ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

นึกถึงปรีดี พนมยงค์ ใต้ร่มเงาต้นเกาลัดที่ฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม

24
ตุลาคม
2567

 Focus

  • บทความนี้นำเสนอความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ผ่านผลงานของนายปรีดีในทศวรรษ 1960-1970 และจากบันทึกของบุตรสาวคือ คุณวาณี พนมยงค์ โดยผู้เขียนรำลึกถึงนายปรีดีจากการที่ตนได้ไปเยือนประเทศฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 และครุ่นคำนึงถึงหน้าบ้านอองโตนีที่ปลูกต้นเกาลัดไว้ รวมทั้งเสนอให้เห็นความสัมพันธ์ของครอบครัวนายปรีดีกับลูกศิษย์ และบุคคลต่าง ๆ ที่มาเยี่ยมเยือนและพบปะ ณ บ้านอองโตนี ระหว่าง พ.ศ. 2513-2526

 

 


นายปรีดี พนมยงค์ ณ ห้องทำงาน ที่บ้านอองโตนี ที่มา: เอกสารภาพส่วนตัวนายปรีดี พนมยงค์

 

 

วาบความคิดแรกสุดซึ่งดลบันดาลให้ผมนึกปรารถนาเขียนถึงเรื่องราวดังจะบอกเล่าต่อไปนี้  ก็คงเป็นขณะที่ผมกำลังทอดน่องเดินเล่นท่ามกลางบรรยากาศเย็นฉ่ำในอาณาบริเวณ Parc Jean-Baptiste Lebas สวนสาธารณะแห่งเมืองลีล (Lille) ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2024 (ตรงกับปี พ.ศ. 2567) ระหว่างสาวเท้าก้าวไปตามทางนั้น ผมได้พบเข้ากับผลของต้นฮอร์สเชสท์นัท (Horse Chestnut) หรือคนไทยเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “ต้นเกาลัด” ที่หล่นร่วงรายตามพื้นดิน

 


Parc Jean-Baptiste-Lebas
ที่มา : https://fr.wikipedia.org/wiki/Parc_Jean-Baptiste-Lebas

 


ต้นฮอร์สเชสท์นัท (Horse Chestnut)
ที่มา: https://directree.org/horse-chestnut-aesculus-hippocastanum/

 

ส่วนวาบความคิดที่สองปรากฏขึ้นขณะผมเตร็ดเตร่ชมเมืองบาเซิล (Basel) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายเมื่อเย็นย่ำของวันอังคารที่ 8 ตุลาคมปีเดียวกัน  และพบว่ามีซุ้มร้านขาย Heisse Maroni หรือเกาลัดคั่วอยู่เจนสายตา

สมทบเข้าอีกด้วยวาบความคิดที่สาม คือการได้เผชิญเหตุการณ์ที่พ่อค้าเกาลัดคั่วแบบแผงเร่ซึ่งมีลักษณะท่าทางคลับคล้ายผู้อพยพ กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสเข้าจับกุมคุมตัวบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ดอร์เซ่ (Musée d'Orsay) ในกรุงปารีส เมื่อยามเที่ยงฝนพรำของวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม

ความสนอกสนใจเรื่องต้นเกาลัดและเกาลัดคั่วของผมในเดือนตุลาคมตามที่กล่าวเกริ่นสาธยายมานั้น ยังทำให้พลันหวนนึกถึง นายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นอย่างครามครัน โดยเฉพาะช่วงชีวิตที่เขาครองลมหายใจและพำนักอยู่ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เนื่องจากสองฝั่งถนนหน้าบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยต้น Marronniers หรือต้นฮอร์สเชสท์นัท และเมื่อล่วงเข้าเดือนตุลาคมอันเป็นฤดูใบไม้ร่วง ใบของต้นเกาลัดที่เคยมีสีเขียวแก่ ๆ ก็จะกลายเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ

 


บ้านอองโตนี  ประเทศฝรั่งเศส
ที่มา: เอกสารภาพส่วนตัวนายปรีดี พนมยงค์

 

สำหรับ นายปรีดี ในห้วงวัยชราภาพ สีใบของต้น Marronniers ที่เปลี่ยนไป หาได้เพียงแค่ชวนให้เขาตระหนักรู้ถึงสัญญาณการมาถึงของเดือนตุลาคมเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำให้อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสระลึกถึงประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน ซึ่งข่าวคราวสถานการณ์ในเดือนตุลาคมจากทางเมืองไทยที่แพร่กระจายมาสู่ประเทศฝรั่งเศสแล้วสร้างความสะเทือนสะท้านใจให้กับ นายปรีดี เหลือแสน ก็เห็นจะมิพ้นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ตรงกับ ค.ศ.1973) และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ตรงกับ ค.ศ.1976)

 


วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (16 กรกฎาคม 2484 – 31 ตุลาคม 2561)

 

สิ่งที่พอจะเผยให้เราทราบว่า นายปรีดี มีความรู้สึกนึกคิดเช่นไรบ้างต่อสถานการณ์ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ในห้วงยามที่เขาพำนักอยู่ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ย่อมมิแคล้วจดหมายของบุตรสาวคนเล็กอย่าง วาณี พนมยงค์ ที่เขียนขึ้นเมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ท่ามกลางบรรยากาศอวลกลิ่นอายการนองเลือดบนถนนราชดำเนินที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ

วาณี เขียนจดหมายถึง นายปรีดี ผู้เป็นบิดาซึ่งได้วายชนม์อำลาโลกไปแล้วกว่า 9 ปี นั่นคือตั้งแต่วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ทว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงปราบปราม ช่วงระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 คงทำให้ วาณี อดมิได้ที่จะต้องระลึกถึง นายปรีดี ผู้พยายามสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

วาณี เริ่มต้นจดหมายของเธอว่า

“กราบเท้าคุณพ่อที่รักและเคารพอย่างสูง”

เช้าวันนี้ รถราบนถนนราชดำเนินดูบางตา ความเงียบปกคลุมไปทั่วบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนทางเท้าริมถนน มีคนจับกลุ่มคุยกันอยู่ บ้างก็มุงดูรถเมล์ ขสมก. ที่ปรุด้วยรอยกระสุน บ้างก็เพ่งพิศกองกระดูกที่ถูกเผาไหม้จนกลายเป็นเถ้าถ่าน บ้างก็ยืนล้อมต้นไม้ไม่ใหญ่เท่าใดนักต้นหนึ่ง ลูกรีบสาวเท้าเข้าไปใกล้ต้นไม้นั้น ลำต้นถลอกปอกเปิกแลเห็นเนื้อไม้สีนวลสลับกับเลือดแดงแห้งเกรอะกรังเป็นริ้วทางยาว โคนต้นไม้มีธงชาติผืนเล็กปักอยู่รอบ ๆ โปสเตอร์สีเหลืองตัวอักษรดำบรรจงเขียนด้วยถ้อยความว่า

ต้นไม้แห่งประชาธิปไตย

     ณ จุดนี้เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา

มีวีรชนประชาธิปไตยท่านหนึ่ง

...ถูกยิง …

....

ณ ถนนราชดำเนินนี้ เมื่อ ๓ วันก่อน คลื่นมนุษย์ทั้งหญิงและชาย เด็กและผู้ใหญ่ คนเมืองและคนต่างจังหวัด คนจนและคนรวย ชาวพุทธชาวคริสต์และชาวมุสลิม ด้วยใจจากใจ มาชุมนุมด้วยความมุ่งมั่นเดียวกัน ต่อต้านเผด็จการ คัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช. เรียกร้องอำนาจอธิปไตยกลับคืบคืนสู่ปวงชนชาวไทย ในมือของพวกเขา บางคนชูไสวธงชาติผืนเล็ก บางคนกวัดแกว่งธงกระดาษน้อยที่มีคำขวัญว่า “ประชาธิปไตยต้องได้มาด้วยสันติวิธี” แต่อนิจจา ผู้ที่หลงอำนาจและบ้าอำนาจอันมิชอบ ออกคำสั่งให้ล้อมสกัดฝูงชนทุกทิศทุกทาง ปากกระบอกปืนหันสู่ผู้เพรียกหาประชาธิปไตย คนหนึ่งล้ม อีกหลายสิบคนล้ม หนึ่งร้อย สองร้อย หรือกว่านั้นที่ถูกปลิดชีพด้วยกระสุนปืน หยดเลือดไหลริน อาบลงถนนแห่งประชาธิปไตยสายนี้

คุณพ่อคะ ถ้าคุณพ่อมีชีวิตยืนนานถึงวันนี้ คุณพ่อจะคิดอย่างไรและจะรู้สึกอย่างไรคะ...”

 


วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 และจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม
ที่มา : หนังสือส่วนบุคคลของรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 


เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร? ผลงานของ นายปรีดี พนมยงค์จัดพิมพ์โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2517
ที่มา : หนังสือส่วนบุคคลของรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

วาณี ยังมิวายนึกถึงถ้อยปาฐกถาเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ของ นายปรีดี ซึ่งได้เคยกล่าวไว้ในงานชุมนุมฤดูร้อนของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่เมืองตูรส์ (Tours) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 มีใจความหลักตอนหนึ่งคือ

“ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการต่อต้านเผด็จการนั้น ไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้เป็นวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้ว  สิ่งที่ถูกกฎหมายในเวลานี้อาจจะถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไป โดยหาว่าเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการก็ได้ ดังปรากฏตัวอย่างในอดีตที่มีผู้ถูกเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษ เช่น กรณีขบวนการสันติภาพ และกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้งยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการ ต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร"

ในจดหมายของ วาณี ได้บอกเล่าความทรงจำถึงตอนที่ นายปรีดี ไปกล่าวปาฐกถาที่เมืองตูรส์อีกว่า

“ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสให้ร่วมสังสรรค์ในงานชุมนุมฤดูร้อน พ.ศ. ๒๕๑๗ ของสมาคม ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม” โดยมีบุคคลจำนวนหนึ่งต้องการฟื้นเผด็จการขึ้นมาอีก และบุคคลอีกจำนวนหนึ่งดำเนินการอย่างสุดเหวี่ยงยื้อแย่งผลแห่งชัยชนะ ซึ่งวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นำมาให้ปวงชนนั้น ไปเป็นประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะเพื่อสถาปนาเผด็จการของอภิสิทธิ์ชนขึ้น” คุณพ่อจึงได้ให้แง่คิดแก่ชนรุ่นใหม่จากประสบการณ์ชีวิตและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันยาวนานของตน โดย “ปรารถนาพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกที่วีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เสียสละชีวิต ร่างกาย และความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้เผด็จการเพื่อให้ชาติและราษฎรไทยให้บรรลุซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์” จากวันนั้นถึงวันนี้ ล่วงมานาน ๑๘-๑๙ ปีแล้ว ถึงกระนั้น ความคิดของคุณพ่อก็มิได้ล้าสมัยเลย”

 

วาณี ย้อนรำลึกไปอีกถึงบรรยากาศที่บ้านอองโตนี ช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายปรีดี เอาใจใส่ต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย รวมถึงแสดงความตื่นตัวและความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งนิสิตนักศึกษาและประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจรจนเต็มถนนราชดำเนิน

“ลูกจำได้ว่าก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ใบไม้ของต้น Marronniers ที่เรียงรายสองฝั่งถนนหน้าบ้านอองโตนี กำลังเปลี่ยนจากสีเขียวแก่เป็นสีเหลืองอ่อน อากาศปารีสในต้นฤดูใบไม้ร่วงกำลังเย็นสบาย ทว่าลมอันร้อนระอุจากกระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนิสิตนักศึกษาและประชาชนได้พัดพามาถึงบ้านอองโตนี คุณพ่อติดตามสถานการณ์บ้านเกิดเมืองนอนอย่างใกล้ชิด วันใหม่ของคุณพ่อเริ่มด้วยการฟังวิทยุกระจายเสียง BBC ภาคภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่เช้ามืด พลางจิบชาจีนร้อนหอมกรุ่น พอสายหน่อยก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ The Herald Tribune, Le monde, Le Figaro และ L'Humanité ครั้นได้เวลาบุรุษไปรษณีย์มาส่งไปรษณียภัณฑ์ คุณแม่จะรีบเปิดซองหนังสือพิมพ์ไทยที่ญาติมิตรส่งมาจากกรุงเทพฯ แล้วอ่านพาดหัวข่าวให้คุณพ่อฟัง แต่ถ้ามีข่าวไหนบทความใดที่สำคัญ คุณพ่อก็จะเอามาอ่านเอง พอถึงเที่ยงวัน คุณพ่อก็ดูข่าวสถานีโทรทัศน์ TF1 ของฝรั่งเศส ช่วงบ่ายสลับกับการฟังวิทยุกับดูข่าวสำคัญทางโทรทัศน์ และจะติดตามข่าวทางโทรทัศน์อีกทีในเวลา ๒ ทุ่มตรง แม้เวลากรุงเทพฯ จะต่างกับเวลาปารีสถึง ๖ ชั่วโมง (เวลาฤดูหนาว) แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการติดตามรับรู้สถานการณ์ของคุณพ่อ”

ตามเสียงเล่าของ วาณี ย่อมฉายภาพของ นายปรีดี ที่ถึงแม้จะต้องลี้ภัยมาพำนักอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่ก็ยังคอยติดตามข่าวสารของขบวนการประชาธิปไตยในเมืองไทยด้วยใจจดใจจ่อ

ก่อนหน้าวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคมเพียงหนึ่งวัน ที่บ้านอองโตนีได้จัดงานพิธีสมรสระหว่าง วรวิทย์ กนิษฐะเสน ผู้เป็นหลานชาย กับ ทิพยวรรณ วณิสสร

ตอนนั้น วรวิทย์ มาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงบอนน์ (Bonn) เมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตกในขณะนั้น และทำงานเป็นลูกจ้างเพื่อหาค่าใช้จ่ายในตำแหน่งนักการภารโรงของสถานทูตไทยที่นั่น กระทั่งต่อมา เขาย้ายมาอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแทน จะเดินทางกลับไปกรุงบอนน์ก็ช่วงสอบเท่านั้น วรวิทย์ จึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข มากขึ้น

ครั้นเมื่อ วรวิทย์ พบรักกับหญิงสาวนามว่า “แอ๊ว” หรือ ทิพยวรรณ จวบจนพร้อมที่จะแต่งงานกัน นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข ก็เป็นเจ้าภาพให้  โดยจัดงานพิธีสมรสขึ้นที่บ้านอองโตนี ซึ่ง วรวิทย์ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“เมื่อพร้อมที่จะแต่งงาน ผมและแอ๊วจึงจดทะเบียนสมรสที่สถานทูตไทยที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2516 วันรุ่งขึ้น คุณปู่คุณย่าได้เป็นเจ้าภาพงานพิธีสมรสให้ที่บ้านอองโตนี แขกที่ได้รับเชิญมีจำนวนไม่มาก เดิมทีเดียวได้จัดโต๊ะเล็ก ๆ เรียง ๆ กันอย่างสวยงามในสวน เพราะเห็นว่าอากาศดีมาโดยตลอด

พอถึงบ่ายสาย ๆ ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 อากาศเกิดเย็นลงมากอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องเชิญท่านทูตและข้าราชการสถานทูตไปที่ห้องรับแขก ส่วนเพื่อน ๆ ทั้งไทยและฝรั่งเศสต้องหลบเข้าไปอยู่ใต้ถุนแทน มีการเอาผ้าปูที่นอนและผ้าอะไรก็ได้ที่สามารถหาได้ในขณะนั้นปิดคลุมกองหนังสือและหนังสือพิมพ์ตลอดจนสัมภาระเบ็ดเตล็ด แม้ภาพจะไม่มีความสวยงามแม้แต่นิด แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างความร่าเริง ส่วนข้างบนในห้องรับแขกผู้ใหญ่จะฟังวิทยุและดูข่าวทางโทรศัพท์เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อที่จะขับไล่เผด็จการ รุ่งขึ้น วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นวันสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย”

งานพิธีวิวาห์ข้างต้นยังได้รับการถ่ายทอดผ่านจดหมายของ วาณี เช่นกัน ดังความว่า

วันที่ ๑๓ ตุลาคม คุณพ่อคุณแม่เป็นเจ้าภาพแต่งงานให้หลานชาย วรวิทย์ กนิษฐะเสน กับ ทิพยวรรณ วณิสสร แขกเหรื่อเต็มบ้าน ความสนใจของคุณพ่ออยู่บนจอโทรทัศน์ พวกเราลูก ๆ หลาน ๆพากันตื่นเต้นกับกับสถานการณ์ที่เข้มข้นเข้าทุกขณะ พอวันรุ่งขึ้นคุณพ่อก็รับทราบข่าวการปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยที่สนามหลวงและถนนราชดำเนินพร้อมกับการสิ้นสุดของยุคทรราชครองเมือง”

เป็นอันว่า ที่บ้านอองโตนีช่วงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคมและวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516  จึงปรากฏบรรยากาศของการที่สมาชิกทั้งหลายพากันติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยอย่างจริงจัง ถึงแม้จะมีกิจกรรมอื่นๆก็ตามที โดยเฉพาะ นายปรีดี ที่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคมอย่างมาก ครั้นเมื่อคณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจําปี พ.ศ.2516 ได้ติดต่อขอบทความหรือคําขวัญของเขาไปลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกที่จะออกเผยแพร่ช่วงเดือนธันวาคม นายปรีดี ก็มอบคำขวัญและบทความประกอบเป็นความยาวถึง 25 หน้ากระดาษพิมพ์ดีดให้ นั่นคือเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม” ซึ่งเปิดฉากด้วยการแสดงความคารวะและสดุดีวีรชน

“วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นวันสําคัญวันหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย คือเป็นวันชัยชนะก้าวแรกของเยาวชนหญิงชายไทย ภายใต้การนําของนิสิตนักศึกษานักเรียนแห่งสถานศึกษามากหลาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากราษฎรไทยทุกชนชาติ และทุกชนชั้นวรรณะที่รักชาติจํานวนหลายล้านคน ผนึกกันเป็นขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้แก่ปวงชนชาวไทย

ฝ่ายครองอํานาจรัฐสั่งทหารและตํารวจเฉพาะส่วนที่ยอมเป็นเครื่องมือของพวกเขา ใช้อาวุธทันสมัยเข้าปราบปรามขบวนการนั้น ซึ่งมีแต่มือเปล่า หรือ บางคนมีเพียงแต่ไม้พลองเพื่อป้องกันตัว แต่ขบวนการนั้นมิได้หวาดหวั่นโดยยืนหยัดมั่นคง ยอมพลีชีพกับสละความสุขสําราญส่วนตัวเพื่อชาติและมวลราษฎรซึ่งเป็นที่เคารพรักยอดยิ่งที่สุด วีรชนเป็นจํานวนมากต้องถูกฆ่าตาย และได้รับบาดเจ็บและสาบสูญไป ส่วนผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่โดยมิได้รับบาดเจ็บทางกายก็ได้รับความเหน็ดเหนื่อยทางกายและทางสมองอย่างหนัก

ผลแห่งความเสียสละแห่งวีรชนทั้งหลายในการต่อสู้โดยชอบธรรมได้บรรลุชัยชนะก้าวแรก คือ รัฐบาลซึ่งมี 'จอมพล ถนอม กิตติขจร' เป็นนายกรัฐมนตรี และ 'จอมพล ประภาส จารุเสถียร' เป็นรองนายกรัฐมนตรี ต้องลาออกพร้อมทั้งตําแหน่งผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ครั้นแล้วได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง 'นายสัญญา ธรรมศักดิ์' เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลงยืนยันจะจัดการให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งภายในเวลา ๖ เดือน

ข้าพเจ้าขอร่วมกับมวลราษฎรไทยที่รักชาติแสดงความเคารพสักการะและสดุดีวีรชนทั้งปวงนั้น พระพุทธองค์ทรงเทศนาสั่งสอนไว้มีใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “สาธุชนพึงบําเพ็ญตนด้วยกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่มีอุปการคุณ ชาวไทยที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนและอิสลามิกชนก็บําเพ็ญตนปฏิบัติตามทํานองคลองธรรมเช่นเดียวกับของพระศาสดา ดังนั้น จึงเป็นการสมควรแล้วที่เราชาวไทยที่รักชาติจํานวนมากหลายแสดงกตัญูรู้อุปการคุณของวีรชนโดยทางกาย วาจา ใจ และการบําเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน ตลอดทั้งร่วมมือกันในการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่วีรชนทั้งหลายนั้น”

พระพุทธองค์ตรัสไว้อีกว่า กตัญญจะต้องคู่กันไปกับกตเวที ฉะนั้น การพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔  ตุลาคม ให้มั่นคงไว้และพัฒนายิ่งขึ้นนั้น จึงเป็นกตเวทีสําคัญยิ่งที่สาธุชนผู้รักชาติพึงปฏิบัติ

สาธุชนที่รักชาติโดยยกชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวก็ย่อมใช้ทัศนะจากจุดยืนหยัดในมวลราษฎรวินิจฉัยเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคมได้ เพราะวีรชนทั้งหลายนั้น มิใช่มีแต่บุคคลที่มีเหล่ากําเนิด หรือมีฐานะแห่งชนชั้นวรรณะหนึ่งใด โดยเฉพาะหากวีรชนเหล่านั้นมีเหล่ากําเนิดและมีฐานะทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งคนจน กรรมกร ลูกจ้าง ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อย คนพอทําพอกิน ผู้มีทุนน้อย และนายทุนรักชาติที่ยกชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวและทุกชนชาติไทย (National minorities) ที่มีสัญชาติไทย ดังนั้น เจตนารมณ์ของวีรชนทั้งหลายนี้จึงต้องการรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางทรรศนะอันเป็นคติธรรม ใช้เป็นหลักนําในการปฏิบัติเพื่อความไพบูลย์ของทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติที่รักชาติ

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตั้งแต่ยุคปฐมกาลเป็นต้นมา แสดงให้เห็นตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความ และหลายปาฐกถาแล้วว่า เศรษฐกิจเป็นรากฐานสําคัญแห่งมนุษยสังคม ส่วนระบบการเมืองเป็นแต่เพียงโครงร่างเบื้องบนที่จะต้องสมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลมนุษย์ในสังคม ถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจนั้น วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็ดําเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ  ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน

ถ้าสาธุชนที่รักชาติพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มูลเหตุที่วีรชนได้พลีชีพ และสละความสุขสําราญส่วนตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ก็สืบมาจากมวลราษฎรไทยได้รับความอัตคัดขัดสนอย่างแสนสาหัส แต่ระบบการเมืองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือมีเพียงแต่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญนั้น ขัดแย้งความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎร วีรชนจึงได้พลีชีพและสละความสําราญส่วนตนเพื่อปรารถนาให้ชาติไทยมีระบบการเมืองโดยระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎรและเพื่อให้ทุกชนชาติร่วมกันเป็นเอกภาพแห่งประเทศไทย

สาธุชนที่รักชาติย่อมมีความสลดใจที่เห็นว่า กลิ่นคาวโลหิตของวีรชนยังไม่ทันหมดไป ก็มีบุคคลแห่งบางพรรคพยายามช่วงชิงชัยชนะก้าวแรกของวีรชนไป เพื่อประโยชน์ของพรรคพวกเขาโดยเฉพาะ อาทิ การถือเอารัฐธรรมนูญที่พวกเขาทําขึ้นเป็นแบบฉบับในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนวิธีร่างที่จะตั้งต้นจากเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชนทุกชนชั้นวรรณะ และทุกชนชาติที่มีสัญชาติไทยเป็นแม่บท สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมอํานวยให้ฝ่ายที่ต้องการพิทักษ์เจตนารมณ์นั้นของวีรชนต้องหาทางต่อสู้ขนาดเบาหรือขนาดรุนแรง สุดแท้แต่วิธีการของแต่ละองค์การที่เป็นฝ่ายนําของแต่ละชนชั้น วรรณะ และแต่ละชนชาติ ฝ่ายที่ใช้วิธีรุนแรงอยู่แล้วก็จะสามารถระดมมวลราษฎรโดยอ้างสภาพการณ์เช่นว่านั้นเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่า วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบนั้นนําไปสู่ประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น ซึ่งมวลราษฎรไม่อาจอาศัยระบบรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ แก้ความทุกข์ยากของมวลราษฎรถ้วนหน้าได้

ฉะนั้น เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ละเว้นวิธีร่างที่ตั้งอคติเอารัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนเป็นแบบฉบับนั้น แล้วตั้งทรรศนะตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔  ตุลาคม”

ปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทางบรรณาธิการ สามัคคีสาร ซึ่งเป็นวารสารของนักเรียนไทยในอังกฤษได้เขียนจดหมายมายัง นายปรีดี เพื่อขอทราบความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่ง นายปรีดี ก็ยินดีให้นำบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม” ไปเผยแพร่ใน สามัคคีสาร ด้วย บทความชิ้นเดียวกันนี้ยังได้เผยแพร่ทาง วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 ที่จัดทำโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลให้ความคิดเห็นของ นายปรีดี กระจายออกไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

นายปรีดี ยังมีบทบาทในการแสดงปาฐกถาและมีผู้มาเข้าพบเป็นจำนวนมากภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ดังที่ วาณี เขียนเล่าในจดหมายว่า

“ช่วงหลัง ๑๔ ตุลาคม นักเรียนไทยและคนไทยในฝรั่งเศสและยุโรปหลายประเทศ ได้มาพบและสนทนากับคุณพ่อที่บ้านอองโตนีเสมอ ทั้งยังเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาในงานชุมนุมของนักเรียนไทยในประเทศต่าง ๆ ส่วนทางเมืองไทย อมธ. และคนไทยในสหรัฐอเมริกาก็ได้ติดต่อขอคำขวัญและบทความมา

การทำงานของคุณพ่อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พวกเราที่เป็นลูกหลานตลอดจนนักเรียนไทยที่ไปมาหาสู่กับบ้านอองโตนี ทุกคนที่ว่างจากการเรียนการงาน แม้คุณแม่ก็ไม่เว้น   จะผลัดกันเป็นเลขาฯ จดคำบอก (Dictation) ความคิดที่อยู่กันบึ้งของหัวใจคุณพ่อได้พรั่งพรูออกมาทางวาจาด้วยน้ำเสียงเนิบ ๆ ช้า ๆ บางครั้งก็หยุดทิ้งช่วงพักใหญ่ เพื่อค้นหาข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่กองสุมอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือและหิ้งหนังสือ บางครั้งก็เหม่อมองไปนอกหน้าต่างสังเกตยวดยานที่วิ่งไปมาบนถนน Aristide Briand จากนั้นก็หันกลับมาบอกคำบอก (Dictation) ต่อ เป็นวัฏจักรเช่นนี้จนกว่างานเขียนชิ้นนั้นจะแล้วเสร็จ คุณพ่อตรวจไปแก้มา จากนั้นจึงให้เอาไปพิมพ์ดีด เสร็จแล้วคุณพ่อขัดเกลาอีกหลายเที่ยวจนเป็นที่พอใจ คุณพ่อทราบไหมคะว่า พวกเราลูก ๆ หลาน ๆ อายุ ๒๐ กว่า ๆ ๓๐ ต้น ๆ เท่านั้นเองแอบบ่นกันว่าเหนื่อยเต็มทีแล้ว แต่ไม่เห็นคุณพ่อที่มีอายุถึง ๗๔ ปีแล้วจะบ่นเหนื่อยล้าบ้างเลย สิ่งที่ “เลขาฯ”  ที่ไม่ใช่มืออาชีพอย่างพวกเราได้รับก็คือ วิชาจดคำบอกและพิมพ์ดีด (จิ้ม ๒-๓ นิ้วได้คล่องแคล่วพอควร) และที่สำคัญไปกว่านั้นคือวิชาความรู้ที่ไม่เคยเรียนรู้จากตำราเรียนหรือที่ไหนมาก่อน ลูกอยากให้วันเวลาหมุนกลับไปเมื่อวันวาน คราวนี้ขอจะเป็น “เลขาฯ” ที่ไม่บ่นแล้วค่ะ”

ภายหลังรัฐบาลเผด็จทหารถูกโค่นล้ม ผู้ถูกเรียกขานว่า “สามทรราช” อย่าง จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศ อีกทั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งรัฐบาลนี้ประกาศจุดมุ่งหมายที่ส่งเสริมประชาธิปไตย จึงทำให้ประชาชนเริ่มมีความตื่นตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นายปรีดี เป็นบุคคลหนึ่งที่ถึงแม้จะพำนักอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็พยายามส่งสารแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆมายังรัฐบาลไทยอยู่เนือง ๆ ดังที่ วาณี เขียนว่า

ในฐานะราษฎรคนหนึ่งและในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งมีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดิน คุณพ่อได้ส่งข้อเสนอต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง “วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย โดยให้ราษฎรมีสิทธิถอดถอนผู้แทน (Recall), ให้รัฐจ่ายค่าป่วยการแก่ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง, วิธีเลือกตั้งที่ไม่ซับซ้อน, ไม่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรค, สภาเดียว” ซึ่งคุณพ่อได้อธิบายที่มาของข้อเสนอนี้ใน “คำนำ” ของบทความนั้นว่า

“ความเห็นของข้าพเจ้าที่แสดงไว้นั้น บางเรื่องอาศัยจากการที่ข้าพเจ้าเคยเรียนมาทางตำรา แต่ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติในประเทศไทย บางเรื่องเคยปฏิบัติในประเทศไทยและในต่างประเทศ  บางเรื่องข้าพเจ้าได้คิดขึ้นเอง คือ การให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐมีเงินนอกงบประมาณพอจ่ายได้ในการเลือกตั้ง ๒๕ ครั้ง ในรอบ ๑๐๐ ปี ฯลฯ”

เป็นที่น่าเสียดายว่า ข้อเสนอที่เป็นปัญหาส่วนรวมของประเทศชาติมิได้รับความสนใจจากนายกรัฐมนตรีขณะนั้น (มีเพียงจดหมายตอบรับสั้นๆ) ส่วนผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก็มิได้นำมาประกอบพิจารณา”

แม้ข้อเสนอของ นายปรีดี จะมิได้รับความสนใจนำไปปฏิบัติจากนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบุรุษอาวุโสก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ โดยเขียนจดหมายส่งมายัง นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รองนายกรัฐมนตรีแทน

คุณพ่อมิได้ท้อแท้หมดกำลังใจ ในเวลาต่อมาได้เขียนจดหมายถึงรองนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เสนอความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ชี้ให้เห็นผลร้ายของการเลือกตั้งแบบรวมเขต ซึ่งคุณพ่อตระหนักถึงความชอบธรรมแห่งหลักการเสมอภาคและสันติวิธี ดังได้กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าจึงหวังว่ารัฐบาลคงรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้ราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติไทย  ได้มีตัวแทนตามสังกัดส่วนแห่งอาชีพในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และดำเนินการร่างที่ให้ความสะดวกเข้ามาต่อสู้อย่างสันติในรัฐสภาดีกว่าจะสร้างสิ่งกีดกั้นในทางกฎหมาย และการปฏิบัติที่ปิดช่องให้ราษฎรส่วนมากไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากวิธีต่อสู้นอกรัฐสภา”

ทว่าดูเหมือนทางรัฐบาลไทยก็มิได้นำพาต่อข้อเสนอของนายปรีดี เลย

นายปรีดี ยังคงคอยติดตามข่าวสารและสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจากบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส หมั่นค้นคว้าและพยายามสร้างผลงานเขียนต่างๆเพื่อแนะนำแนวทางการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาสังคมในหลากหลายด้านอยู่เสมอ ๆ  สายตาของรัฐบุรุษอาวุโสอาจเหม่อมองผ่านหน้าต่าง และได้เห็นการแปรเปลี่ยนสีใบของต้น Marronniers ตลอดสองข้างทางริมถนน Aristide Briand บริเวณหน้าบ้านอีกหลายหน จนนำมาสู่ความครุ่นคิดใคร่ครวญที่ว่า บางทีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม อาจไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นได้ นั่นทำให้ นายปรีดี บังเกิดความกังวลและห่วงใยต่อประชาชนชาวไทย

วาณี เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

คุณพ่อได้ประเมินสถานการณ์หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยความห่วงใยว่า

“แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง  คือการที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการอันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ”

ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519  ใบของต้นเกาลัดหน้าบ้านอองโตนีก็คงเปลี่ยนจากสีเขียวแก่ ๆ มาเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ อีกหน หากชายชราผู้พำนักในบ้านอองโตนีคงมิได้คาดนึกว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตนเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นจะต้องมาเกิดการนองเลือดสีแดงฉานในเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม

ความรู้สึกของ นายปรีดี ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม เป็นไปตามที่ วาณี บันทึกไว้ว่า

“เพียง ๓ ปีให้หลัง เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก็ได้อุบัติขึ้น สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ในประเทศถูกปิดกั้นการเสนอข่าวสารข้อเท็จจริง แต่ที่ฝรั่งเศสดินแดนแห่งเสรีภาพ ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ บนจอโทรทัศน์ กลับได้เห็นภาพทหารตำรวจและอันธพาลในคราบของลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปยิงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาพของนักศึกษาที่ถูกบังคับให้ถอดเสื้อ มือทั้งสองไพล่ตรงท้ายทอย หมอบคลานอยู่บนสนามฟุตบอล ภาพของชายหนุ่มที่ถูกแขวนคอไว้กับต้นมะขามสนามหลวง ภาพของเปลวควันที่พวยพุ่งอันเนื่องจากเผาย่างผู้บริสุทธิ์พร้อมยางรถยนต์  คุณพ่อรู้สึกสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง”

ในบรรยากาศช่วงฤดูใบไม้ร่วงของประเทศฝรั่งเศส ชายชราแห่งบ้านอองโตนีกลับต้องมาติดตามและร้าวรานหัวใจกับข่าวคราวชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ถูกปลิดให้ร่วงราย  ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะได้แสดงออกเพื่อการเรียกร้องต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นายปรีดี ก็ยินดีร่วมด้วยอย่างไม่ลังเล สอดคล้องกับปากคำของบุตรสาว

“อำนาจการปกครองเด็ดขาดของ “คณะปฏิรูป” และ “คณะปฏิวัติ” ได้ประหารชีวิตและจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือไม่ก็ส่งขึ้นศาลทหาร สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและเพื่อนอีก ๙ คนถูกจับกุมคุมขัง ประชาชนในประเทศ คนไทยในต่างแดน และองค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศ (Amnesty International) ต่างก็รณรงค์ให้นิรโทษกรรมสุธรรมและเพื่อน ตอนนั้นนักเรียนไทยและชาวไทยในฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายและร่วมกันเซ็นชื่อเพื่อเรียกร้องเช่นกัน เมื่อนักเรียนไทยเอาจดหมายมาขอให้คุณพ่อเซ็นชื่อ คุณพ่อไม่ลังเลที่จรดปากกาเซ็นชื่อด้วย ลูกเองยังแปลกใจ เพราะคุณพ่อ “เข็ด” ต่อผลของการประกาศตนต่อสาธารณชนมาแล้ว คุณพ่อปรารภบ่อยครั้งว่า “ดูซิพอพ่อไปเปิดเผยตัวทางวิทยุปักกิ่งว่าลี้ภัยอยู่เมืองจีน คุณเฉลียว คุณชิต คุณบุศย์ เลยถูกตัดสินประหารชีวิต พ่อยังเสียใจอยู่จนทุกวันนี้” คราวนี้คุณพ่อคงปลงแล้วว่า ถ้าเผด็จการจะกลั่นแกล้งอย่างไรแล้วก็คงไม่แคล้วกระมังคะ”

วาณี ปิดท้ายจดหมายของเธอโดยกล่าวถึงบรรยากาศหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

“เสียงแตรจากรถยนต์คันหนึ่งทำให้ลูกตื่นขึ้นจากภวังค์ ความนึกคิดของลูกล่องลอยไปไกลถึงต่างแดนเมื่อครั้งกระนั้น ณ วินาทีนี้ได้กลับมาสู่ความเป็นปัจจุบันกาล เมื่อลูกเดินมาถึงโรงแรม Royal หรือโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่คุณพ่อรู้จักดี ที่นี่คือโรงพยาบาลสนามที่ให้การปฐมพยาบาลประชาชนที่ถูกยิงบาดเจ็บ ฝั่งตรงกันข้ามคือกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกไฟไหม้จนเขม่าจับเป็นคราบดำ

ถนนราชดำเนินวันนี้และวันก่อน คือประจักษ์พยานแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยทุกยุคทุกสมัย วีรชนนิรนามเรือนร้อยเรือนพันที่ล้มลงบนถถนสายนี้ได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติและมวลราษฎร คุณพ่อเคยสอนลูกว่า “ดังนั้นจึงเป็นการสมควรแล้วที่เราชาวไทยที่รักชาติจำนวนมากมาย แสดงกตัญญูอุปการคุณของวีรชนโดยทางกาย วาจา ใจ และการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน ตลอดทั้งร่วมมือกันในการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่วีรชนทั้งหลายนั้น”

คุณพ่อคะ  ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า อนุสาวรีย์ที่เป็นถาวรวัตถุจะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่อนุสาวรีย์ทางใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจักสถิตอยู่ในดวงใจของลูกตลอดกาลนานค่ะ

กราบด้วยความเคารพรักและคิดถึงยิ่ง
จากลูก
วาณี พนมยงค์”

 

ครึ่งเดือนแรกของตุลาคม พ.ศ. 2567 ผมสูดลมหายใจอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นส่วนมาก บ่อยครั้งที่เดินทอดน่องหรือเอนกายพักพิงใต้ร่มเงาของต้น Marronniers หรือต้นฮอร์สเชสท์นัท หรือที่เรียกกันคล่องปากว่า “ต้นเกาลัด”  ถึงแม้ผมจะมิได้ย่างกรายผ่านไปยังถนน Aristide Briand ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนนามเสียใหม่กลายเป็นถนนเรย์มงด์ อารง (Rue Raymond-Aron) แต่การได้แลมองใบสีเหลืองอ่อน ๆ ของมันก็ชวนให้ผมหวนนึกถึงต้นไม้ประเภทเดียวกันนี้ที่เรียงรายอยู่บริเวณหน้าบ้านอองโตนีเมื่อช่วงทศวรรษ 2510 หรือทศวรรษ 1970 และถ้ามองผ่านหน้าต่างเข้าไปยังในบ้าน บางที ก็อาจจะพบชายชราชาวไทยนามว่า ปรีดี พนมยงค์ กำลังนั่งทำงานที่โต๊ะเขียนหนังสืออย่างแข็งขันโดยครุ่นคำนึงถึงประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนมิรู้เสื่อมคลาย

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกดคำ และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์. จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ประจักษ์การพิมพ์, 2518
  • วรวิทย์ กนิษฐะเสน. “‘คุณปู่ปรีดี’ ผู้เป็นแบบอย่างในชีวิตของผม.” สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (11 พฤษภาคม 2565)
  • วาณี พนมยงค์. “จดหมายถึงคุณพ่อ” ใน  วัน “ปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536. หน้า 29-37