Focus
- งานเขียนของอัศนี พลจันทร (นามปากกาที่รู้จักกันดีคือ นายผี) มีทั้งบทความทางวิชาการ นิทานการเมือง และเรื่องสั้นที่สะท้อนถึงการเมืองโลกอิสลามและมลายู ตัวอย่างเช่น บทความ "ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย (ตอนต้น)" ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงอิทธิพลของภาษามลายูที่มีต่อภาษาไทย และแบ่งหมวดหมู่ของภาษามลายูไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ อัศนียังเขียนเรื่องสั้นการเมืองที่สะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย และการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
- ในช่วงที่อัศนีเข้ารับราชการเป็นอัยการที่ปัตตานีระหว่าง พ.ศ. 2485-2487 ได้แสดงออกถึงความกล้าหาญและความยุติธรรมโดยการปกป้องสิทธิของชาวมลายูที่ถูกกดขี่จากนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เพียงแต่เข้าใจและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ แต่ยังเรียนรู้ภาษามลายูและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งทำให้อัศนีได้รับความรักและความเคารพจากชาวบ้านในปัตตานี
ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักเพลง ‘เดือนเพ็ญ’ หรือในชื่อเดิม ‘คิดถึงบ้าน’ ของ ‘อัศนี พลจันทร’ มหากวีของประชาชน หรือในชื่อนามประพันธ์ ‘นายผี’ ผู้เป็นเจ้าของเพลงนี้ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าแต่งขึ้นที่ไหน เมื่อไร อย่างไรก็ตาม ที่ชัดเจนคือนายผีต้องการสื่อกับสังคมไทยถึงความปราถนาที่จะคืนสู่แผ่นดินมารดรอันเป็นที่รักและหวงแหนยิ่งหากพิจารณาจากท่อนหนึ่งของบทเพลงซึ่งนายผีเขียนไว้ว่า ‘ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้นำรักห่วงจากดวงใจ ของข้านี้ไปบอกเขา, น้ำ, นา ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมาจะไปซบหน้าแทบอกแม่เอย’
นายผีได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2483 ในสาขาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และเริ่มรับราชการเป็นอัยการฝึกหัดกองคดีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484 แต่เนื่องจากเป็นคนตรงไปตรงมาและรักความเป็นธรรม นายผีจึงถูกย้ายไปอยู่ปัตตานีซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งแดนเนรเทศเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2485-2487 ณ แผ่นดินแห่งความศรัทธาและสมรภูมิแห่งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนตรงนี้ มีเรื่องราวมากมายที่ถูกบันทึกไว้เป็นความทรงจำที่มิอาจลืมของเหล่าผู้ใฝ่สันติธรรม

อัศนี พลจันทร หรือนายผี
ชีวิตราชการ 2 ปีของนายผีในแดนเนรเทศที่ปัตตานีอัดแน่นเต็มเปี่ยมไปด้วยสารัตถะ นายผีให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ แก่ชาวมลายูที่แข็งข้อกับอำนาจรัฐภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้นโยบายชาตินิยมกดขี่ข่มเหงชนชาติส่วนน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมลายูในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทางศาสนาและวัฒนธรรม นี่คงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ ทำให้นายผีถูกย้ายจากปัตตานีไปรับตำแหน่งอัยการผู้ช่วยชั้นตรีที่สระบุรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2487 นายผีใช้ชีวิตรับราชการอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ หาความก้าวหน้าใด ๆ ไม่ได้ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เกิดกรณี ‘กบฏสันติภาพ’ นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่งถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งนายผีก็มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้ด้วย นี่คือจุดพลิกผันที่ส่งผลต่อทิศทางการดำเนินชีวิตหลังจบการศึกษา นายผีตัดสินใจยุติชีวิตราชการในปีนั้น และในปีต่อมา พ.ศ. 2496 ก็เดินทางไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนินในฐานะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กรุงปักกิ่ง นายผีจึงเดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาลำเนาไพรในประเทศไทยเพื่อทำการต่อสู้กับอำนาจรัฐตามอุดมการณ์ที่ใฝ่ฝัน
ความทรงจำของคุณฟาตีมะห์ คนรุ่นราวคราวเดียวกับนายผีที่ได้เล่าถึงบุคลิกภาพและความเป็นอยู่ของนายผีไว้อย่างละเอียดขณะที่รับราชการอยู่ที่ ปัตตานีใน พ.ศ. 2485-2487 ในนิตยสาร ‘ถนนหนังสือ’ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ได้เปิดเผยโฉมหน้าความเป็นนักคิด นักเขียน นักอ่านของนายผีตั้งแต่อายุแค่ยี่สิบกว่า ๆ
“ตอนนั้นนายผีเช่าบ้านป้าอยู่ที่ถนนมะกรูด หลังศาลากลาง ป้ารู้จักตอนปิดเทอมกลับบ้านไปอยู่ห้องแถวใกล้ ๆ กัน คุ้นเคยกัน อีกตอนหนึ่งกลับไปฝึกสอนที่ปัตตานี นายผีก็ให้คำแนะนำอย่างดี เราขัดข้องอะไรแกก็ช่วยเหลือ แกเป็นนักศึกษา เรียนอะไร ๆ อยู่เรื่อย ตอนนั้นยังซุ่มเรียนภาษายาวีอยู่ที่รู้ว่าเรียนภาษายาวีเพราะว่าวันหนึ่งเราถามว่าฟาตีมะห์นี่เขียนอย่างไร แกเขียนให้ดูส่วนพูดนั้นแกพูดได้แต่เดิมแล้ว ที่ปัตตานีทุกคนรู้จักขุนเจริญที่ต่อมาได้เป็น ส.ส. เรารู้ว่าขุนเจริญเป็นเสรีไทย แต่ไม่รู้ว่านายผีก็เป็น ทั้งสองคนนี้มีอะไรกุ๊กกิ๊ก ๆ คุยกันอยู่เรื่อยจนกระทั่งนายผีถูกย้ายไปสระบุรี ระหว่างที่ทำงาน ถ้าแกมีเรื่องอะไรไม่พอใจในเรื่องงาน แกจะเขียนเป็นคำประพันธ์ โคลง ฉันท์ ส่งไปยังกรมอัยการ บางทีแกเขียนเป็นฉันท์ให้เราอ่านก็อ่านไม่รู้เรื่อง
วันที่แกย้ายจากปัตตานีนี่ประหลาดที่สุด ธรรมดาข้าราชการย้ายเขาต้องเลี้ยงกันที่ศาลากลาง ทุกคนมางานเลี้ยง วันนั้นเขาก็เลี้ยงอย่างนั้น เรานั่งอยู่ที่บ้าน เห็นแกเดินมาจึงถามว่า อ้าวคุณอัศน์ เขาเลี้ยงคุณแล้วทำไมคุณไม่ไปล่ะ? ผมไม่เห็นรู้เลย ก็ทุกคนเขาบอกไปงานเลี้ยงคุณ ไม่เห็นเขาบอกผมเลย พวกจัดงานเลี้ยงก็นัดกันไป แต่ไม่ได้บอกเจ้าตัว แกเลยไม่ไป พอมาที่บ้านก็พาไปเลี้ยงกันเองในหมู่เพื่อนฝูง เป็นการเลี้ยงส่งแก มานึก ๆ แกก็ประหลาด รุ่งขึ้นทางศาลากลางเขาเหมารถไปส่ง แกไม่ยอมไปรถคันนั้น แกเหมาของแกไปอีกคันหนึ่ง ในรถมีพวกไทยมุสลิมเต็มคันรถเลย มีแต่พวกของแก คนที่ปัตตานีจึงเห็นว่า ข้าราชการที่ย้ายนี่ไม่มีใครเหมือนแก สมบัติแกก็ไม่มีอะไร เสื้อผ้าก็มีไม่กี่ชุด เห็นราวสองชุดเท่านั้น เข็มขัดก็ไม่คาด แต่หนังสือนี่เต็มไปหมดเป็นลัง ๆ เลยที่น่าเสียดาย แกเป็นคนมีความรู้แต่แกไม่ชอบใจวงราชการเมืองไทย เวลาแกแต่งเครื่องแบบตรวจการ ก็ไม่มีใครเหมือนแก หมวกหนีบนี่ธรรมดาต้องเอาทางแหลมมาข้างหน้า แกเอาทางแหลมออกข้าง ๆ ใส่ขวางเสียนี่ ในเมืองปัตตานีทุกคนไม่มีใครเรียกคุณอัศนี แต่เรียกคุณอัศจรรย์ แกก็ไม่แคร์ รองเท้าหนังไม่เคยใส่ มีแต่รองเท้าผ้าใบสีน้ำตาล กางเกงเก่า ๆ สีกากี เสื้อก็สีกากีแขนยาวเก่า ๆ เวลาไม่คาดเข็มขัดแก เอาผ้าเช็ดหน้ามาผูกหูกางเกงให้อยู่ เวลาแกจะชมใคร แหมเรานี่เลิศลอยเชียวแหละ นี่เป็นนิสัยอันหนึ่งของแก
พูดแล้วคิดถึงแกอยากจะเจอ กับผู้หญิงแกมักชมว่า สวยเหมือนนางบุษบา ถามว่าทำไม แกบอกว่าคนเราที่น่าเกลียดที่สุดคือตอนตื่นนอนใช่ไหม เราบอกว่าใช่ นายผีจึงบอกว่าตัวบุษบาที่เขาแอบไปวาดรูปเป็นรูปที่เพิ่งตื่นนอน ไปทิ้งไว้ให้จรกามาเก็บยังหลงแทบตาย จึงเห็นได้ว่านักประพันธ์นี่ละเอียดลึกซึ้ง อีกอย่างกับผู้หญิงแกไม่ชมนะ ว่าสวยแกชอบใจใครก็มักบอกว่าฉลาด พูดกันรู้เรื่อง บางทีเจอกันแกไม่ชอบพูด ชอบเขียนแทน ไม่ชอบพูดเล่น วันหนึ่งป้ากลับจาก วค. สวนสุนันทาไปฝึกสอนที่ปัตตานี เรารู้ว่าแกเก่งวรรณคดีก็ถามเอาไปสอนเด็ก ถามแก ๆ ก็ไม่ตอบ ตอนเช้าพอเราจะไป แกใส่ซองยื่นให้ เขียนให้หมดเลยว่าคำนั้นแปลว่าอะไร รากศัพท์เป็นมาอย่างไร บาลีเขียนอย่างไร สันสกฤตเขียนอย่างไร เขียนให้อย่างละเอียด คนอย่างแกหายาก กับหลวงประดิษฐ์แกพูดถึง นี่แกรักมาก เหมือนกับพ่อแก เราก็เลื่อมใสในความสามารถ ในความฉลาดในตัวแก
ต่อมาก็ได้ข่าวว่าแกมีครอบครัว เราชอบที่แกมีความคิดไม่เหมือนชาวบ้าน จะพูดจะจาก็ใช้คำสละสลวย แต่แกไม่ชอบความรุนแรง ไม่ชอบชกต่อย ชอบแต่เขียนอย่างเดียว คนอย่างแกนี่ไม่ต้องให้อะไรให้โต๊ะแกสักตัวแล้วเลี้ยงดูแกอย่างดี ให้แกผลิตงานเขียนออกมาแนวไหนก็ได้ ที่ป้าอยากเจอเขาก็เพราะว่าเป็นคนเคยชอบพอกัน แก่ ๆ เข้าแล้วก่อนจะตายเจอเพื่อน ๆ สักทีก็ดี เรื่องดนตรีนี่ไม่เคยเห็นแกเล่น แกสนใจหนังสืออย่างเดียว จนแว่นตาหนาเตอะอ่านแต่หนังสือ ที่ศาลากลางมองไปแล้วไม่มีข้าราชการคนไหนเหมือนแก แกทำอะไรไปแล้วไม่เคยกลัวใคร แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรแกทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นแกยังเป็นคนหนุ่มอายุไม่ถึงสามสิบ ซึ่งคนหนุ่มที่คิดได้อย่างนั้นหาได้ยาก นายอยู่ที่บ้านป้าตลอดจนย้าย เป็นบ้านไม้ใต้ถันสูง หลังคามุงกระเบื้อง ทั้งหลังมีห้องนอนอยู่สี่ห้อง แกก็อยู่เพียงห้องเดียว อยู่อย่างสมถะมาก ของใช้ก็มีแต่ลังหนังสือ ก็พอสรุปได้ว่าแกไม่แคร์เรื่องอะไร แกมีแต่อุดมคติแน่วแน่ไม่มีเปลี่ยงแปลง ไม่เคยให้ร้ายใคร”
อีกท่านหนึ่งคือ คุณยืนหยัด ใจสมุทร ประธานกรรมการมูลนิธิอัศนี พลจันทร (นายผี) ประจำปี 2557 คนรุ่นหลังซึ่งได้ค้นคว้าและเขียนเรื่องราวของนายผีระหว่างรับราชการที่ปัตตานีไว้ในหนังสือ “อุดมคติและแก่นเพชรแห่งวรรณกรรม นายผี อัศนี พลจันทร บนหนทางสู่ความเปลี่ยนแปลง” อย่างน่าติดตามว่า “ระหว่างเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งเสาะหาความรู้เพิ่มเติมจากวัดมหาธาตุและหอสมุดแห่งชาติ ความรู้ได้เพิ่มพูนจนภายหลังเขาได้เป็นผู้รู้แตกฉานถึง 7 ภาษาคืออังกฤษ ฝรั่งเศส จีน มลายู บาลี สันสกฤต และอุรดู...

ภควคีตา โดย อินทรายุธ (นายผี)
ห้วงเวลาที่ถือว่าเป็นตำนานของอัยการอัศนี พลจันทร เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485 เมื่อเขามีอายุเพียง 23 ปีเศษ เนื่องจากกรมอัยการแต่งตั้งให้เป็นอัยการผู้ช่วยจังหวัดปัตตานี (ซึ่งวิมล พลจันทร ผู้เป็นภริยาเรียกว่า ถูกเนรเทศ) และเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างสงคราม ต้องกระเบียดกระเสียร ทอดแหหากุ้งปลามากิน เหลือก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ เลี้ยงแพะไว้รีดนม มิหนำซ้ำแพะเจ้ากรรมยังดอดเข้าไปกินต้นฉบับงานแปล ‘ภควัทคีตา’ จากภาษาสันสกฤตเสียหลายแผ่น เขาจึงถูกตั้งฉายาว่า ‘อัยการแพะ’
สองปีที่ปัตตานี เขาเป็นอัยการที่เข้าใจและเข้าถึงประชาชน เข้าคลุกคลีกับชาวบ้านถีบจักรยานออกไปเยี่ยมเยียนตามชนบท หัดภาษามลายูถิ่น ฝึกอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน ไม่กินเนื้อสุกร ได้รับปันส่วนไม้ขีดไฟมาจากทางราชการ แบ่งไว้ใช้เองบางส่วน นอกนั้นนำไปแบ่งปันให้ชาวบ้าน สองครัวต่อหนึ่งกลัก ความรักที่เขามีให้ต่อประชาชนปัตตานีจึงไม่มีกำแพงชาติพันธ์ุ ศาสนา และวัฒนธรรมมากั้นกลาง ตำรวจจับชาวบ้านปัตตานีจำนวนมาก มาเปรียบเทียบปรับสังเวยลัทธิชาตินิยม ในข้อหาฝ่าฝืนรัฐนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น กินหมาก สวมหมวกกาปีเยาะห์ คลุมผ้าฮิหญาบ เป็นต้น
พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีมาเปรียบเทียบปรับมาขอความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อัศนี พลจันทร ใช้ความกล้าหาญสั่งว่า การเปรียบเทียบปรับไม่ชอบซึ่งมีผลเท่ากับสั่งไม่ฟ้องต้องคืนค่าปรับให้กับผู้ต้องหาทุกคน ด้วยเหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่รู้ภาษาไทย ไม่เข้าใจกฎหมายไทย รัฐนิยมขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและขัดต่อหลักความยุติธรรม ใช้บังคับไม่ได้ เขาเลือกยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่แทนที่จะเป็นผู้กดขี่เสียเอง ทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วทั้งปัตตานีและในกรมอัยการ เพราะอัยการในท้องที่อื่นล้วนให้ความเห็นชอบกับการเปรียบเทียบปรับทั้งสิ้น มิหนำซ้ำยังท้าทายอำนาจรัฐด้วยการสวมหมวกกาปิเยาะห์ไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผย เมื่อเขาถูกย้ายไปสระบุรีจึงเป็นการพลัดพรากท่ามกลางหยาดน้ำตาของประชาชนที่เขารักและรักเขา”
จากหนังสือ “ชีวิตและผลงาน : ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (พ.ศ. 2461-2530)” ของคณะกรรมการจัดงาน ‘นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่’ ตีพิมพ์ มกราคม พ.ศ. 2541 เราพบว่าขณะรับราชการอยู่ที่ปัตตานี นายผีได้เขียนจดหมายถึงพระยาอนุมานราชธน ปราชญ์คนสำคัญแห่งสยามสมัยอย่างน้อย 2 ฉบับโดยเขียนภาษามลายูถิ่น (ยาวี-อักขระอาหรับ) อธิบายประกอบไว้ด้วย ในจดหมายฉบับที่ 1 วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 นายผีพรรณนาถึงความสำคัญในการเรียนภาษามลายูไว้เสียอย่างเลิศเลอ
“ได้ทราบว่า ทางแผนกอักษรศาสตร์มีการเรียนภาษามลายูก็ดีใจ เพราะได้เห็นความจำเป็นอยู่ ก่อนไปอยู่เมืองตานีไม่ค่อยจะแลเห็นความจำเป็นอะไรนัก เพราะเวลานั้นหางอึ่งยังไม่งอก พอไปอยู่ได้ 3 เดือนเศษ หางอึ่งงอกออกมานิดหนึ่ง ความคิดที่เคยมีว่า ภาษามลายูไม่มีอำนาจอะไรในภาษาไทยนักนั้น ก็กลายเป็นคิดขึ้นได้ว่าออกจะมีอำนาจมากอยู่ ฉะนั้นการที่แผนกอักษรศาสตร์ให้มีการสอนภาษามลายูขึ้นอีกภาษาหนึ่งจึงเป็นการสมควรยิ่งนัก แต่คงจะได้สอนกันแต่หลัก ๆ และใช้ตำราของฝรั่งเป็นพื้น อันที่จริงจะเรียนอะไร ถ้ารู้ภาษาฝรั่งอยู่แล้วก็นับว่าสะดวก แต่ดูเหมือนว่าวิชาภาษานั้น ถ้าจะเรียนกันให้เอาภาษาอันแวดล้อมภาษาเราอยู่มาไขภาษาของเราเองแล้วน่าจะต้องโดดลงไปในภาษานั้นเอง อย่างภาษามลายูนี้ ทีแรกผมก็เรียนเป็นไต่ภาษาสะพานภาษาฝรั่งไปสู่ฝั่งภาษามลายู พอข้ามไปถึงฝั่งที่มีตัวอักษรมลายูแล้ว เลยรู้สึกว่าสะพานที่ได้ข้ามมานั้นผุอยู่เคราะห์ไม่ดี, ไต่ไม่ระวังอาจหักโครมลงได้ง่าย ๆ”
ในจดหมายฉบับที่ 2 วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 นายผีเล่าถึงการเรียนภาษาอาหรับโดยเทียบเคียงกับภาษามลายูว่า “เพราะเมื่อจะเริ่มเรียนภาษานี้ ได้หัดเสียงเสียก่อนกับผู้ที่ไปเมกกะมา เป็นดาโตะใหญ่อยู่ในตานี และเป็นผู้ที่จะกล่าวได้ว่าการถือบวชนั้นต้องแลเห็นดาวนั้น ๆ ขึ้นตรงนั้น ๆ เสียก่อนด้วย และเขายังเป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษดีเหมือนกัน ไว้ใจได้”
นายผีเรียนทั้งภาษามลายูกลางและมลายูถิ่นแล้วยังแตะภาษาอาหรับอีกด้วยในขณะที่มีความแตกฉานในภาษาอุรดูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และก็ตวัดกลับไปเทียบเคียงภาษาบาลีสันสกฤตซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของภาษาไทยและภาษามลายู นายผีเล่าไว้ในจดหมายฉบับที่ 2 อีกตอนหนึ่งโดยย้ำถึงเจตนารมณ์ในการเรียนภาษาและความใฝ่ฝันอันเรืองรองของตนว่า
“เราพูดภาษาไทยประโยคหนึ่งมีบาลีสันสกฤตเต็มบันได เขาพูดมลายูประโยคหนึ่งก็มีสันสกฤตกันนั้น ผมเรียนภาษามลายูเข้าใจเร็วก็ด้วยอันนี้และที่อุตส่าห์ก็โดยว่า 1. หวังจะล่วงรู้ภาษาของตนเองให้ดีขึ้น 2. หวังจะล่วงรู้ภาษาอาหรับต่อไป 3. หวังจะชุบชีวิตจิตใจคนในบริเวณ 7 หัวเมืองให้เป็นไทย 100% 4. หวังจะรู้คุณธรรมดีขึ้น ตลอดจนให้มีความกว้างขวางในแง่ต่าง ๆ อันเป็นคุณสมบัติของการเล่าเรียนภาษาต่าง ๆ อย่างไรก็ดี แม้ผมไม่หวังมาก กีรติคุณที่ว่าหญิงชั่วคลีโอปาตราตรัสได้หลายภาษานั้น ยังดังอยู่ในหทัยประเทศอันเป็นไปด้วยความเห่อ แต่การเล่าเรียนนั้นต้องประกอบด้วยครูและตำรับตำรา ผมไม่รู้นิรุกติศาสตร์เลย และตำราก็ไม่มี เลยใช้วิชาเดา ผิดบ้างถูกบ้าง แต่ที่ผิดนั้นมากกว่าถูก ส่วนเวลานั้นถ้าชีวิตผมยืนยาวเท่าไร เวลาของผมก็มีเท่านั้นวิชาหนังสือเป็นอาหารของผมยิ่งกว่าข้าวแลน้ำ และผมหวังอยู่แต่ว่า นอกจากความปลื้มใจแล้ว วิชาจะช่วยดั่งกระแสน้ำ อันนำให้วารีบนคิริสิขรไหลลงระดมปนกับน้ำในสาครสมุทรอันต่ำ ผมเที่ยวตระเวนไปในทุกหมู่ชนทุกชั้นทุกชนิด ก็เพื่อจะชิมรสของเขาจัดว่าดีกว่าผึ้งหรือแมลงวัน และในการนี้ผมย่อมช่วยแมลงวันเยาะผึ้งได้ว่า แม้ในที่อันต่ำทรามก็มีมธุรสแฝงอยู่ ลืมตาขึ้นแต่เช้า เราก็นึกได้ว่าเวลานี้เราตื่นอยู่ และเมื่อคืนหลับไปและฝัน ในฝันนั้นว่าตื่นอยู่ แต่ได้หลับและฝันไปอีกเหมือนกัน และก็ในฝันนั้นว่าได้ฝันไปอีกชั้นหนึ่งเล่า แล้วมาหวนคิดว่าที่ลืมตาทะนงว่าตื่นอยู่ในเช้าวันนี้ ความจริงตื่นแน่หรือ หรือเพียงแค่เป็นฝันตื่นของอีกตื่นหนึ่ง มาถึง ตรงนี้ ความรู ้เลยกลายเป็นไม่รู้ ในโลกนี้คืออะไรรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมว่าจะทำความพอใจของผมให้เต็มและความพอใจอันนั้นมี 2 คือ 1. มีวิชา 2. สมาคมกับปราชญ์”

นิตยสารอักษรสาส์น ก่อตั้งโดย สุภา ศิริมานนท์
วรรณกรรมการเมืองโลกอิสลามและมลายูที่เป็นชิ้นเอกของนายผี คือบทความทางภาษา “ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย (ตอนต้น)” บทความชิ้นนี้นายผีเขียนถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ภาษามลายูไหลเข้าปะปนผสมผสานปนเปกับภาษาไทย รวมทั้งแจกแจงหมวดหมู่ระเบียบของภาษามลายูไว้อีกด้วย
“ว่าถึงภาสา มลายูโดยเฉพาะ ไม่ใช่แต่เพียงคำเช่น ปาหนัน บุหรง เท่านั้นที่มาปนหยู่ไนภาสาไทย ยังมีคำอื่นๆ อีกเปนอันมากไนคำภาสามลายูซึ่งตรงกับคำไนภาสาไทย เราพึ่งมารู้สึกกันถึงความสำคันข้อนี้ท่านสรี สเถียรโกเสสได้พากเพียรชี้ช่องทางแก่กุลบุตรด้วยการเขียนอธิบายภาสาตระกูลชวา มลายู ลงไนหนังสือวรรนคดีสารซึ่งฉันเห็นแล้วทำให้ ดานไจยิ่งนัก เพื่อสนับสนุนความตั้งไจอันควนสันเสินหาเสมอมิได้ของท่านสรี สเถียรโกเสสจึงได้ ตกลงไจจะเล่าถึงความพัวพันของภาสามลายูกับภาสาไทยพอเปนยาดังต่อไปนี้ ภาสามลายูที่ปรากตตัวอยู่ไนภาสาไทยนั้นได้ไหลเข้ามาโดย 2 ทาง ทางหนึ่งตรงเข้าตามเมืองท่าแถวไกล้ๆ อ่าวไทย อีกทางมาทางด่านบริเวนเจ็ดหัวเมือง พวกแรกเรียกว่าเข้ามาโดยทางตรง พวกหลังเรียกว่าเข้ามาโดยทางอ้อมพวกที่เข้ามาทางตรงได้ปรากตรูปเปนภาสามลายูแท้ เช่น บุหลง บุหงา ชนิส พวกที่มาทางอ้อมได้ถูกแปลงตัวเสียก่อนไนบริเวณเจ็ดหัวเมือง
ครั้นเข้ามาถึงไจกลางเมืองไทยก็แปลงรูปไปจนเกือบจำไม่ได้ เช่น ชะแง้ มึง กู เปราะ ที่ว่ามีที่มา 2 ทางนี้ก็เพราะภาสามลายูเปนภาสาที่ไช้อยู่ไนแหลมมลายูและตามหมู่เกาะไต้แหลมนั้นลงไป หรือตั้งแต่อ่าวเบงกอลลงไปจนถึงเกาะบอร์เนียวและหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ภาสาจึงอาดติดเรือแล่นข้ามทเลเข้ามาเลยก็ได้ พวกมาทางเรือถ้าไม่แวะที่ไหนซึ่งหยู่ต่ำกว่าบางสะพานไหย่ ซึ่งเปนตำบลแบ่งภาสาแล้วก็เลยเข้าไปไนบริเวนอ่าวไทยได้ขึ้นบกทีเดียวพวกเดินเดินเข้ามาก็จำต้องผ่านด่านบริเวนเจ็ดหัวเมืองเสียก่อน ได้รับวัธนธัมไนดินแดนเขตเจ็ดหัวเมืองมากก็แปลงตัวเสีย แล้วจึงเลยเข้ามา ถ้าแวะที่อื่นเหนือเขตเจ็ดหัวเมืองขึ้นมาก็ถูกแปลงตัวบ้างเหมือนกัน แต่เล็กน้อย เพราะวัธนธัมของภาสาไม่แรงเท่าไนเขตเจ็ดหัวเมืองนั้น จำพวกที่เข้ามาโดยตรงและโดยอ้อมนั้น ก็ไม่เปนภาสาที่มีระเบียบเดียวกันแน่นอนนัก เพราะได้กล่าวแล้วภาสามลายูมีไช้หยู่ไนบริเวนกว้างขวาง ถ้อยคำไนถิ่นต่างๆ แม้ไม่ทิ้งหลักเดิมอันส่อไห้เห็นถึงความเปนภาสาเดียวกันก็จิง ก็ยังมีสำเนียงและความหมายแตกต่างกันไป ในเมืองไทยเราตามชนบทบางทีคนละตำบนภาสาที่ไช้ก็ผิดกันเสียแล้ว...
ฉะนั้นภาสามลายูไนถิ่นต่างๆ จึงผิดกันได้มาก ไนไซบุรี ตรังกานู ปะหัง ปัตตานี พูดสำเนียงต่างกันไกล ภาสาที่พูดกันไนปีนังนั้นบางทีก็เอาไปพูดไนมละกาและโชนันไม่ได้ ไนเปรักเองเมื่อมีคนพูดมลายูออกไปแล้ว ก็รู้ได้ทีเดียวว่าเปนคนไนถิ่นไหน ภาสามลายูที่แท้จะหาได้แต่ไนบริเวนซึ่งคนไนท้องที่นั้นไม่พูดภาสาอื่นแท้จิง ภาสามลายูมิไช่ภาสาของประชาชาติ เปนแต่ภาสาของประชาชนซึ่งกะจัดกะจายหยู่ไนแหลมมลายู และทางตะวันออกของอ่าวเบงกอลดังกล่าวแล้ว เขาถือกันว่าภาสาที่ถูกต้องคือ ภาสาที่พูดกัน ไนรัถไซบุรี และรัถเปรัก

นิตยสารถนนหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม 2528
ระเบียบของภาสามลายูถ้าจะจัดออกเปนพวกไหย่ๆ ตามหมู่เหล่าของการพูดจาแล้ว ก็อาดแบ่งได้เปน 4 พวกคือ 1. ภาสาในราชสำนัก (ภาสาดาลัม) 2. ภาสาผู้ดี (ภาสาบังสะวัน) 3. ภาสาพ่อค้า (ภาสาดาคัง) 4. มิสรภาสา (ภาสากเจากัน) ภาสาเหล่านี้มีวิธีพูด (style) ไม่เหมือนกัน ภาสาดาลัมก็เปนหย่างราชาสัพท์ของเราคือไช้กันแต่กับเจ้านาย และภาสานี้มีมาแบบเดียวกับราชาสัพท์ของเราเหมือนกัน เช่นคำว่า บุตร บุตรี เขาไช้เรียกลูกชายลูกสาวสุลต่านหรือราชาทั้งๆ ที่เปนคำธัมดาไนภาสาสันสกริต ดุจเราไช้ภาสาเขมนธัมดาเปนราชาสัพท์ของเรา เช่น บันทม ประทับ เปนต้น ส่วนภาสาผู้ดีคือภาสาสุภาพ ไช้พูดไนหมู่บุคคลที่ได้รับการสึกสาสูง หรือเปนคนชั้นสูง หย่างเดียวกับภาสาผู้ดีของเรา แต่ภาสาผู้ดีของเรามีวัธนธัมมาก จนถึงรังเกียดคำบางคำ เช่น อีรม ต้องพูดเปนนางรม บางควาย ต้องเปน บางกะบือ (กะบือ เปนภาสา มลายูแปลงตัวโดยบริเวนเจ็ดหัวเมืองแปลว่า ควาย) จึงจะเรียกผู้พูดเปนผู้ดีแท้ แต่พวกไช้ภาสาผู้ดีเช่นนี้ ได้ทำลายภาสาเสียมากทำไห้เราไม่รู้ว่าทำไมหอยหย่างนั้นจึงเรียกนางรม ต่อไปแปลไม่ได้ก็จะเขียน นางรมย์ ให้แปลได้ไปอีกทีหนึ่ง ภาสาพ่อค้านั้นเขาไช้กันไนวงการค้าโดยเฉพาะ โดยมากมีคำเฉพาะเกิดขึ้นและเริ่มปนภาสาต่างประเทศ
ส่วนภาสากเจากันนั้นเปนภาสาผสมแบบภาสาสแลงหรือภาสาตลาด หนักลงไปกว่าภาสาพ่อค้า พวกสามัญ ชนหรือพวกที่ไม่ได้รับการสึกสาใช้พูดจากันเหมือนเรามีคำว่า เต๊าะ (มาจากมลายูแปลงตัวในบริเวนเจ็ดหัวเมืองก่อนแปลงตัวว่ามินตา) แปลว่า ขอหย่างกะลิ้มกะเหลี่ย เช่น เต๊าะผู้หยิง แท้จิงคำนี้เดิมแปลว่าขอหย่างสามัญ ภาสาตลาดนี้เปนภาสาหนึ่งที่เหนี่ยวรั้งไห้ภาสาอันมีระเบียบดีทำลายลงแบบเดียวกับพวกที่เปนภาสาผู้ดีเกินไป เช่นประนามที่แปลว่าการเคารพไหว้ด้วยความนอบน้อมยิ่ง ต่อมาได้หมายความว่าการขับไล่ด้วย ในภาสาตลาดไช้หมายความถึงการบริภาส แท้จิงภาสามลายูเองก็เปนภาสาที่ปะปนยิ่งกว่าภาสาไทยอีก มีทั้งการรับคำภาสาอื่นมาไช้โดยตรง และโดยการแปลงตัว เหมือนกัน ว่าโดยส่วนไหย่ภาสามลายูมีที่มา 3 ทาง
1. ทางภาสาพื้นเมืองเดิม คือเปนภาสาของพวกมลายูแท้มาแต่ดั้งเดิม พวกมลายูเดิมนั้นเขาว่าเปนเชื้อชาติแขกในอัฟริกาผสมกับพวกแขกไนภารตวรรส ต่อมามีพวกทิเบตผสมกับพวกยวนเข้าปะปนโดยลงมาตามลำน้ำอิรวดี แต่ก่อนที่ภาสาของพวกทิเบตยวนจะแพร่หลายไปจนฝังรากมั่นคงนั้น ได้มีภาสาสันสกริตซึ่งเปนภาสามีอารยะธัมสูงกว่าแผ่เข้ามาหย่างมากมาย อันภาสาเดิมนั้นเปนพวกคำพยางค์เดียวโดยมาก และพยางค์หนึ่งๆ ก็สแดงความหมายอันแน่นอน เมื่อจะไช้ไนความหมายอื่นที่มีความหมายเดิมสัมพันธ์หยู่ด้วย ก็ไช้คำพยางค์เดียวนั้นผสมเข้าไป หย่างเราผสมคำแม่ กับ น้ำ เข้าด้วยกันเปนแม่น้ำ เช่นเมื่อจะพูดถึงสิ่งไรที่มีลักสนะไปไนทางกลมๆ ผสมเข้าไปด้วย ส่วนการผสมนั้นก็เปลี่ยนสำเนียง บู ไปตามแต่เสียงของคำที่มาต่อ คล้ายการไช้อุปสัคของบาลีสันสกริต เช่น เดือน = บู - ลัน กลม = บู - ลัด พูเขา = บู - กิต (พูเก็ต)
ในภาสาของพวกเซมังซึ่งกล่าวว่า เปนพวกพื้นเพเดิมของมลายู คำาว่า มือ เขาเรียก ตัง ฉะนั้นอะไรที่เกี่ยวกับมือ ในภาสามลายูเขาไช้คำ ตัง ผสมแทบทั้งนั้น เช่น มือ = ตัง - งัน ไม้เท้า = ตุง - กัต
ภาสาเดิมเหล่านี้คือ ภาสาของคนที่ยังไม่มีความจเริน โดยมากเปนภาสาง่ายๆ ที่มีขึ้นไว้สำหรับไช้เรียกสิ่งต่างๆ ที่เปนรูปธัม และเปนสิ่งที่มีหยู่ใกล้ชิดจำเปนของบุคคลซึ่งดำรงชีวิตหยู่ในดินแดนอันยังเปนป่าเถื่อนหยู่เกี่ยวกับอาหารบ้าง ความเปนหยู่ที่อาสัยบ้าง กิจการไนการดำเนินชีวิตไนครอบครัวบ้าง การหาผักหาปลา และการทำสวนครัวเล็กๆ น้อยๆ ไม่เปนล่ำเปนสัน เวลานั้นยังไม่มีการทำนาไหย่โต ไม่มีไถ เพราะเราจะเห็นได้ว่าคำ ไถ (ตังคาลา) ไม่ได้เปนภาสาเดิม เปนภาสาสันสกริตที่พึ่งเข้ามาพายหลัง
2. ทางภาสาสันสกริต ต่อมาพวกแขกไนภารตวรรสได้เริ่มเข้าไปสู่พวกไน
ดินแดนมลายูเดิมได้นำอารยะธัมอันสูงของตนเข้าไปด้วยรวมทั้งภาสา เหตุนี้ภาสามลายูจึงได้รับอิทธิพลจากภาสาสันสกริตดุจภาสาไทยเหมือนกัน คือภาสาสันสกริตได้เข้ายึดความเปนไหย่ไนภาสามลายูไว้ได้ เราจะเห็นว่าไนภาสามลายูเต็มไปด้วยคำภาสาสันสกริต เช่นเดียวกับภาสาไทย เราพูดไทยประโยคหนึ่งมีภาสาสันสกริตปนอย่างน้อย 60% ฉันได พวกมลายูพูดภาสามลายูประโยคหนึ่งก็มีภาสาสันสกริตปนไนจำนวนเท่าๆ กันฉันนั้น ...พวกมลายูนับถือสาสนาอิสลามโดยตลอด และสาสนาอิสลามนั้นมีลักสนะในทางบังคับยิ่งกว่าสาสนาไดๆ ทั้งสิ้นภาสาของสาสนาอิสลาม คืออาหรับ เช่นเดียวกับภาสาของสาสนาพุทธ คือบาลี แต่ภาสาของสาสนา อิสลามก็ยังไม่สามารถลบล้างภาสาสันสกริตไนมลายูได้เหมือนภาสาบาลีไม่สามารถลบล้างภาสาสันสกริตไนภาสาไทยได้ ...เมื่อมีคำสันสกริตเข้ามา ภาสามลายูก็จเรินขึ้นเพราะได้มีถ้อยคำสแดงความรู้สึกแห่งจิตไจ สแดงความคิดเห็นสแดงถึงศีลธัมความดีความชั่วและยังสแดงถึงลัทธิพราหมน์ด้วย เช่น สันสกริต หริ=ตะวัน มลายูมีคำหารี แปลว่า วัน ส่วนตะวัน ว่า มาตาหารี แปลว่า ตะวัน เพราะ มาตา แปลว่า ตา ส่วนมากภาสาสันสกริตแม้ว่าจะไช้พูดด้วยก็ตาม ได้ไช้ไนภาสาหนังสือมากกว่าภาสาพูด โดยมากมาจากเรื่องราวทางภาสาชวาอีกต่อหนึ่ง เพราะภาสาสันสกริตได้แพร่หลายไนชวาประกอบไปด้วยลัทธิพราหมน์มากมาย

3. ทางภาสาอาหรับ การที่ภาสาอาหรับเข้าปะปนไนภาสามลายูนี้ก็โดยเข้ามาทางสาสนาอิสลามซึ่งชาวมลายูทั้งหมดได้นับถือ แต่ได้เข้ามาทีหลังภาสาสันสกริต โดยมากเป็นถ้อยคำที่เกี่ยวแก่จรรยาแห่งสาสนาอิสลามเปนพื้น มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันเช่น กิเลส ว่า นัฟสู, ความหมาย ว่า มานา, กลอน ว่า ชแอร์ (Shear) เปนต้น นอกจากที่มา 3 สายไหย่ๆ นี้แล้ว ภาสามลายูยังมีที่มาจาก ภาสาอื่นๆ อันเปนไปเพราะความสัมพันธ์กับชนชาติ ที่พูดภาสานั้นๆ โดยมากเนื่องจากการค้าขายเพราะเมืองมลายูเปนเมืองริมทเลบ้างเล็กน้อย เช่น ภาสาจีน ฝรั่ง ฯลฯ ดุจดังภาสาอื่นทั้งหลายทั่วไปในโลก อันภาสาที่ไช้พูดกันนั้นก็เปนหย่างของทั้งปวงอาสัยสังกรระหว่างภาสาทั้งหลายจึงประเสิด ถ้าภาสาไทยเราไม่มีความระคนปนเปของภาสาอื่นหยู่ด้วย รสของภาสาไทยจะเปนรสที่ซาบซ่านไจก็หาได้ไม่ อาหารถ้าประกอบด้วยสิ่งไรแต่สิ่งเดียวอาหารนั้นไม่น่ากิน เพราะอาหารอาสัยการปรุงปนหลายสิ่งที่มีหลายรสลงด้วยกันดังนั้นดอก อาหารจึงเปนที่ชูรสชวนบริโภค ภาสาก็ดุจเดียวกัน เหตุนี้การปนเปของภาสาไทยหรือภาสามลายู หรือภาสาอื่นใดจึงไม่เปนของชั่วร้าย ถ้ารู้จักเลือกไช้และนำมาจำแลงแปลงตัวไห้เปนไทยทั้งรูปร่างและจิตไจไห้เหมาะกับลักสนะของภาสาก็จะทำไห้มีคำไช้ไนภาสารุ่มรวยขึ้น กลับจะเปนความจเรินของภาสาอันเราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า วัธนธัม (Culture of Language)... เพราะเหตุว่า ภาสามลายูเปนภาสาที่ระคนด้วยภาสาอื่น ๆ เปนอันมาก ฉะนั้นการที่เราได้รับถ้อยคำภาสามลายูเข้ามาจึงต้องพิเคราะห์โดยละเอียดลงไปอีกว่า คำนั้น ๆ ได้อาสัยลักสนะของภาสามลายูชุบตัวแล้วหรือไม่ ถ้าไม่อาสัยและภาสานั้นก็ได้เคยมีตรงเข้ามาไนภาสาไทยของเราเองแล้วเราไม่ควนนับว่าเปนคำภาสามลายูเลย เช่นภาสา จีน สันสกริต หรืออาหรับ สำหรับภาสาอาหรับโดยมากไม่ได้รับการชุบแปลงตัวจากภาสามลายูเท่าไรรูปคำเดิมเปนหย่างไรก็มักหยู่หย่างนั้น ภาสาจีนก็ดุจกัน มีที่ได้รับความเปลี่ยนแปลงเพราะลิ้นภาสามลายูบ้างเล็กน้อย แต่ภาสาสันสกริตนั้นได้ถูกจำแลงเพราะลักสนะของภาสามลายูมากหยู่ และเราก็ได้รับถ้อยคำภาสาสันสกริตโดยตรงหยู่ทางหนึ่งเหมือนกัน
ฉะนั้นการที่จะวินิจฉัยว่า คำไดเปนคำที่เราเอามาจากสันสกริตโดยตรงทีเดียวหรือเอามาโดยผ่านภาสามลายูจึงเปนสิ่งที่ยาก เช่น คำ ภาสา คำนี้เราเอามาตรงจากสันสกริตแต่ไนภาสามลายูคำนี้ เขาก็เอามาจากสันสกริตเหมือนกัน ไม่มีการเปลี่ยนรูปไปเพราะอำนาตภาสามลายูเลย ฉะนั้น เราต้องถือว่าไม่ไช่เปนคำที่เราได้มาจากภาสามลายู... ภาสามลายูที่ชาวบริเวนเจ็ดหัวเมืองใช้พูดกันนั้นเปนเสมือนภาสาบ้านนอกของพวกมลายูเขาก็ว่าได้ คือมีสำเนียงเพี้ยนผิดกันมากโดยเฉพาะไนจังหวัดปัตตานีแทบจะเปนปรากริตภาสาของมลายูทีเดียว ถ้าจะเปรียบกับของเรา ก็คือพูดภาสาเมืองหลวงหรือภาสาราชการไม่ชัด แปร่งไปเหตุที่แปร่งก็เพราะลิ้นของพวกบริเวนเจ็ดหัวเมืองติดมาข้างไทย จารีตประเพนี ขนบทำเนียม อุปนิสัย ไจคอ เหล่านี้ได้ทำไห้พูดภาสามลายูไปเสียคนละหย่างกับภาสาที่แท้จิง อาดกล่าวได้ว่า คนมลายูไนโชนันกับพวกที่พูดภาสามลายูไนปัตตานีนั้น พูดกันไม่รู้เรื่อง ตั้งแต่ไวยกรน์ไปจนกะทั่งถ้อยคำที่ไช้...”

มีข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับบทความทางภาษา ‘ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย (ตอนต้น)’ ของนายผีซึ่งปรากฎอยู่ในบทบรรณาธิการของวรรนคดีสารเล่มนี้ว่า
“ในการบำรุงวัธนธัมภาสาไทยควนมีนักภาสาสาตรและฉเพาะหย่างยิ่งนักนิรุติสาตร ซึ่งจะช่วยกันค้นคว้าที่มาและความหมายของคำไนภาสาไทยเปนจำนวนมากยิ่งขึ้น นาย อ.พลจันท์ ซึ่งได้เคยสแดงความสนไจไนภาสาสันสกริตมาแล้วนั้น บัดนี้ได้สึกสาภาสามลายู และเรียบเรียงเรื่องส่งมา ฉันจึงมีความยินดีที่จะนำลงไห้ และขอขอบคุน สเถียรโกเสสที่ได้เติมเชิงอัถลงไว้ด้วย ความเห็นหรือความสันนิถานของนาย อ.พลจันท์ เกี่ยวกับคำภาสาไทยที่ว่ามาหรือเนื่องมาจากภาสามลายูนั้นฉันเองเห็นว่ายังไม่มีหลักถานและเหตุผลมาสนับสนุนเพียงพอ เช่น คำว่า กะบือ ถ้าจะถือว่ามา จากภาสามลายู ก็จะต้องสแดงด้วยว่า ไม่ได้มาจากภาสาเขมน และไนการสันนิถานที่มาของคำ ก็ควนจะนึกถึงความหมายไห้หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่น คำว่า ประหลาด จะไห้มีความหมายว่า ยินดี นั้น เปนการฝืนความจิง แต่ถ้านาย อ. พลจันท์ บากบั่นต่อไปความรอบคอบก็จะบริบูรน์ขึ้น เพราะสแดงว่ามีแววดีหยู่แล้ว”
บรรณาธิการของวรรนคดีสารฉะบับนี้คือพระเจ้าวรวงส์เธอ พระองค์เจ้าวรรนไวทยากร และกรรมการของวรรนคดีสารยังประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน เช่น พนะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นาย ย.ส.อนุมานราชธน พนะ ว. วิจิตรวาทการ เป็นต้น
นายผีกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2461 และอำลาจากโลกนี้ไปเมื่อ พ.ศ. 2530 ตลอดระยะเวลา 69 ปี นายผีได้สร้างสรรค์วรรณกรรมชั้นเยี่ยมไว้เป็นจำนวนมากบทกวีไม่น้อยกว่า 350 ชิ้น เรื่องสั้นกว่า 40 เรื่อง บทความหลากหลายประเภทและเรื่องแปลอีกมากมาย ความเป็นเอกอุทางวรรณศิลป์ของนายผีปรากฏอยู่ในบทความทางวิชาการอย่าง ‘อารย กับ อนารย’ วรรณกรรมแปลอย่าง ‘ภควัทคีตา’ บทกวีอย่าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ‘อีศาน!’ ‘เราชนะแล้ว, แม่จ๋า’ เป็นต้น มีความพยายามรวบรวมผลงานของนายผีโดยสำนักพิมพ์สามัญชนและคณะกรรมการจัดงาน ‘นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่’ เมื่อ พ.ศ. 2540-2541 และขณะนี้มีความพยายามอีกครั้งหนึ่งใน ‘โครงการอ่านนายผี’ ของสำนักพิมพ์อ่านที่กำลังทยอยพิมพ์ผลงานของนายผีออกมาสู่บรรณพิภพเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2556
บทความทางภาษา ‘ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย (ตอนต้น)’ จึงเป็นหนึ่งในวรรณกรรมชั้นเยี่ยมทั้งหลายและนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอก ชิ้นหนึ่ง ของนายผีที่อธิบายการเมืองโลกอิสลามและมลายูในขณะนั้น ยังมีวรรณกรรมการเมืองในสายธารนี้อีกจำนวนหนึ่งซึ่งถูกค้นพบและสมควรถูกบันทึกไว้ ณ ที่นี้ โดยเป็นไปตามลำดับของช่วงเวลาที่เขียน
1. ‘ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย (ตอนต้น)’ บทความทางภาษา ใช้นามปากกา ‘อ.พลจันท์’ พิมพ์ในวรรนคดีสาร เล่มที่ 10 พรึสภาคม พ.ศ. 2487 ปีที่ 2
2. ‘ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร’ บทความทางศาสนา ใช้นามปากกา ‘อ.ส.’ พิมพ์ในสยามนิกร วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489
3. ‘บริเวณ 7 หัวเมือง’ สารคดี ใช้นามปากกา ‘อ.ส.’ พิมพ์ในสยามนิกร มกราคม พ.ศ. 2490
4. ‘การเมืองใน 7 หัวเมือง’ บทความทางการเมือง พิมพ์ในสยามนิกร 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490
5. ‘ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู’ นิทานการเมือง ใช้นามปากกา ‘อินทรายุธ’ พิมพ์ในมหาชน รายสัปดาห์ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2491
6. ‘การปฏิวัติที่ห่าม’ นิทานการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในการเมือง รายสัปดาห์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 15 วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และปีที่ 5 ฉบับที่ 16 วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491
7. ‘กาเซะห์ ซายัง เซียม!’ นิทานการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักติ’ พิมพ์ในการเมืองรายสัปดาห์ 22 มกราคม พ.ศ. 2492
8. ‘สัมไป ฮาตี’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในอักษรสาส์น ฉะบับที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2492
9. ‘มรฺ เดกา สูเปโน มรฺเดก้า!’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามนิกร 12 กันยายน พ.ศ. 2492
10. ‘ลาก่อน, สยาม ลาก่อน’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามนิกร 3 ตุลาคม พ.ศ. 2492
11. ‘ขบวนการดารูลิส์ลาม’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามนิกร 24 ตุลาคม พ.ศ. 2492
12. ‘The Scapegoat’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามนิกร วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
13. ‘จดหมายถึงมิลลี่’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามนิกร วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2493
14. ‘อิฟตารี’ เรื่องสั้นแปลการเมือง งานของ ‘ราษิท ชาหัน’ นักเขียนอินเดีย ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในอักษรสาส์น กรกฎาคม พ.ศ. 2493
15. ‘จากตนกูไปสู ่สามัญชน’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามสมัย กันยายน พ.ศ. 2493
16. ‘ความรักอันเริงแรง’ เรื่องสั้นการเมือง ใช้นามปากกา ‘กุลิศ อินทุศักดิ์’ พิมพ์ในสยามสมัย มกราคม พ.ศ. 2495
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตบางประการในวรรณกรรมการเมืองโลกอิสลามและมลายูที่เป็นบทความทางวิชาการ นิทานการเมือง เรื่องสั้นการเมืองและเรื่องสั้นแปลการเมืองของนายผีทั้ง 16 เรื่องข้างต้นดังต่อไปนี้

1. บทความทางภาษา ‘ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย (ตอนต้น)’ ที่ตีพิมพ์ในวรรนคดีสารฉะบับนี้มีความยาวถึง 29 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 90 หน้า คิดเป็นหนึ่งในสามของเล่ม ซึ่งในบทบรรนาธิการ กล่าวถึงคำ ‘กะบือ’ ว่าไม่ใช่ภาษามลายู ปรากฎว่า คำ ๆ นี้มีใช้ใน Bahasa Indonesia เขียนว่า ‘Kerbau’ ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษว่า ‘Water Buffalo’ น่าเสียดายที่ยังไม่พบว่ามีบทความทางภาษาของนายผีในเรื่องนี้ต่อจาก ‘ตอนต้น’
2. นิทานการเมืองและเรื่องสั้นการเมืองบางเรื่องร่วมสมัยกับการเรียกร้องเอกราชของ อินโดนีเซียซึ่งได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488
3. นิทานการเมืองและเรื่องสั้นการเมืองบางเรื่องมีตัวเอกชายชื่อ ‘กุลิศ’ ซึ่งเป็นนามประพันธ์ของอัศนี พลจันทร และตัวเอกหญิงชื่อ ‘ฟาตีมะห์’ ชื่อเดียวกับเจ้าของบ้านที่นายผีเช่าอยู่ 2 ปีระหว่างรับราชการที่ปัตตานี พ.ศ. 2485-2487
4. นิทานการเมืองและเรื่องสั้นการเมืองบางเรื่องมีนครปัตตานีเป็นฉากในการเดินเรื่อง สอดคล้องกับสถานะการณ์ทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่นในจังหวัดชายแดนใต้ขณะนั้น เช่น การประกาศใช้ ‘รัฐนิยม’ เป็นนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2482-2487 และกรณีที่ฮัจญีสุหลงกับและคณะจากปัตตานียื่นคำร้อง 7 ข้อต่อนายยกรัฐมนตรี หลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2490
5. เรื่องสั้นแปล วรรณกรรมการเมืองภาษาอุรดูของ ‘ราษิท ชาหัน’ เป็นหลักฐานยืนยันว่านายผีมีความแตกฉานในภาษาอุรดูจริงตามข้อมูลของคุณยืนหยัด ใจสมุทรและท่านอื่น ๆ
6. นอกเหนือจากวรรณกรรมการเมืองโลกอิสลามและมลายู นายผียังมีบทความมลายู ชวา จำนวนหนึ่งตีพิมพ์ในสยามนิกร พ.ศ. 2490 เช่น หิกายัต ปันหยี กุตาสมิรัง อิเหนาฉบับอารีนครา เป็นต้น และบทความการบ้านการเรือน ชื่อ ‘ยาหยีปี๊-ไหว่ว้ายฟาตีมาห์’ ตีพิม์ในปิยมิตรวันจันทร์ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2502
นายผี ‘อัศนี พลจันทร’ เป็นมิตรร่วมรบกับมลายูมุสลิมที่ปัตตานี นายผีใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกข่มเหงโดยไม่มีกำแพงใด ๆ มาขวางกั้น นายผีใช้ปากกาขีดเขียนวรรณกรรมการเมืองโลกอิสลามและมลายูจนฟูเฟื่องเลื่องลือบรรเจิดไสว ขอคารวะความดีงามของท่านมา ณ ที่นี้
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
- ภาพประกอบจากบทความ เมื่อนายผี ‘อัศนี พลจันทร’ เรียนภาษามลายูวรรณการเมืองโลกอิสลามและมลายูก็ฟูเฟื่องเลื่องลือบรรเจิดไสว โดย สมาน อู่งามสิน
- ต้นฉบับเพลงคิดถึงบ้าน โดย อัศนี พลจันทร ในวรรคท้ายคือ “จะไปซบหน้าในอกแม่เอย”
เอกสารอ้างอิง :
- สมาน อู่งามสิน, “เมื่อนายผี ‘อัศนี พลจันทร’ เรียนภาษามลายู วรรณการเมืองโลกอิสลามและมลายูก็ฟูเฟื่องเลื่องลือบรรเจิดไสว”, รูสมิแล 38, 1 (มกราคม-เมษายน 2560): 45-57.