ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

Pridi Interview: จากอยุธยา ถึงบ้านอองโตนี: นายปรีดีในความทรงจำของดำรง พุฒตาล

11
พฤษภาคม
2568

เนื่องด้วยเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนที่มีวาระสำคัญ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ “รัฐบุรุษอาวุโส” ครบ 125 ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอนำเสนอเรื่องราว จากความทรงจำจากของ คุณดํารง พุฒตาล ผู้ก่อตั้งนิตยสาร คู่สร้างคู่สม “เพื่อนบ้าน” ชาวอยุธยาของท่าน และเคยไปถ่ายทำรายการ ณ บ้านอองโตนีหลังการอสัญกรรมของท่านไม่กี่ปี รายงานชิ้นนี้จึงเสมือนการรำลึกถึงบ้านหลังแรก และบ้านหลังสุดท้ายของรัฐบุรุษอาวุโสผู้ล่วงลับ

 

 

เพื่อนบ้าน และอยุธยาในความทรงจำชีวิตช่วงวัยเด็ก

คุณดำรง กับอาจารย์ปรีดีถือเป็นเพื่อนบ้านกันโดยแท้ เป็นชาวอยุธยาโดยแท้ แม้ว่าจะนับถือศาสนาต่างกัน แต่ก็เป็นภาพสะท้อนสังคมที่อยู่ร่วมกันกับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมได้โดยสงบสันติ บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน  คุณดำรงเริ่มเล่าชีวิตวัยเด็กแต่แรกเกิดว่า

“ผมเกิดที่นี่ที่อยุธยา บ้านเกิดของผมอยู่ห่างจากตรงนี้  เรานั่งอยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และเลยไปสักนิดหนึ่ง ผมว่าประมาณหนึ่งกิโลเมตร จะมีวัดตึกอยู่ทางซ้ายมือ ขวามือเป็นบ้านที่ผมเกิดอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์ปรีดีกับผมนี่เป็นคนที่อยู่ใกล้กัน ผมเกิดไม่ทันท่านปรีดี แต่คนที่คุ้นเคยรู้จักมักจี่สนิทสนมผมกับท่านปรีดีคือ คุณพ่อผมและคุณปู่ผมซึ่งทุกครั้งที่ทั้งสองท่านเอ่ยถึงท่านปรีดี หรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อะไร ผมสังเกตว่าท่านจะพูดถึงด้วยความเคารพและระวัง ก็เลยทำให้ผมพลอยต้องระวังไปด้วย”

 

ดำรง พุฒตาลกับความรับรู้เรื่องปรีดี พนมยงค์

สำหรับชาวอยุธยาแล้ว นายปรีดีคือบุคคลที่น่าภาคภูมิใจที่สุดคนหนึ่ง  แม้ว่ายุคหนึ่งชื่อของท่านจะถูกทำให้หายไปจากประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ความใฝ่รู้ของคุณดำรง 

กอปรกับความภูมิใจในการเป็นชาวอยุธยาก็ทำให้ท่านรับทราบเรื่องราวเป็นอย่างดี   

อย่างที่คุณดำรงเล่าถึงการเริ่มต้นรู้จักนายปรีดีว่า

พ่อแม่ไม่เคยเล่าถึงอาจารย์ปรีดี แต่พอเราโตขึ้นมาหน่อย เราเริ่มรู้จักว่าคนบ้านเรา คนพื้นถิ่นเรา อดีตเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอื่น ๆ อีกหลากหลายอย่าง ที่อาจารย์ปรีดีได้ทำให้กับประเทศชาติและบ้านเมือง ก็เลยมีความภูมิใจในตัวท่านปรีดี คอยเงี่ยหูฟังใครพูดหรือว่า มีบทความลงในหนังสือพิมพ์รายวันที่เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี ผมก็จะรีบอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมรู้จักอาจารย์ปรีดี ผมรู้จักจากการอ่าน ความใส่ใจคอยแสวงหาความรู้จากท่านปรีดี”

 

วัด คลอง เรือ ต้นกำเนิดรัฐบุรุษ

คลองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเดินทางในอดีต เป็นปัจจัยสำคัญที่อยุธยากลายเป็นเมืองท่าเก่าแก่และมั่งคั่ง  จนได้ฉายาว่าเวนิสตะวันออก  บริเวณอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์  ตรงข้ามวัดพนมยงค์ มีคลองเมืองตัดผ่านสะดวกแก่การคมนาคมทางเรือ ดังนั้นแล้วชาวอยุธยาทั้งหลายถึงมีความผูกพันกับคลองประหนึ่งเส้นเลือดในร่างกาย โดยคุณดำรงเล่าว่า

“หน้าบ้าน ไม่รู้จะเรียกหน้าบ้านหรือหลังบ้านเป็นคลองเมือง นั่งเรือหรือว่ายน้ำไปเดี๋ยวก็ผ่านบ้านผม “ชื่อบ้านคลองเมือง” เป็นบ้านที่ผมเกิด (คลองเมือง) คือแม่น้ำลพบุรี ชาวบ้านสมัยก่อนจะเรียกแม่น้ำลพบุรี แต่ว่าคนละแวกนี้เขาเรียกว่าคลองเมือง”

 ผมเองเกิดบนเกาะเมืองนี่ อยุธยานี่เป็นเกาะเมืองล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและคลองเมือง ที่ทำให้อยุธยาล้อมรอบด้วยแม่น้ำ (แล้วก็ว่ากันว่าเป็นชัยภูมิที่ป้องกันศัตรูได้ ป้องกันพม่าได้แต่ไม่รู้ไง ก็พม่าโจมตีไทยเมื่อปี 2310) ผมเองหลังบ้านเป็นคลองเมือง เติบโต ว่ายน้ำ หัดว่ายน้ำอะไรอยู่ที่คลองเมืองนี่ แต่เลยไปปากคลองเมืองนี่ จะไปชนกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้น เวลาฤดูน้ำ คือ คนในสมัยโบราณนี่อยุธยาประกอบอาชีพเป็นขาวนาปลูกข้าว เลยนี่ไปก็เป็นทุ่งภูเขาทองแล้ว เลยไปทางนี้ก็เป็นทุ่งลุมพลี บ้านคุณตาผมนี่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยเด็ก ๆ ไม่มีอะไรสนุกเท่ากับว่ายน้ำ คนอยุธยาต้องว่ายน้ำเป็น”

 

 

“ผมมีลูกสี่คนนี่ วันที่ผมลูกผมว่ายน้ำเป็น ผมมีความสุขที่สุด เพราะว่าเราลูกเจ้าพระยาบ้านคุณตาอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เราก็ชอบหนีคุณแม่ แม่ก็คงไม่ว่าอะไร เพราะว่าเราไปหาคุณตาก็คือพ่อของแม่เรา มีข้าวปลาอาหารกิน มีเพื่อนอยู่ที่นั่น ดำผุดดำว่าย เกาะเรือโยง เด็กสมัยนั้นจะให้เท่ ค้องว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ผมก็มานั่งคิด แม่เราปล่อยเรา ไปจมน้ำตายก็ไม่รู้จะหาศพที่ไหนนะครับ รอดมาได้นี่

ผมก็เลยรักเจ้าพระยา เพราะความรัก เพราะว่าพ่อมีเรือ ญาติมีเรือยนต์ ผมจึงขับเรือเป็น ก็มองไว้แล้วนี่ว่า ถ้ามาวัดพนมยงค์จะหาที่จอดได้หรือเปล่า หรือน้ำตื้นหรือเปล่าเวลาหน้าน้ำคงได้ขับมาเที่ยว แต่แน่นอนเมื่อมีก็ต้องขับรอบเกาะเมืองนี่

มีวัดอยู่วัดหนึ่ง เขาเล่ากันว่า พระเจ้าตากสินหรือไงนี่เป็นลูกศิษย์อยู่วัดนี้แล้วก็อาจจะมีเรื่องทะเลาะอะไรกับลูกศิษย์ แล้วเจ้าอาวาสก็มาผูกไว้ที่บันไดวัด สุดท้ายเจ้าอาวาสก็ลืม พอน้่ำขึ้นจึงนึกได้มาตามดูลูกศิษย์ ปรากฎว่า  ไม่รู้ว่าพระเจ้าตากหลุดไปได้ยังไง นี่ก็มีเรื่องเล่า

และอยุธยามีวัดที่น่าสนใจได้แก่ วัดพนมยงค์ วัดพรหมนิวาส วัดศาลาปูน”

จากคำบอกเล่าของคุณดำรง ทำให้เห็นว่า วัดและศาสนสถานในศาสนาต่าง ๆ, คลอง, เรือ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในอยุธยามาอย่างยาวนาน และยังเป็นต้นกำเนิดรัฐบุรุษคนสำคัญมาหลายยุคสมัย ที่นี่เองคนอย่างพระเจ้าตากสิน, นายปรีดี, คุณดำรง หรือคนอื่น ๆ ล้วนเคยได้รับความรู้สึกและประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กมาแล้ว

 

รัฐบุรุษอาวุโสชาวอยุธยา

การที่นายปรีดี พนมยงค์  ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ในปี 2488 ขณะนั้นคุณดำรงอายุได้ 1 ขวบ ซึ่งต่อมาพระบรมราชโองการฉบับนี่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณดำรง และชาวอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยคุณดำรงกล่าว พร้อมอ่านสำเนาพระบรมราชโองการฉบับนั้นว่า

“คนไทยก็รู้จักท่านอาจารย์ปรีดีเป็นอย่างดีแล้ว ถ้าเผื่อมีคนไทยถามผมหรือใครถามผมอย่างนี้ ผมจดเอามา พูดถึงความสำคัญของท่านอาจารย์ปรีดี ในความรู้สึกของผม ผมเคยอ่านพระราชโองการยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เราเจออย่างนี้เราก็ปลื้มแล้ว

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า  ให้ประกาศว่า

โดยที่มีพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งปรากฏว่า ตลอดที่นายปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ

 

 

สมัยนี้ก็มักจะพูดแค่ว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ย้อนหลังไป สังคมสมัยนั้นพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย แม้กระทั่งในคำประกาศนี้ก็อยากให้นักการเมืองอยู่ในสภาหรือประชาชนทั่วไปได้เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

ทั้งได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้กับประเทศได้เป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้ายกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของประเทศชาติสืบต่อไป ประกาศนี้พระบรมราชโองการลงมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488

ตอนนั้นผมอายุขวบนึง ผมเกิด 2487 เดือนพฤษภาคม เดือนเดียวกับอาจารย์ปรีดี แต่คนละปีกัน ผู้รับสนองราชโองการ คือหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี

คำประกาศพระบรมราชโองการนี่เป็นการ ความรู้ความสามารถและความสำคัญ ในตัวคนดีศรีอยุธยาคนนี้ คืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์”

 

“คนดีศรีอยุธยา”

ในหนังสือ มิตรกำสรวล พิมพ์เป็นที่ระลึกในวาระการอสัญกรรมของนายปรีดีในปี 2526 ปรากฏบทความหนึ่งของคุณดำรงได้สะท้อนความรู้สึกผูกพัน ประทับใจ และภูมิใจในตัวนายปรีดี เรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” เหตุผลในการกล่าวรำลึกเช่นนี้ คุณดำรงได้ตอบว่า

 

 

“คุณความดีอาจารย์ปรีดีมีมากเกินกำลังที่ผมจะพูด เพราะผมไม่ได้มีชีวิตอยู่ในขณะที่ท่านปรีดีได้สร้างคุณงามความดี ให้กับสังคม ให้กับชาวบ้าน ให้กับคนไทย และให้กับประเทศไทยถ้าไม่มีท่านปรีดีทุกวันนี้ เราจะอยู่กันอย่างนี้ ในระบบนี้หรือเปล่า ก็สุดจะเดาได้ คือผมว่า ไม่ต้องอธิบายว่าคนดีศรีอยุธยาเป็นอย่างไร ในที่บ้านเมืองของเราขณะนี้เต็มไปด้วยคนไม่ดีเยอะไปหมด เรามองหาคนดีบังเอิญท่านปรีดีมาเป็นคนอยุธยา แล้วคล้องจองกับคนดีศรีอยุธยา ผมไม่ทราบว่าจะให้คำจำกัดความว่าอย่างไรถึงจะสละสลวยงดงาม แต่มีความเข้าใจอยู่”

 

จากอยุธยา ถึง บ้านอองโตนี

ารเดินทางของคุณดำรง ได้พาเขาไปถึงสถานที่สำคัญอีกแห่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือบ้านพักของนายปรีดี พนมยงค์ ในฝรั่งเศส ที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนถึงบั้นปลายชีวิต ช่วงทศวรรษที่ 2530  หลังการถึงแก่อสัญกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส  คุณดำรงได้เดินทางไปถ่ายรายการที่บ้านของอองโตนี ฝรั่งเศส  รายการนั้นกลายเป็นเทปประวัติศาสตร์เพราะไม่มีรายการใดเลย ณ ขณะนั้นได้เข้าไปถ่ายทำ คุณดำรงเล่าว่าบุตรสาวของท่านเปิดเผยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเปี่ยมความหมาย ตั้งแต่ต้นแอปเปิ้ลที่ท่านชอบนั่งใต้ร่มเงา ไปจนถึงห้องพักส่วนตัวของรัฐบุรุษผู้ลี้ภัย การพบปะครั้งนี้ไม่เพียงเปิดมุมมองใหม่ต่อชีวิตบั้นปลายของปรีดี แต่ยังจุดประกายแนวคิดในการอนุรักษ์สถานที่แห่งนี้ให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ โดยคุณดำรงเล่าว่า

“ลูกสาวก็เล่าให้ฟังว่า อาจารย์ปรีดีนั่งตรงไหน ชอบนั่งตรงไหน มีต้นแอปเปิ้ลอยู่ต้นนึงในเขตบ้านท่านปรีดี ลูกสาวท่านก็บอกว่าท่านปรีดีชอบนั่งมาอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ท่านปรีดีอาจจะรอลูกหล่นลงมาหรือว่าท่านไปเก็บก็ได้ แล้วก็ท่านก็พาดูห้องพักท่านปรีดี รู้สึกคุยกันไปคุยกันมา ออกแนวจะซื้อขายบ้านหลังนี้ ผมก็นึกในใจว่า บ้านหลังนี้เรามีโอกาสกว่าคนอื่น เราได้รู้จักกับลูกสาวของท่านปรีดี

ผมก็คิดอย่างนี้ว่า ถ้าเผื่อเราเป็นเจ้าของบ้านแห่งนี้นี่ และเราก็นำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ อาจารย์ปรีดี ให้คนไทยก็เยอะในฝรั่งเศส เป็นที่ภาคภูมิใจ ให้ได้มาเยี่ยมคารวะ”

 

ความประทับใจที่มีต่อครอบครัวปรีดี พูนศุข

อาจารย์ดุษฎี ลูกสาวของอาจารย์ปรีดีนี่ ท่านก็เขียนหนังสือและท่านก็จัดการแสดง พาเด็กนี่ไปแสดงในนานาอารยประเทศ ท่านก็เสียสละมากเลยและท่านก็จะเล่าว่าท่านได้พาเด็กไปแสดงที่ไหน ระหว่างแสดงก่อนแสดงมีปัญหาอะไร ท่านก็เล่ามาเรื่องดนตรงดนตรีอะไร ผมก็เอาลงในหนังสือคู่สร้างคู่สมให้ท่าน ระยะหลังก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงห่างกันไป อาจารย์ดุษฎีนี่ดูเหมือนว่า ท่านไปอยู่แถวเลยหัวหินไปอีก แล้ววันหนึ่งท่านไปเจอร้านอาหาร เลยก็จะมีผูกพันกัน แต่ระยะหลังนี่อายุท่านก็คงจะมากพอสมควร

 

มุมมองนักสื่อสารมวลชนต่อบทบาทอาจารย์ปรีดี

“ท่านปรีดีก็เป็นนักคิด “ตอนมีอำนาจ ก็ไม่มีความรู้ ตอนมีความรู้ก็ไม่มีอำนาจ” จะสื่ออย่างไรไม่ทราบ แต่ว่าที่ผมจำเอาไว้

ผมก็ขอความกระจ่างชัด ท่านผู้ชม ที่ผมนั่งคุยกันอยู่ในวันนี้ อยู่ในบริเวณอนุสรณ์สถานอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งปัจจุบันนี้ดูแลคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยู่ติดกับคลองเมือง ด้านหลัง มาทางเรือก็ได้และก็ด้านหน้าติดกับถนนอู่ทอง หรือถนนรอบกรุงหาง่าย อยู่ใกล้ ๆ กับทางแยกไปจังหวัดอ่างทอง ต้องข้ามคลองเมืองไปและไปจังหวัดอ่างทองทางนี้หาง่าย

 

 

ถ้าประชาชนมาที่นี่ด้านในก็จะมีประวัติของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์อยู่ แล้วก็จะมีสิ่งของ เป็นของใช้ส่วนตัวของอาจารย์ปรีดี ก็จะจัดแสดงอยู่บนเรือนก็สามารถไปเยี่ยมชมได้ แล้วก็ตรงข้ามไปก็จะเป็นวัดพนมยงค์ ก็จะมี (เจดีย์) ที่เก็บอัฐิ ของนายเสียง พนมยงค์ (บิดาของนายปรีดี รวมถึง มารดา นางลูกจันทน์ พนมยงค์) เป็นบรรพบุรษของครอบครัวพนมยงค์ด้วย บรรพบุรุษของอาจารย์ปรีดีนี่อ่านจากหนังสือประวัติของท่านนี่ก็ต่อสู้กับพม่ามาเมื่อปี พ.ศ. 2310” 

 


นายเสียง พนมยงค์

 


เจดีย์บรรจุอัฐิของนายเสียง นางลูกจันทร์ พนมยงค์

 

คุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ที่ ยังคงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อาจารย์ก็ได้เปลี่ยนแปลงหลายอย่างในบ้านเมืองเรานี่ แล้วก็นำความเจริญก้าวหน้ามาให้กับประเทศชาติและก็สังคม การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ ที่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ควรยกย่องว่าสถาบันของท่านนี่ วีรบุรุษของไทย น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ใจผมนี่ ผมอยากให้บ้านเมือง สื่อสารมวลชน นักวิชาการ นักศึกษานี่ได้ร่วมมือร่วมใจอะไรกัน สร้างกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นำเสนอผลงาน ผมยังคิดอย่างนี้อยู่เลย จำได้ว่าเมื่อตอนเรียน มัธยม 3 มัธยม 4 นี่ นึกตำหนิกระทรวงศึกษาธิการนี่ อายุยังเป็นเด็กอยู่เลย ทำไมจะต้องให้เรามาเรียนประวัติอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หรือว่าจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เรียนทำไม ทำไมไม่เรียนประวัติอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อย่าว่าแต่กระทรวงสมัยนั้นเลย สมัยนี้ก็เหมือนกัน ต่อประวัติศาสตร์ไปแล้ว เอาประวัติคนที่ได้สร้างประโยชน์ จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินนี่ก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม อย่างที่ผมอ่านไปแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส

 

จากอยุธยา แล้วการก้าวไปสู่การทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน

ต่อจากนี้จะเป็นเรื่องราวของคุณดำรงกับการก้าวเข้าสู่วงการสื่อ วิทยุโทรทัศน์ และนิตยสารที่ครองใจผู้อ่านชาวไทยเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเราได้นำคำบอกเล่าของคุณดำรงมาเสนอด้วยในสกู๊ปนี้

“ประมาณปี 2508 หรือ 2509 (คือ) 60 กว่าปีแล้ว สถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อออกอากาศโทรทัศน์เป็นระบบสี เพราะสมัยก่อน ๆ ออกเป็นขาวดำ จากนั้นเขาก็ย่อมต้องแสวงหาโฆษกหรือพิธีกร มาอยู่ที่สถานี

ผมเองตอนนั้นอยู่บริษัทการบินไทย ทำงานอยู่บริษัทการบินไทย ก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่สนิทกัน ที่เขาอาจเห็นผมเป็นคนชอบพูด ชอบกล่าวอะไรต่ออะไร เวลาเรียนหนังสือเวลารายงานหน้าชั้นก็จะเป็นคนรายงานและมักจะทำคะแนนได้ดี เขาก็คงเห็นว่าผมน่าจะไปเป็นพิธีกรได้ เขาก็ชวนผมไปสมัครกับ พันเอกการุณ เก่งระดมยิง

ซึ่งท่านมีรายการอยู่ที่ช่อง 5 ชื่อรายการ Top Pop เป็นรายการสดทุกวันอาทิตย์ ท่านก็ให้ผมซึ่งไปสมัครจะเป็นโฆษก เป็นผู้ช่วยท่านอยู่ในรายการ ก็เหมือนการได้ฝึกงาน เพราะฉนั้น ผมเป็นนักจัดรายการ หรือโฆษกพิธีกร ที่ผู้ชมเห็นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เห็นตั้งแต่ยังพูด วางท่าวางทีไม่ค่อยเป็นในโทรทัศน์ เขาก็เลยมีความทรงจำที่ดีต่อผมและความเมตตาปราณี อยู่ได้ระยะหนึ่งทางช่อง 7 สีก็มาชวนผมให้ออกจากการบินไทยให้มาเป็นพนักงานประจำของช่อง 7 สี ผมก็ลาออกจากการบินไทยมาอยู่ช่อง 7 สี พ.ศ. 2510 ถึง 2518 ทำงานอยู่ช่อง 7 สีอยู่ 10 ปี

คุณพ่อคุณแม่ คุณมุก (พิธีกร) อาจจะเคยดูรายการนาทีทอง รายการเพลงลูกทุ่ง รายการที่ผมจัดอยู่ท่านก็คงรู้จักและก็คงเห็นผมมาตลอด นี่ก็คือการเข้าสู่วงการ”

 

จุดเปลี่ยนเข้าสู่สื่อสิ่งพิมพ์

 

 

“นิตยสารคู่สร้างคู่สมน่าจะมาจากความปรารถนาอันแรงกล้าของผม ผมเป็นคนไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นหนอนหนังสืออแต่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ผมเคยเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยา สิ้นเดือนออกบ้านอาจารย์ปรีดี ซึ่งข้ามฟากไปก็ถึงแล้วปัจจุบันเป็นโรงเรียนประตูชัย โรงเรียนฝึกครูอยุธยาผมเรียนอยู่ 2 ปี กินนอนอยู่ที่โรงเรียน และผมสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดโรงเรียน ก็อ่านหนังสือเกลี้ยงในห้องสมุดได้รู้ได้เข้าใจ เกิดวังปารุสก์ก็อ่านแล้วก็เข้าใจราชวงศ์จักรี เกี่ยวกับเรื่อง 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ก็อ่านหมด ประเทศ อินเดีย ทัชมาฮาล ประเทศจีน กำแพงเมืองจีน หรือประเทศอียิปต์ พีระมิด

อ่าน ๆ ไปแล้วก็พูดกับตัวเองว่า เราจะมีปัญญาให้ไปเห็นไหมนี่ ได้ไปสัมผัสได้ไปเที่ยวไหม ก็เลยทำให้เราเกิด ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า inspiration ก็คือแรงบันดาลใจที่อยากจะทำอย่างไรถึงจะได้ไปได้หรือไปแล้วก็จะได้เรียนรู้ ก็เลยทำให้สนใจเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก คือสนใจภาษาอังกฤษ แล้วก็จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยประสานมิตร วิชาเอกภาษาอังกฤษก็พองู ๆ ปลา ๆ พอพูดกับฝรั่งได้รู้เรื่อง ขอข้าวกินกันได้รู้สึกว่า ไม่ว่าจะสมัยไหน เรื่องการอ่าน หรือแรงบันดาลใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จะสร้างสรรค์หนทางในอนาคตของเราได้จริง ๆ การอ่านหนังสือเกิดจินตนาการ ดูทีนี่ เราไม่ทันจะจินตนาการก็จบแล้ว ก็ให้บทสรุปของละครหรือหนังเรื่องนั้นแล้ว”

 

เยาวชนกับการศึกษาอาจารย์ปรีดี

ในแง่มุมของการทำสื่อ สุดท้ายแล้วคุณดำรงได้ฝากไว้ถึงวิธีการศึกษาคุณูปการของอาจารย์ปรีดีในโลกร่วมสมัย  เห็นได้ว่าสื่อใหม่ (new media)  มีส่วนสำคัญมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเป็นโอกาสอันดีในการรู้จักอาจารย์ปรีดี เพิ่มขึ้น จากที่คุณดำรงเล่าว่า

“ปัญหาว่ามีอะไรให้เขาศึกษา ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้มีการทำรายการ สมัยก่อนจะทำรายการทีวีนี่เป็นเรื่องใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้คุณมีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวคุณก็ถ่ายทำตัดต่อ แล้วก็ออกมาเป็นคลิปออกมาเป็น Link อะไรได้นี่ ให้หันมาทำเรื่องนี้บ้าง ที่จริงนี่ ป่านนี้ต้องมีออกอากาศ เขาเรียกไวรัล (Viral) ไปแล้ว เพราะนี่ก็ใกล้เดือนพฤษภาคม ใกล้วันที่ 11 พฤษภาคม อันเป็นวันชาตกาลของท่านปรีดี ควรจะได้ทำได้ส่งเสริม เข้าใจว่าไม่ใช่แค่เยาวชนที่เป็นผู้รับข้อมูลด้วยใช่ไหมก็อยู่ที่คนสร้างเนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ หรืออยู่ที่เทคโนโลยีค่อนข้างครบมือ”

 

อกจากบทบาททางวิทยุตอนนี้มีบทบาททางด้านการเมืองด้วยใช่ไหมคะ

การเมืองก็เป็นที่ปรึกษาท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ตำแหน่งก็คือที่ปรึกษาประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร สองตำแหน่งแต่คนเดียวกัน อาจารย์เป็นทั้งประธาน สส. และประธานรัฐสภา

คุณดำรงทำนิตยสารคู่สร้างคู่สมมาคิดว่าทางด้านสื่อจอแก้ว สื่อโทรทัศน์ หรือว่าพวกสื่อออนไลน์อย่างนี่ มีส่วนในการที่จะช่วยสร้างสรรค์หรือว่าสรรค์สร้าง สังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยให้งอกงามขึ้นด้วยหรือไม่

สื่อทุกประเภท มีความจำเป็นแล้วก็มีหน้าที่ที่ต้องเสริมสร้างสิ่งที่คุณว่า สื่อต้องไม่ไปรับใช้นักการเมือง หรือรับใช้คนไม่ดี แต่สื่อก็ต้องช่วยกันเป็นกระจกเงาสะท้อนการเมือง สะท้อนงานใน ครม. หรือในตึกไทยคู่ฟ้า หรือในสภาผู้แทนราษฎร แล้วต้องสะท้อนอย่างมีจริยธรรมคุณธรรม เป็นความความจำเป็น

สื่อต้องมีบทบาท เพราะว่าบางทีการเมืองคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อาจจะไม่ได้มีความรับรู้มากพอหรืออาจจะไม่ได้มีสื่อที่รายงานให้เขาแบบได้รับทราบเรื่องราวในสภา

สุดท้าย ในชีวิตปัจจุบัน คุณดำรงคิดว่ามีอะไรที่เรายังอยากทำอยู่เพื่อสานต่อ

ในเรื่องของความรู้รอบตัว หรือความรู้ที่เราพยายามจะ นำเสนอให้กับสังคม คิดว่ามีอะไรที่เรายังอยากทำต่อไปบ้างคะผมคงไม่ทิ้งงานสื่อ คือทำมาตลอดชีวิต พอเห็นอะไรเรื่องนี้น่าจะพุดให้ชาวบ้านประชาชนได้เข้าใจ อยากจะเล่า ถ้าเรามีสื่อเราก็เล่าได้เลย นี่อย่างผมมีสื่อปั๊บ พออยากไปบ้านอาจารย์ เอ่อ อองโตนี อาจารย์ปรีดีนี่ เราก็ไปได้เลย พอมีสตางต์ซื้อตั๋ว ซื้อที่พักโรงแรมอะไร ผมว่าเป็นงานที่คงทำไปจนสิ้นลมหายใจอยู่ในสายเลือดแล้วครับ อยู่ในดีเอ็นเอแล้ว