ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มายาคติว่าด้วยรัฐธรรมนูญมาจากการพระราชทาน

21
กรกฎาคม
2564

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 3 วัน คณะราษฎรก็นำ “พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 'หลวงประดิษฐ์มนูธรรม' หรือ 'นายปรีดี พนมยงค์' และคณะกรรมการคณะราษฎรบางส่วนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ นับเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามประเทศ"

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยนี้ โดยเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไปในท้าย “พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม” ถัดจากนั้นความหมายต่อรัฐธรรมนูญก็ปรากฏความพร่าเลือน

บทความนี้เป็นการสำรวจว่าแท้จริงรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่พระราชทาน หรือ เป็นสิ่งที่ราษฎรถวายขึ้นไปให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย สำหรับประวัติศาสตร์การอธิบายความหมายว่ารัฐธรรมนูญถูกพระราชทานลงมาให้ราษฎร ก่อตัวขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งการยึดอำนาจที่ปิดฉากบทบาทคณะราษฎรครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างคำอธิบายใหม่ตามมาจนถึงทศวรรษ 2510

แนวทางการอธิบายใหม่นี้ ดำเนินไปพร้อมกับการกลับไปเชิดชูพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” ทั้งในแง่ที่ว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนการปฏิวัติ 2475 แล้ว และการสละราชสมบัติเกิดขึ้นเพื่อทัดทานลักษณะเผด็จการของคณะราษฎร ซึ่งในบทความเรื่อง พลวัตของพระราชหัตถเลขา สละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 แสดงให้เห็นแล้วว่าความเข้าใจนี้เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวอย่างไร

 

ความหมายการพระราชทานเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่และอย่างไร

จุดอ้างอิงสำคัญในคำอธิบายของเหล่านักเขียนและนักวิชาการฝ่ายที่โจมตีคณะราษฎร (2490-2510) เลือกใช้คือ การกลับไปนำพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติในปี 2477 มาอ้างอิง เพื่อสร้างคำอธิบายใหม่ แนวคำอธิบายใหม่ คือ รัฐบาลคณะราษฎรไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามพระราชประสงค์ ทั้งยังไม่ยอมให้ราษฎรออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายที่สำคัญ จึงเป็นที่มาของวรรคทองของรัชกาลที่ 7 ที่ว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

การอ้างอิงพระราชหัตถเลขาเพื่อส่องสะท้อนภาพการพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นลักษณะของการจัดวางข้อความดังกล่าวที่เกิดขึ้นในปี 2477 เข้ากับภาพพระราชพิธีพระราชธรรมนูญฉบับที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งในความเป็นจริงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองของประเทศ สอดรับกับกระบวนการยกย่องให้รัชกาลที่ 7 เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญและเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย อันปรากฏอย่างต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ

แนวทางเช่นนี้แพร่หลายในกลุ่มนักเขียนสารคดีการเมือง เช่น งานเขียนเรื่อง "แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า" (2505) ผู้เขียนคือ 'วิชัย ประสังสิต' ได้เสนอให้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวไว้ให้ประชาชนบูชาสักการะในฐานะผู้วางรากฐานประชาธิปไตย จนประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองมา

รวมไปถึงงานเรื่อง “พระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ” (2011) เขียนโดย 'กล้วยไม้ ณ อยุธยา' ที่มีการกลับอ้างอิงข้อความสละราชสมบัติเพื่อนำไปเชื่อมต่อกับการอธิบายกษัตริย์นักประชาธิปไตย โดยแยกบริบทของพระราชหัตเลขาในการต่อรองพระราชอำนาจออกไป

จากการศึกษาของ 'ประจักษ์ ก้องกีรติ' พบว่า แนวทางการอธิบายเช่นนี้ยังไปปรากฏในสิ่งพิมพ์ของขบวนการนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2510 นั่นจึงเป็นที่มาของภาพมายาคติที่มองคณะราษฎรในเชิงลบในกลุ่มขบวนการนักศึกษา ความเข้าใจผิดบางกรณีไปไกลถึงขั้นว่า “คณะราษฎรเป็นบรรพบุรุษของเผด็จการทหาร”

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะต้องยอมรับว่าการรับรู้เช่นนี้เป็นผลพวงมาจากการทำลายมรดกคณะราษฎรเป็นเวลายาวนานข้ามทศวรรษ จึงไม่แปลกว่าทำไมยุคที่ข้อมูลข่าวสารรวมศูนย์จึงมีศักยภาพในการสร้างการรับรู้ที่ผิดพลาดได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น ผู้นำนักศึกษาบางคนถึงไม่รู้ถึงความสำคัญของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือในกรณีการประกวดเขียนเรียงความชิงรางวัลภูมิพลในปี 2515 ในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งงานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ก็เป็นการเดินตามคำอธิบายของนักเขียนสารคดีการเมืองในทศวรรษ 2490-2510

กรณีนี้ยังรวมไปถึง นิตยสารลอมฟาง สิ่งพิมพ์ของนักศึกษาฝ่ายซ้าย ก็ได้ปรากฏแนวทางการอธิบายเช่นนี้ โดยมีโครงเรื่องอยู่ที่ว่า รัชกาลที่ 7 ได้ทรงวางรากฐานประชาธิปไตยและพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนทั้งยังคืนพระราชอำนาจแก่ประชาชนด้วยการสละราชสมบัติ

 

เปลี่ยนแปลงมากไปกว่าตัวบท คือ "พื้นที่สัญลักษณ์"

ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของความหมาย อาจจะนับว่าเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นในทุกสัญลักษณ์ทางการเมือง ดังที่ 'มาลินี คุ้มสุภา' อธิบายไว้ว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เผชิญกับชะตากรรมนี้เช่นกัน โดยพบว่ามีการแปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมเช่นกัน จากเริ่มต้นที่คณะราษฎรต้องการสร้างเพื่อสร้างการรับรู้ถึงระบอบประชาธิปไตยอันเกิดจากความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่เมื่อคณะราษฎรหมดบทบาทไปแล้ว ก็พบว่าได้มีการพยายามใช้พื้นที่ไปในกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยด้วย ตัวอย่างเช่น พระราชพิธีการเดินสวนสนามของกองทัพ หรือ การนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 มาอ่านในพื้นที่อนุสาวรีย์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง 

เนื่องจากความต้องการพื้นที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมีมากขึ้น จึงทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกใช้ทั้งในการชุมนุมทางการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535 การใช้พื้นที่ทางการเมืองเชิงสัมพัทธ์เช่นนี้ มีส่วนก่อรูปความหมายได้อย่างสำคัญ ในประเด็นนี้มาลินีเห็นว่า ความสำคัญของชื่อ งานเขียน และภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือได้ว่ามีส่วนก่อรูปและเปลี่ยนแปรความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้เชื่อมโยงกับกระบวนการประชาธิปไตยไทย แทนที่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

เช่นเดียวกับพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอด 89 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 5 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

ครั้งที่ 3 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495

ครั้งที่ 4 พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2511 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และ 

ครั้งที่ 5 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อันเป็นพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

แต่ถึงแม้จะมีถึง 5 ครั้ง ที่มีภาพพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญฉบับนั้น จะมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่ภาพจำของสาธารณชนยังคงจดจำการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งแรก และถูกให้ภาพลักษณ์เช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพ: พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 10 ธันวาคม 2475
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

อันเป็นภาพเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ

ในทางหนึ่ง การพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็คงมีฐานะเช่นเดียวกันกับมายาคติต่อการเปลี่ยนแปลง 2475 อื่นๆ นั่นคือแม้ว่าจะมีความหมายเลื่อนไหลไปตามกาลเวลา แต่ย่อมมีมรดกของข้อเท็จจริงบางอย่างหลงเหลือให้คนรุ่นหลังสืบค้นหาความรู้อยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"

 

'นิธิ เอียวศรีวงศ์' อธิบายการออกแบบรัฐธรรมนูญบนยอดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยชี้ว่า ปกติหากสิ่งที่เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นสิ่งที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปนั้น ถึงจะมีการใช้พานแว่นฟ้ารองรับเสมอ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้าจึงหมายถึง รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เกิดจากคณะราษฎรเป็นผู้ถวายให้แก่พระมหากษัตริย์ มิใช่สิ่งที่ได้รับพระราชทานมาจากเบื้องบน

 

เอกสารอ้างอิง:

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2538. ชาติไทยเมืองไทยแบบเรียนและอนุสาวรีย์ว่าด้วยวัฒนธรรมรัฐและรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพฯ: มติชน
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วย ความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน
  • มาลินี คุ้มสุภา. 2541. นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ:

  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ