ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

รัฐบุรุษผู้อุทิศตนแก่ชาติและราษฎร โดยไม่เห็นแก่ตัวในทุกกาละและในทุกสถาน

3
มิถุนายน
2563

ในการศึกษาพิจารณาถึงชีวิตของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่ศึกษาแม้เพียงเผิน ๆ ก็ย่อมจะรู้สึกแก่ใจได้อย่างตระหนักชัดข้อหนึ่งว่า การดำรงชีวิตของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่น่าจะตกระกำลำบากถึงเพียงนั้น

ข้อที่กล่าวว่า “ตกระกำลำบาก” นี้ ข้าพเจ้าหมายถึงความสำนึกของผู้ศึกษาเอง เพราะเท่าที่ได้ติดตามสังเกตต่อเนื่องกันมาในช่วงเวลาทั้งที่ได้อ่านและได้ฟังจากคำบอกเล่าของผู้ศึกษาผู้สังเกตต่าง ๆ และทั้งที่ได้ประสบจากคลองจักษุของตนเองในระยะสุดท้ายแห่งชีวิตของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ นั้น ไม่เคยปรากฏแม้สักวินาทีเดียวว่า แบบแผนหรือมรรควิธีในการดำรงชีวิตที่ท่านได้ใช้ได้ปฏิบัติอยู่อย่างประจำจำเจเป็นปกติจะมีอะไรหรือส่วนใดที่ตัวของท่านคิดหรือรู้สึกว่าเป็นการตกระกำลำบากอะไรทั้งสิ้น

แต่ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะไม่มีความรู้หรือจะไม่รู้จักว่า ความสุขสบายฟุ้งเฟ้อคืออย่างไร และความลำบากขาดแคลนคืออย่างไร

ความสำนึกดังกล่าวนั้นมันเป็นความสำนึกของเราผู้ศึกษาเอง หลังจากวาระได้เทียบเคียงบุคคลผู้ทรงคุณวิชาในด้านต่าง ๆ และเทียบเคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “โอกาส” ต่าง ๆ ตามมาตรฐานของบุคคลในระดับเดียวกันนั้น ลักษณะการของภาวะแห่งความตกระกำลำบากในการดำรงชีวิตของดร. ปรีดี พนมยงค์ จึงปรากฏออกมาอย่างเด่นชัดมาก ทั้ง ๆ ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มิได้แสดงความสนใจใยดีหรือกังวลในลักษณาการเช่นว่านั้นแต่อย่างใดเลย

ความเพ่งเล็งเอาใจใส่ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์อย่างล้ำลึกและจำหลักหนักแน่นในทุกกรณีในทุกปัญหา ไม่ว่าจากข้อเขียนของท่านหรือจากการสนทนาพาทีไม่ว่าในกรณีใดปัญหาใด ผู้ศึกษาและผู้สนทนาจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่ามีแต่ “ความมั่นคงรุ่งเรืองของชาติ” และ “ความมีระดับแห่งชีวิตและมีปัจจัยของการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นสูงขึ้นของราษฎร” เท่านั้นเองโดยตลอด

คงจะไม่เป็นการกล่าวอย่างเกินเลยดอกกระมัง ที่ว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ สนใจอย่างดื่มด่ำในปัญหาของชาติไทยและราษฎรไทยมากกว่าที่จะสนใจในภาวะของตนเองอย่างห่างไกลราวกับคนละขั้วโลก ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตนดำรงสถานะของตนเพียงระดับสถานประมาณพอให้อยู่ไปได้อย่างมีเกียรติสมแก่เกียรติแห่งชาติไทยและราษฎรไทยเท่านั้นเอง

คำว่า “เกียรติ” ที่กล่าวนี้หมายถึงเกียรติตามความหมายและคุณค่าทางจริยธรรม มิใช่เกียรติอันเพ้อบ้าตามความสำนึกเพ้อบ้าซึ่งสังคมระดับหนึ่งได้ทึกทักสมมุติกันขึ้นแล้วก็รับเชื่อกันตามที่ได้ทึกทักสมมุติขึ้นมานั้น ๆ

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ปักความสนใจใฝ่ศึกษาติดตามในขั้นตอนต่าง ๆ และในความที่พึงเป็นไปได้เพื่อความเจริญมั่นคงและความมีมาตรฐานดีขึ้นโดยลำดับแห่งชาติไทยและราษฎรไทยตลอดจนอุปสรรคนานาประการที่จะเป็นเครื่องขวางกั้นสิ่งที่มาดหมายเหล่านั้นหนึ่งว่ามันเป็นลมหายใจของท่านเองทั้ง ๆ ที่อายุได้ก้าวล่วงถึง 80 เศษแล้ว อันเป็นช่วงแห่งวัยซึ่งคนพื้น ๆ อย่างข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรแก่การพักผ่อน

แน่นอนละ, สิ่งต่าง ๆ และปัญหาต่าง ๆ ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สอบสวนค้นคว้าและเรียบเรียงอยู่ตลอดเวลาจนดูเสมือนหนึ่งหมายกำหนดการทำงานอันไม่มีวันหยุดทั้งเดือนทั้งปีล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมและเป็นปัญหาที่มีค่าแก่การศึกษา และเชื่อว่าเมื่อได้มีการเผยแพร่ออกมาแล้วก็จะเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ทรรศนะของคนรุ่นต่อไปโดยไม่เป็นที่สงสัย

แต่ข้าพเจ้าหรือใคร ๆ ก็ตามที่ศึกษาติดตามงานและพฤติกรรมของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มักจะไม่วายสนเท่ห์ในการปฏิบัติแบบอุทิศตนดังกล่าวนี้นั้น เป็นเพราะชะตากรรมอะไรของชาติไทยและราษฎรไทยเล่าที่ได้ตกลงมาอยู่บนบ่าของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จนตลอดชั่วอายุขัยเช่นนี้?

ที่น่าประหลาดน่าอัศจรรย์แก่ใจของพวกเราผู้ศึกษาติดตามก็คือมันเป็นความสุขอย่างยิ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่จะปฏิบัติตนและดำรงตนในลักษณะเช่นว่านั้นอย่างแท้จริงหนักแน่นเสียด้วย

การสอบค้นจนมีความรู้อย่างทั่วและอย่างลึกคือธรรมชาติที่แฝงฝังอยู่ในทุกอณูแห่งสายเลือดของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั่นแหละคือข้อสรุปซึ่งผู้ศึกษางานและชีวิตของท่านจะพึงประเมินได้พ้องต้องกัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีลมหายใจเข้าและออกในลักษณาการของ “ครู” โดยแท้จริงและไม่เคยเหนื่อยหน่าย

หนังสือเล่มสุดท้ายที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเขียนค้างไว้ซึ่งเข้าใจว่าจะจบครบถ้วนได้อีกไม่มากนักจะเป็นหนังสือที่น่าสนใจที่สุดเล่มหนึ่งทั้งแก่วงการของผู้ศึกษาทั้งปวงและแก่การทำความเข้าใจในตัวของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เองด้วยนั้นเป็นหนังสือทำนองอัตชีวประวัติของท่าน ดูเหมือนจะให้ชื่อไว้ว่า “ชีวิตและงานของปรีดี-พูนศุข”

จุดยึดมั่นในการเขียนหนังสือเล่มนี้และที่ให้ชื่อเช่นนี้ท่านได้เคยชี้แจงในการสนทนากันครั้งหนึ่ง ก็คือ ชีวิตของท่านจะไม่มีค่าอะไรแก่ใครเลย ถ้าหากปราศจากท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ภรรยาคู่ชีวิต ซึ่งได้ผ่านชะตากรรมแห่งชีวิตมาด้วยกันทั้งในความสุขบางระยะสั้น ๆ และทั้งในความทุกข์เหมือนฝันร้ายอันแสนสาหัสอย่างสายตัวแทบขาด

ใคร ๆ ก็รู้ดีทั้งนั้น ไม่ว่ามิตรหรือศัตรู ว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีผู้หญิงเพียงคนเดียวจริง ๆ ในชีวิตคือท่านผู้หญิงพูนศุขฯ นี่แหละ  สุภาพสตรีซึ่งแม้แต่ผู้ที่ตั้งตนเป็นศัตรูทางความคิด ศัตรูทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่ว่าระดับไหน ๆ ก็จะต้องยอมรับแก่ตัวของเขาเองว่า ความเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับท่านผู้หญิงพูนศุขฯ นั้นเป็นความจริงแห่งความจริงอันสามารถยืนยันได้ในทุกสถานตลอดโลก

ข้าพเจ้าขออภัยที่จำเป็นต้องกล่าวลงไว้สักนิดหนึ่งว่า ข้าพเจ้าเป็นเสมอเพียงศิษย์เล็ก ๆ คนหนึ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งภูมิปัญญาห่างไกลจากท่านอย่างที่ต้องเรียกว่าอยู่คนละจักรวาล  การที่เรียกขานท่านด้วยวลีว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ นี้มิใช่การดึงตนเองขึ้นหรือการดึงท่านลงมา ทั้งวิธีการเรียกหรือเขียนด้วยการใช้คำว่า ดร. หรือด๊อคเต้อร์ ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งท่านเองมักจะติงในทุกโอกาส แต่ข้าพเจ้ามีความสำนึกว่าในการเขียนถึงท่านต่อสาธารณชนนั้น ถ้าหากใช้คำว่า “อาจารย์” หรือ “ท่านอาจารย์” ตามที่ตนเองปรารถนาจะใช้ บางคนหรือหลายคนก็อาจจะคลื่นไส้เพราะเขาถือตัวว่ามิใช่ศิษย์ และการที่จะใช้คำกลาง ๆ แบบปรกติว่า “นาย” หรือเล่า ข้าพเจ้าเองก็มีความกระอักกระอ่วนเต็มที ดังนั้นจึงหวนมานึกถึงคำว่า ดร. หรือด๊อคเตอร์ อันมีผู้ใช้กันเกลื่อนกล่นกันทั่วไปตามสมัยนิยมในฐานะที่ท่านมีวิทยะฐานะระดับปริญญาเอก (เกียรตินิยมดีมาก) อันพอจะรับอ่านรับฟังกันได้ในปัจจุบัน จึงได้ฉวยโอกาสใช้คำนี้

ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบุรุษผู้มีชีวิตอันเต็มแน่นขนัดด้วยเหตุการณ์สารพัด สถานะแห่งความเป็นรัฐบุรุษก็มิใช่เพียงแต่ของชาติไทย, หากอยู่ในระดับโลกหรือระดับระหว่างประเทศด้วยโดยไม่มีปัญหา ผลงานจากข้อคิดของ ดร.ปรีดี พนมยงค์เต็มไปด้วยคุณค่าน่าอัศจรรย์และเต็มไปด้วยหลักเกณฑ์ที่จะต้องมีการวิเคราะห์กันสืบไปเบื้องหน้าอีกช้านาน

เสียงระฆังแห่งความเป็นธรรมของสังคมซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มย่ำขึ้นไว้แก่สังคมไทยยังดังกังวาลอยู่ และยังจะต้องดังกึกก้องสืบไปจนกระทั่งความเป็นธรรมของสังคมนั้นสถิตเสถียร

ความเป็นเอกราชของชาติไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้นำการต่อกรและสร้างสรรค์ไว้แก่ชาติไทยจะต้องมีความหมายและน้ำหนักปักแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยไปด้วยความมีศักดิ์ศรีแห่งราษฎรไทยทั้งปวง

หลักข้อคิดและผลงานเหล่านี้แม้จะมีเผยแพร่บ้างแล้วและมีผู้ศึกษาติดตามรุ่นใหม่ ๆ ได้เขียนขึ้นไว้บ้างแล้ว แต่ก็เป็นการแน่นอนเหลือเกินว่ายังจะต้องมีอรรถาธิบายเกิดขึ้นอีกมากมายทั้งเพื่อการทำความเข้าใจและทั้งเพื่อผลปฏิบัติอันดีงามแก่ชาติและราษฎร

คุณธรรมอันหนึ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เท่าที่จะพอสรุปอย่างสั้น ๆ ได้ก็คือ “ความไม่เห็นแก่แต่ตนเอง”

คุณธรรมข้อนี้ว่าที่จริงมันก็อ่านฟังดูง่าย ๆ แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็ยากนักหนา


 

พิมพ์ครั้งแรก: ไทยแลนด์ 5-12 พฤษภาคม 2526