ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

“ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์” กับการเมืองไทย

19
พฤษภาคม
2563

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526) เป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ท่านเป็นสามัญชนที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญๆ เช่นเป็น 1 ใน 100 กว่าคนของ “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม 2475” ท่านเป็นรัฐมนตรีลอย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การต่างประเทศ การคลัง ท่านเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัชกาลที่ 8 เป็นนายกรัฐมนตรี และก็เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และที่สำคัญคือ ฯพณฯ ปรีดีเป็น “ผู้รักชาติและรักประชาธิปไตย” มากที่สุดคนหนึ่ง ท่านมีคุณูปการอย่างมหาศาลต่อสังคมและประเทศชาติ แต่ท่านก็เป็น “หน้าว่างในประวัติศาสตร์ไทย” ไม่ค่อยจะปรากฏในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาฯ ไม่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ที่กรมศิลปากรจัด แม้จะมีคุณประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ ท่านก็เปรียบเสมือนภาษิตล้านนาที่ว่า “ของบ่กิน ฮู้เน่า ของบ่เล่า ฮู้ลืม” 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะ “เล่า” และรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์สังคมไทย เมื่อ ฯพณฯ ปรีดีย้ายการลี้ภัยการเมือง (เพราะถูกขบวนการมุสาวาทใส่ร้ายป้ายสีในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8) จากจีนไปฝรั่งเศสนั้น ชาญวิทย์ เกษตรศิริเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ได้ไปสัมภาษณ์ท่าน ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2513 (ในสมัยที่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับค่ายสังคมนิยมโซเวียต-จีน ยังคงรุนแรงอยู่ และประเทศไทยยังขาดประชาธิปไตย ก่อนการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 ของเยาชนคนหนุ่มสาว) การสัมภาษณ์นี้ทำในลักษณะถาม-ตอบ แล้วนำมาเรียบเรียงตีพิมพ์ไว้เป็นครั้งแรกในจุลสารมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (ปีที่3 ฉบับที่ 3- มิถุนายน 2519)

เนื่องจากจุลสารฯดังกล่าว เผยแพร่ในวงจำกัด และเนื่องด้วยจะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ฯพณฯ ปรีดี (2443-2543 หรือ 1900-2000) จึงเห็นควรที่จะนำบทสัมภาษณ์นี้กลับมาตีพิมพ์ใหม่ แม้ว่าเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี แต่ก็เห็นได้ชัดว่าแนวความคิดของท่านปรีดีนั้นน่าสนใจและยังมีความทันสมัยอย่างยิ่ง

1. อิทธิพลทางความคิดการเมืองต่อคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าให้ฟังว่าความคิดทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 นั้น มีอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มไทยตั้งแต่สมัยยังอยู่เมืองไทยแล้ว ความคิดต่างๆ นี้ไม่ใช่ไปรับเอามาจากเมืองนอกแต่ถ่ายเดียว การที่คนหนุ่มสมัยนั้นมีความคิดอ่านทางการเมือง ก็สืบเนื่องมาจากสภาพของราษฎรไทยซึ่งยากจน เพราะเอกราชไทยยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกบีบบังคับจากจักรวรรดินิยมในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

กล่าวในแง่ส่วนตัวแล้ว ท่านปรีดีเริ่มต้นการศึกษาที่อยุธยา จากนั้นก็มาต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรและโรงเรียนตัวอย่างมณฑลอยุธยา สมัยเด็กนั้นท่านไม่พอใจที่จะต้องเรียนซ้ำชั้นเพื่อมาเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบจึงต้องกลับไปอยู่นาอีก ตอนนี้จึงเห็นความลำบากของชาวนา และคิดว่าอาจจะช่วยเหลือพวกเขาได้ถ้าหากได้เรียนทางรัฐประศาสนศาสตร์ สมัยที่อยู่อยุธยาก็ได้รับอิทธิพลจากบรรดาครู ซึ่งได้ชี้แจงเรื่องความรักชาติ เรื่องสยามถูกกดขี่ข่มเหง เรื่องเหตุการณ์ ร.ศ. 112 จึงทำให้นักเรียนมีสำนึกในเรื่องการเมืองมาก จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2465 (1920) กลับมากรุงเทพฯ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2470 (1927) โดยใช้เวลาเดินทางทางเรือราวหนึ่งเดือน

นอกจากนั้น ฯพณฯ ปรีดีก็กล่าวว่า พวก ร.ศ. 130 มีอิทธิพลต่อผู้ก่อการฯมาก บรรดาผู้ก่อการ 2475 รู้เรื่องเกี่ยวกับพวก ร.ศ. 130 เพราะมีการพูดกันมากในสมัยนั้น ครูและปัญญาชนพูดกันว่านายทหารกองพลที่ 3 ที่อยุธยาถูกจับตัวไปด้วย เลยทำให้รู้เรื่องดี รวมความแล้วทำให้คนสยามสมัยนั้น เห็นว่า “แอบโซลูด โมร์นากี้” (absoloute monarchy) เป็นเรื่องล้าสมัย ดังนั้นจึงต้องการเปลี่ยนแปลงกัน

ฉะนั้นความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงเกิดขึ้นในเมืองไทยก่อนที่จะไปคิดกันในฝรั่งเศส และจอมพล ป. พิบูลสงครามเอง ก็มีความเห็นเช่นนี้มาก่อนออกจากเมืองไทยไปเรียนต่อต่างประเทศเช่นกัน พวกที่ไปเรียนต่อเมืองนอกก็มีไม่มากนัก ในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์มีประมาณ 75 คน ในอังกฤษประมาณ 200 คน ในอเมริกามีไม่ถึง 100 คน 

ฯพณฯ ปรีดีกล่าวว่า สมัยนั้นมีคนโอดครวญกันมากว่าเมืองไทยล้าหลัง แต่ส่วนมากโอดครวญแล้วก็ไม่ได้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะไปโทษราษฎรว่าไม่ตื่นตัวไม่ได้

สมัยนั้นพวกผู้ก่อการฯ นิยมอ่านหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ (เก่า) ซึ่งเจ้าของเป็นคนอเมริกัน นอกจากนั้นก็มีหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นครั้งคราว เช่น กัมมันโต วายาโม ที่มีชื่อคล้ายญี่ปุ่นเพราะสมัยนั้นญี่ปุ่นมีอำนาจศาลในไทย อาจจะเป็นการใช้ชื่อคล้ายญี่ปุ่นและภาษาทางพุทธศาสนา เพื่อเป็นเกราะกันการจับกุม

ส่วนอิทธิพลจากท่านเทียนวรรณนั้นมีอยู่บ้างอย่างกระเส็นกระสาย เทียนวรรณมีอายุมากแล้วในสมัยผู้ก่อการฯ และมีอิทธิพลมากกว่าในสมัยรุ่นพ่อ การเสาะแสวงหาความรู้ในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่มีก็เช่นห้องสมุดวัดสามจีน หนังสือพิมพ์ต่างๆ  ซึ่งก็หายาก หนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ มีส่วนในการพูดถึงความล้าสมัยของระบบ absolute monarchy (สมบูรณาญาสิทธิราช) นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับยังลงเรื่องการล้มพระเจ้าซาร์รัสเซียกันมาก

ฯพณฯ ปรีดีกล่าวว่า ความคิดเกี่ยวกับเมืองไทย หรือความคิดของมนุษย์ทั่วไปนั้นเกิดได้ทั้งจากการอ่านหนังสือและการสัมผัสข้อเขียนของคนต่างๆ ก็ปลุกจิตสำนึกได้ แต่สำหรับท่าน จิตสำนึกเกิดมาจากการสัมผัส กล่าวคือในสมัยที่อยู่ฝรั่งเศสนั้น แม้ท่านได้จบเนติบัณฑิตไทยแล้วก็ตาม แต่ก็มาเรียน Lycee (วิทยาลัย) ใหม่ ตอนนั้นได้ไปอยู่กับครอบครัวของโปรเฟสเซอร์ในบ้านนั้นมีห้องสมุดดี ตกบ่ายก็นั่งคุยกับโปรเฟสเซอร์หาได้อยู่แต่ลำพังไม่ ตราบจนกระทั่งมาเรียนปริญญาเอก (Doctorate)

การที่ท่านปรีดีมาเรียนต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศส เพราะจะมีการชำระประมวลกฎหมายใหม่ การที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นส่งนักเรียนไปต่างประเทศ ก็ไม่จริงเสมอไปที่ต้องไปยังประเทศที่มีกษัตริย์ เช่น อังกฤษ หรือเยอรมนี แต่พิจารณาตามความเหมาะสมของวิชาที่เรียน ภายหลังที่ฝรั่งเศสรบชนะเยอรมัน ก็นิยมส่งไปเรียนวิชาทหารที่ฝรั่งเศสอีกประการหนึ่ง ค่าครองชีพในฝรั่งเศสก็ถูกกว่า ประมาณ 2,000 บาทต่อปี ในอังกฤษประมาณ 3,000 บาทต่อปี

นักเรียนไทยในฝรั่งเศสมีการติดต่อคบหากับนักเรียนต่างประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้างอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล มีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยที่ดูถูกเพื่อนบ้านเพราะเห็นว่าเขาเป็นเมืองขึ้นล้าหลังกว่า ฯพณฯ ปรีดีเองเคยรู้จักกับเจ้าสุวรรณภูมาดีและเคยไปดูพวกนักเรียนจากเวียดนามคุยและประชุมกัน การดูถูกชาติอื่นไม่ควรจะมีขึ้นเพราะของพรรค์นี้ไม่แน่ ขอให้ดูประวัติศาสตร์ให้ดี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นเดิม ก็เลยหน้าอังกฤษไป ฝรั่งเศสก็เลยหน้าโรมอิตาลีไปได้

2. เค้าโครงเศรษฐกิจ (2475)

การที่ไม่อาจปฏิบัติตามเค้าโครงเศรษฐกิจได้นั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วยถ้าพวกผู้ก่อการเห็นด้วยก็คงทำไปได้ เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ท่านกล่าวเสริมว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองใจร้อนไป ใช้จังหวะไม่เหมาะ อย่างไรก็ตามคนเราย่อมมีผิดพลาดกันได้ แม้จอมพล ป. พิบูลสงครามก่อนตายก็ได้เขียนจดหมายมาขออโหสิกรรม ขอแต่ให้คนไทยเราสามัคคีกันบนพื้นฐานของความรักชาติและประชาธิปไตย

3. สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League)

ต่อคำถามที่ว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกและนำไปสู่การคิดก่อตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นั้น ท่านปรีดีกล่าวว่าไม่ได้อ้างเรื่องสันนิบาตนี้ว่าเป็นความคิดริเริ่มของท่านเองโดยเฉพาะ แต่มีความเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่กลางระหว่างจีนและอินเดีย ถ้าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแยกกันก็จะอยู่ได้ลำบากถ้ารวมกันสมานกันได้ก็จะเป็นพลังอันหนึ่ง จึงได้ตกลงกันเรื่องสมาคม (สันนิบาต) มีลาว เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มอญ และไทยใหญ่มาร่วมประชุมกัน แต่ยังมิได้ลองลงมือตั้งให้เป็นทางการ ดังนั้นจึงยังคงเป็นแต่ความคิดริเริ่ม นายเตียง ศิริขันธ์ นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นคนที่ได้ช่วยเหลือและมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวกับเอกราชของลาวและเวียดนามมาก เรื่องนี้จะสืบถามต่อได้จากคุณมาโนช วุฒาทิตย์

เกี่ยวกับความคิดในเรื่องสันนิบาตและความเป็นกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันบางพวกไม่พอใจและไม่สนับสนุนท่าน โดยเฉพาะพวกที่เข้ามามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

4. ความเป็นกลางของไทยกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เมื่อมีการประกาศหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (peaceful co-existence) แล้วท่านได้เขียนบทความเป็นภาษาไทยสนับสนุนหลักการนั้น เพราะเห็นว่าพุทธศาสนิกชนควรจะถือหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติการ ไปฆ่าเขาผิดหลักการ ต่อมาทางเมืองจีน เขาเอาบทความนี้ไปแปลเป็นภาษาจีน และต่อมาเขาแปลเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง เอาออกรายการภาษาไทยของวิทยุปักกิ่ง

ฯพณฯ ปรีดีกล่าวว่าไม่ปรารถนาให้ประเทศไทยไปเข้ากับใคร ประเทศไทยได้เลี้ยงตัวเองตลอดมา ไม่เคยมีใครเขาเอาเงินมาช่วยเราก่อน แม้เราจะเคยกู้เงินจากอังกฤษ แต่ก็ใช้คืนเขา แต่ตอนนี้ปรากฏว่าเราไปขอเงินเขามาใช้ ควรจะยึดหลัก “อัตตาหิ อัตโน นาโถ”

นอกจากนั้นเราควรแยกว่าอเมริกันสมัยเก่ากัยสมัยนี้ว่าไม่เหมือนกัน อย่างหมอบรัดเลย์นั้นดี แต่อเมริกันปัจจุบันทำให้ศีลธรรมในเมืองไทยเสื่อม ส่วนการแก้ไขปัญหานี้นั้นเป็นเรื่องทางการเมือง

5. ความขัดแย้งกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

การที่ทางฝ่ายทหารนิยมนาซีเยอรมันและท่านไม่นิยมนั้น เป็นความขัดแย้งในปัญหาอุดมคติ สันติภาพกับสงครามแตกต่างกันในพื้นฐานของประชาธิปไตยกับลัทธิฟาสซิสม์ เมื่อก่อนสงครามเอเชียบูรพามีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อญี่ปุ่นเตรียมรุกรานและเข้ายึดอินโดจีน ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาตัดกำลังญี่ปุ่นโดยยึดเงินที่ญี่ปุ่นฝากไว้ในธนาคารโลกตะวันตก ญี่ปุ่นไม่มีเงินตราจะซื้อข้าว จึงมาหารัฐบาลไทยขอเครดิตเพื่อซื้อข้าวไทย ฯพณฯปรีดีซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังขณะนั้นตอบว่าได้ แต่ญี่ปุ่นจะต้องนำทองคำมาเป็นค่าข้าว ญี่ปุ่นเลยไม่พอใจ (ส่วนเรื่องเมื่อญี่ปุ่นเข้านั้นท่านแนะนำให้ดูหนังสือของ ไสว สุทธิพิทักษ์ ส่วนหนังสือของดิเรก ชัยนามนั้นให้ระมัดระวังในการอ่าน)

เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาแล้ว ให้เอา ฯพณฯ ปรีดีออกโดยให้ตำแหน่งสูงขึ้นไป หลวงอดุลยเดชจรัสเสนอตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ให้ ซึ่งท่านก็เต็มใจเพราะต้องการวางมือจากการร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น งานของผู้สำเร็จราชการฯก็มีน้อย มีเวลาจะทำงานต่อต้านญี่ปุ่นได้ถนัด (แนะนำให้ดูหนังสือของ Sir Andrew Gilcrist) เรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นแต่แรกหน่วยตำรวจเป็นผู้ทำ มิใช่พวกทหาร เสียดายที่หลวงอดุลยเดชจรัส ไม่ได้เขียนอะไรไว้ หลวงอดุลยฯ น่าจะมีเอกสารบางอย่าง

6. การต่อต้านญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

การที่ ฯพณฯ ปรีดีตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นนั้น ท่านกล่าวว่าเรื่องนี้จะรู้เรื่องแสนยานุภาพอย่างเดียวไม่ได้ คือไม่ควรฟังความข้าวเดียวเช่นเดียวกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ฟังแต่สหรัฐฯ แต่ข้างเดียว ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า เอกจักษุ ทุติยจุกษุ คือดูทั้งสองข้าง

ประการต่อมา เป็นเรื่องของอุดมคติคือสงครามอธรรมแพ้สงครามที่เป็นธรรม เพียงแต่จะช้าหรือเร็ว อันนี้เป็นพื้นฐานปรัชญของมนุษย์ เชื่อว่าประชาธิปไตยต้องชนะเผด็จการ ประชาธิปไตยเป็นอำนาจของคนทั้งหลายจะต้องชนะ เพียงแต่เงื่อนไขเวลาช้าหรือเร็วเท่านั้น ถ้าไปเห็นเขาชนะอยู่ในปัจจุบัน แล้วเข้าร่วมด้วยเพียงเพื่อประโยชน์ชั่วคราว ก็เป็นลูกขุนพลอยพยัก

ประการสุดท้ายสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไปไม่ไหว วัตถุดิบอื่น ๆ ไม่มี เช่นข้าว ในแง่ทางการเมืองสภาพการเมืองของญี่ปุ่นมีอำนาจของจักรพรรดิ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นประชาธิปไตย กำลังใจของระบบจึงดีกว่ากัน ฝ่ายหนึ่งมีกำลังใจโดยถูกหลอก มีวันหนึ่งที่จะหลอกเขาไม่ได้ ข้อพิจารณาดังกล่าวนี้ ไม่ได้คิดเอาเอง แต่ใช้วิทยาศาสตร์แห่งความคิด

เมื่อสงครามจบลง ทางฝ่ายอเมริกาไม่มีปัญหา แม้ไทยจะให้ญี่ปุ่นยาตราทัพผ่านแดนแต่ทางสหรัฐฯ ก็คงยอมให้มีสถานทูตอยู่ แต่ที่อังกฤษนั้นถูกปิดลง เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศสงคราม (25 มกราคม 2485) ทางอังกฤษก็ตอบโต้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีความเข้าใจกันกับทางอังกฤษอยู่ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขอร้องให้เสรีไทยนิ่ง และทำการลับที่สุด ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเตน โทรเลขลับจากอังกฤษว่า จะไม่มีสภาพสงครามกัน แต่พอจบสงคราม อังกฤษเกี่ยงงอนให้เซ็นสัญญาสมบูรณ์แบบก่อน ส่วนเรื่องอาชญากรสงครามนั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ว่าเราควรทำกันเอง จับกันเอง และศาลตัดสินปล่อย

7. รัฐประหาร 2490: จุดเริ่มต้นของวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย

เรื่องรัฐประหาร 2490 นั้น ไม่ใช่เพราะไม่จำกัดอำนาจทหารทางการเมือง จะเห็นได้ว่าเป็นการกระทำของพวกทหารกองหนุนทั้งนั้น เช่น จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะไปปราบปรามได้อย่างไร จะเอาไปยิงเป้าได้หรือ ทำไม่ได้

ส่วนเรื่องพรรคการเมืองนั้น พรรคสหชีพ มีนโยบายทางสังคมนิยมที่ทำไว้แน่นอน สมาชิกพรรคส่วนมากเป็นคนอีสาน เช่น นายทองอิน ภูริพัฒน์ เป็นความจริงที่ว่า มีคนกรุงเทพฯ บางพวกรังเกียจพวกอีสาน พวกสหชีพนี้มีความรู้ดีพอสมควร แม้จะไม่เคยเรียนเมืองนอกแต่อย่างนายเตียง ศิริขันธ์ก็อ่านภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญนั้นนิยมประชาธิปไตยแบบสมัยก่อการฯ ได้ให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มนี้เป็น แนว ไม่ใช่ พรรค นอกนั้นก็มีกลุ่มอิสระ มีคนเช่น นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายวิโรจน์ กมลพันธ์ (เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นายเสวตร เปี่ยมพงษ์ศานต์ เป็นต้น

8. กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 (9 มิถุนายน 2489)

การที่ไม่สามารถทำให้เรื่องกระจ่างได้ก็เพราะการรัฐประหาร 2490 เขายิงกันทิ้งจะอยู่ได้อย่างไร และที่ไม่ได้ใช้ international channel แก้ตัว เพราะเห็นว่าไม่ได้ผลอะไร บรรดาชาวต่างประเทศ เขาเขียนเรื่องกรณีสวรรคตก็ไม่เคยเขียนว่าท่านมีส่วนในการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 เรื่องนี้ถ้าจะพูดเองก็กลายเป็นการแก้ตัวเอง สักวันหนึ่งความจริงก็จะปรากฏ

9. การเหยียดและหลงเชื้อชาติ

การเหยียดเชื้อชาติของคนไทยภาคอื่นนั้นมีมาแต่สมัยเก่าแล้ว เช่นเคยมีพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงพระนางเจ้าวิคตอเรีย ใจความว่า มณฑลทางใต้เป็น “Colony” ของไทย (ในหนังสืองานพระศพของกรมหลวงอดิศรฯ)

  เรื่องการดูถูกคนอีสานนี้ ท่านผู้หญิงพูนสุข (ซึ่งนั่งอยู่ด้วย) ได้กล่าวเสริมว่าพวกกบฎแบ่งแยกดินแดน และพวกกบฎ 1 ตุลา ซึ่งเป็นทหารเล่าให้ฟังว่า เมื่อถูกจับเข้าคุกพร้อมกับพวกอีสานได้พูดคุยกัน จึงเริ่มเข้าใจว่าพวกอีสานก็มีความรู้ความสามารถผิดกับที่เคยดูถูกไว้

ส่วนเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยนั้นนายปรีดีกล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับหนังสือ หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา ท่านเคยไปแถวตาลีฟูมา ก็ไม่เห็นหลักฐานเรื่องคนไทย ไปดูยูนนาน พบพวกบัณฑิตจีน เขาก็รู้ถึงหนังสือของกรมพระยาดำรงฯ ได้คุยกันถึงเรื่องที่พูดถึงต้นกำเนิดคนไทย เห็นว่าได้เรื่องมาจากหมอด็อดด์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีเดินทางไปแถวๆนั้น (จีนตอนใต้) แล้วก็ทำให้มีการตั้งทฤษฎีว่าคนไทยมาจากที่นั้น

ที่ฝรั่งเขียนว่าต้นตระกูลไทยมาจากตาลีฟู ความจริงชื่อนี้เป็นชื่อใหม่ คำว่าฟูเป็นศัพท์ที่เกิดในสมัยราชวงศ์ชิง ที่แบ่งแยกการปกครองเป็นฟู การเอาชนชาติไป่มาทดลองดู ด้วยการนับตัวเลข แต่ความจริงพวกไป่ไม่มีตัวเลข พวกนี้เป็นคนพื้นเมือง (ในยูนนาน)

10. การเมืองไทย-สันติหรือรุนแรง

ในเรื่องเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและไทยนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเผชิญต่อความเป็นจริง จีน(ใหม่) นั้นตั้งประเทศเมื่อ พ.ศ. 2492 เรื่องก่อการร้ายในไทยมีเมื่อ พ.ศ. 2507 แล้วเราไปตั้งข้อว่าเขารุกรานเรา แต่ที่เราไปสมรู้กับสหรัฐฯ ทำไมไม่คิด คิดแต่ว่าเราจะไปป้องกันคอมมิวนิสต์ แต่ที่เราไปบอมบ์เด็กเล็ก (ในอินโดจีน) ทำไมไม่คิด นโยบายต่างประเทศควรจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ สำหรับไทยถ้าเกิดอะไรขึ้น รบกันเราจะอยู่ได้อย่างไร ทหารของเราคือใคร เรื่องกำลังทหาร พวกที่รบจริง ๆ คือพลทหารลูกชาวนา การเมืองภายในนั้น ถ้าไม่ปล่อยให้มีวิธีสันติคนก็จำต้องหันไปหาวิธีที่ไม่สันติ