เมื่อจะทำความเข้าใจขบวนการสิทธิสตรีในประเทศไทย อาจพบว่าชื่อของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เป็นที่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ แต่ถ้าจะกล่าวถึงกำเนิดของสิทธิสตรีในการเลือกตั้งของสตรีไทยแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เริ่มต้นที่ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และร่างธรรมนูญฉบับนี้เองที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้รับผิดชอบในการร่าง
คุณูปการจากร่างธรรมนูญฉบับนี้ทำให้สิทธิทางการเมืองของสตรีไทยปรากฏมาอย่างต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา มีคำอธิบายว่าการใช้สิทธินี้ เกิดขึ้นก่อนประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องประชาธิปไตยเสียอีก และเกิดขึ้นโดยที่สตรีมิได้เคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างหนักหน่วงเหมือนประเทศอื่นๆ
ความคิดอ่านในระดับปัจเจกบุคคลของนายปรีดี พนมยงค์ สามารถส่งผลต่อการวางรากฐานหรือกติกาทางสังคมเกี่ยวกับสตรีตรงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของสังคมไทยได้ เพราะเขาได้มีบทบาทสำคัญภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 อย่างสูง และยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองในยุคต่อมาอย่างเนื่อง
การศึกษาความคิดของสตรีในที่นี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ศึกษาความคิดเกี่ยวกับสตรีในระดับปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันความคิดระดับบุคคลเหล่านี้สะท้อนความคิดเกี่ยวกับสตรีในโครงสร้างของสังคมอย่างไร
เนื่องจากความคิดเกี่ยวกับสตรีมีความเชื่อมโยงกับการแบ่งพื้นที่ทางสังคมอย่างหนึ่งคือ “บ้าน” มีคำเปรียบเปรยหรือเรียกสตรีที่อยู่ในฐานะภรรยาว่า “ที่บ้าน” “บ้าน” จึงถูกเชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิงที่อยู่ในฐานะภรรยา แม่หมายถึงผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับครอบครัว การดูแลบ้าน หรือความรู้สึกต่างๆ เป็นอาณาบริเวณที่เรียกว่า “ส่วนตัว” โดยสตรีจะถูกสร้างอาณาเขตให้อยู่กับพื้นที่ที่เรียกว่า “บ้าน” เป็นส่วนใหญ่
บทความนี้จึงเลือกเสนอความคิดของปรีดี พนมยงค์เกี่ยวกับสตรี ตามการจัดแบ่งอาณาเขตของสตรีในครอบครัวตามพื้นที่บ้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือใน ส่วนแรก เรียกว่า “หน้าบ้าน” เป็นการอธิบายความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงของปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่สอง เป็นการนำเสนอความคิดเห็นหรือประสบการณ์ของคู่ชีวิตของท่านคือ 'ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์' ที่มีส่วนสะท้อนให้เห็นถึงความคิด หรือภาวะของสตรีที่อยู่เคียงข้าง ซึ่งจะนำเสนอในส่วนที่เรียกว่า “หลังบ้าน”[1] และ ส่วนที่สาม เป็นการพยายามอธิบายความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงที่สะท้อนผ่านการจัดแบ่งพื้นที่ “ส่วนตัว/สาธารณะ” หรือ “ที่ทำงาน/ที่บ้าน” โดยจะให้อธิบายให้เห็นว่า การจัดแบ่งพื้นที่ในลักษณะนี้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับสตรีในสังคมอย่างไร อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “ผู้หญิง” กับ “บ้าน”
แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนแรก ผู้เขียนต้องการกล่าวถึงแนวทางการศึกษาความคิดของปรีดี พนมยงค์ ในที่นี้ว่าไม่มีความต้องการก่อให้เกิด “ดับเบิ้ลอิลลูชั่น” ตามที่ คำรณ คุณะดิลก ผู้กำกับละครสะท้อนชีวประวัติของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์” ได้เคยกล่าวไว้ คือ ถ้าไม่ระวังก็จะสร้างภาพหลอน 2 ชั้น ให้คนดู[2] หรือ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล เมื่อศึกษาความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ เขาได้ทำการศึกษาถึงความคิด ภูมิหลังทางสังคมแะสถานการณ์ส่วนตัว[3] โดยได้รับการแนะนำจากปรีดีโดยตรงว่า ให้พิจารณาถึงสภาพความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทางการเมือง ทรรศนะทางสังคมที่กระทบหรือสัมผัสกับท่านในระยะเวลาต่างๆ[4] ด้วย
บทความนี้ ไม่ต้องการสร้างภาพซ้อนของปรีดีขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเช่นเดียวกับคุณคำรณ แต่ภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่ไม่สามารถศึกษาสภาพการณ์อย่างลึกซึ้งตามที่ปรีดีต้องการได้ จึงได้เลือกหยิบเฉพาะบางประเด็นปัญหาที่สามารถเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้มากล่าวถึงเท่านั้น โดยตระหนักดีว่า ได้มองข้ามเรื่อง “เวลาและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์” บางอย่างไป
ในที่นี้จึงขอเติมคำว่า “ในทัศนะข้าพเจ้า” เข้าข้างท้ายบทความเพื่อทำให้บทความนี้มีบทบาทจำกัดเฉพาะตัวลงได้ระดับหนึ่ง บทความนี้จึงน่าจะมีชื่อเสียใหม่ว่า “สิทธิสตรี” ในความคิดปรีดี พนมยงค์ ในทัศนะข้าพเจ้า อาจจะเหมาะกว่า
และการศึกษาในที่นี้เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสังคมกับตัวบุคคลนั้นมีลักษณะเป็นพลวัตรและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน กิจกรรมของคนในสังคมจะถูกวางกรอบโดยโครงสร้างสังคม ซึ่งมีหลายรูปแบบเชื่อมโยงกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์ก็เป็นผู้สถาปนาโครงสร้างเหล่านี้ขึ้นมา ดังนั้น บุคคลและโครงสร้างสังคมจึงมีส่วนสัมพันธ์กัน ความเชื่อมโยงจึงมีปรากฏอยู่ระหว่างความคิดเฉพาะเกี่ยวกับสตรีของปรีดีต่อสังคม และขณะเดียวกันความคิดของเขาก็ตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดของสังคมที่อิทธิพลอยู่ด้วย จึงเป็นการมองดูความสัมพันธ์ของความคิดในระดับบุคคลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้หญิงในสังคมไทย และภายใต้ความคิดนี้ได้สะท้อนความคิด “ชายเป็นใหญ่” (Patriarchy) ในสังคมไทยไปด้วยเช่นกัน
1. หน้าบ้าน
หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมฯ
เสมอภาคหลังการปฏิวัติ
เช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ภายหลังการปฏิวัติแบบฉับพลัน (Coup D’ Etat) ได้สำเร็จลง พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎร ณ บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมฯ ความข้อที่ 4 ว่า
“...จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน…”
ข้อความที่ปรากฏในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนี้ถูกเขียนขึ้นโดย นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่คณะราษฎรรวมตัวประชุม ณ Rue Du Sommerard ประเทศฝรั่งเศส นายปรีดีได้รับมอบหมายให้เป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎร[5] โดยที่ประชุมในขณะนั้นได้เห็นชอบกับหลัก 6 ประการที่นายปรีดีเป็นผู้เสนอ[6]
ถัดจาก 24 มิถุนายน 2475 ไป 3 วัน คณะราษฎรได้ประกาศ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475” โดยมีข้อความในมาตรา 14 ว่า “ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้...”[7] ข้อความที่ระบุว่า ไม่ว่าเพศใด นี้มีความหมายว่าทั้งเพศชายและเพศหญิงให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ถูกเขียนขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ อีกเช่นกัน
ถ้าจะทบทวนงานเขียนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสิทธิสตรีแล้ว มักจะกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสำคัญว่ามีส่วนในการยกฐานะสตรีให้เท่าเทียมบุรุษ งานเขียนเหล่านี้[8] ได้ชี้ให้เห็นว่า ข้อความที่ปรากฏในร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 ข้างต้น ได้สร้างความหมายให้กับการกล่าวถึงสิทธิสตรีไทยในช่วงเวลาต่อมาอย่างมาก
จากหลักความเสมอภาคที่นายปรีดี พนมยงค์ ยึดถือและทำให้ปรากฏในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรกนี้ เท่ากับเปิดฉากให้ผู้หญิงได้เข้ามามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นตามมา จากอดีตที่ผู้หญิงเคยเป็นแค่เพียงทรัพย์สมบัติของพ่อแม่หรือสามี มาเป็นสตรีที่มีสิทธิมีส่วนในการปกครอง
ความคิดที่ยอมรับสิทธิของสตรีเช่นนี้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีปรากฏอยู่บ้าง เช่น ในรัชกาลที่ 3 ทรงตราพระราชบัญญัติผัวขายเมียขึ้น สามีจะขายภรรยาโดยไม่ยินยอมให้ถือว่าผิด ในรัชกาลที่ 4 เกิดกรณีของอำแดงเหมือนกับนายริด ทำให้เกิดการให้สิทธิในการสมรสแก่สตรีได้ตามสมัครใจมากขึ้นตามมา รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส มีการชำระกฎหมายเป็นหมวดหมู่ กำหนดโทษให้คล้ายคลึงอารยประเทศ จนถึงรัชกาลที่ 6 ทรงออกประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ บรรพ 1-2 และดำเนินมาเป็นเวลา 38 ปี
จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 จึงเร่งรัดให้มีประมวลกฎหมายออกใช้บังคับ[9] ที่ถือว่ายอมรับและให้โอกาสหญิงให้มีสิทธิเท่าเทียมชายในการเมือง ในเวลาต่อมาจึงมีการให้สิทธิในทางทรัพท์สิน มรดก รัฐธรรมนูญ[10] นับว่าเป็นก้าวย่างที่ดีของสตรีไทยที่ได้คุณูปการจาการปฏิวัติ 2475 มีการกล่าวว่า สตรีได้รับสิทธิในการเลือกตั้งพร้อมๆ กับบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นมากนักในกระบวนการปรชาธิปไตยตะวันตก
อย่างไรก็ดี ความคิดในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่น่าประหลาดใจ เพราะการเริ่มต้นเส้นทางประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อประเทศสยามจะให้สิทธิทางการเมืองแก่ราษฎร ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่เพศชายก่อนเหมือนประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลเบื้องหลังของการยอมรับสิทธิสตรีในทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ยิ่งไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจด้วยเช่นกันเพราะการที่เริ่มเรียนทางกฎหมายจนจบการศึกษาขั้นสูงสุด ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องและรับรู้ได้ถึงความอยุติธรรมของสิทธิสตรีในทางกฎหมายอย่างแน่นอน
สตรีเองที่ร่ำเรียนทางด้านนี้ยังให้ข้อคิดว่า การได้เรียนรู้กฎหมาย มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาคทางวัฒนธรรม ประเพณีและทางกฎหมายเกี่ยวกับชายและหญิง และถ้าได้เข้าไปทำงานในสำนักงานชาวต่างประเทศ ได้เรียนรู้กฎหมายของเขาก็จะนำมาเปรียบเทียบกฎหมายของเรา[11]
ความที่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย หรือ เรื่องของความยุติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจกับความคิดที่น่าประหลาดใจกับความคิดที่เขาจะรับรองสิทธิสตรีในรัฐธรรมนูญ ประกอบกับในขณะที่เขาได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้น การตื่นตัวในเรื่องสิทธิสตรีในประเทศแถบยุโรป[12] ก็มีขึ้นมากแล้วด้วย เช่น พ.ศ. 2461 อังกฤษเริ่มมีกฎหมาย The Representation of the people act ค.ศ. 1918 ที่ให้สิทธิกับสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 และในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) จึงลดลงเป็น 21 ปี ซึ่งการให้สิทธิแก่สตรีครั้งนี้ทําให้จํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นเป็น 21 ล้าน (ค.ศ. 1918) และเพิ่มอีก 8 ล้าน (ค.ศ. 1928) อันมีผลต่อการกระจายที่นั่งในสภา[13] ส่วนอเมริกานั้นก็เริ่มให้สิทธิสตรีในการเลือกตั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920)[14] แล้ว
การตื่นตัวในเรื่องการยอมรับสิทธิสตรีได้เกิดขึ้นในอังกฤษและอเมริกาก่อนแล้ว จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่คณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์ จะร่างรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิสตรีเท่าเทียมกับเพศชาย เพราะภายใต้มาตรฐานทางกฎหมายเดียวกับทางตะวันตกจะทําให้สะดวกต่อการยอมรับและรับรองคณะรัฐบาล พ.ศ. 2475
การรับรองสิทธิสตรีไทยจึงได้รับการบรรจุไว้ตั้งแต่แรกมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว[15] แต่การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีไทยกว่าจะเกิดมีขึ้นจริงจังก็เกือบ 20 ปีให้หลัง โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2492 มีผู้หญิงได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คือ นางอรพิน ไชยกาล ต่อมา 26 กุมภาพันธ์ 2495 ได้รับเลือก 4 คน, 26 กุมภาพันธ์ 2500 ผู้หญิงได้รับเลือก 1 คน จากจํานวนผู้สมัครหญิงทั้งหมด 41 คน,15 ธันวาคม 2500 ผู้หญิงได้รับเลือก 4 คนจากจํานวนผู้สมัคร 14 คน และจากสถิติการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 40% ของผู้ไปใช้สิทธิเป็นผู้หญิง และเพิ่มขึ้นเป็น 43% เมื่อการเลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512[16]
ภาพสะท้อนจากร่างรัฐธรรมนูญ 2475 จึงฉายภาพให้เราเห็นว่าความคิดในเรื่องสิทธิของผู้หญิงนั้นได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นกว่าเดิม และเมื่อปรีดี พนมยงค์คือผู้มีบทบาทในการร่างธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เขาเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับการรับรองสิทธิสตรีในทางกฎหมาย และการเมืองนี้อย่างแน่นอน โดยบริบทที่มีส่วนกําหนด
การรับรู้และความคิดน่าจะเกิดจากปัจจัยสองอย่าง คือ การที่ได้เรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความเป็นธรรม และการได้สัมผัสและใช้ชีวิตในประเทศตะวันตกที่ยอมรับสิทธิสตรีนั่นเอง
นอกจากนี้จาก เค้าโครงเศรษฐกิจ ที่ปรีดีได้ร่างเสนอต่อรัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์ฯ อันเป็นเหตุให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศเมื่อ พ.ศ. 2476 นั้น ก็ปรากฏความเห็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีอยู่ในส่วนของเค้าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร หมวดที่ 2 ว่าด้วยการทํางาน มาตรา 8 ข้อ 4. เขียนไว้ว่า งานที่เกี่ยวกับการรักษาสถานที่ การเสมียน การเป็นครู การอนุบาลเด็ก การจําหน่ายของอุปโภคบริโภค ให้พยายามผ่อนผันใช้เพศหญิง เว้นแต่จําเป็นจึงใช้เพศชาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของเพศหญิงมีคุณวุฒิและความสามารถเป็นพิเศษ และในมาตรา 10 ได้ยกเว้นไม่ต้องทํางานแก่หญิงมีครรภ์ด้วย[17]
ต่อมารัฐบาลยังได้ออกกฎหมายที่สําคัญในเรื่องแรงงานถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยสํานักงานจัดหางาน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ. สํานักงานท้องถิ่น พ.ศ. 2475 ที่ให้บริการแก่ประชาชนโดยรัฐจัดตั้งสํานักงานบริการสําหรับผู้ที่ต้องการหางาน และเมื่อปรีดีได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2479 ได้ผลักดันให้ออก พ.ร.บ. สอบสวนภาวะกรรมกรขึ้นเพื่อทราบภาวะความเป็นอยู่ของกรรมกรอีกด้วย[18] ชี้ให้เห็นถึงความคิดที่ให้ความสําคัญกับสตรีโดยไม่ละเลย เพราะการระบุไว้ในความสําคัญกับสตรีโดยไม่ละเลย เพราะการระบุไว้ใน พ.ร.บ. ย่อมมีความหมายต่อการยอมรับความสามารถของผู้หญิงในการทํางาน
หลายครั้งที่เขาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทํางาน เช่น การให้ท่านผู้หญิงพูนศุขช่วยงานในช่วงสงคราม หรือการเรียกตัวคุณ แร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทยเข้าพบขอให้ช่วยเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยในการติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในช่วงสงครามโลก และยังขอให้เธอช่วยงานในเรื่องของการขายพันธบัตรเพื่อนําเงินมาตั้งสํานักงานธนาคารชาติ[19]
นอกจากนี้ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีการสอนกวดวิชา ช่วงที่เขาสอนที่โรงเรียนกฎหมายนั้น ปรากฏว่ามีนักศึกษาหญิงรวมอยู่ด้วย[20] หรือแม้แต่ในช่วงหลังๆ ของชีวิตจากคําให้สัมภาษณ์ เขาได้กล่าวยอมรับบทบาทความช่วยเหลือที่ได้รับจากภรรยาไว้มากและมีความคิดที่จะเขียนชีวประวัติตนเองไว้เคียงคู่กับภรรยาโดยให้ชื่อว่า “ชีวิตและการงานของปรีดี-พูนศุข”[21] นอกจากนี้ปรีดียังมีความเห็นที่ยึดถือการมีภรรยาเพียงคนเดียว อันเป็นการให้ความสําคัญกับสตรีอีกด้วย ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
หนึ่งหญิง : หนึ่งชาย
รัฐบาลสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ออก “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ พ.ศ. 2478” ได้ให้สิทธิหญิงในครอบครัวมากขึ้น คือ บรรพ 1 มาตรา 19 ชายและหญิงพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปี มี สิทธิกระทําการใดในขอบเขตกฎหมายโดยไม่ต้องขอคํายินยอมจากบิดามารดาและมาตรา 1451 ระบุว่า “บุคคลใดจดทะเบียนสมรสแล้ว จะจดทะเบียนอีกไม่ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ว่า การสมรสครั้งก่อนได้หมดไปแล้วเพราะตาย หย่า หรือศาลเพิกถอน”[22]
จากพระราชบัญญัตินี้ได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่ให้สิทธิแก่สตรีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เป็นสมบัติของบิดามารดาที่จะขายหรือบังคับแต่งงานได้ และจํากัดสิทธิของชายไทยมากขึ้นที่ปกติมักจะมีภรรยาหลายคนให้มีภรรยาได้เพียงคนเดียว
ความคิดในเรื่องการแต่งงานโดยยึดหลักการมีภรรยาเพียงคนเดียวนี้เป็นเรื่องที่สําคัญและเกี่ยวข้องกับสตรีไทยเป็นอย่างมาก เพราะภายใต้การมีภรรยาได้หลายคนนั้น เป็นเรื่องที่ชายแสดงออกถึงอํานาจที่อยู่เหนือฝ่ายหญิง และกระแสการเรียกร้องเรื่องการมีภรรยาเพียงคนเดียวนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่รับความคิดตะวันตกยุคแรก ๆ แล้ว ตัวอย่างข้อเรียกร้องในเรื่องนี้เกิดจากเทียนวรรณ สามัญชนผู้หนึ่งในรัชสมัย ร.5 และผู้นี้นี่เองที่ถือว่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อนายปรีดี พนมยงค์ด้วย เขายอมรับว่า เทียนวรรณมีอิทธิพลต่อเขาในวัยเด็กมาก
“เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัย 60 ปีกว่ามาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่านและได้พบคนธรรมดา สามัญ 2 คนคือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ ซึ่งมีความคิดคติเป็นประชาธิปไตยมาก”[23]
และเทียนวรรณนี้เองก็เป็นผู้ที่เสนอให้มีการปรับปรุงชาติในข้อหนึ่งว่า “จะให้มีกฎหมายมีภรรยาคนเดียว ประสงค์จะตัดโสหุ้ย ในการไม่มีประโยชน์แก่ราชการให้น้อยลง”[24]
ดังนั้น ความคิดนี้น่าจะส่งผลต่อความคิดของปรีดีด้วย ประกอบกับการได้รับการศึกษาในตะวันตกที่ให้ความสําคัญกับการมีภรรยาเพียงคนเดียว (ในสังคมไทย ขณะนั้นความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้ชายบางกลุ่มขณะนั้นความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้ชายบางกลุ่ม ที่ยังนิยมมีภรรยาหลายคนอยู่)
เกี่ยวกับความคิดในเรื่องนี้ มีปรากฏอยู่ในงานเขียนนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขาเมื่อ พ.ศ. 2482-2483 ช่วงที่รับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นวนิยายภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า The King of White Elephant (พระเจ้าช้างเผือก) แม้ว่าจะกล่าวว่าอุทิศแก่ “สันติภาพ” และเชื่อว่าชัยชนะแห่งสันติภาพมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด[25] แต่ภายในเนื้อหาได้สอดแทรกคติความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงเรื่อง “การมีภรรยาคนเดียว” ปรากฏอยู่
เริ่มเรื่องโดย พระเจ้าช้างเผือก มีพระนามจริงว่า จักรา ได้ครองราชสมบัติมาถึง 3 ปี มหาเสนาบดีได้มีความกังวลใจ เพราะมิได้ทรงปฏิบัติตามพระราชประเพณีราชประเพณีที่กล่าวถึง คือ การที่พระมหากษัตริย์จะต้องมีพระมเหสีและควรมีถึง 365 พระองค์[26] แต่พระเจ้าจักราไม่ได้ให้ความสําคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ จนกระทั่งได้พบกับพ่อค้าชาวโปรตุเกส จึงได้ถามถึงเรื่องการมีพระมเหสีของชาวโปรตุเกส และได้รับคําตอบจากชาว โปรตุเกสว่าจะมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว เพราะศาสนาห้ามไว้มิให้มีมากกว่าหนึ่ง[27]
ตอนจบของเรื่อง พระเจ้าจักราได้ทรงเลือกพระมเหสีเพียงคนเดียวคือ เรณู และแต่งตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ และเรณูได้กราบทูลต่อพระองค์ว่า การเลี้ยงดูนางสนมทั้ง 365 คนนั้นเป็นการสิ้นเปลืองราชทรัพย์อย่างมาก พระราชทรัพย์ส่วนนี้ควรนําไปใช้ในการส่งเสริมการกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาราษฎร์และความรุ่งเรืองของประเทศ[28]
ความคิดในการมีภรรยาเพียงคนเดียวนี้เป็นสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในสังคมตะวันตก และหล่อหลอมให้เขาคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สําคัญ เป็นมาตรฐานของศีลธรรมที่ดี และความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและหญิงจะต้องอยู่บนมาตรฐานของสังคมที่ดีงามระหว่าง 2 เพศด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและหญิงที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ผิดปกตินั้น เป็นสิ่งที่เป็นอาชญากรรมทําลายชาติพันธ์แห่งชาติ แม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ด้วยว่า การกระทําชําเราผิดธรรมดามนุษย์เป็นการผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงให้ลงโทษจําคุกหลายปี[29] นับว่าความคิดในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในครอบครัวนั้น เขาเห็นว่าการมีภรรยาเพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ดี และอยู่บนความสัมพันธ์ ที่ดีงามระหว่างเพศชายและหญิง
ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทางกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ปรีดีเห็นดีและเมื่อการยอมรับสถานภาพทางกฎหมายของสตรีผ่านการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้แล้ว จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีต่อสิทธิของสตรีไทยต่อ ๆ มา บทบาทของเขาในเรื่องนี้ถือเป็นขบวนการปรับฐานะของสตรีไทยที่สําคัญ แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าความคิดเกี่ยวกับสตรีของเขาผ่านงานเขียนมีน้อยมาก โดยเฉพาะบุตรสาวของเขาเองได้กล่าวยอมรับในเรื่องนี้[30]ไว้เหมือนกัน
การกล่าวถึงความคิดของท่านในเรื่องสตรีที่นําเสนอ ข้างต้นได้ถูกจัดให้อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “หน้าบ้าน” อย่างไร ก็ตามบริบทของท่านยังแวดล้อมอยู่ด้วยสตรีที่อยู่ “หลังบ้าน” และมีบทบาทในชีวิตเขาอย่างมากโดยที่ไม่อาจ กล่าวถึงไม่ได้ คือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ หากได้พิจารณาสถานภาพ ของภรรยานายปรีดี แล้วอาจสะท้อนปัญหาในเรื่องสิทธิ สตรีบางอย่างในสังคมไทยได้ตามมา ในส่วนต่อไปที่เรียกว่า “หลังบ้าน”
2. หลังบ้าน
ศาลแขวงพระนครใต้
นี่คือคำให้การในศาลของพยานปากแรกที่เกิดขึ้น ณ วันที่ 3 กันยายน 2530 ที่เกิดขึ้น ณ ศาลแขวงพระนครใต้ คดีหมายเลขดําที่ 3440/2530
“สามีข้าฯ ชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เคยเป็นบุคคลหนึ่งในคณะผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองปี พ.ศ. 2476 หรือ พ.ศ. 247 จําไม่ได้แน่... สามีข้าฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2484 สามีข้าฯ ได้เป็นหัวหน้ารวบรวมคนไทยเพื่อต่อสู้ญี่ปุ่นซึ่งรุกรานประเทศไทย...หลังสงครามโลกได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีประมาณปี พ.ศ. 2488 หรือ พ.ศ. 2489 จําไม่ได้แน่…8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิด มีรัฐประหาร ขณะนั้นหลวงธํารงฯ (พลเรือตรี ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์) เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสามีข้าฯ เป็นเพียงรัฐบุรุษอาวุโส มีทหารนํารถถังมายิงปืนเข้าไปในที่พักของสามีข้าฯ สามีข้าฯ จึงได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และสามีข้าฯ ได้เสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 … สามีข้าฯ ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เพราะลี้ภัยรัฐประหาร..”[31]
ส่วนหนึ่งที่ตัดตอนมาจากคําให้การของท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ในคำให้การต่อศาลข้างต้น เป็นการเล่าเรื่องราวที่เกิดจากผู้หญิงในฐานะที่เป็นภรรยากล่าวถึงสามี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สามี ภายหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี นับว่าเป็นศรีภรรยาที่ น่ายกย่องอย่างยิ่ง
แต่เรื่องราวของท่านผู้หญิงปรากฏผ่านข้อเขียนต่าง ๆ มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับงานเขียนท่านรัฐบุรุษปรีดีที่มี บทบาทต่อสังคมไทยอย่างมากมาย และดูเหมือนจะทําให้บดบังการเป็นหลังบ้านของท่านผู้หญิงๆ ไปโดยปริยาย
ท่านผู้หญิงพูนศุข ในฐานะภรรยา - แม่
ชีวิตการครองเรือนของท่านผู้หญิงฯ เริ่มต้นที่อายุยังไม่ 17 ปี ท่านเห็นว่ายังเด็กไป เพราะยังเรียนอยู่ในระดับ Standard 7 ยังไม่สําเร็จ Standard 8 ของโรงเรียนเซนต์โยเซฟ ได้สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่มีอายุต่างกัน 11 ปีและเป็นญาติห่าง ๆ กันเพราะมีเชียดเดียวกัน[32]
สภาพแวดล้อมของครอบครัวน่าจะมีส่วนหล่อหลอมสําคัญต่อความคิดเห็นต่าง ๆ ของเธอ จากสถานภาพของครอบครัวน่าจะจัดได้ว่าเป็นชนชั้นมีฐานะในสังคมไทย ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนฝรั่ง ประวัติศาสตร์ภายในครอบครัวก็เคยมีบทบาทในทางการเมืองมาก่อน กล่าวคือ คุณปู่คือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) ขณะดํารงบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงวิเสสสาลี” ตําแหน่งผู้ช่วยสถานทูตสยามประจํากรุงลอนดอน ได้เข้าร่วมกับพระบรมราชวงศ์อีกจํานวน 11 คน กราบทูลต่อรัชกาลที่ 5 เมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2428 ให้ทรงเปลี่ยนเข้าสู่ระบบ ‘ลิมิเต็ด โมนากี’ (ดังนั้นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตราถือเป็นญาติกับปรีดีด้วย)[33]
ความพิเศษของสภาพแวดล้อมที่เคยเห็นการต่อสู้ทางการเมืองของคนในครอบครัวมาก่อน อาจทําให้การยอมรับบทบาททางการเมืองของปรีดีในช่วงที่ต้องต่อสู้ทางการเมืองได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้เธอยังมีสหายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีในยุคต้น ๆ ด้วย สหายผู้นั้นคือ คุณแร่ม พรหมโมบล ที่มีส่วนในการก่อตั้ง “สมาคมสตรีแห่งกรุงสยาม” เมื่อ พ.ศ. 2475[34] และยังเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์เป็นอย่างมาก ถือเป็นข้าหลวงเรือนนอกก็ว่าได้[35] จัดได้ว่าท่านผู้หญิงพูนศุขฯ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากหญิงไทยโดยทั่วไปก็ว่าได้
ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านผู้หญิงฯ มีบุตรแล้วรวม 2 คนคือ ด.ญ.ลลิตา และ ด.ช.ปาล ในวันสําคัญนั้นเธอไม่ได้รับการบอกกล่าวมาก่อนถึงแผนการปฏิวัติ เธอได้ไปส่งนายปรีดีขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลําโพงและได้รับการบอกกล่าวจากสามีว่าจะไปขอลาบวชจากบิดามารดาที่อยุธยา[36] และเมื่อการยึดอํานาจดําเนินไปจนสําเร็จ ความคิดของเธอคือกังวลใจและวิตกกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยหรือความถูกต้องเหมาะสมของนายปรีดีและคณะราษฎร[37] และต่อจากนั้นเป็นต้นมา บทบาทในฐานะภรรยาของเธอได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เริ่มต้นที่การเป็นภรรยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนถึงภรรยาของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
บทบาทของสตรีและบุรุษในวัฒนธรรมไทย ดูเหมือนว่าจะมีการแยกไว้อย่างชัดเจนและในความชัดเจนนั้น บางครั้งทําให้เกิดการยอมรับในสถานภาพบางอย่างที่ดูเหมือนจะต่ํากว่าบุรุษ โดยเฉพาะในฐานะภรรยา กรณีของท่านผู้หญิงฯ การเป็นภรรยารัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโสนี้ จากคําบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตนั้น สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางอย่างเกี่ยวกับสตรีไทยได้
ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่สามีเป็นใหญ่หรือผู้หญิง ควรรับผิดชอบเฉพาะเรื่องในครอบครัว นั้นเป็นความคิดที่พบได้ในผู้หญิงไทยโดยทั่วไป และเรื่องราวแห่งความทรงจําของท่านผู้หญิงพูนศุข สามารถสะท้อนให้เห็นความคิดในเรื่องนี้ จากสภาวการณ์ที่ไม่มีส่วนรับรู้ในเรื่องของปรีดีมากนัก หรือในบางครั้งต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นบางอย่างแต่ก็ไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนั้น ๆ ออกมา เพราะเชื่อว่ากรรยาควรมีบทบาทเฉพาะบางเรื่อง
เธอเห็นว่าสามี-ภรรยาไม่ควรก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน แบ่งภาระหน้าที่ทั้งในและนอกบ้านให้ชัดเจน[38] ในกรณีการรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีของปรีดีนั้น แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ถือว่าในฐานะภรรยาไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง[39]
หรือในบางครั้งเธอได้แสดงความคิดเห็นออกมา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เมื่อครั้งที่นายปรีดีลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทย (ภายหลังการลี้ภัยจากการการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490) ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตยนั้น” เธอได้กล่าวว่า “ฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแผนของเธอที่จะทําการในครั้งนี้ มันเป็นอันตรายอย่างมาก” แต่นายปรีดีก็ส่ายหน้าปฏิเสธ ยังคงยืนกรานความคิดเดิม[40]
ในฐานะภรรยาบางครั้งไม่มีสิทธิก้าวก่ายหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสามีในบางเรื่อง และบางครั้งความสัมพันธ์ทางอํานาจระหว่างสามีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบ้านเมือง จะเป็นเรื่องที่ภรรยาจะต้องยินยอมโดยดุษฎี แม้ว่าในฐานะภรรยานั้นอาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากสถานะของสามีด้วยเช่นกัน
พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้จับกุมกลุ่มคนขนานใหญ่จากเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” ท่านผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย โดยถูกจองจําเป็นเวลา 84 วัน” [41] และในคราวเดียวกันนี้บุตรชายนายปาล พนมยงค์ ก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน
แม้ว่าสถานการณ์จะบีบคั้นเช่นไร เธอได้ดํารงตนเป็นภรรยาที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาที่นายปรีดีมีความท้อแท้ใจ ท่านผู้หญิงก็ปลุกปลอบใจอย่างดี ภายหลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง มีการจับกุมและกวาดล้างคนที่เกี่ยวข้องจํานวนมาก นายปรีดีได้ปรารภว่า “ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เราทําให้คนอื่นเดือดร้อน..ต้องตาย” แต่ท่านผู้หญิงฯ ได้ปลอบใจว่า “ไม่ได้ ถ้าเธอตายไป ก็เหมือนกับยอมแพ้ทุกอย่าง” และได้ดําเนินการพานายปรีดีหลบหนีออกนอกประเทศได้สําเร็จในเวลาต่อมา
“กว่า 5 เดือนที่ดิฉันติดต่อหาเรือประมงและกัปตันที่วางใจได้ เพื่อพานายปรีดีพร้อมผู้ติดตามออกนอกประเทศเป็นผลสําเร็จ ซึ่งการดําเนินการในช่วงนั้น ดิฉันต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน…”[42]
และในฐานะแม่ก็รับบทบาทที่สําคัญยิ่งในการดูแลลูก ๆ โดยบุตรีของท่านได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้จะมีพ่อเป็นบุคคลระดับสําคัญของประเทศ ส่งผลให้เวลาที่แบ่งสรรให้ครอบครัวมีน้อยเต็มที่ แต่ด้วยมีแม่ให้การดูแลแทนพ่ออยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกที่อบอุ่นจึงเกิดขึ้น[43]
แม้ในคราวที่เกิดวิกฤติกับบุตร ปาล พนมยงค์ เธอสามารถปลอบประโลมใจและพร่ําสอนบุตรชายโดยไม่บริภาษถึงสามีแม้แต่น้อย ท่านผู้หญิงฯ ได้กล่าวกับบุตรชายที่ห้องพิจารณาคดีพิเศษของศาลอาญาว่า
“ลูกเอ๋ย ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่ต้องผจญกับชะตากรรม แม้ว่าพ่อของลูกจะได้ประกอบกรรมทำความดีให้กับชาติบ้านเมืองอย่างมากมายก็ตาม แต่วิถีทางการเมืองทำให้พ่อของลูกไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในแผ่นดินไทยได้อย่างเสรีชน… ผลอันนี้ได้กระทบกระเทือนมาถึงแม่และตัวลูกอีกด้วย ลูกรักต้องกลายเป็นจำเลยในคดีการเมืองตั้งแต่เยาว์วัย โดยไม่มีผู้ใดคาดหมายไว้ก่อนเลยว่าจะเป็นไปถึงเพียงนี้ ...ขอให้ลูกมีจิตใจเข้มแข็ง อดทนต่อสภาพการณ์ที่ลูกกำลังเผชิญอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า ลูกรักจงอดทน และจงประพฤติตนให้สมกับเป็นลูกของนักการเมืองผู้ครั้งหนึ่งเคยทำคุณงามความดีให้กับชาติบ้านเมืองโดยไม่กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตนและครอบครัวอย่างใดเลย”[44]
ด้วยบทบาทของความเป็นภรรยาและความเป็นแม่ในครอบครัว เสมือนว่าท่านผู้หญิงฯ จะรับบทบาทในครอบครัวที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้รัฐบุรุษปรีดีเลย
ในสังคมไทยพบว่า ผู้หญิงมีบทบาทในทางเศรษฐกิจของครอบครัวอย่างเด่นชัด นับตั้งแต่การทำนาไปจนถึงเป็นผู้นำผลผลิตที่เหลือกินเหลือใช้ไปสู่ตลาด[45] บทบาทของชายไทยนั้นเป็นไปได้ในด้านเศรษฐกิจ[46] กรณีของครอบครัวพนมยงค์ดูเหมือนว่าภาระหน้าที่ในการจัดการในด้านเศรษฐกิจจะตกเป็นเรื่องของท่านผู้หญิงฯ อย่างมากเริ่มตั้งแต่การจัดการในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครอบครัว เธอกล่าวว่า “ดิฉันจำเป็นต้องรับผิดชอบดูแลทั้งหมด แม้กระทั่งเงินเดือนของนายปรีดีเอง มักจะลืมนำกลับบ้าน เลขาฯ ต้องเอามาให้บ่อย ๆ จนนายปรีดีส่งให้เลขาฯ นำมาให้ดิฉันเลย”[47]
แม้แต่ปรีดีเอง ยังยอมรับบทบาทของท่านผู้หญิงในเรื่องเศรษฐกิจครอบครัวว่ามีสูงมาก จากการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2516 กล่าวเพื่อแก้ครหาว่า การอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานถึง 26 ปีนั้นใช้ทรัพย์ส่วนใดในการดำรงชีพ เขาชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่เมืองจีนรัฐบาลจีนได้รับรองที่พักและค่าใช้จ่าย ส่วนค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนั้นได้อาศัยเงินของภรรยาที่ได้จากส่วนแบ่งกองมรดก และการขายบ้าน รายได้จากหอพักที่ภรรยาจัดการ โดยส่วนตัวเลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสือขาย[48] และยอมรับว่าการเริ่มต้นอาชีพข้าราชการนั้น เพราะได้อาศัยอยู่กับท่านเจ้าคุณฯ และคุณหญิงชัยวิชิตฯ บิดามารดาของภรรยา ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่ากินอยู่ จึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 300 บาท[49]
ภาระในทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นเรื่องสำคัญในครอบครัว และบทบาทของท่านผู้หญิงฯ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีนี้ได้มีส่วนในการสนับสนุนนายปรีดีเป็นอย่างมาก
จากข้างต้น ความเป็นไปในชีวิตของสตรีผู้หนึ่งในสังคมไทยที่ต้องรับภาระต่าง ๆ ในครอบครัวภายใต้ความกดดันในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต สะท้อนความคิดเบื้องหลังบางอย่างได้ดี ในที่นี้ไม่ได้ต้องการชี้ว่าใครหรือผู้ใดผิด แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นภาวะบางอย่างที่เกิดขึ้นจากความเป็นผู้หญิง ที่บางครั้งคำกล่าวที่ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง หากแต่เราได้กลายมาเป็นผู้หญิงเมื่อภายหลัง” คงจะเป็นจริงที่สุด
ในกรณีนี้ หน้าที่ของภรรยามีอะไรบ้าง หน้าที่ของการเป็นแม่มีอะไรบ้าง การยืนอยู่เคียงข้างบุรุษ โดยเฉพาะคนที่มีบทบาททางการเมือง ดูเหมือนจะสร้างภาวะที่บีบคั้นมากกว่าภรรยาโดยทั่วไปและบางครั้งผู้หญิงไม่สามารถเรียกร้องในเรื่องนี้ได้ ต้องยอมรับว่าเขาและเธอมีหน้าที่ต่างกันเท่านั้นเอง การเรียกร้องของสตรีหลังบ้านคนสําคัญทางการเมืองอาจจะได้รับการตําหนิ โดยเฉพาะจากสามีเธอเอง บทละครที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้สะท้อนให้เห็นความคิดที่ซับซ้อนในเรื่องนี้ได้ว่า ขณะที่สามีมีตําแหน่งราชการใหญ่โต ภรรยาอาจจะเรียกร้องขอเวลาให้ครอบครัว แต่เมื่อสามีคิดจะปล่อยวางอาชีพทางการเมืองลง ภรรยาก็กลับตําหนิ เพราะตําแหน่งใหญ่โตของสามีนั้นส่งผลถึงสถานะของภรรยาด้วยเช่นกัน[50]
ตัวอย่างของผู้หญิงที่เป็น “หลังบ้าน” ผู้นําบางคนที่ก้าวล่วงออกมาเป็น “หน้าบ้าน” นั้น บางครั้งมีทั้งการตําหนิและการสรรเสริญ มีคําอธิบายว่านั่นเป็นเพราะเธอต้องแสวงหาอํานาจผ่านผู้ชายนั่นเอง สังคมจะยกย่องเมื่อสิ่งที่เธอทําสอดคล้องกับบทบาทผู้หญิง แต่จะถูกตําหนิเมื่อใช้อํานาจแสวงหาผลประโยชน์หรือท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่[51]
จากปัญหาในเรื่องสิทธิสตรีนี้ เราน่าจะก้าวข้ามระดับปัจเจกบุคคลและมองทะลุโครงสร้างของสังคมว่าการเรียกร้องและแสวงหาสิทธิสตรีนั้นควรเริ่มต้นจากจุดใด ในเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สําคัญ แต่ก็ไม่ควรละเว้นหรือมองข้ามค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่กดขี่บางอย่าง ในบางครั้งเราเลือกที่จะสรรเสริญบุรุษโดยไม่ให้ความสําคัญกับผู้ที่อยู่เคียงข้าง
บทความนี้ไม่ต้องการที่จะยกย่องหรือให้ความสําคัญกับท่านผู้หญิงฯ หรือท่านปรีดีในทางใดทางหนึ่ง หากแต่ต้องการให้หันมามองชีวประวัติของท่านทั้งสองว่าดำเนินไปอย่างเคียงคู่กัน ลำดับต่อไปจะพยายามนำตัวอย่างความคิดเห็นของทั้งปรีดีและภรรยามาพิจารณาว่าสะท้อนให้เห็นค่านิยม หรือทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงในโครงสร้างสังคมที่มีชายเป็นใหญ่อย่างไร
3. ผู้หญิงกับบ้าน
3 กรกฎาคม2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ปรีดีได้เขียนจดหมายถึงภรรยาเพื่อเป็นการขอโทษที่ไม่ได้บอกกล่าวความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันนั้น
และในเนื้อความได้กล่าวไว้อีกอย่างหนึ่งว่า “การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว” ชี้ให้เห็นถึงความคิดในการจัดแบ่งพื้นที่ว่าควรจะแยกกันระหว่างเรื่องของการงาน (หรือในที่นี้คือการเมือง) และส่วนตัว (ภรรยา-ครอบครัว) แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าปรีดีจะพยายามแยกเรื่องส่วนตัวและการงานออกจากกัน แต่ผลจากการกระทำก็มีผลต่อครอบครัวถูกติดตาม ภรรยาและลูกถูกจำคุก หรือครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเกิดจากการเป็นภรรยาและลูกของปรีดีอย่างปฏิเสธไม่ได้
ความคิดที่แยกเรื่องส่วนตัวและการงานออกจากกันนี้มีพลังในทางสังคมที่ครอบคลุมระบบคิดทั้งชายและหญิงในสังคมอย่างมาก ไม่เฉพาะปรีดีเองที่ไม่ต้องการให้ภรรยาเข้ามาก้าวก่ายในเรื่องการงาน ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ เองก็ยอมรับบทบาทนี้และเห็นดีด้วยเช่นกัน หลายครั้ง เธอไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเห็นว่าไม่ควรก้าวก่าย การแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด เหล่านี้สะท้อนมาจนถึงภรรยาของผู้นำทางการเมืองหรือทหารที่สำคัญในปัจจุบันหลาย ๆ ท่าน จนทำให้มีคำเรียกขานภรรยาของผู้นำเหล่านี้ว่า “หลังบ้าน”[52]
จากการสัมภาษณ์ภรรยาของทหารและผู้นําทางการเมือง เธอเหล่านี้ได้ให้คําตอบในลักษณะที่คล้ายกันเกือบทุกคนเกี่ยวกับการเป็น “หลังบ้านที่ดี” อาทิ คุณอรชร คงสมพงษ์ ภรรยาพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ กล่าวว่า “สําหรับงานของท่านนั้นไม่ได้ช่วยอะไรท่าน เพราะไม่เคยเข้าไปยุ่งหรือไปก้าวก่าย เพียงแต่ช่วยทางด้านสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น[53] คุณวรรณี คราประยูร ภรรยาพลเอกสุจินดา คราประยูร “...ปกติท่านไม่เคยนํา เรื่องการเมืองหรืองานนอกบ้านหรือความวุ่นวายรวมทั้ง ความเหนื่อยใจมาเล่าให้ฟังเลย”[54] คุณภักดิพร สุจริตกุล ภรรยาคุณชวน หลีกภัย กล่าวว่า “ไม่เคยคิดจะไปเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองเลย[55]
หรือคุณวันทนา โรจนนิล ภรรยา พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ได้ขยายความ หมายที่ชัดเจนของ “หลังบ้าน” ในความคิดของเธอ ซึ่งชัดเจนกว่าคนอื่น ๆ ว่า “บทบาทของภรรยาที่ใคร ๆ มักเรียกว่า “หลังบ้าน” นั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวสําหรับหลาย ๆ คน เพราะถือเป็นการชี้เป็นชี้ตายได้ส่วนหนึ่งเหมือนกัน สําหรับตัวเอง หลังบ้าน ก็คือ แม่บ้านค่ะ มีหน้าที่คอยดูแลลูก ดูแลสามี[56]
เพราะเหตุใดจึงมีความคิดในการเปรียบผู้หญิงไว้ในส่วนที่เรียกว่า “บ้าน” หรือสังคมผู้นำไทยใช้คำว่า “หลังบ้าน” เลยด้วยซ้ำ ขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิสตรี ถือว่าการแบ่งแยกระหว่าง “ชีวิตการงาน” และ “ชีวิตส่วนตัว” อยู่บนพื้นที่ของการกดขี่สตรีที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้น[57] ศตวรรษที่ 19-20 กระฎุมพีในระบบทุนนิยมได้สร้างสำนึกใหม่ที่เน้นความสำคัญภายในครอบครัว ความอบอุ่นในบ้าน เพื่อเป็นแหล่งพักพิงใจจากสังคมแข่งขันนอกบ้าน หน้าที่ใหม่ของครอบครัวเริ่มหมดความหมายในเรื่องการผลิต แต่เป็นสุานที่ใหม่สำหรับแสวงหาความสุขส่วนตัว ความรัก การตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล ความสุขเกิดจากการบริโภคร่วมกันของครอบครัว[58] ให้ความสำคัญกับ “พ่อบ้าน” เป็นหลัก
เนื่องจากสังคมทุนนิยมให้คุณค่ากับการผลิต การแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขาย ดังนั้น งานที่ทําอยู่ที่บ้านจึงไม่ถือเป็นงาน เพราะไม่ก่อให้เกิดการผลิตขึ้น สาเหตุที่ต้องแยกพื้นที่ของผู้หญิงไว้ที่บ้านนั้นมีคําอธิบายว่า เกิดจากความต้องการหาที่หลบภัยของชายภายหลังจากการต่อสู้จากโลกภายนอกและการเก็บสตรีไว้ที่บ้านนั้นทําให้ลดคู่ต่อสู้ลงจํานวนหนึ่งด้วย[59]
ภายหลังจากที่ชนชั้นกระฎุมพีสามารถปลดปล่อยตนเองออกจากชนชั้นศักดินาได้แล้วนั้น สามารถที่จะสถาปนาอาณาจักรส่วนตัวขึ้น โดยมีหญิงเป็นผู้ที่ถูกจัดไว้ในพื้นที่เฉพาะ “ที่บ้าน” แม้ว่าสถานที่ที่เป็น “สาธารณะ” ในสังคมที่เคยเป็นของศักดินา กระฎุมพีก็สามารถยึดครองได้ และสร้างสถานที่สาธารณะที่จะแสดงความคิดเห็นของตนอย่างอิสระขึ้น หรือที่ ฮาเบอร์มาส เรียกว่าปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) อาทิเช่น ตลาดสี่แยกหรือจตุรัสต่าง ๆ สวนสาธารณะ ร้านกาแฟ ห้อง Salons โรงละคร ที่มี “สื่อมวลชน” ทําหน้าที่ทั้ง สร้างสาธารณะและป้อนข้อมูลข่าวสารให้เป็นประเด็น สาธารณะ[60] ในส่วนที่เรียกว่า Civil society และในปริมณฑลสาธารณะนี้เขาเชื่อว่า ทุกคนย่อมเท่าเทียมกัน ซึ่งกลายเป็นคําถามที่สําคัญสําหรับขบวนการเรียกร้องสิทธิ สตรีว่าคนทุกเพศด้วยหรือที่จะได้เข้าสู่ปริมณฑลสาธารณะ หรือว่ากลุ่มที่ว่านี้ไม่รวมผู้หญิง
การแบ่งแยกพื้นที่ให้ผู้หญิงมีความสัมพันธ์อยู่กับบ้าน จึงเป็นการแบ่งแยกในลักษณะที่กดขี่สิทธิสตรีของระบบทุนนิยมนั่นเอง สังคมไทยไม่สามารถรอดพ้นจากความคิดเหล่านี้ไปได้ การแบ่งแยกปริมณฑลเพื่อพิจารณา ความคิดของปรีดี พนมยงค์ ผ่านพื้นที่ “หน้าบ้าน” และ “หลังบ้าน” นี้ ก็เพื่อจะสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าในระดับบุคคลคือ นายปรีดี พนมยงค์ จะมีส่วนสําคัญในการเคลื่อนขบวนของการรับรองสิทธิสตรีไทยในทางกฎหมายก็ตาม แต่ความคิดที่เป็นพื้นฐานสําคัญของการกดขี่สตรีในระบบทุนนิยมก็ยังปรากฏในความคิดของเขา ของภรรยาของเขา ของสตรีและบุรุษระดับนำในสังคมไทยอยู่
จากข้างต้นจึงทําให้ต้องหันมาพิเคราะห์ขบวนการในการเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างรัดกุมต่อไปว่า ไม่ควรที่จะแยกเพียงการเรียกร้องแต่ในเรื่องของโครงสร้าง หรือสถาบันทางสังคมเท่านั้น เรื่องของวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ต้องพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของโครงสร้างส่วนล่าง (เศรษฐกิจ) โครงสร้างส่วนบน (การเมือง) และโครงสร้างส่วนลึก (ชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก) เปิดพื้นที่ให้กับเรื่องของ “ชีวิตส่วนตัว” เข้ามาใน “การเมือง” โดยเปลี่ยนแปลงทัศนะใหม่ ให้ถือว่า “ชีวิตส่วนตัว” เป็นรูปธรรมและได้รับผลกระทบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากชีวิตส่วนอื่น ๆ ดังนั้น บทบาทของชายอาจไม่จําเป็นต้องหยุดนิ่งอยู่กับการทํางานนอกบ้านเท่านั้น การดูแลลูก ๆ ก็เป็นพื้นฐานสําคัญในการ พัฒนาความรู้สึกรักและทนุถนอมชีวิตบนความสําคัญของชายและหญิง ส่วนผู้หญิงก็ควรได้รับโอกาสในการเข้าร่วมอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ต่อไปด้วย ในอนาคตอาจพบเห็นภาพพจน์ของผู้หญิงที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่จําเป็นต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่เฉพาะแต่ที่ “บ้าน” ก็เป็นได้ เพราะ “เราทั้งชายและหญิง”
พิมพ์ครั้งแรก: วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 25, ฉบับที่ 1 (ม.ค.-เม.ย. 2542), หน้า 91-104
[1] ผู้เขียนขอขอบคุณ อาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่จุดประเด็นสนใจแก่ผู้เขียนในการศึกษาคำ “หลังบ้าน” ภายหลังการเสนอบทความนี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2542 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[2] คำรณ คุณะดิลก, คือผู้อภิวัฒน์ (กรุงเทพฯ: ชุติมาการพิมพ์, 2530), น. 5.
[3] เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529), น. 19.
[4] เพิ่งอ้าง, คำนำ.
[5] ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร” ใน การโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, มปป.) น. 100.
[6] เพิ่งอ้าง น. 105.
[7] ไพโรจน์ ชัยนาม, รัฐธรรมนูญ บทบาทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมือง (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519), น. 120.
[8] ตัวอย่างงานเขียนเกี่ยวกับสตรีที่อ้างถึงร่างรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 เช่น โครงการศึกษาและจัดพิมพ์เรื่องสตรีไทย ของสภาสตรีแห่งชาติ เมื่อ 2518, น. 96; วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ นันทรา ขำภิบาล เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487, น. 50; สิทธิและหน้าที่ของสตรีตามกฎหมายไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ของ ลำพรรณ น่วมบุญเหลือ, วิทยานิพนธ์อักษณศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519, น. 2.
[9] สภาสตรีแห่งชาติ, สตรีไทย (กรุงเทพฯ : สภาสตรีแห่งชาติ, 2518) น. 95-96.
[10]สันติสุข โสภณศิริ (บ.ก.), ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2529) น. 256-257.
[11] นันทิรา ขำภิบาล, นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530 น. 62 อ้างจาก เลี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจํา” โดย แร่ม พรหมโมบล, 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บก.) (กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2527) น. 136
[12] เมื่อปรีดี พนมยงค์ถูกสอบสวนภายหลังการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมาธิการประกอบด้วย หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พระยานลรายสุวัจน์ และพระยาศรีสังกร ขึ้นสอบสวนว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่” และได้อนุมัติให้เซอร์โรเบิต ฮอลแลนด์ และมองชิเออร์กียอง มาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอบสวน ในสําเนาบันทึกของนายเรอเน กียอง ได้กล่าวถึงความเห็นในเรื่องสิทธิสตรีในยุคนั้นว่า จากกําหนดการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศได้อ้างอิงถึงผู้หญิงไว้ว่า ให้มีความเสมอภาคทางกฎหมายในชีวิตชุมมชนอย่างเต็มที่ ระหว่างชายและหญิง ให้มีการแก้รูปกฎหมายว่าด้วยการแต่งงาน และครอบครัว ให้มีการยอมรับนับถือว่าการเป็นมารดาเป็นกิจหน้าที่ต่อชุมชนอย่างหนึ่ง และได้กล่าวต่อไปว่า แม้ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นก็ยอมรับในเรื่องนี้กันอยู่แล้ว นโยบายนี้ไม่ใช่การริเริ่มโดยพวกคอมมิวนิสต์เท่านั้น มีการถกเถียงเรื่องการแต่งงานโดยมีภรรยาเดียวที่ลอนดอน ส่วนอเมริกาก็มีการตั้งสากลสันนิบาตเพื่อ “แก้รูปเพศการ” อ้างจาก ปรีดี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), น. 318.
[13] เอช. บี. ชรีมส์, นันทา โชติกะพุกกณะ (แปล), อังกฤษ ประวัติศาสตร์การปกครอง, ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2522, น. 96.
[14] สภาสตรีแห่งชาติ, สตรีไทย (กรุงเทพฯ: สภาสตรีแห่งชาติ, 2518) น. 96.
[15] แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นโอกาสที่ดีของสตรีไทย แต่กลับมีความเห็นคัดค้านการให้สิทธิสตรีนี้ปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์ หญิงไทย เมื่อ พ.ศ. 2475 ที่สะท้อนความเห็นของขบวนการสตรี ไทยในยุคนั้นที่ก้าวไกลไปกว่าการให้ความสําคัญเฉพาะผู้หญิงเพียง 2-3 คน แต่ให้พิจารณาถึงผู้หญิงส่วนใหญ่ด้วย กล่าวว่า ประโยชน์อันใดที่จะใฝ่ฝันเพียงเกียรติยศของหญิงคนหนึ่งสองคนที่จะเข้านั่งในรัฐสภา แล้วปล่อยให้ผู้หญิงอีก 7 ล้านคนต้องลําบาก อ้างจาก ศิริพร สะโครบาเน็ค, “การเรียกร้องสิทธิสตรีของหญิงไทย” (2398-2475) ใน สตรีทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือน ส.ค.-ต.ค. 2526, น. 34.
[16] สภาสตรีแห่งชาติ, สตรีไทย, อ้างแล้ว, น. 158-159.
[17] ปรีดี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, อ้างแล้ว, น. 246-247.
[18] สันติสุข โสภณสิริ (บ.ก.), ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง, อ้างแล้ว, น. 275-276.
[19] เพิ่งอ้าง, น. 260-261.
[20] บทสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ใน ปาจารยสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 (พย.-ธค. 2530), น. 70.
[21] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บริษัทบพิธการพิมพ์, 2526) น. 15.
[22] นันทิรา ขำภิบาล, อ้างแล้ว, น. 52.
[23] สันติสุข โสภณสิริ (บ.ก.), ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง, อ้างแล้ว, น. 275-276.
[24] เพิ่งอ้าง, น. 260-261.
[25] ปรีดี พนมยงค์, พระเจ้าช้างเผือก (สมาคมธรรมศาสตร์ ลอสแองเจอลิส สหรัฐอเมริกา: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2533), คำนำ.
[26] เพิ่งอ้าง, น. 16.
[27] เพิ่งอ้าง, น. 38.
[28] เพิ่งอ้าง, น. 148.
[29] หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2540, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540), น. 9-10. ในหนังสือเล่มนี้เขาได้ให้ทรรศนะในเรื่อง ลัทธิลักเพศนิยม (Hormosexuality) ไว้ด้วยว่า การเสพย์เมถุนระหว่างชายกับชายและหญิงกับหญิงซึ่งเป็นเพศเดียวกันนั้น ไม่คํานึงถึงว่ามนุษยชาติมีเพศชายและเพศหญิงซึ่งได้แพร่พันธุ์สืบ ต่อ ๆ มา ผู้ประพฤติลัทธิลักเพศนิยมและเผยแพร่ลักเพศในชาติใด ผู้นั้นทําลายชาติพันธุ์แห่งชาติตนเองอันเป็นอาชญากรรมอย่างมหันต์.
[30] จากการเสวนาเรื่อง “บทเสวนา คิดถึง...อาจารย์ปรีดี” คุณวาณี สายประดิษฐ์ บุตรสาวของท่านได้ตอบคําถามที่ว่า “อาจารย์มีความคิดเกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างไรบ้าง” ว่า เรื่องสิทธิสตรีท่านมีให้เต็มที่ จะเห็นได้จากกฎหมายเลือกตั้งที่ท่านร่างขึ้น เท่าที่สังเกตจะเห็นว่ามีความเคารพในเกียรติของผู้หญิง แต่ไม่ได้เขียนอะไรเป็นการเฉพาะ” อ้างจาก หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2530 (กรุงเทพฯ: เจริญผล), น. 101. ชี้ให้เห็นว่าการค้นหาเอกสารที่แสดงความเห็นต่อผู้หญิงโดยตรงนั้นไม่ค่อยมีปรากฏ.
[31] สัจจา วาที, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เปิดเผยต่อศาล นาย ปรีดี พนมยงค์คือผู้บริสุทธิ์. (กรุงเทพฯ: สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, มปป.), น. 29-31.
[32] นรุตม์ (นามแฝง), หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจํากัด, 2537), น. 29, 31. คำ เซียด หมายความว่า ย่านายเสียง พนมยงค์ (บิดานายปรีดี) เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกับย่าทองพระยาไชยวิชิตฯ (ขำ ณ ป้อมเพชร) ซึ่งเป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข (มติชนรายวัน, 9 พ.ค. 2526, น. 6).
[33] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว, น. 19-20.
[34] “สมาคมสตรีแห่งกรุงสยาม” เป็นองค์กรสตรีที่ปรากฏอย่างจริงจังองค์กรแรก ได้รับอนุญาตเมื่อ 23 ธ.ค. 2475 มีวัตถุประสงค์ที่จะสมานสามัคคีของเพศหญิง ในชั้นต้นมีกรรมการริเริ่ม 9 คน รวมทั้งคุณแร่ม พรหมโมบล สหายของท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย อ้างจาก “หญิงไทยกับความเสมอภาคในยุค 2475” ศูนย์เอกสารกลุ่มเพื่อนหญิง สตรีทัศน์ ปีที่1 ฉบับที่ 3 ส.ค.-ต.ค.2526, น. 37.
[35] บทสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ใน ปาจารยสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 8 (พ.ย.-ธ.ค.2530), น. 69.
[36] เพิ่งอ้าง, น. 37.
[37] เพิ่งอ้าง, น. 41.
[38] เพิ่งอ้าง, น. 73.
[39] เพิ่งอ้าง, น. 95.
[40] เพิ่งอ้าง, น. 110.
[41] เพิ่งอ้าง,น. 120.
[42] เพิ่งอ้าง, น. 112.
[43] ปริญญา ช้างเสวก (เรียบเรียง), เสียงหนึ่งแห่งความทรงจํา (กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์บ้านเพลง, 2541), น. 5.
[44] โกสุม หักทองขวาง, “ชีวิตร่วมทุกข์และสุขของ ‘พูนศุข-ปรีดี’ แบบฉบับของนักต่อสู้” ใน มติชนรายวัน, 9 พ.ค. 2526, น. 6.
[45] นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงในและ ฯลฯ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2538), น. 106.
[46]อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว., “สตรีไทยในสลัม: กรณีของตรอกใต้” ใน ไทยคดีศึกษา, รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิตอาจารย์ พ.อ.หญิง นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้ฟ จำกัด, 2533), น. 77.
[47] นรุตม์ (นามแฝง), อ้างแล้ว, น. 82.
[48] สุพจน์ ด่านตระกูล. มรดก ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ศรีสมบัติการพิมพ์, มปป.) น. 61-62.
[49] เพิ่งอ้าง, น. 62.
[50] ความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏในบทละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ม.ล.ปิ่น มาลากุล (แปล), ภรรยาข้าราชการสำคัญ, (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2516)
[51] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, “อีวิทา เปรอง: อำนาจและบทบาทของ “หลังบ้าน” ในการเมือง” ใน ธรรมศาสตร์วิชาการ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537), น. 115.
[52] นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ “พูนศุข น้องรัก คิดถึงเสมอ ปรีดี : จดหมายประวัติศาสตร์ 60 ปี” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2535), น. 201.
[53] คำนี้มักจะถูกนำมาใช้เรียกภรรยาของนักการเมือง หรือนายทหารระดับสูง ในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เช่น “หลังบ้าน สุจินดา คุณหญิงวรรณี คราประยูร” (มติชนสุดสัปดาห์ 18 ส.ค. 2534, น.12) “คุณหญิงสดศรี ปันยารชุน หลังบ้านที่ติดดิน” (มติชนสุดสัปดาห์ 18 ส.ค. 2534, น. 51), “ล้วงลึก หลังบ้าน ‘บิ๊กสุ’” (สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 15-21 พ.ย. 2533, น.15), “เปิดใจผบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) ของ ผบ.ทอ.คนใหม่ วันทนา โรจนนิล” (มติชนสุดสัปดาห์ 22 ต.ค. 2532, น. 52), “เปิดใจภักติพร สุจริตกุล สุภาพสตรีที่บ้านของชวน หลีกภัย” (มติชนสุดสัปดาห์ 2 ต.ค. 2533, น. 10) หรือ “อีวิทา เปรอง : อำนาจและบทบาทของ ‘หลังบ้าน’ ในทางการเมือง” อ้างแล้วใน ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์.
[54] มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 556 (28 เม.ย. 2534) น. 52.
[55] สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 44 (15-21 เม.ย. 2533) น. 16.
มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 632 (2 ต.ค. 2533) น. 10.
[56] มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 477 (22 ต.ค. 2532), น. 52.
[57] กาญจนา แก้วเทพ, อิตถีศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรส, 2535), น. 65.
[58] เพิ่งอ้าง น.75.
[59] กาญจนา แก้วเทพ, “ผู้หญิง (ใน) สาธารณะ กับภารกิจของสื่อมวลชน” ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (ก.ค.-ธ.ค. 2537) น. 43.
[60] เพิ่งอ้าง น. 43.
บรรณานุกรม
กาญจนา แก้วเทพ. อิตถีศาสตร์. สํานักพิมพ์เจนเดอร์เพรส, 2535.
ปรีดี พนมยงค์. ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
ปรีดี พนมยงค์. “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร” ใน การโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, เจริญวิทย์การพิมพ์, มปป.
ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. บพิธการพิมพ์, 2526
ปรีดี พนมยงค์. พระเจ้าช้างเผือก. เจริญวิทย์การพิมพ์, 2533.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงในและ ฯลฯ. สํานักพิมพ์มติชน, 2538.
สุพจน์ ด่านตระกูล. มรดก ปรีดี พนมยงค์. ศรีสมบัติการพิมพ์, มปป.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ภรรยาข้าราชการสําคัญ. แพร่พิทยา, 2516
ปริญญา ข้างเสวก. เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจํา. สํานักพิมพ์บ้านเพลง, 2541
นรุตม์ (นามแฝง). หลากบทชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2537.
คํารณ คุณะดิลก. คือผู้อภิวัฒน์. ชุติมาการพิมพ์, 2530.
เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529.
ไพโรจน์ ชัยนาม. รัฐธรรมนูญ บทกฎหมาย และเอกสารสําคัญในทางการเมือง. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
สันติสุข โสภณสิริ (บ.ก.). ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง. สํานักพิมพ์อักษรสาส์น, 2529.
เอช บี ชรีมส์, นันทนา โชติกะพุกกนะ (แปล). อังกฤษ ประวัติศาสตร์การปกครอง. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2522
สัจจะ วาที (นามแฝง), ท่านผู้หญิงพูนศุข เปิดเผยต่อศาลนายปรีดี พนมยงค์ คือผู้บริสุทธิ์, สถาบันวิจัยสังคม, มปป.
สภาสตรีแห่งชาติ. สตรีไทย, 2518.
ลําพรรณ น่วมบุญเหลือ. สิทธิและหน้าที่ของสตรีตามกฎหมายไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519
นันทิรา ขำภิบาล. นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติจอมพล ป. พิบูลสงคราม 2481-2487. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
แร่ม พรหมโมบล. “เสี้ยวหนึ่งแห่งชีวิต” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บ.ก.), 50 ปี ธรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525.
ศิริพร สะโครบาเน็ค, “การเรียกร้องสิทธิสตรีของหญิงไทย” (2398-2475) ใน สตรีทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 สค.-ตค. 2526, น. 28-35.
ศูนย์เอกสารกลุ่มเพื่อนหญิง. “หญิงไทย กับความเสมอภาคในยุค 2475" ใน สตรีทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 สค.-ตค. 252,. น. 36-51.
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์. “พูนศุข น้องรัก คิดถึงเสมอ ปรีดี: จดหมายประวัติศาสตร์ 60 ปี” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2535), น. 198-201.
บทสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ใน ปาจารยสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 พย. ธค. 2530. น. 67-77.
อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว.. “สตรีไทยในสลัมกรณีของตรอกใต้” ใน ไทยคดีศึกษา, อัมรินทร์พริ้นติ้งกรัพ, 2533 น. 71-82.
กาญนา แก้วเทพ. “ผู้หญิง (ใน) สาธารณะ กับการสื่อสารมวลชน” ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 กค.-ธค. 2537, น. 41-50.
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. “อีวิทา เปรยง อํานาจของ ‘หลังบ้าน’ ในการเมือง” ใน ธรรมศาสตร์วิชาการ. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537.
หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2530.
หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2540.
“ชีวิตร่วมทุกข์และสุขของพูนศุข-ปรีดี แบบฉบับของนักต่อสู้”. มติชนรายวัน. 9 พ.ค.2526. น.6.
“ล้วงลึก หลังบ้านบิ๊กสุฯ” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 36,44 (15-21 พ.ย. 2533), น. 15-16.
“เปิดหัวใจ ภักดิพร สุจริตกุล “สุภาพสตรี” ที่บ้านของชวน หลีกภัย” มติชนสุดสัปดาห์ 12,632 (2 ต.ค. 2533), น.10,12.
“รำฟังจากปากบาง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ชีวิตยิ่งสูงยิ่งหนาวๆ” มติชนสุดสัปดาห์ 11, 556 (28 เม.ย. 2534), น. 51-53.
“หลังบ้าน สุจินดา” คุณหญิงวรรณี คราประยูร พูดถึงประชาธิปไตย” มติชนสุดสัปดาห์ 12,572 (18 ส.ค. 2534), น.12.
“รสนิยมวิไล คุณหญิงสดศรี ปันยารชุน ธรรมดาอย่างติดดิน” มติชนสุดสัปดาห์ 12,572 (18 ส.ค. 2534), น. 51-52.
“เปิดใจ ผบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) ของ ผบ.ทอ.คนใหม่ วันทนา โรจนนิล” มติชนสุดสัปดาห์ 10,477 (22 ต.ค. 2532), น.52.