ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

คู่ชีวิตรัฐบุรุษ พูนศุข พนมยงค์

3
มกราคม
2568

 

คำถาม:

รายการชีวิตกับงานของเราในคืนนี้นับว่าเป็นเกียรติยิ่งที่จะได้มาบันทึกและสนทนาเกี่ยวกับชีวิตของสตรีไทยท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งกับรัฐบุรุษอวุโสสังคมไทย และท่านผู้นี้เป็นอดีตภรรยานายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเรียกได้ว่ามีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ก่อนที่จะแนะนำให้รู้จักผมขออนุญาตอ่านโครงชิ้นหนึ่งว่า “พูนเพิ่มเฉลิมเกียรติล้ำลือนาม สุขสบายภัยขามคลาดพ้น ปรีดาอย่ารู้ทรามจิตเสน่ห์ ดีจักมียิ่งล้นหากรู้รักกัน” สี่คำที่อยู่ข้างหน้าของโครงนี้ก็คือคำว่า “พูน” “สุข” “ปรี” “ดี” หลายคนคงทราบว่าหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โครงที่อ่านเมื่อสักครู่นี้เป็นโครงที่ท่านผู้หญิงพูนศุขกับท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับเนื่องในวันแต่งงานใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ใช่

 

คำถาม:

และใครเป็นคนเขียนครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

หลวงวิจิตรวาทการ

 

คำถาม:

วันแต่งงานก็ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 สมัยนั้นเวลาแต่งงานการเขียนโครงลักษณะเช่นนี้แพร่หลายไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รู้สึกว่าจะเป็นของใหม่ มีสมุดเซ็นชื่อแขก และมีโครงนี้ในสมุดเซ็นชื่อ รู้สึกว่าจะแปลก เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นมีใครมีสมุดเซ็นชื่อแขก หลวงวิจิตรวาทการเป็นคนให้สมุดเซ็นชื่อ และมีโครงอยู่ข้างหน้า

 

คำถาม:

ขอเรียนถามว่า ท่านผู้หญิงได้พบกับท่านปรีดีได้อย่างไร

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัยสาว

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

พบกันตั้งแต่เด็ก เราเกี่ยวเป็นญาติห่าง ๆ กัน คือ มีเชียด (หรือเทียด) เดียวกัน ระหว่างที่นายปรีดีมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็มาพักอยู่ที่บ้าน ช่วงนั้นดิฉันอายุประมาณ 7-9 ขวบ แล้วก็มาเรียนกฎหมายสำเร็จจนได้ไปต่างประเทศที่ฝรั่งเศส 7 ปี กลับมาก็กลับมาอยู่ที่บ้าน ตอนนี้ดิฉันก็โตขึ้นแล้ว

 

คำถาม:

ผมได้อ่านบันทึกในหนังสือเห็นบอกว่า ท่านปรีดีในสมัยที่มาอยู่ที่บ้านท่านผู้หญิงเรียกท่านผู้หญิงว่า “คุณ” เสมอใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ต้องเป็นคุณ เพราะเป็นลูกเจ้าพระยาพานทอง

 

คำถาม:

คบหากันได้อย่างไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

อยู่กันในบริเวณบ้านเดียวกันบ้านใหญ่ที่บ้านป้อมเพชร ถนนสีลม คือ พบประกันเป็นบางครั้งบางคราว อยู่ก็แยกกันอยู่ไม่ได้

 

คำถาม:

ความรักตอนนั้นเริ่มต้นได้อย่างไร

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เราก็ไม่ทราบตอนนั้นยังเด็กอยู่ อายุ 16 เท่านั้น แต่พอเห็นครั้งแรกก็รู้สึกว่ามีความพอใจ และต่อมาก็ได้เห็นว่า ดิฉันรับใช้คุณพ่อคุณแม่ ตอนแรกก็อาจเป็นรูปร่าง ยังไม่ทราบว่าเรามีคุณสมบัติอย่างไร ติดตามไปทุกที่ ช่วยรับแขก พูดจาอะไรก็ดูเข้าท่าเข้าทางดี ก็เลยมีความชอบ

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงที่ตกลงปลงใจกับท่านปรีดีเพราะอะไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รู้สึกว่าเป็นคนที่มีความรู้ มีความประพฤติดี เราก็ชอบคนลักษณะแบบนี้ เราจะได้อาศัยความรู้ด้วย

 

คำถาม:

สมัยก่อนที่ท่านผู้หญิงแต่งงาน โดยทั่วไปคนไทยยุคนั้นส่วนใหญ่ก็จะรับราชการ พอแต่งงานแล้วไม่ทราบว่าท่านผู้หญิงกับท่านปรีดีอยู่ในเมืองไทยตลอด และทำงานอยู่ช่วงหนึ่งใช่ไหมครับ เห็นบอกว่าในขณะนั้นมีโรงพิมพ์ด้วยใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เมื่อนายปรีดีกลับจากต่างประเทศ นอกจากรับราชการที่กรมร่างกฎหมาย (ซึ่งปัจจุบันเป็นกฤษฎีกา) ก็ได้ตั้งโรงพิมพ์ที่อยู่สีลมตรงศาลาแดง พิมพ์หนังสือรายเดือนชื่อว่า “นิติสาส์น” เกี่ยวกับกฎหมาย เศรษฐกิจ แล้วก็ยังพิมพ์หนังสือประชุมกฎหมายไทยเพื่อให้คนสั่งจอง และเพื่อเผยแพร่วิชา โรงพิมพ์เล็ก ๆ สองคูหา

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงพูนศุขก็ช่วยงานอยู่ด้วย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ช่วงแรกก็ไม่ได้ช่วย ตอนหลังพอไปเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็เลิกหมดเกี่ยวกับงานโรงพิมพ์ เพราะต้องไปทำงานสำคัญที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงมอบหมายให้ดิฉันดูแลเรื่องโรงพิมพ์ แต่มีเจ้าหน้าที่เขาพร้อมอยู่แล้ว โดยดูแลเรื่องการเงิน คือ มี COD (Cash on Delivery) ส่งมาเราก็เป็นคนรับ และช่วยตรวจพิสูจน์อักษรก่อนจัดพิมพ์

 

คำถาม:

การช่วยเหลืองานชิ้นนี้คงเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตจิตใจมาโดยตลอดที่อยู่กับท่านปรีดีใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นอกจากเป็นข้าราชการและครูสอนกฎหมาย (เขาเรียกครู ไม่ได้เรียกอาจารย์อย่างเดี๋ยวนี้) ที่โรงเรียนกฎหมาย

 

คำถาม:

คำว่า “ครู” เพราะกว่าไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รู้สึกแน่นแฟ้นกว่า ท่านปรีดีจะสอนเราทางอ้อม คือ เลคเชอร์ที่จะให้นักเรียนท่านก็มอบหมายให้ฉันเป็นคนจด เราก็ได้รับความรู้ไปด้วย

 

 

คำถาม:

เมื่อพูดถึงท่านปรีดีก็คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อยากทราบว่า ขณะนั้นท่านผู้หญิงพูนศุข หรือครอบครัว ซึ่งอยู่ที่บ้าน ได้ทราบเรื่องราวว่าท่านปรีดีจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 2475 บ้างไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่เคยทราบเลย คือ ปิดลับมาก เห็นว่าที่บ้านรู้จักกับเจ้านายมาก เพราะมีการไปมาหาสู่กับเจ้านายเป็นช่วง ๆ คงจะไม่ทำอะไรให้เป็นพิรุธ ไม่ได้บอกอะไรเลยแม้แต่วันสุดท้ายที่จากบ้าน วันที่ 23 มิถุนายน 2475 ก็ไปทำงานตามปกติ และกลับมาก็บอกจะเดินทางไปอยุธยาก็มีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะบวช ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ถามฉันว่าจะอนุญาตให้บวชสัก 3 เดือนไหม วันที่ 23 มิถุนายน ก็ออกเดินทางจากกลับมาทำงานยังมีลูกศิษย์เขาให้ทุเรียนมาท้ายรถ โดยท่านก็ต้องละทิ้งขึ้นรถไปสถานีหัวลำโพง ดิฉันก็ติดรถเอาลูกไปส่ง และดิฉันก็กลับบ้าน ไม่ได้นึกสงสัยอะไร แต่คืนนั้นก็แปลกคือ ลูกชายอายุ 6 เดือน ปาล พนมยงค์ เกิดร้องอย่างไม่มีสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ก็อยู่ตึกใหญ่ก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ร้องจนได้ยินไปถึงด้านบนก็ไม่มีอะไร แต่ใจเราก็ไม่ดี เพราะบอกว่าจะไปลาบิดาและไปบวชที่อยุธยา เราก็กลัวอำเภอวังน้อย แต่ก่อนนี้เปลี่ยวกลัวว่าจะถูกโจรทำร้ายก็เป็นห่วงในเรื่องนี้

 

คำถาม:

แล้วมาทราบตอนไหนว่าเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแแปลงการปกครอง 2475

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ทราบเอาจริง ๆ บ่าย เช้าขึ้นดิฉันก็เอาลูกอายุ 6 เดือน เอาไปถ่ายรูป พอดีท่านเจ้าพระยายมราชเป็นญาติผู้ใหญ่ ท่านก็นั่งรถมาเข้าในบ้านมาบอกเกิดเรื่องใหญ่ ท่านมีโรงเรืออยู่ที่วัดสามพระยา คนเรือท่านนำความมาแจ้งท่านว่า มีทหารมาจับทูลกระหม่อม ท่านก็เลยมาที่บ้านเพื่อว่าที่บ้านทราบเรื่องอะไรบ้างไหม ทางที่บ้านก็ไม่ทราบอะไรเลย พอดีมีเพื่อนเก่าเจ้าคุณคนหนึ่งมาที่บ้าน เขาจะทราบหรือไม่ทราบก็มาฟังข่าวกันมีเรื่องอะไรถึงจับเจ้านาย

 

ท่านเจ้าคุณยมราชก็บอกให้คุณพ่อดิฉันออกไปสืบดูว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร แต่ว่าที่บ้านมีรถเก๋ง ท่านก็บอกว่าอย่านั่งรถเก๋งไป ให้เอารถเจ้าคุณอีกคนไปเดี๋ยวคนจะไม่ชอบเอา ดิฉันไม่ทราบว่าเรื่องอะไร หายไปจนบ่ายกลับบมา ในบ่ายวันนั้นที่คุณพ่อไปสืบ ก็ได้ความว่า หัวหน้าคือพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา แต่รายละเอียดเขาไม่ทราบอะไร ตกกลางคืนก็ประมาณสัก 3 ทุ่ม ก็มีคนมาจากพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ ดิฉันก็ไม่รู้จักเขาก็บอกว่า ชื่อซิม วีระไวทยะ และที่บ้านป้อมเพรชประตูเหล็กแข็งแรง คุณพ่อก็ไม่ให้เข้าบ้าน เราก็ต้องไปยืนพูดกันที่ประตู ดิฉันก็ไม่ได้ไปพูดเองก็มีญาติคนหนึ่งเขาก็เป็นผู้พิพากษาอยู่ในบ้าน เขาก็ไปไล่เรียงก็ได้ความว่าจะมาขอเสื้อผ้าและอาหารแห้ง เพื่อนำไปให้ท่านปรีดี บอกพรุ่งนี้จะประชุมเสนาบดีสภา ก็เลยได้ครีมแครกเกอร์กระป๋องหนึ่ง และเสื้้อผ้า

 

คำถาม:

ฐานะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นภรรยากับท่านปรีดี รู้สึกอย่างไรที่ท่านปรีดีเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รู้สึกเป็นห่วง เพราะว่ามีข่าวมาเจ้านายเสด็จหนี เมื่อทราบก็อยากให้สำเร็จ บางทีมีข่าวลือไม่สำเร็จจะมีโทษ ตอนนั้นอายุ 21 ท่านปรีดีก็อายุ 32

 

คำถาม:

เมื่อเกิดเหตุการณ์ท่านปรีดีกลับมาบ้านมีการพูดคุยกันอย่างไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่ได้กลับมาตั้ง 3 เดือน ไม่ได้กลับเลย พอวันที่ 3 เดือนกรกฎาคม ก็มีจดหมายมาขอโทษที่ไม่ได้บอกความจริงในการออกบ้านในวันนั้น เพราะว่าที่ไปก็ทำเพื่อประเทศชาติราษฎรก็ขอให้เข้าใจ อย่าเข้าใจผิด การที่ทำก็ตั้งใจตั้งแต่อยู่ปารีสแล้ว ไม่ควรจะละโอกาสนี้ และได้เตรียมเงินโอนให้ดิฉัน 15,000 บาท สมัยนั้นก็มาก เพื่อให้ดิฉันเลี้ยงลูกต่อไป

 

คำถาม:

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นเรื่องที่สำคัญ และเสี่ยงอันตราย ตรงนี้ท่านผู้หญิงมองอย่างไร เพราะขณะนั้นท่านผู้หญิงก็เป็นลูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รู้สึกว่า เปลี่ยนระบบทีเดียวจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็รู้สึกไม่ใช่รัฐประหารที่ทำกันในปัจจุบัน ระบบรัฐสภาผู้แทนราษฎรก็มีตั้งแต่ครั้งนั้น

 

คำถาม:

เมื่อได้พบครั้งแรกหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 


จดหมายนายปรีดี ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ต้นเดื่อนกรกฎาคมเขียนจดหมาย พอสักปลายเดือนทางการทางทหารก็จัดบ้านร้านหนึ่งให้ในวังปารุสกวัน และก็ให้ดิฉันได้เข้าไปอยู่ด้วย ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร ชี้แจงไปแล้วว่าทำงานไม่ว่าง ทางทหารเขาเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยถ้ากลับมาบ้าน เขาก็เลยให้อยู่ในวังปารุสกวันเป็นที่ทำการของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน  เอาลูกไปคนหนึ่ง มีบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ทั้งหลัง เพื่อความปลอดภัย ดิฉันก็เห็นว่าทำงานหามรุ่งหามค่ำ ดิฉันมีอะไรก็ต้องช่วยเหลือเท่ากับเป็นเลขาส่วนตัว ท่านก็ต้องเปลี่ยนระบบมาเป็นระบบใหม่ ผู้คนยังไม่รู้เรื่องตั้งแต่เลขาธิการผู้แทนราษฎรคนแรก มีอะไรที่บกพร่องเราก็คอยต่อเติมให้ ช่วยไปโดยที่ว่าอยากให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีดิฉันครอบครัวเดียวพอตอนหลังเจ้าคุณพหลฯ ท่านถึงได้เอาครอบครัวไปอยู่ตึกทหาร มีสองตึกเรียกว่า ตึกพลเรือนและตึกทหาร ตึกพลเรือนที่เป็นกองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ตึกพลเรือน

 

คำถาม:

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายคนก็คงพูดถึงเรื่องความท่านผู้หญิงพูนศุขที่เติบโตมาในกรอบครอบครัวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น มีคำถามว่า เคยมีความขัดแย้งระหว่างท่านผู้หญิงกับท่านปรีดีไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่เคย เพราะว่าตระกูลดิฉันก็เกิดเป็นหัวก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ. 2428 คุณปู่ของดิฉันไปรับราชการอยู่ที่กรุงลอนดอนเป็น Attaché (ทูต) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ท่านเอกอัครราชทูต และก็มีเจ้านายทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้เปลี่ยนแปลงระบบสมัยนั้น ข้าราชการสถานทูตก็มีสัก 3-4 คน นอกนั้นก็เป็นสามัญชน เสนอให้ปรับปรุงให้ระบบเป็นเหมือนต่างประเทศ เราก็ได้แต่ชมว่ากล้าหาญ เพราะว่าน่ากลัวมากสมัยนั้นที่มีหนังสือมากราบบังคมทูล แต่รัชกาลที่ 5 ท่านก็ทรงพระกรุณาไม่ได้เอาโทษผิด เวลานั้นยังเด็ก ๆ ได้ยินมาก็รู้สึกว่า บรรพบุรุษของเราก็มีความก้าวหน้าเหมือนกัน

 

คำถาม:

หลังจาก 2475 ผมเข้าใจว่า ชีวิตของท่านปรีดีก็มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะว่าท่านก็เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในคณะราษฎร ในฐานะท่านผู้หญิงที่เป็นภรรยาได้เห็นเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัวไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ส่วนตัวไม่มีเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงก็คือว่า ไม่ได้เอาใจใส่ในครอบครัว เข้าเรียนที่ไหนก็ไม่ได้ดูแล อยู่จนถึงเดือนปิดสภาผู้แทนราษฎร ก่อนปิดสภาสักอาทิตย์ หรือสองอาทิตย์ ถึงได้กลับบ้าน วันที่ 1 เมษายน 2477 แต่ดิฉันกลับมาก่อนเดือนกุมภาพันธ์ เกิดพี่ชายคนโตถึงแก่กรรม ดิฉันก็เลยต้องกลับมาบ้าน สงสารคุณพ่อคุณแม่ ลูกชายคนโตเสีย ดิฉันก็เลยกลับมาก่อนจากวังปารุสกวัน

 

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงมีพี่น้องกี่คน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

11 คน ชาย 4 หญิง 7 ดิฉันเป็นคนที่ 5

 

คำถาม:

ส่วนใหญ่ทั้ง 11 คน รับราชการ หรือทำอะไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รับราชการทุกคน

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงพูนศุขเติบโตในครอบครัวใหญ่ และเป็นครอบครัวขุนนางของไทยในสมัยนั้น คิดว่าลักษณะแบบนี้ทำให้ท่านผู้หญิงช่วยท่านปรีดีได้อย่างเต็ม เป็นค่านิยมสมัยนั้นใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

คุณพ่อคุณแม่ มีความคิดสมัยใหม่เป็นวิทยาศาสตร์ ท่านอบรมลูกให้ใช้แรงงานไม่เบียดเบียนใคร เราต้องพึ่งตัวเอง คุณแม่ท่านตามโลกไปทัน ส่วนที่เจ้านายที่ท่านรู้จักท่านก็กล่าวสงสาร แต่ท่านเห็นว่าไม่ได้ทำร้ายอะไรก็เงียบไป ท่านยังไปเฝ้าเจ้านายชั้นสูง ท่านยังรับสั่งดีบอกว่า ทั่วโลกเขาเปลี่ยนไปหมดแล้วเหลือแต่สยาม เพราะฉนั้นจะทำอะไรก็ทำให้รอบคอบ สมัยนั้นฝ่ายในต้องอยู่ในวังสวนสุนันทา ไม่ได้อยู่เอกเทศออกมาภายนอก เข้าไปได้แต่ผู้หญิง

 

คำถาม:

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจากนั้นการเมืองไทยก็มีความผันผวนอยู่เรื่อย ๆ มีเหตุการณ์กบฏบวรเดชก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น

 


นายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ราว 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ต้องเป็นเหตุการณ์ปิดสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 เมษายน ก่อน งดใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญบางมาตรา แล้วก็ไม่ถึงกับมาจับ แต่ขอให้นายปรีดีกับดิฉันเดินทางไปต่างประเทศโดยเร็วที่สุด 12 เมษายน เราก็ต้องออกเดินทาง เกิดจากการภายหลังที่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ

 

คำถาม::

เล่าบรรยากาศเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ทำให้ออกต่างประเทศครั้งแรก เกิดจากความขัดแย้งทางความคิด หรือเป็นเพราะการเมือง

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เป็นเรื่องของความคิด ผู้ที่ร่วมประชุมก็ยังมีความที่หาว่าก้าวหน้าเกินไป หรือลอกแบบรัสเซียมา เราก็ตั้งใจที่จะทำความสุขสมบูรณ์ตามหลัก 6 ประการ ที่ได้แถลงเมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ราษฎรมีที่ทำกินเป็นของตัวเอง

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงได้อ่านอ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ดิฉันไม่ได้อ่าน เพราะเดือนกุมภาพันธ์พี่ชายของดิฉันเสีย ครอบครัวอยู่ในทุกข์โศก เดือนมีนาคมก็ปั่นป่วน นายปรีดีกลับบ้านแล้วไม่ได้อยู่ในวังปารุสกวัน ก็ไม่ได้อ่านรายละเอียด เห็นแต่ว่ามีความเห็นไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่มีความเห็นเข้ากับนายปรีดี มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย

 

คำถาม:

พอท่านผู้หญิงได้ทราบว่า มีความขัดแย้งในเรื่องนี้ และทางรัฐบาลต้องการให้ออกนอกประเทศ ขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างไร เพราะต้องทิ้งลูกที่เมืองไทย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ทิ้งลูก แล้วคนโตลลิตา พนมยงค์ ก็เป็นโรคชัก เราก็เป็นห่วง และลูกคนเล็กก็ขวบเศษ ขณะนั้นสองคนอาศัยอยู่บ้านคุณพ่อคุณแม่ ท่านก็ช่วยดูแลให้ ทางการก็บอกให้ไป คนก็มาชุมนุมกันที่บ้านเต็มไปหมดตอนนั้น ในพาสปอร์ตก็มีรัฐมนตรีต่างประเทศเขียนไว้ในพาสปอร์ตบอกว่า ให้ไปดูการเศรษฐกิจ เวลานั้นเรียกกันว่า เนรเทศออกไป ทางรัฐบาลก็ให้เงินใช้จ่าย 1,000 ปอนด์ แต่ระยะเวลาอย่างไรไม่ทราบ

 

คำถาม:

พอเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เข้าใจว่าเป็นแม่บ้านทั่วไปอาจเป็นเรื่องที่จะไม่ยอมทอดทิ้งลูก

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เศร้าโศกมาก ทีแรกก็ขอเขาไปญี่ปุ่นใกล้ ๆ จะได้เยี่ยมเยือนกันได้

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงพูนศุขตัดสินใจ หรือว่าทางการให้ไป

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ทางการให้ไปกับภรรยา

 

คำถาม:

ทำไมท่านผู้หญิงถึงโดนทางการให้ไปด้วย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่ทราบเหมือนกัน เขาคงกลัวว่าอยู่ทางนี้อาจจะเป็นสื่อกลางในการที่คนมาติดต่อ เกรงว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าดิฉันก็ไม่ได้มีความสำคัญอย่างไร

 

คำถาม:

แล้วเกิดเหตุการณ์อะไร ถึงได้กลับมาประเทศไทย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เดือนมิถุนายน เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา ท่านก็เป็นหัวหน้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเจ้าคุณพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ไม่ทันเรียกตัวกลับอยู่ไปสักหน่อยก็เรียกตัวให้กลับมา กลับมาพอดีก็เกิดกบฏบวรเดช

 

คำถาม:

ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เสียเลือดเนื้อเป็นครั้งแรก

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

กบฏบวรเดชก็อ้างเหตุหนึ่งที่ทำการสู้รัฐบาลก็มีเรื่องหลวงประดิษฐ์ฯ

 

คำถาม:

มีความรู้สึกอย่างไร เวลาเกิดเหตุการณ์การปะทะกันขึ้น ขณะนั้นอาจเป็นสิ่งที่ใหม่ในสังคมไทย คนไทยทั่ว ๆ ไปพูดคุยกันอย่างไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ดิฉันก็ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน ตอนนั้นไปพักอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการหลังกลับจากฝรั่งเศส พอมีพี่สาวทำงานเป็นผู้พิพากษาก็ไปพักกับเขา เขาก็ส่งรถให้กลับมาที่บ้าน ตอนเย็น ๆ เขายิงกันก็ตกใจ อยู่สี่แยกสีลมก็ได้ยิน เขายิงกันแถวดอนเมือง หรือบางเขน

 

คำถาม:

ข่าวสารบ้านเมืองขณะนั้นก็คงไม่แพร่หลายเหมือนกับปัจจุบัน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ก็มีวิทยุ พอกลับมาวันนั้นก็แยกกันเลย ดิฉันเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ส่วนนายปรีดี เรือยามฝั่งวิ่งออกไปรับเพื่อไปวังปารุสกวัน

 

คำถาม:

ทำไมต้องแยกกันครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่ทราบ เขาคงจะเอาไปทำงานก็แยกกันตั้งแต่วันนั้นอีก

 

 

คำถาม:

เท่าที่ฟังเริ่มต้นตั้งแต่แต่งงาน ท่านปรีดีก็ต้องรู้สึกว่าต้องรับภาระ อยากให้สะท้อนความเห็นการเป็นภรรยาของคนสำคัญในเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ โดยปกติจัดการกับชีวิตตนเองอย่างไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ก็ต้องมีความอดทน กล้าหาญ เข็มแข็ง และมีความซื่อสัตย์ ในหลักการของสามี เห็นว่าเขาทำถูกเราก็ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์กับตัวบุคคลนั้นด้วย เราเชื่อในความสามารถ เพราะว่ารู้สึกเป็นคนมีความรู้มาก อยู่ด้วยกันใกล้ชิดกันก็รู้สึกว่าเราได้รับความรู้มาก

 

คำถาม:

รู้สึกในจดหมายของท่านปรีดีที่เขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เมื่อครบรอบแต่งงาน 39 ปี ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “คิดถึงความดีของน้องที่อยู่ร่วมกับพี่มาเป็นเวลากว่า 39 ปี โดยน้องมีความรักและความซื่อสัตย์ต่อพี่อย่างสมบูรณ์” เป็นหลักการที่ท่านปรีดีก็เห็นในตัวท่านผู้หญิงพูนศุข มีเหตุการณ์ในบ้านเมืองไทยที่มีส่วนกระทบต่อครอบครัวพนมยงค์อยู่หลายเหตุการณ์ด้วยกัน คิดว่า เหตุการณ์ไหนที่ทำให้สะเทือนใจที่สุดและก็ส่วนกระทบกับชีวิตครอบครัวของท่านผู้หญิงพูนศุขมากที่สุด

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ดิฉันถูกจับ รัฐประหารตั้งหลายปีก็เกิดจับกันใหญ่ที่เขาเรียกว่า “กบฏสันติภาพ” ปี 2495 ก็โดนถูกจับกับเขาด้วย

 

คำถาม:

ถูกจับทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วม

 


ภาพประวัติศาสตร์ ถ่ายโดย น.ส.พ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง อายุ 40 ปี 10 เดือน 19 วัน ข้อหา ขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร (คำบรรยายโดยพูนศุข พนมยงค์)

 

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เขาก็แบ่งเป็นหลายแขนง กบฏสันติภาพมีแขนงฝ่ายนักศึกษา เวลาเขาสอบสวนเขาสอบดิฉันคนเดียว ดิฉันถูกขัง 81 หรือ 84 วัน ข้อหากบฏภายนอกและภายในราชอาณาจักร ไม่ทราบว่าเป็นกบฏกับใคร และรูปสำนวนก็ไม่เกี่ยวกัน ไม่ทราบว่าคิดกบฏอย่างไร ไม่เกี่ยวกับลูกเลย ลูกก็ถูกจับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 และดิฉันถูกจับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2495

 

คำถาม:

ตอนที่ถูกควบคุมตัว ท่านผู้หญิงถูกขังแยกจากลูกชาย แล้วขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างไร

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ดิฉันถูกจับอยู่ที่ตึกสันติบาล รู้สึกเศร้าใจมาก เพราะว่าเขาเอาไปพิมพ์ลายนิ้วมือ เราก็พอรู้อยู่คุณพ่อเป็นอธิบดีราชทัณฑ์ การพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นขึ้นกับกรมราชทัณฑ์ แต่ก่อนเขาพิมพ์ผู้ต้องหานักโทษ เดี๋ยวนี้ย้ายมาอยู่กรมตำรวจ เราก็รู้สึกว่า เราโทษอุกฉกรรจ์โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย กบฏก็ไม่เคยคิด นายปรีดีจากประเทศไทยไปดิฉันไม่ได้ติดต่อได้เลย มีคนมาอาสาบอกบางคนเป็นชาวต่างประเทศ บอกเขาถือพาสปอร์ตต่างประเทศจะมีจดหมายฝากไว้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่เคยเลย ได้แต่ขอบคุณเขาไปทั้งงั้น ไม่เคยติดต่อเลย แล้วก็มาโดนอีกว่าเป็นกบฏ

 

ทางการเขาไปค้นพบเอกสารลายมือดิฉัน ดิฉันก็รับ เขียนถึงคุณทหาร ขำหิรัญ เขาทำกบฏแมนฮัตตันอยู่แล้ว ดิฉันก็บอกว่า ยินดีช่วยเหลือทุกอย่าง เพราะเมื่อครั้งรัฐประหาร ปี 2490 ดิฉันต้องหลบไปอยู่ที่สัตหีบ โดยการคุ้มครองของคุณทหาร ตอนนั้นเขาจับหมด จับสามีไม่ได้ก็จับภรรยา ดิฉันก็ไปอยู่กับคุณทหาร ที่สัตหีบท่านก็ต้อนรับดิฉันเป็นอย่างดี ยกบ้านทั้งหลังให้อยู่ไปอยู่ตั้งสองเดือนจนคลี่คลายถึงได้กลับกรุงเทพฯ เพราะฉนั้น เมื่อคุณทหารต้องหลบภัยดิฉันก็มีการฝากข้าวของไว้ให้ แล้วก็เขียนด้วยลายมือดิฉันเองว่ายินดีช่วยเหลือทุกอย่าง แค่นี้เองจึงถูกกล่าวว่าเป็นกบฏ ท่านมีบุญคุณกับดิฉัน ยกนาวิกโยธินไปอยู่ตั้งสองเดือน อาหารการรับประทานท่านช่วยทุกอย่างดูแลให้อย่างดี และท่านจะมาที่บ้านท่าน บันไดหน้าท่านยังไม่ขึ้น ท่านค่อย ๆ ขึ้นบันไดหลัง ความที่ท่านอ่อนน้อมถ่อมตนเหลือเกิน

 

คำถาม:

เป็นการถูกจับครั้งเดียวในชีวิต

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่ฟ้องดิฉัน ถูกจับแล้วก็ปล่อย

 

คำถาม:

ท่านผู้หญิงพูนศุขก็อยู่ในครอบครัวผู้ใหญ่บ้านเมืองขณะนั้น และท่านปรีดีก็มีคนรู้จักมากมาย ทำไมไม่มีการใช้ระบบอุปถัมภ์

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

คุณแม่ดิฉันยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็สงสารลูกอยากจะขอประกัน ก็ไปให้เจ้าพระยารามราฆพมาประกัน เขาก็ไม่ให้ประกัน ทุก 12 วันพาเราไปศาลขอขังต่อจนครบ 84 วัน ดิฉันก็เขียนถึงคุณแม่ คุณแม่ไม่ต้องวิ่งเต้น เพราะเวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายก คุณแม่เขาก็เคารพ ดิฉันก็ขอคุณแม่ไม่ให้ไปขอความช่วยเหลือใครทั้งนั้น เพราะว่าเราไม่ได้ทำความผิด สำนวนมีอะไร เพียงแค่กระดาษชิ้นเดียว เพื่อจะสอบถามเวลานั้นมี CIA (Central Intelligence Agency) อยากรู้ว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน พยายามขมขู่ดิฉันด้วยคำพูด ให้หนังสือพิมพ์ไปอ่าน บางทีก็มาบอกว่า นายปรีดีมีเมียใหม่เพื่อจะให้เราใจไม่ดีจะได้มีอะไรให้การ ดิฉันยืนคำไม่รู้อยู่ที่ไหน เวลานั้นพวก CIA อยากทราบว่า นายปรีดีอยู่ที่ไหน เพราะระหว่างที่ดิฉันอยู่ที่สันติบาล คุณเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีเขาก็ไปนั่งทำงานอยู่ที่นั่น กลางคืนมีพวก CIA ของเมืองไทยก็ไป เราก็โผล่ลูกกรงหน้าต่างเห็น

 

 

คำถาม:

เหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจที่สุดในชีวิต

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

สะเทือนที่สุดที่ถูกจับ แล้วที่ดีใจที่สุดคืออะไรในชีวิต ถามมาเดี๋ยวตอบทีหลัง

 

คำถาม:

ตอบได้เลยครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

วันประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 เป็นวันที่ดีใจที่สุดที่ประกาศว่า เสร็จสิ้นสงครามแล้วประเทศไทยไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการประกาศสงครามเป็นโมฆะ เป็นสิ่งที่ดีใจที่สุด เพราะว่าทนทุกข์ทรมานมาเกือบ 4 ปี ต้องรับผิดชอบครอบครัว ขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด ไหนจะระเบิดยังจะมาทิ้งอีก เดี๋ยวนี้ลืมไปหมดวันสันติภาพ

 

คำถาม:

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คงเป็นเหตุการณ์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็คงลำบาก

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ลำบากแต่คนอื่นที่ลำบากกว่าเราก็มี คือ ลำบากในการงานที่เราทำ เราก็เป็นห่วงกลัวความลับจะถูกแพร่หลายบ้าง

 

 

คำถาม:

โดยเฉพาะขบวนการเสรีไทย ท่านผู้หญิงมีส่วนมีบทบาทอย่างไร

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ทีแรกเราก็ไม่เห็นด้วยกับการที่เราไปยอมให้ญี่ปุ่นรุกราน เราก็หาทางกันกับเพื่อนฝูงที่สนิท ผลสุดท้ายก็ตอนส่งคุณจํากัด พลางกูร ที่ประเทศจีน เราก็นัดกันไว้ตอนที่ไปถึงเมืองจุงกิงให้สื่อสารวิทยุมาเป็น Code คำ เราก็ต้องนั่งคอยฟังวิทยุกับคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ระหว่างสงครามตอนนั้นเขาห้ามให้ฟังวิทยุ ส่งเป็นคำพูดที่เราคิดกันไว้ไม่ได้เป็นว่า ซึ่งสัมพันธมิตรวิทยุเขาห้ามไม่ให้รับไป เพราะไทยเราเป็นฝ่ายญี่ปุ่น แต่โฆษณาสมัยนั้นเราก็ทำหนังสืออนุญาตให้เรารับฟังได้ เราก็รับหมมดไม่ว่าจะเป็น VOA, BBC. ที่เป็นฝ่ายสัมพันธมิตรเราก็รับ

 

คำถาม:

แปลว่าท่านผู้หญิงพูนศุขก็มีส่วนช่วยเหลือขบวนการเสรีไทย และเป็นผู้หญิงเสรีไทยหมายเลขหนึ่งใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ช่วยนิดเดียว อย่างว่าจะส่ง Code ตอนหลังติดต่อกันได้ เข้า Code มาเสร็จแล้ว เขาก็ให้ดิฉันเขียนตัว Capital letter พอว่าดิฉันเป็นนักเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์ ลายมือภาษาฝรั่งก็ค่อนข้างจะชัดเจน เดี๋ยวถ้าเกิดพิมพ์ดีดแล้วเขาไปจับได้รู้ผิดอีกก็เขียนเขาไปส่งกันที่ไหนเราไม่ทราบอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็มีอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ทางนั้นเขาถามมาเรื่อง Address ของเขาว่าจะมีใครรู้บ้าง เขาบอกมีคนคนหนึ่งรู้ ทางนี้ก็งก็กันหมด แม้คุณดิเรก ชัยนาม ก็สัมพันธมิตร Sir…(เสียงเบา-กองบรรณาธิการ) เขาไปแต่งเรื่อง Top Secret เขาหาว่านายปรีดีละเมอแล้วดิฉันไปฟัง ดิฉันก็บอกไม่ใช่ ท่านก็มาถาม ฉันก็คุ้นเคยกับเขาเป็นอย่างดี เพราะเคยเป็นข้าราชการสถานทูตก็บอกว่าเขาติดต่อกับใครที่จะลง Address เขา ดิฉันก็เลยบอกชื่อผู้หญิงคนหนึ่งก็ได้ Address เขามาจริง ๆ เขาก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันแล้ว ซึ่งไม่มีใครรู้เลยที่ทำงานร่วมกัน

 

คำถาม:

ช่วงที่ทำงานฟังวิทยุที่ไหน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ฟังวิทยุกระจายเสียงที่บ้าน ตั้งแต่ญี่ปุ่นขึ้นเมือง

 

คำถาม:

ผมหมายถึงว่า ตอนช่วยงานเสรีไทย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

คนอื่นเขาทำกันตอนหลัง ดิฉันช่วยเขียน เขามาเขาก็ส่ง Code กัน ไม่เกี่ยวกับดิฉัน

 


นายปรีดี กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในจีน

 

คำถาม:

เหตุการณ์ที่ทำให้ท่านผู้หญิงต้องไปจีนไปฝรั่งเศสเกิดจากอะไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เพราะว่า ถูกจับดิฉันก็นึกว่าจะอยู่ไม่ได้แล้ว เราไม่ได้ทำผิดอะไร เขาก็ยังมาจับเรา แล้วเราจะอยู่ไปทำไมในเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่เงินทองก็ไม่มี ขายที่ดินก็เดินทางไปกับลูกที่ฝรั่งเศส ลูกคนหนึ่งเขาอยู่ที่นั้นเรียนอยู่ สงสารปาลที่ติดคุกและถูกฟ้อง แต่เวลานั้นยังไม่ได้ตัดสินก็ต้องเข้าคุก ลูกอีกคนหนึ่งก็เรียนอยู่ฝรั่งเศส อีกสามคนก็อยู่เมืองไทย ดิฉันก็เอาลูกเล็กคนที่ห้าที่หกไปอยู่ที่ฝรั่งเศส อยู่สัก 6-7 เดือน จึงได้เดินทางไปประเทศจีน

 

คำถาม:

ตอนไปจีนท่านปรีดีไปอยู่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไปอยู่นานแล้ว 4-5 ปี เพราะมีจดหมาย และทีหลังก็ไปสมทบ

 

คำถาม:

ช่วงที่อยู่จีน อยู่กันสองสามีภรรยา

 


นายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวช่วงลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากซ้ายไปขวาประกอบด้วย (แถวหน้า) ปาล พูนศุข ปรีดี (แถวหลัง) วาณี สุดา ดุษฎี ศุขปรีดา

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ภาพถ่ายคู่ในวันชาติจีน 1 ตุลาคม 2508 บนประตูเทียนอันเหมิน (ศานติสวรรค์)

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ลูกด้วย อยู่เป็นครอบครัว ทางจีนเขาก็รับรองดี เขาก็จัดบ้านให้เราอยู่ มีพนักงาน มีล่ามแปลภาษาให้เรา มีรถยนต์ให้ขับขี่ นายปรีดีอยู่ 21 ปี ส่วนดิฉัน 9 ปี เพราะดิฉันไปแล้วกลับมาอยู่เมืองไทยพักหนึ่ง กลับไปเมืองจีน และก็ไปฝรั่งเศส 3 ปี ถึงได้ไปรับนายปรีดีจากจีนมาอยู่ฝรั่งเศส

 

คำถาม:

ชีวิตแบบนี้ท่านผู้หญิงคงมีอะไรที่ประทับใจท่านปรีดีเป็นพิเศษ และทำให้ชีวิตคู่ท่านผู้หญิงกับท่านปรีดีอยู่กันมาได้โดยตลอดเช่นนี้ ผมเองอ่านจดหมายหลายฉบับที่ท่านปรีดีเขียนถึงท่านผู้หญิง แล้วก็รู้สึกประทับใจ คิดว่า อะไรมีส่วนสำคัญที่ทำให้แม้ว่าจะต้องจากกันเป็นครั้งเป็นคราว

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

รู้สึกว่า หนึ่งเรื่องความรู้ก็ได้รับรู้ในหลาย ๆ อย่าง สองเรื่องความซื่อสัตย์ คือ ตั้งแต่ดิฉันแต่งงานกันไม่เคยเบียดบังเงินเดือน ได้เท่าไหร่เอามาให้ดิฉันหมด โรงพิมพ์ก็มีรายได้พิเศษ ถ้าสอนชั่วโมงละ 10 บาท อาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง คราวหลังถึงเป็น 4 ชั่วโมง แล้วก็มีรายได้จากโรงพิมพ์ คือ ดิฉันเป็นคนจัดการเรื่องเงิน ท่านก็ได้เงินเหมือนกันจากโรงพิมพ์ แต่เงินเดือนทั้งหมดมอบให้ดิฉัน ไม่เคยจะเอาไว้ขอแบ่ง แล้วแต่ดิฉันจะจัดหาอะไรให้ ตลอดมาจนกระทั่งเป็นรัฐมนตรี เราต่างศึกษาซึ่งกันและกันคือว่า ดิฉันไม่ได้เป็นช้างเท้าหลัง มีอะไรท่านไม่รู้ท่านก็ถามเรา

 

คำถาม:

เขาบอกกันว่า สังคมไทยผู้หญิงไม่ได้อยู่ข้างหน้าก็ตาม เขาบอกหลังบ้านสำคัญจริงไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ก็คงเป็นความจริงบางบ้านแต่คงไม่ใช่บ้านดิฉัน บ้านดิฉันมีแต่ช่วยการงานกัน ไม่มีนอกมีในหลังบ้านกับใคร ไม่มีรับแขก ใครจะมาขอประโยชน์อะไร

 

คำถาม:

สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดของท่านผู้หญิงคิดว่าเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับท่านปรีดี

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ความซื่อสัตย์นี่ซื่อจริง อย่างไปต่างประเทศที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างสถานที่หลายคน คนอื่นเขาไปยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิง แต่นายปรีดีไม่มี ซื่อสัตย์ที่สุด ไม่มีเสียสมาธิอะไรเลย เห็นดิฉันต้องรับเคราะห์ไปด้วย ต้องรับใช้ราษฎรอุทิศตนเสียสละ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับครอบครัว ครั้งหนึ่งอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ลูกสาวคนหนึ่งดีดเปียโนอยู่บนตึก ท่านนั่งอยู่ศาลาน้ำยังถามเลยว่าใครมาดีดเปียโน ส่วนที่ประทับใขมากก็คืออุทิศตนเสียสละเพื่อประเทศชาติ เห็นใจราษฎรผู้ยากไร้ และเป็นคนที่มีความเป็นอยู่สมถะเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย การแต่งตัวผ้าไทยไม่ได้แต่งชุดต่างประเทศเท่านั้น

 

คำถาม:

ท่านปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศุขมีการซื้อของขวัญให้กันในโอกาสวันสำคัญไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ไม่มีให้เลย ทำบุญวันเกิดกัน

 

คำถาม:

คนคงสนใจว่า ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ แน่นอนที่สุดครับ ภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกทุกคน และท่านปรีดีก็ต้องอยู่ที่อื่น ท่านผู้หญิงพูนศุขเลี้ยงดูลูกอย่างไร

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ดิฉันเป็นคนจัดให้เขาเรียน และแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน รายได้ก็มีแค่บ้านให้เช่า ไม่มีรายได้หุ้นส่วนบริษัท เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเอเชียฯ ไม่มีหุ้นสักหุ้นหนึ่ง มีแต่คนรู้จักมาขอร้องด้วยไมตรีเราก็ชช่วยเหลือเขาใส่ชื่อลูกไป แม้แต่ธนาคารกรุงเทพ เจ้าพระยารามราฆพ หลวงรอบรู้กิจ ชิน โสภณพนิช ผู้ริเริ่มก่อตั้งมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งธนาคาร เราก็หุ้นกับเขาใส่ชื่อลูกไปเท่านั้น เดี๋ยวนี้ลูกก็ขายหมดแล้วไม่เอา

 

คำถาม:

เมื่อถึงจุดนี้คิดว่า อยากจะสะท้อนความรู้สึกให้ผู้ชมทางบ้านได้ทราบถึงความรู้สึกในฐานะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็อยู่ใกล้ชิดกับท่านปรีดีเป็นความรู้สึกอย่างไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

เราก็เหมือนเป็นคน ๆ เดียวกัน พูดอะไรที่ดีไปก็จะหาว่ายกย่องกัน ดูตัวอย่างที่เราก็อยู่กันมาจนตายจากกัน โดยที่เราไม่มีข้อบาดหมางอะไรส่วนตัวจะมีโต้เถียงก็เรื่องการงาน ไม่เคยทะเลาะกันแต่จะมีเถียงกันเรื่องความคิดอะไรกันท่านก็รับฟัง

 

คำถาม:

อยากให้ท่านผู้หญิงฝากถึงภรรยาของท่านผู้นำ หรือภรรยาของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คิดว่าอะไรเป็นอคติประจำใจที่อยากจะถ่ายทอด

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์:

ความซื่อสัตย์ อดทน เข้มแข็ง ไม่เล่นการพนัน

 

คำถาม:

รายการชีวิตกับงานก็ได้มีโอกาสและได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่มาพูดคุยกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นับว่าเป็นบุคคลที่ส่วนสำคัญอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์สังคมไทย ขอกราบท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นอย่างสูงครับ

 

 

ผู้สัมภาษณ์: วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์

เผยแพร่ออกอากาศ ณ วันที่  27 มิถุนายน 2538

 

รายการอ้างอิง

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • รายการชีวิตกับงาน คู่ชีวิตรัฐบุรุษ พูนศุข พนมยงค์ ออกอากาศทาง IBC 27 มิถุนายน 2538 ดำเนินรายการโดย วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์,  https://www.youtube.com/watch?v=ksrGNMSr47Y