ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย และสิทธิความหลากหลายทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย

3
มกราคม
2566

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ ถนนสีลม กรุงเทพมหานครได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองให้แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างยิ่งใหญ่พร้อมๆ กับประเทศอื่นทั่วโลกชื่อว่า “ขบวนพาเหรดนฤมิต” (Pride) สอดรับกับกระแสการต่อสู้เรียกร้องสิทธิการสมรสและการสร้างครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศของไทยที่ในปีนี้มีการผ่านร่างกฎหมายเพื่อความเสมอภาคทางเพศจำนวนสองฉบับได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่เสนอให้ตราพระราชบัญญัติแยกออกเป็นพิเศษ และร่างกฎหมายเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของพรรคก้าวไกลที่ต้องการแก้ไขกฎหมายสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศให้มีความเท่าเทียมกับการสมรสของหญิงชายทุกประการ

 

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์

 

 

ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกและคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หากกฎหมายทั้งสองฉบับผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่สองรองจากไต้หวันที่มีกฎหมายให้เพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้อง[1]

สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย และสิทธิความหลากหลายทางเพศในรัฐธรรมนูญไทยมีการเสนอไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของคณะราษฎรโดยมีพัฒนาการทางหลักการ แนวคิด และนโยบายมาจนถึงปัจจุบัน ในบทความชิ้นนี้จะหยิบยกประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ร่วมสมัย และจากปฐมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาไว้ดังนี้

 

สิทธิและความเสมอภาคของหญิง-ชายในสมัยคณะราษฎร

สิทธิความเสมอภาคของหญิง-ชายในทางการเมือง ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 สมัยรัฐบาลนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อนแล้วจึงดำเนินการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนับตั้งแต่ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 ในบางพื้นที่ที่จัดการเลือกตั้งล่าช้านั้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปราบปรามกบฏบวรเดชจึงต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เช่นในจังหวัดนครราชสีมา

สิทธิของสตรีในทางการเมือง จึงเริ่มมีขึ้นใน พ.ศ. 2476 โดยสตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลและลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนตำบลกับผู้แทนราษฎรได้ โดยรัฐบาลสมัยคณะราษฎรกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 ฉบับที่ 2 ดังนี้

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  2. มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
  3. ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
  4. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในขณะมีการเลือกตั้ง
  5. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะที่มีการเลือกตั้ง
  6. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนตำบลที่มีชื่ออยู่ในสำมะโนครัวตำบลใดให้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลของตำบลนั้น จะไปออกเสียงในตำบลอื่นไม่ได้

ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเกิดในตำบลนั้นแล้วจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
  3. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ในขณะมีการเลือกตั้ง
  4. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะมีการเลือกตั้ง
  5. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิออกเสียง
  6. มีอายุ 23 ปีบริบูรณ์
  7. ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
  8. มีความรู้ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
  9. ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 10

รัฐบาลยังคำนึงถึงความเสมอภาคทางการศึกษาว่าในยุคนั้นไม่มีโรงเรียนมากนักและมีผู้จบการศึกษาระดับมัธยมค่อนข้างน้อย จึงมิได้กำหนดว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลจะต้องมีความรู้ระดับใดในพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476

เมื่อเลือกตั้งผู้แทนตำบลแล้วจึงดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นขั้นตอนถัดไปโดยให้ผู้แทนตำบลในจังหวัดนั้นเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดวิธีการต่างๆ ในการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และผู้แทนราษฎรไว้คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะข้อสำคัญคือให้สิทธิเลือกตั้งอย่างเสมอภาคแก่หญิง-ชาย

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันพุธ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

จากการเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิทางการเมืองได้ของรัฐบาลสมัยคณะราษฎรจึงทำให้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476 มีสตรีคนแรกได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลทับยาว จังหวัดพระนคร คือ ผ่องศรี เวภาระ[2] ธิดาขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)[3] กับ คุณหญิงทองคำและสมรสกับพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) จึงมีนามในช่วงเลือกตั้งว่า นางสุทธิสารวินิจฉัย

ในเขตตำบลทับยาว จังหวัดพระนครนั้นมีผู้ลงสมัครผู้แทนตำบลจำนวน 3 ราย เป็นชาย 2 ราย ได้แก่ นายจันทร์ และนายกรุด เป็นหญิง 1 ราย คือ นางสุทธิสารวินิจฉัย ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลด้วยคะแนนสูงที่สุดคือ 275 คะแนน และได้แสดงความจำนงว่าจะเลือก นายเฉวียง เศวตะทัต เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร[4]

 

สิทธิสตรีในความคิดของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร

 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

 

ขณะที่การให้สิทธิสตรีทางการเมืองโดยหลักการในสยามปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามได้บัญญัติไว้ในมาตรา 14 ว่า

 

“ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้...”

 

ตัวบทคำว่า “ไม่ว่าเพศใด” มีความหมายว่าให้ทั้งเพศชายและเพศหญิงมีสิทธิเสมอภาคกันตามรัฐธรรมนูญถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้สตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งในของสยามและในบริบทโลกช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังไม่ค่อยปรากฏว่ามีการให้สิทธิสตรีในการเลือกตั้งมากนักในตะวันตกซึ่งการตื่นตัวเรื่องการยอมรับสิทธิสตรีที่โดดเด่นคือในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงทัศนะความเสมอภาคหญิงชายปรากฏไว้ใน ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่ร่างเสนอต่อรัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร หมวดที่ 2 ว่าด้วยการทํางาน มาตรา 8 ข้อ 4. ระบุว่า

 

“งานที่เกี่ยวกับการรักษาสถานที่ การเสมียน การเป็นครู การอนุบาลเด็ก การจําหน่ายของอุปโภคบริโภค ให้พยายามผ่อนผันใช้เพศหญิง เว้นแต่จําเป็นจึงใช้เพศชาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของเพศหญิงมีคุณวุฒิและความสามารถเป็นพิเศษ และในมาตรา 10 ได้ยกเว้นไม่ต้องทํางานแก่หญิงมีครรภ์ด้วย”

 

คณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษาในสมัยรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
คณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษาในสมัยรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

 

และในเรื่องสิทธิสตรีด้านแรงงานทางกฎหมายก็เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาลสมัยคณะราษฎรเช่นเดียวกันจากกฎหมายสําคัญในเรื่องแรงงานสองฉบับคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยสํานักงานจัดหางาน พ.ศ. 2475 และ พระราชบัญญัติสํานักงานท้องถิ่น พ.ศ. 2475 ที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อให้บริการจัดตั้งสํานักงานสําหรับราษฎรที่ต้องการหางานทำซึ่งเมื่อนายปรีดีได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2479 ก็ได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกรขึ้นอีกฉบับเพื่อทราบภาวะความเป็นอยู่ของกรรมกรและยอมรับความสามารถของหญิงในการทํางานอย่างเสมอภาคกับชาย

 

นายปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย
คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย

 

ในช่วงสงครามนายปรีดียังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทํางานเพื่อชาติ เช่น การให้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ช่วยงานเสรีไทยเรื่องโทรเลข หรือมอบให้คุณหญิงแร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทยเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นงานการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง ถึงแม้คุณหญิงแร่มจะบังเอิญมีเหตุพ้นวิสัยบางประการเกิดขึ้นและไม่ได้เดินทางไปยังต่างประเทศ แต่ในเวลาต่อมาคุณหญิงแร่มก็ได้เข้าปฏิบัติงานประจำค่ายอังกฤษเสี่ยงกับภัยมืดอย่างจริงจัง

ณ เวลานั้น หากเมื่อย้อนมองร่องรอยความคิดเรื่องสิทธิสตรีของนายปรีดีก่อนการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 จะพบว่าเริ่มแรกคือสิทธิเรื่องการศึกษาระหว่างที่นายปรีดีเปิดสอนกวดวิชาขึ้นยังโรงเรียนกฎหมายได้ให้นักศึกษาหญิงเข้ามาเรียนกวดวิชาอยู่ด้วย[5]

 

สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย และสิทธิความหลากหลายทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย

ความเสมอภาคของหญิง-ชาย หลากหลายมุมถูกผลักดันไว้ในรัฐธรรมนูญไทยภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ในสมัยรัฐบาลของสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกกลุ่มและมีบทบัญญัติว่าด้วยความเสมอภาคของหญิง-ชายในทุกมิติโดยบทบัญญัติในมาตราสำคัญ หมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้ดังนี้

 

“มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การจำกัดสิทธิและเสรีภาพอันเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

มาตรา 29 บุคคลย่อมมีสิทธิทางการเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้ง สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิออกเสียงแสดงประชามติ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

 

และในบทเฉพาะกาลยังระบุไว้ในมาตรา 236 อีกว่า

 

“ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 28 วรรคสองมาใช้บังคับ”

 

จากบทบัญญัติและบทเฉพาะกาลข้างต้นได้นำไปสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะบุคคลและลักษณะครอบครัวซึ่งเดิมมีการจำกัดสิทธิของหญิงที่มีสามีอยู่ และยังนำไปสู่การแก้ไขระเบียบของกระทรวงการยุติธรรมว่าด้วยการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาและระเบียบของกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทยต้นสังกัดเพื่อให้ผู้หญิงสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นอัยการได้และส่งผลต่อการรับราชการของสตรีในตำแหน่งอื่นๆ อีกด้วย ราว 40 ปีนับจากบทบัญญัตินี้คือใน พ.ศ. 2563 ไทยจึงมีประธานศาลฎีกาเป็นสตรีคนแรกถือเป็นสิทธิสตรีในทางตุลาการขั้นสูง และในแวดวงข้าราชการสายทหารหรือตำรวจก็ปรากฏว่ามีสตรีเข้ารับตำแหน่งต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ส่วนสิทธิมนุษยชนทางด้านแรงงานนั้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีกฎหมายหลักประกันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2517 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองชาวนาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ

และสิทธิสตรีในครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 เช่นเดียวกันด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะบุคคลและลักษณะครอบครัวเพื่อให้สอดรับกับบทบัญญัติว่าด้วยความเสมอภาคของหญิง-ชายตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2550 สิทธิของสตรีที่เป็นภรรยาจึงมีอำนาจใกล้เคียงสามีมากยิ่งขึ้น

ในมิติการก่อตั้งองค์กรของสตรีสมัยใหม่ได้เริ่มขึ้นช่วงทศวรรษ 2530 สมัยรัฐบาลของชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2532 และหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็สะท้อนให้เห็นในแง่หนึ่งว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่รับแนวคิดจากอนุสัญญาว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและเมื่อมีการปฏิรูประบบราชการใน พ.ศ. 2545 ยังได้มีการก่อตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ขึ้นโดยภายใต้กระทรวงนี้ได้โอนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวให้มาอยู่ในกำกับอีกด้วย[6]

การตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในขั้นแรกย่อมมาจากการรู้ว่ามีสิทธิ ซึ่งเมื่ออ่านเปรียบเทียบหลักความเสมอภาคหญิง-ชาย และสิทธิมนุษยชนในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 2 ความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ พ.ศ. 2540, ฉบับ พ.ศ. 2550 และ ฉบับ พ.ศ. 2560 พบว่ามีพัฒนาการของสิทธิสตรีที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังต่อไปนี้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

 

“มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรค 3”

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

 

“มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

“มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

    การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม     

บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม”

 

ส่วนสิทธิของความหลากหลายทางเพศในไทยเพิ่งจะมีการรับรองทางกฎหมายด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยมีหลักการมาจากการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสำคัญ

ในบริบททางประวัติศาสตร์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการเคลื่อนไหวผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและกำหนดมาตรการคุ้มครองมาตั้งแต่สองทศวรรษที่ผ่านมา กระทั่ง พ.ศ. 2548 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้ยกร่างและจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...” ขึ้น และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการใน พ.ศ. 2550 จากนั้นได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขและสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็น และ พ.ศ. 2553 มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...”

ต่อมาใน พ.ศ. 2557 ได้มีการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...” ขึ้นอีกครั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

นอกจากหลักการและแนวคิดเบื้องต้นแล้ว ความเป็นสมัยใหม่ของพระราชบัญญัตินี้คือ การร่างขึ้นภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลสอดรับกับกฎบัตรระหว่างประเทศหลายฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCR), อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และหลักการยอกยาร์กาตา (The Yogyakarta Principles) โดยมีวัตถุประสงค์หลักสองประการคือ หนึ่ง สร้างและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และสอง ยุติการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความหลากหลายทางเพศ ในพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดความหมายของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไว้ในมาตรา 3 ดังนี้

 

“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความเป็นธรรมเพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด”

 

จากหลักการและความหมายของสิทธิความหลากหลายทางเพศตามกฎหมายไทยข้างต้นในทางนิติศาสตร์มองว่าเป็นไปในทางหลักการมนุษยชนมากกว่าจะเข้าใกล้การรับรองบุคคลหลากหลายทางเพศให้มีสิทธิการก่อตั้งครอบครัวได้ดังเช่นชายและหญิง[7] ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากตัวอย่างคำพิพากษาบางฉบับอันเนื่องมาจากกฎข้อบังคับและจารีตประเพณีบางประการอีกด้วย[8]

ท้ายที่สุดนี้หากต้องการทำความเข้าใจหรือสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย และสิทธิของความหลากหลายทางเพศในรัฐธรรมนูญไทยให้ลึกซึ้งในหลายมุมมองอยากขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” ในวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี

 

PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย”

PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
“สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย”

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566
เวลา 14.00 - 17.00 น.
ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี

ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม : https://pridi.or.th/th/register/pridi-talks-19

กดสนใจหรือเข้าร่วมเพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อกิจกรรมเริ่มต้นขึ้นได้ที่นี่ : https://fb.me/e/2xIIIcjZq

รายละเอียดกิจกรรม : https://pridi.or.th/th/project/2022/12/1375

 

หมายเหตุ :

  • ขอขอบคุณ คุณกันต์ แสงทอง ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายเพื่อจัดทำแบนเนอร์บทความ

ที่มาของภาพประกอบบทความ :

  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์
  • ราชกิจจานุเบกษา
  • คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2475, เล่ม 49.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ธันวาคม 2475, เล่ม 49.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2489, เล่ม 63.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2492, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 มีนาคม 2492, เล่ม 66.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2517, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ตุลาคม 2517, เล่ม 91.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2540, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 11 ตุลาคม 2540, เล่ม 114.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2550, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 สิงหาคม 2550, เล่ม 124.
  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2560, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน 2560, เล่ม 134.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 มีนาคม 2558, เล่ม 132.

หนังสือพิมพ์ :

  • ประชาชาติ, 25 ตุลาคม 2476

หนังสือและวารสาร :

  • ไพโรจน์ กัมพูสิริ, สิทธิและกฎหมายก่อตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, 2565)
  • มาลี พฤกษ์พงศาวลี, ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475-2560), (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, 2565)
  • สรณ บญใบชัยพฤกษ์, เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่องสิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศ, (กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, มปป)
  • สิริ เปรมจิตต์, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย ฉบับแรก พ.ศ. 2475 ถึงฉบับปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, มปป.) 
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562)
  • อารยา สุขสม, “รัฐธรรมนญไทยกับความหลากหลายทางเพศ,” วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, หน้า 87-120.

วิทยานิพนธ์ :   

  • ฉัตรชัย เอมราช, “หลักความเสมอภาคกับการคุ้มครองสิทธิการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลเพศทางเลือกในบริบทกฎหมายไทย,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 


[1] ไพโรจน์ กัมพูสิริ, สิทธิและกฎหมายก่อตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, 2565)

[2] เป็นมารดาของมารุต บุนนาค อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

[3] ขุนหลวงพระยาไกรสี หรือ ขุนหลวงพระยาไกรสีห์ เป็นบรรดาศักดิ์ของข้าราชการผู้อยู่ในตำแหน่ง “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” คือขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) และขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค)

[4] ประชาชาติ, 25 ตุลาคม 2476, หน้า 27.

[5] มาลินี คุ้มสุภา. (12 มิถุนายน 2563). สิทธิสตรีในความคิดของปรีดี พนมยงค์

[6] มาลี พฤกษ์พงศาวลี, ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475-2560), (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, 2565), หน้า 72-94.

[7] ไพโรจน์ กัมพูสิริ, สิทธิและกฎหมายก่อตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, 2565), หน้า 31-33.

[8] สรณ บญใบชัยพฤกษ์, เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่องสิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศ, (กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, มปป)