ท่านผู้มีเกียรติท่านผู้รักสันติภาพรักชาติรักประชาธิปไตยทุกท่านครับ ผมเพิ่งได้รับการบอกกล่าวให้มาพูดในวันนี้เมื่อสองวันก่อนและก็ตั้งหัวข้อที่จะมาชวนกันคิดค้นแล้วก็ค้นหาสัจจะประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้เพื่อสันติภาพของเสรีไทยเมื่อ 79 ปีที่แล้วนะครับ หลายคนมักใช้ทฤษฎีสมคบคิดในการกล่าวว่าสงครามและสันติภาพเป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะมีคําถามจากคนรุ่นใหม่ว่าเพราะฉะนั้นการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 กับการประกาศสันติภาพของ ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกันใช่ไหมเพราะกระทําภายใต้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเช่นกัน อันนี้ครับก็เป็นคําถามสําคัญแล้วก็ก่อให้เกิดวาทกรรมมากมายซึ่งผมเข้าใจว่าท่านที่เป็นอดีตหัวหน้าของขบวนการเสรีไทยคือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์นะครับ หรือ 'รู้ธ' ท่านคงมีข้อกังวลเรื่องนี้มาโดยตลอด
ผมจะขอ Quote คําพูดของท่านอาจารย์ปรีดีนะครับ ที่ท่านปรารภในเรื่องนี้ว่า
"บางคนพูดว่าไม่เห็นมีเยี่ยงอย่างที่ประเทศใดเคยทํามาก่อนในประวัติศาสตร์ที่ประเทศหนึ่งซึ่งประกาศสงครามกับอีกประเทศหนึ่ง พอเห็นท่าว่าตนจะแพ้แล้วก็ประกาศว่า การประกาศสงครามที่ฝ่ายตนเป็นผู้กระทําก่อนนั้นเป็นโมฆะจึงเหมือนกับตีหัวคนอื่นแล้ววิ่งเข้าบ้านนั่นเอง บางคนพูดเลยไปถึงว่า ที่ข้าพเจ้าในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามแทนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2488 ประกาศว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามทํากับสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ว่าเป็นโมฆะนั้นก็เสมือนสิ่งที่ผู้กล่าวนั้นพูดขึ้นเองว่า Siamese talk แปลว่า พูดอย่างไทย หรือชาวสยาม
ข้าพเจ้ายอมรับเฉพาะข้อที่ว่า ไม่เคยมีประเทศใดทําเช่นนั้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลก แต่เรามิได้ทําอย่างชนิดที่ตีหัวคนอื่นแล้ววิ่งเข้าบ้านและมิได้ทําอย่างที่ผู้กล่าวพูดเอาเองนี่ครับ"
ผมก็ขอเริ่มต้นจากความเห็นของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศซึ่งท่านกังวลกับคําว่า Siamese talk ซึ่งปัจจุบันเราใช้คําว่า Thai talk ซึ่งมีความหมายไปเหมือนกับว่า double dealing ก็คือ คบซ้อนหรือ two faced policy นโยบายตีสองหน้า ซึ่งก็มีลักษณะที่อาจจะไม่มีศักดิ์ศรีและด้อยค่าตนเองในสายตาของชาวโลกอันนี้คือสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านกังวลมาโดยตลอด
เพราะฉะนั้นในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านเมื่อมีการเปิดเผยเอกสารหลักฐานของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสัมพันธมิตรทั้งอังกฤษและอเมริกาแล้วท่านก็ได้เฝ้าศึกษาติดตามรวบรวมแล้วก็เป็นโอกาสของท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าขบวนการฯ ซึ่งก็ต้องเรียกว่าเป็นขบวนการใต้ดินในการรับใช้ชาติในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 รวบรวมทําเหมือนต้นฉบับขึ้นมา มีลายมือ และก็มีการพิมพ์ดีด แล้วก็มีการร้อยเรียงรูปภาพบรรยายภาพด้วยตัวของท่านเองมาเป็นหนังสือเล่มนี้ครับ 'โมฆสงคราม'
โมฆสงครามนี่คือชื่อเดิมที่เขียนโดยท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนนะครับ ส่วนชื่อรอง เราตั้งขึ้นเองก็คือ บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งความจริงทางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในวาระครบรอบ 70 ปีวันสันติภาพไทยเมื่อปี 2558 ก็คือเมื่อ 9 ปีมาแล้ว
แต่ว่าความจริงเกี่ยวกับหนังสือเล่มอาจจะไม่มีการเผยแพร่หรือการอ่านมากนัก วันนี้ผมก็เลยจะมาชวนอ่านแล้วก็อยากจะนำหนังสือเล่มนี้เข้าไปสู่ห้องสมุดจะเป็น e-book ก็ได้หรือของทางกรุงเทพมหานครเพื่อเราจะได้ค้นหาสัจจะประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยซึ่งต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของบ้านเมืองและก็สร้างสันติภาพของโลกร่วมกับฝ่ายผู้ที่ต่อต้านการรุกรานของฝ่ายอักษะครับ
อันที่จริง ปัญหาสถานภาพทางประวัติศาสตร์ของไทยเกี่ยวกับเสรีไทยและการสร้างสันติภาพในมหาสงครามครั้งนั้นยังมีข้อถกเถียงที่ไม่เป็นที่ยุติในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ทั้งนักวิชาการด้วยแล้วก็เป็นนักคิดอิสระ และก็คนทั่วไปก็จะมักตั้งคําถามกันนะครับ ซึ่งผมเห็นว่าในทัศนะแรก ก็จะเห็นว่าการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นการประกาศสันติภาพทําให้สงครามที่รัฐบาลไทยประกาศตอนอังกฤษและอเมริกานั้นเป็นโมฆะสงครามไม่ผูกพันประเทศไทยให้ตกอยู่ เป็นผู้แพ้สงครามเหมือนดังชาติอักษะอื่นอยางเช่น เยอรมนี อิตาลี และก็ญี่ปุ่นอันนี้ก็เป็นทัศนะที่เป็นไปตามการประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488
ส่วนอีก 2 ทรรศนะซึ่งเป็นลักษณะของวาทกรรม ก็คือเห็นว่าการที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสงครามอย่างเปิดเผยต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาโดยที่อังกฤษและประเทศในเครือจักรภพได้ประกาศสงครามโต้ตอบไทยด้วยย่อมมีผลทําให้ไทยกลายเป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรไปโดยปริยาย ดังนั้น เมื่อมหาสงครามโลกสิ้นสุดลงการประกาศสงครามของรัฐบาลจึงไม่เป็นโมฆะแต่ยังมีผลผูกพันทําให้ไทยตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม
แม้แต่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสายสหรัฐอเมริกาเองก็ยังเป็นผู้นําในการสนับสนุนวาทกรรมนี้นะครับ ดังคําแถลงของท่านเองในงานปาฐกถาของท่านในวาระครบรอบกึ่งศตวรรษประชาธิปไตยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการที่มีชื่อเสียง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2525 มีใจความตอนหนึ่งว่า
"ตอนเสร็จสงครามใหม่ ๆ เราก็ประกาศสงครามเป็นโมฆะภายใน ฝรั่งมันก็หัวเราะเอา ว่าโมฆะอะไรไอ้ดัตช์คนหนึ่งมันถูกเอาไปขังที่ Death Railway ในเมืองกาญจนบุรีเหลือแต่กระดูก ทําอะไรไม่อ้วน มันบอกว่าแล้วยังไงล่ะ โมฆะแล้วเนื้อผมได้คืนไหม ถ้าไม่ได้คืนเขาไม่รับนับถือเลย ประกาศเป็นโมฆะ"
ต้องขีดเส้นใต้ว่าท่านอดีตหัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา ท่านใช้คําว่า 'ไทยเราประกาศสงครามเป็นโมฆะภายใน' ไม่ได้ใช้คําว่าประกาศต่อชาวโลกในลักษณะที่เป็นทางการอย่างมีศักดิ์ศรี อันนี้คือที่เราทะเลาะกันเองภายในขบวนการฯ ครับ
วิวาทะอันที่ 3 ก็คือการเห็นว่า ไม่ว่าจะมีปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยหรือจะมีการประกาศสันติภาพ หรือไม่ประกาศฯ ก็ตามสถานภาพของไทยทั้งก่อนและหลังการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรย่อมไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย เพราะสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐจีนได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนทั้งก่อนหน้าที่ไทยจะประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรและหลังมหาสงครามยุติแล้วว่า สหรัฐฯ และจีนไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นคู่สงครามกับสัมพันธมิตรแต่เป็นชาติที่อยู่ภายใต้การครอบครองของกองทัพญี่ปุ่นในขณะที่อังกฤษก็ถือว่าการประกาศสงครามของไทยยังไม่เป็นโมฆะ
ปัจจุบันได้มีนักวิชาการรุ่นใหม่บางท่านนะครับ นําเสนอเอกสารทางฝ่ายจีนเพื่อสนับสนุนทัศนะขั้วที่ 3 นี้เพราะฉะนั้นในฐานะของผมก็คือว่า ไม่ว่าใครเก็ตามจะสนับสนุนทัศนะเช่นใดดังกล่าวมา หรืออาจจะมีมากกว่านี้นะครับ สิ่งที่เรียกว่าสัจจะประวัติศาสตร์ก็ย่อมมีเพียงประการเดียวคือสิ่งที่เป็นความจริง ซึ่งเรายังต้องค้นหากันต่อไป
ในที่นี้ที่ผมชวนให้เรามาศึกษางานศึกษาค้นคว้าของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็เพราะว่าเมื่อสักครู่นี้คุณวิทย์ สิทธิเวคินก็ได้เอ่ยชื่อของท่าน ดร.กนต์ธี ศุภมงคล ซึ่งเมื่อท่านรับใช้ชาติในฐานะเสรีไทยที่ไร้ปืน ฉายาท่านก็คือ เสรีไทยผู้ไร้ปืน เนื่องจากว่าท่านเป็นนักการทูตหนุ่มอายุเพียง 28 ปีได้รับการมอบหมายจากผู้บัญชาการสูงสุดของขบวนการเสรีไทยให้ไปทํางานใต้ดินทางการทูตในสหรัฐอเมริกา
ท่านยืนยันชัดเจนนะครับว่า ขบวนการเสรีไทย ท่านใช้คําว่า 'ผมเชื่อแน่ว่าไม่มีผู้ใดในประเทศไทยจะรู้โดยละเอียดถี่ถ้วนนอกจากตัวท่านปรีดี พนมยงค์เอง' เพราะในระหว่างที่ปฏิบัติงานเสรีไทยนั้น ถือเป็นหลักสําคัญว่าไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเลยที่จะรู้ว่าอีกคนหนึ่งมีหน้าที่ได้รับมอบหมายอย่างใด จะมีก็แต่ท่านปรีดีเท่านั้นที่รู้หมดเพราะฉะนั้นการศึกษางานค้นคว้าหรืองานเขียนของท่านอาจารย์ปรีดีก็จึงมีความสําคัญที่ผมคิดว่า ก็เป็นแหล่งข้อมูลแรกที่เราควรจะต้องศึกษากัน ผมก็เลยจะมานําเสนอชวนให้คิด ชวนให้อ่านในเรื่องนี้โดยที่ไม่พยายามโปรอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะว่าเราก็ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ในช่วงต้นกันมาแล้วนะครับ
มีผู้กล่าวว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่จบสิ้นไปแล้วในอดีตซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คือเหตุการณ์ที่มันเกิดครั้งเดียวแล้วก็จบแต่สําหรับนักประวัติศาสตร์ถือว่าสิ่งที่ยังไม่จบก็คือการตีความนะครับซึ่งการตีความก็เป็นมาโดยตลอดนับตั้งแต่เหตุการณ์ยังไม่สิ้นสุดด้วยซ้ำไปจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าอดีตแต่เป็นสิ่งที่มีชีวิตมีลมหายใจอยู่กับเราตลอดเวลาเพราะตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่เราก็จะตีความประวัติศาสตร์นะครับ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่สําหรับผมเองก็คิดว่าการที่ประเทศไทยได้สามารถก้าวออกจากปรักของมหาสงครามในครั้งนั้นได้ และยังสามารถดํารงเอกราชอธิปไตยได้พอสมควรดังที่เราจะเห็นชัดเจนก็คือ ภาพของผู้แพ้สงครามคือภาพนายพลแมกอาเธอร์กับสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นต่างกับภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ยืนบนแท่นประทับที่สูงกว่าลอร์ดหลุยส์ เมาน์ท แบตเทน อันนี้ต่างกันชัดเจนนะครับแสดงว่าเรามีฐานะเสมอเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าเราอ่านให้ดีในคําประกาศสันติภาพไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ชดใช้อะไรจากสิ่งที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประกาศสงครามไปกับสัมพันธมิตรและแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ถือว่าเราเป็นคู่สงคราม แต่ถือว่าเราเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ตามแต่สิ่งที่ประกาศสันติภาพเขียนไว้ชัดเจนว่า เรายินดีจะชดใช้ความเสียหายใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากผลของการประกาศสงครามที่เราประกาศว่าเป็นโมฆะ ในเรื่องของการเป็นโมฆะมีข้อถกเถียงเยอะ ก็คือว่าไม่ว่าจะประกาศสงครามหรือประกาศสันติภาพ เราก็ประกาศในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นประมุข
แต่สิ่งที่ผมจะชวนให้คิดในวันนี้ก็คือ เรื่องความขัดแย้งในประเด็นของประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่สันติภาพเพราะผมเชื่อว่าในปัจจุบันหรือแม้แต่ในอดีตก็ตามสันติภาพย่อมได้มาด้วยวิถีทางของประชาธิปไตยเพราะว่าในรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่สมัยยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าการประกาศสงครามต้องทําในที่ประชุมของรัฐสภาต้องประกาศโดยประมุขก็จริง แต่ต้องประกาศโดยการเห็นชอบของรัฐสภาแต่ผู้ที่ค้นคว้าประวัติศาสตร์ย่อมเข้าใจดีว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสงครามในวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 โดยไม่ผ่านรัฐสภาอันนี้ผมถือว่าเป็นหัวใจสําคัญนะครับ ผิดกับขบวนการสร้างสันติภาพของเสรีไทย
แม้ว่าขบวนการเสรีไทยจะเป็นขบวนการที่ทํางานที่เรียกว่าเป็น underground movement ก็ตามแต่เมื่อจบสิ้นสงครามแล้วเรื่องนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอย่างโปร่งใส โดยหนังสือโมฆสงครามฯ เล่มนี้พูดไว้ชัดเจนว่าขบวนการเสรีไทย คณะผู้ทํางานเสรีไทยยินยอมให้รัฐสภาไทยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนแล้ววก็ชําระสะสางทรัพย์สินทั้งหมดที่คณะเสรีไทยทําทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ คือมีความโปร่งใส
และในการประกาศสันติภาพก็มีความชัดเจนว่าไม่ใช่เพียงประกาศภายใต้ปรมาภิไธยฯ แต่ประกาศภายในรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 สิ่งนี้สําคัญที่สุดว่าเราทําเรื่องของเสรีภาพควบคู่ไปกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความงดงามและความมีศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้นผมจึงยืนยันว่าประเด็นการต่อสู้เพื่อสันติภาพของขบวนการเสรีไทยเรื่องของสงครามก็เป็นเหรียญอันหนึ่ง เรื่องของสันติภาพที่ขบวนการเสรีไทยก็เป็นเหรียญอีกอันหนึ่งไม่ใช่คนละด้านของเหรียญเดียวกัน ขอบคุณครับ
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=A0ugFvzFd1A
ที่มา : PRIDI x BMA 79 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ร่วมกับกรุงเทพมหานครร่วมจัดกิจกรรมขึ้น ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 13.30-19.30 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5