Focus
- พระราชนันทมุนี หรือ ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้แสดงปาฐกถาธรรมไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ณ อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นวันที่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ิพนมยงค์ กลับสู่มาตุภูมิเป็นครั้งแรกภายหลังการลี้ภัยทางการเมือง หากแต่กลับมาในเพียงอัฐิธาตุเป็นชีวิตที่คืนสู่สามัญนับตั้งแต่การอสัญกรรม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
- บทความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 โดยไม่ทราบชื่อผู้เขียน
- ท่านปรีดีเป็นผู้ที่มองการณ์ไกล และเสียสละเพื่อชาติ ถึงได้ยอมเสี่ยงชีวิตของตนเองเพื่อปลูกต้นประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ การทำเช่นนั้นเป็นขบถ ถ้าพลาดก็หัวขาดแต่ท่านก็ยอมทำ
“อาตมาไม่ใช่ศิษย์ ไม่ได้เกี่ยวดองอะไรกับท่าน แต่อาตมาเป็นคนศึกษาชีวิตคนและเห็นว่าท่านปรีดีเป็นคนดี มีคุณค่า ซึ่งเมื่อได้สิ้นไปแล้วก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นในจิตใจของผู้อื่นทันที”
คำพูดนี้เป็นตอนหนึ่งในปาฐกถาธรรม โดย พระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) ที่ได้บรรยายให้ผู้ฟังได้เห็นได้สัมผัสและได้รับรู้ชีวิตของคนคนหนึ่ง ณ เรือนไทยหอประชุมภายในเขตอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ในเขตกรุงเก่าอยุธยา ในช่วงบ่ายของวันแรกที่อัฐิธาตุ “รัฐบุรุษอาวุโส” ปรีดี พนมยงค์ เดินทางมาถึงไทย (7 พ.ค. 2529) และถึงบ้านเกิดริมคลองหัวแหลม อันเคยเป็นสถานที่ผูกแพของครอบครัว “พนมยงค์” เมื่อครั้งกระโน้น
ในบริเวณอนุสรณ์สถานดังกล่าว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 3 - 4 ไร่ ตั้งประชิดคนละฝั่งคลองกับวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยเรือนไทยพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของรัฐบุรุษอาวุโส เรือนไทยหอประชุมซึ่งเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุ และอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์
บรรยากาศที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในเช้าวันนั้น ดูเหมือนจะยังตราตรึงอยู่ในความรับรู้ของท่านบรรพชิตผู้หนึ่ง ที่เป็นที่เคารพอย่างสูงของคนไทยจนอดที่จะกล่าวถึงเสียไม่ได้
“อาตมาพบคุณหลวงธำรงฯ (พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ก็เลยทักว่า ‘คุณหลวงก็มาเหรอ’ ท่านก็ตอบว่า ‘ต้องมาสิ เพราะผมเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กันมา’ เห็นท่านถือไม้เท้ากระย่องกระแย่งอยู่ก็เลยชี้ให้นั่งเก้าอี้ที่ว่างอยู่ ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ต้อง ผมจะยืน’ น้ำใจอย่างนี้เป็นน้ำใจที่หาได้ยาก” ท่านปัญญาฯ กล่าว
ผู้คนทุกชั้นวัยราว 700 คนที่คลาคล่ำกันเป็นแถวยาวเหยียดจากห้องต้อนรับ วี.ไอ.พี. ของท่าอากาศยานดอนเมือง จนล้นออกมาที่ลานจอดรถด้านหน้า บรรดาที่มาจากต่างสารทิศเพื่อรอรับอัฐิธาตุรัฐบุรุษอาวุโสนั้น เป็นบรรยากาศที่คนอย่าง นายศุภโยค พานิชวิทย์ อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด เตรียม ม.ธ.ก. รุ่น 1 ผู้ได้รับฉายา “ผู้ว่าฯ น้ำหมาก” เกิดความรู้สึกที่ก้าวเลยจากความปลื้มปีติต่อภาพเฉพาะหน้า ไปยังความรู้สึกผิดหวังต่อความคาดหวังที่สูงขึ้นไปจนกลายเป็นความรู้สึกที่ “เศร้าอย่างบอกไม่ถูก” ตามที่บอกออกมา
แต่ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้หวนรำลึกความรู้สึกของท่านในขณะนั้นไปยังอดีต เมื่อครั้งที่ไปร่วมงานศพของนายปาล พนมยงค์ บุตรชายของท่านปรีดี ที่เห็นคนเก่าคนแก่มายังงานเล็กๆ นั้น ด้วยความรู้สึกที่ผูกพันกับ “พ่อ” ของผู้เสียชีวิตที่ยังระหกระเหินอยู่ต่างแดน
“การแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีไม่ใช่เรื่องต่ำทราม แต่เป็นของสวยของงาม พวกติพวกว่าก็เป็นพวกกุ๊ยเท่านั้น” เจ้าคุณวัดชลประทานรังสฤษดิ์ให้กำลังใจแก่ผู้ที่มาชุมนุมกัน ณ ใต้ถุนเรือนไทยหอประชุมฟังท่านปาฐกถาธรรมอยู่ และดูเหมือนจะเป็นการเตือนสติคนบางคนที่ไม่ได้อยู่ในที่นั้นไปด้วย
ไม่เป็นที่ทราบว่าท่านปัญญานันทะได้เคยพบกับ ดร.ปรีดีมาก่อนหรือไม่ แต่ในวันที่รัฐบุรุษอาวุโสอดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 นั้น ท่านได้ไปร่วมพิธีศพของ ดร.ปรีดีด้วย
“อาตมาได้ไปร่วมโดยบังเอิญ ตอนนั้นกำลังนำผ้าป่าไปทอดที่ประเทศอังกฤษ เป็นภาพที่น่าปลื้มใจมาก มีคนไทยทั่วทั้งทวีปยุโรปกว่า 400 คนไปร่วม รวมทั้งพระองค์เจ้าพระภาณุพันธุ์ยุคลก็เสด็จไปร่วมด้วย จนเจ้าหน้าที่ป่าช้าชาวฝรั่งเศสถึงกับพูดว่า ตั้งแต่เปิดป่าช้ามา ยังไม่เคยเห็นศพใครมีคนมาร่วมมากมายอย่างนี้”
ในสายตาของท่านปัญญานันทภิกขุ ท่านปรีดีเป็นคนชนิดที่เรียกได้ว่า “ตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้า” ที่ทั้งชีวิตอยู่กับการทำงาน ศึกษา ค้นคว้าอยู่เป็นนิจเป็นชีวิตจิตใจ อันเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาได้สอนให้พุทธบริษัทเป็นคนดีเช่นนี้ แม้จะต้องออกจากบ้านเมืองไปก็ยังพยายามหางานทำ เพราะเห็นว่าเป็นงานของชาติ ความรักชาติ รับใช้ชาติดูจะเป็นคุณสมบัติของท่านปรีดี ที่ประทับใจท่านปัญญานันทะมากที่สุด
“แม้ขณะสิ้นลม มือก็ยังจับปากกา ค้นคว้าเขียนตำรับตำราอยู่ อย่างนี้เรียกว่าตายในหน้าที่ที่พึงมีต่อชาติ”
“ท่านปรีดีเป็นผู้ที่มองการณ์ไกล และเสียสละเพื่อชาติ ถึงได้ยอมเสี่ยงชีวิตของตนเองเพื่อปลูกต้นประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ การทำเช่นนั้นเป็นขบถ ถ้าพลาดก็หัวขาดแต่ท่านก็ยอมทำ”
อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ท่านปรีดีได้ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้เอง ที่ท่านปัญญานันทะเห็นว่าได้ช่วยให้ประเทศชาติได้พัฒนาไป โดยอาศัยหัวคิดของคนส่วนมากรวมกัน นำพาประเทศชาติให้ก้าวไปตามสมัย
นอกจากนี้ ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อตอนเช้าวันที่ 7 พ.ค. ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวตะวันตกผู้หนึ่ง พยายามเพียรถามความเห็นของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หลายครั้งว่า มีทรรศนะอย่างไรต่อบรรยากาศทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะบุคคลทั้งสองต่างก็ใกล้ชิดและร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับท่านปรีดีอย่างสนิทแน่นในครั้งกระโน้น โดยถามความเห็นว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างเต็มที่หรือยัง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากคนทั้งสอง
แต่กระนั้น ท่านปัญญานันทะก็ได้ตอบแทนคนทั้งสองไปแล้ว “ต้นประชาธิปไตยของไทยยังเป็นบอนไซ เพราะมีบุคคลบางจำพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่มีใครสนใจให้การศึกษาแก่ประชาชนเหมือนกับได้ปลูกต้นประชาธิปไตยไปแล้ว แต่ไม่มีใครรดน้ำพรวนดิน จึงกลายเป็นบอนไซอยู่ทุกวันนี้”
เจ้าคุณวัดชลประทานรังสฤษดิ์ได้เรียกร้องให้คนไทยศึกษาผลงาน อุดมการณ์และสืบทอดวิญญาณเสียสละเพื่อชาติของท่านปรีดี
“ความเสียสละเพื่อชาติ เพื่อประเทศนั้นคือวิญญาณของท่านปรีดี ซึ่งเป็นวิญญาณที่ชาติต้องการอย่างยิ่ง”
“ขณะที่ท่านต้องอยู่ต่างประเทศ ท่านคิดเสมอที่จะหวนกลับมารับใช้ชาติใหม่ แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้มีโอกาสกลับมาตามประสงค์ นี่นับเป็นความอาภัพของบ้านเมืองที่คนดีไม่สามารถกลับมารับใช้ชาติบ้านเมือง”
พระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) ได้เรียกร้องแก่ผู้ที่รักและเคารพท่านปรีดี พนมยงค์ อย่าได้ติดยึดอยู่กับสิ่งที่เป็นวัตถุของท่าน หากแต่จงยึดมั่นสิ่งที่เป็นแก่นเป็นสาระที่แท้จริงและเป็นวิญญาณที่มีคุณค่า โดยยกพุทธประวัติตอนหนึ่ง ขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะดับขันธ์ เสด็จสู่ปรินิพพาน โดยพระอานนท์ได้ถามพระพุทธเจ้าเรื่องจะตั้งใครเป็นทายาทสืบทอดศาสนา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสตอบมีใจความว่า “อานนท์เอ๋ย ธรรมวินัยอันที่เราได้บอกแล้ว สอนแล้วแก่เธอทั้งหลาย นั่นแหละคือ ‘ทายาท’ ของเราต่อไป”
ที่มา : ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในสายตาของท่านปัญญานันทภิกขุ ใน ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง ประมวลข่าวและนานาทัศนะ เนื่องในงานอัฐิธาตุ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ๗-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙, (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2529), หน้า 343 - 348.
หมายเหตุ :
- ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2529
- ปรับปรุงและแก้ไขเล็กน้อยโดยกองบรรณาธิการ
- ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง
- วันมรณกรรม 2 พฤษภาคม 2526
- ปัญญานันทภิกขุ
- ปรีดี พนมยงค์
- รัฐบุรุษอาวุโส
- พระราชนันทมุนี
- วัดพนมยงค์
- อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์
- อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
- ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- ศุภโยค พานิชวิทย์
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- มธก
- ปาล พนมยงค์
- วัดชลประทานรังสฤษดิ์
- พระองค์เจ้าพระภาณุพันธุ์ยุคล
- พูนศุข พนมยงค์
- สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระอานนท์
- พระพรหมมังคลาจารย์
- ปั่น ปทุมุตฺตโร