ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปฏิกริยาของสังคมต่อมรณกรรมของปรีดี พนมยงค์

3
พฤษภาคม
2563

ปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่มรณกรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ด้วยอาการหัวใจวาย ที่บ้านพักชานกรุงปารีส ขณะมีอายุ 83 ปี

สำนักข่าว เอ.พี. ได้เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก พิธีฌาปนกิจของนายปรีดี มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526 ที่ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส หรีดเคารพศพถูกส่งมาจากกลุ่มนักเรียนไทยในกรุงปารีส เยอรมัน อังกฤษ และจากรัฐบาลฝรั่งเศส แต่ไม่ปรากฎหรีดจากรัฐบาลไทย

หลังข่าวมรณกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เผยแพร่ออกไป บุคคลต่าง ๆ ในเมืองไทย มีทรรศนะเช่นไรบ้าง เราได้รวบรวมไว้ให้ผู้อ่านได้พิจารณา

 

 

- - - - -

 

พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ พูดถึงมรณกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า “ได้ทราบตั้งแต่เมื่อคืน ลูกสาวนายปรีดี เป็นผู้มาบอกให้ทราบ โดยส่วนตัวรู้จักกับครอบครัวนี้มานาน เพราะเป็นชาวอยุธยา คุ้นเคยกับภริยาตัวเองมาก่อน นายปรีดีจากประเทศไทยไปนาน แต่ก็ได้ยอมรับกันว่าเป็นรัฐบุรุษอาวุโส มีผู้นับถือมากคนหนึ่ง ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนสิ้นชีวิต นายปรีดีได้ติดต่อขอกลับประเทศไทยบ้างหรือไม่ พล.อ.สิทธิ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นไม่ทราบ แต่สมัยที่ตัวเองเป็น รมว.มหาดไทย ยังไม่เคยได้รับการติดต่อ”

สิทธิ จิรโรจน์
ไทยรัฐ, 3 พฤษภาคม 2526

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีร้อง “อือ” คำเดียว แล้วรีบเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปยังห้องทำงาน เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงมรณกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ว่ารัฐบาลจะเตรียมพิธีเป็นทางการอย่างใดในเรื่องนี้หรือไม่

เปรม ติณสูลานนท์
สยามรัฐรายวัน, 3 พฤษภาคม 2526

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิด-นักเขียน กล่าวว่า “รัฐบาลน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อการรำลึกถึงท่าน เป็นการแสดงความกตัญญูที่ท่านได้สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาถึง 3 สมัย เคยกอบกู้เอกราชชาติไทย ไม่มีท่านเราก็แพ้สงคราม ท่านเป็นผู้เรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์
มาตุภูมิรายวัน,  4 พฤษภาคม 2526

 

สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไปเยี่ยมท่านเมื่อเร็ว ๆ นี้ อยู่กับท่านถึง 18 วัน เพิ่งกลับมาเมื่อวันที่ 28 เมษายนนี้เอง ท่านเคยพูดว่า ขอให้ถือหลักการเมืองแบบเก่าคือ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ไม่มีชาติไหนจะรักเมืองไทยเท่ากับคนไทยเอง ท่านเห็นว่าความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ท่านยึดถือและนิยมสังคมนิยม โดยความหมาย “นิยม” คือ จำกัด  ไม่ได้หมายความว่า ชอบ ดังนั้นความหมายของท่านก็คือ สำคัญที่สังคมนั้นต้องเป็นสังคมที่อภิวัฒน์แท้ ๆ คือถ้าเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่อย่างอื่นมาบวก ผมเห็นชีวิตของท่านสองอย่างคือ 1. ถ้าไม่มีท่าน ประชาธิปไตยไม่มี 2. ถ้าไม่มีท่าน เราเสียเอกราชตอนสงคราม ส่วนกรณีสวรรคตนั้น เป็นการใส่ร้ายป้ายสี ใครที่บังอาจกล่าวเรื่องนี้ ต้องแพ้คดีในศาลหมด”  

สุภา ศิริมานนท์
มาตุภูมิรายวัน,  4 พฤษภาคม 2526

 

นายจรูญ สืบแสง อดีตผู้ร่วมก่อการฯ กล่าวว่า “เสียใจมาก แต่ก็ไม่เท่าความรุ้สึกที่มีอยู่ เสียดายท่านกำลังเขียนเรื่อง กำลังทำงานอยู่ด้วย เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับประวัติชีวิตการทำงาน จะได้รู้ว่าท่านทำอะไรไว้บ้าง คนโดยมากไม่รู้ ไม่เข้าใจ ที่รู้ก็พยายามปิดบัง ไม่พูดความจริงกัน ไม่เหมือนฝรั่ง ใครทำประโยชน์อะไรแก่ประเทศชาติ เขายกย่องคนที่ควรยกย่อง ไม่ทราบจะพูดอะไร เราต้องสูญเสียคนดีไป”

จรูญ สืบแสง
มติชนรายวัน, 4 พฤษภาคม 2526

 

นายวิลาศ โอสถานนท์ อดีตประธานรัฐสภา “เสียใจที่เพื่อนรักและนับถือกันจากไปเสีย ท่านไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดเมืองนอนเลย ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส รัฐบาลน่าจะทำอะไรให้เป็นเกียรติแก่ท่าน ไม่ทราบว่าเขาจะเห็นความสำคัญของท่านอย่างไร แต่สำหรับท่านเองแล้วยังห่วงใยประเทศไทยมาตลอด”

วิลาศ โอสถานนท์
มติชนรายวัน, 4 พฤษภาคม 2526

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กล่าวว่า “เคยเป็นศัตรูขับเคี่ยวกับนายปรีดี มานานแล้ว เวลานี้อายุมากขึ้นก็ลืมความหลังไปหมดแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่ลูกชายผม (ม.ล.รองฤทธิ์) เมื่อเดินทางไปยังปารีสก็แวะไปเยี่ยมท่าน ท่านถามว่าลูกใคร พอรู้ว่าลูกผม ท่านก็ยังเอาตัวไปกอด แล้วถ่ายรูปไว้ดู พร้อมกับเดินมาส่งหน้าบ้าน ผมก็ถือว่าไม่มีอะไรแล้ว ผมลืมอดีตได้ ท่านเองก็อาวุโส อายุถึง 83 ปี ผมเคารพนับถือว่าท่านเป็นยิ่งกว่าพี่ใหญ่ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่าน แต่เรื่องกาลเวลาและธรรมชาติ ท่านจากไปโดยที่ไม่เดือดร้อนอะไร ผมก็ใส่บาตรกรวดน้ำให้ท่าน และในทางส่วนตัว ผมกับท่านก็ไม่เคยมีอะไรกันเลย เพราะผมไม่เคยต่อสู้ทางการเมืองกับใครด้วยเรื่องส่วนตัว”

คึกฤทธิ์ ปราโมช
มาตุภูมิ, 4 พฤษภาคม 2526

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กล่าวว่า “ผมสงสารที่คุณปรีดีเสียชีวิตโดยมิได้กลับประเทศไทย แม้ว่าเราจะเคยต่อสู้กันมาอย่างหนักหน่วงในอดีต แต่ตอนนี้ก็แก่แล้ว ไม่ถือสากัน ผมลืมเรื่องในอดีตไปหมดแล้ว เมื่อเช้าก็ทำบุญกรวดน้ำไปให้ท่าน ผมกับคุณปรีดีในทางส่วนตัวไม่เคยเป็นศัตรูกันเลย ท่านเป็นคนที่น่าเคารพ เป็นเสรีชน ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วย”

คึกฤทธิ์ ปราโมช
มติชนรายวัน, 4 พฤษภาคม 2526

 

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมรณกรรมของนายปรีดีว่า “รู้สึกเสียดาย เพราะเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์เอาไว้มาก และกล่าวถึงผลงานของนายปรีดีว่า เป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในบ้านเมืองเป็นคนแรก จริงอยู่ แม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชน แต่นายปรีดีได้ทำก่อน ก็ต้องยกย่อง นอกจากนั้นก็พยายามเร่งร่างประมวลกฎหมายต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งการตั้งกงศุลด้วย และที่สำคัญในขบวนการเสรีไทย เขามีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีคนนี้มาช่วยเคลื่อนไหว งานนี้เห็นจะสำเร็จยาก ผมคงทำอะไรไม่ได้มากแน่”

เสนีย์ ปราโมช
มติชนรายวัน, 5 พฤษภาคม 2526 

 

นายแคล้ว นรปติ เลขาธิการพรรคสังคมประชาธิปไตย “ตนได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในพิธีของรัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงชีวิตของนายปรีดี ได้ประกอบคุณงามความดีไว้อย่างมาก เช่น ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบต่างชาติ เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา จนฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่า ไทยไม่ใช่ผู้แพ้สงคราม เหตุที่นายปรีดีถึงแก่กรรมต่างประเทศ เนื่องจากความเข้าใจผิดของบุคคลบางคนบางฝ่าย จึงเห็นว่ารัฐบาลสมควรจัดพิธีศพให้สมเกียรติเช่นเดียวกับวีรบุรุษ”

แคล้ว นรปติ
มาตุภูมิ, 5 พฤษภาคม 2526

 

นายมารุต บุนนาค รมว.ยุติธรรม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “ได้ส่งโทรเลขแสดงความเสียใจไปแล้วเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นลูกศิษย์และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง นับเป็นการสูญเสียคนสำคัญคนหนึ่งของบ้านเมือง เมื่อนำกระดูกกลับมาแล้ว จะมีการจัดงานใหญ่ระหว่างญาติมิตรกับธรรมศาสตร์และสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ด้วย นายมารุตเปิดเผยต่อไปว่า การจัดงานเมื่อวานนี้มีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภาเป็นประธานในพิธี และมีบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีก หลายคน เช่น ประภาศน์ อวยชัย นายบุญ เจริญชัย นายกนธีร์ ศุภมงคล ส่วนกรณีที่ว่ารัฐบาลควรมีส่วนในการจัดงานครั้งนี้หรือไม่นั้น นายมารุตกล่าวว่า “ต้องไปถามนายกฯเอาเอง”

มารุต บุนนาค
มาตุภูมิ, 5 พฤษภาคม 2526

 

ด้านนายชัยอนันต์ สมุทรวานิช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ แสดงทัศนะต่อ “เศรษฐกิจการเมือง” ว่า “นายปรีดีเป็นผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกถึง”

ชัยอนันต์ สมุทรวานิช
เศรษฐกิจการเมือง, 5 พฤษภาคม 2526

 

นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา กล่าวกับ “มาตุภูมิ” ว่า “ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นประธานรัฐสภา ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมจัดพิธีศพนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง จะต้องไปร่วมในการทำบุญตามประเพณีให้ได้ ไม่ว่าใครจะกล่าวอย่างไร ตนไม่ห่วงทั้งสิ้น เป็นเรื่องส่วนตัวที่ใครจะมาแตะต้องไม่ได้” 

จารุบุตร เรืองสุวรรณ
มาตุภูมิรายวัน,  6 พฤษภาคม 2526

 

นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา “ผมคงให้ความเห็นในฐานะประธานรัฐสภาไม่ได้ แต่ความเห็นส่วนตัวแล้ว รู้สึกสะเทือนใจที่ท่านต้องล่วงลับไป ท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผมมีโอกาสเข้าศึกษาในขั้นอุดมศึกษา ถ้าไม่มีท่าน อาจจะทำให้ชีวิตทั้งชีวิตของผมไม่มีโอกาสศึกษาในขั้นอุดมศึกษาเลยก็ได้ ผมจึงมีความเสียใจอย่างมาก”

จารุบุตร เรืองสุวรรณ
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 8 พฤษภาคม 2526

 

นายชวน หลีกภัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นท่านมาก่อน ระหว่างเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็ไม่เคยเห็น แต่ก็รักและศรัทธาท่าน ระหว่างที่เรียนอยู่ เป็นช่วงสมัยรัฐประหาร เขาพยายามจะตัดชื่อมหาวิทยาลัยออก โดยตัดตัวย่อตัวท้าย คือ ม.ธ.ก. เหลือแต่ ม.ธ. เพื่อให้ลืมอดีตให้หมด และให้นักศึกษารุ่นใหม่เปลี่ยนแนวความคิด ไม่ให้มีงานการที่จะระลึกถึงวันเก่า ๆ แต่ในส่วนนักศึกษาเห็นได้ชัดว่า เลื่อมใสศรัทธาและมีความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยนี้เกิดขึ้นโดยท่าน น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทยอีกเลย ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส และเป็นบุคคลที่มั่นคงเหนียวแน่น หาไม่ได้ง่าย ๆ”

ชวน หลีกภัย
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 8 พฤษภาคม 2526

 

นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีนักศึกษายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้สร้างอนุสาวรีย์นายปรีดีว่า “เป็นความคิดริเริ่มที่ดี ขอสนับสนุน ทั้งนี้เหตุผลก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า นายปรีดีเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อ ปี 2475 ให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่มีประโยชน์ต่อราษฎรมากที่สุด”

อุทัย พิมพ์ใจชน
มติชนรายวัน, 10 พฤษภาคม 2526

นายมารุต บุนนาค รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า “การสูญเสียนายปรีดี เป็นการสูญเสียเพชรอันล้ำค่าของประเทศ ท่านคือผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนส่วนใหญ่ ตลอดชีวิตของท่านไม่เคยมีความสุข มีแต่อุทิศชีวิตเพื่อคนส่วนใหญ่ นักการเมืองทั้งหลายควรยึดถือท่านเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นผู้ริเริ่มธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นบันไดของระบอบประชาธิปไตยในทุกวันนี้ นอกจากนี้นายปรีดียังเป็นผู้เปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นธรรม ต่อสู้เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต่อสู้เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย ท่านคือนักกฎหมายผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แต่ถูกความไม่เป็นธรรมโจมตี”

มารุต บุนนาค
มาตุภูมิรายวัน,  11 พฤษภาคม 2526

 

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา “นายปรีดี เป็นผู้นำเอาวิชาการที่ก้าวหน้ามาใช้กับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ มีส่วนในการศึกษาเรื่องเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง เข้าใจความสำคัญของที่ดินทำกิน ซึ่งราษฎรทุกคนควรจะมี ความคิดของท่านล้ำหน้ากว่ายุคสมัย เมื่อมาถึงวันนี้ เราก็ตระหนักในสิ่งนี้

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
มาตุภูมิรายวัน,  11 พฤษภาคม 2526

 

พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ได้กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาว่า “มีแต่คนหูหนวกตาบอดเท่านั้นที่ไม่รู้ว่ารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ทำอะไรให้กับประเทศชาติบ้าง อาตมภาพได้ไปเยี่ยมท่านที่บ้าน ณ ประเทศฝรั่งเศส 2-3 ครั้ง เคยถามท่านว่า เมื่อไรจะกลับเมืองไทย ท่านตอบว่าถ้าความบริสุทธิ์ของท่านไม่บริสุทธิ์ทั่วถึง ท่านก็จะไม่กลับ ถ้ารัฐบาลรับรองความบริสุทธิ์นั่นแหละถึงจะกลับมา” พระพิมลธรรมกล่าว และว่า “ท่านเป็นห่วงบริวารที่ร่วมงานกันมา แต่แล้วท่านก็มามรณกรรมเสียก่อน อย่างไรก็ตามเราไม่ควรโศกเศร้าเสียใจร้องไห้ร้องห่มกัน เพราะไม่มีประโยชน์อันใดแก่ผู้ตาย ถ้าเรานึกถึงท่านต้องรู้จักท่านอย่างถูกต้อง ศึกษาทรรศนะท่านอย่างถูกต้อง รักษาความดีที่ท่านให้ไว้แก่เราอย่าให้สูญหาย”  

พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)
มติชนรายวัน, 12 พฤษภาคม 2526

 

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) อดีตผู้ก่อการฯ วัย 86 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดนายปรีดีคนหนึ่งกล่าวว่า “ความดีของท่านรัฐบุรุษมีผู้เห็นมามาก กล่าวได้ไม่ผิดว่าท่านมีส่วนอย่างมากในการนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย ท่านเป็นคนสำคัญในการก่อร่างเสรีไทยที่ช่วยให้ฐานะเราไม่ใช่ประเทศแพ้สงคราม ถ้าไม่มีเสรีไทย ไม่รู้ว่าทุกคนจะได้มานั่งหน้าชื่นตาบานอย่างนี้หรือไม่ ท่านเป็นผู้นำที่ไม่เคยคอรัปชั่นโกงกิน ท่านนึกถึงแต่เรื่องชาติบ้านเมืองและประชาชน ท่านไม่มีชีวิตต่างไปจากคนธรรมดาสามัญเลย

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
มติชนรายวัน, 12 พฤษภาคม 2526

 

นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็เป็นลูกศิษย์ท่านหลายคน ควรจะริเริ่มทำอะไรเพื่อตอบแทนบุญคุณท่านบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ลูกศิษย์ลูกหาของนายปรีดี ต้องทำอย่างแน่นอน อนุสาวรีย์ควรสร้างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท่านเป็นผู้ประศาสน์การ”

เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์
มติชนรายวัน, 12 พฤษภาคม 2526

 

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) กล่าวถึงความหลังอีกว่า “คนที่ได้รู้จักท่านปรีดีอย่างแท้จริงแล้วจะยกย่องว่า เป็นพ่อ, เพื่อนที่ดี และไม่เคยมีผลประโยชน์เป็นกรรมการบริษัทการค้าแต่อย่างใด แม้แต่ค่าน้ำมันรถที่ปรีดีได้รับเพื่อสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในฐานะผู้ประศาสน์การ ยังบริจาคให้กับนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์”

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
มาตุภูมิรายวัน,  12 พฤษภาคม 2526

 

พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยกล่าวว่า “รู้สึกเสียใจที่ท่านเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันโดยส่วนตัว ส่วนรัฐบาลควรจะมีบทบาทอย่างไรนั้น ตนไม่กล้าที่จะออกความเห็นอะไรลงไป สุดแท้แต่รัฐบาลจะดำเนินการตามความเหมาะสม” ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหลายฝ่ายต้องการสร้างอนุสาวรีย์ให้นายปรีดี นายประมาณกล่าวว่า “ความจริงควรที่จะสนับสนุน ควรจะให้เกียรติในฐานะที่ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส” ผู้สื่อข่าวถามว่าใครจะผลักดันเรื่องนี้ เพราะท่านนายกฯ ไม่ค่อยสนใจ พลตรีประมาณกล่าวว่า ”เป็นเรื่องของท่าน ไม่รู้จะพูดอย่างไร”

ประมาณ อดิเรกสาร
มติชนรายวัน, 13 พฤษภาคม 2526

 

ที่รัฐสภา นายเสริมศักดิ์ การุญ สส.ระยอง พรรคชาติไทย ได้เสนอญัตติด่วนเข้าสภา ให้สภาไว้อาลัยแก่นายปรีดี โดยให้เหตุผลว่า “นายปรีดีเป็นผู้ทำหน้าที่และคุณประโยชน์ให้แก่ชาติและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐสภาไทยจะแสดงความเคารพ โดยร่วมกันยืนไว้อาลัยให้ท่านเป็นเวลา 1 นาที” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญัตติด่วนของนายเสริมศักดิ์ยังไม่เข้าเกณฑ์ ที่จะบรรจุในวาระด่วนได้ เพราะขาดคนรับรอง

เสริมศักดิ์ การุญ
มาตุภูมิรายวัน,  13 พฤษภาคม 2526

 

“เนื่องจากมีเหตุการณ์อันจำเป็นที่ท่านจะต้องออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตส่วนตัวในต่างแดนจนมรณกรรมดังกล่าว ประกอบกับทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศยอมรับว่าท่านเป็นรับบุรุษของโลกคนหนึ่ง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐสภาไทยจะแสดงความเคารพ โดยร่วมกันยืนไว้อาลัย ให้ท่านเป็นเวลา 1 นาที ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองอย่างเหลือคณานับ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การสังคม และด้านอื่น ๆ”

เสริมศักดิ์ การุญ
ดาวสยาม,  14    พฤษภาคม 2526

 

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี โฆษกประจำสำนักนายกรับมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกยินดีในเรื่องที่จะมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน แต่ขอให้เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติในอดีต ซึ่งประเทศไทยมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์แก่ผู้นำทางการเมืองหลายคน ล้วนแล้วแต่ก่อสร้างด้วยเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาทั้งสิ้น ไม่เคยใช้งบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด” นายไตรรงค์กล่าวอีกว่า “ในเรื่องนี้ตนได้ปรึกษาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายท่านแล้ว ตามความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การสร้างด้วยเงินบริจาคจะขลังกว่า เชื่อว่าลูกศิษย์ธรรมศาสตร์ที่มีอยู่จำนวนมากก็คงบริจาคเงินอย่างเพียงพอในการก่อสร้าง”

ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
มติชน, 14 พฤษภาคม 2526