ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ความรักในทัศนะใหม่ และ ความเสมอภาคของชาย-หญิง จากจดหมาย 3 ฉบับของปรีดี ถึง พูนศุข

11
มกราคม
2565

Focus

  • ฉบับที่ 1 จดหมายระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
  • ฉบับที่ 2 พินัยกรรมระหว่างการลี้ภัยในจีน
  • ฉบับที่ 3 จดหมายถึงพูนศุข ในโอกาสวันแต่งงานครบ 40 ปี

 

วันหนึ่งช่วงต้นฤดูหนาว ขณะที่เดินชมบ้านของปรีดี พนมยงค์ ในอำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากหนังสือ ภาพถ่าย ดุษฎีนิพนธ์ และของใช้ในชีวิตประจำวันของปรีดี ด้วยความซุกซนของคนชอบ (แอบ) อ่านจดหมาย เลยสังเกตเห็นว่าในตู้ไม้สีเข้มที่ดูเคร่งขรึมมีจดหมายของปรีดี ถึงคู่ชีวิต–พูนศุข พนมยงค์ และมีเอกสารพินัยกรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย ชีวิตทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตรักของทั้งสองท่านซุกซ่อนอยู่

 

 

 

สิ่งที่เห็นอย่างเด่นชัดในจดหมายทุกฉบับ คือ “ความรักในทัศนะใหม่” โดยการให้เกียรติสตรีอย่างเสมอภาคกับบุรุษของปรีดีต่อพูนศุข ตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 [1] ผ่านจดหมายฉบับแรกที่ปรีดีมั่นใจว่าสามารถฝากครอบครัว และธุรกิจโรงพิมพ์ตำรากฎหมายและประวัติศาสตร์[2] ให้อยู่ในมือของพูนศุข หากว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จ ต่อมาในช่วงท้ายของการลี้ภัยในจีน[3] จากจดหมายฉบับที่ 2 ปรีดีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่พูนศุข เมื่อ พ.ศ. 2509 และจดหมายฉบับที่ 3 ในวาระครบรอบการสมรส 40 ปี พ.ศ. 2511 นั้น ความรักในทัศนะของปรีดีต่อพูนศุข สะท้อนถึงความรักต่อมวลชน ราษฎร และรักต่อผู้ยากไร้

 

 

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2511 จากรักระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงรักในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของปรีดีถึงพูนศุข ผ่านจดหมาย 3 ฉบับ แสดงให้เห็นว่า สตรีในบ้านคณะราษฎรไม่ได้อยู่หลังบ้าน ในความหมายของการสนับสนุนบทบาทนำของสามีที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หลายหนจะอยู่ “หน้าบ้าน” ในบทบาทนำคอยรับช่วงต่อในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รับผิดชอบครอบครัวในฐานะผู้นำในช่วงที่สามีประสบภัยการเมืองต้องลี้ภัย ต้องขัง หรือเสียชีวิต และประสานประโยชน์เพื่อให้ภารกิจทางการเมืองลุล่วงไปด้วยดี[4]

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จะไม่มีสตรีใน 100 กว่ารายชื่อของคณะราษฎร[5] แต่สตรีในบ้านและในสมัยของคณะราษฎรต่างได้รับการปลูกฝังอุดมคติของความเสมอภาค และมีสิทธิทางการเมืองเพิ่มขึ้น[6] ในสังคมใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

 

 

ฉบับที่ 1 จดหมายระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

พูนศุข น้องรัก

ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น เวลา ๑๐ นาฬิกาเท่าที่ได้ทราบมา การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เปนห่วงและคิดไว้ว้าถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ โดยมีประกันชีวิตร์และเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน เรื่องโรงพิมพ์ต้องขอให้ช่วยดู ที่สั่งเขาไปนั้นไม่หมายความว่าจะเอาตราไปทำอะไร ให้เอาตราไปรับเงิน C.O.D. เพื่อส่ง C.O.D. เท่านั้นแล้วให้นำเงินมามอบเธอ นับประสาอะไรเงินและ C.O.D. เงินตั้งหมื่นห้าพันฉันยังโอนให้ได้ นอกจากนั้นเงินเดือนก็ให้เขาเอามาให้ทั้งหมดไม่ได้ชักหรือหักไว้ ค่าส่ง C.O.D. วิจิตร์ว่าจะต้องใช้เงินราว ๓๐๐ บาท ฉันไม่ให้มากวนเธอ ให้วิจิตร์เขาเอาจากหลวงประกอบ ไม่พอให้เขาเอาเงินเขาทดรอง หักเหลือเท่าใดให้ส่งเธอเท่านั้น ขอเธออย่าเข้าใจผิด ให้เข้าใจเสียใหม่ต่อไปการโรงพิมพ์ทั้งหมดเธอจะต้องดูและบัญชาการทั้งนั้น ที่ไม่บอกมาแต่ต้นเพราะฉันไม่มีเวลาจริงๆ งานเหลือมือทำแทบไม่ไหว เผอิญขณะนี้ว่างลงหน่อยก็มีเวลาพอเขียนหนังสือมา คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่าเวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่าถ้าฉันบวชสัก ๔ เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทหารที่นี่ว่า เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตร์ของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์ศุขเสมอ คิดถึง หนู [ลลิตา-ลูกสาวคนโต] และปาน [ปาล-ลูกชายคนโต] อยู่เปนนิตย์เหมือนกันไม่ใช่นิ่งเฉยเสีย

เรื่องโรงพิมพ์เธอต้องรับควบคุมต่อไป

คิดถึงเสมอ
ปรีดี

 

 

 

ฉบับที่ 2 พินัยกรรมระหว่างการลี้ภัยในจีน

นครกวางโจว ประเทศจีน

วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๙

ข้าพเจ้า นายปรีดี พนมยงค์ ทำพินัยกรรมไว้ ดังมีข้อความต่อไปนี้ คือ

เมื่อข้าพเจ้าตายเแล้ว ให้บรรดาทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายของข้าพเจ้าเปนของนางพูนศุข พนมยงค์ แต่เพียงผู้เดียว

ข้าพเจ้าเขียนพินัยกรรมฉบับนี้ด้วยมือตนเองและลงลายมือชื่อข้าพเจ้า

ปรีดี พนมยงค์

 

 

ฉบับที่ 3 จดหมายถึงพูนศุข ในโอกาสวันแต่งงานครบ 40 ปี

วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑

พูนศุข น้องรัก

วันนี้เป็นวันต้นเดือนพฤศจิกายนจึงเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อส่งมาถึงน้องได้ในไม่ช้ากว่าวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน อันเป็นวันที่การสมรสของเราบรรจบครบ ๔๐ ปี

ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฎิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตน เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบาก เนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย

พี่ขอถือโอกาสนี้อวยพรให้น้องมีความศุข ปราศจากโรคาพยาธิ พ้นจากภยันตรายทั้งปวง ขอให้กุศลเจตนาที่เราบำเพ็ญเพื่อราษฎรไทยและมวลมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก จงบันดาลให้เราได้อยู่ร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้

ด้วยความรักและคิดถึงอย่างยิ่ง

ปรีดี

 

 

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์:
"อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์" ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงรัฐบุรุษของไทยที่เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2535 โดยสร้างเป็นอนุสรณ์สถานที่บ้านเกิดของท่านเอง มีการถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของท่านไว้บนเรือนไทยอายุมากกว่า 100 ปี หลังคาเป็นทรงไทยโบราณฝาสายบัว ภายในตกแต่งด้วยซุ้มประตูและงานแกะสลักไม้ไทยผสมจีนและแบบฝรั่งที่งดงาม ส่วนสำคัญที่สุด คือ อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ต่างจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นรูปเหมือน แต่สร้างเป็นสัญลักษณ์หลัก 6 ประการตามประกาศคณะราษฎร ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และ การศึกษา โดยสร้างขึ้นจากโลหะสำริดเป็นเสากลม 6 ต้น คานรับหลังคาเรือนไทยกลางสระน้ำวงกลม สื่อสันติภาพลงในความนิ่งของน้ำในสระ ส่วนใต้หลังคาประดับไฟไม่รู้ดับ สื่อถึงอุดมการณ์ที่เป็นอมตะของท่าน

ข้อมูลจาก: เว็บไซต์ https://thai.tourismthailand.org

 

หมายเหตุ:

  • ภาพถ่าย โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง จากอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น

  • พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475,  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49  (27 มิถุนายน 2475): 166-179.

หนังสือ

  • ชานันท์ ยอดหงษ์. (2564). หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ดุษฎี พนมยงค์. (2555). ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ธีรัชย์ พูลท้วม. (2539). ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475. กรุงเทพฯ: บริษัทสหธรรมิก จำกัด.
  • พูนศุข พนมยงค์. (2555). ใจคนึง: ตํานาน 100 ปี ชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์.
  • พูนศุข พนมยงค์. (2551). ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์.
  • นรุตม์. (2551). หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

  • กองบรรณาธิการ. (3 กรกฎาคม 2560). 85 ปี จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก”. สืบค้นจาก https://www.the101.world/letter-from-pridi-to-phoonsuk
  • พูนศุข พนมยงค์. (21 พฤศจจิกายน 2563). ‘โรงพิมพ์นิติสาส์น’ สู่ ‘บ้านพูนศุข’. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/508
  • พูนศุข พนมยงค์. (13 กุมภาพันธ์ 2564). ปรีดี-พูนศุข ตราบนานเท่านาน. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2021/02/604
  • มาลินี คุ้มสุภา. (12 มิถุนายน 2563). สิทธิสตรีในความคิดของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก   https://pridi.or.th/th/content/2020/06/300
 

[1] แนวคิดคณะราษฎรในช่วงต้นของการปฏิวัติ 2475 ใน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475,  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49  (27มิถุนายน 2475): 166-179.

[2] พูนศุข พนมยงค์. (21 พฤศจิกายน 2563). ‘โรงพิมพ์นิติสาส์น’ สู่ ‘บ้านพูนศุข’. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/508 

[3] ดุษฎี พนมยงค์. (2555). ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน. กรุงเทพฯ: มติชน. น. 90-91.

[4] พูนศุข พนมยงค์. (2551). ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์. น. 203-257.

[5] ธีรัชย์ พูลท้วม. (2539). ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475. กรุงเทพฯ: บริษัทสหธรรมิก จำกัด.

[6] มาลินี คุ้มสุภา. (12 มิถุนายน 2563). สิทธิสตรีในความคิดของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก   https://pridi.or.th/th/content/2020/06/300