเพราะฉะนั้นมันมีการลุยกันได้แบบไม่คิดชีวิตแต่มีคนอื่นด้วยนะครับ แต่พอมาถึงสมัยนี้ผมเข้าใจว่านักศึกษาเข้าไปอยู่ในขบวนการต่าง ๆ มากเหมือนกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขบวนการที่เราเปิดหน้าชน ก็คือขบวนการพรรคการเมือง ในพรรคการเมืองอะไรต่าง ๆ นักศึกษาทํางานไม่ได้น้อยการเคลื่อนไหวต่าง ๆ นักศึกษาทํางานไม่ได้น้อยถ้าเปรียบเทียบสิ่งที่ผมพบในปีช่วงปีก่อน 2514 เพราะมันเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภา 2516 การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นนั่นก็นักศึกษานะครับและจนกระทั่งไล่เรียงมาจนถึงเดือนตุลาเราก็ตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญล่ารายชื่อ 100 คนผมคิดว่าในความรู้สึกผมนะบทบาทนักศึกษาไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเนื่องจากรูปแบบการเมืองเปลี่ยนเท่านั้นเองครับขอบคุณครับ

 

อธึกกิต แสวงสุข

ผมเข้าใจว่ามุมมองปัจจุบันแสดงออกเป็นสถานการณ์ที่ยากจะมีอำนาจที่แรงและกดดันอยู่ทุกที่ มันกลายเป็นเรื่องที่มีความกลัวและการกดดันจากทั้งภายในและภายนอก ในการที่จะเคลื่อนไหวและโพสต์สิ่งต่าง ๆ ตอนนี้ เราต้องใช้อันใหญ่ เพื่อจะสื่อถึงสภาพการณ์นี้ได้ ผมคิดว่าสภาพนี้ค่อนข้างเข้าใจได้ว่ามันคล้ายกับการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนในอนาคต การมองอนาคตที่ยังไม่ชัดเจนและการปะทะกันอย่างรุนแรงนั้นคล้ายกับเรื่องประวัติศาสตร์ 2475 ประวัติศาสตร์ยุทธนาคือรบกับเรื่องประวัติศาสตร์ ดังนั้น เป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนหลังปี 2563 นักศึกษามักพยายามหลบหนีจากสถานการณ์โดยการกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติหรือดำเนินต่อไปในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องเผชิญกับคดีหรือสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ การปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงนี้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในสังคมและในความคิดของตนเอง ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเองอย่างสมบูรณ์ การต่อสู้กับความคิดและปรับเปลี่ยนตนเองในสิ่งที่ทำในชีวิตสังคมและความคิดเป็นสิ่งสำคัญในช่วงนี้ ส่วนองค์กรนักศึกษาผมเข้าใจว่าช่วงนี้มันเป็นเรื่องคล้าย ๆ กับว่ามันมีความเป็นปัจเจกสูงคนมันเปลี่ยนรุ่นถัดมา ๆ มาจะมีความเป็นปัจเจกสูง

อย่างคนรุ่นใหม่ก็มีความเปลี่ยนแปลงในความคิดของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าในรุ่นของเราเองบ บางทีคาดว่าเร็วกว่ารุ่น 2562-2563 อีก แต่ในบางเรื่องก็อาจจะมีจุดที่เขารวมตัวกันไม่ติด ผมก็มีความรู้สึกพูดง่าย ๆ วันก่อนไปดูเด็กแข่งดนตรีก็นั่งดูอยู่แล้วผมก็นึกขําแล้วเปรียบเทียบการที่เอาทหารไปอบรมครูสอนประวัติศาสตร์แล้วผมบอกว่าคนละโลก มันไม่มีทางทําอะไรได้เลย เขาไม่สามารถที่จะครอบเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เลย มองไม่เห็นทางเลยเพียงแต่ว่า โลกปัจจุบันซึ่งมันคล้าย ๆ กับว่าเด็กมันก็มีความเป็นปัจเจกมีอะไรสูงแล้วแบบมันจะสะท้อนออกไง มันจะตอบโต้ยังไงเมื่อมันหมายความว่าหนึ่งทางหนึ่งเขาอยู่เป็นเขาก็หลบของอะไรแต่เขาก็รู้ในขณะที่อยู่เป็น เขาก็รู้อะไรคืออะไรใช่ไหม อันที่หนึ่งก็คือคนที่เหลืออดก็จะแบบว่าสะท้อนออกมาบางอย่างแต่ว่าเขาก็รู้ว่าโอเคมันอันตราย ผมว่าการต่อสู้กันแบบนี้มันจะมันจะต่อสู้กันไปอีกช่วงหนึ่งครับ

 

วรรณภา ติระสังขะ

ขอบพระคุณมากมากเลยนะคะ ทุกท่านบนเวทีนะคะดิชั้นคิดว่าไม่รู้จะสรุปยังไงแต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ดิฉันได้ในวันนี้ก็คือว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในตําแหน่งแห่งที่ไหนเรามีหน้าที่เรามีบทบาทอะไร แล้วก็เราก็ใช้เครื่องมือของเราที่มีหน้าที่ของเราหัวโขนของเราบทบาทของเราต่างคนต่างทําหน้าที่ในการสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยเพราะว่าเราทุกคนเนี่ยค่ะล้วนแล้วแต่ฝันที่จะเห็นสังคมที่ดีขึ้น มิใช่หรือคะนะคะวันนี้ขอขอบคุณวิทยากรทั้ง 6 ท่านบนเวทีมากนะคะท่านแรกนะคะ ขอขอบคุณ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัฐ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะคะ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี คุณนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ คุณอธึกกิต แสวงสุข คุณธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ และคุณชัยธวัช ตุลาธนค่ะ ขอขอบคุณทุกท่านมากนะคะ แล้วก็ดิฉันวรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอลาทุกท่านไปก่อนแล้วก็พบกันใหม่ใน PRIDI Talks ครั้งถัดไปค่ะ ขอบพระคุณทุกท่านมากนะคะ สวัสดีค่ะ
 

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/YVb4lfLzWIE?si=YxynccePR8-K5Juj

 

ที่มา : PRIDI Talk #26: 92 ปี อภิวัฒน์สยาม “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” เนื่องในวาระ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น.-17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์