ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

13
กรกฎาคม
2563

มักมีคนถามผมอยู่เนือง ๆ ว่าใครเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำกิจกรรมทางการเมืองตลอด 9 ปีที่ผ่านมา นับแต่ พ.ศ. 2553  ผมได้รู้จักกับบุคคลหลายท่าน สนทนากับคนที่น่าสนใจหลายคน และอ่านเรื่องราวและแนวคิดของนักคิดอีกมาก  หากจุดเริ่มต้นทั้งหมดนี้ที่สร้างแรงดลใจให้ผม จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

ผมได้ยินชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” มาตั้งแต่เรียนประถมศึกษา แม้ไม่ตั้งใจฟังสักเท่าไหร่ แต่ก็ได้ยินมาในทำนองที่ว่าอาจารย์ปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง  ต่อมาเมื่อผมเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ผมสนใจศึกษาพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน  โดยมักจะรอซื้อหนังสือจากร้านซีเอ็ด สาขาโลตัว ศรีนครินทร์ (สมัยนั้นยังสั่งจองทางออนไลน์ไม่เป็น)  ที่นั่น ผมได้อ่านหนังสือ ส. ศิวรักษ์ ที่เขียนด้วยน้ำเสียงลีลาที่น่าสนใจ  นอกจากความตรงไปตรงมาแล้ว ยังทำให้เห็นทัศนะที่กว้างขวางของศาสนาว่าเกี่ยวพันกับชีวิต การเมือง และวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง  นี่เองทำให้ผมเริ่มขยับจากการอ่านงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของ ส. ศิวรักษ์ มาสู่ด้านการเมือง สังคม และประวัติศาสตร์  โดยท่านเขียนของเขา มักพูดถึงอาจารย์ปรีดีอยู่เสมอ ทั้งแซะ ทั้งโจมตีพวกชนชั้นปกครองที่เนรคุณบุรุษผู้นี้ จนทำให้ผมสนใจที่จะรู้จักอาจารย์ปรีดี

เมื่อผมเกิดฉันทะอยากอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มากขึ้นแล้ว ก็พอดีกับที่มีวิชาชั่วโมงรักการอ่านของโรงเรียน ทำให้ผมจำต้องหาหนังสือมาอ่านในคาบนั้น ผมจึงไปสำรวจหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียน พบว่ามีหนังสือในหมวดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายเล่ม โดยเฉพาะงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ผู้ล่วงลับ ที่ไขข้อสงสัยใคร่รู้ของผมและคนไทยจำนวนไม่น้อย เกี่ยวกับปมกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 

งานของคุณสุพจน์เปิดโลกให้ผมเป็นอย่างมาก  คุณสุพจน์เขียนถึงกรณีสวรรคตได้อย่างน่าสนใจ เช่น การชำแหละหนังสือที่เขียนถึงกรณีสวรรคตเล่มต่าง ๆ ให้เห็นว่าบิดเบือนความจริงไปอย่างไรบ้าง  งานเขียนของคุณสุพจน์ยืนอยู่ข้างอาจารย์ปรีดีอย่างชัดเจน และด้วยการเขียนจากการอ้างอิงเอกสารจำนวนมาก โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก ทำให้นักเรียน ม.1 ติดตามอ่านจนเข้าใจได้ แม้จะไม่หมดก็ตามที

งานเขียนของ ส. ศิวรักษ์ และคุณสุพจน์ ทำให้ผมสนใจใครรู้เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี จึงได้ไปตามอ่านทั้ง เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล  ทั้งสองเล่มชี้ให้เห็นเลยว่าอาจารย์ปรีดีมีบทบาทสำคัญในการกู้ชาติช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไร  ถูกศัตรูทางการเมืองใส่ร้ายป้ายสีอย่างไรบ้าง  โดยที่ผู้เขียนทั้งสองก็นับได้ว่าเป็นผู้มีเกียรติคุณน่าเชื่อถือ  คนแรกวิพากษ์ตนเองว่าถูกสังคมศักดินาอำมาตย์หลอกหลวงอย่างไรจนเคยเข้าใจอาจารย์ปรีดีผิดไป  คนหลังก็โต้งานที่บิดเบือนโดยใช้เอกสารอ้างอิงมาให้ผู้อ่านพินิจพิจารณาโดยสติปัญญาของตนเอง 

นี่เองทำให้ผมรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ ความเสียสละ และความน่าสงสารของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์  ทว่าความสนุกสนาน ความสงสารอาดูรที่มีต่อชายผู้นี้มิได้จบเพียงแค่การอ่าน  แต่สถานการณ์ได้นำพาให้ผมกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมปกป้องอาจารย์ปรีดีด้วย กล่าวคือ เมื่อผมอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ครูผู้สอนประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวถึงการปฏิวัติ 2475 โจมตีอาจารย์ปรีดีว่าเป็นผู้มัวหมองกรณีสวรรคต เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกล้มเจ้า  ผมจึงไม่พอใจที่ครูสอนแบบนั้น ที่จริงผมไม่มีปัญหาเลยถ้าครูโจมตีบนพื้นฐานจากเอกสารหลักฐาน  เมื่อเลิกคาบเรียน ผมไปหาครูว่า ผมมีเอกสารยืนยันว่าผลการสอบสวนของคณะกรรมการในสมัยนั้นยืนยันแล้วว่าอาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ โดยอ้างจากเอกสารในหนังสือคุณสุพจน์  ครูกลับตอบผมว่า ให้ผมไปหาต้นฉบับมายืนยัน ครูจึงจะเชื่อ ผมก็งงว่า แล้วเอกสารที่คัดมานี้ไม่น่าเชื่อถืออย่างไร ทำให้ครูไม่ตอบโต้กับสำเนาเอกสารนี้

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมจับใจข้อความของลอร์ดเคนส์มาก  เขากล่าวว่า “When the facts change, I change my mind. What do you do, Sir?” (เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยน ฉันเปลี่ยน แล้วคุณล่ะทำอะไร)

การที่ครูไม่ยอมรับคำโต้แย้งของผม และปลูกฝังทัศนคติด้านลบต่ออาจารย์ปรีดี ทำให้นักเรียนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อ่านหรือศึกษามาก่อน คล้อยตามได้ง่าย  เวลานั้นเพื่อนผู้หญิงร่วมชั้นของผมพูดว่า “ปรีดีนี่มันเหี้ยจริง ๆ” ขึ้นมา  ความข้อนี้กระทบใจผมมาก  โดยเธอไม่ได้อ่านอะไร นอกจากฟังครูพูดไม่กี่ชั่วโมง  เมื่อผมพยายามอธิบาย เธอก็ไม่ฟัง ดังนั้น ผมจึงคิดว่าต้องพยายามทำอะไรสักอย่างตอบโต้ครู และชี้แจงให้เพื่อน ๆ เลิกมองอาจารย์ปรีดีในแง่ลบ

จุดนี้เองทำให้เกิดการทำ จุลสารปรีดี ขึ้นในห้องเรียน เป็นหนังสือทำมือที่ผมใช้กระดาษ A4 เย็บรวมกันสามสี่แผ่น วาดปกและเขียนข้อความด้วยมือทั้งหมด เพื่อเป็นเวทีสำหรับตอบโต้สิ่งที่ครูพูดในแต่ละครั้ง และให้เพื่อน ๆ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับโรงเรียน  จุลสารปรีดี ของผม ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แม้ครูสอนประวัติศาสตร์เองต่อมาก็เมตตาผม ยอมรับเอาไปอ่าน ภายหลังยังสนับสนุนให้นักเรียนต่างห้องได้อ่านด้วย  นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์ครูที่นักเรียนเกรงกลัวกันด้วย เมื่อผมไปสัมภาษณ์มาลง ทำให้คนในโรงเรียนเห็นครูท่านนี้ในมุมมองที่ต่างออกไป  ทั้งยังมีส่วนที่กล่าวถึงปัญหาทางการเมือง ปัญหาของโรงเรียน เช่น รถโรงเรียนมาช้า เป็นต้น ทำให้นักเรียนและครูสนใจและรู้จักกันเกือบทั้งโรงเรียน

ดังที่กล่าวมานี้ จุดเริ่มต้นของการเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ของผม เริ่มมาจากการเขียนปกป้องอาจารย์ปรีดี นำเสนอข้อมูลเรื่องของท่าน และปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่ผมอยู่  หลังจากทำ จุลสารปรีดี มาระยะหนึ่ง ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคนหัวรุนแรง เพราะสิ่งที่ผมเขียน  นี่เองค่อย ๆ หล่อหลอมให้ผมเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม  ยังการที่โรงเรียนต่อต้านผม ทำให้ผมต้องย้าย จุลสารปรีดี ออกมาทำนอกโรงเรียน โดยมีรุ่นพี่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลุ่มหนึ่ง สนใจในประเด็นอาจารย์ปรีดีเช่นเดียวกับผม จึงได้จัดพิมพ์ จุลสารปรีดี ขึ้นในวงกว้าง โดยการสนับสนุนเงินทุนจากผู้คนที่ผมไม่รู้จักเลย แต่นิยมนับถือในอาจารย์ปรีดี และการทำ จุลสารปรีดี ในระยะหลังนี้ ยังโยงใยให้ผมรู้จักกับคนอีกมากมายหลังจากที่เคยเห็นชื่อบุคคลเหล่านี้ในหนังสือที่อ่านมาก่อน

เรื่องราวของ จุลสารปรีดี มีความพิสดารอยู่แล้วในหนังสือ ประวัติศาสตร์ที่อยากอธิบาย: บทความคัดสรรในโอกาสครบรอบ 5 ปี จุลสารปรีดี  ซึ่งผมได้ประมวลบทความเกือบทั้งหมดที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ในยุคเริ่มแรก บ้างอ่านแล้วก็ดูแสนไร้เดียงสา บ้างก็ดุเดือดเผ็ดร้อนไปตามสถานการณ์  ส่วนชีวิตในโรงเรียนของผม ซึ่งกล่าวถึงการทำ จุลสารปรีดี และการต่อสู้ในประเด็นต่างๆ ผ่านงานเขียนและการเคลื่อนไหวหลังจากนั้น มีพิมพ์แล้วเช่นกันในหนังสือ นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี  ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านกันได้

ที่ผมมาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะความสนใจในเรื่องราวของอาจารย์ปรีดี จนได้แรงบันดาลใจในชีวิตมาจากท่านนั่นเอง

 

ภาพบรรยากาศบน โต๊ะทำงาน ของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (23 มีนาคม 2555)
โต๊ะทำงาน (23 มีนาคม 2555)

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือ ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2562.