ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

เธอกับฉัน เราเป็นเสมือนแฝดสยาม

16
กรกฎาคม
2568

Focus

  • วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ เป็นบุตรีคนสุดท้องของนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เติบโตท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งทำให้ครอบครัวต้องพลัดถิ่นและลี้ภัยไปยังประเทศจีน วาณีใช้ชีวิตและศึกษาในต่างแดนกว่า 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง และเคียงข้างบิดาในช่วงลี้ภัยที่ฝรั่งเศสในฐานะเลขานุการส่วนตัว เธอสมรสกับสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรของศรีบูรพา และต่อมาได้เป็นอาจารย์ด้านภาษาจีนทั้งในฝรั่งเศสและประเทศไทย พร้อมอุทิศตนทำงานเพื่อสืบสานอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความยุติธรรมของบิดา ผ่านงานวิชาการของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และกองทุนศรีบูรพา
  • บทความ “เธอกับฉัน เราเป็นเสมือนแฝดสยาม” เป็นงานเขียนเชิงบันทึกความทรงจำเพื่อไว้อาลัยแด่สามีผู้จากไป โดยวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตคู่ระหว่างเธอกับสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ โดยเปรียบเปรยความสัมพันธ์ลึกซึ้งดัง “แฝดสยาม” ที่แม้จะต่างเพศ ต่างวัย และต่างสายเลือด แต่กลับมีจิตวิญญาณ อุดมการณ์ และชะตากรรมร่วมกัน บทความเล่าย้อนถึงวัยเยาว์ของทั้งสองซึ่งต่างเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครอบครัวต้องพลัดพรากและลี้ภัยด้วยข้อกล่าวหา “กบฏ” ก่อนจะมาพบรักกันที่จีนในช่วงพลัดถิ่น
  • เนื้อหาสะท้อนภาพของความรัก ความเข้าใจ และการใช้ชีวิตคู่ที่ยืนยาวกว่า 36 ปี โดยมีฉากหลังคือประวัติศาสตร์การเมืองไทย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความทรงจำร่วมระหว่างสองตระกูลผู้อุทิศตนเพื่อความเป็นธรรมในสังคม

 


สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ กับวาณี สายประดิษฐ์ พนมยงค์

 


วาณี - สรุพันธ์ สายประดิษฐ์ กับ ปรีดี - พูนศุข พนมยงค์ ณ  บ้านอองโตนี

 

เธอกับฉัน เราเป็นแฝดสยาม ที่ไม่เหมือนคำนิยามตามหลักการแพทย์

เธอเกิดปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๘๒ ฉันเกิดปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๘๔

วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เธอมีอายุครบ ๗๒ ปีบริบูรณ์

ฉันมีอายุครบ ๗๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคมที่ผ่านมา

เธอเรียนสายวิทย์ เริ่มจาก ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน BCC ๑๐๔ มาจบมัธยมปลาย ม.๘ ที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษารุ่นที่ ๑๘ แล้วต้องไปอยู่ต่างประเทศ ๓๐ ปี

 


วาณีเมื่ออายุ 1 ขวบ กับบิดา ที่ทำเนียบท่าช้าง

 

ฉันเรียนสายศิลป์ เริ่มจาก ร.ร.ดรุโณทยาน แล้วเรียนต่อที่ ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ก่อนที่จะระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปต่างแดน นานถึง ๓๕ ปี

ช่วงเยาว์วัย เธอต้องเผชิญคุกตะรางที่ขวางกั้นระหว่างพ่อกับเธอถึงสองครั้งสองครา พ่อเธอถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร”

ช่วงเยาว์วัย ฉันต้องพลัดพรากจากพ่อที่ต้องลี้ภัยไปต่างแดน เนื่องจาก รัฐประหารของกลุ่มทหารที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แม่ของฉัน พี่ชายคนโตของฉัน ก็ถูกจับกุมคุมชังในข้อกล่าวหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” เช่นเดียวกับพ่อของเธอ

 


กุหลาบ ชนิด และบุตร สุรภิณ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์

 

น่าขบขันเสียจริง ผู้เรียกร้องสันติภาพกลายเป็น “กบฏ

เธอเรียนเก่ง เป็นเยาวชนที่รักความดีงาม และใฝ่ความก้าวหน้า หลังจากเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ๑ ปี ก็ได้รับ ทุนจากรัฐบาลสหภาพโซเวียต "ประเทศหลังม่านเหล็ก" ในสมัย ๕๐ กว่าปีก่อน ไปเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าพลังน้ำที่กรุงมอสโก เป็นเวลา ๘ ปี

ฉันจากเมืองไทยในวัยไม่ถึง ๑๒ ปี ข้ามน้ำข้ามทะเล จากเอเชียไปยุโรปจากยุโรปข้ามทวีปตามไปใช้ชีวิตกับพ่อแม่ที่เมืองจีน ซึ่งขณะนั้นถูกขนานนาม ว่าเป็น “ประเทศหลังม่านไม้ไผ่”

ชะตาชีวิต ทำให้เธอกับฉันมาพบกันที่เมืองจีน

ความรัก ความเข้าใจของเธอกับฉันเกิดขึ้นที่นี่ ดินแดนแห่งมังกรยักษ์พลิกตัวตื่นขึ้นจากความหลับใหล เราสมหวังในชีวิตรัก แม่เธอบอกกับฉันว่า แต่นี้ไปแม่จะนอนตาหลับ

เธอรักความเป็นธรรม ฉันก็รักความเป็นธรรม

ครอบครัวเธอกับครอบครัวฉัน ตกเป็นเหยื่ออธรรม

เธอภูมิใจที่มีพ่อชื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ แม่ชื่อชนิด สายประดิษฐ์ ฉันก็ภูมิใจที่เป็นลูกพ่อปรีดี พนมยงค์ แม่พูนศุข พนมยงค์

เธอรักความเป็นประชาธิปไตย ฉันก็รักความเป็นประชาธิปไตย

พ่อของเธอ แม่ของเธอ พ่อของฉัน แม่ของฉัน ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบ้านเมือง จนต้องระหกระเหินไปต่างแดน พ่อของเธอตายที่เมืองจีน พ่อของฉันตายที่ฝรั่งเศส

เธอเป็นสุภาพบุรุษที่นึกถึงคนอื่นก่อนเสมอ ฉันพยายามทำเช่นเธอ แต่ก็ได้แค่หางอึ่ง

เธอรักธรรมชาติ ฉันก็รักธรรมชาติ เรารักโลกใบนี้ รักการเดินทางเพื่อค้นพบโลกใบนี้

เธอรักเพื่อนมนุษย์ โอบอ้อมอารีเผื่อแผ่ ฉันก็รักเพื่อนมนุษย์ พยายามที่จะโอบอ้อมเมตตาผู้ด้อยโอกาส

เธอสมถะ เรียบง่าย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ของใช้ส่วนตัวบางอย่างใช้มาตั้งแต่

วัยหนุ่มจนมัชฌิมวัยยังไม่ยอมทิ้ง

เธออดทน ในยามป่วยไข้ไม่ได้ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด ถามเธอทีไรว่าเจ็บไหม คำตอบของเธอคือ “เป็นปกติ”

เธอรักสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นแพะ “เจ้าบาบู” กับ “หนูแหม่ม” สุนัข และแมว ฉันก็รักสัตว์ แต่ไม่ถึงขนาดรักแพะเช่นเธอ หากเรามี “ปุ๊กลุก” “อิ้เอา” “สีนิล” “มู่ลี่” เป็นลูกหลาน และล่าสุดมี "เสือน้อย" ลูกแมวแสนชนเป็นสัตว์รักสัตว์เลี้ยง

๓๖ ปีที่ผ่านมา เรารักใคร่กลมเกลียว เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นพี่เป็นน้อง เป็นกัลยาณมิตร แม้บางเวลาเราอาจจะทะเลาะถกเถียงกันเฉกเช่นลิ้นกับฟัน ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวไปจนถึงเรื่องการบ้านการเมือง ทรรศนะบางประการตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง เราไม่เคยโกรธเคืองกัน พยายามปรับตัวเข้าหากันด้วยเหตุผล ใครทำอะไรผิด ก็จะ “ขอโทษ” ใครทำอะไรให้กัน ก็จะ “ขอบใจ” เธอใจเย็น ฉันใจร้อน

....สุดที่จะพรรณนาความเหมือนและความต่างระหว่างเธอกับฉัน

บางครั้งคนหนึ่งต้องเดินทางไกล อีกคนหนึ่งก็ตั้งตารอให้กลับมาไวๆ

ด้วยความห่วงหาอาทร

แม้เธอจะพูดติดอ่าง แต่ก็มีอารมณ์ขันในคำพูด ในวันที่เธอจากโลกนี้ไปตอนเช้า เธอพูดว่าอยากลุกจากเตียงผู้ป่วยลงไปเดินต้อนรับญาติมิตรที่มาเยี่ยมไข้ ฉันบอกว่าถ้าเธอลงไปเดินเดี๋ยวก็หกล้มหัวคะมำ เพราะความดันต่ำมากเรามาพูดกันด้วยเหตุผลดีกว่า ถ้าเธอรักฉันก็ขอให้เชื่อในความหวังดีของฉัน เธอตอบกลับอย่างที่ทำให้ฉันต้องยิ้มออกมา “ไม่ต้องโฆษณา ไม่ต้องทำการตลาด” คนอะไร ก่อนจะสิ้นใจไม่กี่ชั่วโมงยังมีอารมณ์ขัน

เธอกับฉัน เราเป็นแฝดสยามเทียม คนละพ่อคนละแม่ คนละเพศคนละวัย แต่กายและใจแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีอะไรที่จะแยกเราเป็นสองได้

เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๒๒.๓๕ นาฬิกา ความตายได้พรากเธอไปจากฉัน เธอละสังขารไปตามกฎอนิจจังวัฏสังขารา... เกิด แก่ เจ็บ ตาย ... เธอไปดีแล้ว ไปอย่างสงบ ไม่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายที่รุมเร้ามาร่วม ๔ ปี ๗ เดือน สักวันหนึ่งฉันคงตามเธอไปสู่อีกภพหนึ่งเช่นกัน

ความรักของสองเราเกิดขึ้นที่นี่ ที่นั่น และที่โน่น จะรุ่งโรจน์อยู่ในร่างของเธอที่ดับไปแล้ว และคงรุ่งโรจน์ในร่างของฉันที่ยังมีลมหายใจอยู่ตลอดไป

 


สุรพันธ์กับวาณี หน้าบ้านศรีบูรพา ซอยพระนาง

หมายเหตุ:

  • บทความชิ้นนี้กองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์คงใช้ชื่อเดิมของบทความ
  • อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ

อ้างอิง :

  • วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, เธอกับฉัน เราเป็นเสมือนแฝดสยาม, ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์  (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562)