Focus
- สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิดของนายปรีดี พนมยงค์ ได้แก่ ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์, ผุดผาดน้อย วรวุฒิ, ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช และ จิ่งทง ลิขิตชลธาร
- ทั้ง 4 ท่าน บอกเล่าความทรงจำและเรื่องราวขณะใช้ชีวิตอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสสนิทคุ้นเคยกับครอบครัวปรีดี-พูนศุข
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
รู้จักท่านโดยบังเอิญ ไม่รู้จะบังเอิญอย่างไร เพราะว่าตอนนั้นผมเรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า ยังไม่เป็นภาษาฝรั่งเศส สองเดือนแรกนี่ย่ำแย่ต้องหางานทำ ล้างจาน มีเพื่อนติดตามอีกคนหนึ่ง เพื่อนคนไทย บ้านอยู่แถววงเวียน 22 ก็ติดตามมาล้างแก้ว เพราะว่าภาษายังไม่เป็น แล้วก็มี ‘โส่ย’ ซึ่งเป็นคนไทย อยู่ได้ 2 – 3 ปีแล้ว พูดภาษาฝรั่งเศสเป็น ก็เลยเป็นคนเสิร์ฟอาหารอยู่ที่ร้านฮ่องกง เจ้าของเป็นคนฮ่องกง ชื่อร้านชื่อฮ่องกง อยู่แถวซอร์บอร์น ใกล้ถนน Saint Jacques ถนนที่ยาวที่สุดของปารีส
พี่แอ๊ะกับพี่น้อยเขาไปทานอาหารที่ร้านโดยไม่รู้จักกันว่าเป็นคนไทยอะไรทั้งสิ้น ไม่เคยแนะนำ โส่ยเขาก็เชิญเข้ามาร้านอาหารตามระเบียบ แล้วให้เมนูดูรายการเครื่องดื่มก่อน พี่แอ๊ะเลยถามพี่น้อยเป็นภาษาไทยว่าดื่มน้ำอะไรดี พอโส่ยได้ยินก็หูผึ่งเพราะเป็นภาษาไทย เลยแซวแบบจิ๊กโก๋สยามไปว่า “พี่เป๊ปซี่ครับ ดีที่สุด” ก็เลย “อ้าว คนไทยเหรอ” ตอนนั้นเลยไปกันใหญ่ คนไทยเจอกันโดยบังเอิญ เลยเล่าสู่ไม่รู้จักจบ โส่ยเลยไปเรียกผมที่อยู่ในห้องครัว แล้วก็ฌอนที่ล้างแก้วอยู่ มานั่งคุยกัน คุยกันเป็นชั่วโมงเลย เหมือนไม่เคยเจอกันในชาตินี้
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ : หลังจากนั้นผมไปอีกหลายทีนะ
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
หลังจากนั้นก็เชิญพี่แว่น (เสาวนีย์ ลิมมานนท์) ไปที่ร้าน มารู้จักอีกที ตอนนั้นเป็นขวัญใจของพวกเราพอดี ก็ไปช่วง 14 ตุลาฯ เหมือนกัน ก็เลยประทับใจ ตื้นตันใจมาก
หลังจากนั้นพี่แอ๊ะก็ชวนไปที่สนามฟุตบอล Université ที่ปารีสเขต 14 ไปใหม่ๆ เราก็ดูเขาเตะบอลกัน พี่แอ๊ะก็ชวนผมกับฌอนว่ามาเตะบอลด้วยกันไหม ผมก็พูดแบบความจริงว่า ผมไม่เป็น ผมเป็นแต่มวยไทย แล้วท่าทางเป็นจิ๊กโก๋สยาม เขาเห็นแล้วยังบอกว่า “หมั่นไส้ เรียกเตะบอล แต่จะต่อยมวย” พี่แอ๊ะเลยบอกว่า เดี๋ยวอาทิตย์หน้าเจอกันใหม่จะเอานวมมาให้ซ้อม จะหาคนซ้อมมาให้
พออาทิตย์ต่อมาผมก็ไปตามปกติ ก็ไปหานักมวยคนหนึ่ง เขาเคยอยู่เมืองไทยมาก่อนเป็นแชมป์กองทัพบก ตัวใหญ่กว่าผมอีก หนักกว่าผม 10 กิโล ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย คิดว่าซ้อมออกกำลังกาย ที่ไหนได้พอประหมัด เขาหลอกเตะขาผม ผมก็ยกขาตาม พอตอนหลังหันมาเตะสูง 3 - 4 ที ตรงนี้ว่างเลย (ชี้ตรงชายโครง) พอดีที่ 10 ก็จุกเลย หายใจไม่ออก เสียฟอร์มเลย พอหายใจจุกก็บอกว่าเดี๋ยวมวยสากลก็แล้วกัน
เพื่อนก็มาสะสางให้ เพราะรู้ว่าผมเป็นคนใจร้อน ไม่กลัวใครอยู่แล้ว บอกว่า “ธงใจเย็นๆ” รู้ว่าสู้เขาไม่ได้อยู่แล้วล่ะ ตอนนั้นผมแค้นมาก พอประหมัดแล้ว ผมกะว่าง้างหมัดแล้วจะต่อยให้เต็มหน้าสักทีหนึ่ง ที่ไหนได้ผมง้างหมัด หมัดเขามาก่อนเลย 4 – 5 หมัด ผมเสียท่า เสียฟอร์ม ทิ้งนวม พูดแบบนักเลง สู้ไม่ได้ แล้วก็ไปที่สนามบอลเจอกันประมาณสัก 6 – 7 เดือน จนถึงวันที่ 11 พฤษภาวันเกิดท่านปรีดี พี่แอ๊ะบอกว่า “ธง เดี๋ยวไปงานวันเกิดคุณลุงนะ” ให้พี่อ้นพาไป แต่ตอนนั้นเขายังไม่ได้บอกว่าเป็นท่านอาจารย์ปรีดีนะ ฌอนถามพี่แอ๊ะว่า “ได้ยินว่าท่านอาจารย์ปรีดีมาอยู่ปารีสแล้ว ก็อยากจะกราบคารวะท่าน” เพราะว่าจริงๆ แล้ว ผมได้ศึกษาประวัติของท่านมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องเสรีไทยและเรื่องลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนลึกซึ้งมาก
พี่แอ๊ะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หูหนวกตาบอด ไม่รู้ทั้งประเทศ แล้วสักวันคงได้เจอกัน มากราบคารวะท่าน แล้วมาจนถึงวันเกิดถึงชวนไป ถึงได้รู้ว่าพี่แอ๊ะคือหลานชายท่านอาจารย์ปรีดี ตอนนั้นทั้งตกใจและดีใจ คิดไม่ถึง เหลือเชื่อจริงๆ จากไม่รู้จักกันก็ค่อยๆ สนิทกับครอบครัวท่าน แล้วตอนหลังก็ได้ย้ายมาอยู่ใกล้ๆ กับครอบครัวท่าน แล้วก็เลยได้ไปที่บ้านบ่อย เวลาจัดงานเลี้ยงต้อนรับใครมาเยี่ยมเยียนก็ไปช่วยตกแต่ง ช่วยล้างจาน ทำกับข้าว เป็นลูกมือหมด
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ตอนแรกที่อยู่เมืองไทย ยังไม่ได้ไปฝรั่งเศส รู้จักอาจารย์ปรีดีมาก่อนไหม แล้วทำไมถึงไปฝรั่งเศส?
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
รู้จักแต่ในตำรา ตอนนั้นอยากใช้ชีวิตต่างแดนที่ไหนก็ได้ ทีแรกจะตั้งใจไปอเมริกา แต่วีซ่าไม่ผ่าน จะไปอังกฤษก็วีซ่าไม่ผ่านอีก แต่มาผ่านที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสเข้าง่าย เลยไปตายเอาดาบหน้าไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ไปคนเดียว แล้วไปเจอเพื่อนที่นู่น?
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
ใช่ ฌอนนี่เป็นเพื่อนบ้านอยู่บ้านที่เมืองไทยด้วยกัน เขาตามไปทีหลัง เขาอยากไปเต็มทน ตอนนั้นคิดว่าไปขุดทอง ไปชุบชีวิตใหม่ เพราะสมัยก่อนอยู่แถววงเวียน 22 เป็นเด็กเกเร ติดยาเสพติดทุกชนิด การพนันทุกอย่างเอาหมด เรื่องชกตีชกต่อยเอาหมด อยู่ไปก็มีแต่ตายกับตาย เข้าคุก เลยตัดสินใจไปใช้ชีวิตต่างแดนดีกว่า เปลี่ยนชีวิต ชุบชีวิตใหม่เลย แล้วก็ดีขึ้นทุกวันเรื่อยๆ
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ตอนเจออาจารย์ปรีดีครั้งแรก เขินหรือว่าอยากจะพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง?
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
รู้สึกดีใจ อย่างตอนที่ไปงานวันเกิดท่าน ตามมารยาทต้องนั่งกับพื้น แต่ผมไปนั่งกับท่านเฉยเลย นั่งเก้าอี้ถ่ายรูป หมูมันเคยติผมอยู่เรื่อยว่า “เวลาคุยกับคุณปู่คุณย่าต้องครับๆ ผมๆ สิ คุยกับผู้ใหญ่”
ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ : ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ตอนที่เจอท่านครั้งแรก?
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
ดีใจ คิดไม่ถึง แล้วปลื้มปีติมาก ขอถ่ายรูป พองานวันเกิดขึ้นไปข้างบนกับท่านอาจารย์ ผมขอถ่ายรูปก่อนเลย
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : พอตอนหลังที่ไปบ้านอาจารย์ปรีดีบ่อยขึ้นเป็นอย่างไร?
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
ก็สนิทกัน รู้จักกันทุกคน บางวันทางบ้านเขาไปข้างนอกก็ปล่อยให้ผมเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว ไปตัดต้นไม้ ทำความสะอาด อะไรเรียบร้อย ช่วยงานเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
เหมือนคนสวน พาไปตัดต้นไม้ ผมพาไปเอง ตอนหลังผมย้ายไปบ้านอยู่ติดกัน พอดีหาอพาร์ทเมนต์ ห่างกันครึ่งป้ายรถเมล์ ตอนหลังๆ สนิทกัน
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
ผม ‘ผุดผาดน้อย วรวุฒิ’ เกิดที่จังหวัดที่คนหน้าตาดีที่สุด คือจังหวัดขอนแก่น ก็ที่ต่อยมวยไม่ได้รักมวย แต่ชอบเล่นกีฬา เล่นฟุตบอล เล่นมวย เล่นตะกร้อ เยอะแยะไปหมด ที่มาต่อยมวยเพราะว่าที่บ้านมีพื้นฐานค่อนข้างจะรากหญ้า ต่อยมวยมันได้ตังค์ ผมต่อยครั้งแรกได้ตังค์ 15 บาท ตอนอายุ 12 – 13 ปี ประมาณปี พ.ศ. 2507 – 2508 ผมเกิดปี พ.ศ. 2494
ต่อยมวยมาเรื่อยจนมาเลิกไป ผมเบื่อ ต่อยกับตัวใหญ่ผมเจ็บ ผมก็ไปอเมริกา 2 ปี ไปเจอกฎหมายอเมริกาไม่ผ่าน เพราะมวยไทยโหดร้าย มีศอก มีเข่า ผมไปอเมริกาตอน พ.ศ. 2519 กลับจากอเมริกา 2521 ปี พ.ศ. 2523 ไปฝรั่งเศส มีเจ้าของโรงยิมมาติดต่อผมไปสอนมวยที่ฝรั่งเศส อยู่ฝรั่งเศสก็เหงาเลย ไม่รู้จักใคร ผมไม่เคยโดดเดี่ยว ผมเป็นคนชอบมีเพื่อน เป็นคนชอบเฮฮา พอรู้ว่าวันอาทิตย์มีนักเรียนไทยเตะบอล ผมชอบกีฬา ก็ไป แล้วเจอพี่แอ๊ะ คือไม่ได้เตะบอลอย่างเดียวนะ พอหลังจากเตะบอลตั้งวงเลยนะ ไม่ใช่วงดนตรี แต่เป็นวงสุรา
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : เตะบอลนี่เตะเฉพาะคนไทยหรือว่าอย่างไร?
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
คนไทยครับ ทีมไทย ไปแข่งกับทีมต่างชาติบ้างอะไรบ้าง แต่ส่วนมากก็บังหน้า บอกลูกเมียว่าไปเตะบอลวันอาทิตย์ กว่าจะกลับบ้านก็ตี 1 ตี 2 บางทีไม่ได้กลับไปนอนบ้านพี่แอ๊ะ ผมไม่รู้ว่าพี่แอ๊ะเป็นหลานท่านปรีดี พี่แอ๊ะเป็นฝ่ายท่านคุณย่า เรียกท่านผู้หญิงพูนศุขว่าท่านคุณย่า
ผมพอไปถึงเดือนแรกก็ได้เมียฝรั่งเลย ผมโชคไม่ค่อยช่วยจีบฝรั่งไม่ได้ ที่ได้ๆ ฝีมือล้วนๆ เขาก็ท้อง ตกใจ เดือนเดียวเป็นไปได้อย่างไร ก็พอดีก็อยู่ยาว เมียอยู่ยาว พอจะคลอดก็คุยกับพี่แอ๊ะ ลูกผมต้องผู้ชาย ผมอยากได้ลูกผู้ชายมาเล่นกีฬา ชื่อนู่นชื่อนี่ ไม่มีชื่อผู้หญิงเลย พอคลอดออกมาเป็นผู้หญิง เฮ้ย ชื่ออะไรวะเนี่ย พยาบาล/หมอ มาถามพ่อคือคนไหน
ผมคือคนแรกที่ได้อุ้มลูกไปอาบน้ำ น้ำร้อนน้ำอุ่น แล้วเข้าตู้อบ คลอดตอนประมาณ 23.25 น. รุ่งเช้ามาก็โทรบอกพี่แอ๊ะว่าได้ลูกสาว ตั้งชื่อไม่ได้แล้ว ผมไม่รู้จะตั้งอะไรแล้ว พี่แอ๊ะเลยขอวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก เอาไปให้อาจารย์ปรีดี บุญของลูกผมท่านตั้งชื่อให้ ชื่อว่า ‘อนุตรา’ แปลเป็นไทยว่า ‘ประเสริฐ’
พี่แอ๊ะนี่ได้ทุกอย่าง ฝรั่งเศสนะ ผู้หญิงจะไม่ชอบ เพราะพวกผู้ชายไปเตะบอลกันไง เตะบอลเสร็จค่ำก็ดื่ม
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : เหมือนกับว่าพอรู้จักกับคุณแอ๊ะ คุณแอ๊ะก็มักจะชวนไปทำอะไร?
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
ชวนไปบ้าน ตอนนั้นบ้านใครผมก็ไม่รู้ ตอนหลังธงไปบ้าง ไม่ไปบ้างเตะบอล มันทำงาน คราวหลังก็ให้ไปตัดต้นไม้ แต่งสวน ไปช่วยกัน ผมคนเดียวไม่ไหว
ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ : พอเห็นว่าเป็นบ้านใครแล้วเป็นอย่างไร?
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
ก็ตกใจ ผมกลับมาเมืองไทย มีรุ่นพี่ธรรมศาสตร์ถามว่า “หมูไปฝรั่งเศสเจอหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไหม” ผมตอบ “ผมไม่เจอ เจอแต่ท่านอาจารย์ปรีดี นอกนั้นผมไม่รู้จัก”
ผมรู้ว่าท่านเป็นผู้สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่รู้ว่าท่านคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผมว่า “ใครวะ” เพราะผมเจอแต่ท่านอาจารย์ปรีดี ผมไม่รู้จักหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรอก ก็หัวเราะกัน
ตอนที่เจออาจารย์ปรีดีครั้งแรก ท่านจะเรียกผมว่า “พ่อหนุ่มๆ” ไม่เรียกชื่อ ถาม “มาทำอะไร” ผมก็เล่าให้ฟัง ท่านก็บอก “ดีๆๆ” ใครที่ไปเยี่ยมเคารพท่าน เช่น ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมยุคล) ท่านจิ๊กโก๋ สะพายเป้ ไปกินข้าวร้านอาหารธงด้วย ถามผมว่ารู้จักไหม ผมบอกรู้จักเพราะบ้านติดกัน ไปเยี่ยมท่านได้ไหม ผมต้องโทรหาพี่แอ๊ะก่อนว่าได้ไหม พี่แอ๊ะบอกว่าได้ ผมก็เลยพานั่งรถไฟไป
ผมกับครอบครัวไปที่บ้านอาจารย์ปรีดีทุกวันอาทิตย์ ไม่ใช่อะไร ไปกินข้าว อาหารอร่อย มื้อเที่ยงวันอาทิตย์ผมจะเอาลูกไป ที่บ้านท่านข้างหลังจะมีสวนเล็กๆ ที่ประมาณ 50 – 60 ตารางวา ข้างหลังเป็นพื้นที่ตากผ้าตากอะไร หน้าร้อนปูเสื่อ ลูกผมก็นั่งเล่นนอนเล่น บ้านเล็กนิดเดียว 2 ชั้นดาดฟ้า
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : คุณประสิทธิ์ ตอนอยู่เมืองไทยเรียนที่ไหนอย่างไร?
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
ผมเป็นนักเรียนทุนเทศบาลนครกรุงเทพฯ จบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้ทุน ตอนที่เรียนยังไม่รู้จักอาจารย์ปรีดี เพราะว่านักศึกษาตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักอาจารย์ปรีดีเลย ช่วงประมาณ พ.ศ. 2515 ส่วนใหญ่รุ่นนั้นความสนใจทางการเมืองน้อยมาก
พอไปพบลูกชายของท่านคือ พี่ศุขปรีดา ผมไปวันแรกก็พบพี่ศุขปรีดาเลย เพราะไปงานเลี้ยงสังสรรค์ของคนไทยที่ปารีสที่บ้านนักเรียนไทยที่เป็นผู้หญิง ฝรั่งเศสก็มีสมาคมนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก อาจารย์ปรีดีก็เคยไปแสดงปาฐกถาที่เมืองตูร์ประมาณปี พ.ศ. 2515-2516
ผมเป็นเลขานุการสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสรุ่นเดียวกันกับ อาจารย์พีรพันธุ์ พาลุสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ผมก็เป็นนักเรียนไทยต้องไปอาศัยเครื่องโรเนียวที่มีอยู่ 2 แห่ง เครื่องโรเนียวสมัยโบราณแบบใช้ไขเพื่อทำวารสารส่งนักเรียนไทยในฝรั่งเศส 200 เล่ม บ้านอาจารย์ปรีดีมีเครื่องโรเนียว แต่เครื่องที่สถานทูตไทยนักเรียนไทยไม่ยอมไปใช้ ก็เลยรู้จักท่าน วันหนึ่งก็ใช้ประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง ท่านก็เลี้ยงอาหารกลางวันทุกครั้ง พี่วาณีที่เสียชีวิตแล้ว ทำให้ทาน
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : แล้วไปเจอคุณยงจิตต์ได้อย่างไร?
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
เจอกันหลังจากที่รู้จักกับคุณศุขปรีดา แล้วก็พี่ปาล พี่ปาลก็อยู่ที่อองโตนี สังสรรค์กับพี่ปาลทุกวันศุกร์ นักเรียนไทยจะเช่าสตูดิโอใกล้ๆ Université Paris Cité เขต 14 ทางตอนใต้ของปารีส ไม่ห่างจากบ้านอาจารย์ปรีดีเท่าไหร่
ผมเป็นคณะกรรมการฯ ไปทำหนังสือโรเนียว ส่งบทความเผยแพร่ในฝรั่งเศสด้วยและส่งมาที่เมืองไทยด้วย
ผมเคยไปสัมภาษณ์อาจารย์ปรีดีเรื่องการปฏิวัติในชิลี สมัยซัลบาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) เพราะว่าตอนนั้นมีปฏิวัติในชิลีพอดี ผมคุยกับอาจารย์ปรีดีเป็นประจำเรื่องการเมือง ท่านถ่ายทอดความรู้มาให้ ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์
ผมทราบต่อมาว่าท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนแรกและคนเดียว ไปรู้ตอนที่อยู่ฝรั่งเศสแล้ว ตอนอยู่ธรรมศาสตร์ไม่มีความรู้เลย
สมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย ตอนคุยกับอาจารย์ปรีดีก็จะคุยเรื่องการเมืองล้วนๆ ท่านถ่ายทอดความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เรื่องพรรคการเมืองฝรั่งเศส พรรคการเมืองในยุโรป ท่านอาศัยติดตามข่าวสารบ้านเมือง ท่านอพยพมาจากจีน ลี้ภัยในจีนหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็อยู่เมืองจีนประมาณ พ.ศ. 2492 ลี้ภัยในจีนประมาณ 21 ปี เขียนหนังสือ 21 ปีแห่งการลี้ภัย และชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้าในสาธารณรัฐประชาชนจีน หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยมีบุตรสาวของท่านคือพี่สุดา มาช่วยตรวจร่างให้ แล้ววางจำหน่ายในฝรั่งเศส แล้วต่อมาก็มีผู้แปลเป็นภาษาไทย ซึ่งผมจำชื่อผู้แปลไม่ได้
ท่านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สมถะมาก เช้ามาท่านจะตื่นตั้งแต่ตีห้า ฟังวิทยุ BBC บ้าง ฟังข่าวการเมืองบ้าง ท่านก็จะเขียนหนังสือต่างๆ เขียนบทความ แล้วก็มีสมาคมในต่างประเทศ เช่น ในเยอรมัน สามัคคีสมาคม แล้วก็สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ก็เชิญท่านไปพูด ส่วนใหญ่เขาไปกันหน้าร้อน
อาจารย์ปรีดีท่านใช้ชีวิตสมถะ ห้องที่ท่านนอนก็คือห้องทำงาน เป็นห้องสูทก็เขียนหนังสือไปด้วย แล้วก็มีเตียงเล็กๆ อยู่ อาจารย์ปรีดีเป็นผู้ที่เสียสละมาก มีคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อสยามประเทศ เพราะแม้แต่ จอมพล ป. ต้องถูกตั้งข้อหาอาชญากรสงคราม ต้องไปขึ้นศาลที่เมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี เพราะว่าประกาศสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น อาจารย์ปรีดีก็ช่วยเจรจากับลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเทน ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของฝ่ายสัมพันธมิตร ก็เลยรอดพ้นมาได้ สัมพันธมิตรก็บอกว่าที่ไทยประกาศสงครามกับญี่ปุ่นนั้นเป็นโมฆะ ก็ไม่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามซึ่งเป็นเงินมหาศาล เข้าใจว่าจ่ายข้าวเป็นล้านกระสอบ
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : หลังจากกลับมาเมืองไทย มาทำงาน เคยมีคนถามว่าอยู่ฝรั่งเศส ได้เจออาจารย์ปรีดีหรือไม่ เขาถามว่าอย่างไรบ้าง?
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
ส่วนใหญ่ซ้ำเติมเรื่องรัชกาลที่ 8 และเรื่องคอมมิวนิสต์
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
ส่วนใหญ่ก็ยังมีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีในแง่ลบ คือเชื่อข่าวสารข่าวลือ โดยเฉพาะเกี่ยวกับรัชกาลที่ 8
ลูกศิษย์ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นปลัดกรุงเทพมหานคร คนแรก คือ คุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ จบ ธบ. ธรรมศาสตรบัณฑิต ก็เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย เคยไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดีที่ปารีส ที่บ้านพักอองโตนี ผมก็ไปด้วย ก็พาคณะบางคณะของ กทม. ไป คุณธรรมนูญ เทียนเงิน นี่ก็เป็นลูกศิษย์ อยู่พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ถูกกับอาจารย์ปรีดี แต่ว่าโดยส่วนตัวนั้นสนิทกับอาจารย์ปรีดีมาก คุณธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 อาจารย์ปรีดี ต้อนรับคณะของเราเป็นอย่างดี ความคิดเดียวกัน
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
ผมเป็นทั้งคนขับรถ คนเดินไปเป็นเพื่อนท่าน
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : คือว่าท่านจะไปไหนในฝรั่งเศส คุณยงจิตต์จะขับรถให้ สมมติท่านจะไปตัดผมอะไร ก็คุณยงจิตต์ขับรถให้
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
ถ้าผมอยู่ ผมก็พาไป ผมเป็นหลานทางคุณป้า คุณป้าเป็นพี่สาวของคุณแม่ แต่ก็สนิทสนมกันมาก
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : คุณยงจิตต์อยู่บ้านอองโตนี จากที่ฟังหลายๆ ท่านเล่ามาพอเป็นเพื่อนกับคุณยงจิตต์ คุณยงจิตต์ก็จะพามาที่บ้านด้วย
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
เราก็ต้องเช็กก่อน ตรวจสอบก่อน เพราะว่าบางคนที่เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องความคิดไม่ตรงกัน เราก็ไม่จำเป็นต้องพามา แต่ใครที่ได้ไปหาคุณลุงคุณป้าจะติดใจ เพราะว่าคุณลุงคุณป้ามีแต่แนะนำเรื่องการเรียนเรื่องการศึกษา คือไม่ถามว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน เป็นอาจารย์ที่ดี ยิ้มแย้มตลอดกับทุกคนตลอดที่ไปที่บ้าน
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
พวกเราสนิทกับ อาจารย์โภคิน พลกุล อ.โภคินนี่ไปศึกษาทีหลัง รุ่นเดียวกับน้องชายผม เป็นรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ด้วย เขาได้ทุนจากกระทรวงการต่างประเทศไปเรียนปริญญาเอก และเตะบอลกันประจำ
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : การเตะบอลนี่ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
พี่แอ๊ะนี่เป็นหัวหน้าทีม เลยพาคนไม่รู้จักไปรู้จักเยอะหน่อย
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
นอกจากนิสิตนักศึกษาที่อยากไปเยี่ยมอาจารย์ ก็ผ่านสถานทูตไทยบ้างอะไรบ้างก็อาทิตย์หนึ่ง 3 – 4 ครั้ง เพราะมาเยอะ
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
ท่านอาจารย์ปรีดีนี่เป็นคนไม่ถือตัวเลย ท่านเรียกตัวเองว่า “คุณลุง” “ลุงๆ” เรียกว่า “ท่าน” ก็ไม่ยอม ให้เรียก “ลุง” เลย คุณป้าก็เหมือนกันเป็นคนที่จิตใจดีมาก อ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพอ่อนโยน ลูกหลานบุคคลทั่วไปก็ให้ความนับถือมาก กลับมาเมืองไทยผมก็ไปที่หอพักลลิตา ซึ่งเป็นหอพักของตระกูลคุณป้า ก็ไปสังสรรค์ประจำ
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : นอกจากอาจารย์ปรีดีแล้ว ก็ได้สนิทสนมกับลูกอาจารย์ปรีดีด้วยใช่ไหมครับ คุณปาล คุณศุขปรีดา ทุกท่านเคยได้คุยไหมครับ ชวนคุณปาลมาเตะฟุตบอลด้วยไหม
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
คุณปาลแกเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยปารีส ทุกวันศุกร์สังสรรค์ตั้งแต่ประมาณหกโมงเย็น หนึ่งทุ่ม ถึงตีห้า นั่งรถเมล์กลับบ้าน
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
ตอนคุณปาลอายุ 19 ปี ก็โดนทางการที่ไทยจับกุมข้อหากบฏ โดยคณะรัฐประหาร ทั้งที่ยังอายุน้อยอยู่เลย คุณป้าก็โดนจับไปขังด้วย พี่ปาลเป็นคนที่ nice มาก น่ารักมาก กับคนที่รู้กันแกจะดูแลแกจะชวนไปร้านกาแฟ
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
ไปร้านกาแฟไม่ได้สั่งกาแฟนะ มีเบียร์โยก ร้านกาแฟขายเบียร์ด้วย ส่วนมากคนไทยยืน ไม่ชอบนั่ง
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
ยืนมันถูกกว่า ทิปถูก
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
ถ้านั่งโต๊ะต้องเสียแพง ทิปอีก
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
เบียร์ 220 ml / แก้ว แก้วหนึ่งก็ตกประมาณ 2 ฟรังก์กว่า หรือประมาณ 10 บาท
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : คุณผุดผาดน้อยก็อยู่ฝรั่งเศสเป็นเวลานาน ตอนที่อาจารย์ปรีดีเสียชีวิตก็อยู่ในเหตุการณ์ใช่ไหมครับ?
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
อยู่ ผมเป็นคนถือรูปท่านไปสุสานแปร์ ลาแชส (Père Lachaise Cemetery) ผมไปเห็นรูปผมภูมิใจมาก วันพุธเราก็เอาพระไปสวด
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
จะมีท่านปัญญานันทภิกขุไป ก็เลยทำพิธีให้ที่สุสานแปร์ ลาแชส
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
ไฟล์ทการบินไทยที่ไปถึงที่นั่น เขาขอเหมาไปทั้งไฟล์ทไปพิธีงานศพ ทุกคนเต็มใจอยากจะไปงานนี้กัน บางท่านก็มาขอถ่ายรูป ก็สัญญาว่าจะไม่เอารูปคุณลุงไปลง Public เราก็อนุญาตก็มี 2 คน ที่เป็นพนักงานการบินไทย
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ตกใจไหมครับพอได้ข่าวอาจารย์ปรีดี ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร?
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
พี่ผุดผาดน้อยเข้าบ้านแล้วร้องไห้ลั่น นี่เขาเล่าให้ฟัง ร้องไห้ลั่นไปหมด นึกไม่ถึงอยู่ดีๆ คุณลุงก็จากไปแบบไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเลย ท่านดีมาก ไม่เคยว่าใครเลย ไม่เคยพูดถึงสิ่งที่เสียหาย
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
ท่านไม่เคยว่าใครเลย ผมกินข้าวกับท่านทุกอาทิตย์มีแต่สอนผมว่าตั้งใจทำงาน ตั้งใจเรียนหนังสือ เดี๋ยวจะพูดกับลูกสาวไม่รู้เรื่อง เพราะลูกสาวผมพูดฝรั่งเศส จริงๆ ลูกผม 2-3 ขวบ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ลูกสาวถามว่าปะป๊าพูดภาษาอาหรับหรือพูดภาษาจีน ไม่เข้าใจ ลิ้นเราก็ไม่ได้เพราะเราไปตอนที่อายุเยอะมากแล้ว
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : อยากให้เล่าถึงบรรยากาศวันที่อาจารย์ปรีดี เสียชีวิต ใครอยู่ในเหตุการณ์ไหนบ้าง
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
ผมออกไปนอกบ้านน่าจะก่อนเที่ยง จำไม่ได้ว่าใครโทรมาบอกผมว่าให้รีบกลับมาที่บ้าน สังหรณ์ใจแล้วรีบกลับมา ก็คุณลุงเสียแล้ว ในขณะที่นั่งทำงาน จังหวะช่วงนั้นมีลูกหลานที่มาจากเมืองไทยอยู่ที่บ้าน มีหลายคน มีคุณครูฉลบชลัยย์ ซึ่งเป็นคนที่รักเคารพคุณลุงมาก มีหมอกอล์ฟ นายแพทย์อนวัช ศกุนตาภัย ไปยาล พนมยงค์ ในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่นึกไม่ถึง ลูกๆ ก็ไม่อยู่ อาจารย์สุดาไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ก็มีภรรยาผมอยู่ แล้วก็มีแม่บ้าน คุณป้า คือนึกไม่ถึงเพราะไม่ได้มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมาก่อน ไปแบบสบาย ท่านจากไปในขณะทำสิ่งที่ชอบ
โชคชัย สุทธาเวศ :
ท่านอาจารย์ปรีดีเคยฝากอะไรมาถึงคนไทยบ้างไหม?
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
ท่านย้ำถึงความรักชาติและประชาธิปไตย คือแปลมาจาก Local Patriotism คือความรักปิตุภูมิท้องที่ คนในชาติจะต้องมีความรักราษฎร คือความผูกพันรักราษฎรของตนเอง ไม่ใช่พวกคลั่งชาติ แปลว่า Chauvinism มาจากชื่อของนายพลนีโกลัส โชแว็ง (Nicolas Chauvin) ของฝรั่งเศสราชวงศ์บูร์บง ซึ่งไปช่วงราชวงศ์บูร์บง หรือสมัยของหลุยส์ที่ 16 ปี ค.ศ. 1971 ราชวงศ์บูร์บง ก็ล่มสลายเพราะความคลั่งชาติ
ท่านก็สอนให้รักชาติและรักประชาธิปไตย เป็น 2 อย่างที่ท่านฝากไว้ ท่านใช้คำว่า “มวลราษฎรไทย” ท่านต่อสู้ก็ถูกรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ ท่านก็กลับมาสู้ในขบวนการประชาธิปไตย ก็แพ้จอมพล ป. กับพรรคพวก เลยต้องหนีไปอยู่แถวบางกอกน้อยมีทหารเรือช่วยซ่อนตัวอยู่เป็นปี ตอนหลังเลยถูกอเมริกาไปช่วยขึ้นเรือไปสิงคโปร์ รองกงสุลใหญ่เห็นวีซ่าท่านเข้าอเมริกา ท่านไม่ได้เจตนาไปอยู่ฝรั่งเศส หรือเมืองจีน เพราะรู้ไปเมืองจีนลำบาก ท่านตั้งใจไปอเมริกา แต่รองกงสุลใหญ่ก็ฉีกวีซ่าท่าน ท่านเลยไปอเมริกาไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนแผนไปเมืองจีน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่ได้ครองอำนาจ ก่อน 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) รัฐบาลจีนก็ให้เกียรติกับท่านมาก โจวเอินไหล เหมาเจ๋อตุง ก็เลยได้กินอาหารแบบที่เป็นถาด กินไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป ซึ่งท่านไม่ได้ร้องขอ เพราะว่าต้องการมีชีวิตอยู่ปกติตามราษฎรจีน อากาศที่นั่นหนาวมาก คนที่จะไปติดต่อท่าน เดินทางไปปักกิ่งลำบาก เพราะอากาศหนาวมาก ท่านจึงย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส ไปเช่าอพาร์ทเมนต์อยู่ก่อน
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : แสดงว่าตอนอยู่เมืองจีนคนไทยไปเยี่ยมยาก?
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
คนไทยไปเยี่ยมยากมาก พอไปอยู่ฝรั่งเศสคนไทยไปเยี่ยมง่าย สะดวก มีไปทุกเดือน ปีหนึ่งเป็นสิบๆ คณะ เช้ามาท่านก็ฟังวิทยุ ให้สัมภาษณ์ หรือว่าเขียนบทความ ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จำลองห้องนอนท่านคือห้องสมุด แล้วก็มีหนังสือที่ท่านบริจาคให้ธรรมศาสตร์ เข้าไปดูคือเหมือนห้องทำงานและห้องนอนของท่านจริงๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ไปดูได้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนดู
“ตึกโดม” นี่ก็หมิว อภัยวงศ์ เป็นคนดีไซน์แบบ เป็นโดม คือมาจากคำขวัญของฝรั่งเศส Liberté, Égalité, Fraternité (เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ) ซึ่งต่อมาก็เป็นคำขวัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชู 3 นิ้วก็มาจากอันนี้แหละ
จิ่งทง ลิขิตชลธาร :
ที่ประทับใจเพราะว่า ผมไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เจอท่านโดยบังเอิญ แล้วก็มีโอกาสได้เจอท่านตอนงานวันเกิดที่บ้านท่าน ก็เลยรู้สึกว่าดีใจสุดเหลือที่จะพรรณนา ‘More than I can say’ คิดไม่ถึงว่าจะเจอ แล้วได้เจอ แล้วได้มาในงานวันเกิดท่าน แล้วหลังจากนั้นก็ได้สนิทกับครอบครัวท่านมาตลอด ทุกๆ คนก็รักผมเหมือนลูกเหมือนหลานคนหนึ่ง มีอะไรก็ชวนมาที่บ้านประจำ มาช่วยมากินอะไรต่างๆ กับเพื่อนๆ
ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช :
ผมรู้สึกมีความภาคภูมิใจและความประทับใจในรัฐบุรุษอาวุโส ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสถาปนาแต่งตั้งจากรัชกาลที่ 8 ให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งท่านได้ประกอบคุณงามความดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ท่านเป็นผู้ที่วางรากฐานการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ยากจนและไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น พ.ศ. 2477 ซึ่งท่านเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวเท่านั้น ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการทางกฎหมาย โดยเฉพาะทางด้านนิติศาสตร์ การเมืองการปกครอง
ท่านเขียนตำรา บทความ และแสดงสุนทรพจน์มากมายแก่นักเรียนไทยในยุโรป ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ที่ท่านได้รับเชิญไปบ่อยครั้ง ซึ่งต่อมาก็ได้มีผู้นำมาตีพิมพ์ ลงทั้งชีวประวัติของท่าน ทำให้คนไทยรุ่นหลังได้รู้จักท่านมากขึ้น หรือว่าในโลกปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ต มีโซเชียลมีเดียทำให้อนุชนไทยรุ่นหลังสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้มากกว่าสมัยเดิม ต่างกันมากราวฟ้ากับดิน ซึ่งคุณงามความดีของท่านจะเป็นที่ประจักษ์แก่ราษฎรไทยและสยามประเทศ ก็เสียดายที่ท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2526
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ :
เป็นความภูมิใจและความดีใจมากๆ ที่ได้ไปพบท่าน ได้ไปเห็นท่าน ตอนท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่ภูมิใจและปลื้มใจมากๆ ท่านได้กรุณาตั้งชื่อลูกสาวผม ผมมีลูกสาวอยู่คนเดียวชื่อว่า อนุตรา ที่ได้ไปรู้จักท่านโดยผ่านพี่แอ๊ะ พี่แอ๊ะเป็นคนสำคัญที่ทำให้ผมได้รู้จักท่าน ทั้งบ้านในตอนหลัง เป็นความประทับใจเป็นความภูมิใจที่ได้เจอครอบครัวท่าน ท่านไม่เคยว่าใคร นินทาใครให้ฟัง มีแต่สอนให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์ อย่าโกหก ต้องเป็นคนดี ผมก็ขอบพระคุณมาก ผมต้องขอบคุณพี่แอ๊ะที่ทำให้มีโอกาสได้รู้จักท่าน
ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ :
ในฐานะที่เคยอยู่ที่บ้านคุณลุงคุณป้าสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็มีความประทับใจที่เราได้เจอได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีงาม ในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่ประวัติศาสตร์ประเทศไหนๆ ถ้าเราซักถาม ท่านสามารถเล่าอธิบายให้เราฟังได้หมด เป็นคนที่สมกับเป็นอาจารย์จริงๆ ถ่ายทอดวิชา อย่าว่าแต่ด้านการศึกษาตำรับตำรา แม้กระทั่งการทำงานแบบระบบกรรมกร ดีใจที่เราอยากจะทำก่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน ก็ช่วยลงทุนทุกอย่างหมด ผมกับพี่ปาลน่ะ เคยโบกปูนในโรงรถที่บ้านอองโตนี คุณลุงก็อยากให้เราเป็นทุกวิชา โดยไม่ให้เราดูถูกเหยียดหยามกรรมกรว่าคืออาชีพอย่างต่ำ มีความเห็นใจและสนับสนุนให้เราเป็นด้วย เพื่อให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นได้ถ้าอยากเป็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องจบด็อกเตอร์ มีโอกาสที่ทำให้เรามาใช้ชีวิตจริงๆ อย่างที่เราต้องการ
- PRIDI Interview
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- จิ่งทง ลิขิตชลธาร
- ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์
- เสาวนีย์ ลิมมานนท์
- 14 ตุลา
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
- ผุดผาดน้อย วรวุฒิ
- พูนศุข พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมยุคล
- ประสิทธิ์ ผ่องเภสัช
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- พีรพันธุ์ พาลุสุข
- ปาล พนมยงค์
- ซัลบาดอร์ อาเยนเด
- Salvador Allende
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเทน
- นันทกา สุประภาตะนันทน์
- ธรรมนูญ เทียนเงิน
- โภคิน พลกุล
- แปร์ ลาแชส
- Père Lachaise
- นีโกลัส โชแว็ง
- Nicolas Chauvin
- ราชวงศ์บูร์บง
- โจวเอินไหล
- เหมาเจ๋อตุง
- รัฐบุรุษอาวุโส
- วันมรณกรรม 2 พฤษภาคม 2526